บล็อก

เศรษฐศาสตร์รายสะดวก by 1001ii

เรื่องหุ้น ธุรกิจ เศรษฐกิจ เศรษฐศาสตร์ และเรื่องเงินๆ ทองๆ อาจเป็นยาขมสำหรับคนไม่ชอบตัวเลขหรือไม่มีพื้นฐานความรู้ทางด้านนี้ แต่ถ้าเข้าไปที่ http://1001ii.wordpress.com อาจเปลี่ยนใจไปเลย เพราะจะได้อะไรดีๆ เป็นอาหารสมองกลับมาให้คิดต่อกันอีกเพียบ

จากที่จั่วหัวว่าเป็น 'บล็อกเล็กๆ ว่าด้วยเรื่องเศรษฐศาสตร์และธุรกิจ' ตามด้วยพื้นที่โฆษณาหนังสือ (เผื่อใครสนใจจะไปซื้อหามาอ่าน) แต่บทความของ 'นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์' เจ้าของผลงานหนังสือเศรษฐศาสตร์อ่าน (เข้าใจ) ง่ายหลายต่อหลายเล่ม ถูกโพสต์ให้อ่านกันฟรีๆ ในบล็อกแห่งนี้

แม้ว่าจะอุดมไปด้วยศัพท์เทคนิค อาทิ Short Call Options, Externality, Purchasing-Power Parity ฯลฯ ก็อย่าเพิ่งถอดใจ ค่อยๆ อ่าน ค่อยๆ เล็มไปทีละนิดจะพบว่า เรื่องเศรษฐศาสตร์ร้อยแปดพันเก้าเหล่านี้ น่าสนใจและใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด

ถ้าใครอยากรู้ว่า 'โทรศัพท์กับโลกร้อน' เกี่ยวกับภาวะgศรษฐกิจอย่างไร, ราคา Big Mac จากทั่วโลกบอกอะไรให้ผู้บริโภครู้บ้าง หรือแม้กระทั่งว่า ชายลึกลับผู้ไม่ต้องออกไปทำงานทุกวันคนนั้นประกอบอาชีพอะไร คลิกเข้าไปอ่านบล็อกช่างคิดแห่งนี้ รับรองไม่ผิดหวัง!

ก้อนอิฐแด่เผด็จการ

พงษ์พันธุ์ ชุ่มใจ

 

26 กันยายน 2550

ย่านพระเจดีย์สุเล, กรุงย่างกุ้ง

 

 

 

ภาพที่เห็นคือ...

ประชาชนหลายพันคนออกมายืนเต็มถนนย่านพระเจดีย์สุเล ซึ่งเป็นย่านกลางเมือง โดยไม่ไกลนักมีกองกำลังรักษาความมั่นคงพม่าตั้งแถวอยู่เบื้องหน้า ป้องกันไม่ให้ประชาชนเข้าใกล้พระเจดีย์แห่งนี้

"เราต้องการประชาธิปไตย" ชายวัยกลางคนผู้หนึ่งกล่าว

"รัฐบาลนี้อันตรายโคตรๆ" ชายอีกคนหนึ่งกล่าว

ประชาชนส่วนหนึ่ง พยายามต่อสู้กับทหาร ทหารที่มีทั้งโล่ กระบอง แก๊สน้ำตา กระทั่งปืน โดยประชาชนพยายามขว้างอิฐ ขว้างหิน เข้าใส่แถวแนวของทหารพวกนั้น

ก้อนแล้ว ก้อนเล่า ... ถูกทุบเป็นก้อนย่อมๆ

ก้อนแล้ว ก้อนเล่า ... ถูกขว้างสุดแรงเกิด ใส่แถวแนวทหาร

ก้อนแล้ว ก้อนเล่า ... ทำได้เพียงตกแทบปลายตีน คงเพียงสร้างความรำคาญให้ทหารราบทหารเลวเหล่านั้น หาได้ระคายเคืองต่อระบอบทหารไม่!

ชายหนุ่มคนหนึ่งจึงละความพยายามจากการขว้างปาก้อนหิน เปลี่ยนเป็นยืนหันหลังให้แถวแนวของทหาร ... แล้วถลกโสร่งของตัวเองขึ้น!!! ... ก่อนสะบัดตูดให้แถวแนวทหารเหล่านั้น

เช่นเคย ... หาได้ระคายเคืองต่อแถวแนวทหารเหล่านั้นไม่ คงได้เพียงความสะใจปลอบประโลมชายหนุ่มคนนั้น และผู้ยืนปรบมือเชียร์

"เราขอประกาศห้ามรวมตัวกันมากกว่า 5 คน ขอให้กลับบ้านใครบ้านมันภายใน 10 นาที" เสียงจากรถขยายเสียงของทหารพม่า เตือนผู้ชุมนุม

แถวแนวทหารเหล่านั้น กระชับขึ้น มุ่งตรงมายังประชาชน พวกเขาใช้ไม้กระบอง ตีโล่เป็นจังหวะ ตุบ ตุบ ตุบ ... .... .... ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ

ประชาชนทำอะไรไม่ได้มากไปกว่า ขว้างปาอิฐเข้าใส่ป้อมตำรวจเล็กๆ แถวนั้น

ภาพที่เห็นคือชายสอง-สามคน ลองขว้างก้อนหินใส่แถวแนวทหารที่กำลังตบเท้าใกล้เข้ามาๆ

ขวางได้เพียงสอง-สามก้อน เสียงปืนนัดแรกก็ดังขึ้น ผู้คนหนีกระจาย

เสียงปืนนัดต่อไปดังขึ้น นัดแล้ว นัดเล่า

วิ่ง วิ่ง วิ่ง วิ่ง และวิ่ง ผู้คนวิ่งอย่างไม่คิดชีวิต

บิน บิน บิน บิน และบิน อุปมาดั่งพิราบเหล่านั้น บินเพื่อเอาชีวิตรอด บินเพื่อฝันถึงประชาธิปไตยบทใหม่ในพม่า ซึ่งคงเกิดขึ้นในแผ่นดินนี้สักวัน

แต่ไม่ทันที่จะได้อย่างใจหวัง พิราบถูกยิงปีกหักร่วงลงมา จบชีวิตเสรี ณ ตรงนั้น ย่านพระเจดีย์สุเล!

 

000

 

26 กันยายน 2550

วัดพระมหาเจดีย์ชเวดากอง, กรุงย่างกุ้ง

 

 

 

 

ภาพที่เห็นคือ...

พระสงฆ์และประชาชนหลายร้อยคน ตั้งแถวประจันหน้ากับปลายทหารซึ่งอยู่ตรงหน้า ซึ่งปลายกระบอกปืนนั้นหันมาทางพระสงฆ์และประชาชนเหล่านั้น ...

พระสงฆ์นั่งลง และไหว้ทหารเหล่านั้น พระสงฆ์บางรูปก็ประกาศด้วยโทรโข่งร้องขอสันติภาพ

แต่ไม่เป็นผล ทหารตบเท้าเข้าหาพระสงฆ์และประชาชนเหล่านั้น จากนั้น ... เสียงกระบองทุบตีผู้คน ดังไปทั่วบริเวณ

ชายคนหนึ่งถูกทหารไม่ต่ำกว่าสองนาย ทั้งถีบทั้งตีด้วยกระบอง ก่อนที่ทหารนายหนึ่งจะถีบสุดแรงตีนจนชายคนนั้นคว่ำลง แล้วทหารก็เหยียบหลังของเขาเอาไว้

ทั้งพระทั้งคน ถ้าโชคดีไม่ถูกทหารยื้อยุดฉุดลากขึ้นรถบรรทุกเสียก่อน ก็หนีอย่างไม่คิดชีวิตด้วยการปีนกำแพงวัด แล้วเข้าไปหลบในเขตอภัยทานนั้น

เมื่อหลบได้แล้ว พระเณรบางรูปก็หาทางตอบแทน ด้วยการขว้างก้อนหินเข้าใส่ทหารเหล่านั้น ซึ่งก็ทำให้ทหารถอยไม่เป็นกระบวนชั่วขณะหนึ่ง แต่แล้วทหารเหล่านั้นก็โต้กลับด้วยแก๊สน้ำตา และระดมขว้างก้อนหินกลับคืน

ขบวนพระสงฆ์และประชาชนแตกกระจัดกระจายอีกครั้งหนึ่ง

 

000

 

 

ภาพที่เห็นคือ...

ผู้ประท้วงหายไปจากท้องถนน เหลือแต่ทหารพร้อมปืนประจำกาย ประจำการอยู่เต็มจุดสำคัญๆ ในกรุงย่างกุ้ง

"การประท้วงจบแล้วหรือ หรือมันจะเกิดขึ้นอีก?" คำถามลอยมาตามกระแสลม

"ประชาชนไม่ชอบรัฐบาล แต่เราไม่มีกำลัง เราไม่มีอาวุธ ... เราจึงไม่มีอิสรภาพ" คนขับรถประจำทางในกรุงย่างกุ้งกล่าว

"ทหารเป็นนักฆ่า พวกเขาฆ่าพระ ช่างโหดร้ายนัก แย่มาก แย่ที่สุดในโลก" ชายอีกคนที่กำลังกินดื่มอยู่ใต้แผงขายอาหารริมทางกล่าว

"เราไม่ลืมเด็ดขาด และเราจะไม่ยอมแพ้" เขากล่าว

 

000

นายโทนี่ เบิร์ทลีย์

 

ภาพที่เห็นทั้งหลายนั้น...

เป็นผลงานถ่ายทำของ นายโทนี่ เบิร์ทลีย์ (Tony Birthly) เพื่อเป็นสารคดี Inside Myanmar: The Crackdown ให้กับสำนักข่าวอัลจาซีรา โดยออกอากาศครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ที่ผ่านมา

สำหรับสารคดีดังกล่าว เขาใช้เวลากว่าสองสัปดาห์ในพม่า เพื่อบันทึกภาพการชุมนุมประท้วงรัฐบาลทหารพม่า โดยเขาเป็นผู้สื่อข่าวต่างประเทศเพียงไม่กี่คน ที่รายงานข่าวผ่านกล้องที่เขาซ่อนเอาไว้ ท่ามกลางการปราบปรามประชาชนของรัฐบาลทหารพม่า

สิ่งที่ติดตาผมก็คือ ความพยายามของประชาชนพม่าที่ต่อสู้กับเผด็จการโดยใช้สันติวิธีมาตลอด กระทั่งเมื่อคู่ต่อสู้ตรงหน้าถือปืน และมุ่งเอาชีวิตประชาชน พวกเขาความพยายามอย่างยิ่งยวดที่สุด ที่เขาจะต้านทานทหารเหล่านั้นเอาไว้ ก็เพียงแค่เศษอิฐ เศษหิน ซึ่งอำนาจทำลายล้างย่อมเทียบไม่ติดกับ รัฐบาลทหารที่เพียบพร้อมด้วยแสนยานุภาพและครองเมืองมายาวนานเกือบ 50 ปี

แต่เพียงแค่ก้อนหินของประชาชน รัฐบาลทหารพม่า (รวมถึงรัฐบาลทหารที่ไหนก็ตามในโลก) ก็มีข้ออ้างเพียงพอแล้ว ที่จะปราบปรามประชาชนของตนเอง โดยอ้างผ่านกระบอกเสียงของรัฐบาล ทั้งสถานีโทรทัศน์ MRTV หรือหนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ว่า ผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรงก่อน และนี่แค่เป็นการเตือน!!

