บล็อกของ cinemania

This is England : This is Thailand : อาชญากรสร้างได้

 

นพพร ชูเกียรติศิริชัย

 

 

อังกฤษ ปี ค.ศ. 1983 ยุคที่รองเท้า บู้ท' สไตล์ Dr.Matins ทรงผม สกรีนเฮด' เสื้อเชิ้ต ลายสก๊อต' และกางเกงยีนส์ คือสัญลักษณ์แห่ง อำนาจ' ที่เหนือกว่าชนชาติอื่นในหมู่เยาวชนชาวอังกฤษ

ชอน' เด็กชายวัย 12 ผู้ฝังใจอยู่กับการสูญเสียพ่อไปในสมรภูมิเกาะฟอร์คแลนด์ (สงครามแย่งชิงเกาะฟอร์แลนด์ระหว่างประเทศอังกฤษและ อาเจนติน่า) กำลังเริ่มต้นค้นหาชีวิตในวัยหนุ่มกับกลุ่มเยาวชนรุ่นพี่  

เขาถูกสอนให้รู้จักกับความเป็นกลุ่มก้อน หรือความเป็นสถาบันผ่านเครื่องแต่งกายสไตล์ขาโจ๋เมืองผู้ดีในช่วงต้นคริสตศตวรรษที่ 20 เขาถูกสอนให้รู้จักกับความเป็น ชาย' ผ่าน เกมส์' การทุบทำลายสิ่งของในบ้านร้าง ควบคู่ไปกับการที่ รัฐ' พยายามปลูกฝัง ความรักชาติ' ให้เหล่าเยาวชนชายเพื่อความสะดวกในการจัดส่งพวกเขาเข้าสังเวย ความใคร่' ใน สงคราม' ที่ รัฐ' เป็นผู้ก่อ

ในฐานะเด็กหนุ่มซึ่งเติบโตมาในสังคมแห่งการแข่งขัน' และ สงคราม'... ความรุนแรง' และ ความหยาบคาย' (ในสายตาผู้ใหญ่) จึงเป็นเพียงทางเลือกเดียวที่จะทำให้ พวกเขา' ข้ามพ้นจากการถูกรังแก

และแล้วการปรากฏตัวของ คอมโบ้' เยาวชนชายชาวอังกฤษผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรพิเศษจาก กรมราชทัณฑ์' ในฐานะนักโทษ ก็ได้นำพา ชอน' และเพื่อนๆ อีกจำนวนหนึ่งไปสู่ ความรุนแรง' ในรูปแบบใหม่

จากคำถามเรื่องความแตกต่างทางเชื้อชาติที่ คอมโบ้' หยิบยื่นให้ กลับกลายเป็นความเกลียดชัง ที่นำไปสู่อาชญากรรม พวกเขาเริ่มรวมตัวขับไล่ ความเป็นอื่น' ในเกาะอังกฤษ ด้วยเหตุผลในเรื่องความแตกต่างทางเชื้อชาติ และสีผิว

จากการข่มขู่เด็กนักเรียนชาวปากีสถาน สู่การทุบทำลายข้าวของและปล้นสินค้าจากพ่อค้าชาวเอเซีย จบลงด้วยร่างของ มิลกี้' เพื่อนชาวอังกฤษเชื้อสายแอฟริกาที่นอนแน่นิ่งจมกองเลือด ด้วยน้ำมือของ คอมโบ้' ทำให้ ชอน' เริ่มกลับมาทบทวนถึง บางสิ่ง' ที่กำลังฝังรากลงในจิตใจของเขา

ชอน' ตัดสินใจกลับไปนำธงชาติอังกฤษที่เขาเคยภาคภูมิใจลงจากหน้าต่างห้องนอน และปล่อยให้มันล่องลอยไปกลับสายน้ำ

ในขณะที่ภาพข่าวทางโทรทัศน์ยังคงนำเสนอ ชัยชนะ' ของทหารอังกฤษต่อ ทหารชาวอาร์เจนตินา ด้วยความภาคภูมิใจในจำนวน ศพ' ของ นักรบ' เยาวชน ฝ่ายตรงข้าม'...

 

กรุงเทพ ปี ค.ศ. 2008 (พ.ศ. 2551) ยุคสมัยที่ทั้งครูบาอาจารย์และเยาวชนไทยถูกปลูกฝังให้เชื่อมั่นในเทคโนโลยี ยิ่งกว่าพ่อแม่บังเกิดเกล้า

อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยหลายสถาบัน ตัดสินใจให้ลูกศิษย์ส่งงาน และดูงานผ่าน อีเมล' (ทั้งๆ ที่ต้องเจอหน้าอาจารย์อยู่ทุกวันในชั้นเรียน) ด้วยความเชื่อมั่นว่า ทุกๆ บ้านในประเทศไทยจะต้องมี คอมพิวเตอร์'

แต่สำหรับนางสาว วัลลี' (นามสมมติ) คำสั่งของอาจารย์กลับสร้างความกังวลใจให้กับเธออย่างยิ่งยวด เพราะเมื่อนับระยะทางจากบ้านของเธอ (อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี) เพื่อเข้าสู่ตัวอำเภอ มันก็หลายกิโลอยู่

