Skip to main content

วิจักขณ์ พานิช
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร

“ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าการฆ่าคน” หรือ “ฆ่าเวลาบาปไม่น้อยไปกว่าการฆ่าคน” คือ คำคมของพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) ที่ได้เผยแพร่ออกสู่สาธารณชนผ่านทางทวิตเตอร์ (Vajiramedhi) ในวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๕๓  หนึ่งวันก่อนเหตุการณ์การสลายการชุมนุมที่สี่แยกคอกวัว อันเป็นเหตุการณ์ทางการเมืองที่ต่อเนื่องไปสู่การสลายการชุมนุมครั้งใหญ่ในสมัยรัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓ ที่สี่แยกราชประสงค์ จนทำให้มีประชาชนบาดเจ็บล้มตายมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย  สองปีผ่านไป “วรรคทอง”ดังกล่าวยังคงเป็นที่กล่าวถึงกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงและนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์และรัฐศาสตร์ ที่ยังคงตั้งคำถามถามถึงความเหมาะสมของข้อความที่ออกมาจากการคิดใคร่ครวญด้วยสติปัญญาของพระสงฆ์ที่ได้ชื่อว่าเป็นที่ยอมรับสูงสุดรูปหนึ่งในหมู่คนชั้นกลางมีการศึกษาในปัจจุบัน

วิวาทะนี้ถือเป็นประเด็นทางสังคมที่ควรหยิบยกขึ้นมาเป็นบทเรียนและกรณีศึกษา เพื่อทำความเข้าใจในฐานะ “ปรากฏการณ์” อันสะท้อนถึงสถานะและบทบาทของคำสอนทางศาสนาที่มีต่อสังคม  อีกทั้งการมีส่วนร่วมของพุทธบริษัทที่เหลือ อันได้แก่ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา เพื่อจะนำไปสู่การอภิปรายถกเถียงถึงการวางตัวที่เหมาะสมของพุทธศาสนา ในฐานะรากฐานทางสติปัญญาให้กับสังคมไทยที่กำลังก้าวสู่ความเป็นสังคมประชาธิปไตยอย่างแท้จริง 

ข้อความ “การฆ่าเวลาบาปไม่น้อยไปกว่าการฆ่าคน” ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงอยู่ในหน้าทวิตเตอร์ของ ว.วชิรเมธี

ข้อความ “ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าการฆ่าคน” ที่ถูกนำขึ้นทวิตเตอร์ในคืนวันที่ ๙ เมษายน ๕๓ และถูกลบออกไปในภายหลัง

“ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าการฆ่าคน?”

เหตุการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองที่เริ่มก่อตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมีนาคม ๒๕๕๓ เริ่มส่อเค้าความรุนแรงเมื่อมีข่าวว่ารัฐบาลมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ออกปฏิบัติการสลายการชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์  ในวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๕๓ กองกำลังตำรวจคอมมานโดเคลื่อนย้ายกำลังผ่านสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไปยังภายในโรงพยาบาลตำรวจ และในช่วงบ่ายเริ่มมีการดันกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่บริเวณประตูทางเข้าโรงพยาบาลตำรวจ ก่อนที่วันถัดไปทหารจะออกปฏิบัติการ “ขอคืนพื้นที่” ตั้งแต่บริเวณสะพานมัฆวานฯ ถนนดินสอ และสี่แยกคอกวัว จนเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก  นั่นคือบริบทของเหตุการณ์บ้านเมืองในขณะนั้น ที่แทบจะเรียกได้ว่าตึงเครียดถึงขีดสุดในคืนวันที่ ๙ เมษายน นั่นเอง ที่คำคมของว.วชิรเมธี  “ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าการฆ่าคน” ได้ปรากฏบนหน้าจอทวิตเตอร์ของผู้ติดตามหลายหมื่นคน ซึ่งในภายหลังคำคมดังกล่าวได้ถูกถอดออก และปรับแก้เป็น “ฆ่าเวลาบาปไม่น้อยไปกว่าการฆ่าคน” แต่ไม่ว่าเนื้อความจะเป็นเช่นไร หลังจากการปรากฏของข้อความนี้ ทำให้มีผู้ไม่พอใจเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในฝั่งของผู้ชุมนุมเสื้อแดง ที่มองว่าข้อความดังกล่าว หากตีความในบริบททางการเมืองที่ตึงเครียดในขณะนั้น ย่อมหมายถึงการให้การสนับสนุนการเข้าสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่รัฐในทางอ้อม

ภายหลังเหตุการณ์ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓ ท่ามกลางความเจ็บแค้นของผู้ชุมนุมที่ถูกทหารใช้อาวุธสงครามเข้าเข่นฆ่ากลางสี่แยกราชประสงค์ จนทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก  วรรคทอง “ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าฆ่าคน” ถูกนำมากล่าวถึงอีกครั้ง โดยได้ถูกนำไปเปรียบเทียบกับ “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” วรรคทองของพระกิตตวุฑโฒ ที่ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ในนิตยสารจตุรัส ฉบับวันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๑๙  ซึ่งต่อมาได้ถูกฝ่ายขวา อันได้แก่ นวพลกลุ่มกระทิงแดงในสมัยนั้น นำไปใช้เป็นวาทกรรม โจมตีฝ่ายซ้าย และยุยงให้คนไทยเกลียดชังนิสิตนักศึกษาที่ชุมนุมต่อต้านการกลับเข้าประเทศของจอมพลถนอม กิตติขจร ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำไปสู่การสังหารหมู่กลางเมืองในเหตุการณ์ ๖ ตุลา พ.ศ.๒๕๑๙

