Skip to main content

บล็อกกาซีน ประชาไท

โอ ไม้จัตวา
วันนี้อากาศเย็น ปลายเดือนพฤศจิกายน 2550 เมืองเชียงใหม่เริ่มคึกคัก แต่ก็ยังดูเหงากว่าปีที่แล้ว ซึ่งงานพืชสวนโลกสร้างปรากฏการณ์คนไหลมาให้กับเมืองจนถนนทรุด เป็นฟองสบู่ฟองใหญ่ที่ดึงนักลงทุนท้องถิ่นรายย่อยให้เข้าไปลงทุนกับตัวล่อคือนักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลที่ไหลเข้ามาในเมืองสะท้อนความอ่อนด้อยของประชาชน การขาดการศึกษาข้อมูลอย่างถ่องแท้ ทำให้หลงคำโน้มน้าวให้เกิดการลงทุนบริเวณหน้าสถานที่จัดงาน ขณะที่ปัจจัยหลายอย่าง ทั้งสถานที่ ราคาค่าเข้าชม ทำให้เป็นตัวแบ่งระดับฐานะของนักท่องเที่ยว คือต้องมีเงินเท่านั้นจึงจะเข้าชมได้ ตั้งแต่เงินค่ารถมา ค่าเข้าชม และสถานที่อันกว้างใหญ่ไพศาลทำให้คนเข้าชมเหนื่อยหมดแรง เกินกว่าจะออกมาเดินช็อปปิ้งได้ เพราะแค่ทางเดินออกจากประตูก็เล่นเอาขาลาก และขาที่ลากมาขึ้นรถนั้นก็ผ่านร้านของที่ระลึกอันละลานตา พอถึงรถก็หมดแรงพอดีร้านอาหารไกลปืนเที่ยงแต่มีแรงดึงดูดพอ ก็รับนักท่องเที่ยวกันไม่หวาดไม่ไหว คนต่างถิ่นมาเชียงใหม่ก็ต้องการมาดู มาชม มาดื่มกิน และสูดกลิ่นความเป็นเชียงใหม่ วัฒนธรรมเชียงใหม่ ปีนี้เมืองเชียงใหม่ไม่มีแรงดึงดูดพอสำหรับนักท่องเที่ยว สวนราชพฤกษ์เปิดให้บริการอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ไร้งบพีอาร์ มีผู้ว่าไปตัดเค้กวันเกิดพืชสวนโลก ขณะเพื่อน ๆ ยังชวนกันไปลอยกระทงที่บ้านแม่เหียะใน หมู่บ้านตกสำรวจในเขต อ.เมือง ที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้เปิดสวนคราวนี้ป้านวล ป้าข้างบ้านไปเที่ยวก่อนเพื่อน บอกว่าขึ้นรถเมล์สาย 3 ที่หน้าปากซอย 15 บาท เอาน้ำใส่กระติกไปกิน ค่าเข้าชมไม่เสีย แต่เสียค่ารถนำชมสวน 20 บาท ป้านวลบอกก็ม่วนดี รู้สึกว่ามีที่สวย ๆ มีต้นไม้ที่เขียวแล้ว เพราะได้น้ำมาฝนหนึ่ง ชาวบ้านไปเที่ยวกันเยอะ เพราะรู้สึกว่าเป็นที่ของเราแล้ว ยี่เป็ง หรือลอยกระทงรออยู่ในวันนี้วันพรุ่ง ดูจากยอดการจองโต๊ะ พบว่าคนมากระจุกอยู่ที่วันเสาร์ที่ 24 พฤศจิกายน มากที่สุด เนื่องจากเป็นวันเสาร์ และวันลอยกระทงไม่ใช่วันหยุดราชการ ตรงวันเสาร์ให้ก็ดีเท่าไรแล้ว ประกอบกับตรงกับวันประสาทปริญญาบัตรของบัณฑิตมหาวิทยาลัยพายัพ ผู้คนจำนวนมากแย่งจองโต๊ะอาหารตามร้านริมแม่น้ำแต่แปลกที่ปีนี้ฉันไม่ค่อยมีอารมณ์ร่วมกับบรรยากาศนี้สักเท่าไร อาจเพราะเหนื่อยมาทั้งปี จำได้ว่าลอยกระทงปีที่แล้วเม็ดเงินสะพัดระดับนักร้องออกเทปเปล่าก็ขายได้ ฉันทำรายได้จากการขายไฟเย็นและโคมลอยจำนวนมาก ทำงานสามเดือนมีเงินใช้หกเดือน จริง ๆ แล้วฉันอยากให้เมืองเชียงใหม่เป็นเหมือนเมืองท่องเที่ยวในต่างประเทศ คือทำงานเฉพาะฤดูการท่องเที่ยว หรือ High Season เมื่อหมดฤดูกาล เข้าหน้าฝน เราก็หยุด เพราะคนก็ไม่มี และเรายังต้องแบกรับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น หากใครค้าขายไม่เป็น หามาได้แล้วไม่เก็บไว้ใช้ยามหมดฤดูก็เป็นอันจบ ฤดูกาลอันเงียบเหงากำลังจะผ่านไป ความสดชื่นมาพร้อมกับลมหนาว เศรษฐกิจเริ่มหมุนเวียนขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เชียงใหม่เป็นเมืองที่มีจริต ผู้คนในเมืองเป็นพร็อบให้กับเมืองอย่างเป็นธรรมชาติ และโดยไม่มีสคริป ดู ๆ ไปบางทีก็เบื่อแต่บางทีเห็นดอกไม้บานยามเช้า ก็รู้สึกว่าเชียงใหม่ยังมีความน่ารักอยู่นะ.
การะเกต์ ศรีปริญญาศิลป์
วันอมาวสีครั้งต่อไป 10 ธันวาคม 2550 นะคะ“น้ำใจให้น้องปิ่น” เด็กหญิงพิการที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ทุกคนในครอบครัวยังมีความหวังและมองโลกในแง่ดีเสมอ อ่านเรื่องของน้องปิ่นกับแม่ได้ที่ (ลิงค์) สนับสนุนเงินทุนช่วยเหลือตามกำลังศรัทธาได้ที่หมายเลขบัญชี 05-3405-20-093267-0น.ส.สีไวย คำดา เพื่อ ด.ญ.วรัญญา ฟินิวัตร์ ธ ออมสิน สาขามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ “สมทบทุนค่าอาหารและรักษาพยาบาลหมาแมวพิการ ป่วยไข้ ถูกทอดทิ้ง ตามกำลังศรัทธา”เลขที่บัญชี 1210101483 น.ส. นันท์ธนัตถ์ จิตประภัสสร ธ กรุงไทย สาขาบางบัวทองหรือจะส่งเป็นอาหารหมาแมวก็ได้ค่ะ ที่97 หมู่ 2 บ้านหนองคาง ต.หนองราชวัตร อ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี 72240
แสงดาว ศรัทธามั่น
พ.ร.บ.ความมั่นคงมั่นคงของใคร?ของเผด็จการทหาร ?ของเผด็จการรัฐสภาจอมปลอมของเผด็จการข้าราชการศักดินาฯลฯ...ฯลฯ...ฯลฯ
แม่ญิงโย-นก
ข้าพเจ้านำผู้อ่านออกเดินทางจากสถานีขนส่งอาเขตเมื่อหลายเดือนก่อน หากไปไม่ถึงสถานีขนส่งจังหวัดเชียงรายสักที เพราะมัวแต่ไปหลงทางย้อนอยู่ในประวัติศาสตร์ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ที่ อ.อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว กับ อ.เดวิด เค วัยอาจ ร่วมกันถอดความจากภาษาล้านนาบ่าเก่ามาเป็นคำเมือง ผู้ที่ยังสนใจอาจติดตามได้ในบล็อคใหม่ ซึ่งข้าพเจ้าจักได้นำข้อเขียนของท่านอาจารย์ทั้งสองมาถ่ายทอดต่อไปเร็วๆนี้*********************************เมื่อรถเลี้ยวเข้าจอดที่บริเวณสถานีขนส่งเชียงราย ใกล้กับตลาดกลางคืน หรือไนท์บาซาร์ เป็นอันว่าการเดินทางไกลเกือบสี่ชั่วโมงของข้าพเจ้าได้สิ้นสุดลง ที่กำลังจะเริ่มคือการเดินทางเข้าไปเก็บข้อมูลภาคสนามในพื้นที่ดอยสูงอ.แม่ฟ้าหลวง บริเวณชายแดนไทย-พม่า ที่ข้าพเจ้าจะต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในอีกห้าหกเดือนข้างหน้าก้าวขาลงจากรถ ปราดไปที่เก็บของใต้ท้องรถ ยกเป้ใบใหญ่ขึ้นสะพายหลัง ย้ายเป้ใบเล็กที่บรรจุกล้องถ่ายรูปและคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คมาไว้ด้านหน้า มือที่พอจะว่างคว้าเอาขันโตกหวายใบน้อยมาถือไว้หันมาด้านหลัง เจอคนขับรถสองแถวเล็กยืนยิ้มเผล่ “โอฮาโย่ แว อา ยู โกอิ้ง” ฮั่นแน่ ส่งภาษาต่างประเทศมาทักทาย เห็นทีจะเป็นเพราะเป้หลังใบใหญ่ของข้าพเจ้าชวนให้เข้าใจผิด มิอาจทึกทักได้เลยว่าหน้าตาของข้าพเจ้าให้ จนใจว่า ข้าพเจ้าเองหาใช่คนญี่ปุ่นมาจากไหน จะสวมรอยเป็นชาวต่างประเทศก็กระไรอยู่ “บ่อใจ้ญี่ปุ่นเจ้า คนเมืองเฮาตวยกั๋นนี่แหละ” ข้าพเจ้าส่งเสียงในฟิล์มตอบกลับไป“โหะ ก่อนึกว่าญี่ปุ่น เห็นหิ้วเป้ใบใหญ่แต้ใหญ่ว่า ละขันโตกนี่ลอหิ้วมายะหยัง หยังมาของหลายแต้ว่า จะไปไหนเนี่ย ไปสองแถวก่อ” คนขับวัยกลางคนรัวคำถามใส่ข้าพเจ้าเป็นชุด ไม่แน่ใจนักว่าอยากได้คำตอบไหนก่อน“บ่อไปเตื้อเจ้า พอดีนัดคนมาฮับแล้วเจ้า” ข้าพเจ้าตอบปฎิเสธไป บอกว่ามีคนมารับแล้ว เป็นหนุ่มรุ่นน้องชาวลีซู ที่ทำงานองค์กรเอกชนช่วยเหลือประชาชนบนพื้นที่สูงเรื่องสถานะบุคคล ที่นัดหมายกันว่าจะมาเจอกันที่สถานีขนส่งนี้“อั้นกา มะ อ้ายจะจ้วยแบกกระเป๋าไปหื้อ" คนขับรถใจดีเอื้อมมือมาช่วยปลดเป้ใบใหญ่จากหลังข้าพเจ้า เอาไปถือไว้เหมือนเป็นวัตถุไร้น้ำหนัก ข้าพเจ้าโชคดีนักมาถึงวันแรกก็เจอคนใจดีนั่งรออยู่ไม่ถึงสิบนาที หนุ่มลีซูคนที่ว่าเดินยิ้มร่าเข้ามาช่วยยกของไปเก็บไว้ในรถกระบะขับเคลื่อนสี่ล้อ พาหนะคู่ใจที่พาเขาและทีมงานอีกสามคน อันประกอบด้วยอีกหนึ่งหนุ่มลีซู หนึ่งหนุ่มอ่าข่า และหนึ่งสาวอ่าข่า (ไม่ได้มารับที่สถานี ประชุมอยู่ที่สำนักงานย่านริมกก ซึ่งข้าพเจ้ากำลังจะเดินทางไปร่วมประชุมด้วย)“สวัสดีครับปี้ครับ พอดีอ้ายเปิ้นหื้อผมมาฮับครับ กำเดียวเฮาแวะไปตี้สำนักงานก่อนน่อ มีประชุมตี้หั้นครับ” หนุ่มน้อยเสื้อขาว กางเกงชาวเล ผ้าขาวม้าคาดเอว ยกมือไหว้ทักทายและแจ้งข่าว เขาพูดคำเมืองชัดเจน ทำเอาข้าพเจ้าแปลกใจไม่น้อย พี่น้องชนเผ่าหลายคนที่ข้าพเจ้ารู้จัก ถนัดมากกว่าในการใช้ภาษาไทยแบบกรุงเทพ ในการสื่อสารกับคนนอกเผ่า แม้แต่ในหมู่บ้านอ่าข่าที่ข้าพเจ้าเข้าไปอาศัยอยู่ในเวลาต่อมานั้น เวลามีเจ้าหน้าที่อำเภอเข้ามาเยี่ยมเยียน หรือนัดประชุม ชาวบ้านที่พอจะพูดและฟังภาษาไทยได้ ยังต้องขอร้องให้พูดเป็นภาษาไทยกรุงเทพ เพื่อที่เขาจะได้ถ่ายทอดเป็นภาษาอ่าข่าให้ชาวบ้านส่วนใหญ่เข้าใจ“เฮียนเกษตร อู้กำเมืองบ่อได้ มีปั๋นหาครับปี้ ต๋อนผมเข้าไปเฮียนใหม๋ๆ รุ่นปี้คนเมืองบอกว่าคนตี้มาทีลุนหื้อไปรายงานตั๋ว ผมก่อบ่อฮู้ว่า ทีลุน (ภายหลัง) มันแป๋ว่าอะหยัง ผมก่อเลยบ่อไป เลยโดนลงโทษ หลาบเลย จ๋ำกำนี้ได้เต้าบ่าเดี่ยว” หนุ่มน้อยเล่าขำๆ กับประสบการณ์ความไม่รู้เรื่องภาษาอันรุ่นพี่อ้างเอาเป็นเหตุหาเรื่องลงโทษรุ่นน้อง ที่แย่กว่านั้น เป็นเรื่องการล้อเลียนความเป็นชนเผ่า ที่ทำให้บางคนถึงกับไม่ยอมพูดภาษาประจำเผ่าของตนที่โรงเรียน ไม่ก็รู้สึกอายในความเป็นชนเผ่าของตนเอง เพราะรู้สึกว่าแปลกแยกแตกต่างกับเพื่อนคนอื่น ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน มีความพยายามที่จะส่งเสริมให้เกิดการยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรมในโรงเรียนบางโรงเรียนในภาคเหนือ แต่โดยทั่วไปแล้ว การล้อเลียน และแบ่งแยก “คนเมือง” “คนดอย” ยังเป็นเรื่องที่ก่อความขมขื่นใจแก่เด็กๆลูกหลานชนเผ่าชาติพันธุ์หลายๆกลุ่ม ความพยายามของรัฐไทย ในการที่จะเชิดชูชาติพันธุ์ “ไทยบริสุทธ์” ซึ่งไม่อาจจะมีได้ และไม่มีวันจะมีได้ ให้โดดเด่น มีอภิสิทธิเหนือกว่าชาติพันธุ์อื่นๆนั้น ครอบคลุมไปถึงการอ้างความเหนือกว่าในเรื่องภาษา วัฒนธรรม ประเพณี ความเป็นอยู่ ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ และอื่นๆ เผยแพร่และตอกย้ำผ่านทางระบบการศึกษาแห่งชาติ โรงเรียน ครู และแบบเรียนทางประวัติศาสตร์ และสื่อมวลชนแห่งชาติภายใต้อุดมการณ์เช่นนี้ การพูดภาษาถิ่น หรือภาษาประจำเผ่า หรือภาษาอื่นใดที่ไม่ใช่ภาษา “ไทย” และที่ได้รับการหมิ่นหยามว่ามีสถานะด้อยกว่า จึงเป็นเรื่องน่าอาย พึงระงับยับยั้ง ป้องกัน และลงโทษหากฝ่าฝืน กล่าวในทางกลับกัน การพูดภาษาต่างประเทศ ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นภาษาของวัฒนธรรมที่ทัดเทียมหรือสูงกว่าของไทย กลับไม่เป็นเรื่องพึงละอาย ซ้ำยังต้องส่งเสริมกันทุกวิถีทาง เราจึงอาจเห็นโรงเรียนสองภาษาอังกฤษ-ไทย ญี่ปุ่น-ไทย จีน-ไทย มีอยู่ทั่วไป ในขณะที่ต้องต่อสู้กันแทบเป็นแทบตาย เพื่อจะให้มีโรงเรียนที่สอนภาษาของชนเผ่าชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงควบคู่กันไปกับภาษาไทย ซึ่งก็ยังมีจำนวนน้อย และยังมีข้อถกเถียงกันอยู่อีกมากว่ามุ่งส่งเสริมความหลากหลายของภาษาจริงหรือไม่ที่ร้ายไปกว่านั้น เมื่อมีการนำภาษาและภาพลักษณ์ของชนเผ่าชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงไปผูกติดอยู่กับประเด็นเรื่องความมั่นคง ยาเสพติด และสิ่งแวดล้อม นับตั้งแต่ยุคหวาดกลัวภัยคอมมิวนิสต์เป็นต้นมา ทำให้เกิดการสร้างภาพของความเป็นอื่น ของศัตรู ของคนที่ไม่น่าไว้ใจ การเรียนรู้ภาษาของชนเผ่าชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงจำกัดอยู่เพียงเพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์เรื่องการข่าวและความมั่นคง มีเพียงเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่กี่หน่วยงาน ที่มองเห็นว่าการเรียนรู้ภาษาชนเผ่าชาติพันธุ์เป็นเรื่องจำเป็น (เพื่อการข่าวและความมั่นคง) ในหมู่บ้านอ่าข่าที่ข้าพเจ้าอาศัยอยู่นั้น ชาวบ้านบอกว่ามีเพียงตำรวจตระเวนชายแดน และเจ้าหน้าที่กรมประชาสงเคราะห์บางคนเท่านั้นที่พูดภาษาของพวกเขาได้ และชาวบ้าน (ส่วนใหญ่ผู้ชาย) บางคนที่พูดไทยได้ ก็จากการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเจ้าหน้าที่เหล่านี้นี่เองจึงไม่น่าแปลกใจที่งานศึกษาหลายๆชิ้น จะพบว่า โครงการของรัฐโดยการสนับสนุนของกรมประชาสงเคราะห์ที่ส่งพระสงฆ์ขึ้นไปตามแดนดอยต่างๆ หรือที่รู้จักกันในชื่อโครงการพระธรรมจาริก ซึ่งเป็นหนึ่งในความพยายามหลายๆอย่างของรัฐไทยในอันที่จะเปลี่ยนให้ ”ชาวเขา” กลายเป็น “พลเมืองไทยชั้นหนึ่งที่ช่วยเหลือตัวเองได้” ตามคำประกาศในมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 ก.ค 2519 นั้น ไม่ประสบความสำเร็จดังที่ตั้งใจไว้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะขาดความรู้ความเข้าใจในวิถีชีวิตวัฒนธรรมของพี่น้องชนเผ่าชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง และความที่พระธรรมจาริกเองไม่สามารถติดต่อสื่อสารกับชาวบ้านชนเผ่ากล่าวโดยที่สุดแล้ว ทัศนคติของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีต่อภาษาถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาของชนเผ่าชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง มักเป็นไปในทางลบ หมิ่นหยามว่าด้อยกว่าภาษาไทย และเห็นว่าเป็นปัญหาต่อ”ความมั่นคง” ข้ออ้างอันสุดแสนอมตะ แต่มีปัญหาเรื่องความชอบธรรม เห็นได้จากข่าวเมื่อเร็วๆนี้ ที่ทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) อ้างคำสั่งเรื่องความมั่นคง ห้ามวิทยุชุมชนในอำเภอฮอดออกอากาศเป็นภาษากะเหรี่ยง และให้ถ่ายทอดเป็นภาษาไทยกลางกับภาษาคำเมืองเท่านั้น ทั้งๆที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ในพื้นที่เป็นชาวกะเหรี่ยงโผล่ง ซึ่งบรรพบุรษของพวกเขาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ในบริเวณนั้นก่อนการเกิดขึ้นของกอ.รมน. และเจ้าหน้าที่หลายคนด้วยซ้ำไปด้วยทัศนคติและความเข้าใจเช่นนี้ ทำให้มิอาจเข้าใจเป็นอื่นใดได้เลยว่า นโยบายแห่งชาติต่อชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ นั้น แท้จริงแล้ว มุ่งกดบีบกลืนกลายวัฒนธรรม หาใช่เพื่อผสมผสานกลมกลืนดังที่อ้างไม่