ขณะที่เท้าของเธอยังคงถีบจักรยานมุ่งหน้าสู่ร้านอินเตอร์เน็ต มันสมองของเธอก็แอบรำพึงรำพันใฝ่ฝันอยากจะได้คอมพิวเตอร์สักเครื่อง แต่สำหรับอาชีพเกษตรกรอย่างพ่อและแม่ของเธอ การได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ ก็นับว่าเป็นบุญโข

"อาจารย์แม่งคิดว่าเด็กทั้งประเทศมันรวยกันทุกคนหรือไงวะ" วัลลีแอบสบถด่าท่านอาจารย์ผู้เสพเทคโนโลยีแทนอากาศด้วยความเคารพ

ท่ามกลางสภาวการณ์ทางการเมืองที่สับสนอลหม่าน เด็กนักเรียนมัธยมปลายวัย 18 ปี ตัดสินใจใช้มีดปลายแหลมปลิดชีพ คนขับแท็กซี่' ด้วยข้ออ้างที่ว่า เลียนแบบเกมส์คอมพิวเตอร์'

สื่อมวลชนผู้รักงานข่าวเป็นชีวิตจิตใจ เฝ้าประโคมข่าวการจัดระเบียบร้านเกมส์อินเตอร์เน็ต และเปิดเผยรายชื่อ 10 สุดยอดเกมส์อันตราย อย่างต่อเนื่อง โดยไม่คิดที่จะมองหาแรงจูงใจอื่นๆ ที่ยากไปกว่าการลงประกาศโฆษณาคุณสมบัติของเกมส์ และการนำไมค์ไปจ่อปากผู้หลักผู้ใหญ่ที่รักเยาวชนอย่างจับขั้วหัวใจให้ช่วยกันถ่มน้ำลายเพื่อสร้างภาพ

ขณะที่เจ้าของธุรกิจรถจักรยานยนต์กำลังหมกหมุ่นอยู่กับการคิดแคมเปญใหม่ๆ เอาใจวัยโจ๋ บริษัทคอมพิวเตอร์ทุ่มเทงบโฆษณาคอมพิวเตอร์รุ่นล่าสุดที่มีสีสันโดนใจวัยรุ่น เจ้าหน้าที่นอกแถวบางส่วนกำลังจัดหา ตัวยา' ใหม่ๆ ไว้เมามอมเยาวชน

นักการตลาด และนักออกแบบระดับโลก กำลังคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อดูด เงิน' จากกลุ่มGeneration Z[1] (ผู้ที่เกิดใน ค.ศ.1995-2009 ซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนที่เติบโตมากับโทรศัพท์มือถือ และคอมพิวเตอร์) หลังจากที่พวกเขาประสบความสำเร็จกับการรณรงค์ให้เด็กๆ ทั่วโลกหันมาสนใจ แฮรี่พอตเตอร์' เครื่องเล่มเกมส์ เพลย์สเตชั่น' ‘โทรศัพท์มือถือ' ‘iPod' และอีกสารพัดสินค้าในยุคที่โลกถูกทำให้เล็กลงเท่าปลายนิ้ว

ทางออกของผู้ใหญ่ในสังคมไทย คือ "อย่าให้เด็กรับรู้อะไรที่ผู้ใหญ่ไม่ชอบ" แต่สำหรับเยาวชนไทย ข้อมูลมากมายที่ถูกยัดลงในหัวสมอง มันทำให้พวกเขาสับสนว่า แท้จริงแล้ว บางสิ่ง' ที่มีผลต่อจิตใจและพฤติกรรมของพวกเขาในวันนี้คือ อะไร' แล้วเขาจะจัดการกับเจ้า อะไร' ได้ อย่างไร' คำอธิบายอย่างง่ายที่สุด มันจึงลงเอ่ยที่ การเลียนแบบ' ‘ใคร' และ อะไร' สักอย่าง

น่าเสียดายที่พวกเขามิอาจค้นพบ บางสิ่ง'ในจิตใจ ได้เหมือน ชอน' ในภาพยนตร์ This is England

 

 


[1] อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมใน บทความ Genaration Z Toward the world of the child-king.นิตยสาร iDesign ฉบับที่ 54 เดือนมกราคม 2007

Mona Lisa smile : หรือผู้หญิงต้องยิ้มเสมอ?

