อย่างไงก็ไม่ทราบเมื่อสตรีวัยกลางคนเห็นเด็กนักเรียนไม่ยอมลุกขึ้นยืนเพื่อเคารพเพลงชาติ ทำให้เธอปรี่เข้าไปหาเรื่องและตบกับจิกผมเด็กคนนั้นด้วยอารมณ์รุนแรง ผมเดาว่าถ้าเป็นสักหลายเดือนก่อน คุณป้าคงได้แค่ด่าหรือตำหนิในใจ แต่ด้วยความเกลียดชังกับภาพข่าวรายวันของพวกเยาวชนทั้งหลายที่ชูสามนิ้วในโรงเรียนและที่สำคัญคือเดินขบวนประท้วงทั้งเพื่อประชาธิปไตยและวิพากษ์สถาบันก็เลยทำให้เกิดการทำร้ายร่างกายดังกล่าว
ผมมาสงสัยว่าสมมติเพลงชาติบรรเลงตอนคุณป้าอยู่ในที่ส่วนตัวเช่นห้องน้ำหรือกำลังกินข้าวในบ้าน เธอจะลุกขึ้นยืนหรือไม่ ซึ่งตรงนี้โดยสามัญสำนึกย่อมไม่มีใครทำอยู่แล้ว (หรือว่ามี ?) แสดงว่าการยืนตรงเคารพธงชาติเป็นพฤติกรรมในสถานที่สาธารณะ (public space) ที่เป็นตัวบ่งบอกต่อสาธารณชนว่าเราเป็นพลเมืองดีที่เปี่ยมด้วยการรักชาติ อันเป็นอัตลักษณ์ร่วมหมู่ที่รัฐปรารถนา กระนั้นผมคิดว่ามันควรมีความซับซ้อนกว่านี้เพราะนิยามอันไม่ชัดเจนของคำว่าชาตินั้นเอง ชาติโดยความหมายหมายถึงการดำรงอยู่ของคนจำนวนมากที่มีลักษณะหลายอย่างร่วมกัน นักวิชาการบางคนอย่างเบนเนดิก แอนเดอร์สันเห็นว่า ชาติก็เป็นเพียงชุมชนในจินตนาการ (Imagined community) ซึ่งกลายเป็นชื่อหนังสืออันโด่งดังของท่านมาแล้ว แต่ผมก็ขอจำขี้ปากท่านมาอธิบายตามความเข้าใจของผมเองนั้นก็คือชาติเป็นสิ่งที่ปัจเจกชนสร้างขึ้นมาในความคิดของตัวเองนั้นเองผ่านระบบสัญลักษณ์ต่างๆ ในชีวิตของเรา ด้วยคงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะพบกับคนไทยด้วยกันทุกคนในประเทศหรือเดินทางไปยังทุกจุดของประเทศ แต่เราก็ระลึกได้ว่าเป็นเราเป็นคนชาติเดียวกับคนอีกร่วมเกือบ 70 ล้านผ่านระบบสัญลักษณ์เช่นแผนที่ การศึกษาเช่นหนังสือเรียนวิชาสังคมและภาษาไทย ภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวของสถานที่ต่างๆ และบุคคล รวมไปถึงการเน้นให้ภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ฯลฯ และสัญลักษณ์ที่จะกล่าวในที่นี้คือธงชาติ เพลงชาติและการยืนเคารพทั้ง 2 อย่างพร้อมกัน
จะว่าไปแล้วธงชาติ เพลงชาติและการยืนเคารพทั้ง 2 อย่างพร้อมกันของไทยมีพัฒนาการมาแค่ร้อยกว่าปีนี้เอง เริ่มต้นจากธงชาติ คือช่วงรัชกาลที่ 6 ที่ทรงเป็นบิดาแห่งลัทธิชาตินิยมไทยและผู้ประดิษฐ์ธงชาติไทยที่เป็นไตรรงค์คือมี 3 สี (คล้ายกับธงของประเทศคอสตาริกาแต่สลับตำแน่งของแถบสี) ซึ่งพระองค์ได้สร้างขึ้นมาเพื่อรองรับกับสถาบันสำคัญคือชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ ซึ่งบางแห่งบอกว่าพระองค์ได้แรงบรรดาลใจมาจากสถาบันหลักของอังกฤษคือ God King and Country จนมาถึงสมัยคณะราษฎรที่ต้องการให้มีเพลงชาติทั้งเนื้อร้องและทำนองอันสื่อถึงรัฐไทยใหม่ เพราะเพลงชาติแต่เดิมก็คือเพลงสรรเสริญพระบารมีที่ยังติดอยู่กับระบอบเดิม