จตุรัส: การฆ่าฝ่ายซ้าย หรือ คอมมิวนิสต์บาปหรือไม่

กิตติวุฑโฒ: อันนั้นอาตมาก็เห็นว่าควรจะทำ คนไทยแม้จะนับถือพุทธก็ควรจะทำ แต่ก็ไม่ใช่ถือว่าเป็นการฆ่าคนเพราะว่าใครก็ตามที่ทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มันไม่ใช่คนสมบูรณ์ คือต้องตั้งใจ เราไม่ได้ฆ่าคน แต่ฆ่ามาร ซึ่งเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน

การฆ่าคนเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ถือเป็นบุญกุศลเหมือนฆ่าปลาแกงใส่บาตรพระ

ในแวดวงพุทธศาสนา บทเรียนสำคัญทางประวัติศาสตร์กรณีพระกิตติวุฑโฒอาจไม่ได้ถูกกล่าวถึงมากนัก หากจะกล่าวถึงบ้างก็มักเป็นไปในทางการประณามตัวบุคคลว่ากิตติวุฑโฑเป็นพระเลวที่ไม่ควรได้ชื่อว่าเป็นพระ ทว่าในทางสังคมศาสตร์ นี่คือบทเรียนทางประวัติศาสตร์ราคาแพงที่สุดครั้งหนึ่ง ที่พุทธศาสนิกชนควรระลึกไว้เป็นข้อเตือนสติทุกครั้งที่พุทธศาสนาก้าวล่วงเข้ามามีบทบาททางสังคมและการเมือง การเพิกเฉยและมองว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ส่วนบุคคล โดยไม่ตั้งคำถามถึงเหตุปัจจัยอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น สถานะและบทบาททางการเมืองของพระสงฆ์ในสังคมประชาธิปไตย โครงสร้างคณะสงฆ์ที่อิงแอบอยู่กับอำนาจรัฐและผลประโยชน์ทางการเมือง แนวโน้มการไม่ยอมรับให้มีการวิพากษ์วิจารณ์พระสงฆ์โดยสาธารณชน และการขาดความรับผิดชอบทางสังคมของพระสงฆ์ในฐานะบุคคลสาธารณะ ฯลฯ   ก็ย่อมสนับสนุนให้เหตุการณ์แบบเดิมเกิดขึ้นซ้ำรอยอีก ผลของคำคมของพระที่ได้ชื่อว่าเป็นปัญญาชนสาธารณะเหล่านี้อาจมีราคาแพงเกินกว่าที่ประชาชนคนธรรมดาจะจ่ายไหว

ความเหมือนและความต่างของ “ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าการฆ่าคน” กับ “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป”

การนำวรรคทอง “ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าการฆ่าคน” ของว.วชิรเมธี ไปเปรียบเทียบกับ “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” ของพระกิตติวุฑโฒนั้น นัยหนึ่งอาจดูเป็นเรื่องรุนแรงเกินจริง  เพราะข้อความดังกล่าวไม่ได้ถูกนำไปใช้เป็น “license to kill” หรือ ข้ออ้างในการฆ่าเหมือนในกรณี “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป”  และจากคำอธิบายของว.วชิรเมธี “ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าการฆ่าคน” ไม่ได้มีเจตนาที่จะแสดงนัยทางการเมือง ต่างจากกรณีกิตติวุฑโฒ ที่เป็นความคิดเห็นทางการเมืองอย่างเปิดเผย  จึงอาจสรุปได้ว่า “ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าการฆ่าคน” เป็นเพียงข้อคิดเตือนใจลอยๆ ที่เผอิญถูกผลิตซ้ำออกมาในโลกออนไลน์ช่วงการสลายการชุมนุม อย่างไม่สอดคล้องกับกาลเทศะเท่านั้น

แต่ไม่ว่าเจตนาของว.วชิรเมธีในการสื่อสารข้อความนี้จะเป็นเช่นไร จะคำนึงถึงบริบททางการเมือง ณ ขณะนั้นหรือไม่ และไม่ว่าว.วชิรเมธีจะเป็นคนโพสต์ข้อความนี้ด้วยตนเองหรือไม่ นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญสำหรับผู้ที่มองเห็นปัญหา เท่ากับการที่วลี “ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าการฆ่าคน” ได้ปรากฏเผยแพร่อยู่บนหน้าทวิตเตอร์ของว.วชิรเมธีในช่วงเวลาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม ท่ามกลางสักขีพยานเป็น followers จำนวนนับหมื่นนับแสน ก่อให้เกิดการรับรู้ การตีความ และผลทางสังคมที่ตามมาไม่ว่าจะเป็น “like” “ถูกใจ” “สาธุ” “สะใจ” “แชร์นะคะ” “retweet” หรือสร้างความโกรธแค้น ไม่พอใจให้กับผู้รับสารกลุ่มหนึ่งที่มีชีวิตผูกโยงอยู่กับ “การฆ่า” ของเจ้าหน้ารัฐภายใต้บริบททางการเมืองอันร้อนระอุในขณะนั้น  เมื่อผลสะเทือนทางสังคมของคำคมดังกล่าวได้เกิดขึ้นและแพร่กระจายออกสู่สาธารณะไปแล้ว  ข้ออ้างที่ว่า “ศาสนาไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง” หรือ “อาตมาไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง” จะยังคงสามารถใช้อธิบายสถานะและบทบาทของ “ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าฆ่าคน” ในสังคมประชาธิปไตยได้อีกหรือไม่?

