Skip to main content

บล็อกกาซีน ประชาไท

การะเกต์ ศรีปริญญาศิลป์
“น้ำใจให้น้องปิ่น” เด็กหญิงพิการที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ทุกคนในครอบครัวยังมีความหวังและมองโลกในแง่ดีเสมอ อ่านเรื่องของน้องปิ่นกับแม่ได้ที่นี่ สนับสนุนเงินทุนช่วยเหลือตามกำลังศรัทธาได้ที่หมายเลขบัญชี 05-3405-20-093267-0น.ส.สีไวย คำดา เพื่อ ด.ญ.วรัญญา ฟินิวัตร์ ธ ออมสิน สาขามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ “สมทบทุนค่าอาหารและรักษาพยาบาลหมาแมวพิการ ป่วยไข้ ถูกทอดทิ้ง ตามกำลังศรัทธา”เลขที่บัญชี 1210101483 น.ส. นันท์ธนัตถ์ จิตประภัสสร ธ กรุงไทย สาขาบางบัวทอง หรือจะส่งเป็นอาหารหมาแมวก็ได้ค่ะ ที่97 หมู่ 2 บ้านหนองคาง ต.หนองราชวัตร อ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี 72240 วันอมาวสีครั้งต่อไป 10 ธันวาคม 2550 นะคะ
Hit & Run
"ความพยายามสร้างกติกาอันบิดเบี้ยวตลอดปีกว่าที่ผ่านมา ส่งผลให้ ‘ผี' ยิ่งน่ากลัวสำหรับคนที่กลัว และยิ่งน่าพิสมัยสำหรับผู้ที่ไม่กลัว และผู้ที่ไม่กลัวส่วนใหญ่นั้นแม้จะอยู่ห่างไกล ไร้อำนาจ แต่ก็สามารถแสดงพลังเงียบของตนได้อย่างมีนัยสำคัญ"  ภาพจาก dschild.exteen มุทิตา  เชื้อชั่ง ผมเป็นคนกลัวผีมากจนแทบจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการกลัวผี และรู้สึกว่าสังคมไทยกำลังกลัว ‘ผี' อย่างหนัก ข้อสังเกตที่เห็นได้ชัดอย่างหนึ่งคือ จากที่เคยมีคำอธิบายมากมายว่าทำไมจึงต้องกลัว ‘ผี' หรือไล่ ‘ผี' แต่นานวันเข้า สถานการณ์เปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังเท้า ความกลัว ‘ผี' ก็ยังคงอยู่และอาจจะมากยิ่งกว่าเดิมโดยที่คำอธิบากลับลดน้อย จางหาย จนหลายต่อหลายคนก็อธิบายไม่ถูกว่าทำถึงทั้งเกลียดทั้งกลัว ‘ผี' เช่นนั้นตลอดเวลา ทุกสถานการณ์ ขณะเดียวกันก็รู้สึกตีบตัน สิ้นหวัง ยิ่งนักในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ ตามทฤษฎีว่าด้วยผีวิทยาแล้ว ผีไม่มีวันตาย ไม่ตายซ้ำซ้อน และเป็นภาพประทับของความน่ากลัวที่อยู่ในความรู้สึกนึกคิด ถ้าเป็นมากหน่อยก็ไปอยู่ในส่วนของจินตนาการซึ่งไร้ขอบเขต ความกลัวผีที่เกิดขึ้นไม่จำเป็นต้องมีเหตุมีผล ดังนั้น หากไม่ระมัดระวังผู้ที่กลัวผีมีแนวโน้มจะกลัวยิ่งขึ้นๆ จนขาดสติ รู้สึกตนเองไร้อำนาจอย่างรุนแรงขณะเดียวกันก็ไม่เชื่อมั่นในขีดความสามารถและอำนาจของเพื่อนมนุษย์คนอื่นๆ  อาจถึงขั้นกระทำการที่ไม่อยู่ในครรลองที่ควรเป็น เช่น กระโดดถอยหลังทีละหลายก้าว ทำให้หกคะมำหัวร้างข้างแตกได้โดยง่าย  ผู้ที่กลัว ‘ผี' อาจจะไม่จำเป็นต้องพยายามลบภาพประทับของ ‘ผี' หรือเปลี่ยนให้ ‘ผี' กลายเป็น ‘เทวดา' แต่ควรตั้งสติพิจารณา ‘ผี'ให้ถี่ถ้วน ตำราผีวิทยาในหลายประเทศยืนยันว่า การพิจารณา ‘ผี' อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ สร้างระบบและกลไกที่มีประสิทธิภาพ สร้างความเข้มแข็งของจิตใจและปัญญาของผู้คนเจ้าของประเทศ จะช่วยจำกัด ‘ผี' หรือควบคุมสถาบันผีไม่ให้น่ากลัวกระทั่งเชื่อฟังคำสั่งประชาชนได้ แต่ในบางพื้นที่ที่มีปัญหาเรื้อรังสลับซับซ้อนเกินกว่าจะพูดถึง ก็อาจต้องใช้เวลานานกว่าปกติ กระนั้นก็ตาม การฝืนธรรมชาติด้วยการกำจัด ‘ผี' ออกไปจากการรับรู้ของผู้คนโดยสิ้นเชิงนั้นไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง เพราะยังมีคนอีกมากมายที่ชอบ ‘ผี' ไม่กลัว ‘ผี' พวกเขาควรมีโอกาสดูหนังผี เล่าเรื่องผี เป็นชู้กับผี ฯลฯ ได้ด้วยเช่นกันตามกติกาของประชาธิปไตย แต่ก็ควรออกแบบโครงสร้างในการควบคุม ตรวจสอบ ‘ผี' ให้รัดกุมอย่างที่กล่าวไป เพื่อไม่ให้สร้างความเดือดร้อนเสียหายต่อส่วนรวมอย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมาเราจะพบว่าสังคมไทย (เมืองหลวงเป็นหลัก) ตระหนักถึงความน่ากลัวของ ‘ผี' และมุ่งกำจัด ‘ผี'ให้สิ้นซากตามแบบวิธีคิดเก่าแก่ แต่ด้วยรูปแบบและคำอธิบายที่ละเมียดขึ้น แม้จะผิดระเบียบวิธีการประชาธิปไตย ล่าสุด คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มีมติกีดกันอดีต ‘ผี' ทั้ง 111 ตนไม่ให้สามารถปราศรัยร่วมหาเสียง ถ่ายรูปคู่กับผู้สมัคร เป็นวิทยากรให้กับพรรคการเมือง ส่วนการที่อดีตหัวหน้าผีจะปราศรัยช่วยหาเสียงผ่านวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์นั้นอย่าแม้แต่จะฝัน ทั้งยังไม่ให้ ‘ผี' ทั้ง 111 ตน ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ และการสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมือง วิธีการเหล่านี้ยิ่งทำก็ยิ่งถลำลึกไปในกับดักของอาการกลัว ‘ผี' โดยเฉพาะบรรดาหมอผี เกจิอาจารย์ชื่อดังทั้งหลาย ซึ่งหลายคนหวังดี และอีกหลายคนอยู่ในภาวะขี่หลังเสือ ซึ่งอาจทำให้ขาดสติอย่างรุนแรงออกกฎหมายที่ไม่น่าออก มุ่งเน้นแต่ประเด็นการเมือง การปกป้องตัวเองเป็นหลัก  และด้วยความพยายามสร้างกติกาอันบิดเบี้ยวตลอดปีกว่าที่ผ่านมา จะส่งผลให้ ‘ผี' ยิ่งน่ากลัวสำหรับคนที่กลัว และยิ่งน่าพิสมัยสำหรับผู้ที่ไม่กลัว และผู้ที่ไม่กลัวส่วนใหญ่นั้นแม้จะอยู่ห่างไกล ไร้อำนาจ แต่ก็สามารถแสดงพลังเงียบของตนได้อย่างมีนัยสำคัญ ดังเช่นการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 50 ที่ผ่านมา จนเป็นที่จับตากันมากว่าการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ คนไม่กลัวผีจะมีพลังเพียงไหน สุดท้าย หนังสือเล่มล่าสุดของ ศ.Leonard  Coup d'etat สรุปไว้ว่า อาการกลัวผีแต่พอดีเป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นสิ่งแสดงออกถึงสุขภาพอันดีของพลเมือง ซึ่งจะกระตุ้นให้ผีทั้งหลายใช้ความน่ากลัวไปในทางที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง ขณะเดียวกันอาการกลัวผีแบบไม่ลืมหูลืมตาอย่างกรณีของไทยตอนนี้ กระทั่งกฎอัยการศึกก็ยอม  พ.ร.บ.ความมั่นคงออกมาก็ยอม ฯลฯ สามารถส่งผลเสียใหญ่หลวงได้ ซึ่งนอกจากจะกำจัดผีไม่ได้แล้ว ยังทำให้สังคมสุ่มเสี่ยงที่จะไปถึงทางตัน (ยิ่งกว่า) ซึ่งทั้งน่ากลัวและทั้งเจ็บปวดกว่าการเผชิญหน้ากับ ‘ผี' หลายเท่า  
new media watch
"น่าสนใจตรงที่ว่า เนื้อหาของเพลงที่ปรากฎใน fluxblog หลากหลายกว่าเรื่องของปัจเจกบุคคลหรืออารมณ์-ความรู้สึก แต่กินลึกไปถึงระดับจิตวิญญาณ มีการวิพากษ์วิจารณ์โครงสร้างที่มันยิ่งใหญ่กว่าเครือข่ายมนุษย์ ซึ่งเวียนว่ายอยู่ในสังคมเดิมๆ" 000อุตสาหกรรมเพลงกระแสหลัก ฝั่งอังกฤษ อเมริกา ญี่ปุ่น หรือว่ายุโรป ฯลฯ ล้วนแข่งกันเติบโต ‘ทางกว้าง' มาสักพักใหญ่ๆ แต่ไม่ค่อยมีความคืบหน้าที่มันตื่นเต้นเร้าใจใน ‘เชิงลึก' มากนัก โปรดิวเซอร์ดนตรีที่เก่งๆ ส่วนใหญ่ก็รับหน้าที่ดูแลศิลปินมากมายจนกลิ่นอายทางดนตรีมันฟังซ้ำๆ ย่ำอยู่กับที่ ไม่ค่อยอิ่มรูหูนักฟังเพลงสักเท่าไหร่ แต่แล้วบล็อกโดนใจอย่าง fluxblog.org ก็บังเกิด! นิตยสารนิวยอร์กไทมส์ จัดอันดับให้ fluxblog ติด 1 ใน 5 บล็อกสุดเจ๋งในปีนี้ เพราะชื่นชมในการเปิดพื้นที่ให้นักร้อง-นักดนตรีทั่วโลกได้เผยแพร่ผลงานเพลงของตัวเองโดยไม่ต้องรอข้อเสนอ (ที่มาพร้อมเงื่อนไข) ของบรรดาค่ายเทปต่างๆ พลเมืองโลกไซเบอร์ที่รักเสียงดนตรี รู้วิธีโพสต์เพลงขึ้นเว็บ และที่สำคัญ มีความสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ จะมีช่องทางระบายผลงานเพลงของตัวเองมากขึ้นอีกหนึ่งแห่ง โดยไม่จำเป็นต้องหน้าตาดี หุ่นเซ็กซี่ หรือเป็น ‘เอนเตอร์เทนเนอร์' ขอเพียงรู้วิธีสร้างสรรค์เสียงเพลงและเสียงดนตรีก็พอแล้วเพลงหลายเพลงที่โพสต์ลง fluxblog สามารถฟังได้จนจบเพลง (แต่ดาวน์โหลดไม่ได้) โดยคนโพสต์สามารถเขียนคำอธิบายเกี่ยวกับที่มาที่ไปของเพลง เพื่อปูทางให้คนฟังเข้าใจในเนื้อหาของเพลงได้ด้วย แล้วคนที่เข้ามาฟังจะชอบ-ไม่ชอบ หรือมีคำแนะนำอย่างไร ก็จะโพสต์ข้อความเอาไว้เป็นการสนทนาแลกเปลี่ยนทางตรงน่าสนใจตรงที่ว่า เนื้อหาของเพลงที่ปรากฎใน fluxblog หลากหลายกว่าเรื่องของปัจเจกบุคคลหรืออารมณ์-ความรู้สึก แต่กินลึกไปถึงระดับจิตวิญญาณ มีการวิพากษ์วิจารณ์โครงสร้างที่มันยิ่งใหญ่กว่าเครือข่ายมนุษย์ ซึ่งเวียนว่ายอยู่ในสังคมเดิมๆน่าจะเป็นอีกก้าวหนึ่งที่ทำให้วงการเพลงมีแนวโน้มจะหลุดพ้นจากการครอบงำของวัฒนธรรมMTVได้ในเร็ววันhttp://fluxblog.org/