แสงพูไช อินทะวีคำ
วรรณคดีปฏิวัติที่กล่าวถึงมากที่สุดก็คงจะเป็นปรปักษ์สองด้าน คือ การปฏิวัติและระบบการปกครองเก่า การสะท้อนให้เราได้เห็นความอยุติธรรม นักประพันธ์ปฏิวัติสะท้อนให้เห็นภาพในระบบการปกครองเก่าได้ชัดเจน ว่า ระบบการปกครองเก่า เวลาใดก็เป็นปรปักษ์อย่างที่สุดต่อกับการปฏิวัติ ความอยุติธรรมส่วนมากก็คงเกิดขื้น บนแผ่นดินที่นอนอยู่ใต้แห่งการควบคุมของระบบการปกครองของระบบเก่าที่เวลาใดก็เป็นศัตรูสุดขีดต่อการปฏิวัติลาว ในบทประพันธ์สะท้อนให้เห็นมากที่สุดก็คงเป็น หนุ่มสาวพร้อมเพรียงกันหลบหนีจากแผ่นดินเกิดของเขา ไปหาการปฏิวัติวรรณคดีปฏิวัติที่พบเห็นส่วนมาก นักประพันธ์ชอบใช้ในรูปของการบันทึกเป็นส่วนใหญ่ ทั้งเป็นการบันทึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ หรืออาจเป็นการบันทึกซีกเสี้ยวหนึ่งในทางประวัติศาสตร์ด้วยการเติมรสชาติของงานศิลป์เข้าไป ทำให้งานมีความบรรจงและงดงามขื้นเต็มอีกขั้น แต่สิ่งเติมเต็มลงไปนั้น ก็คงจะหนีไม่พ้นในเรื่องของความจ็บปวดจากสงครามที่ไม่มีใครปรารถนา ความหมดหวัง สิ้นหวังและไร้มนุษยธรรมของระบบการปกครองเก่า เป็นการบันทืกเสียงร้องไห้ครวญครางเรียกหาความช่วยเหลือ ความหวังในวันใหม่และการฟื้นชีพของผู้คนที่ได้มีโอกาสพบกับแสงสว่างของการปฏิวัติอย่างที่เราเข้าใจแล้วว่า การบันทึกใดก็ตามที หากเป็นการบันทึกที่ละเอียดรอบคอบดีและบันทึกอย่างเป็นระบบของมันได้ดีแล้ว ก็จะทำให้บทนั้นๆ กลายเป็นบทวรรณคดีที่ดีได้เช่นกัน แม้ว่านักประพันธ์จะไม่ได้ให้ความสำคัญ มากนักกับการประพันธ์ก็ตามทีบทวรรณคดีปฏิวัติที่เราได้พบเจอนั้นก็มีการประพันธ์ที่ดี มีรสชาติแห่งวรรณกรรม ซึ่งผู้แต่งก็มีความพยายามสูงเพื่อสร้างสรรค์งานออกมาให้น่าอ่าน รับใช้สังคมและได้รับความนิยมมากอันได้แก่ ‘กองพันที่สอง’ ของ ‘ส.บุบผานุวง’ ‘พะยุชีวิต’ ของ ‘ดาวเหนือ’ ทั้งสองท่านพูดได้ว่า เป็นตัวแบบที่ดีในวงการประพันธ์วรรณคดีปฏิวัติเท่าที่เคยเจอมาอย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวแล้ว ข้าพเจ้าก็ยังคงเข้าใจว่า วรรณคดีปฏิวัติเป็นการริเริ่มก้าวสู่ถนนแห่งวรรณกรรมในระยะนี้ เป็นการให้โอกาสใหม่เพื่อคนรุ่นหนุ่มสาวได้มีความสนใจในเส้นทางวรรณกรรมมากขึ้น เป็นการสร้างสรรค์วรรณคดีในระยะใหม่ด้วย ไปพร้อมๆกับการต่อสู้ปลดปล่อยชาติออกจากการเป็นทาสรับใช้ ให้แก่สังคมเก่าและต่างชาติ ฉะนั้น การที่จะก้าวไปข้างหน้าอย่างภาคภูมิใจที่สุดในการสร้างสรรค์ วรรณกรรมของชาติให้สูงเด่นขื้นเรื่อยๆ นั้น ต้องได้เข้าใจให้มากขึ้นด้วยการเรียนรู้ให้มากขึ้นเช่นกัน เพราะเราๆไม่มีความสามารถที่จะยึดติดอยู่กับสิ่งเก่าๆเพื่อเป็นต้นแบบโดยไม่มีการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาไม่ได้ เพราะว่าในตัวของวรรณกรรมปฏิวัติก็มีความต้องการเสริมแต่งในสิ่งใหม่ๆให้สูงเด่นขื้นไปอีกอย่างมาก โดยเน้นรูปแบบการประพันธ์เมื่อพูดอย่างนั้นก็อาจมีคำถามขึ้นมาว่า ทำอย่างไรถึงจะพูดได้ว่าเป็นการประพันธ์? ผมขออนุญาตเสนอบางอย่าง ดังนี้ “มือเธอสั่นนิดๆ ในขณะที่เธอโขย่งตัวขึ้นบิดลูกบวบอ่อนๆ บนขอบรั้วบ้าน” นี่คือประโยคเล็กๆ ที่นำเสนอพอให้มองเห็นภาพของการเคลื่อนไหวของตัวละครเท่านั้น เพราะในบทประพันธ์หลายๆ บท ยังคงสับสนทำให้เรายังมองไม่เห็นภาพที่ชัดเจนเท่าไรนัก
กวีประชาไท
คนรอบข้างลอบมองข้าพเจ้าด้วยสายตายากเกินจะเข้าใจแน่นอนที่ข้าพเจ้าย่อมไม่เห็นเพียงรู้สึกว่ามันน่ากลัวเสียเหลือเกินนั่นคือเหตุผลที่ข้าพเจ้าใช้อ้างในการเอาชนะหรือคนรอบข้างไม่ได้มองข้าพเจ้าเลย...ไม่แม้แต่จะเหลือบมอง?
มูน
ลมหนาวพัดฟางหลังเก็บเกี่ยวปลิวว่อนกลางทุ่ง หลายบ้านเตรียมโกยฟางมัดเป็นท่อนเก็บไว้ให้วัวควายในหน้าแล้ง นึกเล่นๆ ว่าถ้าคนเรากินแค่หญ้าก็คงจะดี ไม่ต้องมีกิเลสอยากกินนั่นนี่ให้เดือดร้อนไปถึงพืชและสัตว์อีกมากมาย ที่ต้องถูกไล่ล่าบ้าง ถูกบังคับให้โตผิดธรรมชาติบ้าง ถูกเปลี่ยนนั่นแปลงนี่ให้ถูกใจคนจนวุ่นวายไปทั้งโลก เข้าทำนองเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว (ว่าเข้าไปนั่น)คิดจนหิว จึงหันไปเปิดตู้กับข้าว อะไรกันนี่ ช่างโล่งดีแท้ๆ มีแต่ถ้วยน้ำปลาพริกขี้หนู อ้อ มีปลาทู(แย่งแมวมา)หนึ่งตัว ทำปลาทูต้มน้ำปลาดีกว่า ทำง้ายง่าย แล้วก็อร้อย อร่อย ตั้งน้ำให้เดือดพลั่กๆ ใส่ปลาทู เหยาะน้ำปลาพริกขี้หนู บีบมะนาว หักกะเพราข้างรั้วมา เด็ดใบงามๆ โรยลงไปแล้วรีบยกลง เปรี้ยวนิด เค็มหน่อย เผ็ดจี๊ดๆ ซดร้อนจี๋ๆ มีหมานั่งน้ำลายหกอยู่ใกล้ๆ อากาศเย็น ลมก็หอมชื่นใจ เฮ้อ ข้าวหมดสองจานไม่รู้ตัวง่ายกว่านั้นก็ควักกะปิก้นกระปุกออกมาคลุกข้าว โรยกุ้งแห้งป่น มีแตงกวาค้างตู้อยู่ ๒-๓ ลูกเอามาล้างสะอาด กัดกร้วมๆ พริกขี้หนูต้นข้างบ้าน เลือกเม็ดเขียวอ่อนๆ เผ็ดน้อย เคี้ยวแนมเข้าไป ง่ายๆ แต่อร่อยค่ะบางวันมีปลาดุกย่างเหลือค้างอยู่ครึ่งตัว เอามาย่างใหม่ให้กรอบๆ หอมๆ แกะเนื้อใส่ข้าว หอมแดงซอย กระเทียมซอย พริกขี้หนูซอย โรยลงไป เหยาะน้ำปลาหอมๆ สักนิด บีบมะนาวเปรี้ยวจี๊ดสักหน่อย คลุกๆ เข้า ได้ข้าวคลุกปลาดุกย่างอร่อยๆ อีกมื้อหนึ่ง จานเด็ดของฉันขอแค่ไข่ต้มยางมะตูม คลุกข้าวร้อนๆ กับน้ำปลาพริกขี้หนู ถ้าไม่เรื่องมาก ชีวิตก็ไม่ยุ่งยากนัก จริงไหมคะถ้าคุณยายของฉันยังอยู่ น้ำปลาพริกขี้หนูคงไม่มีโอกาสเป็นเมนูหลัก ไม่ใช่รังเกียจสำรับคนยาก แต่เพราะใส่ใจในความสุขของทุกปากท้อง แต่ละมื้อของเมนูคุณยายจึงต้องผ่านกระบวนการอันประณีต ในวันเวลาอันเนิบนาบที่เรายังไม่รู้จักบะหมี่ซองชนิดใส่น้ำร้อนกินได้ใน ๑ นาทีคุณตาเป็นนายพันสั่งงานทหารในค่าย แต่พออยู่บ้านก็กลายเป็นลูกมือให้คุณยายใช้โม่แป้ง เก็บผัก ขึ้นมะพร้าว เหลาไม้กลัด ตัดใบตอง ดองไข่เค็ม เย็บกระทงห่อหมกหลานวัยกำลังซนอย่างฉันก็หมดโอกาสหนีไปเล่น ต้องนั่งพับเพียบปอกหอมกระเทียม ขูดกระชาย ซอยตะไคร้ ฉีกใบมะกรูด รูดใบชะอม แล้วเราก็ได้กินแกงเทโพ แกงมะรุม ปลาหมอต้มเค็ม ผัดสายบัว ปลาร้าหลน เนื้อเค็มฝอย กุ้งหวาน หมี่กรอบ บัวลอยญวน ถั่วแปบ ข้าวต้มมัด และอีกสารพัดที่ไม่เคยซื้อจากตลาด แม้แต่ผักบุ้งกินกับน้ำพริก คุณยายยังอุตส่าห์เจียนเป็นเส้น ลวกแล้วจับม้วนเป็นคำๆ เรียงใส่จานอย่างสวยงาม มีขันใส่น้ำฝนลอยดอกมะลิวางรอไว้ให้ชื่นใจหลังอิ่มข้าว คุณยายเผื่อแผ่ความเอาใจใส่ลงไปถึงหมาแมว มีหม้อนึ่งข้าวต่างหากสำหรับหมา มีปลาย่างตำละเอียดเก็บใส่โหลไว้คลุกข้าวแมว คุณยายจะชิมข้าวคลุกทุกครั้งจนแน่ใจว่าอร่อย จึงใส่จานสังกะสีให้แมวกินฉันเคยแอบแย่งข้าวแมวเพราะอดใจไม่ไหว อร่อยจริงๆ ด้วยสิคะคุณยายจากไปทิ้งไว้แต่หลานหัวขี้เลื่อยที่ได้วิชาคุณยายมาแค่ขี้เล็บ แถมยังลำบากยากจน นั่งกินข้าวคลุกน้ำปลาพริกป่นให้เสียชื่อคุณยายซะงั้น แต่คุณยายไม่ต้องห่วงนะคะ หลานมีความสุขและพอใจในชีวิตแล้วค่ะจะว่าไป เรื่องของหมาวุ่นวายไม่แพ้คน ฉันพยายามคิดค้นเมนูสำหรับหมาโดยยึดหลักประโยชน์สูง ประหยัดสุดสมัยที่บ้านสี่ขามีหมาไม่ถึงสิบตัว ฉันสนุกคิดเมนูไม่ซ้ำกันในหนึ่งสัปดาห์ อาทิ พะโล้โครงไก่ ต้มยำไข่(ไม่ใส่พริก) พอหมอบอกว่าควรให้หมากินพืชผักบ้าง ฉันก็เพิ่มเมนูจับฉ่ายกระดูกหมู กับโครงไก่บดใส่ฟักเข้าไป บางวันมีต้มเศษเครื่องในใส่ผักบุ้งสับ จนมีคนทักเมื่อเห็นฉันนั่งสับผักบุ้งว่า ฉันผสมข้าวเลี้ยงหมาหรือเลี้ยงหมูฉันพบว่าหมาชอบกินฟักทองผัดใส่ไข่ เมื่อก่อนหมามีน้อยๆ ก็พอทำได้ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ไหวค่ะ หมาก็เยอะ ไข่ก็แพง แถมปลูกฟักทองไว้ก็ยังไม่ยอมขึ้นสักทีมีคนแนะนำว่าหัดให้หมากินกล้วยน้ำว้าจะดี ฉันก็ลอง แต่ไม่ค่อยสำเร็จ กล้วยหมดหวีไม่ใช่เพราะหมา แต่ว่าเป็นฉันเองหมาทุกตัวชอบกินตับย่าง คุณหมอเคยเตือนว่าตับเป็นของแสลงต่อผิวหนังและขน  แต่หมามันไม่สนคำเตือนหรอก แหม คงเหมือนคนน่ะแหละ อาหารอะไรไม่มีประโยชน์(แถมโทษยังเยอะ) เป็นชอบกินกันนักเคยมีคนใจดีเอาเศษกระดูกไก่โยนข้ามรั้วมาให้หมาบ้านสี่ขา หมาดีใจ แต่ฉันกลุ้มใจ พยายามห้ามแกมขอร้อง(คน ไม่ใช่หมา)ด้วยเหตุผลหลักๆ สองประการคือ หนึ่ง ไม่อยากให้หมาๆ เคยชินกับการกินอะไรที่ใครก็ได้โยนเข้ามาในบ้าน เพราะอาจจะนำไปสู่อันตรายในภายหลัง และสอง ไม่อยากให้หมากินกระดูกไก่ กลัวจะแทงลำไส้มัน“แหม เลี้ยงหมายังกะเทวดา” มีถ้อยคำหยอกล้อลอยมาพอให้อารมณ์แสบๆ คันๆถามว่าทำไมต้องพิถีพิถันขนาดนี้ ก็เพราะเรารัก เราจึงดูแลและรับผิดชอบชีวิตของมันให้ดีที่สุด การป้องกันดีและ(อาจจะ)ง่ายกว่าการรักษา เพราะค่ารักษานั้นไม่ใช่จะมีตลอดเวลา ไม่ว่าคนหรือหมา ทุกปัญหา “กันไว้ดีกว่าแก้” เสมอกระดูกไก่อันตรายค่ะ โดยเฉพาะกระดูกขา เพราะเวลาแตกจะมีลักษณะเป็นเสี้ยนที่แหลมและคม แทงกระเพาะและลำไส้ได้ มีหมาเจอกระดูกไก่คร่าชีวิตมานักต่อนักแล้วบ้านฉันมีพาราเซตามอลติดตู้เป็นกระปุก จริงๆ เตรียมไว้ให้หมา แต่บางทีปวดหัวขึ้นมา คนกับหมาก็กินยากระปุกเดียวกัน พาราเซตามอล ๕๐๐ มิลลิกรัม สำหรับหมาโตเป็นไข้ ให้ครั้งละครึ่งเม็ด ทุก ๔-๖ ชั่วโมง ส่วนหมาเด็กๆ ควรใช้พาราเซตามอลชนิดน้ำ เพราะกินง่าย แต่ถ้าไม่มี ให้ใช้แบบเม็ด โดยลดอัตราส่วนลงไป (ใช้อัตราไหน ควรถามหมอค่ะ)แต่ถ้าแมวเป็นไข้ ห้ามใช้พาราเซตามอลเด็ดขาดนะคะ เพราะแมวจะแพ้ถึงตายทีเดียวเชียว ต้องใช้ยาน้ำแก้ไข้เฉพาะของแมวเท่านั้นมีหลายโรคที่คนเป็นได้ หมาแมวก็เป็นได้ ตั้งแต่โรคหวัด โรคกระเพาะ โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต ไปจนถึงโรคมะเร็งนั่นเทียว การป้องกันโรคก็ไม่ต่างกัน เวลาฟังหมออบรมเรื่องการดูแลสุขภาพเจ้าสี่ขา ฉันนึกไปว่า หมอกำลังพูดถึงตัวฉันเองทุกที อย่างตอนนี้ ฉันซึ่งติดรสเค็มก็กำลังพยายามลดเกลือและน้ำปลา กลัวเป็นอย่างแมว คือตายไวด้วยโรคไตวาย (ว่าแล้วก็เก็บถ้วยน้ำปลาพริกขี้หนูเข้าตู้โดยทันที)ความไม่มีโรคเป็นโชคอันประเสริฐ สุขภาพดีวิเศษกว่ามีทรัพย์จริงๆ ค่ะ
เมธัส บัวชุม
หนังสือที่มีชื่อโดนใจใครหลาย ๆ คนเรื่องนี้ได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวางทั้งจากคนที่เห็นด้วยและคนที่รับไม่ได้แน่นอนว่าพรรคพลังประชาชนจะต้องถูกอกถูกใจที่มีคนมาช่วย "ด่า" รัฐธรรมนูญปี 2550เพิ่มมากขึ้น หลังจากที่หัวหน้าพรรคฝีปากกล้าของพลังประชาชนเคยลั่นมาแล้วก่อนหน้านี้ว่า "รัฐธรรมนูญเฮงซวย"นักวิชาการน้อยใหญ่หลายคนเห็นตรงกันโดยไม่จำเป็นต้องทำโพลล์ว่ารัฐธรรมนูญปี 50 นั้นเฮงซวยจริง ๆ ทั้งนี้เพราะมันไม่ตอบโจทย์ที่กำลังเป็นปัญหาของสังคม ไม่ตอบคำถามของคนชั้นกลางที่อยากมีชีวิตมั่นคงภายใต้กระแสของโลกาภิวัฒน์ ทั้งยังไม่ช่วยให้คนระดับล่างมองเห็นอนาคตที่ดีขึ้นในวันข้างหน้าแต่รัฐธรรมนูญเฮงซวยฉบับปี 2550 ซึ่งร่างโดยนักวิชาการเฮง... กลับสนองความต้องการของกลุ่มข้าราชการที่ต้องการกลับเข้ามามีบทบาทในวงการเมือง ที่ต้องการเข้ามามี "ส่วนแบ่ง" ในวงการเมืองซึ่งมีเงินสะพัดมหาศาลผู้เขียน "รัดทะมะนวย ฉบับหัวคูณ" ใช้นามปากกาว่า "วาทตะวัน สุพรรณเภษัช นักเขียน มิลเลี่ยนคลิก" เป็นการรวบรวมบทความที่เคยเผยแพร่ทางเวบไซต์ของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ช่วง 1 ปีตั้งแต่มีการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549สามารถติดตามได้ไม่ยากว่าแท้จริงแล้ว ผู้เขียนชื่อมีชื่อจริงว่า พ.ต.อ.ประจักษ์ศิลป์ สุพรรณเภสัช ส่วนคนที่จัดพิมพ์คือ พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค อดีต รอง ผบ.ตร. เป็นคนจัดพิมพ์ออกจำหน่ายเล่มละ 100 บาท ส่วนคนที่ซื้อมาเพื่อนำมาแจกจ่ายให้กับผู้สมัครพรรคพลังประชาชนคือ พล.ต.ท.ชัชจ์ กุลดิลก ผู้สมัคร ส.ส.ระบบสัดส่วน กลุ่ม 6 (กทม. นนทบุรี สมุทร ปราการ) แห่งพรรคพลังประชาชนพ.ต.อ.ประจักษ์ศิลป์ สุพรรณเภสัช เปิดเผยถึงที่มาที่ไปของ "รัดทำมะนวย ฉบับหัวคูณ" ให้ฟังว่า"ผมไม่เห็นด้วยกับเหตุการณ์รัฐประหาร เพราะไม่เชื่อว่าคนที่ทำลายประชาธิปไตย ฉีกรัฐธรรมนูญ จะเข้าใจ ประชาธิปไตย และเชื่อเสมอว่า ตำรวจเข้าใจประชาธิปไตยมากที่สุด และเมื่อรัฐประหารเสร็จเรียบร้อย ก็มีข่าวเรื่องการทุจริตต่างๆ นานา อย่างรถหุ้มเกราะล้อยาง ซึ่งผมไม่พอใจมาก เพราะในอดีตมีทหารกี่คนที่ทุจริตและถูกดำเนินคดีไม่รู้จัก กี่คน..."พร้อมกันนี้ ผู้เขียนได้อธิบายความหมายของคำว่า "รัดทำมะนวย ฉบับหัวคูณ" แบบมีอารมณ์ขันว่า"มันไม่ได้เป็นคำหยาบคายอะไร หากอ่านหนังสือผมให้หมดก็จะรู้ว่า คำว่ารัดทำมะนวย เป็นคำที่ยืมมาจาก สุจิตต์ วงศ์เทศ ที่เขียนเอาไว้ในหนังสือพิมพ์ มติชนว่า รัดทำมะนวยปล้นอำนาจประชาชน ส่วน ฉบับหัวคูณ ผมเอามาจากคำของซือแป๋ ราชดำเนิน (พล.ต.หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช) ที่เขียนเอา ไว้ว่า ไอ้พวกทุจริตมันเป็นพวกหัวคูณ คือคิดอะไรแต่เรื่องผลประโยชน์ของตัวเอง โดยการคูณ คูณ คูณ คูณ ว่าเป็นเงินเท่าไร ผมก็ยืมเอาคำมาผสมกันเป็น รัดทำ มะนวย ฉบับหัวคูณ"อย่างไรก็ตาม ในหนังสือเล่มดังกล่าวหน้า 129 ผู้เขียนระบุคำว่า รัดทำมะนวย มาจากบทกวีของ คุณชนะ คำมงคล ที่เขียนไว้ว่า"เจ้าขุนทองยังไม่มา เห็นแต่หน้าเจ้าขุนทวย กำลังร่างรัดทำมะนวย ฉวยอำนาจประชาชน"ส่วน พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค ผู้จัดพิมพ์ และเป็นประธานชมรมข้าราชการตำรวจบำนาญบอกว่า หนังสือเล่มนี้เป็นผลพวงมาจากหนังสือ "ทำลายรัฐตำรวจ สร้างรัฐทหาร" ของชมรมข้าราชการตำรวจ ซึ่งเป็นหนังสือ ที่ชมรมทำออกจำหน่ายให้กับข้าราชการตำรวจ ช่วงต้นปี 2550 เพื่อชี้แจงถึงรายละเอียดร่าง พ.ร.บ. ข้าราชการตำรวจ ที่จะมีผลกระทบกับตำรวจทุกคนในอนาคต"...เพราะคนนอกที่ไม่ใช่ตำรวจ กำลังจะเข้ามามีอำนาจเหนือตำรวจทั้งประเทศ ต่อมารัฐบาล พล.อ. สุรยุทธ์ (จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี) เริ่มพูดถึง นโยบายการปราบยาเสพติดของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และการฆ่าตัดตอน 2,000 ศพ ชมรมเห็น ว่าเป็นการสร้างเรื่องเพื่อทำลายข้าราชการตำรวจ และผลักให้ตำรวจทั้งประเทศเป็นผู้ร่วมกระทำผิด และผลักให้ไปเป็นพวก พ.ต.ท.ทักษิณ โดยไม่ตั้งใจ""...ทำให้ตำรวจที่เป็นผู้ปฏิบัติเสียกำลังใจอย่างมาก จึงรวมตัวกันออกหนังสืออีกเล่ม เพื่อบอกความจริงกับสังคมชื่อ "ฆ่าตัดตอน โกหกบันลือโลก" ซึ่งเป็นเป็นหนังสือคู่แฝดที่จัดทำมาพร้อมกับ "รัดทำมะนวย ฉบับหัวคูณ"หนังสือเล่มนี้ จะเป็นสีสันและอาจส่งผลต่อการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นในเดือนธันวาคม 2550 มากไปกว่านั้นหนังสือเล่มนี้จะต้องส่งผลสะเทือนไม่มากก็น้อย ต่อชะตาชีวิตของรัฐธรรมนูญปี 2550มันยิ่งเป็นการตอกย้ำความเชื่อที่ว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 นั้นเป็นรัฐธรรมนูญเถื่อนที่ไม่มีความศักดิ์สิทธิ์อะไรเลย เพราะผู้ร่างก็เป็นกลุ่มบุคคลที่ถูกตั้งขึ้นโดยอำนาจเถื่อนที่ไม่ได้การยอมรับ ซ้ำเนื้อหาก็เถื่อนเอามาก ๆ (เวลาที่ผมเข้าไปที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และเผอิญเห็นหน้านักวิชาการที่ช่วยยกร่างรัฐธรรมนูญปี 50 แล้ว ผมก็นึกถึงรัฐธรรมนูญเถื่อนทุกที ราวกับว่าที่หน้าผากของนักวิชาการท่านนี้มีรัฐธรรมนูญปี 50 แปะอยู่)ผมเชื่อว่าชะตาชีวิตของรัฐธรรมนูญปี 2550 คงจะสั้นเอามาก ๆ หรืออย่างน้อยก็จะไม่มีความศักดิ์สิทธิ์น่ายำเกรง เป็นกรอบกฏหมายสูงสุดที่สัปดน น่าหัวร่อ มันจะกลายเป็นขี้ปากให้ใครต่อใครเอามาด่าเล่น แม้ว่าผมจะไม่ค่อยเห็นด้วย กับเหตุผลที่ทางผู้จัดพิมพ์ยกมาอ้างในการจัดพิมพ์หนังสือเรื่อง "รัดทำมะนวย ฉบับหัวคูณ" แต่ผมเห็นด้วยว่ารัฐธรรม "นวย" ปี 2550 นั้น "หัวคูณ" จริงๆ
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
ตอนที่ 2 ท่าอุเทนนครพนม ดินแดนแห่งสายน้ำโขง จังหวัดชายแดนไทยลาวอีกหนึ่งจังหวัดที่สงบเงียบ (สงบเงียบอย่างจริงๆจังๆ) เรียบเรื่อยไปตามริมฝั่งโขงติดกับแขวงคำม่วนที่เพิ่งประกาศนโยบายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวกับประเทศไทยเพียงไม่นานลาว ประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล พยายามปรับตัวเองให้เป็นประเทศเมืองท่าค้าขายและขนส่งสินค้าในระดับภูมิภาค พร้อมตั้งเป้าขยายการเติบโตทางพลังงาน, นครพนม-แขวงคำม่วน จึงกลายเป็นหนึ่งในจุดยุทธศาสตร์การค้า และแผนพัฒนาเศรษฐกิจโดยมีรูปธรรมนำ คือ สะพานมิตรภาพไทย-ลาว สายที่ 3 นครพนม-ท่าแขก (สายที่ 1 หนองคาย-เวียงจันทน์, สายที่ 2 มุกดาหาร-สะหวันนะเขต)...ดูเหมือนว่าเราจะต้องตื่นตั้งแต่ตี 4 เพื่อไปตลาดเช้าริมน้ำโขง ตลาดท่าอุเทนจากการประเมินตัวเองกันแล้ว เราต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ออกจากบ้านสัก 6 โมงเช้า ก็คงจะทัน, เพราะระยะเวลาจากบ้านข่าถึงท่าอุเทน ใช้เวลาขับรถเพียง 30 นาที, เราโชคดีเกินคาด ตลาดท่าอุเทนปรับเวลาใหม่ โดยอนุญาตให้เริ่มวางหาบขายของได้ตั้งแต่เวลา 08.00 น., ผ่านเหตุผลที่ได้ยินมาจากเทศบาลว่า ดูแลควบคุมง่าย ไม่งั้น ยาบ้าระบาดหนัก...ตลาดท่าอุเทนเป็นจุดผ่อนปรนริมน้ำโขงซึ่งชาว(บ้าน)ลาวจากแขวงคำม่วน จะเดินทางนำสินค้ามาวางขายกันทุกวันจันทร์และวันพฤหัส ตั้งแต่เวลา 08.00 น.-16.00 น. กินเนื้อที่ 4 มุม บนถนนสายเทศบาลเมืองท่าอุเทน สินค้าส่วนใหญ่ได้แก่ รากไม้สำหรับดองเหล้า ใบจากสำหรับมวนยาสูบ กล้วยไม้ป่า อาหารป่า จำพวก เนื้อเก้ง กวาง เต่า ตะพาบ ยังพอมีให้เห็น“เดี๋ยวนี้เปลี่ยนไปมากนะพี่ เมื่อก่อน(สัก 10 ปีมาแล้ว)เป็นตลาดชาวบ้าน” รุ่นน้องเอ่ยผมพอจะเข้าใจความหมาย เมื่อมองไปรอบๆ เห็นร้านขายเสื้อผ้าสำเร็จรูป ขนมนมเนยหนีภาษีจากอำเภอหาดใหญ่ โมเดลดรากอนบอลแซด กระติกน้ำมือถือหรือเครื่องไม้เครื่องมือการเกษตร ทันสมัย จากบรรดาพ่อค้าแม่ค้าชาวไทย...ก่อนถึงเวลา 08.00 น. ศุลกากร เจ้าหน้าที่เทศบาลและทหาร จะมาคอยอยูที่ท่า รอตรวจบัตรและสินค้าของชาวลาว, แดดสายเริ่มแรง คุ้งน้ำข้างหน้าเริ่มเคลื่อนไหว ตลอดแนวเกาะกลางน้ำโขงต้นไม้ทึบสูงท่วมหัว กลางสายหมอกที่กำลังละลาย ชาวลาวหลายสิบคนมาพร้อมเรือโดยสารมากกว่า 5 ลำเรือเมื่อจอดเทียบท่า(โป๊ะ) ความชุลมุนวุ่นวาย เสียงตะโกนโหวกเหวก ขนสินค้ากันจ้าละหวั่นทั้งจากฝั่งไทยและฝั่งลาว การแลกเปลี่ยนสินค้าต่อรองราคาเริ่มต้นขึ้นใบจากม้วนใหญ่ ราคา อยู่ที่ 45 บาท ต่อม้วน เหมากันเป็นคันรถกะบะรากไม้หลากชนิด(ไม่รู้ว่าชนิดไหนบ้าง)อยู่ที่ราคากระสอบละ 100-200 บาท ตามความยากง่ายของการเสาะหาสินค้าประเภทเครื่องเทศ เครื่องจักสาน มีราคาสูงสักนิดลูกพลับจากประเทศจีน ทะลักเข้ามาทางด้านพรมแดนลาวเหนือ อนุโลมให้ขายได้ เล็กๆ น้อยๆ พอประทังโดยไม่ต้องเสียภาษีวันนี้ จะได้ซื้อเสื้อสวยๆ ไปฝากคนที่รออยู่ที่บ้าน.คนฝั่งโน้น (แขวงคำม่วน) มากับเรือโดยสาร “วันนี้จะขายได้เท่าไรน๊า”ได้เวลาขึ้นฝั่ง ทหาร ศุลกากรและเทศบาล จะดักอยู่ที่ท่าเทียบเรือตลาดที่ยังมีบรรยากาศชาวบ้าน2 ชิ้นนี้ เรียกว่า นารีผล แม่ค้าคนนั้นบอกว่า “เป็นอย่างนี้อยู่แล้วจ้ะ ไม่ได้เสริมแต่ง”แม่ค้าชาวลาวท่านนี้แบกกระสอบลูกพลับจากจีนมาขายมัดใบจาก ไม่หนักและไม่เบาจนเกินไปนักค้น ขน ต่างทำหน้าที่!คุมเข้มและเข้มงวด ป้องกันยาเสพติด