คำแก้ต่าง ข้อสงสัย และคำวิพากษ์วิจารณ์ยังคงเวียนวน ท่ามกลางข้อเท็จจริงที่ว่า สองปีผ่านไป ยังคงไม่มีการแสดงความรับผิดชอบ หรือคำขอโทษต่อสาธารณชนใดๆ จากปากของว.วชิรเมธี  

ธรรมะไม่มีบริบท?

“เวลามีปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง สังคมก็จะมีพระกลุ่มหนึ่งทำบทบาทในแบบที่พูดง่ายๆ คือเหมือนพวกครีเอทีฟในวิชาโฆษณาทำกัน คือ ผลิตคำคมออกมาอธิบายปรากฏการณ์ที่ซับซ้อนด้วยคำตอบง่ายๆ ...คำถามคือแล้วสินค้าหรือสิ่งที่พุทธศาสนาผ่านพระกลุ่มที่ทำให้ตัวเองเป็นสินค้ามีให้กับสังคม มันมีอยู่แค่นี้เองเหรอ อันนี้อาจมองเป็นปัญหาของพระเอง แต่ก็เป็นปัญหาของสังคมเองด้วย ที่ไม่ได้ต้องการคำตอบที่ลึกซึ้งกว่านี้แล้ว สิ่งที่คนในสังคมต้องการไม่ใช่คำตอบที่ลึกซึ้ง แต่เป็นคำตอบที่ง่ายๆ หรืออธิบายอะไรก็ตามในแบบที่คนพร้อมจะเชื่อ

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์, จาก “เสวนาพุทธศาสนากับปัญหาสังคมและการเมือง”

ในบทสัมภาษณ์โดย นิตยสาร GM ตีพิมพ์ฉบับเดือนธันวาคม ๒๕๕๓  ว.วชิรเมธี ได้ชี้แจงถึงบริบทของคำสอน “ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าการฆ่าคน” โดยอธิบายว่า ตั้งใจยกตัวอย่างถึงองคุลีมาล เพื่อเป็นอุทาหรณ์สอนใจในเรื่องคุณค่าของเวลา  ซึ่งอาจตีความตามการอธิบายของว.วชิรเมธีได้ว่า การมองข้ามโอกาสที่จะสำนึกผิดขององคุลีมาลนั้น ย่อมนำไปสู่บาป (การฆ่าไม่มีที่สิ้นสุด) ยิ่งกว่าการฆ่าคนเพียงครั้งเดียว  “

จริงๆ แล้ว เรื่องนี้มันไร้สาระเสียจนอาตมาไม่อยากพูดอะไร อาตมากำลังสอนเรื่องคุณค่าของเวลา โดยยกตัวอย่างเรื่องราวขององคุลีมาลว่า พระองคุลีมาลฆ่าคนมาแล้ว 999 คน วันหนึ่งท่านพบกัลยาณมิตร คือพระพุทธเจ้า ท่านก็ได้มาบวช กลับตัวกลับใจ จนกลายมาเป็นพระอรหันต์ได้ สรุปได้ว่า องคุลีมาลยังกลับใจ แล้วคุณทำไมไม่กลับตัว นั่นคือเรื่องของการฆ่าคนยังมีโอกาสที่คนคนหนึ่งจะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้เมื่อเขาสำนึกผิด แต่เวลาทุกวินาทีเมื่อมันไหลผ่านเราไปแล้ว มันจะผ่านเราไปครั้งเดียวเท่านั้น”

ว.วชิรเมธี, บทสัมภาษณ์ในนิตยสาร GM ธันวาคม ๒๕๕๓

ในการอธิบายเหตุผลและที่มาของคำคมดังกล่าว ว.วชิรเมธีเลือกที่จะอธิบายตัวเอง และติเตียนนักวิชาการกลุ่มหนึ่งที่ดึงเอาข้อคิดคำคมของตนไปอ้างอย่างผิดๆ โดยไม่รู้บริบท และนำไปโจมตีตนอย่างเสียๆ หายๆ เช่น “ไม่คำนึงถึงบริบทของคำสอน” “การสรุปที่ตื้นเขินและมักง่าย” เป็นต้น แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ว.วชิรเมธีกลับไม่สนใจที่จะพูดถึงบริบททางสังคมและการเมืองในช่วงเวลาที่ข้อความดังกล่าวได้ถูกเผยแพร่ซ้ำบนอินเตอร์เน็ต คือ ๙ เมษายน ๒๕๕๓ เลยแม้แต่น้อย ซึ่งสำหรับผู้เขียน นั่นต่างหากที่เป็นต้นตอของปัญหา