สุมาตร ภูลายยาว
แสงแดดยามบ่ายคลี่ม่านกระจายโอบไล้ยอดไม้ แรงลมพัดยอดไม้เอนไหว ดอกไม้ป่าสีขาวของฤดูฝนกำลังร่วงหล่นลงพื้นดิน แม้ว่าดอกไม้จะจากไป แต่ธรรมชาติก็ได้มอบความเขียวชะอุ่มของผืนป่ามาทดแทนเช่นกันยามบ่ายขณะหลายคนยังวุ่นอยู่กับงาน ผมเดินเตร็ดเตร่ตามถนนมาถึงหน้าบ้านหลังหนึ่ง หลังอ่านป้ายก็รู้ว่าบ้านหลังนี้เป็นบ้านของชายชรา ผมมองหาเจ้าของบ้านอยู่นอกรั้วในใจยังหวั่นอยู่ว่าจะได้พบเจ้าของบ้านหรือเปล่า เมื่อมองดูอยู่ครู่หนึ่ง ผมก็เห็นชายชราผู้เป็นเจ้าของบ้านกำลังก้มๆ เงยๆ อยู่กับกองไม้ไผ่ข้างห้องครัวผมร้องเรียกชายชราอยู่นอกรั้ว เมื่อได้ยินเสียงเรียก แกก็เงยหน้าขึ้นมาดู และเรียกผมเข้ามาในบ้าน หลังเปิดประตูรั้วแง้มออกมาพอให้ตัวเองเดินเข้าไปได้ ผมก็เดินตรงเข้าไปยังลานบ้าน เมื่อผมเดินเข้าไปถึงชายชราเปลี่ยนจากนั่งมาเป็นลุกขึ้นยืน ด้านข้างของม้านั่งมีเศษไม้ไผ่กองอยู่จำนวนมาก“พ่อเฒ่าทำอะไรอยู่”“กำลังทำคันเบ็ดกับตุ้มปลาเอี่ยน—ปลาไหล”“ทำมานานหรือยัง”“ทำมาแต่เช้าแล้วยังไม่เสร็จสักที มันสานยาก ต้องค่อยๆ สาน รีบไม่ได้เดียวไม้ไผ่จะได้กินเลือดเรา”หลังยืนคุยกับผมครู่หนึ่ง ชายชราก็นั่งลง และลงมือสานตุ้มปลาเอี่ยนต่อ ผมนั่งมองชายชราทำงานของแก่ และครุ่นคิดเรื่องราวบางอย่าง ในห้วงนั้น ผมคิดถึงการเดินทางของเบ็ดจากมือของชายชราค่อยๆ ทยอยลงสู่แม่น้ำ และกลับมาพร้อมกับปลา ความสุขไม่มากก็น้อยจะเกิดขึ้นหลังจากคนหาปลากลับมาพร้อมปลาติดเบ็ด“คนหาปลาอย่างเรานี่ต้องรู้จักทำเครื่องมือหาปลาเอง อย่างไหนทำได้ก็ทำ แต่ถ้าอย่างไหนทำเองไม่ได้ก็ซื้อ พอซื้อแล้วก็เอามาแต่งใหม่ อย่างมองซื้อมาแล้วก็เอามาทำใหม่ ขอเบ็ดก็เอามาผูกสายเอาเอง เพราะซื้อคนอื่นมามันไม่ค่อยมั่นใจว่าจะหมานหรือเปล่า แต่ถ้าเอามาทำเองมันจะรู้ว่าต้องผูกเบ็ดอย่างไรถึงจะหมาน เรามีวิธีผูกของเรา เขามีวิธีผูกของเขา มันไม่เหมือนกัน”    “พูดเรื่องคนหาปลาแล้ว คนไม่ได้หาปลาไม่ค่อยรู้หรอกว่า คนหาปลามันมีความเชื่อหลายอย่างโดยเฉพาะเรื่องโชคลางนี่สำคัญ เพราะถ้าไม่เชื่อ บางทีก็หาปลาไม่หมาน บางคนกำลังจะออกไปหาปลามีคนทักเดินกลับเลย ไม่ไป เพราะเดี๋ยวไม่หมาน อย่างเวลาไปเอาไส้เดือนมาทำเหยื่อตกปลา เราจะทำท่ารังเกียจถ่มน้ำลายไม่ได้ ถ้าใครทำหาปลาไม่หมาน อย่างเรือก็เหมือนกัน ถ้าจะเอาเรือออกหาปลา เราต้องเลี้ยงเรือให้ดี ถ้าเลี้ยงดีแม่ย่างนางเรือก็จะช่วยให้ได้ปลาเยอะ เรือพ่อเฒ่าแต่ก่อนเอาไก่เลี้ยง เดี๋ยวนี้เอาขนมเลี้ยง เรือมันแก่แล้ว คงไม่ฟันเหมือนคนนี้แหละ พอไม่มีฟันก็กินไก่ไม่ได้ กินได้แต่ขนม“ พอพูดเสร็จชายชราก็หัวเราะขึ้นมาเบาๆ ผมได้พูดคุยเรื่องราวต่างๆ กับชายชรามากมาย ช่วงไหนพูดถึงปลา ชายชราจะเล่าเรื่องปลาที่แกเคยหาได้ให้ฟังอย่างออกรสชาติ บางครั้งพอถามถึงขนาดของปลา แกก็จะยกมือขึ้นทำท่าประกอบบ่งบอกถึงความใหญ่และความเล็กของปลาไปด้วย บางครั้งก็แกก็เอาไม้ไผ่วาดรูปปลาลงบนพื้นดินให้ผมดู“มีอยู่ครั้งหนึ่งหลายปีก่อน พ่อเฒ่าไปหาปลาคนเดียว ตอนไปก็นอนตามหาดทรายริ่มฝั่ง ใส่เบ็ดไว้ตอนกลางคืน พอเช้ามาใกล้แจ้งก็ไปไจ--ไปกู้เบ็ด พ่อเฒ่าเอาเรือออกไปเก็บกู้เบ็ดค่าวหลังก้อนหิน ตอนแรกนึกว่าไม่ได้ปลา พอเอาเรือเข้าไปใกล้แล้วดึงเชือกดู เชือกมันตึง ก็แปลกใจ ตอนนั้นไม่ได้คิดว่าเป็นปลา ดึงอยู่พักหนึ่งมันก็ไม่ขึ้นเลยเอาหินผูกใส่เชือกหย่อนตามสายเบ็ดลงไปดู พอหินหล่นลงน้ำ มันไปโดนอะไรไม่รู้ใต้น้ำ พ่อเฒ่าก็นึกว่าโดนหิน ก็ลองดึงอีกทีปรากฏว่าเชือกมันค่อยๆ เคลื่อนไปข้างหน้า พ่อเฒ่าก็จับไม้พายค่อยๆ พายเรือตาม ตอนนั้นคิดว่าน่าจะเป็นผีเงือกหลอก (ความเชื่อเรื่องผีเงือกเป็นความเชื่อของผู้เฒ่าผู้แก่ในแถบอำเภอเชียงแสน,เชียงของ,เวียงแก่น) เพราะเชือกเบ็ดมันวิ่งไปข้างหน้าได้สักพักมันก็หยุด หยุดแล้วก็ไปต่อ พ่อเฒ่าเริ่มเห็นท่าไม่ดีก็ออกแรงดึง แต่ยิ่งดึงมันก็ยิ่งดึงตอบ มันพาเรือวิ่งไปเรื่อยๆ เราก็ปล่อยเรือไป เพราะเราไม่รู้ว่า เรากำลังสู้กับอะไร ถ้ารู้ว่าสู้กับอะไรอยู่ ก็พอคิดวิธีการสู้ได้ นี่เราไม่รู้ เรารู้เพียงว่า ถ้ามันดึงเราก็หยุด พอมันหยุด เราก็ดึง สู้กันอยู่อย่างนี้ตั้งแต่ตี ๔ ไปจนเกือบ ๖ โมงเช้า ตอนค่อยรุ่ง มันหยุดดึง พอเห็นมันหยุด พ่อเฒ่าก็เลยดึงมันไปเรื่อยๆ จนใกล้ถึงฝั่งก็เอาเรือเข้าฝั่งขึ้น พอขึ้นไปบนฝั่งได้ เราก็ดึงอยู่บนฝั่ง พออยู่บนฝั่งแรงเราเยอะกว่า เราก็ดึงจนหัวมันพ้นน้ำขึ้นมา เห็นตัวปลาแล้วตกใจเกือบปล่อยสายเบ็ด ปลาตัวใหญ่มากหนัก ๖๐ กว่ากิโลได้ พอเอาขึ้นมาบนฝั่งได้นี่ดีใจเลย เพราะเกิดมาก็เพิ่งเคยเห็นปลาตัวใหญ่อย่างนี้ ถ้าตอนนั้นมันสู้จริงๆ นะ มันดิ้นทีพลิกเรือคว่ำได้เลย ตัวมันใหญ่ขนาดเอาขึ้นเรือแล้วยังต้องมัดหนวดมันใส่กับข้างเรือไว้กลัวมันดิ้น เรือจะคว่ำ ปลาแข้นี่ถ้ามัดหนวดมันแล้ว มันทำอะไรไม่ได้จะดิ้นยังไม่มีแรงเลย แต่ถ้าไม่มันหนวดมันไว้จะได้มานั่งพูดอยู่ตรงนี้หรือเปล่าก็ไม่รู้”พอพูดมาถึงตรงนี้ ชายชราก็หยุดพูดแล้วหันไปยกบุหรี่ขึ้นมาจุดสูบ ตั้งแต่คุยกันมาชายชรา ผมสังเกตเห็นรอยยิ้มบนใบหน้าของชายชราเสมอ บางคนเคยบอกว่าการยิ้มบ่อยๆ ทำให้อารมณ์ดี เมื่ออารมณ์ดีก็ทำให้อายุยืนตามไปด้วย ชายชราก็คงเป็นเช่นนั้น เพราะตอนนี้แกอายุ ๗๖ ปีแล้ว แต่แกยังแข็งแรงเหมือนคนอายุ ๕๐  ใน ๗๖ ปีของชีวิต หากเปรียบเทียบระหว่างคนอายุขนาดนี้ที่อยู่ในเมืองกับชายชรา คนในเมืองบางคนอาจต้องพ่ายแพ้ เพราะในวัย ๗๖ สำรับคนในเมืองก็เป็นคนที่เกษียณตัวเองออกจากทุกอย่าง ได้เพียงแต่นั่งๆ นอนๆ ให้ลูกหลานป้อนข้าวป้อนน้ำ แต่สำหรับชายชราแล้วอายุเป็นเพียงริ้วรอยที่ปรากฏบนใบหน้า และผมขาวโพลนบนศีรษะเท่านั้น เพราะชายชรายังแข็งแรง เดินขึ้น-ลงท่าน้ำเอาเรือออกไปหาปลาได้โดยไม่ต้องบ่นว่าปวดเมื่อย ปฏิเสธไม่ได้ว่า การดำรงอยู่ของคนเราในวงรอบของชีวิตแต่ละปี บางครั้งคนเราก็ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ จากการใช้ชีวิต ชายชราเองก็เช่นกัน กว่าจะทำเครื่องมือหาปลา และใช้เครื่องมือหาปลาแต่ละชนิดได้ แกก็ต้องอาศัยเวลาในการทดลองใช้ ทดลองทำด้วยตัวเอง บางครั้งการทดลองก็มีความผิดพลาดเกิดขึ้นบ้าง แต่ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นก็สอนประสบการณ์ชีวิตให้กับชายชรามากมายหลังแสงแดดของความร้อนยามพลบลาลับไปไม่นาน ควันไฟก็ลอยล่องขึ้นจากเตาไฟในครัว ที่กองไฟนั้น แม่เฒ่ากำลังก่อไฟนึ่งข้าว เพื่อเตรียมอาหารมื้อเย็น หลังจากพูดคุยกับชายชราเนิ่นนาน ผมจึงได้รู้ว่า บ้านหลังนี้มีคนอยู่สองคน เพราะลูกหลานต่างแยกย้ายกระจัดกระจายไปทำมาหากิน และมีครอบครัวอยู่ที่อื่น แต่ลูกหลานก็ไม่เคยทอดทิ้งให้สองผู้เฒ่าต้องเหงา เพราะนานๆ ครั้งพวกเขาก็กลับมาเยี่ยมพอให้หายคิดถึงบางวันเมื่อชายชราเอาเรือขึ้นไปหาปลา แม่เฒ่าจะอยู่เพียงลำพังในบ้านหลังใหญ่ ผมไม่รู้ว่าในห้วงยามอย่างนี้ แม่เฒ่าจะหว้าเหว่บ้างหรือเปล่า หรือว่าแม่เฒ่าเป็นอย่างนี้จนเคยชิน บางครั้งถ้านับเทียบเป็นเวลาแล้ว การพลัดพรากชั่วครู่ชั่วยามซ้ำแล้วซ้ำเล่าสำหรับผู้เฒ่าทั้งสองคนมันคงเป็นเวลาหลายปีเมื่อผมอดกลั้นต่อความรู้สึกที่อยู่ใจไว้ไม่ไหว ผมเลยตัดสินใจถามแม่เฒ่าว่า “แม่เฒ่าอยู่คนเดียวไม่เหงาหรือ” “ในช่วงแรกมันก็คิดถึงกันบ้าง ตอนนั้นเรายังหนุ่มกันอยู่ กำลังมีลูกด้วย เราก็ไม่อยากให้เขาไป พอเขาไปภาระทุกอย่างก็เป็นของเรา