ชญานุช เล็กตระกูลชัย  

 

 

ศิลปะคืออะไร อะไรที่ทำให้มันดีหรือแย่ แล้วใครเป็นคนกำหนด

ศิลปะไม่ใช่ศิลปะ จนกว่าจะมีคนบอกว่าใช่ มันมีมาตรฐาน เทคนิค องค์ประกอบ สี และหัวข้อ

(บางส่วนของบทสนทนาระหว่างตัวละคร แคเธอรีน วัตสัน (จูเลีย โรเบิร์ตส์) อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ และ เบ็ตตี้ วอร์เร็น (เคิร์สเตน ดันสต์) นักศึกษาสาวจากวิทยาลัยเวสลี่ย์คอลเลจ)

ปรัชญา ศิลปะ และกระบวนการทำให้ หญิงเป็น หญิง

ภาพยนตร์เรื่อง Mona Lisa smile นำเสนอภาพสะท้อนของสังคมตะวันตก (ทั้งยุโรป และอเมริกา) ในช่วงต้น คริสต์ศตวรรษที่ 20 (ช่วงเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของชาวตะวันตกส่วนใหญ่ยังคงถูกครอบงำจากปรัชญาดั้งเดิม (สมัยกรีก มาถึงยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ จนกระทั่งยุคปฏิวัติวิทยาศาสตร์) ในเรื่องของ ความดี’ ‘ ความงาม’ ‘ความสมบูรณ์รวมไปถึงเรื่องของ ศิลปะตลอดจนวิถีชีวิตประจำวัน

ผู้คนส่วนใหญ่ถูกทำให้เชื่อมั่นว่ารูปแบบการดำเนินชีวิตที่ดี (เช่นเดียวกับศิลปะ) ที่ถูกต้องนั้นมีเพียงมาตรฐานเดียว และเป็น มาตรฐานสากล แบบเดียวกับองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์

เช่นเดียวกันกับนักศึกษาสาวจากวิทยาลัยเวสลี่ย์คอลเลจ (ตัวแทนของกลุ่มอนุรักษ์นิยม) ที่กระบวนการของการเรียนการสอนในชั้นเรียนช่วยตอกย้ำให้พวกเธอเชื่อมั่นว่ามาตรฐานที่สังคมวางไว้ให้ คือ สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับชีวิตของ หญิงสาวผู้สมบูรณ์แบบ

Crows Episode Zero : เรียกเขาว่า "อีกา" จะเอายังไง! ในวันที่สังคมไทยไปไม่ไกลกว่า "ลูกกระแป๋ง"

 

นพพร ชูเกียรติศิริชัย

 

 

 

ผมเป็นผู้หนึ่งที่รู้สึกอิดหนาระอาใจกับสถานการณ์บ้านเมืองของเรา (หรือเปล่า?) ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เพราะผมไม่เคยคาดคิดว่า ภาพการไล่กระทืบกันอย่างเมามันด้วยความมุ่งหวังที่จะพิชิตฝ่ายตรงข้าม (ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน) จะเกิดขึ้นในสังคมที่เที่ยวประกาศกับใครต่อใครว่าเป็นสังคมที่ยึดมั่นอยู่ในพระพุทธศาสนาอย่างเข้มข้น

ฉากชีวิตจริงนั้นดุเด็ดเผ็ดมันกว่าหนังบู๊ที่ดูผ่านหน้าจอหลายเท่านัก และดูจะสยดสยองกว่าคลิปวีดีโอเด็กนักเรียนตบกันเป็นไหนๆ  ส่วน ความรุนแรงแบบเด็กช่างกลหรือจะเทียบเท่าลีลาการวาดแม่ไม้มวยไทยสไตล์ที่มีผู้หลักผู้ใหญ่เป็นผู้นำทัพ

โอ้พระเจ้า! ประชาธิปไตยอยู่ในกำมือของพวกเราแล้ว

Hellboy : ระวังนรกจะยิงกระบาล! สารจากซาตานถึงพระเจ้า

 

นพพร ชูเกียรติศิริชัย

 

 

 

"to prove the Faustian dream to be a nightmare"

 

ผมมีโอกาสประสบพบกับประโยคภาษาอังกฤษข้างต้นเป็นครั้งแรกในหนังสือ ‘POST MODERN : ชะตากรรมโพสต์โมเดิร์นในอุ้งมือนักปรัชญาการเมืองโบราณ' ของ อาจารย์ไชยันต์ ไชยพร และตั้งแต่วันนั้นผมก็ไม่เคยคิดว่าผมจะต้องนึกถึงมันอีกเลยไม่ว่าจะในกรณีใดๆ

 

แต่แล้ววันดีคืนดี ในขณะที่ผมกำลังนั่งเพลิดเพลินเจริญอารมณ์อยู่กับภาพยนตร์เรื่อง Hellboy 2 : The Golden Army หลายๆ ฉาก หลายๆ ตอนในภาพยนตร์กลับทำให้มันสมองของผมเกิดระลึกถึงคำอธิบายเกี่ยวกับ ‘the Faustian dream' ของอาจารย์ไชยันต์ (ไชยพร) ขึ้นมาอย่างกระทันหัน

 

แม้ว่าผมจะไม่เคยอ่านบทประพันธ์เรื่อง ‘Faust' ของเกอเธ่ (JohannWolfgang von Goethe) กวีเอกชาวเยอรมัน (ค.ศ.1749-1832) แต่หนังสือของอาจารย์ไชยันต์ก็ได้ช่วยอธิบายเรื่องย่อของบทประพันธ์ดังกล่าวซึ่งจะกลายเป็นที่มาของ ‘the Faustian dream' เอาไว้ว่า