วาดวลี
“พ่อเคยคิดจะย้ายไปอยู่ที่อื่นไหม?”ฉันเคยเอ่ยถามชายชราไว้นานแล้ว ไม่จริงจังในคำพูด และไม่มีประเด็นอะไรมากนัก ฉันเพียงแต่อยากรู้ว่าเขาคิดอย่างไร ในวันรื้อถอนบ้านเก่าที่ผุพังเพราะน้ำท่วม จำเป็นต้องสร้างหลังใหม่มาแทนที่ ............ที่ดินของเราเป็นผืนยาวติดแม่น้ำเล็กๆ ซื้อมาด้วยเงินก้อนใหญ่ที่สุดในชีวิตของแม่ ราคาไม่กี่พันบาท ฉันย้ายมาอยู่ในตอนที่อายุ 7 ขวบ  เวลาต่อมา คืนหนึ่งแม่ก็เสียชีวิตในบ้านหลังนี้ ตายจากไปเหลือเพียงเถ้าถ่าน ร่างกายถูกเผากลางแดดด้วยฟืนกองโต จำได้ว่าหลังจากคืนเผาศพแม่ไม่นานนัก บ้านทั้งหลังเงียบสงบ เป็นความอ้างว้างที่สุดเท่าที่เคยรู้สึกมาก่อนในชีวิตอ้างว้างเสียจนกระทั่งพ่อเองก็ไม่อยากอยู่บ้าน  เขาพาฉันนั่งรถไปเยี่ยมพี่ชายที่ต่างอำเภอ แล้วพูดจาชักชวนพี่ชายให้กลับบ้าน ชายหนุ่มตัวเล็กยืนยันเวลานั้นว่า เขากำลังสร้างครอบครัวที่นี่  ผืนดินที่เหยียบอยู่เป็นเมืองแปลกหน้าในอดีต แต่ปัจจุบันนั่นคือบ้านของเขาเราสองคนพ่อลูกนั่งรถกลับมายังบ้านหลังเดิม คืนนั้น ต่างคนต่างหลับ อยู่กับความเงียบของคืนข้างแรม บนท้องฟ้ามีดาวพราวพราย แต่ฉันเห็นน้ำตาของพ่อซึมไหลผ่านใบหน้าเหี่ยวย่น เขาคิดอะไร ฉันไม่รู้ เพียงแต่ในเวลาต่อมาไม่นาน พ่อก็พาใครคนหนึ่งเข้ามาอยู่ในบ้าน บอกสั้นๆว่าจะแต่งงาน ฉันย้อนคิดภาพเหล่านั้นอยู่เสมอๆ และน่าจะเป็นคำตอบได้ว่า พ่อคงไม่อยากย้ายไปไหนแล้ว  ฉันจึงไม่ได้ถามพ่ออีก จนกระทั่งวันหนึ่ง เขาเองต้องเป็นฝ่ายยืนส่งฉันหน้าบ้าน โบกมือและรับไหว้ “ทุกคนมีวิถีของตนเอง” เขาบอกเมื่อฉันกลายร่างเป็นนกอีกตัว ที่ต้องจรจากหมู่บ้านไป เขาปล่อยฉันหอบเสื้อผ้าไปอย่างเงียบๆ ในกระเป๋ามีเสื้อผ้า 2 ชุด สมุดบันทึก หนังสือ 2 เล่มกับเงินนิดหน่อยฉันเดินทางไปหาพี่สาวที่กรุงเทพฯ ไม่รู้อนาคตล่วงหน้า ไปเพื่อเรียนต่อ หางานทำ หรือแสวงหาใครสักคนในชีวิต ฉันไม่รู้ รู้เพียงเวลาต่อมา จวบจนบัดนี้ ฉันคือคนที่ยังไม่ได้กลับบ้าน พเนจรไปอาศัยตรงนั้น ตรงนี้ ข้ามเมืองหลวง กลับมาเมืองเดิม แต่ก็ยังไม่ได้ใช้ชีวิตร่วมกับพ่อหรือทดแทนคืนวันที่ขาดหาย“พ่อเคยคิดจะย้ายไปอยู่ที่อื่นไหม?”ฉันกลับมาถามเขาอีกครั้ง ตราชั่งความคิดกำลังทำงาน ระหว่างต่างคนต่างไป กับ การใช้ชีวิตร่วมกัน เมื่อตระหนักว่าชายชราตรงหน้า  มีร่างกายร่วงโรยตามสังขาร มีความอ่อนไหวเช่นเดียวกับมนุษย์ทุกคน ฉันควรกลับมาหาเขา หรือ ไม่ เขาก็ควรไปอยู่กับฉัน ผิดก็เสียแต่ว่าฉันยังไม่มีบ้านของตัวเอง การย้ายบ้านครั้งนี้ก็เพียงไปขอเช่าที่สวนกับบ้านร้างเก่าๆ หลังหนึ่งไว้อยู่อาศัย ความรู้สึกผิดบางอย่างยังวูบไหวมาเป็นระยะ เมื่อคิดว่าการดิ้นรนนั้นทำเพื่อตัวเองเป็นส่วนใหญ่ ฉันอยากถามเขาอีกครั้ง หากฉันมีบ้านของตัวเอง เขาจะมาอยู่กับฉันไหมชายชราหัวเราะหึๆ มาตามสายโทรศัพท์ เขาบอกแต่ว่าจะฝากผ้ายันต์ติดเสาบ้านมาให้ เป็นของขวัญบ้านหลังใหม่“แก่ๆ ก็มาอยู่ด้วยกันนะ”ฉันลองเกริ่นไปแบบนั้น ชายชราหัวเราะอีก นึกทบทวนไปยังพื้นที่รอบบ้านของพ่อ เขามีเพื่อนที่ผูกพันกันมา มีกิจกรรมในชุมชน เขาปลูกสมุนไพร ทำยาบดเพื่อแจกจ่ายชาวบ้าน เป็นคนประกอบพิธีกรรมศาสนาและเขียนบทกวีเกี่ยวกับคนตาย เพื่ออ่านในงานศพการพรากเขาจากที่นั่นมา คงเป็นเรื่องไม่เข้าท่า ฉันจึงกระอักกระอ่วน ที่จะบอกพ่อไปว่า“คงยังไม่ได้กลับไปอยู่บ้านหรอกนะ”“หา..อะไรนะ..”ใช่แล้ว เขาหูไม่ดี ฟังอะไรไม่ถนัด ฉันพูดดังๆ อีกรอบ จนแทบเป็นตะโกน แต่สุดท้าย ชายชราก็หัวเราะเสียงดัง“ได้ยินแล้ว ตะกี้ไม่ได้ยินจริงๆ ตอนนี้แกล้งไม่ได้ยิน”“อ้าว พ่อนี่ แล้วที่ถามตอนแรกได้ยินไหม”ฉันยังนึกถึงประโยคนั้น เขาคิดจะย้ายจากที่นั่นมาอยู่กับฉันไหม ชายชราผู้รู้ทันเอ่ยกับฉันเบาๆว่า“อยากอยู่ที่ไหนก็อยู่ไปเถิดลูก อย่าไปคิดมาก แต่ก่อนพ่อก็ไม่ใช่คนบ้านนี้ ปู่ทวดเราก็ไม่ใช่คนที่นี่ เราต่างย้ายมากันทั้งนั้น ข้ามภูเขาเป็นลูกๆ มาตั้งรกราก นกยังอพยพข้ามประเทศมาเลย อยู่ที่ไหนที่ใจมีสุขก็พอ ไม่ต้องกังวลว่ามันไม่ใช่บ้านเกิด”เขาพูดอย่างช้าๆ ส่วนฉันก็นิ่งเพื่อตั้งใจฟัง น้ำเสียงที่ยังคงท่วงทำนองการพูดอันคุ้นเคยเหมือนในอดีต ฉันเผลอยิ้มให้กับประโยคเหล่านั้น ก่อนจะเอ่ยสวัสดีและล่ำลากัน ได้ยินแว่วๆ มาในประโยคสุดท้าย ที่ชายชราบอกไว้ว่า“ไว้แก่กว่านี้พ่อจะค่อยคิดใหม่ ว่าจะย้ายไปไหนอีกหรือเปล่า”* หมายเหตุ ขอบคุณภาพลำดับ 6 นกเขาคู่รักหลังหลังตึกและต้นสักในเมืองใหญ่  จากคุณปิยนาถ ประยูร
ชนกลุ่มน้อย
ขณะรถแล่นไป  เราพูดถึงแต่สิ่งที่อยู่ข้างหน้า  และย้อนนึกถึงสิ่งที่ผ่านมา  จนแทบไม่คิดถึงเรื่องขณะปัจจุบัน  ทันทีที่รถมาถึงโค้งหนึ่งนั่นเอง  พะเลอโดะหักหลบลงข้างทางอย่างกะทันหัน รถวิ่งไปบนพื้นขรุขระตึงๆตังๆ  พร้อมกับดับไฟหน้ารถ  ผมเห็นแต่ความมืดสลัว  และตะคุ่มพุ่มไม้ ใบบังที่แสงจันทร์เสี้ยวพอให้มองเห็นได้  เหมือนว่าซอมีญอกับกะฌอจะเข้าถึงกลิ่นลอยมาล่วงหน้า  ว่ามีอะไรเกิดขึ้นในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า  เขาหายไปจากที่นั่ง  หลบไปอยู่ที่ใดที่หนึ่ง  ผมถามพะเลอโดะว่ามีอะไร  ลุงเวยซาเช่นกัน  นั่งลุกลี้ลุกลนหันซ้ายหันขวา  สัมผัสได้ถึงสิ่งไม่ปกติ“ข้างหน้ามีด่านตรวจ” พะเลอโดะพูดสั้นเพียงนั้น  อย่างกับได้กลิ่นอันตรายบางอย่าง แล้วส่องไฟฉายจัดสิ่งของในรถเสียใหม่  มะพร้าวงอกหน่อสูงเท่าข้อศอก  หน่อกล้วย ถุงข้าว  ถุงเกลือ  หม้อสนาม เปล  ถุงนอน จอบเสียม  มีดทำสวน  