คำว่า “ไม่มีบริบท” ของว.วชิรเมธี กับคำว่า “ไม่มีบริบท” ของนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์และรัฐศาสตร์ ดูเหมือนจะเป็นคนละความหมายกันโดยสิ้นเชิง  สิ่งที่ว.วชิรเมธีให้ความสนใจ คือ “บริบทของคำสอน” ที่ตนเอง “หยิบยืม” มาใช้เพื่อการสื่อธรรมะเท่านั้น  แต่ปัญหาของนักวิชาการก็คือ ว.วชิรเมธี คำนึงถึงแต่บริบทของตัวเอง (หรือพูดง่ายๆ คือ เห็นแก่ตัว) โดยไม่ได้เคารพต่อ “บริบทของสังคมที่กว้างกว่าซึ่งเป็นผู้รับสาร” ซึ่งแน่นอนว่าย่อมรวมถึงผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ทางการเมือง ณ เวลานั้นๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้   หรือเป็นไปได้ว่า ว.วชิรเมธีอาจไม่ได้ให้ความใส่ใจ หลงลืม หรือเพิกเฉยที่จะคำนึงถึงผู้รับสารบางกลุ่มโดยตั้งใจ ซึ่งในกรณีคือกลุ่มคนเสื้อแดงที่ออกไปชุมนุมประท้วง และกำลังถูกปืนจ่อยิงอยู่กลางท้องถนน

จากข้อความข้างต้น คำอธิบายตัวเองของว.วชิรเมธีกลับยิ่งแสดงให้เห็นถึงความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของปัญญาชนสาธารณะท่านนี้ ต่อปรากฏการณ์ “ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าการฆ่าคน” มากขึ้นไปอีก  ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ในฐานะครูบาอาจารย์ “อริยบุคคลร่วมสมัย?”  และพระปัญญาชนที่ได้รับการยกย่องนับถือมากที่สุดคนหนึ่งในสังคมไทย เขาไม่เคยออกมาประณามการที่รัฐใช้กำลังทหารเข่นฆ่าประชาชนเลยแม้แต่ครั้งเดียว 

ตรรกะแบบ “ฆ่าเวลาบาปไม่น้อยไปกว่าการฆ่าคน”

“ฆ่าเวลาบาปไม่น้อยไปกว่าการฆ่าคน” ไม่ใช่ครั้งแรกและครั้งเดียวของคำคมที่มีลักษณะกำกวมในแง่การตีความ ซึ่งว.วชิรเมธีสื่อสารต่อสาธารณะผ่าน social media  ตรรกะคำคมลักษณะเดียวกันกับ “ฆ่าเวลาบาปไม่น้อยไปกว่าการฆ่าคน” ยังปรากฏซ้ำๆ ในลักษณะกึ่งคมคาย กึ่งเตือนสติ กึ่งกระตุกใจหลายต่อหลายครั้ง เป็นที่น่าสังเกตว่าคำคมของว.วชิรเมธี มีลักษณะของการกระตุกใจ ด้วยการใช้ตรรกะแบบข้ามช่วงตรรกะ (ไม่ใช่ข้ามพ้นตรรกะ) (จาก A to B ,  B to C   จับต้นชนปลายเป็น A to C)  และการละรายละเอียดของบริบท (“ของตน” ไว้ในฐานที่เข้าใจ)  ให้คำคมมีลักษณะกำกวมหรือคลุมเครือ  หรือเหมารวมบริบท (generalization) เพื่อรวบยอดเป็นคำคมสั้นๆ หรือปริศนาธรรม ให้ชวนคิดและติดตาม หรือเพื่อให้ดึงดูดความสนใจของผู้ฟังว่าพระนักคิดนักเขียนท่านนี้กำลังหมายถึงอะไร   

ผู้เขียนขอยกตัวอย่างคำคม ดังต่อไปนี้

·        ฟังเสวนาธรรมพิเศษ โดยท่านพระมหาวุฒิชัย (ว.วชิรเมธี) และคุณมีสุข แจ้งมีสุข หัวข้อ “ขยายพื้นที่ของความดี กระชับพื้นที่แห่งความชั่ว” เวลา 12.45-14.30 น. วันเสาร์ที่ 20 พฤศจิกายน 2553 ณ เวที Innovative Stage Hall 1 รอยัลพารากอนฮอลล์ ชั้น 5 สยามพารากอน ภายในงาน SET in the City กรุงเทพมหานคร 2010

·        ชาวตะวันตกสอนให้อยากอย่างอิสระ แต่พุทธศาสนาสอนให้เป็นอิสระจากความอยาก [ facebook 1 มี.ค. 54 / 5192 like ]