 

"เป็นเรื่องเกี่ยวกับชะตากรรมของบัณฑิตผู้ใฝ่รู้นามว่า เฟาสต์' และด้วยความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะพบแก่นแท้ความหมายของชีวิต เขาได้เรียกปีศาจมาเพื่อจุดประสงค์ดังกล่าว ปีศาจเสนอตัวว่าจะรับใช้เขาตราบเท่าที่เขามีชีวิตอยู่ และจะเอาวิญญาณของเฟาสต์ก็ตอนที่เขาได้บรรลุถึงจุดสูงสุดของความสุข" (ไชยันต์ ไชยพร.POST MODERN : ชะตากรรมโพสต์โมเดิร์นในอุ้งมือนักปรัชญาการเมืองโบราณ. กทม. : หจก.ภาพพิมพ์, 2550 พิมพ์ครั้งที่ 2 หน้า 96 )

 

และแม้ว่าผมจะไม่เคยอ่านบทความของ  Seyla Benhabib นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เจ้าของประโยค ‘to prove the Faustian dream to be a nightmare' แต่อาจารย์ไชยันต์ ไชยพร ก็ช่วยอธิบายไว้ในหนังสือเรื่องเดิมอีกว่า

 

"การพูดถึง ‘the Faustian dream' นั้นเกี่ยวพันกับยุคสมัยใหม่ตรงที่ว่า ในการวิวาทะระหว่างภูมิปัญญาโบราณและภูมิปัญญาสมัยใหม่ในยุโรปช่วงศตวรรษที่สิบเจ็ดนั้น พวกที่นิยมความรู้สมัยใหม่อันได้แก่ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ เป็นต้น มีความศรัทธาเชื่อมั่นว่า ความรู้ทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่นั้นจะนำมนุษยชาติไปสู่ชีวิตที่สะดวกสบายมีความสุขและก้าวหน้ากว่าที่เป็นอยู่ ท่ามกลางคลื่นศรัทธาว่า มนุษยชาติจะก้าวหน้าไปสู่ความสมบูรณ์แบบ' นั้น ก็มีนักเขียนหลายคนได้สะท้อนจินตนาการความเชื่อของเขาออกมาเป็นนิยายหรือนิยายวิทยาศาสตร์ พวกนิยมภูมิปัญญาสมัยใหม่เชื่อว่า การละทิ้งความรู้โบราณ ซึ่งอาจรวมถึงศรัทธาความเชื่อในศาสนาและพระผู้เป็นเจ้า ย่อมคุ้มค่าที่จะเสี่ยง เพราะการหันไปยึดมั่นในความรู้ใหม่จะสร้างโลกที่เหมือนกับสวรรค์ได้ด้วยน้ำมือความสามารถของมนุษย์เอง โดยไม่ต้องรอตายแล้วถึงจะได้ขึ้นสวรรค์ของพระผู้เป็นเจ้า...

 

" การละทิ้งของโบราณเพื่อของใหม่นั้น ก็ได้ให้รางวัลแก่ผู้ที่กล้าทิ้งของโบราณที่ดำรงอยู่มานานอย่างสาสม เพราะความเป็นสมัยใหม่นั้นได้นำความสะดวกสบายต่างๆ มาให้มนุษย์อย่างที่คนโบราณยากที่จะจิตนาการได้...

 

"แต่การเลิกเชื่อพระผู้เป็นเจ้าก็ไม่ต่างกับการที่คนเรากลายเป็นสัตว์ไร้วิญญาณ หรือไม่ก็ถูกวิญญาณชั่วร้ายเข้าสิงสู่ การเลิกเชื่อพระผู้เป็นเจ้าเพื่อหวังความสุขสบายทางกายและความบันเทิงทางโลกีย์ต่างๆ นั้น ก็ไม่ต่างกับที่ Faust ทำสัญญากับปีศาจ ไม่ต่างกับการขายวิญญาณเพื่อแลกกับการตอบสนองกิเลสตัณหา...

 

"เมื่อเวลาผ่านไป ความก้าวหน้า ความสะดวกสบายต่างๆ ในยุคสมัยใหม่ก็เริ่มถูกเงาร้ายคืบคลานเข้ามาแทนที่ เพราะยังมิทันที่สังคมสมัยใหม่จะเข้าสู่ยุคสมบูรณ์พูนสุขกันถ้วนหน้าทั่วโลกอย่างที่จินตนาไว้...ทุกอย่างมันเริ่มจะเลวลงมากกว่าในสายตาของ คนสมัยใหม่' บางพวกในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นสงคราม ความวิบัติ ความอดอยากที่ไม่น่าจะมีในโลกที่มีวิทยาการอันแสนจะก้าวหน้า ที่สามารถผลิตอะไรต่างๆ ได้ครั้งละมหาศาล...สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ แหล่งเสื่อมโทรม ฆาตกรโรคจิต คนวิปริตทางเพศ ช่องว่างระหว่างคนจนคนรวย ก็เริ่มจะกลายเป็นฝันร้าย ‘to prove the Faustian dream to be a nightmare'

(ไชยันต์ ไชยพร.POST MODERN : ชะตากรรมโพสต์โมเดิร์นในอุ้งมือนักปรัชญาการเมืองโบราณ. กทม. : หจก.ภาพพิมพ์, 2550 พิมพ์ครั้งที่ 2 หน้า 92-93)

 

 

โดยสรุปแล้ว (ตามความเข้าใจของผู้เขียนเอง) ‘the Faustian drem' จึงเป็นคำที่ใช้อธิบายสภาพจิตใจของมนุษย์ในสังคมสมัยใหม่' ที่รู้สึกกังวัลว่าการละทิ้งความเชื่อแบบโบราณ (ความเชื่อในพระเจ้า) แล้วหันหน้ามาพึ่งพา วิทยาศาสตร์' และ เทคโนโลยี' กำลังจะนำพวกเขาไปสู่ข้อผูกมัดที่เลวร้ายดุจเดียวกับการทำสัญญากับปีศาจ

 

เกริ่นมาถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านหลายท่านคงจะตัดสินใจเลิกอ่านไปแล้ว หรือหากยังมีบางท่านที่อ่านอยู่ก็คงจะเกิดข้อสงสัยว่า แล้วไอ้ที่ผมพยายามอ้างอิงงานวิชาการมาตั้งนานนี่มันเกี่ยวอะไรกับ Hellboy  ภาค 2 วะ,ครับ,คะ? ซึ่งผมก็ไม่รู้จะตอบคำถามนี้ได้หรือเปล่า แต่ก็อยากให้ลองอ่านกันต่อไป

 

Hellboy 2 : The Golden Army : ‘พระเจ้าตายแล้ว' จริงๆ

 

(ก่อนอื่นผมคงต้องขอบอกไว้ก่อนว่าผมไม่ได้ชมภาพยนตร์เรื่อง Hellboy ภาคแรก แต่เข้าใจไปเองว่ามันคงจะไม่ได้ต่อเนื่องกันสักเท่าไหร่ เพราะผู้กำกับเดล โตโรก็บอกเองว่าหนังจะไม่มีการอ้างอิงหรือย้อนอะไรไปถึงภาคแรกมากนัก')

 

ภาพยนตร์เรื่อง Hellboy ภาค 2 เริ่มต้น ด้วยตำนานแต่ครั้งโบราณที่อาณาจักรเอลฟ์ (สวรรค์) โลกใต้พิภพ และโลกมนุษย์ยังไม่ถูกแยกออกจากกัน จนอยู่มาวันหนึ่งราชาแห่งโลกมนุษย์นั้นต้องการที่จะยึดครองดินแดนทั้งสาม (ความพยายามของมนุษย์ที่จะเอาชนะธรรมชาติ และปฏิเสธความเชื่อในพระเจ้า) พระองค์จึงเดินหน้าทำสงครามทั้งกับเหล่ามนุษย์ เทวดา และปีศาจใต้พิภพ

 

ยิ่งนับวันกองทัพของมนุษย์ก็ยิ่งเข้มแข็งขึ้น และนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้ราชาแห่งเอลฟ์ (ราชาแห่งเทวดาตัวแทนแห่งพระเจ้า) ต้องตัดสินใจเข้าร่วมสงครามโดยได้รับความช่วยเหลือจากนักรบทองคำที่สร้างขึ้นโดย ช่างตีเหล็กมากฝีมือ

 

ซึ่งนอกจากช่างตีเหล็กจะสร้างเหล่านักรบทองคำจำนวนมหาศาลขึ้นมาแล้ว เขายังได้สร้าง มงกุฏทองคำ' มอบให้แด่ราชาแห่งเอลฟ์เพื่อใช้ในการควบคุม นักรบทองคำ' และด้วยความแข็งแกร่งของกองทัพจักรกลทองคำ ทำให้มนุษย์จำนวนมากต้องพ่ายแพ้และล้มตายไปในสงครามระหว่างมนุษย์และเทวดา

 

จากความสูญเสียอย่างมหาศาล  ราชาแห่งเอลฟ์ (พระเจ้า) จึงตัดสินใจที่จะทำสนธิสัญญาเพื่อยุติสงคราม และตัดสินใจที่จะแยกมงกุฎทองคำออกเป็น 3 ส่วน เพื่อป้องกันมิให้มีผู้ใดสามารถนำ กองทัพทองคำ' ไปประหัตประหารชีวิตผู้คนได้อีก

 

แต่สำหรับเจ้าชายเนาด้า บุตรของราชาแห่งเอลฟ์ กลับรู้สึกว่าไม่มีประโยชน์ที่จะทำสนธิสัญญาสงบศึกกับพวกมนุษย์ เพราะนับวันพวกมนุษย์ก็ยิ่งพยายามจะรุกรานธรรมชาติ โดยไม่เห็นหัวเหล่าเทวดา (การปฏิเสธพระเจ้า) เจ้าชายเนาด้าจึงตัดสินใจที่จะเนรเทศตนเองออกจากอาณาจักรเอลฟ์ โดยมุ่งหวังว่าวันหนึ่งเขาจะกลับมาแย่งชิง มงกุฎทองคำ' และนำ กองทัพทองคำ' ออกทำสงครามปราบปรามเหล่ามนุษย์ซึ่งหยิ่งผยองในอำนาจของตนเอง  

 

แต่ภารกิจในการแย่งชิงและรวบรวมชิ้นส่วนของ มงกุฎทองคำ' ของ เจ้าชายเนาด้า' กลับไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะหน่วยเฝ้าระวังเรื่องเหนือธรรมชาติของสหรัฐ (BPRD-Bureau for Paranormal Reserch and Defense) ที่นำทีมโดย เฮลล์บอย บุตรของเจ้าแห่งนรกซึ่งเต็มไปด้วยพละกำลัง, ลิช เชอร์แมน สาวพลังไฟ เพื่อนร่วมงานและภรรยาของเฮลล์บอย, เอ๊บ เบรเมน หรือเอ๊ป ซาเปียน มนุษย์ ปลาที่สามารถอ่านจิตได้ และสมาชิกใหม่อย่างโยฮาน ครอส (ดวงจิตที่เต็มไปด้วยความรู้ความสามารถทางวิชาการ) ต่างรับรู้ถึงความไม่ชอบมาพากลที่กำลังจะเกิดขึ้นกับมนุษย์

 

พวกเขาจึงตัดสินใจที่จะใช้ความรู้ความสามารถ (องค์ความรู้แบบวิทยาศาสตร์ของโยฮาน ครอส พละกำลังมหาศาล (กองกำลังทหาร)ของ เฮลล์บอย บุตรของเจ้านรก และเทคโนโลยีทางอาวุธอันทรงอานุภาพ) ในการบุกตะลุยดินแดนใต้พิภพ ที่ถูกกั้นกลางด้วยประตูกลไก (สัญลักษณ์หรือตัวแทนความเชื่อที่ว่ามนุษย์สามารถไขความลับของธรรมชาติด้วยองค์ความรู้แบบวิทยาศาสตร์) เพื่อลงไปสืบหาปรากฏการณ์ที่อาจจะเป็นภัยต่อมนุษย์

 

แม้ว่าเจ้าชายเนาด้า (ตัวแทนของพระเจ้า) จะพยายามขัดขวางหน่วย BPRD ด้วยการส่งสัตว์ร้ายเข้าต่อสู้ แต่ก็ไม่คะนามือ บุตรแห่งเจ้านรกอย่างเฮลล์บอย หรือแม้แต่ รุกขเทวดา' (ตัวแทนของภัยธรรมชาติ) ก็ถูก เฮลล์บอย' ระเบิดกระบาลดับสนิทด้วยอาวุธปืนขนาดใหญ่ (สัญลักษณ์แห่งความสามารถของมนุษย์ในการคิดค้นเทคโนโลยีเพื่อเอาชนะธรรมชาติ)

 

และถึงแม้ว่าเจ้าชายเนาด้า (ตัวแทนของพระเจ้า) จะสามารถรวบรวม มงกุฎทองคำ' เพื่อบัญชาการกองทัพจักรกลทองคำ' ได้สำเร็จ แต่สุดท้ายเจ้าชาย (พระเจ้า) ก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับบุตรแห่งเจ้านรกอย่าง เฮลล์บอย (ตัวแทนของกองทัพและเทคโนโลยี) อยู่ดี

 

และภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ทำให้เรารับรู้ว่า จากความร่วมมือระหว่างมนุษย์ และบุตรของปีศาจ (เทคโนโลยี) ในสังคมสมัยใหม่นั้น ทำให้ พระเจ้าตายแล้ว' จริงๆ  

 

 ‘to prove the Faustian dream to be a nightmare' หรือ ความฝันแบบ ‘Faust' กำลังจะกลายเป็นฝันร้ายแม้แต่ในโลกของฮอลีวู้ด

 

 

 

 

The Darjeeling Limited: อดีต ปัจจุบัน อนาคต เราจะขึ้นรถไฟ ไปด้วยกัน

นพพร ชูเกียรติศิริชัย

 

การที่ใครจะเป็น ‘modern’ (ทันสมัย) เขาคนนั้นก็จะต้องคงไว้ซึ่งจิตวิญญาณแห่งการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และพร้อมทุกเมื่อที่จะละทิ้งและตัดขาดจากของเก่าที่ดำรงอยู่ (tradition) และที่สำคัญ คือ พร้อมทุกเมื่อที่จะละทิ้งและตัดขาดจากตัวตนของตัวเองที่ดำรงอยู่ ถ้าตัวตนเป็น modern ก็ต้องพร้อมที่จะละทิ้งความเป็น modern ด้วยเหตุผลของความเป็น modern เอง

 ในการจะเป็น modern มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเป็น postmodern หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ถ้าใครจะเป็น modern เขา หรือเธอคนนั้นก็จะต้องเป็น postmodern มิฉะนั้นแล้ว เขาก็ไม่สามารถเป็น modern ได้ (Jean-Francois Lyotard อ้างถึงใน ไชยันต์ ไชยพร.POSTMODERN : ชะตากรรมโพสต์โมเดิร์นในอุ้งมือนักปรัชญาการเมืองโบราณ.กทม.: หจก.ภาพพิมพ์, 2550 หน้า 41)

 หากรถไฟ คือ ตัวแทนของความทันสมัย (modern) ที่จะนำพาผู้คนจากอดีตไปสู่อนาคต การที่คนกลุ่มหนึ่งมัววิ่งตามขบวนรถไฟ ก็อาจจะทำให้พวกเขาไม่สามารถไปสู่จุดหมายปลายทาง แต่ขณะเดียวกันการที่จะมัวหมกหมุ่นอยู่บนรถไฟ (modern) ก็ไม่ได้เป็นเครื่องรับประกันว่าคนกลุ่มนั้นจะสามารถหาคำตอบให้กับชีวิตของพวกเขาเอง และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการเดินทางค้นหาจิตวิญญาณโดยสามพี่น้องตระกูลวิตแมน ในภาพยนตร์ The Darjeeling Limited

 The Darjeeling Limited เป็นเรื่องราวของสามพี่น้องแห่งตระกูลวิตแมน ซึ่งปรารถนาที่จะใช้โปรแกรมการเดินทางไปยังอินเดีย เพื่อผสานรอยร้าวแห่งความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้อง

My Neighbor Totoro : จ๊ะเอ๋! เพื่อนบ้านที่รัก

นพพร ชูเกียรติศิริชัย

 

 

ผมชอบคำว่า เพื่อนบ้าน' (Neighbor) เนื่องจากผมเล็งเห็นว่า คำว่า เพื่อนบ้าน' นั้นดูจะมีความหมายในการมอง มนุษย์' ที่อยู่รอบๆ ตัวของผู้พูด ผู้เขียน ผู้ใช้ คำๆ นี้ในแง่ดี (Positive Thinking)

 

ส่วนคำว่า จ๊ะเอ๋' นั้น ผมจำได้ว่าเป็นคำที่ผู้ใหญ่หลายๆ ท่าน (รวมทั้งตัวผม) มักจะใช้เล่นกับเด็กๆ ด้วยการเอามือ ผ้า หรือสิ่งของอื่นๆ ที่หาได้สะดวก ปิดหน้าปิดตาของตัวผู้ใหญ่เอง (หรือใช้ปิดตาเด็ก) หลังจากนั้นจึงเปิดหน้าออกพร้อมรอยยิ้มแล้วกล่าวคำว่า จ๊ะเอ๋' ซึ่งเด็กๆ ส่วนใหญ่ก็มักจะชอบและมักจะมอบรอยยิ้มหรือเสียงหัวเราะเป็นการแสดงความพึงพอใจต่อการละเล่นชนิดนี้ หรือบางทีเราอาจจะใช้คำๆ นี้หยอกล้อกับคนที่รัก หรือเพื่อนสนิทก็ได้เช่นเดียวกัน (หรือใครอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องของอำนาจที่ผู้ใหญ่ใช้กระทำต่อเด็กก็สุดแล้วแต่)

 

ผมจำได้อีกว่าผมเคยได้ยินได้ฟังคำว่า Positive thinking กับ Negative thinking เป็นครั้งแรกในชั้นเรียนภาษาอังกฤษระดับมัธยมปลาย หากแปลเป็นภาษาไทยง่ายๆ ด้วยความรู้โง่ๆ ของผม คำว่า Positive thinking น่าจะแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า การมองโลกในแง่ดี' ส่วน Negative thinking ก็คงจะหมายความว่า การมองโลกในแง่ร้าย' และแน่นอนว่า การมองโลกในแง่ดี' ย่อมให้ความหมายที่ดีมากกว่า การมองโลกในแง่ร้าย' (ส่วนนิยามคำว่า ดี' นั้นคงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนักปรัชญา นักภาษาศาสตร์ นักสัญวิทยา และนักอื่นๆ เป็นผู้แสวงหาคำอธิบายที่แตกต่างหลากหลายกันต่อไป)

 

ส่วนสาเหตุที่ผมจะต้องเขียนถึงเรื่อง เพื่อนบ้าน' ‘การมองโลกในแง่ดี' และ การมองโลกในแง่ร้าย' ในสัปดาห์นี้ ก็เนื่องมาจากสถานการณ์ เขาพระวิหาร' ที่กำลังจะบานปลายกลายเป็นปรากฏการณ์ฟื้นฝอยเส้นแบ่งดินแดนทางกายภาพ เพื่อสร้าง ความขัดแย้ง' (conflict)ระหว่างเพื่อนมนุษย์บ้านใกล้ (บางครั้งบ้านใกล้ อาจจะไม่ใช่เพื่อนบ้าน หากปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนบ้านใกล้ไม่ใยดีต่อกัน)

 