หลังจากลูกหลานมันโตแต่งงานกันหมด เราก็ไม่ได้ห่วงอะไรแล้ว ตอนลูกหลานแยกย้ายกันออกเรือนไป แรกๆ ก็คิดถึงอยู่บ้าง เพราะบ้านเราคนมันอยู่กันเยอะ พอมาอยู่น้อยคนมันก็คิดถึงเป็นธรรมดา มองไปตรงไหนก็คิด อย่างมองไปบันไดเราก็คิดว่า วันนั้นตอนเย็นลูกคนหนึ่งนั่งร้องไห้อยู่ตรงนั้น แต่พอนานเข้าก็ไม่เป็นไรแล้ว ยิ่งตอนนี้ก็ไม่ได้คิดถึง แต่เป็นหว่ง เพราะเรามันก็แก่กันแล้ว กลัวไม่สบาย พอไม่สบายก็กลัวว่าจะไม่มีคนดูแล อย่างพ่อเฒ่าเราก็ห่วงแก เพราะแกไปหาปลาคนเดียวไปอยู่ไกลจากบ้านด้วย แต่ก็อย่างว่าคนเราแก่เฒ่าแล้วไม่ค่อยได้คิดอะไรมากหรอก กลางวันก็ไปอยู่กับกลุ่มคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้าน ตอนเย็นกลับมาบ้านก็ทำกับข้าว กินเสร็จแล้วก็นอน ชีวิตก็เป็นอยู่อย่างนี้”ในวิถีแห่งชีวิตของสองคนเฒ่า เหมือนมีสายใยแห่งความห่วงใยซุกซ่อนอยู่ภายในตาข่ายแห่งการจากพราก ช่วงที่ชายชราขึ้นไปหาปลา แม่เฒ่าต้องอยู่บ้านเพียงลำพัง ชายชราเองก็คงไม่ต่างกัน เพราะในแต่ละครั้งที่ออกไปหาปลา แกก็ต้องพักค้างอ้างแรมคนเดียวในกระท่อมริมฝั่งน้ำ“พ่อเฒ่าไปหาปลาแต่ละครั้งนานไหม”“บางครั้งก็ ๓-๔ วัน บางครั้งก็วันเดียว แล้วแต่ได้ปลาไม่ได้ปลา ถ้าได้ปลาก็ไปนาน ถ้าไม่ค่อยได้ปลาก็กลับมาเร็ว รอจนปลาขึ้นมาก็ไปใหม่ แต่ตอนนี้ไปนาน ไปทีเป็นครึ่งเดือน ได้ปลาก็ฝากลูกมาขาย เรามันแก่แล้วไม่อยากเดินทางบ่อย”“พ่อเฒ่าหาปลามานานหรือยัง”“ประมาณ ๔๐ กว่าปีได้อยู่หรอก”เมื่อพูดถึงการขายปลาแล้ว สำหรับบางวันที่ชายชราคืนสู่บ้านพร้อมกับปลา แม่เฒ่าจะเป็นคนนำปลาไหขาย เรื่องขายปลาบางทีดูเหมือนว่าผู้หญิงจะทำได้ดีกว่าผู้ชาย แต่บางครั้งหลังจากกลับมาจากหาปลา ชายชราก็จะเป็นคนเดินเอาปลาไปเร่ขายเอง ชายชราให้เหตุผลว่า ปลาบางตัวมันก็น่าจะขาย แต่บางตัวมันก็ไม่น่าจะขาย ยิ่งคนคุ้นเคยกันแล้ว บางทีปลาบางตัวก็ไม่เหมาะจะถูกซื้อ แต่มันเหมาะสำหรับการให้กันกินมากกว่าในแต่ละวันชีวิตของสองผู้เฒ่าต่างเป็นอยู่อย่างนี้แทบไม่มีอะไรวิจิตรพิสดารมากมายนัก อาหารการกินก็กินอย่างชาวบ้านทั่วไป แม้ว่าในบางวันอาจมีอาหารพิเศษเพิ่มเข้ามาบ้าง แต่นั้นก็นานๆ ครั้ง แต่อาหารหลักสำหรับสองผู้เฒ่าคือปลาที่ชายชราหามาได้นั่นเอง...ฟ้ามืดหลังแสงสุดท้ายของวันหายไปจากฟ้า ผมลาผู้เฒ่าทั้งสองกลับบ้าน ก่อนจาก ชายชราเดินออกมาส่งผมหน้าประตูรั้วบ้าน หลังชายชรากลับเข้าไปในบ้าน ผมก็หันหลังให้บ้านหลังนั้น แล้วเดินฝ่าความมืดไปตามถนนคืนสู่บ้าน ขณะเดินไปตามถนนผมหวนคิดถึงรอยยิ้มของชายชรา เวลาแกเล่าเรื่องตลกให้ฟัง แกจะหัวเราะอยู่เสมอ ถ้าจำไม่ผิด เพื่อนคนหนึ่งเคยพูดกับผมไว้ว่า คนแก่มักอารมณ์ดีกับลูกหลานอยู่เสมอ แต่บางครั้งผมก็ไม่ค่อยเชื่อเพื่อนคนนั้นเท่าใดนัก เพราะบางทีคนแก่บางคนก็อารมณ์ร้าย การที่จะอารมณ์ดีได้มันคงมาจากปัจจัยหลายสาเหตุ ตัวชายชราเองก็เช่นกัน การไม่ต้องวุ่นวายอยู่กับเรื่องราวต่างๆ มากนัก และการได้อยู่กับสิ่งที่ตัวเองชอบมันคงทำให้แกอารมณ์ดี..
ช้องนาง วิพุธานุพงษ์
Public morals are natural complements of all laws: they are by themselves an entire code.Napoleon Bonaparte ปัจจุบัน ถ้าจะพูดถึงกฎหมายหลักที่ใช้บังคับอยู่ในบ้านเราซึ่งหลายต่อหลายคนคุ้นเคยกันดี ก็คงหนีไม่พ้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และประมวลกฎหมายอาญาประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย ประกาศใช้ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2466 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 หลังจากนั้นได้มีการแก้ไขอีกหลายครั้ง กระทั่งนับถึงปัจจุบัน เรามีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ใช้บังคับมาแล้วถึง 84 ปีส่วนประมวลกฎหมายอาญาฉบับแรกคือ กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2451) ประกาศใช้ครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 นับถึงบัดนี้เป็นเวลาเกือบหนึ่งร้อยปีถ้าดูแค่เพียงตัวเลข อาจรู้สึกว่าประวัติศาสตร์การบังคับใช้กฎหมายในบ้านเรามีความเป็นมาย้อนหลังกลับไปไม่ไกลเท่าไรนัก แค่เพียงหนึ่งชั่วอายุคนเท่านั้นแต่นั่นเป็นเพียงประวัติศาสตร์ของการมีกฎหมายขึ้นมาบังคับใช้อย่างเป็นสากลรูปธรรม หากมองกันตามข้อเท็จจริงแล้ว ประวัติศาสตร์กฎหมายไทยกลับมีความเป็นมาย้อนหลังไปไกลกว่านั้น จากหลักฐานที่พบเริ่มแรกตั้งแต่คัมภีร์พระธรรมศาสตร์สมัยสุโขทัย (พ.ศ. 1781) หรือประมาณ 700 กว่าปีล่วงมาแล้วตั้งแต่เมื่อ 700 ปีก่อน ระบบกฎหมายดั้งเดิมของไทยใช้หลักการตัดสินคดีความโดยอ้างอิงคำตัดสิน(พระบรมราชวินิจฉัย)เป็นหลัก แต่ปัจจุบันเราเดินอยู่บนเส้นทางของระบบกฎหมาย Civil Law ซึ่งเป็นหนี่งในสองระบบกฎหมายหลักของโลกCivil Law คืออะไร?การจะตอบคำถามนี้ได้ ต้องอธิบายถึงระบบกฎหมายหลักทั้งสองระบบเสียก่อนค่ะระบบกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในหลายประเทศทั่วโลกทุกวันนี้มีที่มาจากสองระบบกฎหมายหลัก นั่นคือ ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร (Civil Law) และระบบกฎหมายจารีตประเพณี (Common Law)ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร (Civil Law) มีวิวัฒนาการจากกฎหมายโรมัน ซึ่งภายหลังได้รับการฟื้นฟูขึ้นอีกครั้งในอิตาลี ระบบกฎหมายนี้ยึดถือหลักกฎหมายที่ได้จากจารีตประเพณีและตัวบทกฎหมายที่มีบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ตัวอย่างประเทศในยุโรปที่ใช้ระบบนี้ เช่น เยอรมัน ฝรั่งเศส สเปน ในเอเชีย เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น ไทย คำว่ายึดถือตัวบทกฎหมายที่มีบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร หมายความว่า ในการวินิจฉัยคดี ศาลจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาโดยยืนอยู่บนพื้นฐานของหลักกฎหมายตามที่มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายหรือพระราชบัญญัติเป็นหลัก โดยอาศัยการตีความกฎหมายเหล่านี้ซึ่งได้มีการเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร จากนั้นจึงนำหลักกฎหมายที่ได้มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับคดี ในระบบนี้อำนาจการออกกฎหมายขึ้นอยู่กับฝ่ายนิติบัญญัติ ศาลไม่มีอำนาจในการสร้างหลักกฎหมาย แต่มีสถานะเป็นเพียงผู้ใช้กฎหมาย นอกจากนี้ คำพิพากษาของศาลก็ไม่มีสถานะเป็นกฎหมาย เป็นแต่เพียงแนวทางในการวินิจฉัยคดีเท่านั้นระบบกฎหมายจารีตประเพณี (Common Law) ระบบนี้พัฒนาขึ้นในประเทศอังกฤษ นอกจากนี้ยังเป็นระบบที่ใช้อยู่ใน อเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ โดยมีวิวัฒนาการจากการที่ศาลในอังกฤษสมัยก่อนนำหลักเกณฑ์ในจารีตประเพณีมาเป็นมาตรฐานในการตัดสินคดี จากนั้นศาลที่ทำหน้าที่พิจารณาตัดสินคดีต่อๆ มาจึงได้ยึดถือคำพิพากษาของศาลในคดีก่อนหน้าเป็นบรรทัดฐาน เกิดเป็นหลักเกณฑ์ทางกฎหมายสืบต่อกันมาในระบบนี้ถือว่าผู้พิพากษาเป็นผู้ออกกฎหมาย (Judge made law) ด้วยเหตุนี้ ในระบบนี้จึงไม่มีการตรากฎหมายขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร แต่จะอาศัยเทียบเคียงหลักกฎหมายจากคำพิพากษาของศาลที่เคยตัดสินไว้ก่อนหน้า โดยในคดีที่มีข้อเท็จจริงเป็นอย่างเดียวกัน ศาลซึ่งทำหน้าที่วินิจฉัยในคดีหลังจะถูกผูกพันโดยคำพิพากษาของศาลที่ตัดสินไว้ก่อน (Stare decisis) อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีที่ยังไม่เคยมีคดีเกิดขึ้นมาก่อน ก็อาจมีการตรากฎหมายขึ้นมาใช้สำหรับกรณีนั้นๆ เป็นการเฉพาะได้ ระบบนี้ถือว่าคำพิพากษาของศาลมีสถานะเป็นกฎหมายในตัวเอง โดยหลักกฎหมายเหล่านั้นมีที่มาจากจารีตประเพณี ศาสนา คำพิพากษา หลักความยุติธรรม (equity) และความเห็นของนักกฎหมายสำหรับระบบกฎหมายของประเทศไทย ดังที่กล่าวไว้แล้วว่าเราใช้ระบบกฎหมายที่เรียกว่า "ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร" หรือระบบ Civil Law ค่ะเหตุใดไทยจึงใช้ระบบกฎหมาย Civil Law?สาเหตุหลักที่ไทยเลือกใช้ระบบกฎหมายแบบลายลักษณ์อักษร แทนที่จะใช้ระบบกฎหมายจารีตประเพณี เนื่องจากในสมัยรัชกาลที่ห้า ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เรากำลังมีการปฏิสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับชาติตะวันตก ปรากฏว่าพัฒนาการทางกฎหมายจารีตประเพณีของเราในยุคนั้นยังไม่อาจนำมาปรับใช้ใด้ทันกับกฎเกณฑ์และวิธีคิดแบบฝรั่ง ผลจากการสูญเสียอธิปไตยทางการศาลหรือการสูญเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้รัชกาลที่ห้าประกาศใช้ระบบกฎหมายแบบลายลักษณ์อักษร (Civil Law) ตามแบบฝรั่งเศส ญี่ปุ่น อังกฤษ และเยอรมัน ทั้งนี้ เพราะการตรากฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นการง่าย สะดวก ชัดเจน และรวดเร็วกว่าการรอให้เกิดวิวัฒนาการของกฎหมายจารีตประเพณีอันเกิดจากคำพิพากษาของศาลปัจจุบันเรามีประมวลกฎหมายใช้บังคับอยู่ 7 ฉบับ ได้แก่        1.  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์        2.  ประมวลกฎหมายอาญา        3.  ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง        4.  ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา        5. ประมวลกฎหมายที่ดิน        6.  ประมวลรัษฎากร        7.  ประมวลกฎหมายอาญาทหารประมวลกฎหมายเหล่านี้ออกโดยอาศัยอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ มีลำดับศักดิ์และกระบวนการจัดทำเช่นเดียวกับพระราชบัญญัติ ส่วนที่แตกต่างคือ ประมวลกฎหมายเป็นการนำหลักกฎหมายทั่วไปในหลายเรื่องมารวมบัญญัติไว้ในกฎหมายฉบับเดียวกัน โดยจัดแบ่งหมวดหมู่เพื่อให้ง่ายต่อการนำไปบังคับใช้ค่ะ
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
ตอนที่ 1 อุ่น อุ่น ที่บ้านแม่สถิตแดดผีตากผ้าอ้อมพาดเฉียงๆ ทำมุมเอียงๆ กับแกนโลกและหลังคาบ้าน ขับเน้นรวงข้าวสุกปลั่ง สมดั่งคำที่ว่า ทุ่งเอ๋ย ทุ่งรวงทอง, นั่นแหละครับ สิ่งที่ผมคิดภาพเอาไว้, เมื่อรุ่นน้องคนหนึ่งชวนผมพร้อมกับยื่นกำหนดการทัวร์บ้านอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรให้ดู“เออ น่าสนว่ะ”“ไปนะพี่ บอกแม่เอาไว้แล้ว” ในความหมายนี้ หมายถึง ความโอบเอื้อแบบอารมณ์คนชนบท...บ้านข่า ต.บ้านข่า อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม หนึ่งในเส้นทางของลำน้ำสงคราม ที่ วีระศักดิ์ จันทร์ส่องแสง นักเขียนแห่งค่ายนิตยสารสารคดี ให้ความหมายว่า “ป่าชายเลนน้ำจืดของแผ่นดินอิสาน”เราเดินทางไปด้วยกัน 6 ชีวิต จากกรุงเทพฯมหานครผ่านโคราช (นครราชสีมา), ขอนแก่น, มหาสารคาม, กาฬสินธุ์, ก่อนจะเช้าพอดิบพอดีในเขต จ.สกลนคร เมื่อสายตาปรับแสง จะมองเห็นวิวทิวทัศน์อันอลังการตามเส้นทางเรียบสันเขาภูพาน ก่อนมุ่งเข้าสู่นครพนม แหล่งราบลุ่มทางอารยธรรมหลากชนชาติริมน้ำโขง...เราเข้าหมู่บ้าน เมื่อแดดสายละลายความหนาวเย็นในฤดูหนาว,หนาว ในบางความหมายของอิสานเหนือ คือ หนาวแห้งๆหมู่บ้านข่าเป็นหมู่บ้านใหญ่มากๆ คะเนตามสายตา ไม่น่าจะต่ำไปกว่า 500 หลังคาเรือน คนที่นี่ใช้ภาษาโส้(กะโส้หรือกะโซ่)สื่อสาร เป็นลักษณะเฉพาะถิ่นคล้ายสำเนียงคนกูยหรือส่วย ส่วนชื่อหมู่บ้านข่าจะเกี่ยวข้องกับชาวข่าชนเผ่าโบราณในแถบนี้อย่างไรนั้น เรื่องนี้ ยังไม่มีใครทราบแน่ชัด...แม่สถิต แม่เฒ่าท่าทางใจดี ซื่อและเท่าทันโลก รอยยิ้มที่ออกจากดวงตาขับเน้นให้เห็นถึงร่องรอยแห่งประสบการณ์ ที่สำคัญ แกทำอาหารอิสานอร่อยที่สุดในโลก ขนมจีนน้ำยาป่า (แนวอิสาน) หมกหน่อไม้ หมกปลาช่อน ส้มตำ ลาบปลาดุก แนมด้วยผักใบเขียว ผักชีลาว แตงกวา ถั่วฝักยาวซอยบางกินกันลืมโลก!หลังจากเริ่มคุ้นเคยและเริ่มแซวกันได้อย่างไม่ถือโกรธ ระหว่างที่นั่งดูโฆษณาทางทีวีถึงการดำเนินการทางด้านนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์“เลือกตั้งคราวนี้แม่จะเลือกใคร” ผมเอ่ยแกคิด “ต้องดูหมู่เค้าก่อน คนที่นี่เค้าชอบไทยรักไทย” ที่วันนี้เปลี่ยนเป็นพลังประชาชนประมาณว่า รักแล้วรักเลย เกลียดแล้วเกลียดจริง“แต่คนนี้ก็ดูดีนะ” แกชี้ไปที่ตัวท่านหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์“แล้วคนกรุงเทพฯ ล่ะ เค้าจะเลือกใคร” แกเอ่ยบ้างผมคิด “ไม่แน่นอนหรอกครับแม่”ประมาณว่า พรรคไหนให้ประโยชน์ก็เฮไปข้างพรรคนั้น.แม่สถิต แม่ของรุ่นน้อง คนที่ทำขนมจีนน้ำยาสูตรบ้านข่าได้อร่อยที่สุดในโลกทุกๆ เช้า คนบ้านข่าจะออกมาตักบาตร ชนิดที่ไม่ต้องไปตักบาตรข้าวเหนียวกันที่หลวงพระบาง ขอย้ำว่า ทุกวันครับขนมจีนน้ำยาสูตรบ้านข่าที่อร่อยที่สุดในโลกขนมเบื้องเวียดนาม สูตรดั้งเดิมที่ไม่ค่อยมีให้เห็นมากนักทุ่งข้าวสีทอง รอเคียวมาเกี่ยวรวงเข้าหน้าหนาวชาวนาบ้านข่าจะเริ่มเก็บข้าวเข้าฉาง ที่นี่ยังมีการลงแรงกันให้เห็นนอกจากถนนกลางหมู่บ้านข่าจะเป็นของรถแล้วยังเป็นของ ...
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
หลังจากที่ จรัล มโนเพ็ชร ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่แห่งล้านนาได้จากไป เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2544 ตราบจนกระทั่งถึงวันนี้เป็นเวลา 6 ปีเต็ม ๆ ผมคิดว่านอกจากบทเพลงที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวามากมายหลายชุด ที่เขาทิ้งไว้เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมอันล้ำค่า ที่ทำให้เราคิดถึงถึงเขา ยามได้ยินบทเพลงของเขา ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่งแล้ว ยังมีสถานที่และผู้คนที่เคยเกี่ยวข้องผูกพันกับชีวิตของเขา บางสถานที่บางบุคคล ที่ทำให้เราคิดถึงเขา ยามได้ไปเยือนสถานที่แห่งนั้น และได้พบใครบางคนดังกล่าว เช่นร้านอาหาร สายหมอกกับดอกไม้ที่ตั้งอยู่ริมถนนเชียงใหม่ 700 ปี หน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ มีใครต่อใครมากมายหลายคนบอกผมเป็นเสียงเดียวกันว่า ยามได้มาเยือนสถานที่แห่งนี้แล้ว ทำให้คิดถึง คุณจรัล มโนเพ็ชร เหลือเกินซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่แปลก เพราะ สายหมอกกับดอกไม้ เป็นร้านอาหารที่คุณอันยา โพธิวัฒน์ คนรักของคุณจรัล ได้ร่วมมือร่วมใจกับคุณจรัลสร้างร้านนี้ขึ้นมาและเริ่มเปิดบริการอย่างเงียบ ๆ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2541 โดยมีเจตนาทำร้านที่มีลักษณะเป็นสวนอาหารขนาดย่อมนี้ เป็นที่ต้อนรับญาติสนิทมิตรสหาย ต่อมาเมื่อคุณจรัล มโนเพ็ชร ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะโยกย้ายจากกรุงเทพฯกลับคืนมาอยู่บ้านเกิด ได้บินจากกรุงเทพฯมาเล่นดนตรีประจำร้านนี้อาทิตย์ละ 2-3 วัน ตั้งแต่เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2543จนกระทั่งจากไปด้วยโรคปัจจุบัน ขณะกำลังเตรียมงานคอนเสิร์ต 25 ปี จรัล มโนเพ็ชร ที่บ้านดวงดอกไม้ ทุ่งหลวง จังหวัดลำพูน เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2544ร้านสายหมอกกับดอกไม้ จึงกลายเป็นสถานที่และผู้คนที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของศิลปินผู้ยิ่งใหญ่จากล้านนาที่จากไป นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาแน่ล่ะ หลังจากวันที่คุณจรัลจากไป ถึงแม้ว่าผู้คนจะค่อย ๆบางตาลง แต่คนที่รักและคิดถึงคุณจรัล ก็ยังคงมาเยี่ยมเยือนร้านนี้กันอยู่เสมอ ซึ่งก็ตรงกับใจของคุณอันยาเจ้าของร้าน ที่ไม่อยากเหน็ดเหนื่อยกับการรับแขกมากเกินไป เหมือนสมัยที่คุณจรัลยังมีชีวิตอยู่และมาเล่นดนตรีประจำที่ร้านนี้วันนี้ถ้าคุณย่างก้าวเข้าไปในบริเวณร้านสายหมอกกับดอกไม้ สิ่งแรกที่จะสะดุดตาคุณก็คือรูปปั้นครึ่งตัวของ คุณจรัล ฝีมือของคุณหงส์จร เสน่ห์งามเมือง ที่ตั้งอยู่บนแท่นสูงประมาณเมตรครึ่ง ใกล้ ๆ กับประตูทางเข้าร้านทางด้านขวามือและเมื่อเดินเข้าไปในร้านที่คุณจรัลออกแบบเป็นอาคารไม้หลังคาหน้าจั่วเชิงซ้อนแบบล้านนาประยุกต์ คุณก็จะพบภาพถ่ายของคุณจรัลในอิริยาบถต่าง ๆ ที่คุณอันยา ใส่กรอบแล้วนำมาติดไว้อย่างสวยงามตามซอกมุมต่าง ๆ ภายในร้าน เช่นเดียวกับเวทีที่คุณจรัลเคยมานั่งเล่นกีตาร์และร้องเพลง ก็ถูกจัดวางเอาไว้ในที่เดิมรวมทั้งข้าวของกระจุกกระจิกส่วนตัวและเทปเพลงของคุณจรัลในตู้โชว์ และหนังสือสองเล่มที่คุณอันยา เขียนถึงคุณจรัลเอาไว้อย่างงดงาม นั่นคือรักและคิดถึง จรัล มโนเพ็ชรและตามรอยฝัน จรัล มโนเพ็ชรจึงมิใช่เรื่องที่แปลกที่ร้านอาหารสายหมอกกับดอกไม้ จะเป็นสถานที่ที่ใครต่อใครหลายคนได้เข้ามาเยือนแล้ว จะพากันคิดถึง จรัล มโนเพ็ชร ศิลปินทระนงผู้ยิ่งใหญ่แห่งล้านนา โดยเฉพาะตัวผม ที่ได้ร่วมเล่นบนเวทีเล็ก ๆ ที่น่ารักและอบอุ่นร่วมกับคุณจรัล ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้ายที่สายหมอกกับดอกไม้ร้านสายหมอกกับดอกไม้ จึงเป็นสถานที่แห่งความคิดถึง จรัล มโนเพ็ชร ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง เพราะมันคือสถานที่แห่งความรักของเขา และอันยา โพธิวัฒน์ เธอผู้รู้จักตัวตนของเขาอย่างลึกซึ้ง ได้เขียนบทกวีบทหนึ่งไว้อาลัย แด่การจากไปของเขาเอาไว้ว่าดอกไม้ดอกเดียวของฉัน ดอกไม้ดอกเดียวของฉันเป็นนักกีตาร์เป็นนักร้องแสนดีเป็นนักแต่งเพลงแสนวิเศษคุณรู้ โลกก็รู้และตระหนักเขาเป็นนักกีตาร์ที่มีวิถีใช้นิ้วเป็นของตนเองสัมผัสเส้นสายบนเครื่องดนตรีที่ลี้ลับต่อการเรียนรู้มันเป็นศาสตร์ชนิดหนึ่งที่มีผู้เล่นเท่านั้นจะตระหนักได้ว่าจะนำทางไปสู่ทิศทางใดในโลกลี้ลับที่เปี่ยมมนต์ขลังจากเสียงเพียงประการเดียวนี่คือสิ่งที่ฉันเรียก...ศิลปะและเมื่อใครสักคนดุ่มเดินไปในวิถีที่ลี้ลับ ซึ่งรังสรรค์ขึ้นจากตัวตนของเขาเองนั่นคือ ศิลปินดอกไม้ของฉันอยู่กับฉันมาเนิ่นนานหลายปีนำกลิ่นหอมแสนหวานจากเสียงกังวานของกีตาร์มาสู่ฉัน ทั้งกลางวัน กลางคืนตลอดฤดูร้อน ฤดูฝน ฤดูหนาวฉันคงไม่อาจมอบตำแหน่งใดในโลกนี้ให้เขาได้นอกจาก...ศิลปินที่รักสุดหัวใจแด่ดอกไม้เมื่อเสียงนุ่มแผ่วจากดนตรีของเจ้าจางจากไปกังวานยังสะท้านอยู่ในความรู้สึกกลิ่นหอมของกุหลาบเหลืองแสนหวานที่โรยรายังอ้อยอิ่งอยู่ในอารมณ์ที่เร่งเร้าดอกไม้เจ้าเอย...เจ้าเป็นดอกไม้ดอกเดียวของฉันเมื่อกลีบของเจ้าร่วงหล่นทับถมลงบนดินบนฟูกของความตายเมื่อเธอจากไป ความรักจะปิดเปลือกตาลงและหลับสนิทอยู่ในนิทราเช่นเดียวกับร่างไร้ชีวิตซึ่งนิ่งสนิทอยู่ตรงหน้าฉันในห้วงนิทราของความตายเธอยังคงงดงามเช่นเดียวกับเด็กน้อยที่น่ารักด้วยน้ำตาและความเงียบ ฉันกล่าวอำลาเธอ.***อันยา โพธิวัฒน์ เขียนไว้ในหนังสือ แก้วก๊อล้านนา 13 พฤศจิกายน 2550กระท่อมทุ่งเสี้ยว เชียงใหม่
ชนกลุ่มน้อย
“ถ้าจะตาย  ใจสงบแล้วที่ได้เห็นแม่น้ำใหญ่”   ลุงเวยซา วัย 69 ปี  พูดกับพวกเรา แล้วทรุดตัวนั่งลงริมฝั่งแม่น้ำใหญ่สาละวิน  พึมพำเสียงเปรยสั่นเครือเหมือนลืมตัว “โข่โละโกร โข่โละโกร..”  ผมนึกว่าลุงจะตื่นตาตื่นใจไปตามประสา  แต่พอเห็นหลังมือป้ายตา  นิ่งเหม่อมองไกล  ผมถึงเข้าใจว่า นั่น ไม่ใช่เรื่องธรรมดาๆเสียแล้ว  นาทีต่อนาทีนับจากนั้น  ผมเห็นลุงเวยซายิ่งตัวเล็กลงเหลือเท่ากำปั้น  กลืนกลายเป็นเนื้อเดียวกับก้อนหินใหญ่ริมฝั่ง  เป็นหุ่นปั้นหินเปลือยกายท่อนบน  นุ่งเตี่ยวสะดอเก่าๆสะพายย่าม  เท้าเปลือย  และแทบมองไม่เห็นหนวดเคราขาวหรอมแหร็ม  กับเส้นผมแห้งแข็งเหมือนฟางข้าวเรามาถึงริมฝั่งแม่น้ำตอนเที่ยงคืนกว่าๆ  ผมเหลือบเห็นผิวน้ำเลื่อมมันวาวสะท้อนแสงจันทร์เสี้ยว  อย่างผิวหนังสัตว์เกล็ดงูยักษ์เคลื่อนผ่านหน้าไป   ห้าคนอัดแน่นอยู่บนรถจิ๊ปสีเทารุ่นสงครามโลก  พะเลอโดะเป็นคนขับ  ผมนั่งเคียงคู่  ลุงเวยซานั่งข้างหลัง   ส่วนอีกสองคน ซอมีญอกับกะฌอดูราวหลอมแบนราบเป็นเนื้อเดียวกับพื้นรถผมมาถึงฝั่งโข่โละโกรเป็นครั้งแรก  เหมือนลุงเวยซา  ซอมีญอกับกะฌอเขาคุ้นเคยเป็นอย่างดี  พะเลอโดะเป็นผู้นำทาง  เขาเข้าออกโข่โละโกรอย่างกับบ้านหลังที่สอง  เขาบอกว่า  เขามากี่ครั้งก็ไม่เคยรู้สึกเบื่อ  โข่โละโกรมีเรื่องใหม่ๆ ผ่านเข้ามาทุกวัน  ไม่ต่างกับการมาถึงของพวกเรา   แสงไฟรถฉายไปยังบ้านไม้แต่ละหลังที่ปิดประตู  ปิดไฟเปล่าเปลี่ยวอยู่ในความมืด  ราวกับโบกี้รถไฟไม้เก่าทิ้งร้าง  ไม่มีหัว ไม่รู้ท้าย  ปล่อยเลยตามเลยไว้ริมแม่น้ำ  อย่างกับรอวันคืนอัศจรรย์ผ่านมาชุบชีวิตให้มันตื่นขึ้นเคลื่อนไหวได้อีกครั้ง  แล้ววิ่งเลียบแม่น้ำไปเยี่ยงจักรกลโบราณที่ไม่คาดหวังว่าจะมีสิ่งมีชีวิตตื่นขึ้นมาขอโดยสารหรือไม่   เสียงรถยามวิกาลไม่ได้ทำให้ผู้คนที่อาศัยอยู่ในโบกี้ไม้แตกตื่น  พะเลอโดะบอกว่า เว้นแต่พวกทหารที่คอยดมกลิ่นกลางคืน  นอกนั้นไม่มีใครอยากรู้หรอกว่าเป็นใครมาทำอะไร  ผู้คนแถบนี้คุ้นเคยกับคนเข้าคนออก  เท็จจริงใดๆ ดูไร้ประโยชน์   บรรยากาศชีวิตแถบนี้ปกคลุมด้วยความเท็จมากกว่าความจริง  ความสงสัยใดๆไม่ได้นำพาไปสู่ความเคร่งครัดในสิ่งคาดหวังใหม่ๆ ผมรับรู้เรื่องราวโข่โละโกรอันจำกัด   ส่วนหนึ่งมาจากพะเลอโดะ  เล่าเพียงว่าชุมชนคนพลัดถิ่นเกิดขึ้นมากลางสนามรบ  เพราะผลพวงจากสงครามเชื้อชาติบนแผ่นดินพม่า  หนีการสู้รบข้ามน้ำโข่โละโกรมาตั้งบ้านอยู่สุดขอบพรมแดน  ให้พอมีพื้นที่ดำรงชีพกันไปได้  แต่ดูเหมือนชีวิตไม่ง่ายเถรตรงอย่างแนวเขตปันแดน  อิทธิพลของนักรบกะเหรี่ยงยังแผ่ขยายมาถึงคนหนีมาสุดแนวเขตจนได้    ใครไม่มีลูกชายส่งไปออกรบ  ก็ต้องส่งส่วยไปอุดหนุน     พันธะทางสายเลือด  พรมแดนไม่อาจปิดกั้นกันไหลทะลักไปหากัน  วันดีคืนดีของลุงเวยซา  ก็มีคนแปลกหน้าพร้อมอาวุธเข้ามาถึงบ้าน  ขอพริกขอข้าวสาร  มีอยู่เท่าไหร่ก็ต้องเอาให้เขาไป   ลุงเวยซาบอกว่า พวกนี้เป็นผีโข่โละโกร แฝงตัวมากับกลางคืน  เคลื่อนไหวมาตามป่าเขาอย่างเงียบกริบ  ไม่มีใครรู้ว่าพวกนี้มาจากที่ใด  จะไปไหน  แต่ลุงเวยซารู้ผ่านพ่อแม่บอกต่อกันมา  ว่าดินแดนนั้นเหมือนถูกสาปอยู่หลังแม่น้ำโข่โละโกร  ที่นั่น เต็มไปด้วยนักรบที่พร้อมจะห้ำหั่นใส่กันได้ทุกเมื่อ    วัยวันลุงเวยซาผ่านไป 69 ปี  ไม่เคยสักครั้งที่คิดจะเดินไปยังดินแดนนั้น  หรือไปให้ถึงฝั่งน้ำโข่โละโกรสักครั้ง   ลุงเชื่อฝังใจว่าที่นั่นเต็มไปด้วยพวกผีโข่โละโกร  ไม่เชื่อฟังเหตุผลใดๆ   ถ้าถูกจับไปเป็นลูกหาบแบกกระสุนปืนเมื่อไหร่  อย่าหวังว่าจะได้กลับออกมาง่ายๆ  “พระเจ้าให้เป็นอย่างนั้น” ลุงเวยซาบอก  พะเลอโดะกลับหัวเราะ  แล้วพูดออกไปว่า  พระเจ้าอยู่ในเรานี่แหละ.. พะตี
ภู เชียงดาว
  เมื่อนั่งอยู่ในความเงียบ ในสวนบนเนินเขายามเช้าตรู่ เพ่งดูหมอกขาวคลี่คลุมดงดอยอยู่เบื้องหน้า ทุ่งนาเบื้องล่างลิบๆ นั้นเริ่มแปรเปลี่ยนสี จากทุ่งข้าวสีเขียวสดกลายเป็นสีเหลืองทองรอการเก็บเกี่ยว ใช่, ใครต่อใครเมื่อเห็นภาพเหล่านี้ คงรู้สึกชื่นชมภาพอันสดชื่นรื่นรมย์กันแบบนี้ทุกคนทว่าจริงๆ แล้ว พอค้นให้ลึกลงไป ก็จะพบว่า ในความงามนั้นมีความทุกข์ซุกซ่อนอยู่ให้รับรู้สึก เมื่อนึกถึงภาพเก่าๆ ของหมู่บ้าน ผ่านไปไม่กี่สิบปี  จะมองเห็นได้เลยว่าหมู่บ้านเกิดของผมมีความแปลกเปลี่ยนไปอย่างเร็วและแรง อย่างไม่น่าเชื่อ“ตอนนี้ อะหยังๆ มันก่อเปลี่ยนไปหมดแล้ว...” เสียงใครคนหนึ่งบ่นเหมือนรำพึงจริงสิ, อะไรๆ ก็ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว บทเพลงชาวนาชาวสวนที่เคยขับร้อง จึงไม่เพราะเหมือนแต่ก่อน...    เมื่อความแปลกเปลี่ยนกำลังไหลเลื่อนเคลื่อนคลุมหมู่บ้าน ปกคลุมหัวใจของผู้คนทุกลมหายใจเข้าออกคิดแล้ว  น่าใจหายเมื่อมองเห็นภาพชาวบ้าน ญาติพี่น้องของผมแบกกระเป๋าเดินทยอยออกจากหมู่บ้านไปทำงานต่างแดนกันอย่างต่อเนื่อง “ตอนนี้ ถ้านับจำนวนทั้งคนหนุ่ม คนเฒ่าคนแก่ที่ออกไปยะก๋านข้างนอก คงเกือบสองร้อยคนแล้วมั่ง...” เสียงพี่สาวบอกเล่าให้ฟังเป็นการเดินออกไปทำงานรับจ้างต่างบ้านต่างเมือง ในขณะที่รัฐบาลโหมโฆษณาผ่านเสียงตามสาย ผ่านโทรทัศน์ เน้นย้ำอยู่อย่างนั้น...พอเพียง พอเพียง ซึ่งมันช่างสวนกระแสและรู้สึกขมขื่นเสียจริงๆทำไม...ทำไม ผู้คนถึงต้องออกจากหมู่บ้าน...หลายคนคงแอบตั้งคำถามกันแบบนี้ แต่กระนั้น คงมีอีกหลายคนที่รู้สึกเฉยชา และปล่อยให้มันเป็นไป ปล่อยให้ชะตากรรมเป็นฝ่ายตัดสินใครหลายคนบ่นว่า ต้องโทษ ธกส.ต้องโทษนักการเมือง รัฐบาลเก่าที่สร้างหนี้ให้ชาวบ้าน ในขณะที่หลายคนก็บอกว่า ต้องโทษตัวเราเอง ที่ไปเอาเงินมาใช้ แต่ไม่มีปัญญาใช้คืน แน่นอน พวกเขาถึงละทิ้งผืนแผ่นดินเกิด ปล่อยให้นาข้าวไร้คนเกี่ยว สวนเปลี่ยว ไร่รกร้าง แบกกระเป๋าเข้าเมือง เพียงเพื่อมุ่งหาเงิน เร่งหามาใช้หนี้ เพื่อปลดทุกข์และความเครียดที่รุมเร้าทำให้นึกไปถึงถ้อยคำของหลานชาย ที่บอกเล่าความรู้สึก ในวันที่ต้องไปเที่ยวหาคนงานที่เป็นชนเผ่าจากหมู่บ้านใกล้เคียงมารับจ้าง รับเหมาเกี่ยวข้าวภายในทุ่งนาของตน “...ท้องทุ่งในวันนี้ช่างเงียบเหงา ถึงแม้จะมีผู้คนมาช่วยผมเกี่ยวข้าว แต่เป็นคนที่ไม่รู้จักเลยซักคน เสียงต่างๆที่คุ้นเคย ก็เงียบขาดหายไป เพราะอะไร ?...” ฟ้าครึ้ม พายุพัดพาเมฆฝนหล่นโปรยลงมาในสวนบนเนินเขาอีกครั้ง...ผมหยิบหนังสือ “จากห้วงลึก” ของ “พจนา จันทรสันติ” ออกมาอ่านอยู่เงียบๆ ลำพัง...“...ความเปลี่ยนแปลงจากวิถีชีวิตแบบบุพกาล มาสู่วิถีชีวิตแบบโลกสมัยใหม่ อาจกินเวลาเพียงลัดนิ้วมือเดียว เมื่อเทียบกับการสั่งสมอารยธรรมทางจิตวิญญาณ ซึ่งต้องกินเวลานานนับพันๆ ปี จากการหยั่งเห็นของคนรุ่นแล้วรุ่นเล่า สืบทอดจากครูคนแล้วคนเล่า สั่งสมขึ้นเป็นประสบการณ์ภายในอันล้ำลึกซึ่งความรอบรู้และบทบาทหน้าที่ของมนุษย์ได้รับการตอบรับยืนยันจากสรรพสิ่งในจักรวาล กว่าที่มนุษย์จะเงี่ยโสตสดับฟัง จนได้ยินกระแสเสียงของพระผู้สร้าง หรือต้นกำเนิดของตน กว่าที่มนุษย์จะขัดเกลาตนเองให้ละเอียด จนถึงขั้นที่สามารถรับคลื่นสัญญาณความหมายต่างๆ ของธรรมชาติ ช่างแตกต่างกันไกลจากเสียงของวิทยุ โทรทัศน์ ซึ่งง่าย ทว่าผิวเผินกว่ามากนัก และมนุษย์อาจใช้เวลาไม่มากเลย ที่จะได้ยินกระแสเสียงของเงินและเทคโนโลยี ซึ่งได้กลายมาเป็นพระเจ้า กลายเป็นศาสนาในยุคใหม่ของตนด้วยและเสียงของพระเจ้าองค์ใหม่นี้ ย่อมดังกึกก้องกว่า ชัดเจนกว่า และง่ายที่จะได้ยินด้วย ทว่าผู้คนที่เดินติดตามไป ก็คงจะได้ค้นพบด้วยตนเองในไม่ช้าว่า ตนได้มีความสุขแท้จริงละหรือ จะค้นพบว่าอะไรคือสวรรค์และคือนรก และพบว่าอะไรจริงอะไรเท็จ และตรงปลายทางสายนั้นคือมรรคผลอันไพบูลย์เต็มเปี่ยม หรือว่าคือหายนะของทั้งหมด...”“จากห้วงลึก” “พจนา จันทรสันติ” เขียน ผมนิ่งอ่านแล้วครุ่นคิดไปต่างๆ นานา...จริงสิ, ไม่ว่าในเมืองหรือชนบท ผู้คนต่างล้วนเอาชีวิตไปวางอยู่กับเงิน เอาเงินเป็นตัวตั้ง ในขณะที่สังคมนับวันยิ่งซับซ้อน ยุ่งเหยิง หมักหมมและเลวร้ายขึ้นทุกวัน และก็อดนึกถึงผู้คนพี่น้องของผมที่ละทิ้งบ้านเกิดไปไม่ได้ว่า ป่านนี้พวกเขาออกไปเผชิญชีวิตในเมืองใหญ่ ในต่างจังหวัด ในเกาะแก่งทะเล ทางภาคใต้ในขณะนี้ ไม่รู้ว่าพวกเขามีชีวิตความเป็นอยู่กันอย่างไรบ้าง และจะเอาตัวรอดกลับคืนมาสู่ถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเองได้หรือไม่...ความรู้สึกของผมในยามนี้ เหมือนกับที่ “ถนอม ไชยวงษ์แก้ว”เขียนบันทึกไว้ในคอลัมน์ใน www.prachatai.com ตอนหนึ่งที่บอกว่า...Life is shortThe world is roughIf you want to live saveYou have to be tough ชีวิตนี้สั้นโลกนี้เลวร้ายหากคุณต้องการจะอยู่อย่างปลอดภัยคุณต้องแข็งแกร่งพอ. หมายเหตุ : ภาพประกอบโดย “ดอกเสี้ยวขาว” http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=jintanakarn82&month=10-2007&date=09&group=11&gblog=3
วาดวลี
ผู้หญิงคนนั้นกำลังฉุน ส่วนหญิงสาวอีกคนในชุดกระโปรงสีชมพู มีท่าทางไม่สบายใจอารมณ์ขุ่นเคืองปะทุในแดดระอุของยามบ่าย  ขณะนั้น  ฉันฝ่าไอร้อนมาจอดรถหน้าร้านค้าของนวลเมื่อวานนี้ฉันขอให้เธอช่วยรื้อลังเก่าๆ ใบใหญ่ๆ ไว้ให้  เพื่อซื้อไปใส่ของขนย้ายบ้านนวลกำลังยุ่ง ยกมือปาดเหงื่อบนหน้าผาก แต่ก็ยังมีแก่ใจกระซิบบอกด้วยเสียงอ่อนโยนเช่นเคย“รอหน่อยนะ แม่กำลังหาลังใบใหญ่ให้ ไม่ได้ลืม เดี๋ยวคงเอาลงมา”“แม่เหรอ?”ฉันทวนคำ นวลกำลังพูดถึงใครกันนะ ก็เธอจากบ้านมาไกลจากพม่า มาทำงานในร้านขายของชำ ทุกทีนวลเรียกเจ้าของร้านผู้ชายว่า เฮีย และเรียกพี่ผู้หญิงว่า เจ๊ ฉันยังไม่ได้ถาม แต่เธอคงจะดูแววตาออก เธออมยิ้ม แล้วบอกว่าเดี๋ยวมา จากนั้นก็ปราดไปยังผู้หญิงวัยกลางคนที่ยืนพัดเหงื่ออยู่หน้าร้านนอกจากใบหน้าบึ้งตึงแล้ว ก็ยังมีแววตาหงุดหงิดบนโต๊ะคิดเงิน  ประกอบด้วยแป้ง 1 กระป๋อง แชมพู น้ำมันหอย และผงชูรสถุงใหญ่ นวลกำลังจะคิดเงินให้เธอ แต่กลับปรากฏว่ารถเก๋งคันใหญ่ใหม่เอี่ยม จอดเทียบร้านระดับชิดทางเดินเข้าออก“ไฮเนเก้น 2 ขวด น้ำแข็ง 5 บาท ขอด่วน”เขาตะโกนเข้ามาโดยไม่ดับเครื่องยนต์ นวลจึงต้องปราดเข้าไปหยิบของให้ลูกค้าท่านนี้เสียก่อน รถคันใหญ่คับร้าน ชวนให้เกิดบรรยากาศเร่งเร้าอย่างบอกไม่ถูก“เจ๊รอแป๊บนะ” นวลหันไปบอกผู้หญิงหน้าฉุนคนนั้น เธอไม่สบตาเขา แต่อีกฝ่ายจ้องเขม็ง นวลคงรู้ตัวดี ทำให้พี่คนนั้นต้องรอ เธอพยายามจัดการลูกค้าในรถคันใหญ่ให้เสร็จก่อนทั้งวิ่ง ทั้งเดิน หยิบของใส่ถุง วิ่งไปส่ง รับเงินกลับมา วิ่งหาเงินทอน สิ่งที่นวลทำนั้นคงเป็นการลดน้ำหนักได้อย่างดี เพราะจากสาวน้อยร่างอวบ ผิวหน้าเปล่งปลั่งในวัยไม่ถึงยี่สิบปี ตอนนี้นวลผอมลง มีรูปทรงโค้งเว้า แต่งตัวทันสมัยกว่าเดิมมาก ครั้งหนึ่งเคยเอ่ยปากชมว่า ชุดนวลสวยจัง เธอก็ตอบด้วยใบหน้าอิ่มเอิบว่า“เขาบริจาคมาทั้งนั้นแหละ”ไม่มีถ้อยคำใดแสดงถึงความน้อยเนื้อต่ำใจ มีแต่ความปรีดาที่ได้เสื้อผ้าแบบใหม่ ทั้งยังไม่ต้องเสียเงิน พี่ผู้หญิงเจ้าของร้านนั่นเองที่คอยคัดเสื้อผ้าเหลือใช้มาให้ นวลใส่แล้วก็แทบจะสลัดคราบของสาวพม่าออกไปเกือบหมด เพราะนวลหน้าตาน่ารัก ขาดแต่ก็ไม่ได้แต่งหน้าทาปากแบบสาววัยรุ่นทั่วไปนวลอาจจะคิดแบบนั้นหรือไม่ ฉันไม่รู้  รู้เพียงแต่ว่าสำหรับบางคนแล้ว สิ่งที่นวลเป็น ไม่เคยสลัดออกไปได้ในทัศนคติของเขาผู้หญิงหน้าฉุนคนนั้น เอื้อมมือไปคว้าถุงพลาสติกขึ้นมา เขาจัดการคลี่ปากถุง แล้วหย่อนข้าวของที่เลือกลงไป ขณะใส่ถุงเขาก็คิดเลขไปด้วย คิดออกมาดังๆ แล้วบวกเลขอย่างรวดเร็ว ฉันในฐานะผู้รอคอยจึงยืนมองไปด้วยใจที่คิดว่า ก็ดีเหมือนกันนะ ที่ลูกค้าจะหยิบของใส่ถุงเอง จะได้แบ่งเบาภาระนวลไปได้อีกทางหนึ่งแต่แท้จริงก็กลับไม่ใช่ เมื่อเธอพูดออกมาดังๆ ว่า“ทำงานชักช้าจริง  หยิบใส่ถุงเองแล้วนะ”น้ำเสียงนั้นห้วนสั้น อย่างคนหัวเสียทั่วไป นวลตะลีตะลานปราดเข้าไปหาทันทีที่จัดการธุระให้เจ้าของรถคันโตเสร็จเรียบร้อยแล้ว“โทษทีค่ะพี่ วันนี้ยุ่งจริงๆ” นวลเอ่ยปากพร้อมใบหน้าที่เต็มไปด้วยเม็ดเหงื่อ“นี่นะของที่ซื้อ...”หญิงรุ่นใหญ่ขยายปากถุง ชี้นิ้วไปที่ข้าวของทีละอย่าง คำนวณด้วยความชำนาญ“แป้ง 12 แชมพู 15 ผงชูรส 15 น้ำมันหอย 22 รวมเป็น 48 บาท อ่ะ เอาเงินไป”พูดเสร็จก็โยนแบงค์ 20 ออกมา 2 ใบ พร้อมเหรียญอีก 8 บาท เศษเหรียญเหล่านั้นกลิ้งหลุนๆ ไปตามโต๊ะ โดยมีนวลต้องคอยตะปบเก็บจากนั้น นวลปราดสายตามองข้าวของ แล้วเอื้อมไปคว้าเครื่องคิดเลข “เอ่อ นวลขอคิดอีกรอบนะ”  ว่าแล้วก็คิดใหม่ “แป้ง 12 แชมพู 15 ผงชูรส 15 น้ำมันหอย 22 รวมแล้วมัน 64 บาทค่ะ”ความรำคาญในสายตาถูกทอดโปรยไปยังนวล มองออกว่าเธอไม่พอใจนักหนา จากนั้นก็คว้าเงินกลับไปกำไว้ อีกมือก็ล้วงแบงค์จากกระเป๋ากางเกง“อ่ะ งั้นก็เอาไป”เธอโยนเงินลงไป แม้รู้ว่ามันไม่มีน้ำหนักมากพอที่จะทาบลงกับผืนโต๊ะแบงค์สีแดงร่วงปลิวลงพื้น นวลรีบก้มลงไปเก็บ ใบหน้าเธอแทบจะชิดที่เท้าของเขาคนนั้นเงยหน้าขึ้นมา ขยับจะกดเครื่องคิดเลขเพื่อคิดเงินทอน  เสียงดังอันห้วนสั้นและเต็มไปด้วยความฉุนเฉียวก็ดังไปทั่วร้าน“แบงค์ร้อยบาท ซื้อ 64 ก็ทอน 36 ไงเธอ เอาแบงค์ยี่สิบมา 1 ใบ เหรียญสิบบาท 1 เหรียญ เหรียญบาทอีก 6  บาท! แค่นี้คิดไม่ออกหรือไง! ”ฉันเพิ่งตระหนักในตอนนั้น ว่าความโกรธขึ้งนั้นร้อนกว่าแสงแดด การดูถูกนั้นหนาวกว่าสายฝน นวลพาใบหน้ายับๆ เดินกลับเข้าไปเอาเงินทอนจากด้านในร้าน เดินออกมายื่นให้ ผลก็คือคนรับกระชากไปแรงๆ เป็นฉากที่เห็นบ่อยๆ ในละครไทย แต่ไม่คิดว่านี่เป็นชีวิตจริง จากคนบ้านใกล้เรือนเคียง ในเมื่อคนซื้อของคนนั้น ก็เป็นคนขายลาบอยู่ไม่ไกลจากร้านนวลเท่าไหร่นัก“ลังเก่าๆ รอแป๊บนะ เดี๋ยวนวลไปตามแม่ให้ว่าได้หรือยัง”เธอส่งเสียงผ่านออกมาจากริมฝีปากที่สั่นระริก ฉันจึงเอื้อมมือไปแตะเบาๆ ที่แขนของเธอทีหนึ่ง“ไม่ต้องรีบก็ได้นวล พักก่อน ท่าทางจะเหนื่อยมากนะนี่”“ฮื่อ” นวลตอบแค่นั้น แล้วก็ส่ายสายตาไปมา ดูว่าเหลือใครยืนรออีกไหม หรือมีอะไรค้างอยู่ ทุกวินาทีของเธอมีค่าในเวลารีบเร่ง แต่เมื่อเห็นว่าลูกค้าไปหมดแล้ว นวลก็ยืนถอนหายใจ เอื้อมมือเช็ดเหงื่อที่ไหลลงมาแตะพวงแก้มสีชมพูระเรื่อ พลางหางตาก็ยังแลไปทางคนที่เพิ่งจากไปตะกี้นี้จับได้ว่ามือของเธอดูจะยังสั่นๆ “แล้วตะกี้บอก แม่ไปเอาลัง คือแม่ใครหรือ” ฉันเปลี่ยนเรื่องถามอย่างเกรงใจ หากนวลไม่ตอบก็ไม่ได้สำคัญอะไร นวลเอี้ยวตัวแทนคำพูด เรียกฉันเบาๆ“มานี่”ฉันเดินตามต้อยๆ ไป ยังคูหาที่อยู่ติดกัน ประตูเหล็กม้วนถูกเปิดขึ้นเพียงเล็กน้อย เป็นช่องเล็กๆ ที่พอจะมุดเข้าไปได้นวลตะโกนเรียกดังๆ “แม่” ครู่หนึ่ง หญิงวัยกลางคนก็มุดออกจากโกดังมาพร้อมกล่องกระดาษที่ฉันสั่งเอาไว้ มองเห็นใบหน้าและรูปร่าง เขาคล้ายคลึงกับนวลแต่ก็ยังดูสาว“นี่ไงแม่นวล”“เอ่อ หมายถึงแม่จริงๆ มาจากโน่นเหรอ”“ใช่” นวลตอบเสียงดังฟังชัด แววตาเริ่มมีความสดชื่นขึ้นมาแทนที่“นวลพาแม่มาทำงานด้วย เฮียขาดคนเช็คสต๊อก ตอนนี้ไม่เหงาแล้ว”“ดีจัง”ฉันพูดเผื่อแผ่ไปยังเจ้าของร้านด้วย ที่กรุณาเธอทั้งสองแม่ลูก ฉันเอ่ยสวัสดีคนเป็นแม่พร้อมรอยยิ้ม เธอมีแววตากลัวๆ แต่ก็ยิ้มตอบมาอย่างดี“งั้นเดี๋ยวพี่ไปก่อนนะ ค่ากล่องที่ให้เมื่อวานพอใช่ไหม”“พอจ้ะพี่” นวลตอบ แล้วปล่อยให้ฉันหยิบกล่องเหล่านั้นเพื่อเดินเอาไปใส่ที่รถแต่ก่อนจะก้าวขาออกมา มือแข็งๆ ของนวลก็เอื้อมมาแตะที่แขน “เดี๋ยว...นวลอยากถาม...ว่า...”น้ำเสียงนั้นกลับมาเป็นเหมือนเดิม แบบที่ฉันเคยเห็นเมื่อแรกเจอกัน เด็กน้อยในโลกแปลกหน้า มือของเธอสั่นๆ เบาๆ“...อยากถามว่า คนตะกี้ที่เขาตะคอกกับขว้างเงินใส่นวล เขาทำเพราะเขารอนานหรือ...เพราะว่านวลเป็นพม่า...”คำถามนั้นทำเอาฉันตอบอะไรไม่ถูก จึงได้แค่บอกไปว่า“เขาคงโมโหมาจากบ้านมั้งนวล ช่างมันเถอะ อย่าไปคิดมาก ต้องเจอคนแปลกๆ อยู่แล้วนินา”นวลคลายมือ ก่อนจะพยักหน้าฉันเป็นฝ่ายแตะแขนเธอกลับ จากนั้นก็ลากกล่องใบโตอุ้มเดินออกมาวูบนั้น เมื่อหันกลับไปอีกครั้ง ในเปลวแดดที่ยังไม่ลดลา เหมือนจะเห็นบางอย่างอยู่ในดวงตาคู่นั้นสิ่งที่เรียกว่าน้ำตา.
กอแก้ว วงศ์พันธุ์
มีโอกาสต้อนรับเพื่อนชาวอินโดนีเซียที่มาเยือนเมืองไทยเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา  หลังจากที่เธอเสร็จสิ้นภารกิจการงานในกรุงเทพมหานคร ที่ได้รับมอบหมายจากที่ทำงานแล้ว เธอก็บินตรงไปยังภูเก็ต และแวะเยี่ยมเยือนผู้เขียนที่พังงา ขอเรียกเธอสั้นๆ ว่า ทีน่า เธอเป็นลูกครึ่งจีน-อินโดนีเซีย ทำงานเป็นเลขานุการ  ที่สถานทูตสหรัฐอเมริกา ประจำอินโดนีเซีย แม้ร่างกายจะไม่สมบูรณ์แต่เธอก็ได้รับโอกาส ให้ทำงานในตำแหน่งหน้าที่สำคัญของสถานทูต เธอแสดงให้เห็นว่า ร่างกายไม่ใช่อุปสรรคของการทำงานและขาดความคล่องตัวแต่อย่างใด ตลอดเวลาสิบกว่าปีในการทำงาน เธอได้รับมอบหมายให้ไปดูงานต่างแดนหลายประเทศ เช่น อียิปต์ สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ประเทศไทย ฯลฯ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการทำงานของเธอ  ทีน่า กับเพื่อนๆ เคยถามเธอว่า สังเกตจากสิ่งแวดล้อมที่กรุงจาการ์ตาและอีกหลายเมืองในอินโดนีเซีย ไม่ว่าจะเป็นห้องน้ำสาธารณะ รถประจำทางสาธารณะ ห้างสรรพสินค้า หรือสถานที่สาธารณะต่างๆ แม้แต่ส่วนราชการ ไม่ได้ให้ความสำคัญและเอื้ออำนวยต่อคนพิการหรือร่างกายไม่สมบูรณ์เลย เพราะไม่มีเครื่องมือใดๆ ช่วยเหลือและบริการสำหรับคนพิการ  แล้วเธออดทนได้อย่างไรมาเป็นเวลาเกือบ 50 ปี เธอยอมรับว่า รัฐบาลไม่ให้ความสำคัญกับกลุ่มคนพิการ ซึ่งคงต้องรณรงค์และกดดันให้รัฐบาลเห็นความสำคัญต่อปัญหานี้ อินโดนีเซียยังถือว่าเป็นประเทศที่ยากจน ปัญหาสำคัญของอินโดนีเซียตอนนี้คือ การพยายามกำจัดปัญหาคอรัปชั่น ซึ่งเป็นปัญหามหึมาของประเทศ หากกำจัดคอรัปชั่นไม่ได้ ประเทศจะไม่มีทางไปรอด เธอบอกว่า การคอรัปชั่นของอินโดนีเซียเป็นการคอรัปชั่นแบบไม่มียางอาย ที่เธอรับไม่ได้เอาเสียเลยก็คือ เงินบริจาคช่วยเหลือเหตุการณ์สึนามิ ที่ระดับรัฐมนตรีกระทรวงหนึ่งประกาศในสื่อเลยว่า เงินบริจาคของชาวต่างชาติ ให้โอนเข้าบัญชีธนาคารของเขา เพื่อที่เขาจะนำไปช่วยเหลือชาวอาเจะห์ด้วยตนเอง เธอมองว่านอกจากจะแสดงให้เห็นถึงการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ไม่ได้เรื่องแล้ว นักการเมืองเหล่านี้ยังดูแคลนสติปัญญาคนอินโดนีเซีย นึกว่าประชาชนไม่รู้ว่านักการเมืองคอรัปชั่นขนาดไหน นี่ไม่ใช่ยุคปิดหูปิดตาประชาชนเหมือนในอดีต เธอบอกว่าอย่างนั้น  นี่คือปัญหาของอินโดนีเซีย  เธอเป็นประชาชนธรรมดาที่ไม่ฝักใฝ่เรื่องทางการเมืองแม้จะเป็นกลุ่มการเมืองทางเลือกก็ไม่สนใจ ความจริงแล้ว ภาคประชาชนของอินโดนีเซีย หรือ เอ็นจีโอของเขาเข้มแข็งมาก พยายามตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่น และการละเมิดสิทธิมนุษยชนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันอย่างแข็งขัน เมื่อแข็งมาก แรงกดของฝ่ายอำนาจก็มากเป็นลำดับเช่นกัน คนทำงานเอ็นจีโอด้านสิทธิมนุษยชน คนสำคัญของอินโดนีเซียได้สังเวยความกลัวการตรวจสอบเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนของฝ่ายอำนาจมาแล้วหนึ่งราย (ในยุคประชาธิปไตย) คือ Munir เขาเสียชีวิตด้วยยาพิษ เมื่อครั้งที่เขานั่งเครื่องบินไปต่างประเทศ ซึ่งจะนำเรื่องราวของเขามาให้อ่านในตอนต่อไป ทีน่ากับเพื่อน ศราวุธ ประทุมราชสำหรับทีนา สิ่งที่เธอทำได้ในการแก้ปัญหาให้กับตัวเองแบบคนธรรมดาสามัญ คือ ให้กำลังใจตนเอง และครอบครัวเป็นกำลังใจสำคัญในการดำรงอยู่ เธอสามารถช่วยเหลือตัวเองได้เกือบเท่าๆ กับคนที่มีร่างกายสมบูรณ์ แต่ใช้กำลังมากกว่าเกือบสองเท่า ใจเธอสู้แม้ผู้เขียนยังทึ่ง เพราะสิ่งที่เธอเรียกร้องในการท่องเที่ยวพังงาครั้งนี้คือ พายเรือแคนู ซึ่งเธอว่ายน้ำไม่ได้ เธออยากเห็นป่าเมืองไทย แต่ผู้เขียนจนใจ ยอมแพ้เรื่องศักยภาพของคนนำเที่ยว (คือผู้เขียนเอง) มากกว่า เพราะกลัวจะพาเธอไปไม่รอด เลยได้แค่ขี่ช้างท่องป่า สบายขึ้นมาหน่อย และลงเรือแคนูพร้อมกับเธอ แม้มันล่มก็ยังมีฝีพายและเสื้อชูชีพพยุงกันไปได้  แม้บางเวลาเธอจะอ่อนแออย่างเห็นได้ชัด แต่ก็พยายามรบกวนคนอื่นแต่เพียงเล็กน้อย ช่วงที่อยู่อินโดนีเซีย เธอแสดงน้ำใจในความเป็นเจ้าบ้าน คอยแนะนำให้ความเห็นเรื่องวัฒนธรรมประเพณีของอินโดนีเซีย เธอเป็นนักอ่าน และชอบเรียนรู้ สังเกตจากความรอบรู้ของการตอบคำถามของเพื่อนต่างบ้านต่างเมือง เพื่อนๆ ก็ได้รับความคิดเห็นในมุมแปลกใหม่ของเธอ ในเรื่องความแตกต่างทางวัฒนธรรมของแต่ละภาคของอินโดนีเซีย แถมยังมีตัวอย่างให้ได้ปฏิบัติกันจริงด้วย ด้วยการพาพรรคพวกไปพิสูจน์วัฒนธรรมเรื่องอาหารการกินของคนจีนผสมวัฒนธรรมซูดาน