·        เวลากินส้มเรายังรู้จักคายเมล็ด เวลากินปลาทูเรายังรู้จักหลีกเลี่ยงก้าง เวลามีความรักเราควรที่จะเลือกทิ้งสิ่งที่ทำให้เราทุกข์ [ facebook 2 ก.พ. 54 / 10469 like ]

·        คนส่วนใหญ่เรียกร้องสิทธิมนุษยชน แต่คนมีปัญญาเรียกร้องสิทธิ์ที่จะไม่ทุกข์  [ facebook 25 พ.ย. 54 / 5587 like ]

·        ภรรยาคือของขวัญ อย่าปล่อยให้พลิกผันกลายเป็นกระสอบทราย  [ facebook 25 พ.ย. 54 / 8909 like ]

ลักษณะคำคมที่ใช้การจับต้นชนปลายที่ต่างบริบทกันเช่นนี้ มีลักษณะสำคัญร่วมกันประการหนึ่ง คือการปฏิเสธนัยสำคัญของบริบทแบบโลกย์ๆ หรือการนำคุณค่าในบริบทหนึ่งแสดงความเหนือกว่าหรือยกข่มคุณค่าในอีกบริบทหนึ่ง ตัวอย่างเช่น

“ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าการฆ่าคน” เป็นคำคมที่ประกอบด้วย “องคุลีมาลฆ่าคนเป็นบาป” แต่ “คนบาปยังมีโอกาสกลับตัวกลับใจได้”  และ“การปล่อยเวลาให้ล่วงไปโดยไม่กลับตัวกลับใจ ย่อมเท่ากับการทำบาปไปเรื่อยๆ” นำสามประโยคมาผูกรวมกันแล้วตัดบริบทออกให้เป็นปริศนา เหลือแค่ “ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าการฆ่าคน”  ซึ่งแน่นอนว่า หากผู้รับสารกำลังจะถูกกำลังทหารของรัฐฆ่าอย่างไม่ปรานี ย่อมไม่รู้สึกถึงความลุ่มลึกของคำคมนี้เป็นแน่

หัวข้องานเสวนา “ขยายพื้นที่ความดี กระชับพื้นที่ความชั่ว”  เป็นอีกครั้งที่แทบจะไม่ต่างกับกรณี “ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าการฆ่าคน” ซึ่งครั้งนี้เป็นงานเสวนาธรรมที่จัดขึ้นที่สยามพารากอนในช่วงเวลาเดียวกับที่มีการรำลึก ๖ เดือนเหตุการณ์การสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ในปลายปี ๕๓  โดยนำเอาวลี “กระชับพื้นที่” อันลือลั่นของ ศอฉ. มาผูกกับ “ทำความดี ละเว้นความชั่ว” อาจเป็นไปได้ว่าผู้จัดงานอาจนึกสนุกอยากสร้างความดึงดูดใจให้มีผู้มาร่วมฟังธรรม ที่อาจรู้สึกเบื่อ เหนื่อยหน่าย หรือตึงเครียดกับการเมือง อย่างที่ไม่ต้องคำนึงว่าข้อความเก๋ไก๋ ดึงดูดใจอย่างคำว่า “กระชับพื้นที่” จะมีผลต่อความรู้สึกของใคร เช่นไรบ้าง เรียกได้ว่านอกจากจะแสดงออกถึงความไร้หัวใจ และไม่แยแสต่อครอบครัวและญาติมิตรของผู้คนจำนวนมากที่บาดเจ็บล้มตาย อันเป็นผลจากถ้อยคำประดิษฐ์ดังกล่าวแล้ว ยังเลือดเย็นมากพอที่จะเหยียบย่ำซ้ำเติม ด้วยการหยิบยืมวลีดังกล่าวมาใช้เป็นชื่อกิจกรรมเผยแผ่ศาสนา เพียงเพื่อเป้าหมายให้เกิดความรู้สึก โดนใจ! ทันสมัย! และ เข้ากับสถานการณ์! 

“ชาวตะวันตกสอนให้อยากอย่างอิสระ แต่พุทธศาสนาสอนให้เป็นอิสระจากความอยาก” 

คำคมนี้ก็เช่นเดียวกัน ประกอบด้วย “วัฒนธรรมตะวันตกสอนให้คนเป็นอิสระ” “พุทธศาสนาก็สอนให้คนเป็นอิสระ” และ “พุทธศาสนาสอนให้คนเป็นอิสระจากความอยาก” สามข้อความนี้ถูกผูกเข้าด้วยกัน โดยใช้บริบทที่ “เหนือกว่า” ของคำสอนทางพุทธศาสนาเป็นบริบทหลัก คือ “พุทธศาสนาสอนให้เป็นอิสระจากความอยาก” และลดทอนนัยสำคัญของข้อความแรก อย่างที่ไม่ต้องคำนึงว่าชาวตะวันตกจะมีความคิดเห็นอย่างไรกับการถูกเหมารวมแบบนี้ และเอาเข้าจริงผู้พูดนั้นเข้าถึงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของผู้คนชาวตะวันตกอย่างถ่องแท้จริงๆ หรือไม่

คำสอนจากหนังสือ “อริยสัจ today” โดย ว.วชิรเมธี ที่ล่าสุดโพสต์ลงเฟซบุ๊คเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๕ และได้รับการพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง

ข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างที่ยกมาจากคำคมโดนใจ(อย่างประหลาด) ที่มีอยู่มากมายบนหน้า social media อันเป็นที่นิยมชมชอบของผู้ติดตามจำนวนมาก (ปัจจุบันว.วชิรเมธีมีแฟนเพจบนหน้า facebook ประมาณ 820,000 likes และประมาณ 560,000 followers ใน twitter) เป้าหมายของคำคมเหล่านี้ คือ “โดนใจ” (ที่หากสังเกตในบาง comment จะมีคนบางกลุ่มที่เข้ามาร่วม “สะใจ” แถมด้วย)  ทว่าหากผู้รับสารเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคนที่ถูกเหมารวม ถูกกระทำ หรือถูกเพิกเฉย  ภาวะ “โดนใจ” จากคำคมเหล่านี้ คงทิ่มแทง เหยียบย่ำ ซ้ำเติม บาดลึก และนำมาซึ่งความเจ็บปวดต่อผู้คนเหล่านั้นไม่น้อย 

และที่น่าตั้งข้อสังเกตคือ ตรรกะแบบข้ามช่วงตรรกะ อันมีลักษณะละเลยรายละเอียด ตัดสินถูกผิดอย่างสุดโต่ง ไม่เคารพประสบการณ์แบบโลกย์ๆ และเหมารวมคุณค่าโดยเอาหลักศาสนาเป็นที่ตั้งและเกราะคุ้มกันตนเช่นนี้ ได้แพร่หลายออกไปในหมู่คนที่สนใจศึกษาธรรมะแบบ “ลัดสั้น” “โดนใจ” “ใช่เลย” จนเริ่มก่อรูปเป็นระบบคิดกระแสหลักทางศาสนาในหมู่คนชั้นกลางมีการศึกษา ที่ปัญญาคือการรับเอาชุดความคิดสำเร็จรูป มาเทศนาสั่งสอนกันอย่างที่ไม่มีพื้นฐานของการใช้วิจารณญาณ  การเปิดใจต่อความเห็นที่แตกต่าง การเคารพประสบการณ์ของผู้อื่น จนกระทั่งกลายเป็นภาวะลอยนวลอย่างไม่รู้ร้อนรู้หนาวต่อทุกขสัจจ์ที่มีอยู่ในสังคมเอาเสียเลย

ศรัทธาในตัวคำสอน หรือ ศรัทธาในสถานะ?

“ทุกคนในประเทศนี้ยิ่งเป็นคนใหญ่คนโตมากเท่าไหร่ ยิ่งมีบทบาททางสังคมมากเท่าไหร่ ยิ่งได้รับความเชื่อถือมากเท่าไหร่ ยิ่งมีต้นทุนทางสังคมในฐานะที่เป็น role model ของสังคม ยิ่งต้องถูกตั้งคำถาม ยิ่งจะต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์มากกว่าคนปกติ  สมมติว่าดาราคนนึงพูด กับว.วชิรเมธีพูด อะไรจะมีน้ำหนักมากกว่ากัน ว.วชิรเมธีย่อมมี impact ต่อสังคมมากกว่า เพราะฉะนั้นคำพูดของว.วชิรเมธีจึงควรได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์มากกว่าคำพูดของดาราสักคนหนึ่ง  ...สมมติ ว.วชิรเมธีบอกว่า “ฆ่าเวลาบาปกว่าฆ่าคน” อันนี้เราก็ต้องเอาไปถกเถียงกัน ว่าพูดในบริบทไหน ในความหมายยังไง แล้วพูดบนฐานของปรัชญาแบบไหน ดิฉันคิดว่ามันผิดฝาผิดตัว คิดว่าแกมีปัญหาในทางตรรกะ ในการเปรียบเทียบอะไรแบบนี้”

คำ ผกา, คลิปสัมภาษณ์ทาง voice tv

“แต่ก็มีนักวิชาการ ซึ่งคงจะอยากงับอะไรสักอย่างหนึ่งแล้วก็ไปเล่นงานใครสักอย่างหนึ่ง สอยเอาบางท่อนบางประโยคไป แล้วก็ไปบอกว่า ว.วชิรเมธี เห็นดีเห็นงามกับการฆ่าคนของรัฐบาล อาตมาได้อ่านนักวิชาการสรุปเช่นนี้แล้วก็เห็นว่า ทำไมนักวิชาการเดี๋ยวนี้ทำงานกันง่ายจังเลย คุณไม่ลองคิดดูหรือว่า พระรูปหนึ่งที่บวชมาตั้งแต่อายุ 13 จบเปรียญธรรม 9 ประโยค ฝึกปฏิบัติตามแนวทางของพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาที่ไม่เคยมีประวัติเห็นดีเห็นงามกับการฆ่าคน จู่ๆ จะลุกขึ้นมาบอกว่าการฆ่าคนเป็นสิ่งที่ดี มันเป็นการสรุปที่มักง่ายจนอาตมาไม่อยากจะไปใส่ใจ”