นี่เองสะท้อนว่า รัฐบาลเผด็จการไม่ว่าที่ใดในโลก แค่ประชาชนถือก้อนอิฐ พวกเขาก็เห็นเป็น ศัตรูของชาติ' ซึ่งพวกเขาต้องกวาดล้างให้สิ้นด้วยแสนยานุภาพที่เขามี

เราจึงไม่อาจไว้ใจคณะลิเกเผด็จการชุดไหนได้เลย การปล่อยให้เผด็จการเป็นเจ้า การใช้วิธีนอกกฎหมายด้วยหวังขจัดวิกฤตการเมือง จึงเป็นการตัดสินใจที่ผิด ประชาชนพม่าซึ่งประสบเคราะห์กรรมกับรัฐบาลทหารมาตั้งแต่ พ.ศ.2505 กระทั่งปัจจุบัน เป็นตัวอย่างอันดี สำหรับประเทศไทย ที่หลายหน้าหลายตา ยอมปูทางให้คณะนายทหารเข้ามาครองเมือง พากันตบเท้าเข้าบ้านหลายเสาของใครบางคนก่อนวันรัฐประหารไม่กี่วัน

ซึ่งการแก้วิกฤตการเมืองเช่นนี้ ไม่เพียงแต่จะคิดผิด แต่ได้ทำให้ประชาชนร่วมชาติพลอยตกหล่ม ถอยหลังลงคลอง ด้วยการนำพาของ คณะลิเกเผด็จการ' มาปีกว่าอีกด้วย และไม่แน่ว่ามีเลือกตั้งแล้ว พวกเขาจะไม่ยอมลงโรงไปง่ายๆ

การรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 จึงเป็นการดูถูกจาบจ้วงล่วงเกินประชาชนร่วมชาติอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน!!

เราไม่ควรแม้แต่จะปูทางให้คณะลิเกเผด็จการ คมช.' ยึดอำนาจด้วยซ้ำ ไม่ใช่เขาขอปล้นประชาธิปไตย 1 ปี ก็โร่หอบลูกจูงหลานไปมอบข้าวมอบน้ำ จะเห็นได้ว่าทุกวันนี้เสียข้าวสุกสิ้นดี เพราะเกิน 1 ปีมา 1 เดือนกับอีกสองวันแล้ว แทนที่พวกจะสำนึกว่าหมดเวลา แล้ว พวกก็ยังลั่นว่าจะสืบทอดอำนาจ ด้วยคุณธรรม'!!

ก้อนอิฐเท่านั้นที่เหมาะกับคณะลิเกเผด็จการพวกนั้น

พระเอกลิเก คณะลิเก ผู้ทรงคุณธรรมทั้งหลาย ... รับก้อนอิฐ ก้อนหิน สักก้อนสองก้อนไหมขอรับ

 

ที่มาของฉากในเรื่อง และภาพประกอบบทความ

Inside Myanmar: The Crackdown, Aljazeera, OCTOBER 09, 2007, http://english.aljazeera.net/NR/exeres/A0A81AA6-DACD-4913-AB67-AA8602962EAB.htm

 

ชมสารคดีได้ที่นี่:

Inside Myanmar: The Crackdown โดย Aljazeera

ตอนที่ 1 ความยาว 12.45 นาที

 

Inside Myanmar: The Crackdown โดย Aljazeera

ตอนที่ 2 ความยาว 10.07 นาที

 


 

 

ข้อมูลประกอบเพิ่มเติม

ชมคลิปวิดีโอพระสงฆ์-ประชาชนประท้วงกลางกรุงย่างกุ้ง 26 ก.ย. ก่อนถูกทหารพม่าปราบ, ประชาไท, 27 ก.ย. 2550 http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=9690&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai

 

Nine killed as Myanmar junta cracks down on protests, AFP, Sep 26, 2007

http://afp.google.com/article/ALeqM5jkMCKEq7yPbP20x3UjDZH9DbaJIQ

 

Politics of Burma, From Wikipedia, the free encyclopedia

http://en.wikipedia.org/wiki/Politics_of_Burma

เบื่อลำน้ำเฮาไปแอ่วดอย

วันนี้พาไปเดินเล่นในดอยกับพญาช้างสารอันแสนน่ารัก ด้วยการทำตัวเป็นนักท่องเที่ยวไปกับแพ็คเก็จทัวร์ของปางช้างแม่ตะมาน สนนราคา 1000 บาทสำหรับคนไทย และ 1500 บาทสำหรับชาวต่างชาติ

ออกจากเมืองเชียงใหม่แปดโมงครึ่ง ไปถึงที่นั่นราวเก้าโมงกว่า ๆ ไปเล่นกับช้างน้อยใหญ่ พาช้างไปอาบน้ำ ช้างเป็นสัตว์ขี้ร้อน แต่ช้างที่นี่ดูมีความสุข เพราะมีลำน้ำแม่ตะมานที่กว้างพอสมควรให้ช้างอาบน้ำทุกวัน ดูเหล่าช้างเล่นน้ำกันสนุกสนาน มีพ่นน้ำใส่คนที่ยืนเชียร์อยู่บนฝั่งด้วย ก่อนจะพากันขึ้นจากน้ำมาตีระฆัง เชิญธงชาติ ทำกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเป่าเม้าท์ออแกน เตะฟุตบอล นวดให้ควาญ และเดินสวนสนาม

ดูไปดูมาฉันเห็นช้างยิ้ม

ดูช้างโชว์เสร็จก็ถึงเวลาอันน่าตื่นเต้นเล็กน้อยสำหรับฉัน ที่ทำใจมาแล้ว เคยมาแล้วก็อดกลัวไม่ได้ ช่วงเวลาบนหลังช้างค่ะ พยายามนึกว่าคนขี่หลังเสือลงยากกว่าหลังช้าง ซึ่งแม้จะตัวใหญ่แต่ก็เดินช้า ๆ ทว่ามั่นคง ช้างที่ฉันนั่งชื่อบุญมี อายุ 40 ปี เป็นช้างพัง ฉันทักทายบุญมีเพราะอายุใกล้เคียงกัน ขี่ช้างต้องทำตัวโยกเยกไปตามจังหวะการเคลื่อนของช้าง เวลาลงเนินก็หวาดเสียวนิด ๆ แต่ก็มั่นใจในตีนช้าง

ช้างตัวใหญ่ แต่ใช้ทางเดินแคบ ๆ ไม่เหมือนคนตัวเล็กแต่สร้างถนนกินบ้านกินเมืองมากมาย

ควาญเล่าว่า ช้างเป็นสัตว์ขี้เหงา ต้องอยู่กับคน ความคิดว่าจะสร้างสถานที่แล้วนำช้างเป็นร้อยเชือกมารวมกันไว้โดยไม่มีควาญ แล้วสร้างกำแพงล้อม เหนือกำแพงเป็นร้านอาหารให้คนนั่งดื่มกินดูช้าง เป็นความคิดที่ไม่รู้จักช้าง

นั่งอยู่บนหลังช้างชมนกชมไม้อยู่ในป่า ขึ้นเขาลงห้วยด้วยทางของช้าง นึกถึงคนโบราณเวลาเขาเดินทางในป่าไปกันอย่างนี้นี่เอง จบจากทางช้างที่ห้างนาแห่งหนึ่ง ต่อด้วยเกวียนเทียมวัวอีกสักสิบนาที ผ่านกลางหมู่บ้าน กลับเข้าสู่ปางช้าง กินอาหารกลางวัน (อาหารธรรมดา ๆ แต่อร่อย) แวะชมแกลอรีภาพเขียนของช้างจากทั่วโลก จิบกาแฟยามบ่ายริมน้ำแม่ตะมาน ก่อนลงแพล่องไปตามลำน้ำแม่ตะมาน ไปขึ้นที่ท่าแพโดยมีรถมารอรับกลับเชียงใหม่

กลางสายน้ำยามบ่ายมีเพียงความเงียบสงบ เสียงลม เสียงน้ำไหล คลื่นน้ำ กิ่งไม้แห้ง ป่าเขียว นกสีฟ้าบินผ่านหน้า คนถ่อแพชี้ให้ดู

บางครั้งการมาคนเดียวก็ทำให้ได้ยินเสียงที่ไม่ค่อยได้ยิน
...เสียงของตัวเอง

picture
ศิลปินช้าง

picture
ตบหัวแปะ ๆ

picture
อ้อมกอดที่แสนอบอุ่น

picture
นวดให้ควาญ

picture
ช้างเป่าเม้าท์ออแกน

picture
ช้างยิ้ม

picture
ช่วงเวลาอันแสนสุข

picture
เส้นทางช้าง

picture
ควาญช้างที่นี่ส่วนใหญ่เป็นช่างภาพด้วย แต่ควาญคนนี้เด็ดมาก กลับหลังหันถ่ายรูป แจ๋วจริง ๆ

picture
อยากมีเพื่อนแบบนี้บ้าง

picture
อุเหม่ เจ้าไก่น้อย วิ่งไปวิ่งมากลางดงตีนช้าง

แม่นไหมไม่ทราบ 20-26 ต.ค. 2550

“น้ำใจให้น้องปิ่น”
เด็กหญิงพิการที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ทุกคนในครอบครัวยังมีความหวังและมองโลกในแง่ดีเสมอ อ่านเรื่องของน้องปิ่นกับแม่ได้ที่นี่
สนับสนุนเงินทุนช่วยเหลือตามกำลังศรัทธาได้ที่
หมายเลขบัญชี 05-3405-20-093267-0
น.ส.สีไวย คำดา เพื่อ ด.ญ.วรัญญา ฟินิวัตร์
ธ ออมสิน สาขามหาวิทยาลัยเชียงใหม่

“สมทบทุนค่าอาหารและรักษาพยาบาลหมาแมวพิการ ป่วยไข้ ถูกทอดทิ้ง ตามกำลังศรัทธา”
เลขที่บัญชี 1210101483
น.ส. นันท์ธนัตถ์ จิตประภัสสร
ธ กรุงไทย สาขาบางบัวทอง

หรือจะส่งเป็นอาหารหมาแมวก็ได้ค่ะ ที่
97 หมู่ 2 บ้านหนองคาง ต.หนองราชวัตร อ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี 72240

สำหรับคนที่อยากขอคำพยากรณ์จากไพ่เป็นการส่วนตัว ตอนนี้ของดรับก่อนนะคะ - ปีหน้าค่อยว่ากันอีกทีเนาะ

ว่าด้วย "ตลาดนัดการเมือง" : ที่นี่ไม่มีธรรมะขาย !!!

๑.

การเมืองของนักเลือกตั้งเร่าร้อนยิ่งขึ้นทุกขณะ
การแถลงข่าวของบุคคล กลุ่ม ก๊วน และพรรค ตลอดจน "อนาคตพรรคการเมือง"
มีขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ราวกับตลาดนัดในอดีต ที่มีทั้งปาหี่ คนเล่นกล พ่อค้าเร่
และแม่ค้า "เจ้าประจำ" คุ้นหน้า

สถานที่พบปะระหว่าง "ผู้ซื้อ" กับ "ผู้ขาย" นั้น
เรียกกันง่ายๆ ว่า "ตลาด" โดยมี "สินค้า" เป็นสื่อกลาง
แลกเปลี่ยนความพึงใจระหว่างกัน...

ในที่ชุมนุมเช่นนี้
ปฏิสัมพันธ์ระหว่าง "คุณค่า" และ "มูลค่า"
นอกจากจะมี "ความจริง" เป็นเครื่องเทียบเคียงแล้ว
ดูเหมือนว่า การโฆษณาประชาสัมพันธ์ก็มีส่วนอยู่ไม่น้อย
สำหรับการตัดสิน หรือชี้วัดความพึงใจ

ตลาดโดยทั่วไปมักเปิดเป็นประจำ และสม่ำเสมอ
น่าเสียดายที่ประชาธิปไตยแบบไทยๆ ยังไม่อยู่กับร่องกับรอย
"ตลาดการเมือง" หรือ "ตลาดซื้อขาย ส.ส." จึงเปิดบ้างปิดบ้าง
อย่างกะปริบกะปรอย ไม่คงเส้นคงวาเป็นวาระ

คำว่า "ตลาดการเมือง" อาจฟังดูแสลงหูอยู่บ้าง
สำหรับผู้เกี่ยวข้อง และคิดเอาว่า "ตลาด" เป็นของต่ำ
รวมทั้ง การนับเอา "นักการเมืองผู้ทรงเกียรติ" ให้เป็นเพียง "สินค้า"
เช่นเดียวกับพริก หอม กระเทียม เนื้อหมู เนื้อวัว และเป็ดไก่
ใน ตลาดนัด - ตลาดสด

แต่... ว่าก็ว่าเถอะ
เรายังมีนักการเมืองที่สูงเกียรติ ด้วยคุณธรรมจริยธรรม
หรือด้วย อุดมคติ-อุดมการณ์สูงส่ง อยู่อีกล่ะหรือ?