ต้นไม้ในถุงเพาะชำอีกจำนวนหนึ่ง   ทำให้ดูประหนึ่งเป็นรถคนสวนแถบนี้“พะตี  เขาถามให้บอกว่าไปโข่โละโกร”  พะเลอโดะหันไปพูดกับลุงเวยซา  ผมได้ยินลุงเวยซาพูด เหม่ เหม่ รับคำอยู่ในความมืด “พวกโง่ทั้งนั้น  ยังเฝ้ายามกันอยู่”  พะเลโดะพูดไปหัวเราะไป  ผมเห็นความเด็ดขาด  การตัดสินใจฉับพลัน  และท่าทีไม่กลัวใครในเวลาสำคัญมาตลอด  เหมือนเขาเคลื่อนไหวอยู่ในเขตสู้รบ  โดยไม่มีอาวุธหรือกระสุนแม้แต่นัดเดียวรถถอนตัวออกจากข้างทาง  อย่างกับลุกขึ้นมาจากหลุมก้อนหิน  ไฟหน้ารถสว่างโล่ไกลออกไป  เห็นไฟฉายหลายกระบอกส่องขวางถนนอยู่แล้ว  คนในชุดพรางอาวุธสงครามโบกมือไหวๆพร้อมโบกมือ  พะเลอโดะหยุดรถ  ไม่แสดงอาการตื่นกลัวใดๆ  กลับนั่งสง่านิ่งสงบอย่างกับผู้บังคับบัญชากำลังตรวจกำลังพลแนวหน้า“ไปไหน” เสียงหนึ่งดังง้วนสั้น  ไฟฉายส่องแสงวาบเข้ามาในรถ  พะเลอโดะพูดด้วยน้ำเสียงหนักแน่นแต่เจือด้วยท่าทีอ่อนน้อมเจียมตน  “ไปสาละวินครับ” เสียงคำถามดังมาทางด้านประตูรถที่ผมนั่ง“มาจากไหน” เสียงนั้นดังมาจากความมืด“เชียงใหม่” ผมตอบแล้วยิ้มมุมปาก“ช่วงนี้มีอะไรเกิดขึ้นหรือเปล่าครับ” พะเลอโดะโยนคำถาม“ข้างในกำลังสู้รบ  มาแถบนี้กลางคืนไม่ปลอดภัย” เสียงหนึ่งดังสอดขึ้นมา“ลุงไปไหน ไปทำอะไร”“โข่โละโกร” ลุงเวยซาพูดด้วยน้ำเสียงตื่นๆ  พะเลอโดะพูดแทรกขึ้นมาว่า  ลุงอยู่แม่เงาขอติดรถมาด้วย  เอาต้นไม้ข้าวของไปฝากลูกหลานไม่มีเสียงถามต่อ  แสงไฟฉายสาดไปทั่วรถ   ราวกับจะค้นหาสิ่งแปลกปลอมที่อาจแฝงตัวมากับฝุ่นในรถ   ผมเสียอีกกลับใจเต้นตึงๆตังๆ  ผมไม่รู้ว่าซอมีญอกับกะฌอไปแอบซ่อนอยู่ตรงไหนของตัวรถ  เกิดเขาค้นหาเจอ  จะมีอะไรเกิดขึ้นนับจากนี้ไป“นี่อะไร”เงียบกันชั่วอึดใจ  แสงไฟฉายสาดไปจ่อหน่อมะพร้าว“ไปได้ๆ ระวังๆ หน่อยแล้วกัน”  กลุ่มคนในชุดพรางหลีกทางให้  พะเลอโดะกล่าวขอบคุณ แสงไฟส่องไกลไปตามถนนที่คดเคี้ยวไปเรื่อยๆ
ฐาปนา
หากได้รับตั๋วเครื่องบินไป-กลับยุโรป พร้อมเงินติดกระเป๋าไปเที่ยวฟรีๆ 10 วัน เป็นใครย่อมไม่รอช้า ทั้งพร้อมจะเลื่อน – ลา – หยุด ทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อไป มันคงเป็นประสบการณ์ครั้งสำคัญในชีวิตที่น้อยคนจะมีโอกาส แต่ด้วยเงื่อนไขเดียวกันนี้ หากเปลี่ยนจากไปเที่ยวยุโรป 10 วัน เป็นการไป ‘วิปัสสนา’ 10 วันแทน หลายคนคงต้องคิดหนัก เราหมายใจจะท่องเที่ยวไปให้ทั่วประเทศ ทั่วทวีป ทั่วโลก จากทะเลลึกถึงภูเขาที่สูงที่สุด จากมหานครสู่ป่าดิบ จากกลางตลาดที่คราคร่ำด้วยผู้คนสู่ทะเลทรายเวิ้งว้าง แต่เรากลับไม่สนใจที่จะท่องเที่ยวสำรวจ ‘จิต’ ของเราเอง ... แปลกมั้ย ?ในฐานะชาวพุทธ ไม่ว่าจะกล่าวด้วยความภาคภูมิ หรืออ้างไปก่อนขณะที่ยังไม่เปลี่ยนศาสนาเป็นอื่น น้อยคนนักที่จะรู้ความหมายว่า วิปัสสนา หมายถึงอะไร และน้อยลงไปอีกที่ต้องการจะรับรู้ประสบการณ์วิปัสสนา ทั้งที่อาจจะกล่าวได้ว่าสิ่งนี้ คือหนทางแห่งปัญญา อันเป็นคำสอนสำคัญขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครูผู้ยิ่งใหญ่ และศาสดาของศาสนาพุทธแน่ละ ผมเองก็เป็นคนหมู่มาก ที่บอกได้ว่าเป็นชาวพุทธตั้งแต่เกิด แต่ไม่เคยรู้เรื่องวิปัสสนาแม้แต่น้อย จนกระทั่งได้มีโอกาสไปเข้าอบรมการวิปัสสนาที่ศูนย์ธรรมอาภา1 จังหวัดพิษณุโลก เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมาด้วยการสนับสนุนจากมูลนิธิที่นา พร้อมกับเพื่อนอีกสี่คนผู้ที่สมัครใจเข้าร่วมปฏิบัติวิปัสสนาเป็นเวลาสิบวันไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการอบรมใดๆ เลย หากแต่ต้องยอมรับที่จะปฏิบัติตามกฎระเบียบที่ว่าด้วยความเงียบอย่างเคร่งครัด ทั้งการไม่พูดคุยกันแม้แต่คำเดียวตลอดสิบวัน ทั้งการห้ามใช้โทรศัพท์มือถือโดยเด็ดขาด ทั้งการห้ามอ่าน-ห้ามเขียน ฯลฯ ที่ล้วนแต่สามารถทรมานกิเลสคนเมืองได้ทั้งสิ้น เพราะแต่ละคนได้ผูกติดตนเองไว้กับสังคมอย่างแน่นหนาเสียแล้ว ครอบครัว คนรัก เพื่อน ที่ทำงาน โรงเรียน ฯลฯ เวลาเกือบสองสัปดาห์สำหรับคนที่เคยชินกับการพุ่งความสนใจออกไปนอกตัวเองอยู่ตลอดเวลา มันไม่ง่ายเลยวิปัสสนา แปลว่า ทำให้เห็นความจริง ความจริงของโลก ความจริงของชีวิต ความจริงของตัวเรา ผ่านเครื่องมือที่ง่ายที่สุดคือ ลมหายใจของเราซึ่งเป็นเครื่องหมายของชีวิต เมื่อผมหันความสนใจจากที่เคยมุ่งสู่ภายนอกให้กลับมาดูที่ลมหายใจของตัวเองผมก็ได้เห็น โลกภายในที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อนสามวันแรกของการปฏิบัติ การปรับตัวให้เข้ากับตาราง การตื่นแต่เช้ามืดเพื่อนั่งสมาธิ สถานที่ใหม่ อาหารมังสวิรัติ กฎแห่งความเงียบ หลายสิ่งหลายอย่างทำให้ผมอึดอัด ฟุ้งซ่าน ห่วงงาน ห่วงครอบครัว จนอดคิดไม่ได้ว่าจะอยู่จนครบสิบวันได้หรือไม่ แต่อาจเพราะความสนใจใคร่รู้จากการฟังธรรมะบรรยายในช่วงเย็นของทุกวันที่บอกว่า ‘...การฝึกอานาปานสติ ดูลมหายใจนี้คือการลับมีดให้คมเพื่อผ่าตัดจิตใจ...’ ทำให้ผมอยากจะลองดูสักตั้งว่า ตลอดทั้งสิบวันนี้ หากผมปฏิบัติอย่างจริงจัง มันจะทำให้ผมดาวดิ้นลงไปได้หรือเปล่า ดังนั้น แม้จะร้อนรนเหลือเกินและคิดห่วงไปสารพัดอย่าง แต่ผมก็ตั้งใจปฏิบัติอย่างเต็มที่ จนกระทั่งลมหายใจเริ่มละเอียดลงเรื่อยๆ และสามารถสัมผัสได้ถึงความเย็นจากลมหายใจที่เหนือริมฝีปากแล้วในวันที่สี่ วันที่ได้เริ่มฝึกวิปัสสนา เมื่อเริ่มเคลื่อนสติมาจดจ่อที่กลางกระหม่อมผมก็รู้สึกได้ว่า มีดแห่งสติที่ผมเพียรลับมาตลอดสามวันนั้น มันช่างคมกริบเหลือเกิน มันผ่าเอาเวทนาผมผุดพลุ่งออกมาราวกับน้ำพุ หนังหัวของผมเหมือนมีกระแสไฟฟ้าไหลผ่าน ใบหน้าเหมือนมีตัวอะไรวิ่งอยู่ใต้ผิวหนัง ไหล่ขวาหนักราวกับหินทับ กล้ามเนื้อตามร่างกายกระตุกอย่างควบคุมไม่ได้ บางครั้งก็ร้อนผ่าวไปทั้งตัว บางครั้งก็รู้สึกเบาเหมือนจะลอยได้ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นไม่ใช่อุปาทาน แต่เกิดขึ้นจริงๆ ประจักษ์ด้วยตนเองจริงๆ แม้แต่ความเจ็บปวดตามร่างกายอันเกิดจากการนั่งติดต่อกันเป็นเวลานาน ผมก็ได้เห็นด้วยตนเองว่ามันเกิดขึ้นเฉพาะขณะเข้าวิปัสสนา มันปวดเหมือนกับจะทนไม่ได้ แต่มันก็หายไปแทบจะทันทีที่ออกจากสมาธิ หรือนี่จะเป็นอาการที่เรียกว่า กิเลสกำลังถูกเผา...?ผมฝันร้ายในคืนที่สี่นั้น เป็นฝันร้ายที่มาเป็นชุดๆ มากเสียจนจำรายละเอียดและจำนวนเรื่องที่ฝันไม่ได้ รู้แต่ว่ามันช่างน่ากลัวเหลือเกิน ผมไม่เคยรู้เลยว่า ในหัวสมองของผมจะมีจินตนาการที่เลวร้ายซ่อนเร้นอยู่มากมายขนาดนี้ ผมสะดุ้งตื่นหลายครั้งและรู้สึกว่าตัวเองหายใจเบาและเร็วมาก ผมไม่เคยเป็นอย่างนี้มาก่อนเลย เช้าวันนั้น ธรรมบริกร ผู้คอยดูแลผู้เข้าอบรม มาบอกผมว่า เมื่อคืนผมนอนกรนเสียงดัง เขาไปเคาะประตูห้องแล้วแต่ผมไม่ตื่น ผมไม่รู้ตัวเลยว่าได้หลับลึกไปขนาดไหน หรือนอนหลับไม่สนิทขนาดไหนในวันต่อๆ มา ผมรู้สึกว่าบางสิ่งบางอย่างที่ดำมืดในตัวค่อยๆ ถูกชำระล้างออกไป ผมเริ่มมองเห็นความเปลี่ยนแปลง ความฟุ้งซ่านในใจเหมือนถูกกวนจนฟุ้งกระจายไปทั่วแล้วจางหายไปเรื่อยๆ ความขุ่นเคืองที่หมักหมมคล้ายตะกอนนอนก้นอยู่ ค่อยๆ ถูกระบายออกไปจนเกือบหมด ธรรมบรรยายได้ย้ำเตือนอยู่หลายครั้งว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฎบนร่างกายล้วนเป็นผลมาจากการหลุดร่อนของสังขารที่ทับถมกันอยู่ภายในมาตลอดชีวิต ตามหลักที่ว่า เมื่อหยุดการปรุงแต่ง การปรุงแต่ง(สังขาร)เดิมก็หลุดร่อนออกมา แล้วผลแห่งความโลภ ความโกรธ ความหลง กิเลสนานาประการในใจ ก็ผุดโผล่ออกมาบนผิวกาย เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งอาการที่น่าพอใจ ทั้งอาการที่ไม่น่าพอใจ ไม่มีอะไรคงทนสักอย่าง แม้แต่ความเจ็บปวดจนแทบทนไม่ไหวมันก็ดำรงอยู่เพียงชั่วขณะหนึ่งเท่านั้นจากการปฏิบัติติดต่อกันหลายวัน ผมพบว่าร่างกายกับจิตใจมันสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออกจริงๆ ขณะที่จิตใจปั่นป่วนร่างกายก็ปั่นป่วน มันต่อต้านการหยุดนิ่ง มันเคยชินกับการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา มันต่อสู้เพื่อจะสร้าง เพื่อจะปรุงแต่งต่อทุกความรู้สึกทางกายทางใจ แล้วเมื่อจิตใจสงบร่างกายก็สงบลงไปพร้อมๆ กันถึงวันที่แปด ผมนั่งวิปัสสนาติดต่อกันได้นานกว่าสองชั่วโมง แม้อาการเมื่อยล้า เจ็บปวดขาจะยังมีอยู่ แต่ผมรู้ว่ามันจะหายไปในเวลาไม่นาน มันมาแล้วมันก็ไป เช่นเดียวกับความฟุ้งซ่านของจิตที่ยังกระโดดไปมาระหว่างอดีตกับอนาคต มันก็ยังเป็นของมันอยู่ แต่ผมก็รู้แล้วว่า เมื่อมันมาเดี๋ยวมันก็ต้องไป แค่ตามดู รู้ทัน วางเฉยเสียมันก็ไม่อาจไปไหนได้ไกลหลังสิบโมงเช้าของวันสุดท้าย ทุกคนได้รับอนุญาตให้พูดคุยกันได้ ใช้โทรศัพท์ได้ ซึ่งธรรมบรรยายอธิบายว่านี่คือวิธีสมานแผล หลังจากการผ่าตัดจิตใจแล้ว ผมคิดว่า วิธีนี้จะมีประโยชน์มากจริงๆ ในกรณีที่เราไปกันเป็นกลุ่ม เพราะเมื่อเราสามารถพูดคุยกันได้ เราก็ย่อมจะเปิดใจพูดคุยกันได้มากกว่าคนที่มาลำพัง (แต่นี่ก็อาจเป็นข้อเสียเพราะมันอาจทำให้เราอดคุยกันไม่ได้ระหว่างที่รักษาความเงียบ) ดังนั้น ในช่วงพัก ชายหนุ่มทั้งห้าจากมูลนิธิที่นา จึงตั้งหน้าตั้งตาคุยกันชนิดไม่สนใจคนอื่น เมื่อถึงวันที่ต้องกล่าวอำลา สิบวันที่ยาวนานเหมือนสิบสัปดาห์ในตอนแรก กลับดูสั้นกว่าเดิม ประสบการณ์ตลอดสิบวันแห่งการสำรวจจิตตัวเอง อาจมากพอที่จะเขียนบรรยายเป็นหนังสือได้หลายเล่ม แต่สิ่งที่ทรงคุณค่าที่แท้จริงนั้นกลับยากที่จะบรรยายออกมาเป็นคำพูดหรือตัวอักษร อาจเพราะมันไม่ต้องการคำอธิบาย หรืออาจเพราะไม่มีคำอธิบายใดจะบอกได้อย่างครบถ้วน ผมรู้เพียงว่า ผลลัพธ์ของมันช่างมหัศจรรย์ หลายสิ่งหลายอย่างในตัวผมเปลี่ยนแปลงไป ผมรู้สึกถึงการ ‘เลือก’ อย่างมีสติมากขึ้น เข้าใจมากกว่าเพียงแค่พูดว่า อนิจจัง-ทุกข์ขัง-อนัตตา อย่างที่เคยได้ยินมาตลอดชีวิต‘…ภูเขาก็เป็นภูเขา. น้ำก็เป็นน้ำ. บรรพชิตก็เป็นบรรพชิต.ชาวบ้านก็เป็นชาวบ้าน.แต่ว่าภูเขาเหล่านี้ แม่น้ำเหล่านี้ โลกเองทั้งหมด พร้อมทั้งดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาวทั้งหลาย, ทั้งหมดนั้นไม่มีอะไรสักอย่างเดียวที่ตั้งอยู่ภายนอกจิตของเธอ! สากลโลกธาตุอันไพศาล ก็ตั้งอยู่แต่ภายในใจเธอเท่านั้น,เมื่อเป็นดังนั้น จะมีที่อื่นที่ไหนอีกเล่า ที่จะหาพบสิ่งต่างๆ ที่มีปรากฎการณ์นานาชนิด. ภายนอกของจิตไม่มีอะไรเลย. ...’2ธาตุดั้งเดิมของมนุษย์ ก็ไม่ต่างจากธาตุดั้งเดิมที่ประกอบอยู่ในทุกสรรพสิ่ง ทั้งสิ่งมีชีวิต และไม่มีชีวิต ทั้งที่เป็นรูป และเป็นนาม หากเข้าใจปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในตัวเรา ก็ย่อมจะเข้าใจปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นนอกตัวเรา หากประจักษ์ถึงสัจจะในตัวเรา ก็ย่อมประจักษ์ถึงสัจจะนอกตัวเรา เมื่อเห็นความจริงของสรรพสิ่ง อัตตาก็ถูกสลายไปเรื่อยๆ มนุษย์แต่ละคนย่อมสามารถเข้าถึงความจริงที่เขาพร้อมจะรับ แต่หากปฏิเสธไม่ยอมรับความจริงก็เท่ากับขีดวงล้อมให้ตัวเองแคบเข้าไปเรื่อยๆ ความทุกข์ก็รุมล้อมมาจากทุกด้าน คล้ายกับว่า เมื่อต่อต้านมัน มันจึงคงอยู่ แต่เมื่อมองดูมันกลับสลายไปสิบวันแห่งการสำรวจจิตใจตนเอง คือประสบการณ์ล้ำค่าที่เราทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด ไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นบัณฑิตหรือชาวนา ‘ธรรม’ นั้นย่อมเป็นของกลางสำหรับทุกคน นับแต่ขจัดทุกข์ กำจัดกิเลศ ไปจนถึงพบกับความจริงสูงสุด แต่ที่ไม่มีใครต้องการจะไป อาจเป็นเพราะกิเลสมันได้ยึดครองจิตใจไปเสียหมดแล้ว และมันกลัวที่จะต้องถูกกำจัดจึงหลีกเลี่ยงทุกวิถีทางที่จะไป เราได้ปล่อยให้กิเลสมันเป็นนายเหนือเรามาตลอด สุตตะมยปัญญา ได้จากการฟัง การอ่าน การรับรู้ทุกชนิด จินตามยปัญญา ได้จากการคิดใคร่ครวญ และ ภาวนามยปัญญา ได้จากประสบการณ์ จึงมีคำพูดที่ว่า อ่านหนังสือพันเล่ม ไม่เท่าออกเดินทางไกล การประจักษ์แจ้งในตน ย่อมไม่อาจได้จากการอ่านหรือการคิดเอาเอง หากแต่ต้องปฏิบัติให้รู้เห็นด้วยตนเองเท่านั้น การวิปัสสนานั้น แม้จะอ่านหนังสือสักเท่าไร ก็ไร้ประโยชน์หากไม่ได้ผ่านประสบการณ์นั้นด้วยตนเอง ภาวะของการเป็น ที่ได้รับจากประสบการณ์เท่านั้น ที่จะทำให้แต่ละคนได้ประจักษ์ และซาบซึ้งถึงคุณค่าของชีวิต รู้สึกอยากจะขอบคุณทุกๆ คน ทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้นำพาให้ตนเองได้มาถึงจุดนี้ เหตุผลที่เราทุกคนควรจะมีโอกาสไปวิปัสสนาสักครั้งหนึ่งในชีวิตนั้น อาจกล่าวได้มากมาย แต่ถึงที่สุดแล้วอาจมีแค่ข้อเดียวเพราะภาวะแห่งการ ‘เป็น’ นี้เท่านั้น ที่จะทำให้เรา ‘เป็น’ ยิ่งๆ ขึ้นไปอีกและเมื่อเราได้รู้จักตนเองแล้ว เราจึงพร้อมจะช่วยให้ผู้อื่นได้รู้จักตนเองด้วย

แท็กล่าสุด

แท็กยอดนิยม