ว.วชิรเมธี, บทสัมภาษณ์ในนิตยสาร GM ฉบับธันวาคม ๒๕๕๓

นอกจาก ว.วชิรเมธี จะไม่ได้เข้าใจสาเหตุของความไม่พอใจต่อสถานะของคำคมลัดสั้นที่ลอยอยู่เหนือบริบททางสังคมและการเมือง โดยจะเห็นได้จากการละเลยการตระหนักถึงกาละ และเทศะของข้อความ “ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าฆ่าคน” หรือ “ขยายพื้นที่ความดี กระชับพื้นที่ความชั่ว” ฯลฯ และเพิกเฉยต่อการคำนึงถึงความรู้สึกไม่พอใจของผู้รับสารบางกลุ่มที่อาจรู้สึกเจ็บปวดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์และความคมของถ้อยคำเหล่านั้น ว.วชิรเมธียังติเตียนนักวิชาการทางสังคมศาสตร์ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ โดยอ้างถึงความบริสุทธิ์ของพระพุทธศาสนาและสถานะความเป็นพระสงฆ์ผู้ไม่เคยมีประวัติด่างพร้อยของตนเอง 

การตอบโต้ด้วยการอิงแอบอยู่กับสถานะที่สูงกว่าของพระสงฆ์ และความบริสุทธิ์ดีงามของคำสอนทางพุทธศาสนาเช่นนี้ ยิ่งไปสนับสนุนแนวโน้มที่พุทธศาสนาในปัจจุบันถูกครอบงำโดยวิธีคิดแบบ “อำนาจนิยมความดี” ที่ไม่เปิดรับต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ คำตักเตือน และความคิดเห็นที่แตกต่าง บุคลากรที่อยู่ในโครงสร้างศาสนากระแสหลักปฏิเสธการปรับบทบาท และการวางตัวให้เหมาะสมในสังคมแบบประชาธิปไตย พระสงฆ์โดยส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะผูกยึดสถานะ ชื่อเสียง การเป็นที่ยอมรับ และผลประโยชน์ของตนกับโครงสร้างสังคมแบบศักดินาที่ได้มอบอำนาจ ความศักดิ์สิทธิ์ และสถานะอันบริสุทธิ์สูงส่งแก่พวกเขา พุทธศาสนากำลังใช้เสรีภาพอันไม่เท่าเทียมในสังคมประชาธิปไตยแบบไทยๆ เผยแผ่ตัวเองในลักษณะ “อบรมสั่งสอนทางเดียว” โดยที่คำสอนอันประเสริฐดีอยู่แล้วเหล่านั้น ไม่ได้เปิดกว้างต่อการวิเคราะห์ ถกเถียง หรือการวิพากษ์วิจารณ์เหมือนงานวิชาการทั่วไป  ตรงกันข้ามกลับถูกหล่อเลี้ยงด้วยศรัทธางมงายในลัทธิบูชาตัวบุคคล  สถานะเป็นที่เคารพบูชาของพระสงฆ์ที่ทำอะไรก็ไม่ผิด พูดอะไรก็ไม่ผิด ผนวกกับภาพลักษณ์ความศักดิ์สิทธิ์สูงส่งของพระศาสดา ความบริสุทธิ์ไร้มลทินของพุทธศาสนา หรือการมีอำนาจ “เหนือ” การเมืองหรือ “เหนือโลกย์” อย่างอิงแอบอยู่กับอำนาจรัฐและความเป็นสถาบันหลักของชาติ  ซึ่งนั่น ถือเป็นสัญญาณอันตรายของความวิปริตผิดเพี้ยนของพุทธศาสนาที่กำลังพัฒนาไปสู่ความเป็น ฺBuddhist Fundamentalism อย่างไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้

บทสรุป “ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าการฆ่าคน”

พุทธธรรมคำสอน แม้ได้รับการยกย่องว่าเป็นอกาลิโก นำไปใช้ได้ ปฏิบัติได้ไม่จำกัดการ แต่นั่นย่อมเป็นคนละเรื่องคนละความหมายกับคำว่า “รู้เท่าไม่ถึงการณ์” หรือ “ไม่มีกาลเทศะ” ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นพระหรือฆราวาส เมื่อได้รับการยอมรับนับถือจากสาธารณชนว่าเป็นผู้ให้แสงสว่างทางปัญญา ย่อมต้องมีความรับผิดชอบทางสังคมต่อสิ่งที่ตนพูดหรือสิ่งที่ตนเขียนมากตามไปด้วย