ใครลองหลับตา
แล้วนึกย้อน ครุ่นคิด-ใคร่ครวญ ด้วยใจที่เป็นธรรมดูสักหน่อยเถิด
ว่า... ประสาคนอ่านหนังสือพิมพ์ กินข้าวแกง นั่งรถเมล์ ดูฟรีทีวี ฯลฯ
อย่างที่เป็นๆ กันอยู่ทั่วไปนี้
เรามีรายชื่อ "นักการเมืองในฝัน"
มี "นักการเมืองในอุดมคติ" แห่งยุคสมัย ถึง ๑๐ รายชื่อหรือไม่?
รัฐธรรมนูญใหม่กำหนดจำนวน ส.ส. ไว้ ๔๘๐ ท่านเชียวนะ
แค่หาทำยาสัก ๑๐ - ๒๐ คน ก็ยังหาไม่ได้เอาเลยเชียวหรือ?

๒.

ในแวดวงการเมืองนั้น "อำนาจ" และ "ผลประโยชน์" เป็นเรื่องใหญ่
จะเป็น "ทางตรง" หรือ "ทางอ้อม" ของ "ตัวเอง" หรือ "พวกพ้อง"
หรือเพื่อ "มหาประชาราษฎร์" ก็คงยากที่จะไปกะเกณฑ์จำกัดความ

แต่ที่แน่ๆ ก็คือ "อำนาจ" และ "ผลประโยชน์" นี่เอง
ที่เป็นตัวเลือกสรรค์คัดกรอง "นักการเมือง" ยุคปัจจุบันในเบื้องต้น

หาใช่  "กรรมการคัดตัวผู้สมัคร" หรือ "ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง" ไม่...

ด้วยว่า หากใครสักคนมีมโนธรรมสำนึก
และตรึกตรองโดย ทางธรรม/ทางโลกย์ ได้แจ่มชัดพอสมควรแล้ว
โดยสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ "ใครคนนั้น"
จะหาญกล้าเข้าไปเกลือกกลั้วกับปลักตมที่เห็นอยู่ตรงหน้า
อันมีพร้อมทั้งกับดักและขวากหนาม ฯลฯ อยู่ละหรือ?
ต่อให้มีความกล้าหาญทางจริยธรรมอยู่เต็มเปี่ยมก็เถอะ...

"อย่าเอาไม้สั้นไปรันขี้" โบราณมีสอนมีเตือนไว้แล้วทั้งนั้น
พอเป็นอย่างนี้ แล้วเราจะหา "ตัวแทนประชาชน"
เข้าไปทำหน้าที่ "ผู้แทนปวงชนชาวไทย" กันโดยวิธีใด?

และถ้าตัวแทนในระบบเลือกตั้งมันเลว
แล้วเราจะหาตัวแทนโดยธรรมชาติ หรือตัวแทนโดยตรงจากที่ไหน?

โจทย์เหล่านี้เป็นเรื่องยาก
และนักเลือกตั้งก็รู้ดี
สามารถนำมาใช้ประโยชน์ นำมาทำมาหากินอยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

จึงไม่มีใคร "ปฏิรูปการเมือง" ให้ตรงเป้า
อย่างพร้อมที่จะทำลายหม้อข้าวตัวเอง
เพื่อเติมเต็มหม้อข้าวของประชาชน

ได้แต่อาศัยช่องว่างช่องโหว่
แก้ปัญหาหิวโซตามใจกิเลสไปวันๆ

๓.

ท่านพุทธทาสภิกขุ แห่งสวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษธานี
เทศนาชี้แนะเกี่ยวกับ "ธรรมะกับการเมือง" เอาไว้หลายแง่มุม
ทั้งกว้างขวางและลึกซึ้ง ด้วยหลักการอันเป็นอกาลิโก
แต่น่าเสียดาย ที่ดูเหมือนกับว่า
แม้ศิษยานุศิษย์ของท่านเอง โดยเฉพาะวงในใกล้ชิด
ก็ไม่ค่อยจะเอาด้วย หรือเห็นด้วย กับท่านนัก

หลังจากท่านละสังขารไปใน พ.ศ.๒๕๓๖
"ท่านอาจารย์" ของใครต่อใคร จึงกลายเป็นโน่นนี่ ไปหลายต่อหลายอย่าง
ยกเว้นองค์คุณเกี่ยวกับการประยุกต์ธรรม เพื่อนำมาใช้ได้ในชีวิตจริง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน "ระดับโครงสร้าง" หรือ "ระดับอำนาจรัฐ"
อันเนื่องอยู่ด้วยสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ตลอดจนวัฒนธรรม
ที่มีหลักพุทธธรรม หรือศาสนธรรมเป็นศูนย์กลาง หรือเป็นต้นเงื่อน
ซึ่งนักคิดฝ่ายพุทธเถรวาทน้อยคนนัก จะจับประเด็นได้ลึก และแหลมคม
ดังที่ "พุทธทาสภิกขุ" ชี้ชวนและนำทางไว้...

มัวทำตัวเป็นไก่ได้พลอย สุนัขได้ปลากระป๋อง
จนทำให้เกิดโศกนาฏกรรม และความสูญเสีย ไปอย่างสูญเปล่า

ทำนองว่าคนดีไม่ได้เครื่องมือ ไม่มีธรรมะใช้
ปล่อยคนร้ายอ้างผิดๆ ถูกๆ หากินกับ "ท่านอาจารย์"
ตั้งแต่อดีตนายกฯ ยันเอ็นจีโอใหญ่ๆ และนักวิชาการมากอัตตา
ตลอดจนปัญญาชนหน้าไหว้หลังหลอก พระเณรเถรชี มากรูปหลายนาม...

จับพลัดจับผลู "ธรรมะ" จึงกลายเป็นเครื่องมือของ "ทุนนิยม" ไปเสียเอง
ด้วยว่า เหลือเพียงแง่มุมระดับปัจเจก และ "ส่งเสริมการหลุดพ้นส่วนตัว"
เสียเป็นด้านหลัก หลงลืมการสร้างเหตุปัจจัย และการบำเพ็ญเพียรเพื่อเสริมบารมี
อย่างชนิดที่หนุนช่วย และนำพากันไปนิพพาน
ตามหลัก "อิทัปปัจจยตา-ปฏิจจสมุปบาท" อันเป็นแก่นแกนมาแต่เดิม

ทันทีที่ธรรมะถูกใช้ให้ทำหน้าที่สร้างและพัฒนาปัจเจกบุคคล
ทุนนิยม-บริโภคนิยม ก็หัวร่อร่า
ค่าที่ช่วยผลิต "นักบริโภคคุณภาพสูง" ให้กับตลาด
โดยบริษัทบรรษัท ข้ามชาติ-ในชาติ เหล่านั้นไม่ต้องลงทุนลงแรง
หรือสิ้นเปลืองต้นทุน วัตถุดิบ และพลังงานแต่อย่างใด

เมื่อเป็นกันอย่างนี้ "นักเลือกตั้ง-นักกินเมือง" ทุศีล
จึงพากันอาศัยบางหัวข้อธรรม อาศัยการสละทรัพย์ซื้อเสียง
ซื้อศรัทธา "สมาชิกวัด"
ด้วยการทุ่มทุนสร้างกุฏิริฐาน สร้างซุ้มประตูสร้างรั้ววัด
ไต่บันไดโบสถ์ บันไดเมรุ เข้าสภาฯ
มีเจ้าอาวาสเป็นหัวคะแนนทางอ้อม ฯลฯ กันอยู่เนืองๆ

เป็นอันว่า "ธรรมะกับการเมือง" หลงเหลือเพียงเท่่านั้น
และมหาเถรสมาคม หรือภาครัฐ โดยสำนักงานพุทธฯ ก็ดูจะพอใจ
ที่พระ วัด และหลักธรรม(บางข้อ) เคาะประตูการเมืองได้เพียงที่กล่าวมาแล้ว

๔.

ผู้เขียนเองเคยรับนิมนต์ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
ไปร่วมการเสวนาระหว่างศาสนา ว่าด้วย "จริยธรรมของผู้นำ(ทางการเมือง)"
เมื่อครั้งที่ "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" จัดเวทีอยู่ที่ใกล้สะพานมัฆวาฬ
คราวขับไล่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร

คืนนั้นกล่าวกันถึงตัวผู้นำรัฐและนโยบายของเขา
ด้วยมุมมองของชาวพุทธ คริสต์ และอิสลาม
โดยมีพระภิกษุ บาทหลวง และนักวิชาการมุสลิม ร่วมแลกเปลี่ยนทัศนะ
ผู้ฟังหน้าเวที และผู้ชมผ่านระบบการถ่ายทอดสัญญาณโทรทัศน์
มีท่าทีการตอบรับที่น่าสนใจ
หากวันรุ่งขึ้นอธิบดีกรมศาสนากลับออกมาแสดงท่าทีที่น่าสนใจยิ่งกว่า

กล่าวคือ ท่านอธิบดีได้แถลงข่าวอย่างฮึกเหิมมุ่งมั่น
ว่าการที่พระไปร่วมกิจกรรมเช่นนั้น
หากมิใช่ถูกหลอก และไปอย่างรับรู้ก่อน ว่าจะมีกิจกรรมเช่นไร
ถือเป็นความผิดทางวินัยสงฆ์ขั้นร้ายแรง ถึงขั้นต้องบังคับให้สึกหาลาเพศ

ว่ากันถึงขนาดนั้น...
โดยไม่ดูดำดูดีกับวินัยสงฆ์ ๒๒๗ ข้อ ตามธรรมวินัยเอาเลย
โชคยังดี ที่เมื่อนักข่าวนำความที่ว่า
ไปสอบถามกรรมการมหาเถรสมาคมท่านหนึ่ง
พระมหาเถระท่านนั้นได้มีเมตตา ตอบนักข่าวไปว่า
ฝ่ายสงฆ์มีสายงานปกครองดูแลอยู่แล้ว หากมีความผิดจริง
คณะสงฆ์ตั้งแต่ระดับเจ้าคณะตำบล คงดำเนินการไปตามลำดับชั้นปกติ
และโดยส่วนตัว ท่านไม่เห็นว่าการแสดงทัศนะดังกล่าวจะสลักสำคัญอะไรนัก
เพราะผู้แสดงความคิดเห็นเป็นเพียงพระเล็กพระน้อย ไม่ได้มีชื่อเสียงสมณศักดิ์
ที่พอจะมีอำนาจชี้นำสังคม...

ผู้เขียนเองได้ทราบข่าวเรื่องนั้นผ่านสื่อ
จึงมีโอกาสไปค้นคว้าในเว็บไซต์ของกรมศาสนา
แล้วพบว่า อันที่จริง เวทีเสวนาดังกล่าว
น่าจะจัดโดยกรมการศาสนาเองเสียด้วยซ้ำ
เพราะกิจกรรมที่มีเนื้อหาดังกล่าว
ระบุอยู่ในนโยบายและเป้าหมายหลักของกรมศาสนาเองโดยตรง
นับแต่ย้ายไปสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม
(เดิมกรมศาสนาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ)

พร้อมๆ กับการจัดตั้งหน่วยงานใหม่
ชื่อสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี)
อันรับผิดชอบเกี่ยวกับแวดวงพระพุทธศาสนาทั้งหมดทั้งปวง

ภารกิจหลักของกรมศาสนา ตามที่ปรากฏในเว็บไซต์ของหน่วยงานแห่งนั้น
คือการสร้างความเข้าใจและสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างศาสนา
รวมทั้งการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมในสังคม เป็นด้านหลัก

เมื่อสื่อมวลชนสอบถามมาที่ผู้เขียน ว่าคิดเห็นเช่นไร
ก็ได้แต่ตอบไปว่า ท่านอธิบดีกรมการศาสนา คงต้องการเอาใจนายกฯ ทักษิณ
ซึ่งเป็นคนบ้านเดียวกัน จึงรีบเร่งออกมาให้สัมภาษณ์ด้วยอารมณ์ความรู้สึก
มากกว่าจะตอบคำถามโดยข้อเท็จจริง หรือโดยหลักการที่ควรจะเป็น
เพราะสิ่งที่ท่านตอบนั้นอยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ ที่จะบังคับสั่งการ

นี่เป็นตัวอย่างเล็กๆ กรณีหนึ่ง
ซึ่งสะท้อนภาพความสับสนในบทบาทหน้าที่
หรือสะท้อนความบกพร่องหละหลวมในการปฏิบัติหน้าที่
ตลอดจน ความไม่รู้จริง และ/หรือ ไม่รู้ในเรื่องที่ควรรู้
ของรัฐ ของคนของรัฐ หรือของผู้อยู่ในอำนาจรัฐ
เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของพุทธบริษัท
อันมีสาเหตุมาจากความอ่อนด้อย ในการเข้าใจธรรมะ

โดยมิพักจะต้องกล่าวถึงการประยุกต์ใช้ธรรมะ
หรือการนำหลักพุทธรรม หลักศาสนธรรม มาใช้ในระดับโครงสร้าง
ของสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ตลอดจนวัฒนธรรม
ในแง่ของวิถีชีวิตของผู้คน

๕.

กล่าวเฉพาะใน "ตลาดนัดการเมือง" ที่กำลังตะโกนขายสินค้า
กำลังประแป้งแต่งหน้าพ่อค้าแม่ขาย หรือที่กำลังตกแต่งหน้าแผง หน้าร้านกันอยู่นี้
กว่าจะถึงวันเลือกตั้ง หรือวันตัดสินใจครั้งใหญ่ของผู้บริโภค
เราคงได้ยินได้ฟังได้ดู การประชาสัมพันธ์ กันอีกหลายรูปแบบ
ทั้ง สรรพคุณของสินค้า สรรพคุณของคนขาย และสรรพคุณของร้านค้า
ตลอดจนโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม ฯลฯ
ก็น่าสนใจ ว่าอะไรจะเป็นที่มา ของการตัดสินใจสุดท้าย ของผู้บริโภค
เพราะนั่นจะเป็นคำตอบ หรือภาพสะท้อน "ตลาดนัดการเมือง" ของประเทศนี้
ว่ามีคุณภาพแค่ไหน และเพียงใด?

ก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยการก่อรัฐประหารของคนกลุ่มหนึ่ง
เราพากันวิพากษ์วิจารณ์สภาพการณ์ทางคุณธรรมและจริยธรรม
ของอดีตผู้นำและรัฐบาลภายใต้การกำกับของเขาอย่างหนักหน่วง
จนเป็นเหตุให้บางคนบางกลุ่มนำเงื่อนไขนี้เข้าช่วงชิงล้มล้างอำนาจรัฐเดิม
ด้วยข้อเสนอ และข้ออ้าง ว่าจะสร้างสิ่งที่ดีกว่าขึ้นมา
พร้อมๆ ไปกับการปัดกวาดเช็ดถูปฏิกูล ที่อดีตรัฐบาลและพวกพ้องทำเรี่ยราดไว้

นี่ก็เป็นเรื่องน่าสนใจ ว่าหากกล่าวโดยเวลากันแล้ว
วันคืนที่ผ่านมา มีอาจมใดๆ ของคุณทักษิณที่ถูกเช็ดล้างออกไปได้บ้าง
หรือว่า การที่เราได้กลิ่นเน่าเหม็นของรัฐบาลไทยรักไทยน้อยลง
จะเป็นเพียงเพราะปฏิกูลกลุ่มใหม่ถ่ายของเสียชนิดใหม่กลบทับเอาไว้แทนที่
หรือจะเป็นว่า พออยู่ร่วมกับของเหม็นหลายชนิดเข้า
เราทั้งหลายก็เริ่มคุ้นชินกันไปเอง...

ซึ่งถ้าเป็นไปอย่างที่กล่าวมาแล้ว
ว่าเราคุ้นเคยกับความเน่าเหม็น
จนไม่รู้สึกรู้สา ไม่ยินดียินร้าย กันสักเท่าไร
ก็อย่าได้แปลกใจกันเลย ว่าทำไมพ่อค้าแม่ขายในตลาดการเมือง
ไม่ว่าร้านใดๆ แผงใดๆ จะมิได้ส่งเสียง
หรือส่งสัญญาณ ด้าน "คุณธรรม-จริยธรรม"
ออกมาให้ฝ่ายศาสนาชื่นอกชื่นใจกันบ้างเลย

ดูเหมือนว่า
เราใช้ศาสตราด้านความดีงาม ความถูกต้อง
เพื่อทำลายฝ่ายตรงข้ามให้ดับดิ้น
ให้พ้นไปจากเวที ที่เราอยากจะเข้าไปร่วมด้วยเท่านั้น
โดยมิได้ปรารถนาจะใช้เครื่องมือทางศาสนา
มาแก้ปัญหาอย่างถาวรหรือยั่งยืนแต่ประการใด

"ตลาด" ต่างๆ พากันโตขึ้น
"พื้นที่ทางศาสนธรรม" หรือ "พื้นที่แห่งความดีงามก็เล็กลงไปทุกที
ดูเหมือนกับว่า พวกเราต่างก็รับรู้
แต่ไม่มีใครยอมเจ็บปวด เพื่อจะสวนกระแส และก้าวไปสู่สิ่งสูงกว่า
อีกต่อไปแล้ว...

ความทุกข์มันเป็นเช่นนี้เอง

19 October, 2007 - 01:09 -- thanorm

picture

ผมมีความเชื่อว่า
คนที่เป็นนักปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนาบ้านเรา ถ้าหากไม่หลงไปปฏิบัติผิดที่ผิดทาง ท่านคงจะรู้กันดีทุกคนนะครับ ว่าเป้าหมายสูงสุดในการปฏิบัติธรรม คือการปฏิบัติเพื่อลดละและปล่อยวาง  ความยึดมั่นถือมั่นว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้ เป็นตัวของเรา – เป็นของของเรา ซึ่งทางพุทธบ้านเราถือว่าเป็นต้นตอรากเหง้าของความทุกข์ทางใจทั้งหลายทั้งปวง

ส่วนจะเป็นทุกข์มากหรือน้อย ย่อมขึ้นอยู่กับใจของเรา ที่เข้าไปยึดเอาสิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นตัวกำหนด พูดง่าย ๆ ก็คือ ถ้าเข้าไปยึดถือมากก็ย่อมเป็นทุกข์มาก ถ้าเข้าไปยึดถือน้อยก็เป็นทุกข์น้อยนั่นเอง

ครับ
นี่เป็นเรื่องที่เป็นนามธรรมที่เข้าใจได้ยาก หรือถ้าสามารถเข้าใจได้แล้ว...ก็ยังมีเรื่องที่ยากยิ่งขึ้นไปอีก นั่นคือการปฏิบัติให้ได้จริงและเป็นจริง เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ฝืนใจปุถุชนคนธรรมดาอย่างเรา ที่ล้วนแล้วแต่เกิดมาเพื่อเรียนรู้การยึดมั่นถือมั่น มากกว่าการลดละและปล่อยวาง...

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เรื่องนี้ ซึ่งถือกันว่าเป็นแก่นของพุทธศาสนาที่พระเดชพระคุณท่านพุทธทาสภิกขุ เคยพูดเอาไว้ครั้งแล้วครั้งเล่าว่า เป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่ผู้คน จะกลายเป็นเรื่องที่ยากยิ่งที่คนจะเข้าใจและปฏิบัติได้ พวกเราส่วนมากที่สักแต่ได้ชื่อว่าเป็นชาวพุทธ จึงกลายเป็นคนที่อยู่ใกล้...แต่กลับไกลจนสุดหล้าฟ้าเขียวจากของดีที่อยู่ใกล้ตัว เพราะมันฝืนความเคยชิน ฝืนใจคนกิเลสหนาอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ  เหลือเกินครับพระคุณเจ้า...

จึงไม่ใช่เรื่องที่แปลกอีกเหมือนกัน
ที่คนที่หันหลังให้กับทางโลกย์เข้าไปหาทางธรรม ถึงขั้นเข้าวัดวาหรือสำนักปฏิบัติธรรม เพื่อปฏิบัติธรรมอย่างเอาจริงเอาจัง จึงมักจะเป็นคนที่ได้ประสบกับความทุกข์ทางใจอันใหญ่หลวงมาแล้วอย่างหนักหนาสาหัส และมองเห็นความทุกข์นั้นด้วยตัวเองจริง ๆ เท่านั้น ที่มักจะพากันเข้าไปด้วยความสมัครใจ และเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และเมื่อเดินมุ่งหน้าเข้าไปแล้ว ก็ยากยิ่งที่จะถอยหลังกลับมา

ดังเช่นกรณี ท่านศาสตราจารย์ อุบาสิกา คุณรัญจวน อินทรกำแหง นักปฏิบัติธรรม อาวุโส ผู้มีชื่อเสียงขจรขจายในวงการพุทธ ศาสนา ได้ให้สัมภาษณ์ คุณขวัญใจ เอมใจ เอาไว้ในหนังสือสารคดีประจำเดือนมีนาคม 2543 เกี่ยวกับเส้นทางการปฏิบัติธรรมของท่านเอาไว้ตอนหนึ่ง ซึ่งตรงกับประเด็นที่ผมได้เกริ่นกล่าวเอาไว้อย่างน่าสนใจ และควรค่าแก่การศึกษา ดังต่อไปนี้

สารคดี : เหตุผลหลักที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ท่านตัดสินใจบวชคืออะไรคะ ดิฉันได้ยินมาว่า มีความ    คิดสองทาง มองว่าคนที่มาบวชนั้น หนึ่ง เพราะมีความทุกข์ สอง เป็นคนที่กำลังแสวงหา บางคนมองไกลไปถึงว่า พระพุทธเจ้าก็เป็นผู้แสวงหาอีกท่านหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ชาติ

อ.รัญจวน : เห็นทุกข์ค่ะ แต่ก่อนนี้ไม่รู้ ทั้ง ๆ ที่อาการของความทุกข์ก็คืออาการซัดส่ายของใจ วุ่นวายไม่เป็นปกติ แต่ไม่รู้ว่าอยู่กับความทุกข์ เพราะไม่เคยศึกษา พอมาตอนหลังก็มีเหตุที่ทำให้เริ่มเห็นความทุกข์ชัดขึ้น คือเรื่องหลานชาย ดิฉันมีหลานชายที่ดิฉันเลี้ยงเอาไว้ตั้งแต่เล็ก ๆ  เขาเป็นเด็กเก่ง เด็กฉลาด เรียนหนังสือดี อยู่มหาวิทยาลัยก็เรียกว่าเป็นดารา แต่เขาเป็นคนคิดมาก ดิฉันไม่รู้ว่าเขาคิดมากขนาดไหน ภายนอกของเขาเป็นคนที่รื่นเริงบันเทิงใจมาก อยู่ที่ไหนมีแต่จะทำให้ที่ตรงนั้นมีเสียหัวเราะ เพื่อนฝูงจะไปไหนก็มาขอให้เขาไปด้วย เพราะเขาเป็นคนนำ ทำให้เพื่อนฝูงสนุกสนาน มีปัญหาอะไรก็แก้ไขปัญหาให้เพื่อน แต่ผลที่สุด เขาก็แก้ปัญหาให้ตัวเองไม่ได้ ต้องเข้าไปอยู่โรงพยาบาลจนทุกวันนี้  เขาไม่ก้าวร้าว แต่จะพูดจะคิดอะไรเลื่อนลอย อยู่กับความหลัง อยู่กับอนาคต แต่ไม่อยู่กับปัจจุบัน ตอนนั้นดิฉันเริ่มรู้แล้วว่า อ้อ...ความทุกข์มันเป็นเช่นนี้เอง

แล้วก็นั่งคิด เอ...นี่เราเลี้ยงเขาผิดหรือเปล่า ทั้งที่เราก็ประชาธิปไตยพอสมควร มีอะไรก็พูดอภิปรายกัน ไม่ได้เก็บกักอะไรเขาเลย ก็ถามตัวเอง โทษตัวเอง รู้สึกเศร้าใจ ยิ่งเมื่อเห็นดอกเตอร์หนุ่ม ๆ ก็นึกในใจ หลานเราก็เป็นได้ แล้วเขาก็เป็นได้อีกตั้งหลายอย่าง เป็นนักดนตรี นักพูด นักเขียน แต่กลับมาเป็นอย่างนี้ นี่ละจิตที่ทุกข์จริง ๆ ก็ตอนนั้น

สารคดี : เรื่องหลานชายถือเป็นเหตุปัจจัยหลักที่ทำให้เห็นทุกข์ กระทั่งตัดสินใจบวช
อ.รัญจวน : ใช่ค่ะ เริ่มเห็นความทุกข์ชัดเจนขึ้น ทั้ง ๆ ที่เราอยู่กับความทุกข์มาตลอดชีวิตอย่างที่เล่ามาแล้ว นี่ที่สำคัญมากนะคะ คนทุกคนในโลกนี้คลุกคลีกับความทุกข์มาตลอด แต่ทุกข์เล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวันกลับมองไม่เห็น มันมีอยู่ตลอดทั้งวัน  ตลอดระยะทางของชีวิต เกือบจะทุกขณะทุกชั่วโมง ก็ที่เดี๋ยวเราดีใจ เดี๋ยวเสียใจ เดี๋ยวชอบใจ เดี๋ยวไม่ชอบใจอีกแล้ว นั่นละ

แต่เพราะไม่เคยเรียนรู้ ก็เลยไม่รู้ว่า เรามีชีวิตอยู่กับความทุกข์ จนกระทั่งวันหนึ่ง สิ่งที่เรารักมาก ยึดถือมาก...ว่ามันเป็นของเราเกิดวิปริตขึ้นมา มันถึงตีตูมเข้ามาที่ใจ ทำไมถึงเห็นว่าเป็นทุกข์มาก ทุกข์ใหญ่  เพราะเราไม่เคยได้ฝึกอบรมใจ เพื่อจะต้อนรับทุกเล็ก ๆ  ที่ผ่านใจเข้ามาตลอดชีวิตของเรา เราไม่เคยรู้ เราไม่เคยจัดการ ที่หลังมันก็จะสะสมความทุกข์ ความไม่พอใจมาเรื่อยทีละน้อย ๆ แล้วพอมีอะไรใหญ่มาก ๆ ลงมาตูมเดียว จึงไม่มีความต้านทานที่จะรับ
แต่สำหรับตัวเอง พอจะรับได้บ้าง ไม่ถึงเป็นบ้าเป็นหลังไปกับความทุกข์ ไม่ได้ล้มสลบสิ้นสติลงไป ที่เน้นเรื่องนี้ก็อยากจะบอกทุกคนว่า เราควรจะต้องศึกษาเรื่องความทุกข์ อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงสอนอริยสัจสี่ และเมื่อเกิดอะไรขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นทุกข์ใหญ่ เช่นไฟไหม้บ้าน เกิดอุบัติเหตุตายทั้งหมู่ ลูกสาวหลานสาวถูกข่มขืน ยำยี มันก็จะไม่ทำให้เราเป็นทุกข์ชอกช้ำจนถึงเสียสติ

สารคดี : อาการของท่านเองตอนที่เจอทุกข์ใหญ่มากในตอนนั้น เป็นอย่างไรบ้าง
อ.รัญจวน : ข้างนอกนี่ไม่เป็นอะไร แต่ข้างในรู้สึกเหนื่อย...เหนื่อยมากเหลือเกิน เพราะพอหลานชายออกจากโรงพยาบาล แล้วก็ต้องเอาเขามานอนเตียงข้าง ๆ ติดกัน แล้วก็ต้องคอยพูดคอยปลอบใจ ให้กำลังใจ แนะนำต่าง ๆ  ไหนจะงานสอนที่รามคำแหง แล้วตอนนั้นเป็นประธานสภาอาจารย์รามคำแหง ซึ่งเริ่มมีเป็นครั้งแรกด้วย พอมาถึงบ้านก็ต้องมาทำงานพยาบาลด้วย แล้วพยาบาลโรคทางใจนี่หนักกว่าโรคทางกายนัก เพราะฉะนั้น นอกจากทุกข์เพราะสงสารว่าเขาเป็นอย่างนี้แล้ว ยังทุกข์เพราะเหนื่อยอีก มันเหนื่อยสายตัวแทบขาดทีเดียว เหนื่อยทุกอย่างทั้งกายและใจ เลยรู้ว่า อ๋อ...ลักษณะของความทุกข์ที่เกิดขึ้นมันเป็นเช่นนี้เอง

ถ้ามองจากตอนนี้ ถามว่า ที่ตอนนั้นตัวเองทุกข์เพราะอะไร ก็ตอบว่า ทุกข์เพราะอุปทาน ยึดมั่นถือมั่น  ถ้าเราไม่ยึดมั่นถือมั่นเราก็ไม่ทุกข์  มีเด็กหนุ่ม ๆ สาว ๆ ที่มีอาการอย่างหลานชายของเราอีกนับพันนับหมื่น ทำไมเราไม่ไปทุกข์กับเขา ก็เพราะเขาไม่ใช่หลานเรา นี่ธรรมะบอก เพราะเราไปยึดมั่น เพราะฉะนั้นจึงทุกข์มาก นี่ถ้าไม่ใช่หลานของเรา มีอะไรจะช่วยได้ก็คงช่วยกันไปเท่าที่กำลังจะช่วยได้  แต่ไม่ต้องเสียใจเศร้าหมองจนไม่คิดถึงเหตุผลอย่างใช้สติปัญญา

ครับ ผมหวังว่า บทสัมภาษณ์ บทนี้ของอาจารย์รัญจวน ที่สูญเสียหลานชายที่ท่านรัก และเป็นเหตุทำให้ท่านหันหน้าเข้ามาปฏิบัติธรรมตราบจนเท่าทุกวันนี้ คงจะทำให้ท่านผู้อ่านเข้าใจคำว่า ยึดมั่นถือมั่น ซึ่งเป็นต้นตอความทุกข์ทางใจของคนเราได้ง่ายขึ้น และได้รับประโยชน์จากความเข้าใจนี้กันทุกคนนะครับ.

17 ตุลาคม 2550
กระท่อมทุ่งเสี้ยว เชียงใหม่

ภาพประกอบจาก http://dungtrin.com ขอบคุณครับ

กล้วยปิ้งในหัวใจ

19 October, 2007 - 01:02 -- moon

แผงขายกล้วยปิ้งบนถนนสายใหญ่กลางกรุง ดึงดูดให้ฉันลงจากรถเมล์ก่อนถึงป้ายที่ตั้งใจจะลง ตรงเข้าไปบอกแม่ค้าสาวว่า “กล้วยปิ้งสิบบาทค่ะ”

เธอเหลือบตาขึ้นเหนือศีรษะแวบหนึ่งแล้วบอกด้วยใบหน้าบึ้งตึงว่า “ขายยี่สิบบาท”

ฉันสะดุ้ง รีบมองตามสายตาที่เธอตวัดไปเมื่อครู่นี้ เห็นป้ายแขวนไว้เขียนว่า กล้วยปิ้งทรงเครื่อง น้ำจิ้มรสเด็ด ชุดละ 20 บาท

“อุ๊ย ขอโทษทีค่ะ ไม่ทันเห็น เอ้อๆ งั้นกล้วยปิ้งยี่สิบบาท” ฉันรู้สึกตัวเองพูดจาเงอะงะเหมือนบ้านนอกเข้ากรุงจริงๆ ด้วย ไม่รู้แม้กระทั่งราคากล้วยในท้องตลาด ก็แหม กล้วยน้ำว้าบ้านฉันยังหวีละสิบบาทอยู่เลย (ยิ่งซื้อตอนตลาดวายอาจได้สามหวีสิบ)

คนขายหยิบกล้วยสี่ลูกใส่ถุง ราดน้ำจิ้มเหนียวๆ แล้วใส่ไม้แหลมๆ ให้หนึ่งไม้
“สี่ลูกเอง แพงจัง” ฉันรำพึงกับตัวเอง แต่คงเผลอพูดดังไปหน่อย คนขายเลยขมวดคิ้วใส่
“ราคานี้มาตั้งนานแล้วพี่”
“ค่ะ ค่ะ ขอโทษที ไม่ค่อยได้มาแถวนี้” ฉันอยากยิ้มให้เธอ แต่ก็รีบหันหลังออกจากแผงกล้วยด้วยความเกรงใจคนขาย กลัวเธอเข้าใจรอยยิ้มของฉันผิด

จุดหมายอยู่ห่างออกไปอีกราวๆ สองป้ายรถเมล์ แต่ฉันกำลังอยากชิมกล้วยปิ้งคนกรุง เลยตัดสินใจไม่ขึ้นรถ จะได้เดินไปกินไปอย่างสบายอารมณ์

มาตรฐานความอร่อยเป็นรสนิยมส่วนบุคคล สำหรับฉัน กล้วยปิ้งนั้นฝาดไปหน่อย แถมน้ำจิ้มยังหวานแสบไส้ นึกถึงสีหน้าไร้อารมณ์ของคนขายแล้วเห็นใจเธอ ได้ยินว่า ธุรกิจกล้วยปิ้งปัจจุบันนี้มีการทำแฟรนไชส์แล้ว แสดงว่าคนไทยยังไม่เบื่อกล้วยปิ้ง แต่ทำไมหนอ เธอถึงมีหน้าตาเบื่อลูกค้าขนาดนั้น

แล้วฉันก็คิดถึงรอยยิ้มของยาย

ยายนั่งอยู่ในเพิงสังกะสีหน้าห้องแถวเก่าๆ ริมถนนในจังหวัดหนึ่งทางภาคอิสาน ตอนที่ฉันยังทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชน ฉันขี่รถจักรยานยนต์ผ่านเพิงของยายเกือบทุกวัน

ยายจะมานั่งปิ้งกล้วยขายตั้งแต่ตีห้าถึงหกโมงเย็น ยกเว้นวันที่ยายปวดเมื่อยจนลุกไม่ขึ้น แต่ทุกวันที่ยายมาขาย ยายจะมียิ้มแจ่มใสมาด้วยเสมอ เหลียวมองทีไร เห็นยายยิ้มทุกที จนฉันอยากจะคิดว่ายายยิ้มให้รถทุกคันที่ผ่านหน้ายายไป

รอยยิ้มนั้นเองที่ดึงดูดให้ฉันจอดรถซื้อกล้วยปิ้ง
“หนู้...” ยายจะขึ้นต้นแบบนี้ทุกครั้ง “ไปไหน้มาจ๊า กินกล้วยปิ้งของยายไหม้ อร่อยนาจ๊ะ”

เสียงเหน่อๆ ของยายทำให้ฉันต้องยิ้ม ยายก็บอกไม่ถูกว่าตัวเองนั้นพูดด้วยสำเนียงจังหวัดไหน เพราะวัยกว่าแปดสิบของยายนั้น ย้ายตามลูกชายมาหลายจังหวัด จังหวัดละหลายๆ ปี ทั้งอุตรดิตถ์ จันทบุรี สุพรรณบุรี เพชรบุรี นครราชสีมา

“อู๊ย มันหลายแห่งเหลือเกิ๊น ย้ายจนยายเวียนหั้ว หนู้เอ๊ย ....”

เริ่มคุ้นหน้ากัน ยายก็ถามฉันว่า “หนู้ ค้ายอะไรหรือจ๊ะ” แกชี้ไปที่ตะกร้าใบใหญ่ที่ฉันมัดไว้ท้ายรถ ฉันจึงอธิบายว่าไม่ได้ขาย ของที่เต็มตะกร้าเกือบทุกวันนั้นคือกับข้าวหมา

ยายฟังเรื่องบ้านสี่ขาแล้วก็หัวเราะตาหยี  “เหมือนยาย เหมือนยาย”

ในกระจาดกล้วยของยาย ทุกวันจะมีถุงก๊อบแก๊บหลายถุงใส่ข้าวคลุกน้ำแกงบ้าง หัวปลาบ้าง ต้มเศษเนื้อบ้าง ยายบอกว่า “เอาไว้ให้หม้า”

มีหมามอมแมมหกเจ็ดตัว แวะเวียนมาหายายที่แผงกล้วยปิ้งทุกวัน ยายจะหยิบถุงก๊อบแก๊บใส่ข้าวโยนให้มันคาบไปกิน มีตัวหนึ่งมารอยายแต่เช้า กินข้าวเสร็จแล้วก็นอนข้างๆ แผงของยายไปจนถึงเย็น พอยายกลับ มันก็กลับบ้าง ยายบอกว่ากลางคืนมันนอนไหนไม่รู้ แต่กลางวันมันมาอยู่เป็นเพื่อนคุยกับยาย

บางวันมันมีสีม่วงๆ เป็นหย่อมๆ เต็มตัว ยายเล่าว่ามันได้แผลมาจากไหนไม่รู้ ยายเลยเอายาสีม่วงใส่แผลให้ เมื่อแผลมันหาย ยายก็รีบบอกฉันให้ร่วมดีใจด้วยรอยยิ้มอิ่มสุข เงินที่ฉันซื้อกล้วย ยายบอกว่าจะเอาไว้ช่วยหมาที่อดอยาก

วันหนึ่ง ยายเห็นฉันมีพลาสเตอร์แปะอยู่ตรงหางคิ้วเนื่องจากถูกบานหน้าต่างกระแทกใส่ ยายรีบถามไถ่อาการอย่างห่วงใย แล้วหยิบกล้วยปิ้งใส่ถุงให้จนนับไม่ทัน

“ยายจ๋า หนูซื้อแค่สิบบาท ยายหยิบเกินแล้วยาย” ฉันรีบบอก
“ไม่เป็นไร้ กินกล้วยปิ้งของยาย หนู้จะได้ห้ายไวๆ” ยายยื่นกล้วยถุงใหญ่ (มีเกือบยี่สิบลูก) ให้แล้วบอกด้วยรอยยิ้มแฉ่งว่า “อ้ะ ซิบบาท”

“สิบบาทยายขาดทุนแย่ แถมให้เยอะขนาดนี้หนูกินไปสามวันก็ไม่หมด” ฉันไม่ได้บอกว่า ที่ซื้อยายเมื่อวาน (และเมื่อวานซืน) ก็ยังไม่หมด
“ขาดทุนอาไร้ กล้วยถูกจะตายไป๊ กินไม่หมดก็เอาไปค้ายต่อ” ยายแนะนำ
“โธ่ หนูจะไปขายใครเล่ายาย” ฉันยิ้มขำ นึกถึงน้องๆ ที่ทำงานที่ถูกชวนแกมบังคับให้ช่วยกินกล้วยปิ้งทุกวัน ยิ่งช่วงที่แผลยังไม่หาย ยายจะแถมกล้วยให้จนฉันแทบกินแทนข้าว

คิดถึง “เจ้าชายน้อย” ของอองตวน เดอ แซง-เต็กซูเปรี และถ้อยคำที่ว่า
“สิ่งที่ทำให้ทะเลทรายสวยงามก็อยู่ตรงที่ว่า มันซ่อนบ่อน้ำไว้ที่ใดที่หนึ่ง”

เจ้าชายน้อยและนักบินเดินอยู่ในทะเลทราย
“เธฮหิวน้ำเหมือนกันหรือ” นักบินถาม
เจ้าชายน้อยไม่ตอบ แต่พูดว่า น้ำอาจจะดีสำหรับหัวใจ

ทั้งสองพบบ่อน้ำเมื่อรุ่งสาง เจ้าชายน้อยขอให้นักบินตักน้ำในบ่อให้ นั่นเองคือสิ่งที่นักบินค้นพบ การเดินใต้แสงดาว การค้นพบบ่อน้ำกับเสียงเพลงของลูกรอก และแรงแขนของเพื่อนที่สาวถังน้ำขึ้นจากบ่อ ทำให้น้ำนั้นสดชื่นราวน้ำหวานในงานรื่นเริง

เจ้าชายน้อยบอกนักบินว่า
“ผู้คนในโลกของคุณ ปลูกกุหลาบห้าพันต้นในสวนเดียว แต่เขากลับไม่เคยพบสิ่งที่เขาต้องการ”
“ใช่ เขาไม่เคยพบมันหรอก” นักบินตอบ

เจ้าชายน้อยบอกว่า
“ทั้งๆ ที่สิ่งที่เขาค้นหา อาจจะพบได้ในกุหลาบเพียงดอกเดียว หรือในน้ำเพียงเล็กน้อย”

แล้วเขาก็เสริมว่า
“แต่ตาของคนเราบอด สิ่งนั้นต้องหาด้วยหัวใจ”

กล้วยปิ้งราคาสี่ลูกยี่สิบบาทบนถนนสายใหญ่กลางกรุง ไม่ได้อร่อยเป็นพิเศษ และฉันก็ไม่ได้อยากกินกล้วยปิ้ง เพียงแต่ฉันคิดถึงรอยยิ้มของยาย และรู้สึกว่า กล้วยปิ้งนั้นดีต่อหัวใจ

บัวสีเทา: ฝันของผม

ไม่น่าเชื่อเลยว่า ช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผมจะได้รู้จักชีวิตในอีกมุมหนึ่งของคนที่ถูกเรียกว่า “แก๊ง” ได้มากกว่าที่คิดไว้

แม้ว่าในช่วงแรกๆ ความสัมพันธ์ของผมกับเขาจะเป็นแบบ ถามเพื่อเอาข้อมูลไปทำโครงการ แต่สิ่งที่ผมได้มากกว่าการเก็บข้อมูล นั้นคือความผูกพันธ์ มิตรไมตรี และการช่วยเหลือกันและกันของเพื่อนๆ พี่ๆ

ผมได้เรียนรู้ว่า ความจริงใจ เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ของพวกเรา เมื่อก่อนมีเขาและมีผม แต่ตอนนี้คำว่า “เรา” มันทำให้ไม่มีเขา ไม่มีผม หลายสิ่งที่ผมได้ทำ หรือเพื่อนๆ ได้ทำไปนั้นเป็นสิ่งที่วัยอย่างพวกเราต้องเผชิญ อาจต่างกันมากน้อยคละเคล้ากันไป

ตั้งแต่จบมัธยมปลายมาหลายปี ผมก็เริ่มมองเห็นสิ่งที่จำเป็นต่อตนเองแล้วว่า สุดท้ายแล้วคนเราพบกันเราก็ต้องพรากจากกัน เราต้องมีวิถีทางของเราแต่ละคนที่แตกต่างกันไป พี่บัวบอกกับผมว่า “มึงอย่าทิ้งการเรียนเหมือนพี่” คำพูดของพี่บัว มันฝังใจของผมมากกว่าคำพูดของผู้ใหญ่หลายๆ คนที่หวังในตัวผมเสียอีก

ผู้ใหญ่หลายคนมักอยากให้ผมเรียนให้จบ เพื่อเป็นหน้าเป็นตากับวงค์ตระกูล แต่พี่บัวและเพื่อนๆ อยากให้เรียนจบเพราะไม่อยากให้ผมเป็นเหมือนพวกเขา ไม่อยากให้ถูกสังคมดูถูก เหยียดยาม ไม่อยากให้ใครมองว่าไม่มีการศึกษา ไม่อยากให้มองว่าเป็นเด็กเลว

“การเรียนมันทำให้เป็นคนดีได้เหรอพี่” ผมเถียงพี่บัวด้วยคำพูดนี้หลายครั้งมาก

แต่พี่บัวก็บอกว่าแล้วแต่ผม จะเลือกยังไงก็ตามใจ แต่ตามใจตัวเองมากไป ก็ต้องตามใจในสิ่งที่ผู้ใหญ่ญาติพี่น้องเขาต้องการด้วย เพราะนั่นคือการตอบแทนเขาจากเรา

“ถ้าแกไม่ได้ตอบแทนพวกท่านด้วยวิธีอื่นๆ การเรียนให้จบก็เป็นการตอบแทนที่แกน่าจะเลือกดูนะ” พี่บัวย้ำนักย้ำหนา

แม้ว่าผมจะเป็นคนที่ไม่ค่อยมีความฝัน เพราะเชื่อว่าความฝันมันเป็นเรื่องไกลเกินเอื้อม เป็นการตั้งความหวังลมๆ แล้งๆ แต่พี่บัวก็บอกตลอดว่าความฝันมันหล่อเลี้ยงวิญญาณของเรา

ผมจึงนึกขึ้นได้ว่า ทางที่จะเลือกคือการร่ำลาจากพี่ๆ แล้วหาที่เรียนให้เป็นกิจจะลักษณะ และก็ถือว่าเป็นจังหวะที่ดีมากที่มีประกาศสมัครทุนเรียนฟรี ไปต่างประเทศ ผมจึงรีบคว้าโอกาสนั้นไว้

ทั้งนี้ คนที่จะสมัครรับทุนต้องรายงานตัวและยื่นเอกสารต่างๆ ที่กรุงเทพฯหลายเดือน ผมจึงตัดสินใจเก็บเงินก้อนที่พอมีเหลืออยู่ไม่กี่พันบาทเป็นทุนดำเนินเรื่องเรียนต่อ

“พ่อแม่คงจะดีใจนะ ที่แกตัดสินใจแบบนี้” พี่บัวให้กำลังใจแล้วหยิบธนบัตรใบละพันบาทให้ผมสามใบ แล้วบอกให้เก็บเอาไว้ใช้

ผมปฏิเสธในความหวังดีของพี่บัวไม่ได้ จึงรับเงินด้วยความระลึกถึงน้ำใจของพี่ที่มีให้

เลี้ยงส่ง

คืนวันศุกร์สุดสัปดาห์นี้ พี่บัว พี่เหน่ง และเพื่อนๆ อีกหลายคนพากันมาฉลองที่ร้านประจำของพวกเรา

คืนนี้ผมดื่มเหล้าไปหลายแก้ว, พี่ๆ ทุกคนเมากันถ้วนหน้า - เสียงเพลงบรรเลงในโสตสัมผัส การจากลาของผมและพี่ๆ กำลังจะเริ่มขึ้นในไม่กี่วันข้างหน้า

“จากวันนี้ จะมีเรา เราและนาย จดจำไว้ ตลอดไปไม่ทิ้งกัน หากมีเราจะมีนายร่วมทางไม่มีไหวหวั่น คือเพื่อนกัน เพื่อนตายตลอดไป” เพลงเราและนาย ถูกร้องเสียงดังสนั่นไปทั่วร้าน

น้ำตาผมไหลออกมาอย่างไม่รู้ตัว

โปรดตามติดอ่านตอนจบในตอนต่อไป....

วรรณกรรมลาว "วรรณคดีปฏิวัติ"

picture1

ในประเทศลาว หากเอ่ยถึงวรรณคดีปฏิวัติแล้ว หลายคนก็เข้าใจทันทีที่เอ่ยถึง ว่าเป็นบทวรรณคดีที่แต่งขึ้นในยุคที่ทำการปฏิวัติชาติประชาธิปไตย ซึ่งเป็นระยะที่ประเทศชาติลาวตกเป็นอาณานิคมของจักรพรรดิเก่าและใหม่  ระยะนี้วรรณคดีเกิดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์อยู่อย่างหนึ่ง คือ เป็นเครื่องมือรับใช้ให้แก่การปฏิวัติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปลดปล่อยประเทศชาติและประชาชนออกจากการกดขี่ของจักรวรรดินิยม เพื่อให้ชาติและประชาชนมีเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตยประชาชน

เมื่อเป็นเช่นนั้น วรรณคดีปฏิวัติระยะนี้จึงมีความสำคัญมากในการประกอบส่วนเข้าในการโฆษณาเผยแพร่ผลงาน และการชนะสงครามของการปฏิวัติ, การรณรงค์ให้ประชาชนบรรดาชนเผ่าเข้าร่วมการปฏิวัติเพื่อต่อสู้กับจักรวรรดินิยม และหุ้นผู้ขายชาติที่หวังกลืนกินประเทศชาติลาว

หลายๆ บทประพันธ์ที่ประพันธ์ขึ้นจากฝีมือของนักเขียนปฏิวัติ เช่น 1. ส.บุบผานุวง หรือ ชายเชโปน ที่มีชื่อจริงว่า “สุวันทอน บุบผานุวง” 2.จ.เดือนสะหวัน ที่มีชื่อจริงว่า จันที เดือนะหวัน  3. ดาวเหนือ และนักเขียนปฏิวัติ ซึ่งข้าพเจ้าไม่สามารถจำชื่อได้หมดและก็ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย

นักเขียนเหล่านี้ได้กลายเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วฟ้าเมืองลาว ในฐานะที่เป็นนักเขียนปฏิวัติอาวุโส

picture2

picture3

บทเขียนที่เขียนขึ้นโดย ส.บุบผานุวงก็มี อาทิ ใต้ร่มทงของพัก, ลูกสาวของพัก, กองพันที่สอง, อยากข้าเพี่นโตตาย.

บทเรื่องที่เขียนจาก “จ.เดือนสะหวัน” ก็มี เส้นทางแห่งชีวิต 3 เล่ม นอกนี้ก็มีบท เรื่องต่างๆที่ถูกนำลงพิมพ์ในหน้าหนังสือพิมพ์ นอกจากสองท่านนี้ก็ท่านนักเขียนท่านอื่นๆเช่น “ดวงไช หลวงพาสี” เรื่อง สายเลือดเดียวกัน  เรื่อง ฟองเดือนเก้า ของ “ท่านคำมา พมกอง” และ พัดพากจากสี่พันดอน ของ “ป้าเวียงเฮือง”  นอกนี้ก็มีบทเขียนอื่นๆและนักเขียนปฏิวัติท่านอื่นๆ หลายท่านซึ่งผมไม่สามารถจำได้หมด

บทเรื่องต่างๆ ที่กล่าวมานั้น แสดงออกให้เราเห็นถึงแนวคิดปฏิวัติ สีสันตามรูปแบบปฏิวัติ หลักจรรยาบรรณของรูปปฏิวัติ ก้าวไปสู่แนวคิดที่สร้างสรรค์ในรูปแแบบปฏิวัติ เพราะทุกบทเรื่องที่เขียนล้วนสะท้อนให้เห็นภาพที่ชัดเจนว่า “มีเพียงการปฏิวัติเท่านั้น ที่สามารถนำความเป็นเจ้าของประเทศชาติมาสู่พี่น้องประชาชนชาวลาวทั้งประเทศได้”

เมื่อเราอ่านวรรณคดีปฏิวัติแล้วทำให้เราสามารถมองเห็นเส้นขนานสองด้านอย่างแจ่มแจ้ง คือ ความก้าวหน้าศิวิไลซ์ของการปฏิวัติและความอยุติธรรมในสังคมเก่า แต่ในบทเรื่องปฏิวัติไม่ได้พูดถึงว่า การปฏิวัติมีอะไรบ้างที่ไม่ดีและในสังคมเก่ามีอะไรบ้างที่ดี

เมื่อเราอ่านบทเรื่องปฏิวัติแล้ว เหมือนกับว่าเราสามารถมองเห็นความมีระเบียบของผู้คนจะเป็นใครก็ตามที่เดินตามเส้นทางปฏิวัติ มองเห็นความจงรักภักดีของคนที่มีต่อการปฏิวัติ ถือเอาการปฏิวัติเปรียบเสมอเหมือนชีวิตจิตใจ ถือการปฏิวัติเหมือนกับลมหายใจเข้าออกของตน

นอกจากนั้น เมื่อเราอ่านแล้วทำให้เรามองเห็นว่า สภาพการดำรงชีวิตของผู้คนก่อนการปฏิวัติมีความเป็นอยู่ที่เลอะเทอะ สร้างสิ่งที่ไม่ดีงามขึ้นในสังคม อ่านแล้วทำให้เรามองเห็นภาพเหมือนกับว่า แผ่นดินลาวก่อนปฏิวัติถูกครอบงำด้วยซาตานอะไรประมาณนั้น

อ่านแล้วเหมือนกับว่า ก่อนการปฏิวัติแผ่นดินลาวทุกหย่อมหญ้ามีแต่เปลวไฟลุกลามไปทั่ว ทำให้แผ่นดินกลายเป็นแผ่นดินเถื่อน ในแผ่นดินเต็มไปด้วยคราบเลือดและน้ำตา รอการช่วยเหลือให้หลุดออกจากกงกรรมแห่งนรกอเวจี

อย่างใดก็ดี ในบทต่อไปผมจะอนุญาตท่านผู้อ่าน เสนอเรื่องลาวต่างๆในบทวรรณคดีปฏิวัติเพื่อเป็นการแลกเปลียนทัศนะด้วยกัน.

หมายเหตุ : งานชิ้นนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ “เวียงจันท์ใหม่” เมื่อปี ค.ศ.2005 แล้ว แต่จำเดือนไม่ได้ จึงขออภัย มา ณ ที่นี้ด้วย  

ชายชราผู้ล่องเรือชีวิตเหนือสายน้ำโบราณ ตอน ๑

18 October, 2007 - 04:22 -- sumart

ปีที่ผ่านมา เหนือสายน้ำเชี่ยวกรากสายหนึ่ง ความทรงจำเกี่ยวกับแม่น้ำได้พาให้เดินทางไปสู่ห้วงยามหนึ่งของชีวิต ห้วงยามที่ทำให้ต้องจดจำไม่เคยลืม เพราะใครบ้างจะลืมประสบการณ์เฉียดตายของตัวเองได้ ในความทรงจำนั้น ภาพแม่น้ำแห่งบ้านเกิดผุดพรายขึ้นมา คล้ายภาพขาวดำหม่นมัวที่พาผมเดินทางกลับไปสู่ดินแดนแห่งความหวาดกลัวอันกว้างใหญ่ไพศาล ด้วยเรือคือความหวั่นไหว...

ใช่แล้ว ตอนหัดว่ายน้ำครั้งแรก ผมเกือบจมน้ำตาย เหตุการณ์ครั้งนั้นสอนให้รู้ว่า ความรู้สึกของคนใกล้ขาดใจตายเป็นอย่างไร นี่คือภาพความทรงจำในอดีต แต่ภาพความทรงจำครั้งใหม่ได้เกิดขึ้น หลังจากผมเดินทางมาถึงเมืองริมฝั่งน้ำเหนือสุดในล้านนา

เรื่องมีอยู่ว่า...

ผมมาเมืองริมฝั่งน้ำในช่วงต้นฤดูฝนปี ๔๖ ฝนบนฟ้าโปรยสายลงมาหนักหน่วง จากบ่ายจนถึงยามสายของอีกวัน หลังจากดวงอาทิตย์จมอยู่กับความมืดเบื้องหลังเมฆสีดำโผล่พ้นขอบเมฆส่องแสงออกมา ฟ้าหลังฝนก็กลับมางดงามเป็นสีฟ้า ไม่ต่างอะไรกับความหม่นเศร้าได้จางหายไปจากดวงใจอันบอบช้ำ

หลังฝนหยุดตก ตะวันคล้อยค่ำลง ผมนั่งอยู่ริมฝั่งน้ำเฝ้ามองฉากชีวิตของใครหลายคนบนท่วงทำนองของสายน้ำที่กำลังเดินทางไปสู่ปลายทาง เรือใหญ่ ๒ ลำบรรทุกนักท่องเที่ยวกำลังเดินทางกลับจากหลวงพระบางวิ่งตามกันมา ตรงท่าเรือคนแบกของกำลังจะเดินทางกลับบ้าน หลังการทำงานแลกเงินจำนวนไม่มากของพวกเขาเสร็จสิ้นลง จังหวะชีวิตของผู้คนที่เคลื่อนไหวไปตามฉากแต่ละฉากของชีวิต จึงเป็นเหมือนท่วงทำนองของสายน้ำอันบรรเลงโดยนักดนตรีแห่งฤดูกาล

เมื่อสองวันก่อนหลังจากมาถึงเมืองริมแม่น้ำ ผมได้เห็นยามเช้าแห่งชีวิตของผู้คนแตกต่างกันออกไป ยามเช้าของบางเช้า คนหาปลาบางคนก็ออกเรือไหลมองหาปลา ส่วนคนขับเรือรับจ้างก็กำลังทดสอบเครื่องยนต์เรือ พ่อค้าแม่ค้าเปิดร้านขายของ รถขนของจอดเรียงรายอยู่ข้างถนน แถวพระสงฆ์เดินกลับเข้าประตูวัด หลังการโปรดสัตว์ในตอนเช้าจบสิ้นลง ยามเช้าเช่นนี้ บางคนก็เร่งร้อนเร่งรีบ เพื่อให้ทันเวลาทำงานตามเข็มนาฬิกา ในจำนวนของผู้คนที่เร่งรีบ คนแบกของตรงท่าเรือดูเหมือนว่าจะเป็นกลุ่มคนกลุ่มเดียวที่เร่งรีบมากที่สุด เพราะพวกเขาต้องเร่งรีบ เพื่อไปให้ทันเรือสินค้า แน่ละในความเป็นจริงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า หลายคนล้วนเร่งรีบ เพื่อกิจธุระการงานของตัวเองแทบทั้งสิ้น

ขณะนั่งมองฉากชีวิตของผู้คนอยู่ริมฝั่งน้ำ เวลาแต่ละนาทีผ่านไปอย่างเชื่องช้า ดวงตะวันยามเย็นพาดผ่านขอบฟ้าทำมุม ๓๕ องศากับพื้นดิน เงาของต้นจามจุรีทอดทาบลงบนพื้นดิน หลังทอดอารมณ์ลอยไปกับสายน้ำ ผมก็หวนคิดถึงความทรงจำเกี่ยวกับแม่น้ำสายนี้ ความทรงจำลางๆ บอกกับผมว่า แท้จริงแล้ว แม่น้ำสายนี้มีต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาหิมะอันไกลโพ้นบนหลังคาโลก ต้นกำเนิดของแม่น้ำคือต้นธารของตำนานเล่าเรื่องการกำเนิดแม่น้ำ 

เมื่อพูดถึงแม่น้ำสายนี้ หากไม่กล่าวถึงนาคก็ดูเหมือนความเป็นไปในแม่น้ำสายนี้ขาดอะไรบางอย่าง ผู้คนที่พึ่งพาอาศัยแม่น้ำสายนี้ต่างเชื่อกันว่า ‘นาค’ มีอยู่จริง แต่ความมีอยู่จริง บางครั้งนาคก็ถูกเรียกให้แตกต่างกันออกไปตามลักษณะของภูมิประเทศ คนจีนโพ้นทะเลเรียกว่า ‘มังกร’ ส่วนคนท้ายน้ำทั้งลาว-ไทยเรียกว่า ‘พญานาค’

นอกจากพวกเขาจะมีความคิด ความเชื่อคล้ายกันหลายเรื่องแล้ว คนในลุ่มน้ำนี้บางกลุ่มยังเชื่อว่า บรรพบุรุษของพวกเขาเป็นนาค 

ในตำนานของลาวเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับนาคเอาไว้ว่า เย็นวันหนึ่งมีหญิงสาวคนหนึ่งได้ไปว่ายน้ำในทะเลสาบหนองแสใกล้บ้าน และเธอได้สัมผัสสิ่งหนึ่งที่เธอเองคิดว่าเป็นซุงลอยน้ำ หลังจากเธอได้สัมผัสวัตถุต้องสงสัยในวันนั้น หลายเดือนต่อมาเธอก็ตั้งท้องและให้กำเนิดทารกเพศชาย หลังจากเด็กชายลืมตาขึ้นมาดูโลกได้ไม่นาน พญานาคตนหนึ่งก็ปรากฏตัวขึ้น และกล่าวอ้างว่า เด็กคนนี้เป็นลูกของตนเอง พอเด็กคนนั้นเติบโตขึ้น เขาก็กลายเป็นผู้นำเผ่าที่พาผู้คนอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศลาว ด้วยความเชื่อนี้ ผู้ชายในลาวบางคนจึงนิยมสักรูปนาคไว้ตามร่างกาย

ชาวกัมพูชาก็มีความเชื่อเช่นกันว่า บรรพบุรุษของพวกเขาคือนาค ชาวกัมพูชาจึงมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับนาคชื่อว่า ‘พระทองนาคนาง’

ส่วนคนไทยก็มีความเชื่อไม่ได้แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่นก่อนผู้ชายจะได้บวชในพระพุทธศาสนา มีบทบัญญัติในพระไตรปิฎกว่า คนที่จะบวชต้องไปอยู่วัด เพื่อท่องคำขอบวชให้ได้เสียก่อน คนที่ไปอยู่วัด ชาวชนบททั่วไปเรียกว่า ‘ไปเป็นนาค’

ส่วนคนไทลื้อบริเวณหนองแส- ตือเจียง ในเขตสิบสองพันนา เรียกคนด้านท้ายน้ำที่พวกเขาพบเจอว่า ‘นาค’ เช่นกัน

หากผมไม่กล่าวจนเกินเลยมากนัก นาคกับแม่น้ำสายนี้ต่างเป็นสิ่งคู่กันมานาน และแม่น้ำสายใดจะมีตำนานเรื่องนาคได้เท่ากับแม่น้ำสายนี้ แม่น้ำที่กำลังกล่าวถึงอยู่นี้ชื่อว่า ’แม่น้ำโขง’ สายน้ำสายหนึ่งที่เป็นเหมือนพรมแดนแผ่นดิน

ความลึกล้ำตลอดความยาว ๔,๙๐๙ กิโลเมตรของแม่น้ำ ดูเหมือนว่ายังเป็นปริศนาเฝ้ารอการค้นพบว่า สะดือของสายน้ำลึกเท่าใด อยู่ที่ไหน เช่นกันในความลึกล้ำของสายน้ำล้วนมีความลึกลับซ่อนอยู่ โดยเฉพาะความลึกลับในคืนวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑ คืนที่ลูกไฟมหัศจรรย์พุ่งขึ้นจากสายน้ำ คนท้องถิ่นแถบนั้นทั้งลาว-ไทยบอกว่า ลูกไฟเหล่านี้คือบั้งไฟที่พญานาคจุดขึ้นมาจากใต้บาดาล เพื่อเป็นพุทธบูชาในวันออกพรรษา

หากพูดถึงบั้งไฟพญานาค หลายคนคงเคยได้ฟังเรื่องเล่าปรัมปราเกี่ยวกับการปรากฏกายของนาคต่อหน้าสิทธารัตถะ ผู้เป็นปฐมบทของพุทธศาสนา การปรากฏตัวของนาคเข้ามาเกี่ยวโยงในศาสนาได้ยังไง เรื่องนี้มีเรื่องเล่าปรัมปราว่า ชาติภพของมหาบุรุษผู้นี้ เขาเคยเกิดในตระกูลนาคชื่อว่า พระภูริทัต พอสิ้นชีพจึงเกิดมาเป็นสิทธารัตถะ และเป็นมหาศาสดาของศาสนาพุทธในลำดับต่อมา จากการจุติของภพชาติอันเกี่ยวเนื่องกันกับนาค เราจึงได้เห็น ได้ฟังเรื่องราวของนาคกับศาสนาพุทธมาจนบัดนี้

ก่อนเดินทางมาเยือนแม่น้ำสายนี้ เพื่อนของผมเล่าให้ฟังว่า แม่น้ำสายน้ำนี้ไหลเป็นเส้นแบ่งพรมแดนพม่า-ลาว-ไทย ถ้าไม่กล่าวให้เกินเลยมากนัก แม่น้ำสายนี้ก็เป็นเหมือนเส้นพรมแดนแผ่นดิน แม้ว่า แม่น้ำจะถูกขีดเพื่อเป็นเส้นแบ่งพรมแดนประเทศ แต่ภายใต้เส้นแบ่ง มันเป็นเพียงเส้นแบ่งบางๆ อันถูกห่อหุ้มด้วยนิยามของคำว่า ‘รัฐชาติ’ และนิยามอันนี้เองความเป็นเครือญาติของผู้คนจึงถูกตัดขาดจากกันสิ้นเชิง ในแต่ละปีเดือนของแม่น้ำ ผู้คนริมฝั่งน้ำต่างข้ามไปมาหาสู่กัน หากพูดเรื่องพรมแดนแล้ว แม่น้ำไม่เคยแบ่งพรมแดนของคนออกจากกัน มีเพียงคนด้วยกันเท่านั้นแบ่งคนออกจากกัน

ทุกพื้นที่ที่แม่น้ำไหลผ่าน ผู้คนริมฝั่งน้ำต่างได้ใช้ประโยชน์แตกต่างกันออกไป บางคนก็หาปลา บางคนก็ปลูกผัก บางคนก็ขับเรือรับจ้าง ในบรรดาผู้คนที่ได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำสายนี้ ดูเหมือนว่าคนหาปลาจะเป็นสัญลักษ์อยู่คู่กับแม่น้ำมาเนิ่นนาน โดยเฉพาะบริเวณสบรวก คนหาปลาบางคนได้อาศัยพื้นที่ตรงปากน้ำวางเบ็ด วางมองจับปลา ส่วนคนอีกกลุ่มหนึ่งก็ใช้จอดเรือรับ-ส่งนักท่องเที่ยว ตรงจุดนี้ แม่น้ำไหลเป็นเส้นแบ่งพรมแดนประเทศถึงสามประเทศจึงมีชื่อเรียกว่า ‘สามเหลี่ยมทองคำ’

เรื่องราวของสามเหลี่ยมทองคำในอดีตที่ผู้คนได้รู้จักล้วนเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับยาเสพติด และสิ่งผิดกฎหมายแทบทั้งสิ้น แต่ความเป็นจริงแล้ว สามเหลี่ยมทองคำยังมีสิ่งให้ค้นหามากกว่าความเป็นพื้นที่ค้าขายยาเสพติดอันยิ่งใหญ่

ในปัจจุบันเรื่องราวยาเสพติดแห่งสามเหลี่ยมทองคำค่อยๆ เลือนหายไปจากความทรงจำของผู้คน การหายไปของเรื่องราวในอดีตที่สามเหลี่ยมทองคำก็คงไม่ต่างกับการหายไปของคนหาปลาที่สบรวกเช่นกัน ๓-๔ ปีที่ผ่านมาทันทีที่โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือ เพื่อขนส่งสินค้าจากจีนตอนใต้มาถึงเชียงแสนแล้วเสร็จลง คนหาปลาก็เห็นเรือลำใหญ่น้ำหนักบรรทุกเป็นร้อยต้นคืบคลานมาตามสายน้ำ คลื่นของเรือใหญ่ได้ดูดกลืนเรื่องราวของเรือหาปลาลำเล็กไปเสียสิ้น คลื่นจากเรือใหญ่ได้พัดพาเรื่องราวของปลา และคนหาปลาให้จมหายไปกับสายน้ำ คนหาปลาหลายคนหาปลาไม่ได้ บางคนก็ตัดสินใจทิ้งเครื่องมือหาปลาบ่ายหน้าไปหาเรือลำใหญ่ เพื่อแลกกับค่าจ้างที่จะได้รับหลังจากแบกของลงเรือลำใหญ่ ไม่มีใครรู้ว่าขณะก้าวเดินแต่ละก้าวของคนหาปลาบนพื้นของเรือลำใหญ่ ภายใต้ดวงใจเท่าหนึ่งกำปั้นของเขา เขาจะเจ็บปวดกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นเพียงใด

หลังเรือใหญ่สัญจรหลายเที่ยวมากขึ้น แม่น้ำเคยสงบเงียบก็ค่อยๆ แปรเปลี่ยนไป หลังแม่น้ำแปรเปลี่ยน วิถีทางของคนหาปลาอันเต็มไปด้วยเรื่องเล่า และตำนานจึงยุติลงพร้อมกับเรือหาปลาบางลำกลายเป็นที่ปลูกผักสวนครัว ห้วงยามเช่นนี้คนหาปลาจึงได้เพียงแต่ถอยร่นออกจากวิถีแห่งการพึ่งพาแม่น้ำไปทีละคนสองคน

แน่ล่ะ น้ำในแม่น้ำย่อมมีขึ้น-ลงเป็นจังหวะของมัน ชีวิตของคนก็เช่นกัน ล้วนมีขึ้น-ลงมีจังหวะของการโลดเต้นแตกต่างกัน บางคนหาปลาตั้งแต่หนุ่มจนแก่เฒ่ายังหาปลาอยู่เช่นเดิม บางคนขับเรือรับจ้างก็ยังขับอยู่เช่นเดิม สายน้ำมีลีลา ชีวิตคนก็เช่นกัน หลายชีวิตที่กล่าวมา พวกเขาล้วนมีจังหวะชีวิตโลดแล่นบนนาวาชีวิตแตกต่างกันตามแต่จังหวะชีวิตของใครของมัน

กล่าวถึงแม่น้ำสายนี้แล้ว ในหน้าน้ำหลาก น้ำจะเป็นสีเหลืองขุ่น และไหลเชี่ยวกรากรุนแรง เสียงโครมครามของสายน้ำจะเกิดขึ้นเสมอเมื่อโถมเข้าสู่แก่งหิน เสียงสายน้ำโถมเข้าหาแก่งหินสามารถฉุดห้วงหัวใจของคนอ่อนไหวให้เดินทางไปสู่ความหวาดกลัวได้ดีเป็นยิ่งนัก

แต่ก็นั่นแหละ แม้ว่าสายน้ำจะโถมเข้าหาแก่งหิน และส่งเสียงดังน่ากลัวปานใด แต่คนหาปลาผู้มาพร้อมกับเรือหาปลาลำเล็กบนสายน้ำเชี่ยวกราก พวกเขาก็ยังคงทำงานเหมือนเช่นเคยเป็นมา ขณะเรือเล่นไปบนสายน้ำเชี่ยวกราก ไม่มีใครสามารถรู้ได้แน่ชัดว่า พวกเขาจะหวาดกลัวต่อสิ่งที่อยู่เบื้องหน้าหรือไม่ หากเปรียบเทียบคนหาปลากับผมแล้ว ผมสามารถบอกได้ว่า ถ้าใจไม่กล้าพอก็อย่าได้หวังว่าการนั่งอยู่บนเรือเหนือสายน้ำเชี่ยวจะมีความสุข

หากว่าแม่น้ำเบื้องหน้าผมคือ สายน้ำแห่งชะตากรรมอันเต็มไปด้วยความหวาดกลัวแล้ว นาวาอารมณ์ที่ค่อยๆ จมดิ่งลงสู่ก้นบึ้งแห่งสำนึกภายในก็คงเป็นจังหวะชีวิตหนึ่งของสายน้ำเช่นกัน

เมื่อตอนผมนั่งอยู่บนเรือเหนือสายน้ำเชี่ยว หัวใจที่เคยใหญ่เท่ากำปั้นของตัวเอง หดแคบลงเหลือเท่ามดแดงตัวหนึ่งเท่านั้น สองมือเกาะกุมแคมเรือไม่ยอมปล่อย แม้ว่ามันจะดูเป็นเรื่องตลกขบขันสำหรับคนอื่นก็ตามที แต่ผมก็ยินดีจะทำเช่นนั้น

เมื่อเครื่องยนต์เรือค่อยผ่อนเบาเครื่องลงก่อนจะถูกเร่งความเร็วผ่านสายน้ำหมุนวน หัวใจของผมก็ไม่ได้ต่างกัน ทุกครั้งที่หัวเรือบ่ายหน้าเข้าหาแก่งหรือน้ำวน หัวใจของผมเหมือนมันจะเต้นช้าลง แต่พอเรือพ้นออกมาจากแก่งและสายน้ำหมุนวนแล้ว การเต้นของหัวใจก็กลับมาเป็นปกติอีกครั้ง

ผมจำได้ว่า ในสมัยเป็นเด็ก ผมอยากมีเรือวิเศษสักลำที่สามารถเดินทางไปตามที่ต่างๆ ได้ตามใจปรารถนา แต่เมื่อโตขึ้นมาและได้มาล่องเรือในแม่น้ำสายนี้ ความคิดเรื่องของการมีเรือวิเศษได้หายไปอย่างสิ้นเชิง คงไม่ต้องเสียเวลามาอธิบายเพิ่มเติมว่า ทำไมผมจึงทิ้งความฝันนั้นไปเสีย

หลังกลับจากล่องเรือคราวนั้น ในลมดึกของคืนหนึ่ง ผมได้นั่งดูภาพถ่ายหลายภาพ และเมื่อภาพใบหนึ่งกำลังจะผ่านตาไป ผมก็หยิบภาพใบนั้นขึ้นมาเพ่งพิจารณา ไม่นานนักเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับคนในภาพถ่ายก็วนเวียนเข้ามาในความรู้สึก

Pages

Subscribe to RSS - blogs