เพลงชาติไทยมีทำนองที่แต่งโดยพระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) แม้เป็นเพลงมาร์ชแต่ว่ากันว่าท่านได้แรงบันดาลใจมาจากเสียงรถรางขณะท่านนั่งเดินทางไปทำงาน ส่วนเนื้อร้องนั้นมี 2 เวอร์ชั่น เวอร์ชั่นแรกแต่งโดยฉันท์ ขำวิไล และเวอร์ชั่นที่ 2 แต่งโดยหลวงสารานุประพันธ์ซึ่งชนะเลิศการประกวดในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามผู้มีโยบายรัฐนิยมให้มีการชักธงขึ้นสู่ยอดเสาเวลาแปดโมงเช้าและให้ประชาชนทุกคนยืนเคารพ จนกลายเป็นกฎหมายก่อนจะถูกยกเลิกในเวลาต่อมา ดังนั้นสามารถกล่าวได้ว่าเพลงชาติและการยืนเคารพเพลงชาติคือผลผลิตของคณะราษฎรและสมาชิกอย่างจอมพล ป.โดยการยืมธงไตรรงค์ของรัชกาลที่ 6 นั้นเอง การยืนเคารพธงชาติจึงก็ถือว่าเป็นนาฏกรรมหนึ่งของรัฐ (เหมือนบทความเกาหลีเหนือของผม) นั่นคือจอมพล ป.ต้องการให้เป็นการปฏิวัติวัฒนธรรมในการเสริมสร้างอำนาจให้กับตัวเองหรือเป็นการสลัดรัฐไทยออกจากการเป็นสยามเก่า แต่ก็คงไว้ให้คนยืนตรงต่อเพลงสรรเสริญพระบารมีในบางวาระเช่นการปรากฎพระองค์ของพระมหากษัตริย์หรือในโรงภาพยนตร์ นโยบายเช่นนี้ประสบความสำเร็จอย่างสูงยิ่งถึงขนาดผู้ปกครองรัฐกลุ่มที่เป็นปรปักษ์กับจอมพลป.ยังไม่สามารถยกเลิกนาฏกรรมเช่นนี้ได้ จึงได้แต่ใช้ประโยชน์จากมันจนถึงปัจจุบัน
สำหรับเนื้อหาเพลงชาติไทยหากมองแบบไม่มีอคติถือว่าเป็นการบิดเบือนความจริงหลายอย่างในอดีต (หรือกล่าวอีกง่ายคือเสนอวาทกรรมเกี่ยวกับอดีตอีกแบบที่มีความเป็นไปน้อย) เพราะหลวงสารานุประพันธ์คนแต่งเนื้อก็เกิดในยุคปลายรัชกาลที่ 5 นี้เองมาแต่งเนื้อร้องก็ประมาณปี พ.ศ. 2482 ทั้งท่านและคนอนุมัติคือจอมพล ป.ก็ใช้มุมมองสำเร็จรูปของความเป็นรัฐชาติไปแล้ว อย่างเช่นประโยค "ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย" ซึ่งตามความจริงในอดีต คนไทยล้วนมีบรรพบุรุษหลากหลายแห่ง จีน มอญ แขก ฝรั่ง ญวนฯลฯ ที่อยู่ในหลากหลายอาณาจักร แต่ก็ถูกเรียกว่าเป็นสยามหรือไทยในภายหลังทั้ง ที่ในยุคนั้น พวกเขาไม่ได้จัดว่าตัวเองเป็นคนไทยแต่ประการใด แต่เพลงก็ทำให้เราเชื่อว่ามีความเป็นชาติไทยมาตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหง หรือที่ว่า "ไทยนี้รักสงบแต่ถึงรบไม่ขลาด" ซึ่งเป็นการสร้างภาพแบบ nostalgia หรือภาพในอดีตแบบฝันๆ เพราะในอดีตบรรพบุรุษของคนไทยก็ไม่ได้รักสงบอะไร ก็มีการไปตี ปล้นสะดม ยึดเอาอาณาจักรเพื่อนบ้าน อันเป็นเรื่องปกติธรรมดามากของอาณาจักรในสมัยนั้น แต่ด้วยลัทธิชาตินิยมในปัจจุบันถือว่าเป็นเรื่องทางจริยธรรมไปเสียนั่นคือเชื่อว่าคนไทยเป็นชาวพุทธจึงไม่เคยชั่วร้ายขนาดนั้นและมักเป็นเหยื่อเสียมากกว่า ภาพการเสียกรุงศรีอยุธยาทั้ง 2 ครั้งจึงถูกนำมาขยายเสียใหญ่โตจนเราไม่ค่อยสนใจเรื่องการที่กรุงศรีอยุธยาไปตีเชียงใหม่ ลาวหรือเขมร หรือประโยคที่ว่า "แต่ถึงรบไม่ขลาด"ก็เป็นที่น่าสนใจว่าในอดีต ก็มีคนหนีทหารหรือแม้แต่หนีภาษีอากรการรีดนาทาเร้นจากรัฐบาลกลางไปตั้งรกรากอยู่ที่อื่นเป็นจำนวนมาก ไม่ได้มีความภักดีเหรือพันธะผูกพันอะไรดังที่รัฐชาติยุคใหม่ต้องการ แต่ภาพของวีรกรรมของหมู่บ้านบางระจัน หรือท้าวสุรนารีก็ถูกผลิตซ้ำจนกลายเป็นภาพตัวแทนของคนที่ถูกจัดว่าเป็นคนไทยทั้งมวลไปเสีย
ดังนั้นเนื้อเพลงจึงไม่ใช่การบอกเล่าเรื่องอดีตแต่ประการใดแต่เป็นการสร้างภาพตามอุดมคติของประชาชนที่ภักดีต่อรัฐตามความฝันของคณะราษฎรได้รับอิทธิพลและผลิตซ้ำจากลัทธิชาตินิยมจากรัชกาลที่ 6 ที่ทรงรับมาจากต่างประเทศอีกที และในยุคจอมพล ป.ก็ได้รับอิทธิพลจากเรื่องเชื้อชาตินิยม เหมือนกับรูปปั้นหรืออนุสาวรีย์ทั้งหลายซึ่งแพร่หลายในยุคหลังรัชกาลที่ 5 จำนวนมากก็คือผลผลิตของศิลปะยุคเรเนสซองค์ผ่านอาจารย์ศิลป์ พีระศรี กระนั้นด้วยกระบวนการทำให้ไทย (Thai-ization) มาหลายทศวรรษทำให้เราคิดว่ามันคือความเป็นไทย ธงชาติ เพลงชาติจึงกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันละเมิดไม่ได้ และต้องทุกคนต้องยืนเคารพการชักธงชาติและเพลงชาติ ทั้งที่คนยืนอาจไม่ได้เข้าใจสารัตถะอะไรในเนื้อเพลงก็ได้จนไปตลอดชีวิต นอกจากแค่รู้ว่าปลุกใจให้รักชาติ และการที่ไม่มีใครบ้ายืนเคารพเพลงชาติในที่ส่วนตัวจึงสะท้อนว่าการยืนเป็นการแสดงให้คนแปลกหน้าเห็นว่าเราเป็นพลเมืองดีที่รักชาติเสียมากกว่า หรือตามหลักจิตวิทยาคือการกระทำตัวให้กลมกลืนกับคนรอบข้างเพื่อไม่ให้เกิดการถูกเหยียดหยาม
ลัทธิชาตินิยมนี้แตกต่างจากประชาธิปไตยและคุณค่าเช่นสิทธิเสรีภาพซึ่งความจริงชนชั้นนำของไทยรู้จักมาพอๆ หรือก่อนลัทธิชาตินิยมเสียอีก (บ้างว่าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 หรือ 4) แต่ก็ถูกกีดกันให้เป็นฝรั่งตลอดไป เพราะมันเป็นการสุ่มเสี่ยงที่จะนำไปสู่การทำลายระเบียบทางอำนาจแบบจารีตนิยมแบบไทยๆ ผ่านคำอ้างของชนชั้นนำเช่นบอกว่าคนไทยยังโง่เขลาจึงไม่พร้อมต่อระบอบประชาธิปไตย สังคมไทยจึงกลายเป็นระบบ 2 ซิมคือซิมแรกที่เป็นเปลือกหน้าคือประชาธิปไตยที่คนไทยจำนวนมากเสื่อมศรัทธา และซิมที่สองคือเปลือกในที่เป็นเผด็จการซึ่งใช้ประโยชน์จากชาตินิยมและราชานิยมที่คนไทยจำนวนมากศรัทธา ดังนั้นการที่คุณป้าบอกว่าที่ไปตบเด็กนั้นไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองเพียงเพราะเด็กบอกว่าเป็นสิทธิเสรีภาพ จึงเป็นการโกหกชัด ๆ
กระนั้นในขณะที่สังคมไทยและคนรุ่นใหม่กำลังพบกับการเปลี่ยนโลกทัศน์ครั้งใหญ่อันได้รับจากอิทธิพลของการเมืองโลกอย่างเช่นการเรียกร้องประชาธิปไตย สิทธิและเสรีภาพ หรือความหลากหลายทางเชื้อชาติ สีผิว เพศสภาพ ซึ่งเพลงชาติไทยไม่อาจตอบสนองตรงนี้ได้ รัฐไทยยังพร่ำเน้นวาทกรรมความภักดีและความสามัคคีแก่คนไทยนอกเหนือจากเพลงชาติอย่างคุณธรรม 12 ประการ เพลงวันเด็ก หรือหนังสือเรียนซึ่งในรุ่นผมก็คือปิติ มานะ วีระ แต่ในขณะเดียวกันตัวรัฐได้กลายร่างเป็นภาพของกลุ่มคนแก่ที่ฉ้อฉล โลภโมโทสัน พร้อมจะทำทุกอย่างในการคงไว้ซึ่งอำนาจแม้แต่การสังหารหมู่ สิ่งนี้ได้ทำให้คนรุ่นใหม่เกิดความเสื่อมศรัทธาต่อวาทกรรมเหล่านั้น เพราะอย่างที่บอกไว้ว่าชาติคือชุมชนในจินตนาการ ความรักชาติจึงมีความหมายที่เปลี่ยนแปลง เลื่อนไหลไปได้เรื่อยๆ ไม่มีใครสามารถยึดกุมได้อีกต่อไป มีคนมากมายที่ยืนตรงเคารพธงชาติด้วยความซาบซึ้งหรือแม้แต่พร่ำบอกให้รักชาติ แต่โกงกินประเทศชาติบรรลัย ซึ่งความจริงเหล่านี้ถูกเผยแพร่และผลิตซ้ำผ่านโซเชียลมีเดียอันทรงพลัง ทำให้คนจำนวนมากตาสว่างและไม่คิดว่าการยืนตรงเคารพธงชาติจะเป็นตัวบ่งบอกความรักชาติเสมอไปและหันมานิยามความรักชาติเสียใหม่โดยตั้งอยู่บนประชาธิปไตยและลัทธิเสรีนิยมดังข้างบน
คนรุ่นใหม่จำนวนมากจึงแสดงลัทธิชาตินิยมตามแบบของตัวเองผ่านสัญลักษณ์แห่งการต่อต้านนั่นคือหันมาประท้วงและแสดงสัญลักษณ์บางอย่างเช่นการไม่ยืนในโรงภาพยนตร์และการชูสามนิ้วขณะร้องเพลงชาติขณะอยู่ในแถวของโรงเรียน (ตรงนี้ก็ทำให้ผมอัศจรรย์ใจอย่างยิ่งว่าทำไมมหาวิทยาลัยถึงไม่ให้นักศึกษายืนตรงเคารพธงชาติเหมือนโรงเรียน หรือว่าเยาวชนอายุมากกว่าเดิมนิดหน่อยก็บรรลุแห่งการรักชาติแล้วหรือ? แสดงว่าการรักชาติจึงเลื่อนไหลไปตามพื้นที่และอาณาเขต) สาเหตุที่นักเรียนผู้หญิงคนนั้นไม่ยืนเพราะอุดมการณ์ของคนรุ่นใหม่หรือว่าเพราะปวดประจำเดือนอย่างไรนั้นไม่ชัดเจน แต่ที่ชัดเจนคือหญิงวัยกลางคนซึ่งแม้อ้างว่าไม่ได้ฝักใฝ่กลุ่มการเมืองใด แต่พฤติกรรมกักขฬะและการใช้ความรุนแรงของเธอนั้นบอกอย่างชัดเจนว่าเธอยึดมั่นตามอุดมการณ์ชาตินิยมที่กำหนดอัตลักษณ์ของการเป็นพลเมืองดีที่รักชาติด้วยการยืนเคารพเพลงชาติ เมื่อเธอเห็นเด็กผู้หญิงไม่กระทำตามจึงไม่อาจรับได้ ด้วยเห็นว่าเป็นแค่เยาวชนแต่กลับหาญกล้าในการฝ่าฝืนนาฏกรรมอันสะท้อนถึงระเบียบทางอำนาจที่เธอคุ้นเคยมาทั้งชีวิต เหมือนกับความรู้สึกของชาวเสื้อเหลืองทั้งหลายที่ออกมาร่วมกันปกป้องสถาบันต่อกลุ่มคณะราษฏร 2563
ดังนั้นไม่ต้องประหลาดใจว่าจะมีคนคิดแบบคุณป้านักตบเป็นจำนวนมากรวมไปถึงดารานักบุญอย่างบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ จึงได้มีการเรี่ยไรเงินกันระหว่างคนเหล่านั้นเพื่อช่วยเหลือเพื่อนร่วมอุดมการณ์ และเหมือนเป็นสัญลักษณ์ว่าพวกขวาอนุรักษ์นิยมไม่ได้รู้สึกผิดอะไรที่จะใช้ความรุนแรงต่อคนที่กล้าขบถต่อกฎจารีตประเพณีของสังคมไทยที่ตนเห็นว่าดีงามและมีความจริงแท้ดุจดังสัจธรรมของโลก
บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
ช่วงนี้หลายประเทศได้ทำการเฉลิมฉลองเนื่องในวาระครบรอบการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 คือเมื่อ 75 ปีที่แล้ว (ปี พ.ศ.1945 หรือ พ.ศ.2488) ประเทศที่ได้รับชัยชนะอย่างเช่นสหรัฐอเมริกาและพันธมิต
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
I remember reading the interview by the last promoter of คณะราษฏร (People's Party or PP) from the Sarakandee magazine ,probably a decade ago.At that time he was ageing , frail ,but still p
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
n the future of disruptive world,if I am able to make the documentary film about Sergeant Major Chakaphan Thomma who committed the worst Mass shooting in Thai history , what will the t
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
Puzzling that it may seem when Thai authority chose the day king Naresuan reputedly fought with Hongsawadee's viceroy on the elephants as the Army Day.This is because, on that glorious
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เห็นกระแสแปนิคเมื่อหลายวันก่อน ทำให้นึกได้ว่าชาวโลกมีการคาดหมายหรือหวาดกลัวมานานแล้วว่าจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 เริ่มได้ตั้งแต่ยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 มาหมาดๆ นั่นคือการกลายเป็นศัตรูระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพโซเวียตซึ่งเคยเป็นพันธมิตรกันแบบหลวมๆ ในการต่อสู้กับฝ่ายอักษะ การสิ้นสุดของสงครามได้ทำให้ฝ่า
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
นตำราเรียนมักบอกว่าหลังสิ้นสุดสงครามเย็นและการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991 มีประเทศที่ยังเป็นคอมมิวนิสต์เหลืออยู่เพียง 5 ประเทศคือจีน เวียดนาม ลาว คิวบาว และเกาหลีเหนือ (ตลกดีมีคนที
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมาป็นวันครบรอบ 70 ปีของการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมีการเฉลิมฉลองครั้งยิ่งใหญ่ของรัฐบาลจีนไปพร้อมกับการประท้วงของชาวฮ่องกงซึ่งมุ่งมั่นท้าทายรัฐบ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
"...All right, Mr. DeMille, I'm ready for my close-up."
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
หากใครมาดูหนังเรื่อง Wild Strawberries แล้วเคยประทับใจกับหนังเรื่อง About Schmidt (2002) ที่ Jack Nicholson แสดงเป็นพ่อหม้ายชราที่ต้องเดินทางไปกับรถตู้ขนาดใหญ่เพื่อไปงานแต่งงานของลูกสาวและได้ค้นสัจธรรมอะไรบางอย่างของชีวิตมาก่อน ก็จะพบว่าทั้งสองเ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
Throne of Blood (1957) หรือ"บัลลังก์เลือด" เป็นภาพยนตร์ขาวดำของยอดผู้กำกับภาพยนตร์ญี่ปุ่นคืออาคิระ คุโรซาวา ที่ทางตะวันตกยกย่องมาก เกือบจะไม่แพ้ Seven Samurai หรือ Rashomon เลยก็ว่าได้ ลักษณะเด่นของมันก็คือการดัดแปลงมาจาก Macbeth