ตราบใดที่การสื่อสารธรรมะทางเดียวยังคงดำเนินต่อไปในลักษณะเพิกเฉยต่อบริบทความทุกข์ที่หลากหลายของผู้คนในสังคม อีกทั้งโครงสร้างพุทธศาสนาแบบไทยๆ ยังวางตัวอิงแอบอยู่กับอำนาจรัฐด้วยภาพลักษณ์วาทกรรม “ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง” จนบ่อยครั้งกลายเป็นอำนาจมืดที่วิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้  คำคมอย่าง “ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าการฆ่าคน” หรือความคิดเห็นแปลกๆ ที่ขาดการเข้าใจบริบททางสังคมอย่างรอบคอบ ก็จะยังคงปรากฏออกมาตามสื่อต่างๆ เรื่อยไป  และแน่นอนว่าคำสอนเหล่านั้น เมื่อปรากฏต่อสาธารณชน ย่อมหนีไม่พ้นการถูกโจมตีและวิพากษ์วิจารณ์  ส่วนการพยายามอธิบายเหตุผลที่มาของข้อความเหล่านี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าด้วยการยกสถานะอันเป็นที่สักการะของพระสงฆ์ หรือความบริสุทธิ์หลุดพ้นจากการเมืองของคำสอน ก็ยิ่งจะแสดงถึงอวิชชา ความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนอันซับซ้อน และการพยายามปัดความรับผิดชอบที่ข้อความอันมักง่ายเหล่านั้นมีผลกระทบต่อคนเล็กคนน้อยในทางสังคม  

ในกรณีของว.วชิรเมธี ยังถือเป็นเพียงแค่การพยายามอธิบายตัวเอง และไม่เปิดรับต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ด้วยการอ้างถึงประวัติ การศึกษา และสถานะของพระสงฆ์ที่สูงกว่าและบริสุทธิ์กว่าคนทั่วไป ซึ่งหากเป็นในกรณีของสำนักพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือองค์กรมหาเถระสมาคม เราคงได้เห็นตัวอย่างของการใช้วิธีการที่เหนือชั้นยิ่งกว่า ดังตัวอย่างที่ปรากฏในเหตุการณ์การใช้อำนาจมืดเข้ากดดันให้พิธีกรรายการคิดเล่นเห็นต่าง ออกมาขอขมาพระรัตนตรัยและแสดงความรับผิดชอบต่อสาธารณะด้วยการพักการออกอากาศเป็นเวลาหนึ่งเดือนเต็ม อย่างที่ไม่สนใจต่อเนื้อหาคำวิพากษ์วิจารณ์ที่มีต่อนโยบายการสวดมนต์ข้ามปีราวกับยากล่อมประสาทว่าเป็นความจริงหรือไม่   ปฏิกิริยาทั้งหมดยิ่งสะท้อนถึงแนวโน้มเผด็จการ “อำนาจนิยม” ของพุทธศาสนาในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญในการร่วมรักษาความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมกันในสังคมประชาธิปไตยแบบไทย ๆ ไว้โดยรู้ตัวก็ดีหรือไม่รู้ตัวก็ดี 

ภารกิจการเผยแผ่ศาสนาของพระสงฆ์นั้น แม้เป็นเรื่องที่พุทธศาสนิกชนพึงสนับสนุน  แต่หากอยู่นอกเหนือเรื่องนามธรรมของจิตใจ อีกทั้งมีความเกี่ยวพันอยู่กับวิถีชีวิตทางโลก หลักการ ความเชื่อ ศีลธรรม จริยธรรม สังคม การเมือง กฏหมาย และวัฒนธรรมของคนในสังคมโดยตรงแล้ว กิจกรรมและการเผยแผ่ธรรมเหล่านั้นย่อมไม่อาจตั้งตนอยู่เหนือคำวิพากษ์วิจารณ์ หรือเสียงสะท้อนจากผู้คนในสังคมได้  นี่คือความสัมพันธ์อันตั้งอยู่บนพื้นฐานของการสื่อสารและเรียนรู้กันอย่างเท่าเทียมระหว่างพุทธบริษัทสี่ อันจะทำให้พุทธธรรมเป็นรากฐานทางปัญญา และเกื้อหนุนให้เกิดเสรีภาพและภราดรภาพแก่ผู้คนในสังคมอย่างแท้จริง

การจะตระหนักถึงผลทางสังคมของคำคมมากมายที่ว.วชิรเมธี ได้สื่อสารต่อสาธารณชนผู้รับสาร มีเพียงทางเดียว คือ การเปิดกว้างต่อทุกเสียงตอบรับ ทุกความคิดเห็นทั้งทางตรงและทางอ้อม เปิดกว้างต่อการวิพากษ์วิจารณ์ และรับผิดชอบต่อทุกข้อความที่สื่อสารออกสู่สาธารณะ  โดยเฉพาะกรณี “ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าการฆ่าคน”  การออกมาแสดงความรับผิดชอบ การยอมรับถึงความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ รวมถึงการแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ย่อมเป็นสิ่งที่งดงามยิ่งกว่าการพยายามปกป้องตัวเอง หรือการฆ่าเวลาให้ผ่านเลยไปโดยไม่ทำอะไรเลย 

และนั่นอาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นและแบบอย่างอันน่ายกย่องของบทบาททางสังคมของพุทธศาสนาในสังคมประชาธิปไตยก็เป็นได้
_______________________

หมายเหตุ: ผู้เขียนขอขอบคุณ อ.วันรัก สุวรรณวัฒนา สำหรับข้อคิดเห็นและ feedback อันเป็นประโยชน์ต่อบทความชิ้นนี้ 

บล็อกของ กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร

กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
วิจักขณ์​ พานิชกลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์พุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร 
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
วิจักขณ์ พานิชกลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร