Skip to main content

บล็อกกาซีน ประชาไท

โอ ไม้จัตวา
ไม่อยากเชื่อว่าชีวิตนี้จะพูดคำนี้ออกมาได้ ฉันเป็นคนที่เชื่อในตัวเอง เชื่อในการกระทำและผลของการกระทำ เชื่อในกรรม เชื่อในกฎฟิสิกส์ข้อหนึ่งที่ว่า แรงตกกระทบเท่าไร แรงสะท้อนขึ้นเท่านั้น  เชื่อได้ดังนี้แล้ว ฉันจึงไม่พยายามสร้างการกระทำที่ไปตกกระทบคนอื่น เพื่อให้มันสะท้อนกลับมาหาฉัน  พูดอย่างพุทธศาสนิกชนก็คือ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วพูดแบบชาวบ้านก็คือบาปไม่แพ้บุญ  ฉันไม่ค่อยชอบทำบุญกับพระเท่าไรนัก เหตุเพราะไม่ชอบพิธีกรรม แต่มักให้คนที่ขาดแคลนมากกว่า เช่น คนที่ยืนอยู่ตรงหน้าบอกว่า ไม่มีเงินสักบาท เธอมองดูเพื่อน ๆ รับซองเงินเดือน ขณะของเธอนั้นเบิกล่วงหน้ามาหมดแล้ว เธอบอกฉันเหมือนบอกต้นไม้ต้นหนึ่ง ไม่มีแววตาขอความเห็นใจ แต่เป็นแววตาของใครสักคนหนึ่งที่ต้องการบอกใครก็ได้ว่า ขณะนี้ฉันไม่มีสักบาทสำหรับวันพรุ่งนี้ ฉันควักกระเป๋าสตางค์ออกมา เหลืออยู่สามร้อย แบ่งให้เธอไปหนึ่งร้อยบาท เธอน้ำตาคลอ และอึ้งไป ถามฉันว่าให้ทำไม ฉันบอกว่าไม่เป็นไร แบ่งกัน เดี๋ยวมันก็มาอีก ความที่เชื่อว่าทำสิ่งใดแล้ว ก็จะได้สิ่งนั้นตอบ ทำให้ฉันไม่สนใจเรื่องเวทมนต์ คาถา ไสยศาสตร์ และหมอดูมากนัก แม้ว่าศาสตราจารย์ท่านหนึ่งบอกฉันว่าใด ๆ ในโลกนี้ล้วนเป็นสิ่งแค่ตาเห็น แต่สรรพสิ่งในจักรวาลนี้ยังมีอีกมากที่มนุษย์ยังไม่รู้ ท่านบอกว่าสิ่งที่มนุษย์เห็น และไปถึงนั้น ท่านให้แค่ 50 %  ส่วนอีก 50 นั้นเรายังศึกษาไปไม่ถึง นักวิทยาศาสตร์เรียกว่าเมตาฟิสิกส์  คนธรรมดาอาจเรียกว่าไสยศาสตร์ สิ่งลึกลับ หรืออะไรก็แล้วแต่ อืมม....ผ่านมาหลายปี เพื่อนคนหนึ่งเล่าให้ฟังถึงมหัศจรรย์ของน้ำมนต์ ที่มีนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งศึกษาผลึกของน้ำในสภาวะต่าง ๆ น้ำที่ติดคำว่า ฉันจะฆ่าคุณ ไว้ที่ข้างแก้ว ผลึกของน้ำมีลักษณะน่ากลัว น้ำที่ฟังเพลงคลาสสิคมีผลึกสวยงาม น้ำที่ฟังเสียงสวดมนต์ผลึกงามวิจิตร ความรู้เรื่องนี้ทำให้ฉันนึกถึงน้ำในซุเปอร์มาร์เก็ตที่เปิดเพลงคลาสสิค กับน้ำในห้างที่เปิดเพลงร็อคเสียงดัง  จะส่งผลต่อร่างกายเราไหมหนอช่วงนี้อ่านดวง “แม่นไหมไม่ทราบ” คอลัมน์ข้าง ๆ บ่อย ๆ บอกตัวเองว่าดวงไม่มีอิทธิพลต่อชีวิตฉัน แม่นหรือไม่แม่น ฉันทราบว่าไม่เป็นไร แม่นก็ไม่เป็นไร ไม่แม่นก็ไม่เป็นไร ถ้าชีวิตจะดีบ้างไม่ดีบ้าง ฉันไม่มีปัญหา จนเมื่อน้องสาวสุดเลิฟที่เขียนถึงคราวที่แล้วประสบปัญหาชีวิต  ฉันทำอะไรไม่ได้นอกจากให้กำลังใจ และเพิ่มพลังใจให้เธอด้วยวิธีการต่าง ๆ  ถึงกับชวนเธอและคุณแม่มาดูดวงกับหมอเกต์  เนื่องจากเราไม่อาจรู้ว่าคนที่มีปัญหากับน้องนั้น เขาคิดยังไง  เราไม่รู้อะไรเลยนอกจากการคาดเดา หมอดูคือทางออกสุดท้าย ที่อาจเป็นเมตาฟิสิกส์ และเป็นคำตอบในสิ่งที่เราไม่รู้  เมื่ออ่านคำทำนายจากราศีเกิดของคู่กรณีของน้อง ทำให้เรารู้ว่าชะตาของเขาช่วงนี้เป็นอย่างไร เขาขึ้นตรงไหน และตกตรงไหน เหมือนรู้เขารู้เรา รบชนะฉันใด เมื่อคาดเดาเองไม่น่าเชื่อถือ หมอดูนี่แหละ ช่วยเรารบได้ ในภาวะวุ่นวายทางอารมณ์นั้น การอ่านดวงของคนที่เราไม่รู้ คือความสบายใจอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อดวงของเขาไม่ดี อ่านเทียบกับเราแล้วยังไงเราก็ไม่เจอเรื่องใหญ่ อ่านแล้วสบายใจ ตื่นเช้ามาวันหนึ่ง ฉันจึงตกลงใจว่าสำหรับเรื่องนี้ ฉันไม่คิดอะไรแล้ว ฉันเชื่อหมอดูก็ได้  สบายใจดีมีรูปผลึกน้ำมาฝากค่ะภาพจาก http://peeyong.exteen.com/20060508/entry ผลึกน้ำก่อนทำน้ำมนต์ผ่านการสวดมนต์ผ่านการฟังเพลงร็อคอย่างรุนแรง นี่ขนาดน้ำนะเนี่ย แล้วน้ำในหัวใจจะขนาดไหนฟังเพลงคาวาชิโฟล์คแดนซ์ เห็นรูปนี้แล้วอยากฟังคาวาชิโฟล์คแดนซ์บ้างอ่ะมีคำว่าคุณทำร้ายฉัน ฉันจะฆ่าคุณอยู่ข้างขวดมีคำว่าขอบคุณข้างขวดมีคำว่า รัก อยู่ข้างขวดรูปแรกเขียนคำว่า “ไอ้บ้า” ภาษาญี่ปุ่นไว้ข้างขวดรูปสอง เขียนคำว่า “ไอ้บ้า” เป็นภาษาอังกฤษ ไว้ข้างขวดรูปสามและสี่ ผลึกน้ำที่ติดคำว่า “อดอฟ ฮิตเลอร์” ไว้ข้างขวดผลึกน้ำจากบ่อน้ำพุ  Saijo ประเทศญี่ปุ่นเกล็ดน้ำแข็งจาก Antarcticผลึกน้ำจากแม่น้ำ Yodo ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งไหลผ่านเมืองใหญ่หลายเมืองรูปซ้าย ที่ข้างขวดติดคำว่า "Angel" ส่วนรูปขวา ติดคำว่า "Demon”เขียนชื่อแม่ชี Teresa ที่ข้างขวด
การะเกต์ ศรีปริญญาศิลป์
“น้ำใจให้น้องปิ่น” เด็กหญิงพิการที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ทุกคนในครอบครัวยังมีความหวังและมองโลกในแง่ดีเสมอ อ่านเรื่องของน้องปิ่นกับแม่ได้ที่นี่ สนับสนุนเงินทุนช่วยเหลือตามกำลังศรัทธาได้ที่หมายเลขบัญชี 05-3405-20-093267-0น.ส.สีไวย คำดา เพื่อ ด.ญ.วรัญญา ฟินิวัตร์ ธ ออมสิน สาขามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ “สมทบทุนค่าอาหารและรักษาพยาบาลหมาแมวพิการ ป่วยไข้ ถูกทอดทิ้ง ตามกำลังศรัทธา”เลขที่บัญชี 1210101483 น.ส. นันท์ธนัตถ์ จิตประภัสสร ธ กรุงไทย สาขาบางบัวทอง หรือจะส่งเป็นอาหารหมาแมวก็ได้ค่ะ ที่97 หมู่ 2 บ้านหนองคาง ต.หนองราชวัตร อ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี 72240
ชิ สุวิชาน
เขานั่งอยู่แถวหน้า และเขาโบกไม้โบกมือขณะที่ผมกำลังบรรเลงเพลงอยู่บนเวที  ในมหกรรมคอนเสิร์ตเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ซึ่งจัดโดยสำนักประชาสัมพันธ์ร่วมกับองค์กรยูเนสโก้  ในงานได้มีการเชิญศิลปินชนเผ่าหลักทั้ง 7 เผ่า ได้แก่ ม้ง อาข่า ลีซู ลาหู่ เมี่ยน ไทยใหญ่และกะเหรี่ยง รวมทั้งยังมีศิลปินล้านนา อาทิ ครูแอ๊ด  ภานุทัต  คำหล้า ธัญาภรณ์ น้อง ปฏิญญา และไม้เมืองนอกจากนี้มีทายาทของสุนทรี  เวชชานนท์ ราชินีเพลงล้านนา คือน้องลานนา มาร่วมร้องเพลง ธีบีโกบีกับทอดด์ ทองดี ศิลปินจากรัฐเพนโซเวเนีย พิธีกรรายการคุณพระช่วยในงานนี้ด้วยเช่นกันในการเล่นเพลงสุดท้ายของผม ผมได้เชิญคุณทอดด์ มาช่วยตีโกละหรือฆ้องกบเพื่อบรรเลงร่วมกับเตหน่ากู   “ชิครับ! ผมขอคุกเข่าตีนะ เพราะผมยืนตีแล้วไม่ค่อยถนัดเท่าไหร่” คุณทอดด์ บอกกับผมก่อนขึ้นเวที ผมตอบตกลงตามนั้น ซึ่งทอดด์ ทองดี ก็ทำหน้าที่บนเวทีได้อย่างที่ควรเป็นเขาคนนั้นจ้องมองผมเล่นกับคุณทอดด์อย่างไม่กะพริบตาหลังจากจบงานคืนนั้น เขาได้เงียบหายไป เขาไม่เข้ามาหาผมหลังเวทีอย่างเคย  แต่หลังจากนั้นสองวันเสียงโทรศัพท์ของผมก็ดังขึ้น“โอะ มึ โช เปอ” เขาทักทายผมเป็นภาษาปกาเกอะญอซึ่งเป็นภาษาของเราทั้งสอง จากนั้นเขาก็ได้กล่าวถึงสิ่งที่เขาประทับใจและไม่ประทับใจในการจัดงานที่ผ่านมา ทั้งในส่วนของตัวศิลปินแต่ละคนและฝ่ายจัดการจัดงานด้วย“เรามีอะไรที่สงสัยบางอย่างที่อยากถาม” เขาบอกกับผม ซึ่งผมก็ไม่อาจปฏิเสธสิ่งที่เขาอยากถามได้“อยากรู้ว่า โกละนั้นเป็นของชนเผ่าปกาเกอะญอ แล้วชิคิดอย่างไรถึงให้ฝรั่งเป็นคนช่วยตีให้ ทำไมไม่ให้คนปกาเกอะญอตี” มันเป็นคำถามที่ทำให้ผมต้องใช้เวลาในการตอบยาวหน่อย แต่เขาก็พร้อมที่จะเสียเวลาฟังผมอธิบายที่ผ่านมาเราตามเขามาโดยตลอด เราต้องพูดภาษาตามเขา เราต้องแต่งตัวตามเขา เราต้องกินอาหารตามเขา เราต้องเล่นเครื่องดนตรีตามเขา ซึ่งมันผิดไหม มันก็ไม่ผิด เพียงแต่เราต้องตามความคิดคนอื่น ตามการกระทำของเขาตลอด ซึ่งบางครั้งก็ไม่จำเป็น และเรามักถูกครอบงำจากคนที่เราตามนั้นเสมอแต่สิ่งที่ผมทำ ผมอยากให้เห็นว่าเราไม่จำเป็นต้องตามเขาเสมอไป เราก็มีดีพอที่จะให้คนอื่นตามเราได้เช่นกัน  โดยเฉพาะฝรั่งจากตะวันตกซึ่งเราพยายามตามและเลียนแบบเขามาโดยตลอด ซึ่งงานนี้ผมอยากให้ฝรั่งตามผมบ้าง มาเล่นเครื่องดนตรีของผม ของชนเผ่าผมบ้าง โดยวิธีการเล่นทั้งหมดผมเป็นกำหนดว่าควรเล่นแบบไหน  มันถูกไหม  มันอาจไม่ถูก  แต่มันมีศักดิ์ศรีกว่า  สิ่งเหล่านี้มันเป็นของเราเอง เราเล่น เราร้อง เราเป็นโดยไม่เขิน ไม่อายใคร เล่นผิดก็ไม่มีใครรู้ ฮ่า ฮ่า!!ซึ่งบางทีคนทางตะวันตกเขาเคารพและศรัทธาในสิ่งที่เราเป็น  แต่บางครั้งเราเองกลับไม่มั่นใจในองค์ความรู้ภูมิปัญญาของบรรพชนเรา  บางทีคนตะวันตกก็เอามาจากคนอื่นเช่นกัน  ต้นกำเนิดของกีตาร์นั้นพัฒนามาจากเครื่องดนตรีจากประเทศอิรัก  ฝรั่งเอาไปประยุกต์อีกที  องค์ความรู้ของเรานั้นหากเราหยิบใช้มันพัฒนาและต่อยอด มันจะเป็นการยกระดับองค์ความรู้ให้ขยับไปอีกในระดับที่ดีขึ้นหลังจากเสร็จงาน คุณทอดด์ นัดผมไปทานข้าวผม ขณะที่กำลังทานข้าวนั้น เขาบอกว่า“เฮ้!! ชิ แก๊ง ยูเนสโก ชอบโชว์ของเรานะ เขา(ยูเนสโก้)บอกว่า ไม่เคยเห็นการเล่นดนตรีที่มีศิลปินฝรั่งที่ค่อนข้างมีชื่อเสียงบ้างเล่นดนตรีร่วมกับคนชนเผ่า  โดยที่ศิลปินฝรั่งคุกเข่าเล่นและคนชนเผ่ายืนเล่นอยู่เหนือกว่า  มันเหมือนคนฝรั่งเองคารวะในศักดิ์ศรีและภูมิปัญญาของคนชนเผ่า  เป็นการแสดงให้เห็นถึงการเคารพในความเป็นมนุษย์ของคนชนเผ่า” คุณทอดด์ กล่าวอย่างตื่นเต้น “แต่ผมบอกเขาไปว่า เปล่าหรอกครับ ผมยืนตีแล้วไม่ถนัด ก็เลยคุกเข่าตี” คุณทอดด์ พูดจบพร้อมกับอ้าปากหัวเราะจนเห็นฟันครบทุกซี่แต่ประเด็นที่สำคัญคือทำอย่างไร เราถึงจะไปด้วยกันได้  โดยไม่รู้สึกว่าใครนำ ใครตาม หรือใครครอบงำใคร  ผมเชื่อว่าเราไม่สามารถอยู่อย่างโดดเดี่ยวหรือปิดตัวจากโลกภายนอกได้  เราต้องมีปฏิสัมพันธ์กับภายนอกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  แต่ในการปฏิสัมพันธ์นั้นทำอย่างจึงจะมีความสมดุลระหว่างการรับของคนอื่นและการใช้ของตนเอง  โดยที่เราสามารถยังสามารถยืนอยู่บนรากทางวัฒนธรรมของตนเองได้“เออ จริงหว่า!!” เขาพูดออกมาหลังจากที่ฟังผมพร่ำยาวเหยียด แต่ผมไม่ทราบว่าเขาคิดและเข้าใจอย่างไรบ้าง?? “แล้ว ได้ชื่ออัลบั้มใหม่หรือยัง และเปิดอัลบั้มเมื่อไหร่” เขาถามผมต่อ ผมไม่แน่ใจว่าเขาถามเพื่อที่จะซื้อหรือว่าเพื่อที่จะขอฟรี“ได้แล้ว ชื่ออัลบั้ม เตหน่าแลมิตร คาดว่าจะเปิดตัวที่เชียงใหม่ราวเดือนธันวาคมศกนี้ หากคืบหน้าอย่างไรเดี่ยวจะส่งข่าวอีกที”“ ต่าบลื๊อ ต่าบล๊อ” เขาขอบคุณบอกลาแล้วเขาก็วางสายโทรศัพท์
ช้องนาง วิพุธานุพงษ์
Lawyers would have a hard time making a living if people behaved themselves and kept their promises                                                                                                                                                                         Anonymousประเทศสุดท้ายที่เราจะพูดถึงเกี่ยวกับระบบการศึกษากฎหมายก่อนที่จะมาเป็นทนาย คือประเทศจีนค่ะ ปัจจุบันความเคลื่อนไหวของจีนกำลังเป็นที่น่าจับตาและอยู่ในความสนใจของนานาประเทศ นับแต่จีนเริ่มดำเนินนโยบายเปิดประเทศโดยประธานาธิบดีเติ้ง เสี่ยว ผิง เมื่อปี 1978 จวบจนกระทั่งได้รับการคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี 2008 ที่กำลังจะมาถึง ตลอดระยะเวลาสามสิบปีที่ผ่านมา จากการศึกษาสถิติและตัวเลขจำนวนมากแสดงให้เห็นว่าเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการบริโภคของชาวจีนเป็นไปอย่างรวดเร็วจนน่าตกใจด้วยจำนวนประชากรที่มีมากถึง 1,300 ล้านคน ปัจจุบันจีนกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาคุณภาพของประชากรเหล่านี้ให้มีความกินดีอยู่ดีและมีความรู้เพิ่มขึ้น จากสถิติพบว่าปัจจุบันมีผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีในจีนโดยเฉลี่ยปีละเกือบ 3 ล้านคน และมีนักศึกษาที่จบจากต่างประเทศทั้งหมดเกินกว่า 1 ล้านคนการศึกษากฎหมายในประเทศจีนเริ่มต้นจากระดับมหาวิทยาลัย โดยเด็กนักเรียนชั้นมัธยมของเขาต้องผ่านระบบการสอบเอ็นทรานซ์ (National Matriculation Test- NMT) เพื่อเข้ามหาวิทยาลัย คล้ายๆ กับของบ้านเรา นักเรียนเหล่านี้จะต้องตัดสินใจเลือกสาขาวิชาก่อนเข้าสอบ ส่วนว่าจะได้เรียนในสาขาวิชาหรือมหาวิทยาลัยที่ดีหรือตามต้องการหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับคะแนนสอบ NMT เป็นสำคัญการเรียนกฎหมายในมหาวิทยาลัยใช้เวลาทั้งสิ้นสี่ปี นอกจากนี้นักศึกษายังต้องผ่านการฝึกงานด้านกฎหมายเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2-3 เดือนในช่วงปีที่สามหรือสี่ ส่วนในปีสุดท้ายก่อนจบการศึกษา นักศึกษายังต้องส่งรายงานที่เขียนขึ้นเองอีกหนึ่งฉบับด้วย  จีนมีระบบการสอบ “เนติบัณฑิต” เช่นเดียวกับประเทศไทยและเกาหลีใต้ โดยทนายความของเขาถูกบังคับว่าทุกคนจะต้องสอบไล่ได้ความรู้ชั้นเนติบัณฑิตเสียก่อน จึงจะสามารถประกอบวิชาชีพทนายความได้ และหลังจากสอบเนติบัณฑิตได้แล้ว ยังต้องผ่านการฝึกงานหนึ่งปีอีกต่างหาก ถึงจะครบถ้วนกระบวนความ มีสิทธิได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทนายความโดยสมบูรณ์ระบบการสอบเนติบัณฑิตของจีนยังมีส่วนคล้ายกับเกาหลีใต้ประการหนึ่งคือ ผู้ที่จะมีสิทธิสมัครสอบเนติบัณฑิตนั้น จะเป็นใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นนักศึกษากฎหมายได้ปริญญาตรีนิติศาสตร์บัณฑิตเสมอไป ส่วนสถิติของผู้ที่สอบไล่ได้เนติบัณฑิตในประเทศจีนนั้นอยู่ที่ประมาณ 10% ต่อปี ถือว่าใกล้เคียงกับของประเทศไทยเราเลยทีเดียวปัจจุบันจีนกำลังมีแนวคิดที่จะปรับปรุงกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการสอบเนติบัณฑิตให้มีความรัดกุมยิ่งขึ้น โดยจะกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสอบให้จำกัดอยู่เฉพาะผู้ที่จบนิติศาสตร์บัณฑิตเท่านั้นทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างของระบบการคัดเลือกทนายความในต่างประเทศ ซึ่งบอกให้เรารู้ว่า กว่าจะมาเป็นทนายไม่ว่าในที่ไหนๆ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ นอกจากความแตกต่างในเรื่องของระบบการคัดเลือกแล้ว ค่าตอบแทนของทนายความในแต่ละประเทศ ก็เป็นอีกประการหนึ่งที่มีความแตกต่างกันอย่างมากเป็นที่รู้กันว่าทนายความในประเทศมหาอำนาจมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 60,000 – 100,000 เหรียญต่อปี ดังนั้น สำหรับโจทย์ที่ตั้งไว้ในตอนแรกว่า “เป็นทนายที่ไหนดี” หลายคนจึงตอบได้อย่างไม่ต้องลังเลใจเลยว่า “ที่ไหนตังค์เยอะ ที่นั่นแหละดี”สำหรับในประเทศไทย พระราชบัญญัติทนายความกำหนดคุณสมบัติของผู้สามารถยื่นขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาตทนายความไว้ว่าต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้น ส่วนในประเทศจีนไม่มีข้อห้ามในทำนองนี้ แต่เป็นที่รู้กันว่าทนายความที่จะว่าความในศาลได้ต้องเป็นผู้มีสัญชาติจีน ส่วนทนายความที่รับให้คำปรึกษาไม่จำเป็นต้องมีสัญชาติจีนก็ได้ดังนั้น สำหรับชาวต่างชาติที่เห็นว่าทนายความในประเทศเหล่านี้มีรายได้ดีเหลือเกิน อยากจะมาเป็นบ้าง ขอบอกไว้ตรงนี้ว่าหมดสิทธิค่ะ
สุมาตร ภูลายยาว
หลังกลับมาจากเมืองริมแม่น้ำในครั้งนั้น ไม่นานผมก็เดินทางมาเมืองริมแม่น้ำอีกครั้งพร้อมกับความทรงจำเมื่อ ๒ เดือนก่อน...ความทรงจำเมื่อ ๒ เดือนก่อนเกิดขึ้นบนแม่น้ำสายนี้ ผมจำได้ว่าช่วงนั้นเป็นฤดูฝน น้ำปริ่มฝั่งหมุนวนน่ากลัว ผมได้พบชายชราอีกครั้งหลังจากไม่ได้พบกันนาน ชายชรานั่งอยู่บนเรืออีกลำหนึ่ง ซึ่งวิ่งสวนทางกับเรือที่ผมโดยสารมา เมือเรือวิ่งสวนทางก็ได้ยินเสียงทักทายของคนขับเรือทั้งสอง แม้ว่าจะฟังสำเนียงการสนทนาไม่รู้เรื่องทั้งหมด แต่ก็พอจับใจความได้ว่าคนขับเรือทั้งสองคุยกันเรื่องอะไร บนนาวาชีวิตกลางสายน้ำของชะตากรรม คงไม่แปลกอะไรหากคนสองคนผู้ร่วมชะตากรรมเดียวกันจะรู้จักและสนิทชิดเชื้อกันในวันนั้นผมบันทึกภาพชายชราเอาไว้อีกครั้ง พอกลับมาจากเมืองริมฝั่งน้ำ หลังว่างเว้นจากงาน ในคืนวันหนึ่ง ผมก็เอาภาพนั้นออกมาดู หลังจากดูเสร็จ ความรู้สึกข้างหลังภาพก็พาผมเดินทางหมุนวนกลับไปสู่เรื่องราวต่างๆ ...เพื่อนบางคนเคยบอกผมว่า ภาพหนึ่งภาพสามารถบอกอะไรเราได้หลายอย่าง ยิ่งเป็นภาพที่ถ่ายในระยะเวลาแตกต่างกัน ภาพที่ได้ออกมาจึงเป็นความรู้สึกแตกต่างกันไป ผมเองก็เชื่อเช่นนั้น เพราะหลังจากดูภาพของชายชราเสร็จ ผมก็หวนคิดถึงคำพูดบางคำของพี่คนหนึ่ง พี่คนนั้นบอกกับผมว่า “ชายชราแกเป็นคนเก่ง เรื่องปลา เรื่องน้ำแกรู้หมด เพราะแกหากินกับน้ำมานาน”และก็ไม่มีเหตุผลอันใดที่ผมจะไม่เชื่อตามนั้น เพราะเมื่อผมได้พูดคุยกับชายชราในตอนสายของวันหนึ่ง ผมก็พบว่า คำกล่าวของพี่คนนั้นไม่ได้เกินเลย และต่อจากนี้ ผมขอนำเอาเรื่องราวเสี้ยวหนึ่งแห่งชีวิตของชายชรามาให้ทุกคนได้พิสูจน์ความจริงว่า ชายชราเป็นอย่างพี่คนนั้นเล่าให้ผมฟังหรือไม่ช่วงต้นฤดูฝน สายน้ำเชี่ยวกรากได้พัดท่อนไม้ขนาดใหญ่ให้ไหลมากับสายน้ำ แน่ละเรื่องราวที่ผมสนใจไม่ใช่ความเชี่ยวกรากของสายน้ำ แต่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชายชรา และเรือลำเล็กต่างหากผมได้พบกับชายชราครั้งแรกตรงท่าเรือใต้ร่มจามจุรีหลังวัด หลังจากเรือกับคนหาปลาเดินทางกลับเข้าสู่ฝั่ง การพบกันครั้งแรกดูขันเขินเหลือทน คำทักทายแต่ละคำที่กลั่นออกมา ช่างยากเย็นแสนเข็นเสียเต็มประดา เพราะผมตระหนักรู้ว่า การเดินทางไปสู่อาณาจักรของใครโดยเจ้าของอาณาจักรไม่ได้เชื้อเชิญ มันดูเป็นเรื่องขัดเขิน และลำบากใจที่เจ้าของอาณาจักรจะต้อนรับแขกแปลกหน้าของเขา“พ่อเฒ่า วันนี้หาปลาได้เยอะไหม?” ผมจำได้ว่านั่นเป็นคำพูดแรกที่เอ่ยกับชายชราดูเหมือนว่าคำถามนี้มันเป็นคำถามที่ผมคิดได้ในเวลานั้น เพราะถ้าถามคนหาปลาที่กำลังกลับจากหาปลาด้วยคำถามอย่างอื่นคงไม่เหมาะสมนัก“ได้สัก ๓-๔ กิโลนี่แหล่ะ”“ได้ปลาอะไรบ้าง”“ปลากด ปลาเพี้ย”ขณะพูดคุยกันอยู่ ชายชราก็สาละวนเก็บของบนเรือมีทั้งที่นอน เสื้อผ้า และกล่องโฟมสีขาว หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจบนเรือเรียบร้อย เรือก็ถูกผูกโยงเข้ากับต้นไม้ริมน้ำ เมื่อผูกเรือเสร็จ ชายชราก็หันมาปลดเครื่องยนต์ออกจากเรือ บนเรือตอนนี้ไม่มีเครื่องยนต์ แต่หากใครคิดจะขโมยเรือทางเดียวที่จะเอาเรือออกไปได้ต้องพายออกไปเท่านั้น แต่ก็นั้นแหละคนที่จะเอาเรือไม่มีเครื่องยนต์ออกสู่แม่น้ำได้ต้องเป็นมืออาชีพที่รู้จักทางน้ำเป็นอย่างดี หากจะเรียกขโมยที่ขโมยเรือลำนี้ไปได้ว่า มืออาชีพก็คงไม่เป็นการกล่าวเกินเลยเมื่อปลดเครื่องยนต์ตรงด้านท้ายเรือเรียบร้อย ชายชราก็ยกเครื่องยนต์เรือขึ้นใส่บ่าและแบกเครื่องยนต์เรือขึ้นมาใส่รถเข็นที่จอดซุกไว้ในป่ากล้วยข้างวัด“เครื่องเรือนี้ถ้าไม่เอาขึ้นมา พรุ่งนี้อาจไม่เหลือ”ชายชราพูดกับผม ขณะเดินไปหารถเข็น คำพูดของชายชราไม่ได้เกิดขึ้นมาจากข้อสันนิษฐานลอยๆ  และไม่ได้เกิดขึ้นเพราะการเหมารวมเอาว่าคนอื่นเป็นขโมย แต่การที่ชายชราต้องเอาเครื่องยนต์เรือขึ้นจากน้ำ มันมีที่มาที่ไป“เคยมีอยู่ครั้งหนึ่งเอาเรือออกไปหาปลา ตอนนั้นมันแดดร้อน เหนื่อยก็เลยเอาเรือจอดไว้ริมฝั่ง แล้วขึ้นไปนอนใต้ร่มไม้ เผลอหลับไป พอตื่นขึ้นมา เครื่องเรือหาย รู้เลยว่ามีคนขโมยไป พอเครื่องเรือโดนขโมยเราก็ตามสืบ ตอนนั้นคิดจะเอาเรื่องเอาราวอยู่ แต่พอคิดไปคิดมาก็ไม่ได้เอาเรื่องเอาราว ตอนสืบหาเครื่องเรือ ก็อาศัยถามจากพรรคพวกหาปลาด้วยกัน เพราะคนหาปลามันจะรู้ว่าเรือใครใช้เครื่องอะไร เครื่องใหม่เครื่องเก่า เพราะอย่างน้อยเรือเราขนาดกี่ศอก เราน่าจะใช้เครื่องประมาณกี่แรงม้า เรื่องแบบนี้คนหาปลาเขาจะรู้กัน ตอนสืบหาเครื่องยนต์เรือ เราสืบไปสืบมาก็รู้ว่าใครเอาไป พอเรารู้ เราก็ได้แต่คิดว่า เขายืมไปใช้ ถ้าเขามีเป็นของตัวเองเขาคงเอามาคืน เราก็คิดแค่นั้น แต่คนที่ขโมยไปตอนนี้มันตายแล้ว มันตายก่อนเราอีก”เมื่อชายชราพูดถึงเรื่องนี้ ผมสังเกตเห็นดวงตาของชายชราหม่นเศร้าลงเล็กน้อย ชายชราบอกกับผมเพิ่มเติมว่า  “เรามันคนกันเองแท้ๆ ไม่น่าจะทำกันอย่างนี้“แม้ว่าเรื่องเครื่องยนต์เรือหายมันจะเกิดนานแล้วก็ตาม แต่ชายชราก็จดจำเรื่องราวในครั้งนั้นได้ดี เหมือนที่พูดมาตั้งแต่ตอนต้นว่า ถ้าเรือไม่มีเครื่องยนต์ก็ป่วยการที่มันจะวิ่งไปไหนมาไหนได้ เพราะสายน้ำไหลแรง เรือไม่ติดเครื่องยนต์คงไม่อาจต้านทานกระแสน้ำตอนทวนน้ำได้ แม้ว่าคนพายเรือจะแข็งแรงเพียงใดก็ตามสำหรับชายชราเครื่องยนต์เรือก็สำคัญพอๆ กับเรือ เพราะถ้าเรือไม่มีเครื่องยนต์ เรือก็ไม่สามารถออกหาปลาได้ และถ้ามีแต่เครื่องยนต์ เรือไม่มีก็ออกหาปลาไม่ได้เหมือนกันหลังจัดการกับสัมภาระทุกอย่างขึ้นบนรถเข็นเรียบร้อย ก่อนจะเข็นรถกลับสู่บ้าน ชายชราได้เล่าให้ผมฟังเพิ่มเติมว่า“สมัยเด็กๆ ตอนเย็นนี่ลงเล่นน้ำสนุกสนาน ยิ่งลงเล่นทุกวันก็ยิ่งคุ้นเคย เราลูกแม่น้ำต้องว่ายน้ำเก่ง สมัยก่อนเห็นผู้ใหญ่เขาหาปลาได้เยอะเราก็อยากหาบ้าง แต่ตอนนั้นเป็นเด็กพ่อไม่ให้กลัวเราตกน้ำ กว่าจะได้หาปลาจริงก็ตอนเป็นหนุ่ม”“แล้วพ่อเฒ่าหาปลาตอนแรกอายุกี่ปี”“ถ้าเป็นช่วงหนุ่มๆ ก็ ๑๓-๑๔ แต่ตอนนั้นเราไม่กล้าออกน้ำใหญ่ ก็หาปลาตามห้วย ตามนา แต่ถ้าออกไปหาปลาน้ำใหญ่จริงนี่ ช่วงอายุ ๒๔ ตอนนั้นออกหาปลาในแม่น้ำเลย ก็อาศัยให้คนหาปลาคนอื่นสอนก่อน หลังจากนั้นเราก็หาคนเดียว เพราะน้ำนี่มันไม่เหมือนกัน มันเปลี่ยนตลอดที่วางเบ็ดมันก็เปลี่ยนตลอด ช่วงหาปลาใหม่ๆ เราเรียนรู้ทุกอย่าง”หากพินิจคำพูดของชายชราแล้ว สายน้ำก็เป็นบทเรียนบทหนึ่งของโรงเรียนนอกระบบที่คอยสอนให้ผู้คนริมฝั่งทุกผู้ทุกนามได้เรียนรู้บทเรียนแตกต่างกันออกไปผมจำได้ว่า ในวันนั้นเราพูดคุยกันอีกหลายเรื่อง ทุกเรื่องล้วนตื่นเต้นสำหรับผม แต่ยิ่งตื่นเต้นมากขึ้นกว่าปกติก็เมื่อรู้จากชายชราว่า คนหาปลาที่หาปลาเป็นอาชีพเลี้ยงลูกเลี้ยงเมียได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการหาปลามีเรื่องราวสลับซับซ้อนพอสมควร อย่างน้อยคนหาปลาที่มีเรือก็ต้องรู้เรื่องเรือ เรื่องเครื่องยนต์ เรื่องทิศทางน้ำ ฤดูน้ำขึ้น-น้ำลง ฤดูวางไข่ของปลา ฤดูอพยพของปลา เพราะสิ่งเหล่านี้มันล้วนสำคัญกับคนหาปลาเสมอ และมันเป็นตัวชี้วัดด้วยว่าถ้ารู้เรื่องเหล่านี้ก็จะหาปลาได้ในยามที่ชายชรากลับคืนสู่บ้าน วันนี้แกไม่ได้เข็นรถเข็นกลับบ้านเพียงลำพัง แต่ล้อรถเข็นเคลื่อนที่ไปได้ด้วยแรงของคนสองคนคือ ชายชรากับภรรยาของแก วัยของคนทั้งสองไม่ได้แตกต่างกันมากนัก สำหรับผมแล้วผู้เฒ่าทั้งสองคนเป็นเพื่อนคู่คิดกันในยามแก่เฒ่าได้ดีทีเดียวรถเข็นเคลื่อนที่ไปข้างหน้าด้วยแรงคนอย่างไร แน่ละชีวิตคนบางครั้งก็มุ่งไปข้างหน้าด้วยแรงคนเช่นเดียวกัน...ตลอดสองข้างทางที่รถเข็นผ่าน ชายชรามักจะได้รับคำถามไถ่จากคนรู้จักอยู่ตลอดเวลา มีบ้างบางครั้งรถเข็นจะหยุดข้างทาง เพื่อให้คนเข็นได้พักเหนื่อย และยกแก้วเหล้าน้ำใสเหมือนตาตั๊กแตน อันเป็นน้ำมิตรไมตรีจากข้างทางที่หยิบยื่นมาให้ขึ้นดื่มและบ่อยครั้งเช่นกันที่ชายชรากลับบ้านพร้อมกับปลาหลายกิโลกรัม แต่ปลามักเหลือกลับมาถึงบ้านเป็นส่วนน้อย เพราะถูกขายหมดระหว่างทาง วันนี้ก็เช่นกัน ปลาสะโม้หนัก ๒ กิโลกรัมตัวหนึ่ง ชายชราบอกขายกิโลละ ๒๐๐ บาท แม้ว่ามันจะแพง แต่ก็มีคนแย่งกันซื้อหลายคน บางครั้งปลาที่ได้มาก็ไม่พอขาย แต่บางครั้งปลาได้มามากพอขายก็ไม่ขาย ในช่วงที่ปลามีน้อย แต่คนต้องการมีมาก ราคาปลาก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย แต่ก็อย่างที่กล่าวแล้ว ในบางฤดู โดยเฉพาะในฤดูแล้ง ปลาจะมีราคาแพง เพราะหายาก ราคาปลาคนหาปลาจึงเป็นผู้ตั้งราคาเอง บ้างครั้งความเหมาะสมของราคาปลาหนึ่งตัวจึงหาจุดลงตัวยาก แม้ว่าในบางวันราคาปลาอาจแพงขึ้นมาบ้าง แต่คนซื้อปลาก็ไม่เคยบ่น เพียงแต่ต่อรองราคาขอลดกันนิดหน่อยก็ขายให้กันได้ แม้ปลาจะมีราคาแพง แต่ปลาก็จะถูกขายให้กับลูกค้าประจำที่คุ้นเคยกันเป็นคนแรกๆ อยู่เสมอ...“พ่อเฒ่ามีคนบอกว่าปลาน้ำโขงมันอร่อยจริงหรือเปล่า”“จริง ปลาน้ำโขงมันอร่อย เพราะน้ำมันเย็น น้ำมันกว้าง ปลามันว่ายไปไหนก็ได้ พอปลาว่ายไปไหนก็ได้ ร่างกายมันก็แข็งแรง ปลามันได้ออกกำลังกาย เนื้อปลาก็เลยแน่น เวลาเอามาทำอาหารมันก็อร่อย ปลาบางชนิดบางฤดูก็ไม่ค่อยอร่อย อย่างปลาเพี้ยนี่ถ้าเป็นหน้าน้ำขุ่นเอามาลาบจะอร่อย แต่ถ้าเป็นฤดูอื่นเอามาลาบก็ไม่ค่อยอร่อย เรามันคนลูกน้ำโขงต้องกินปลาน้ำโขง แต่ถ้าปลามันมีน้อยแบบนี้ ปลาอะไรก็อร่อยหมดแหล่ะ”พอพูดมาถึงตรงนี้ชายชราก็หัวเราะออกมาเบาๆแม้จะเป็นเวลาน้อยนิดที่ได้พูดคุยกันในวันนั้น ผมก็ปักใจเชื่อเรื่องที่ชายชราเล่าให้ฟังเสียสนิทใจ...แสงแดดของวันลับปลายวิหารของวัดไปแล้ว สายน้ำเงียบงันลงอีกครั้ง เพราะคนหาปลาได้นำเรือที่ลอยลำหาปลาอยู่บนแม่น้ำเดินทางกลับเข้าฝั่ง เวลาในการหาปลาของคนหาปลาหลายคนในวันนี้ได้สิ้นสุดลงแล้วในฤดูฝนการหาปลาจะมีเวลาสั้น เพราะในแต่ละวัน คนหาปลาคาดเดาไม่ได้ว่าวันไหนฝนจะตก และถ้าในวันไหนแม้ไม่มีสายฝนโปรยปราย แต่ท้องฟ้ามืดครึ้มคนหาปลาก็จะไม่ออกเรือหาปลาเช่นกัน เพราะการหาปลาท่ามกลางพายุฝนบนสายน้ำเชี่ยวเป็นเรื่องเสี่ยงอันตรายไม่ใช่น้อย ดังนั้นแล้วเมื่อเป็นลมเป็นฝนหรือฝนตก คนหาปลาจึงไม่ออกเรือหาปลาฤดูแล้งจะเป็นช่วงหาปลาได้ยาวนาน และมีผลผลิตมากกว่าฤดูอื่น ยิ่งถ้าเป็นช่วงมีการจับปลาบึก ในเวลากลางคืนก็มีคนหาปลาออกเรือหาปลาอยู่ แต่การจับปลาบึกก็มีช่วงระยะเวลาสั้นๆ คือช่วงปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคมของทุกปีเท่านั้น...
เจนจิรา สุ
25 กันยายน 2550 หมู่บ้านใหม่ค่อนข้างจะคึกคักตกเย็นมีเสียงดีดสีตีเป่าร้องรำทำเพลงเป็นเพลงพื้นบ้าน  เสียงซึงประสานเสียงโม่งสอดรับกับท่วงทำนองเนื้อร้องของแม่เฒ่า เอื้อนไต่บันไดเสียงคลอปี่ไม้ไผ่ผิวหวิวไหวขึ้นลง ไล่เลียงไปไม่ทันสุดบันไดเสียงก็โยนกลับไป-มาเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้ฉันรู้สึกราวกับว่าตกอยู่ในหมู่บ้านลี้ลับกลางป่าเปลี่ยวดึกดำบรรพ์ที่ไหนสักแห่งที่เคยอยู่อาศัยเมื่อนานมาแล้ว ต่างจากหมู่บ้านเดิมลิบลับ ที่นี่ไม่มีแบตเตอรี่พอเพียงสำหรับเปิดเพลงจากซีดี ไม่มีทีวีให้รุมดู แต่มีกาน้ำชาอุ่นบนกองไฟที่ล้อมวงไปด้วยเด็กๆ หนุ่มสาว จนถึงคนเฒ่าคนแก่ ปรึกษาหารือถึงวิถีชีวิตของวันพรุ่งนี้ ฉันเพิ่งแจ้งข่าวดีๆ ร้ายๆ ที่พึ่งรับรู้มาให้ทราบในที่ชุมนุมว่า “ผู้ว่าราชการจังหวัดคนที่สั่งให้เราย้ายมาอยู่ที่นี่ได้ย้ายไปรับตำแหน่งใหม่ที่จังหวัดอื่นแล้วและเราก็จะได้ต้อนรับผู้ว่าคนใหม่ที่จะมารับตำแหน่งในวันที่ 29 กันยาที่จะถึงนี้กัน” ทั้งสองข่าวสร้างความหวั่นไหวจนเกิดเสียงอื้ออึง เพราะผู้ว่าฯ คนเก่าเป็นเจ้าของโครงการหมู่บ้านอนุรักษ์วิถีชีวิตชนเผ่ากะเหรี่ยง (ประด่อง) เพื่อความมั่นคงจังหวัดแม่ฮ่องสอน อันเป็นที่มาให้ชาวบ้านทั้งสามหมู่บ้านย้ายมาอยู่รวมกันนั้นได้ย้ายไปแล้ว ชาวบ้านจึงไม่แน่ใจว่าผู้ว่าฯ คนใหม่จะมาสานต่อโครงการเดิมหรือไม่ สิ่งที่ผู้ว่าฯ คนเก่าเคยให้สัญญาไว้คือ จะให้หน่วยงานราชการเข้ามาดูแลในเรื่องการฟื้นฟูวิถีชีวิตในด้านต่างๆ ทั้งการศึกษา วัฒนธรรม ปัญหาปากท้อง หรือแม้แต่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ไม่ใช่ Human Zoosเหมือนเมื่อก่อน เหล่านี้ล้วนจำเป็นสำหรับก้าวแรกในวันที่ชาวบ้านเพิ่งปลดโซ่ตรวนที่พันธนาการจากนายทุนและยังไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ฉันรู้ว่าชาวบ้านยังไม่คุ้นชินกับการโยกย้ายแบบปุบปับของข้าราชการไทย แต่ก็รู้ว่า ผู้ว่าฯ นี่แหละที่มีอำนาจมากที่สุดในการปกครองพลเมืองในจังหวัดนี้ หากพวกเขาอยู่ได้อย่างมีตัวตน-หมายถึงทางจังหวัดเห็นความสำคัญไม่ทิ้งขว้าง ความมุ่งหมายของพวกเขาที่จะอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีเป็นเสมือนประชากรของจังหวัดคนหนึ่ง หรืออย่างน้อยก็เป็นเสมือนชาวเขาเผ่าอื่นๆ ที่มีสิทธิเสรีภาพมากกว่า ก็จะเข้าใกล้ความจริงไปอีกก้าว“ฉันว่าพวกเราน่าจะไปต้อนรับผู้ว่าฯคนใหม่ ที่สนามบินกันนะ ท่านจะได้เห็นใจเราเข้ามาช่วยดูแลสานต่อโครงการของผู้ว่าคนเก่า ”มะเลาะหญิงกระยันที่เคยไปเรียนหนังสือกับครูเอ็นจีโอฝรั่ง ชักชวนให้ทุกคนกระตือรือร้นอย่างมีความหวัง “การไปต้อนรับครั้งนี้เราไม่ได้ไปแค่โชว์ตัวหรือฟ้อนรำให้เขาถ่ายรูปกับของแปลกแม่ฮ่องสอนเหมือนเมื่อก่อน แต่เราจะไปฝากตัวให้ผู้ว่าฯ เข้ามาดูแลเราเหมือนเป็นพลเมืองของจังหวัดแม่ฮ่องสอนคนหนึ่ง เพราะเราไปด้วยความคิดของเรา ไม่ได้ไปเพราะมีใครสั่งให้เราไป ตอนนี้เราอยู่ในความดูแลของทางจังหวัด ไม่ใช่นายทุนเหมือนที่ผ่านมาอีกต่อไปแล้ว”  ฉันเสริมความคิดของมะเลาะ คืนนั้นเราจึงเตรียมการณ์ไว้ว่าวันที่ 28 กันยายนที่จะถึงนี้ พวกเราจะไปต้อนรับผู้ว่าฯ กันที่สนามบิน เพื่อเรียกร้องให้หน่วยข้าราชการสนใจเข้ามาดูแลเรา เพราะนับวันเวลาผ่านไป ข้าวสารอาหารแห้งหรือแม้แต่เงินที่เคยเก็บสะสมไว้ก็ถูกนำมาใช้จ่ายจนลดน้อยลงไปทุกที ในขณะที่ยังไม่เห็นหนทางหารายได้ในวันที่ข้าราชการสับเท้ากันขึ้นรับตำแหน่ง โครงการต่างๆ มากมายถูกปล่อยร้างเมื่อคนเก่าไปคนใหม่มา แต่ก็มีหลายโครงการดีๆ ที่ถูกสานต่อจนเป็นผลสำเร็จ โดยไม่ได้คิดว่าใครเป็นผู้ริเริ่มไม่มานั่งเถียงกันว่าเป็นผลงานของใคร ฉันก็ได้แต่หวังว่าโครงการดีๆ ที่ชาวบ้านพร้อมใจกันสามัคคีและให้ความร่วมมือพัฒนาตัวเอง ไม่ใช่งอมืองอเท้าให้คนอื่นเข้ามาช่วยเหลือเพียงอย่างเดียวจะถูกสานต่อให้บรรลุผลสำเร็จไปด้วยกัน แม้ว่าชาวบ้านที่นี่ทั้ง 89 คนจาก 31 ครอบครัว จะไม่มีใครที่มีบัตรประชาชนเป็นคนไทยเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่หากถามนักท่องเที่ยวว่าแม่ฮ่องสอนมีอะไรที่น่าเที่ยวชมบ้าง ฉันก็เชื่อว่าหนึ่งในนั้นก็คือพวกเขารวมอยู่ด้วย ถึงแม้ว่าปัจจุบันกะเหรี่ยงคอยาวจะมีอยู่แพร่หลายทั้งเชียงใหม่, เชียงราย แต่แม่ฮ่องสอนก็เป็นบ้านหลังแรกๆ ของพวกเขา ก่อนที่กลุ่มทุนจะนำพาไปจัดตั้งหมู่บ้านเพื่อธุรกิจการท่องเที่ยวกระจัดกระจายไปอีกหลายแห่ง บางคนที่เป็นพี่เป็นน้องกันต้องพลัดพรากจากกัน แม้ว่าอยู่ห่างจากกันไปไม่กี่จังหวัดแต่ก็ไม่สามารถไปมาหาสู่กันได้ เพราะโอกาสที่ชาวบ้านเผ่ากะเหรี่ยงคอยาวจะขออนุญาตเดินทางออกนอกจังหวัดนั้นต้องเป็นกรณีสำคัญ เช่น เจ็บป่วยและต้องไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลอื่น เป็นต้นฉันเชื่อว่าหากสร้างบ้านที่มีความมั่นคงทั้งทางจิตใจ (ว่าจะไม่ต้องอพยพไปไหนอีกแล้ว) และมั่นคงทางร่างกายคือได้กินอิ่มนอนอุ่น มีสิทธิเสรีภาพ ไม่ใช่ถูกกักถูกขังอยู่เฉพาะบริเวณนักท่องเที่ยวเข้าไปดูได้เท่านั้น เหมือนที่นายทุนกระทำอยู่ในหลายๆ แห่ง พวกเขาก็จะเต็มใจอยู่บ้านของเขาเอง โดยที่ทางการเองก็ไม่ต้องกลัวว่าใครจะลักลอบนำพาพวกเขา ไปอยู่บ้านสวนสัตว์ที่ไหนอีก หมู่บ้านที่เขาเลือกอยู่อย่างมีความสุข ก็จะเป็นหมู่บ้านจริงๆ ที่มีเลือดเนื้อวิญญาณ มีกลิ่นอายวัฒนธรรมดึกดำบรรพ์และท่วงทำนองวิถีชีวิตที่ชวนเคลิบเคลิ้มไปว่าเราเคยมาเยือนเมื่อนานมาแล้ว ซึ่งจะแตกต่างกับความรู้สึกหดหู่หลังจากเข้าไปเที่ยวในหมู่บ้านสวนสัตว์คอยาวที่ไหนสักแห่ง
แสงดาว ศรัทธามั่น
สหาย " รั กไ ห ม ว ง ศ์ ล้า น นา " คับ อ้ายฯ ส่งใบโอนมาให้ที่อ้ายรักไหม กรุณามอบภาพวาดเดือนตุลาฯ มาให้อ้าย เป็นภาพที่อ้ายชอบมากๆ , คับ ..... หากบังเอิญ เกิดฟลุ๊คเมื่อใด จักโอนมาให้ครบในทันทีเลย แต่ตอนนี้ขอเดือนละห้าห้อยก่อน (เพราะอ้ายเป็นมหาโจรห้าห้อย - - - HA ฮา ฮ่า) อ้ายฯ ส่งบทกวีที่เขียนถึงแม่อุ๊ย "พูนศุข พนมยงค์" ไปให้ อ้าย "สุชาติ สวัสดิศรี" แล้ว คงจะลงตีพิมพ์ใน เนชั่น คอลัมน์ "สิงห์สนามหลวง" ไม่ช้านี้....  อ้ายชอบแม่อุ๊ย "พูนศุข พนมยงค์" ที่เขียนพินัยกรรม ก่อนตายว่า ... ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น" ช่างคมเฉียบขาดนัก ... ท่านปรีดี พนมยงค์ และท่านผู้หญิงพูนศุขฯ ถูกข่มเหงรังแกจากพวกกลุ่มศักดินา และพวกข้าราชการมานานนัก ทั้งๆ ที่ท่านมีคุณูปการต่อสังคมไทย (สมมุติ)มายาวนาน ... ตาย ก็ มิได้ ตาย ที่บ้านเกิดเมืองนอน !!! เช่นเดียวกับ "ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์" , "ศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์) ฯลฯ พูนศุข ณ ป้อมเพชร์ กับปรีดี พนมยงค์ ภาพจากคอลัมน์เรือนพักนักเดินทาง ประชาไท อะไรกันนักหนา ประชาชนต้องช่วยกันเช็ดล้างให้หมดสิ้นที้งพวกเผด็จการนักธุรกิจเลือกตั้งรัฐสภา (ทุกยุค ไม่ว่าสมัยน้าชาติ, น้าชวน, น้าทักษิณฯ ฯลฯ ) และเผด็จการทหาร คมช. ฯลฯ ตอนนี้ใน www.prachatai.com อ้ายเขียนบทกวีให้ เผด็จการ คมช. ลงจากเวที หมดเวลาของเธอแล้ว !!! อ้ายรักไหมฯ click ไปที่ คอลัมน์ blogazine ได้เลย พวกเรา กวี นักเขียน ฯลฯ ล้านนา และทั่วประเทศ ช่วยกันขีดเขียนอยู่ มีลีลาจังหวะดีๆ อ้ายจักไปแอ่วหา และพักผ่อนบ้านหลังที่สองของอ้าย ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ที่ "รักไหม" กรุณาให้อ้ายฯได้พำนัก ฯลฯ *** อยากให้ "รักไหมฯ" อ่านหนังสือพ็อคเกตบุ๊คของ อ้าย "แคน สาริกา" ที่เขียนเรื่อง "คนตุลาตายแล้ว" จังเลย มีขายตามแผงทั่วไป มันไป จูบปาก สวมโอบกอด กันได้ยังงายยยยย ระหว่าง น้าสุธรรม แสงประทุม, น้าจาตุรนต์ ฉายแสง , น้าอดิศร เพียงเกษ , น้าอ้วน (ภูมิธรรม), น้าหมอมิ้งค์ , น้าอดีตสหาย "สงวน พงษ์มณี " ฯลฯ เพื่อนเราถูกฆ่าตายอย่างทารุณโหดร้าย แล้วพวกเธอ ปายยยยยย จูบปาก เค้า ทำมายยยยยย !!!! ... " น้าหมัก, น้าทมยันตี , น้าอุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุทธยา (ตายไปซะแหล่ว) ฯลฯ ที่พากันปลุกระดมให้เข่นฆ่า นักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน กลางท้องสนามหลวง - สนามราษฏร์ และในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ... "รักไหม" , คับ .... " น้าแดง .... มนัศ เศียรสิงห์" หนึ่งในแนวร่วมศิลปินประชาชนแห่งประเทศไทย และพรรคพวกก็เสียสละชีวิตเพื่อป้องกันพี่น้องประชาชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา ฯลฯ เอาไว้ !!! ... มันไปจูบปากฆาตรกรแห่งเดือนตุลาฯ .... 6 ตุลาฯ ได้ยังงายยยยย? อย่าอ้างเรื่อง "แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง" ฟังแล้วมันอยากอ๊วก คนอดีตเดือนตุลาฯ พวกนี้ คือพวกลื่นไหลไปตามกระแสอภิมหาบริโภคทุนนิยมโลกาวินาศสุดโต่งที่ทำลายรากเหง้าวิถีชีวิตของชุมชน ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นที่เหมืองถ่านหินแม่เมาะ , คริสตี้ เมืองกาญจนื, เขื่อนปากมูน , โรงไฟฟ้าจะนะ - สงขลา และจักมาทำลาย แม่น้ำสาละวิน , แก่งเสือเต้น , บ่อนอก - หินกรูด , ป่าชุมชนของพี่น้องชนเผ่า และ ชาวบ้าน ฯลฯ พวกเธอผู้อวิชชามิตรัสรู้เลยหรือว่า พวกเธอได้ทำลายรากเหง้า วิถีชีวิตของพวกเธอ และ ลูกหลาน เหลน โหลน หลีด ลี้ ฯลฯ ของพวกเธอด้วย แ ต่ ท ว่า ... ก็ยังมีคนเดือนตุลาฯ ที่น่าคารวะ พวกเขายืนหยัดมั่น ยืนเรียงเคียงข้างประชาชนผู้ทุกข์ยาก เสมอมา ... พวกเขาไม่ " เปลี่ยนสี แปรธาตุ " !!! "รักไหมฯ" คับ .... ขณะนั่งเขียนสาส์นนี้ ณ ใต้ร่มไม้แห่งบ้านในเมือง เสียงนกเขาขันคู - คู กล่อมไพเราะพริ้งเพราะนัก .... ธรรมชาติงดงามมีคุณค่าต่อมนุษย์เสมอ แต่มนุษย์อวิชชากลับไปทำร้าย ทำลาย แม่พระธรรมชาติซึ่งเป็นแม่แรกของมนุษย์ (ก่อนที่พระคุณพ่อ พระคุณแม่ จักให้กำเนิดเรา).... ก่อนโน้น บ้านในเมืองของอ้ายตอนที่แม่ยังมีชีวิตอยู่ แม่จะยกมือไหว้พระธาตุดอยสุเทพทุกครั้งยามราตรีกาล พระธาตุดอยสุเทพงดงามราวกับอยู่บนสรวงสวรรค์ เป็นแสงสีทองงามตา... แต่ทว่า ณ บัดนี้ เรามองไม่เห็นพระธาตุดอยสุเทพทั้งกลางวันและกลางคืนแล้ว ด้วยว่ามีตึกสูงมาบดบัง !!! โอ้สุดแสนจะเสียดาย !!! ... เอาล่ะ เรามาคุยต่อเรื่องคนเดือนตุลา (ฟังไม่จืด) แม้นยังมีอดีตคนเดือนตุลาฯ อดีตสหายฯ ที่ลื่นไหลฯ ทว่า เรายังมีคนเดือนตุลาฯ ที่ยังยืนหยัดคงมั่นอยู่ ไม่ว่าจะเป็น... "สหาย มด ... วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์, สหายสุวิทย์ วัดหนู (กลับคืนสู่ดินแล้ว), สหายตี้ กรรมาชน (กลับคืนสู่ดินแล้ว), สหายสิงห์คำ ....ประเสริฐ จันดำ (กลับคืนสู่ดินแล้ว), สหายนิด กรรรมาชน (เพื่อนร่วมชีวิตของสหายตี้ กรรรมาชน), สหายร้อย,.. วัฒน์ วรรลยางกูล, สหาย อ.เปลื้อง คงแก้ว (เทือก บรรทัด) (คืนสู่ดินแล้ว), สหายพันดา ธรรมดา แห่งตรัง, สหายสถาพร ศรีสัจจัง (พนม นันทพฤกษ์), สหายไท (อ.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล), สหายใบไม้ จิระนันท์ พิตรปรีชา, สหายศิลา โคมฉาย, สหายแคนสาริกา, สหาย อ. วรศักดิ์ มหัทธโนบล, สหาย อ.กนกศักดิ์ แก้วเทพ, สหาย อ. ธีรยุทธ บุญมี, สหายอ. ธเนศวร์ เจริญเมือง ,สหาย อ. สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, สหาย อ.เทพศิริ สุขโสภา , สหายสินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย, สหายวีระศักด์ ขุขันธินธ์, สหาย อ. ธีรยุทธ บุญมี , พี่เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ฯลฯ และอีกหลายๆ ท่านที่มิได่เอ่ยนาม ฯลฯ ใช่ ใช่ เรายังมีคนเดือนตุลาฯ ที่มีจิตวิญญาณสำนึกงดงามที่เราสามารถยกมือไหว้คารวะอยู่อย่างเต็มใจ !!! ... เ อา เ ถิ ด สำหรับ อดีตคนเดือนตุลาฯ ที่ดูเหมือน "เปลี่ยนสี แปรธาตุ" (ขอโทษ) ปล่อยแม่งงงง์ มัน จู บ ปา ก โ อ บ ก อ ด กั น ปา ยยยย ก ร ร ม คือ การกระทำ .... จักต้องเห็นผลกรรมสักวันหนึ่ง โ ล ก ร้ อ น แ ล้ ง เ ล ว ร้า ย มา ทุ ก ที แ ล้ ว ... พะ ยะ คั บ !!! อิสลามมาลากุม , อาเมน , ตถาตา .... สาธุ !!! บุญฮักษา , รักษาสุขภาพ , คับ ด้วยจิตคาราวะ + พลังใจ อดีตสหายรัตน์ (แสงดาวฯ) หมายเหตุ : สหายเอ๋ย ... อ้ายฯมีเรื่องขำขันจักเล่าสู่กันฟัง ....อ้ายเคยอ่ายหนังสือพิมพ์มติชนรายวันฉบับวันอาทิตย์ section คติชน มีคนสัมภาษณ์สหายอาวุโสแห่งอิสานคนหนึ่งที่พาคนเดือนตุลาฯ หนีตายจากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มหหหหหาโหด ปี 2519 สหายอาวุโส พาคนเดือนตุลาฯ (ที่เป็นรัฐมนตรีสมัยน้าทักญิโนมิค) หนีตายข้ามแม่น้ำของ ... แม่น้ำโขงไปแดนลาว สหายอาวุโสให้สัมภาษณ์ว่า "รู้งี้ถีบมันตกลงแม่น้ำ โขงซะดีกว่า".... อดีตรัฐมนตรีหมอแคนคนนั้นซึ่งเป็นอดีตคนเดือนตุลาฯ ไปจูบปาก ซบอก โอบกอดพวกเผด็จการรัฐสภาระบบทักษิณฯ ที่ทำลายรากเหง้าวิถีชีวิตของพี่น้องชาวบ้าน - ชุมชน ฯลฯ
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
กัลกัตตาเป็นเมืองหลวงสมัยที่อินเดียเป็นอาณานิคมของอังกฤษ (มันยิ้มเห็นลิ้น “คิดว่านะ”)อาคารร้านตลาดหรือ Shopping Center ยังคงรูปแบบทางสถาปัตยกรรมยุโรป ประเมินได้ว่า นับตั้งแต่คานธีปลดปล่อยอินเดีย “มันก็ยังอยู่อย่างนั้น ทรุดโทรมไปตามเวลาอย่างขาดการดูแล”ยามเช้า “ชั้นตั้งนาฬิกาปลุกออกไปเดินถนนตั้งแต่ 7 โมงเช้า” บนถนนย่านตลาดสด เวลาเหมือนหยุดนิ่ง เงียบสงบ ยามเช้าที่ไหนก็สวยใสอย่างนี้เสมอ ถนนลาดหินเหมือนจัตุรัสกลางในหนังสือวรรณกรรมอังกฤษ“ถนนลาดหินเหมือนฉากหนังหยองขวัญเรื่อง Jack the Ripper มากกว่าว่ะ”อืม .. หน้าโรงแรม ริมถนนตรงข้ามข้างคันโยกน้ำสาธารณะ เด็กน้อยคนนึงกำลังอาบน้ำ สีฟัน “ชั้นพยายามโฟกัส” ขณะวัดแสง เด็กน้อยรีบหลบหลังคันโยก (ทั้งที่ไม่มิด) หุบยิ้ม จ้องเขม็ง เดินหนีใกล้ๆ กัน มีผู้หญิงในชุดส่าหรีมอมอคนหนึ่งคุ้ยกองขยะ ...ร้านน้ำชาเป็นสภาของผู้ชายที่จะมานั่งเต๊ะจุ๊ยพูดคุยและอ่านหนังสือพิมพ์ จิบชานมสีน้ำตาลอ่อนๆ ในถ้วยดินเผา ดื่มหมดโยนถ้วยดินเผาลงพื้น กินแล้วโยนลงพื้น กินแล้วก็โยน จนมันบอกว่า เศษถ้วยดินเผาเกลื่อนถนนอีกฟากหนุ่มรถเข็นขายน้ำมะนาวกำลังผสมน้ำสีตุ่นๆ กับมะนาวสด จนไม่รู้ว่า กินไปแล้วท้องเสียเพราะมะนาวสดหรือน้ำสีตุ่น ลานกว้างหน้า Shopping Center กลายเป็นที่นอนของคนเร่ร่อน ไร้บ้านจำนวนมาก บางคนหรูหรามีเตียงเหล็กสานนอนเบียดกันและกัน ฝ่าเท้าดำปี๋ ขาก่ายเกยกันสองสามคน บางคนคุดคู้ใต้ผ้าห่มบางๆ เกลื่อนกลาดอยู่กลางลานเวลาดูเหมือนหยุดนิ่ง ยามเช้าที่ไหนในโลกมักสวยงามอย่างนี้เสมอ “ภาพอย่างนี้มีให้เห็นได้ทั่วไป เหมือนภาพ abstract ที่ไม่อาจบรรยาย” มันว่าห่างออกไปอีกบล็อกจะเป็นย่านตลาดสดเพิ่มดีกรีความจอแจที่คุ้นเคย คนขนไก่มัดขาไก่เอาไว้กับแฮนด์รถจักรยานเข็นไปส่งที่ตลาดสด ไก่นับร้อยชีวิตถูกแบ่งเป็น 4 พวง บนแฮนด์สองข้างและท้ายที่นั่งอีกสองข้างห้อยปุเลงๆ ไปบนถนนหินเหมือนกับฉากหนังสยองขวัญ Jack the Ripperผู้ชายเดินทูนของบนหัว บิดก้นไปมาขยับขาไวๆ เหมือนกับนักกีฬาเดินทน เดินกันให้ควั่ก เข็มนาฬิกาแห่งวันเริ่มทำงานอีกครั้งเมืองแห่งอารยธรรมอันรุ่งโรจน์ ขณะที่ทัชมาฮาล คือ สถาปัตยกรรม อันน่าอัศจรรย์ใจหรือความเป็นเมืองแห่ง IT อย่างบังกาลอว์ อินเดียไม่ใช่ประเทศยากจนหรือประเทศโลกที่สาม เป็นหนึ่งในมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ตรงกันข้ามประชาชนอินเดีย ยากจนคนกว่าครึ่งของมหานครกัลกัตตา ไม่เร่ร่อนไร้บ้านก็อยู่ในชุมชนที่เรียกได้ว่า สลัม“นั่นแหละ คือ อินเดีย”“เพื่อน (อินเดีย) ชั้นบอกมาว่ะ ส่วนอีกคนถามว่า ท้องเสียหรือของหายหรือเปล่า” เพื่อนผมหัวเราะขื่นๆหรือว่า นี่มันเป็นเรื่องปกติในทุกมหานครของโลก (การค้าเสรี) ...กิจกรรมยามเช้าเวลาที่หยุดนิ่งของคุณลุงเหมือนกับฉากหลัง คือ อาคารทรงยุโรปจากยุคอาณานิคมคุณลุงบนรถลาก กำลังรอผู้โดยสารร้านน้ำชาก่อนจะกลายสภาพเป็นสภากาแฟสำหรับผู้ชายไก่!ลานข้างตลาดขายปลา สีแดงธงรูปค้อนเคียวเธอกำลังเก็บกระดาษกิจวัตรประจำวันริมฟุตบาธ ก่อนจะออกไปทำงานคฤหาสน์บนลานหน้า Shopping Center
ภู เชียงดาว
ผมเริ่มค้นพบว่าตัวเองนั้นไม่เหมาะกับเมือง หลังจากที่ใช้ชีวิตในเมืองใหญ่มานานหลายปี ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมถึงคิดเช่นนี้- -อาจเป็นเพราะระยะหลังรู้สึกว่าชีวิตตัวเองแปลกและป่วย บางครั้งคล้ายยินเสียงจากข้างในกำลังบอกอะไรบางอย่าง ราวกับจะบอกว่า... ‘ที่สุดแล้ว,ชีวิตต้องกลับคืนสู่เส้นทางที่จากมา’ แหละนั่น ทำให้ผมเริ่มวางแผนกลับไปใช้ชีวิตในสวนบนเนินเขาเหนือหมู่บ้านเกิดอีกครั้ง หลังจากที่ปล่อยให้สวนรกร้างว่างเปล่ามานานเต็มทีจริงสิ, ผมปล่อยให้ต้นไม้ในสวนรกเรื้อและโตขึ้นตามลำพัง ไร้การดูแลเอาใจใส่ ไม่มีเวลารดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย คงเหมือนกับชีวิตตัวเองกระมัง ที่ต้องมาอยู่กับเมือง มัวแต่ไขว่คว้าบางสิ่ง แต่ละทิ้งอะไรหลายอย่าง ผูกพันกับเทคโนโลยี กับการงานที่เร็วและเร่ง จนทำให้รู้สึกว่าชีวิตนั้นช่างรกรุงรังเสียเหลือเกิน เหนื่อยและล้า กระทั่งชีวิตชำรุด ผุกร่อน ต้องเข้าโรงซ่อมหลายต่อหลายครั้งพักหลังมานี้ ผมจึงรู้สึกโหยหาและผูกพันกับสวนบนเนินเขามากขึ้น หลังจากเมื่อสงกรานต์ที่ผ่านมาได้เริ่มลงหลักปักฐานปลูกบ้านไม้หลังเล็กๆ ในสวน ผมเทียวขึ้นเทียวล่องอยู่อย่างนั้น อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง, เฝ้าดูสล่ากับเพื่อนบ้านช่วยกันขุดหลุม ลงเสา ขึ้นโครง มุงหลังคา ทำห้องน้ำ ห้องครัว หน้าต่าง ประตู ปูพื้นฝา ระเบียง ฯลฯครั้นเข้าหน้าฝน กลับบ้านสวนครั้งใด ผมมักหิ้วกล้าไม้ใส่รถขนขึ้นไปปลูกแทบทุกครั้ง อย่างน้อยก็สองสามอย่าง เผลอไม่นาน สวนผมกลายเป็นสวนผสมผสานไปโดยไม่รู้ตัว เมื่อเดินสำรวจ ลูบคลำต้นไม้ใบไม้ในสวนทีละต้นๆ จึงรู้ว่ามีต้นไม้ที่ผมลงมือปลูกเอาไว้มีทั้งหมดมากกว่ายี่สิบชนิด รวมกว่าสี่ร้อยต้น ในเนื้อที่ราวห้าไร่ ล่าสุด, ผมมีโอกาสเดินทางไปหมู่บ้านก็อตป่าบง ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลนักจากบ้านเกิด เป็นชุมชนชนเผ่าลาหู่ที่ผมรู้สึกผูกพันมานาน ตั้งแต่เมื่อครั้งยังทำงานเป็นครูดอยอยู่แถบถิ่นนี้ พอลงจากรถ ผมก็สัมผัสได้ถึงธรรมชาติ ความรัก ความเรียบง่าย และไมตรีจิตของพี่น้องชนเผ่าเมื่อทุกคนต่างเดินเข้ามาจับมือ ยกมือไหว้ทักทาย พร้อมเชื้อเชิญขึ้นบ้าน ล้อมวงพูดคุย จิบน้ำชา ถกถามถึงชีวิตความเป็นอยู่ของกันและกันหลังจากนั้น 'ป๊ะป่า' ชาวบ้านที่ผมคุ้นเคย ชวนเข้าไปดูแปลงเพาะกล้ากาแฟในหุบเขา ขณะที่เราเคลื่อนไหวไปเบื้องหน้า...ผมชอบภาพผ่านสองข้างทาง อากาศสะอาด แดดส่องผ่านหุบห้วย ขุนเขาสลับทับซ้อน ไร่ข้าว ถั่วลิสง ถั่วแป๋ ขึ้นแซมเต็มผืนดินที่ว่าง งามฝักข้าวโพดเหลืองแก่คาต้นรอการเก็บเกี่ยว แหล่ะนั่น ต้นกาแฟแทรกตัวอยู่ใต้ร่มเงามะม่วงสูงใหญ่ผมชอบความสดเขียวมันวับของใบกาแฟ พร้อมลูกดกสีเขียวแดงเต็มกิ่งก้าน ป๊ะป่า กับภรรยามีความสุขเริงร่ากับกล้ากาแฟที่เพาะไว้“รู้มั้ย กลายเป็นว่า ปลูกกาแฟนั้นดูแลง่ายกว่าปลูกข้าวโพดเสียอีก ปลูกทิ้งไว้ใต้ต้นลำไย มะม่วง สองปีก็เก็บหน่วยขายได้ ถึงเวลามีพ่อค้ามารับซื้อถึงหมู่บ้านเมล็ดกาแฟสด ลูกสีแดง ตอนนี้ ราคาตกประมาณ 12-15 บาทต่อกิโล...” ป๊ะป่า บอกเล่าให้ฟังในขณะที่ ‘สุรเดช’ สมาชิก อบต.ปิงโค้ง ลูกหลานของป๊ะป่า บอกว่า เขาเอากล้าที่ป๊ะป่าไปปลูกใต้สวนมะม่วงเพียงห้าสิบต้น ปล่อยทิ้งไว้สองปีจนสูงท่วมหัว ล่าสุดเขาเก็บเมล็ดกาแฟขายได้เงินสี่ห้าพันบาท“ตอนนี้ ทางนายกฯพิพัฒน์พงศ์ เดชา นายก อบต.ปิงโค้ง ได้ส่งเสริมให้ป๊ะป่าเพาะกล้าแจกจ่ายให้กับชาวบ้านได้ปลูกกันตามไร่ตามสวน ซึ่งต่อไปอาจเป็นอีกอาชีพหนึ่งของชาวบ้านแถวนี้ และกำลังคิดกันว่าทำอย่างไรถึงจะส่งเสริมถึงขึ้นคิดจะสร้างแบรนด์เนมให้กับตำบลปิงโค้ง..และแพ็คใส่ถุงเป็นกาแฟบดขายได้ในอนาคต”‘สุรเดช’ พาชื่นชมสวนกาแฟใต้ร่มเงามะม่วงเราช่วยกันขนกล้ากาแฟในแปลงเพาะ ใส่ในกระบะหลังของรถขับเคลื่อนสี่ล้อคันเล็กจนเต็มล้น“เอาไปลองปลูกในสวน แล้วรอเก็บหน่วยอีกสองปีข้างหน้าเน้อ...” นานแล้ว ที่ผมไม่ได้ยินน้ำเสียงของการให้ด้วยความเต็มใจ “ชีวิตผมไม่ต้องรวย แค่พออยู่ได้ มีเหลือก็แบ่งปัน แค่นี้ก็มีความสุขแล้วล่ะ...” ป๊ะป่า เอ่ยออกมาด้วยสีหน้ายิ้มแย้มอารมณ์ดี“อ่อบูอื่อย่าๆ...” ผมกล่าวขอบคุณป๊ะป่า ด้วยภาษาลาหู่ เป็นกล่าวคำขอบคุณด้วยความรู้สึกศรัทธาและชื่นชมในวิถีชนเผ่า จริงสิ, ชีวิตแค่พออยู่พอกิน อยู่กับดิน น้ำ ฟ้า ป่าไม้ อากาศ ขุนเขา ฯลฯ เพียงเท่านี้ชีวิตก็รุ่มรวยแล้ว มาถึงตอนนี้ทำให้ผมนึกไปถึงภาพไร่กาแฟ ของ 'ไอแซค ไดนีเสน' ในหนังสือ 'Out of Africa' ที่ 'สุริยฉัตร ชัยมงคล' แปลเอาไว้อย่างงามและมีชีวิตชีวา“...เราไม่มีวันรวยขึ้นมาได้จากการทำไร่.แต่การปลูกกาแฟนั้นเป็นสิ่งหนึ่งที่รั้งตัวคุณเอาไว้และไม่ยอมปล่อย, มีอะไรบางอย่างต้องเกี่ยวกับมันเสมอ”ผมล่ำลาชาวบ้าน ก่อนขับรถขนกล้ากาแฟกลับไปสวนบนเนินเขาเหนือหมู่บ้านเกิดผมทันที จากบ่ายจนเย็นย่ำ ที่ผมทำงานในสวนโดยมิยอมหยุดพัก เม็ดเหงื่อผุดพรายเต็มใบหน้า ไหลซึมเสื้อผ้าจนเปียกชื้นเย็น ก้มๆ เงยๆ อยู่อย่างนั้น จับจอบขุดหลุมไปตามหว่างร่มเงาของมะม่วง ลำไย ฉีกถุงเพาะกล้ากาแฟ ค่อยๆ หย่อนลงในหลุม พลิกดินกลบ จากหลุมนี้ ไปหลุมนั้น...นานนับนาน ขณะที่ผมปลูกกาแฟไปรอบบ้านปีกไม้ที่ยังสร้างไม่เสร็จ ผมครุ่นนึกไปถึงการเติบใหญ่ของกาแฟในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และนึกไปถึง 'ไอแซค ไดนีเสน' อีกครั้ง, ที่เธอบอกเล่าให้เห็นสีสันความจริงที่คล้ายกับว่ากำลังเคลื่อนไหวไปมาอยู่เบื้องหน้าอย่างไรอย่างนั้น...“...การปลูกกาแฟนั้นเป็นงานยาวนาน, มันไม่เป็นผลอย่างที่วาดไว้เสียทั้งหมด, เมื่อคุณยังอายุน้อย, เปี่ยมด้วยความหวัง, ภายใต้สายฝนที่ถะถั่งลงมา, คุณประคองหีบต้นกล้ากาแฟที่เขียววะวับออกจากเรือนเพาะชำ, และพร้อมพรักด้วยบรรดาชาวไร่มืออาชีพกลางทุ่ง, เฝ้าดูต้นกล้าที่ลงสู่หลุมเรียงรายเป็นแถวอย่างมีระเบียบบนพื้นดินเปียกฉ่ำซึ่งมันจะงอกงามขึ้น กินเวลาสี่หรือห้าปี กว่ามันจะเติบโตได้ที่ และในช่วงนั้นก็อาจจะเกิดแล้งฝน หรือโรคพืช, และเจ้าวัชพืชพื้นเมืองก็จะพากันงอกพรึ่บขึ้นมาเต็มไร่”กระนั้น, ผมก็ลงมือปลูกกาแฟไปแล้วกว่าสองร้อยต้นในสวนบนเนินเขา และอดจินตนาการไปถึงภาพความงามของดอกกาแฟสีขาวกำลังเบ่งบาน พร้อมโชยกลิ่นหอม เหมือนกับที่เธอบอกว่า “ดอกกาแฟนั้นมีกลิ่นหอมระคนขื่นนิดๆ” และผมอยากจะต่อถ้อยคำของเธออีกว่า...ชีวิตชาวไร่ชาวสวนก็คงเหมือนกับดอกกาแฟนั่นแหละ…ที่มีทั้งกลิ่นหอมระคนขื่นนิดๆซึ่งผมรู้สึกเช่นนั้นจริง ๆ ครับ. หมายเหตุ : งานชิ้นนี้ ตีพิมพ์ครั้งแรก ในคอลัมน์ “คนคือการเดินทาง” เสาร์สวัสดี นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันเสาร์ที่ 29 กันยายน 2550 และผู้เขียนนำมาเพิ่มเติมและเรียบเรียงใหม่
ชนกลุ่มน้อย
เพลงรบต่อเนื่องกันมาถึงบันไดขั้นสุดท้าย  ยังมีบันไดอีกหลายขั้นทอดไป  และยังมีบันไดขั้นใหม่ๆทอดข้ามไปมา  ข้ามพรมแดนแปลกหน้าหากันและกัน  ไม่ว่าเพลงจะเกิดขึ้นในถ้ำ  เกิดในศูนย์ลี้ภัย  เกิดตามป่า  เกิดในเมือง  เพลงยังมีชีวิตเดินทางไปตามหาคนฟังต่อไปยามเพลงเดินไปตามไร่ข้าว  ห้างไร่  ออกตามหาคนฟัง  ผมไม่นึกว่าภาพนั้นจะกลายเป็นเรื่องราวอื่นไปได้มากกว่านั้น  คนเกี่ยวข้าวหยุดพัก  ตีวงล้อมเข้ามา  นั่งฟังเพลงคนหนุ่มที่ใช้เวลากับการเล่นเพลง  แต่งเพลง  ร้องฟังกันเองในแค้มป์ผู้ลี้ภัย  เหมือนโลกไม่เคยเห็น  โลกไม่เคยรับรู้ออกเดินไปร้องเพลงกันในถ้ำ เสียงปืนที่คำรามอยู่อีกฟากยอดเขา  เด็กหนุ่มกำลังแต่งเพลง  เขาเขียนเพลงที่สั่นใจคนหนุ่มให้ออกไปรบ ...คงเป็นฉากฝันไป  ฉากฝันไปจริงๆ  หลายครั้งที่ผมไปอยู่ร่วมวงเพลงในไร่ข้าว  รวงข้าวคงไม่อยากรักนวลสงวนตัว  โยกรวงไปตามเพลง  รวงข้าวฟังเพลง  แต่เนื้อหาเพลงนั้น  เล่าถึงเด็กๆที่นอนฟังเสียงปืนทั้งคืน  ชีวิตที่อยู่ด้วยความหวาดหวั่น  เสียงเพลงจริงจังเหลือเกิน  มันเป็นเสียงของการมองโลกอย่างมีความหวัง  มองโลกในแง่ดีผ่านชีวิตอันโหดร้าย ปลุกปลอบ  ให้รู้สึกถึงกำลังใจเพลงริมตะเข็บชายแดน  ยังทำหน้าที่นั้น  ผมเชื่ออย่างนั้น  คนสร้างเพลงปรารถนาจะให้ก๊อปปี้ไปฟังกันเยอะๆโดยปราศจากราคาที่ทางที่อยู่ที่ยืนของเพลงบนความยากลำบาก  ต่อสู้ ดิ้นรน  พลัดพราก  สูญเสีย  ขมขื่น  ถึงกระนั้น  เพลงยังกังวานขึ้นมาด้วยความหวังเสมอ ผมเขียนถึงเพลงรบบนแผ่นดินตะวันตก  คารวะบทเพลงเหล่านั้น  คนสร้างเพลงเหล่านั้น  บทเพลงที่ไม่มีทางจะพลิกผันกลายเป็นอื่นไปมากกว่าเพลงร้องปลอบตัวเอง  เผ่าพันธุ์ตัวเอง  เป็นฝุ่นลมในคืนดำมืด  เป็นเสียงร้องที่ไม่ปรารถนาน้ำตาจากใครอื่นแต่ใครจะรู้ว่าสักวันหนึ่ง  รั้วกั้นขวางความเกลียดชังกันระหว่างเผ่าพันธุ์จะพังลง  แล้วเพลงที่เกิดจากพลังต่อสู้ดิ้นรน  จะกังวานไปทั่วแผ่นดินนั้น   แผ่นดินประเทศพม่า    มีโอกาสเหมาะเมื่อไหร่  หรือมีอื่นใดเติมเข้ามา  ผมคงได้กลับไปเขียนถึงอีกครั้ง             *** ปล. เพลงของเหล่อวา  มีอันต้องยกรอไว้ก่อน  มาถึงมือเมื่อไหร่  คงได้นำมาเขียนเพิ่มเติม
แสงพูไช อินทะวีคำ
มีหลายอย่างที่สะท้อนออกมาให้เราได้เห็นและคิด เมื่อมองเห็นภาพโดยรวมที่ว่า- -ทำไมนักเขียนถึงกำเนิดขึ้นในระยะที่ประเทศชาติทำการปฏิวัติชาติประชาธิปไตย? นักเขียนปฏิวัติมีจุดยืนของตัวเองอย่างไร เพื่อเขียนบทประพันธ์ของตน? นักประพันธ์ปฏิวัติมองเห็นข้อบกพร่องอะไรบ้างของระบบล่าอาณานิคมแบบเก่าและใหม่?  พวกเขาใช้หลักการประพันธ์อย่างไรเพื่อให้คนอ่านได้มองเห็นความสมจริงของเรื่อง?  นักประพันธ์ปฏิวัติมีความต้องการให้เข้าใจการปฏิวัติอย่างไรและเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งต่อระบบจักรววตินิยม? คำถามเหล่านี้ตั้งขึ้นเพื่อการหาคำตอบว่า นักประพันธ์มีจุดยืนของตนอย่างไรเพื่อการเขียน!นักประพันธ์ปฏิวัติลาวกำเนิดขึ้นเกือบพร้อมๆ กับการปฏิวัติลาว เป็นสื่อแบบหนึ่งในการรับใช้ให้แก่การโฆษณา แนวทางก็คือระบอบการเมืองของการปฏิวัติลาวตั้งแต่แรกเริ่ม พร้อมๆ กับการโฆษณาด้านต่างๆเพื่อรับใช้การปฏิวัติลาวในช่วงนั้นๆ จริงๆ แล้ว เราก็เข้าใจกันแล้วว่า ‘วรรณกรรม วรรณคดีไม่มีชนชั้น วรรณกรรม วรรณคดีมีความเป็นเสรีในตัวของมันอยู่แล้ว’ แต่วรรณคดีจะถูกชนชั้นนำมาใช้เพื่อเป็นเครื่องมือของตน เพราะฉะนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่การปฏิวัติชาติประชาธิปไตยประชาชนลาวในระยะนั้นได้นำเอาวรรณคดีมารับใช้ในแนวทางก็คือนโยบายของตน โดยมีวัตถุประสงค์ต่อต้านกับระบอบการเมืองเก่า หรือชนชั้นปกครองเก่านักประพันธ์ปฏิวัติในระยะนั้น ได้มีความพยายามเลือกเอากาละโอกาสที่ดีงามเช่นนั้น โจมตีฝ่ายตรงกันข้ามกับการปฏิวัติ โดยเริ่มจากจุดเล็กๆ ของกำลังศัตรู นักประพันธ์ก็สามารถยกขึ้นมาเพื่อเขียนโจมตีอย่างเห็นภาพได้ชัดเจนว่า ‘ในระบอบสังคมเก่านั้น บรรดาเจ้าใหญ่นายโต ไม่ว่าจะเป็นช่วงไหนเวลาใด ต่างก็เอาเปรียบผู้คนทั่วไป ข่มขู่ขู่เข็ญประชาชน หรือ แม้แต่การมีเมียน้อยของเจ้านายในระบอบเก่าก็ยกขื้นมาพูดกันในเรื่อง โดยมีนายเหนือหัวคือ อเมริกา เป็นผู้อุปถัมภ์ เมื่ออ่านบทเรื่องแล้วก็เข้าใจว่า นักประพันธ์ปฏิวัติมีความเข้าใจว่า มีเพียงการปฏิวัติเท่านั้นที่จะชักนำความศิวิไลซ์มาสู่พี่น้องชาติพันธุ์ลาวทั้งประเทศ’ในบทวรรณคดีปฏิวัติลาวที่ได้เสนอไปแล้ว มีบางเรื่องก็ประกอบสิ่งที่เหลือเชื่อ คืออาจเกินความเป็นจริงบ้าง แต่ที่สำคัญก็คือ นักประพันธ์ สามารถสะท้อนมุมเล็กๆ ที่บางครั้งหรือหลายครั้งคนทั่วไปมองไม่เห็น นำมาเขียนขึ้นให้น่าอ่าน น่าสนใจเมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว เราๆ จึงสามารถมองเห็นว่า การนำเอาวรรณคดีมารับใช้ให้กับการปฏิวัติลาว จึงมีควาหมายสำคัญยิ่งนัก ข่าวการรบกันของกำลังปฏิวัติและกำลังฝ่ายตรงกันข้าม จึงเป็นไปว่ากำลังปฏิวัติได้รับชัยชนะเกือบทุกครั้ง มีบางเรื่องก็เกินจริงอย่าง “ข้าวห่อใบตองจับศัตรู”   เพราะมันไม่น่าจะเป็นไปได้ที่ใครจะไม่รู้จักข้าวห่อใบตอง? แต่อีกทางหนึ่งก็ไม่เกินไป เพราะว่าเวลาประชิดเอาปานนั้นคงไม่มีใครคิดว่า อีกฝ่ายหนึ่งจะเสี่ยงตายถึงขั้นใช้ข้าวห่อใบตองทำอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเรื่องนี้  50-50 ทั้งเป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้นักประพันธ์ปฏิวัติ ไม่ว่าจะเป็นในห้วงเวลาใดต่างก็มีความพยายามสูงมาก ในการสร้างภาพให้ผู้คนเข้าใจว่า การปฏิวัติประชาชน เพื่อประชาชน เพื่อให้หลุดพ้นจากการกดขี่ข่มขู่ของต่างชาติ นั่นคือความคิดส่วนหนึ่งของนักประพันธ์ปฏิวัติ !หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้ลงตีพิมพ์ครั้งแรกที่ หนังสือพิมพ์เวียงจันท์ใหม่ วันที่ 5/3/2005
กวีประชาไท
 Photo from: http://www.flickr.com/photos/naixn/624130172/  ...คลื่นที่ซัดเข้าสาดฝั่งแรงโถมถั่งทุ่มเทอยู่ถี่ถี่ระลอกแล้วระลอกเล่ากี่นานปีกัดกลืนผืนปฐพีอยู่มิคลายกร่อนโขดหินที่ยืนแกร่งอย่างเกรี้ยวกราดเกลียวคลื่นเหมือนอาฆาตดังมาดหมาย –ซัดโขดหินโซทรุดหลุดลงทลายซบแทบเท้าสุดท้ายแห่งสายน้ำ...ต่างแนวทรายชายหาดทุกหนแห่งล้มลมล้อคลื่นแรงระเรื่อยร่ำคล้ายจะถูกดูดกลืน – คลื่นเคี่ยวกรำสยบยอมต่อกระทำของทะเลต่อกระทำของทะเลที่ชวนทะเลาะกลืนรอยทรายหลังเซาะล้อคลื่นเห่ยังคงทรายหลังคลื่นเข้าโถมเทคงรายอยู่ริมทะเลเรียงเต็มลาน ...แด่ทรายทุกเม็ดที่โล้คลื่นมรสุมอย่างกล้าหาญไหมฟ้าสาเกตุนคร - ร้อยเอ็ด

แท็กล่าสุด

แท็กยอดนิยม