ซึ่งเป็นพื้นที่แถบตะวันตกของอินโดนีเซีย โดยฝีมือคุณแม่ของเธอ ที่บ้านในเมืองโบโกร์ เมืองเดียวกับสถานที่ตั้งที่พักของประธานาธิบดีอินโดนีเซีย  ซึ่งห่างจากจาการ์ตาราว 54 กิโลเมตร นับเป็นอาหารที่สุดแสนอร่อยมื้อหนึ่งสำหรับพวกเรา  อาหารมื้อที่อร่อยที่สุดมื้อหนึ่งทีน่าเป็นความทรงจำที่ดีจากอินโดนีเซีย นั่นคือ ความเป็นคนอินโดนีเซียที่น่ารักและมีน้ำใจ “ผู้คนน่ารัก” ไม่ได้มีแต่ในบ้านเรา แต่มีทุกหนทุกแห่งในโลก โดยเฉพาะคนหาเช้ากินค่ำและผู้คนในชนบททุกแห่งหนที่ผู้เขียนได้พบเจอ  ภาษาไม่ได้เป็นอุปสรรคที่จะเห็นการกระทำด้านดีและมีเมตตาของมนุษย์ ผู้เขียนทำการบ้านเรื่องภาษาอินโดไปน้อย พูดได้งูๆ ปลาๆ เช่น  ซายา เมา เปอกี บันดุง (แปลว่า ฉันต้องการจะไปบันดุง) ชาวบ้านเห็นว่า คงได้แค่นี้มั้ง ทั้งชาวบ้านและคนขับรถในหมู่บ้านชายแดนเมืองบันดุงจึงรุมช่วยเหลือ ช่วยกันโบกรถประจำทาง แถมกำชับคนขับให้ไปส่งให้ถึงเมืองบันดุง (น่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะเขาคุยกับคนขับแล้วชี้มือชี้ไม้มาทางผู้เขียน) วันนั้นก็กลับถึงที่หมายอย่างปลอดภัย  อีกครั้งหนึ่งในใจกลางเมืองบันดุง ซึ่งผู้เขียนได้รับการเตือนมาว่า อย่าใช้บริการแท็กซี่ ฉะนั้นจึงเลือกใช้บริการรถสองแถว ซึ่งแน่นขนัด และท่ามกลางความมืดมิดของราตรีนั้น ผู้เขียนกลับได้รับแสงสว่างจากน้ำใจคนขับและชาวบ้านที่โดยสารมาด้วยกัน เนื่องจากผู้เขียนต้องต่อรถอีกทอดไปยังโรงแรมที่พัก แต่สถานที่รอรถนั้นไฟฟ้าสลัวๆ น่ากลัวมาก ชาวบ้านที่อยู่บนรถต่างส่งภาษาที่ผู้เขียนไม่ทราบว่าพูดอะไร แต่คนขับรถพาผู้เขียนมายืนรอที่ป้ายรอรถ แถมยังรอนานถึง 20 นาที โดยที่ผู้โดยสารไม่มีใครบ่นสักคำ จนกระทั่งรถอีกคันมาถึง คนขับจึงบอกให้ขึ้นรถ และไปช่วยกำชับกับคนขับคันที่ผู้เขียนนั่งให้ไปส่งที่โรงแรมในนามบัตรที่ผู้เขียนส่งให้เขาดูก่อนหน้านี้ ผู้เขียนจึงได้ทราบว่า ทุกคนยอมเสียเวลาเพราะเมตตาคนต่างถิ่นต่างภาษาที่ต้องรอรถในเวลาค่ำมืดเพียงลำพัง เป็นเรื่องที่ซาบซึ้งใจอย่างมากภาษาท้องถิ่นเป็นสิ่งสำคัญในการเข้าถึงชีวิตและวัฒนธรรมของผู้คน ซึ่งต้องตระหนักแต่ประสบการณ์ของผู้เขียน “ภาษากาย” และ “ภาษาใจ” ก็สำคัญไม่น้อย หมายถึงการมีท่าทีและความจริงใจต่อสิ่งที่อยู่ตรงหน้า เป็นเรื่องที่สร้างไมตรีต่อกันได้เช่นกัน วันนี้ทีน่าคงมีความสุขกับครอบครัว และขึ้นรถไฟจากที่บ้านซึ่งห่างจากที่ทำงานถึง 54 กิโล ไป - กลับทุกวัน ร่างกายที่ไม่เอื้ออำนวยไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานและการมีน้ำใจต่อคนอื่นเลย
กิตติพันธ์ กันจินะ
ในสภาวการณ์ใกล้มรสุมช่วงนี้, คนสูงวัยมากมายเหล่านั้นต่างขะมักเขม้นทั้งกายและใจ กับการหาเสียงเพื่อให้ได้มาซึ่งคะแนนเสียงเพื่อการเข้าร่วมหรือจัดตั้งทางการเมืองครั้งใหม่อย่างสุดกำลังตัวเสริมที่พวกเขานำมาป่าวประกาศเพื่อให้ประชาชนเลือกนั้นคือ “นโยบาย” ของแต่ละพรรค (ไม่รวมปัจจัยอื่นๆ ที่มีอิทธิพลมาเกี่ยวข้อง – ซึ่งมีมากจนไม่อาจกล่าวในที่นี่ได้) เช่นนี้แล้วเรามาดูกันที่นโยบายของพรรคการเมืองกันดีกว่าว่าได้กล่าวไว้อย่างไรบ้าง ก่อนที่จะเลือกหรือไม่เลือกใคร หลายนโยบายของพรรคการเมืองต่างมุ่งเน้นไปที่การปฏิรูปทางการเมือง โดยเฉพาะการมุ่งหวังไม่ให้อำนาจเก่าได้กลับมามีอำนาจอีกและยังมีนโยบายต่างๆ ที่เน้นทางด้านเศรษฐกิจ ค่าเงิน เป็นตัวจักรสำคัญมากกว่าการดำเนินการนโยบายทางด้านสังคมโดยเฉพาะเรื่องของเด็กและเยาวชนหากนับระยะเวลาให้หลังไปไม่กี่เดือนหรืออาจเป็นปีกว่าๆ (ที่จริงมันมีทุกวันและครับ) ที่สถานการณ์ของวัยรุ่นนั้นได้ถูกมองว่าเป็นสถานการณ์เด่นทางสังคมที่คนวิพากษ์วิจารณ์ถึงมากที่สุด ทั้งเรื่องการใช้ชีวิตทั่วไป จนถึงวิถีชีวิตทางเพศ ซึ่งปรากฏการณ์ต่างๆ เหล่านี้ เยาวชนล้วนแต่ถูกมองว่าเป็น “ปัญหา” และเป็น “วิกฤต” สังคมอยู่เสมอ จนทำให้หลายฝ่ายออกมาให้การตอบรับในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง (และทำตามกระแสแบบผ่านๆ)ดังรูปธรรมหนึ่ง ที่รัฐบาลได้ประกาศวาระแห่งชาติด้านเด็กและเยาวชน 5 ด้าน เมื่อต้นปี 2550 ได้แก่ หนึ่ง ด้านการสร้างสื่อสร้างสรรค์สำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว สองด้านกลไกกิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชนในสถานศึกษาและนอกสถานศึกษา สามด้านสถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และโรงเรียนอนุบาลที่มีคุณภาพ สี่ด้านการสร้างจังหวัดน่าอยู่สำหรับเด็กและเยาวชน และห้าด้านกฎหมายครอบครัวการดำเนินการตามวาระแห่งชาติดังกล่าว ที่ผ่านมาภาครัฐได้ประสานความร่วมมือกับภาคเอกชน และแกนนำเยาวชน เพื่อดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ชุดรัฐประหาร) นี้ และยังมีทิศทางว่าจะดำเนินได้ดีต่อไปในอนาคต หากมีการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ทว่า แนวโน้มที่บ่งชี้ว่า วาระแห่งชาติด้านเด็กและเยาวชนทั้งห้าเรื่องนี้จะได้รับการสานต่อจากรัฐบาลชุดใหม่หรือไม่นั้น เราอาจต้องศึกษาถึงนโยบายด้านเด็กและเยาวชนของพรรคการเมืองต่างๆ ที่กำลังจะเข้าสู่ถนนแห่งการเลือกตั้งอีกไม่กี่วันนี้ แต่ขอโทษครับ, พรรคการเมืองทั้งหลายแหล่ไม่มีนโยบายที่กล่าวถึงด้านเด็กและเยาวชนโดยตรงเลยแม้แต่นิด ทว่าพวกเขายังมุ่งนโยบายประชานิยม (แบบใหม่-ที่เขาบอกว่าไม่เหมือนทักษิณ) นโยบายลด แลก แจกแถมเพื่อให้พรรคการเมืองของตนได้รับเลือกเข้าสู่อำนาจทางการเมืองนโยบายพรรคการเมืองต่างๆ เหล่านี้กำลังบอกถึงอนาคตของการเมือง-สังคม และโดยเฉพาะอนาคตของการพัฒนาเด็กและเยาวชน ซึ่งปัจจุบันมีเยาวชนถึง 25% ของประชากรทั้งประเทศ แต่ไร้ซึ่งผู้ใหญ่ พรรคการเมือง ที่สนใจ ตระหนักในการส่งเสริม สนับสนุนด้านเด็กและเยาวชนอย่างแท้จริงที่ผ่านมา บทเรียนการทำงานกับภาครัฐ พบว่า “เมื่อผู้บริหารเปลี่ยน นโยบายก็จะเปลี่ยน” นั่นหมายถึงนโยบายเยาวชนที่ถูกผลักดันได้ดีนั้นเกิดจากการที่ผู้บริหารของรัฐบาลมีความสนใจ ตระหนักในการป้องกันและแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้อง แต่พอเปลี่ยนผู้บริหารคนใหม่แล้วนโยบายกลับหันเหเป็นเรื่องอื่นแทน แล้วในที่สุดก็ไม่มีใครสานต่อนโยบายเดิม (ที่ทำได้เพียงนิดเดียว) อีกต่อไป จนผลสุดท้าย งานหรือนโยบายนั้นๆ ก็ไม่ได้ดำเนินการต่อ เพียงเพราะนักการเมืองที่อยู่ในรัฐบาลเหล่านั้นมัวแต่เล่น “เก้าอี้ดนตรี” จนลืมไปว่ามีเด็กและเยาวชนหลายคนมุ่งให้นโยบายนั้นๆ ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดหาย แต่ยังไงเสียกรณีเยี่ยงนี้นั้นย่อมสะท้อนถึงความคิด-ทัศนคติ-ความใส่ใจ ต่อเรื่องเด็กและเยาวชนของคนการเมืองได้เป็นอย่างดีมาถึง ณ ตรงนี้ ผมคิดว่าพรรคการเมืองต่างๆ ต้องกำหนดนโยบายด้านเด็กและเยาวชนให้ชัดเจนเลยว่ามีอะไร อย่างไร และเมื่อเป็นรัฐบาลแล้วจะทำอะไรเพื่อเด็กและเยาวชนบ้าง นอกจากจะรอให้มีกระแสก่นด่า วิพากษ์เยาวชนทีหนึ่งก็ค่อยสนใจทีหนึ่ง ตามทฤษฎี “วัวหายล้อมคอก” ที่พวกท่านๆ ชำนาญหรือหากพรรคการเมืองใด คิดนโยบายด้านเด็กและเยาวชนไม่ออก ผมเสนอว่าลองให้โอกาสเยาวชนได้เข้าไปเสนอ-แสดงความคิดเห็นบ้างเถิดว่าพวกเราเยาวชนต้องการอะไรและอยากให้รัฐบาลชุดต่อไปผลักดันเรื่องไหนบ้างหากพรรคการเมืองไหนคิดว่าเรื่องเด็กและเยาวชนนั้นไม่จำเป็น ก็ไม่เป็นไรครับ, เพราะผมเชื่อแน่ว่าพอเลือกตั้งเสร็จ - พอมีกระแสปัญหาเยาวชน – พอมีคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ - เหมือนเมื่อปีที่แล้วและหลายปีที่ผ่านมาที่ผู้ใหญ่มักชอบทำด้วยอ้างความชอบธรรมนั้นแล้ว พวกเขาคนสูงวัยเหล่านั้น, พรรคการเมืองที่เตรียมลงสนามเลือกตั้งวันนี้ ก็จะสนใจใคร่ตระหนักเรื่องเด็กและเยาวชนขึ้นมาในบัดดล...

แท็กล่าสุด

แท็กยอดนิยม