ผมต้องขอออกตัวไว้ก่อนว่า ผมเข้าใจในความรู้สึกของ คนไทย' (ผู้ที่อยู่ในประเทศไทยและถือบัตรประชาชนไทย ตามคำนิยามของคนบางกลุ่ม) ที่รับรู้ว่าปราสาทเขาพระวิหารกำลังจะไม่ใช่สมบัติของประเทศไทยแล้วจริงๆ เพราะผมก็เป็นมนุษย์ผู้หนึ่งซึ่งถูกอบรม สั่งสอน และถ่ายทอด ความเป็นไทย' มาตั้งแต่อ้อนแต่ออก ดังนั้นผมจึงถูกผลิตขึ้นมาภายใต้วาทกรรม เอกราช' เช่นเดียวกับพี่น้องชาวไทยส่วนใหญ่ในประเทศนี้

 

แต่กระนั้นผมก็อดหวาดหวั่นพรั่นพรึงไม่ได้ เมื่อมีโอกาสได้ยินได้ฟังชาวบ้านร้านตลาด พยายามเชื่อมโยงเรื่องราวการขึ้นทะเบียน ปราสาทเขาพระวิหาร' เป็นมรดกโลก กับ สงครามแย่งชิงดินแดน' (ขอภาวนาให้มันกลายเป็นเพียงความคิด) เพราะโดยส่วนตัวผมเชื่อว่า ความรุนแรง' ย่อมไม่ใช่ทางออกของปัญหา โดยเฉพาะปัญหาที่จะต้องเกี่ยวข้องกับชีวิตและจิตใจของมนุษย์จำนวนมาก และ สงคราม' ก็ไม่เคยเป็นคำตอบของชัยชนะระหว่างประชาชน กับประชาชน (แม้ว่ามันจะเป็นชัยชนะของรัฐต่อรัฐก็ตาม)

 

ยิ่งผมได้ยินได้ฟังนักวิชาการรุ่นใหม่ท่านหนึ่ง ของสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง ที่พยายามเชื่อมโยงประเด็น ปราสาทเขาพระวิหาร' กับ การสูญเสียดินแดน' อื่นๆ อีกหลายพื้นที่ ยิ่งทำให้ขนหัวของผมลุกซู่ด้วยความหวาดกลัว แต่ไม่ได้เป็นความหวาดกลัวว่าเราจะสูญเสียดินแดน หรืออธิปไตยในเร็ววันนี้ หากแต่ ข้อมูลทางวิชาการ' ของนักวิชาการท่านนั้นมันกำลังจะสร้าง ความหวาดกลัว' ขึ้นในจิตใจที่อ่อนไหวของประชากรส่วนใหญ่ในประเทศ และ ความกลัว' เหล่านี้กำลังจะเปลี่ยนเป็น ความเกลียดชัง' ในไม่ช้า

 

ยิ่งนักวิชาการท่านนี้พยายามจะเสนอทางออกด้วยการผลักดันเพื่อนบ้านออกไปจากดินแดน (หรือไม่ก็ต้องเก็บภาษีพวกเขา) ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างสองประเทศ เพื่อแสดงอธิปไตยเหนือดินแดนของเรา (ตามที่ท่านบอก) ยิ่งทำให้ผมเล็งเห็นว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การศึกษาในประเทศไทยไม่เคยทลายกำแพง อคติ' ทางชาติพันธุ์ ที่ทำให้ มนุษย์กลุ่มหนึ่ง' มอง มนุษย์อีกกลุ่มหนึ่ง' คือ ผู้สร้างปัญหา' ไปได้เลย (แม้ในหมู่นักวิชาการบางกลุ่ม)

 

เหตุการณ์ และข้อมูลที่นักวิชาการ (ผู้ทรงคุณวุฒิ) นำเสนอผ่านรายการ ตาสว่าง' เมื่อคืนวันอังคารที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ.2551 ทำให้ผมอดนึกย้อนไปในอดีตเมื่อครั้งที่บรรพบุรุษของผม (และบรรพบุรุษของอีกหลายๆ ท่านที่ระบุว่าตนเองคือคนไทย) ออกเดินทางโดยเรือสำเภามาจากประเทศจีนเพื่อมาตั้งรกรากยังแดนดินถิ่นสยามแห่งนี้ไม่ได้ ผมแอบสงสัยว่าในครั้งนั้น บรรพบุรุษ' ของผมจะถูกเกลียดชังจากผู้คนในดินแดนแห่งนี้หรือเปล่า? และหากเป็นเช่นนั้น ท่าน' และ เราทั้งหลาย' สามารถฝ่า กำแพงแห่งความเกลียดชัง' เหล่านั้นมาได้อย่างไร? เหตุใดทุกวันนี้เราถึงยอมรับการตั้งถิ่นฐานของคนกลุ่มหนึ่ง (จีน ฝรั่ง ญี่ปุ่น เกาหลี และ ฯลฯ) แต่กลับไม่ยอมรับการตั้งถิ่นฐานของคนอีกกลุ่มหนึ่ง (ประเทศบ้านใกล้)

 

สำหรับตัวผม กรณีเขาพระวิหาร' จึงไม่ใช่แค่เรื่องของเส้นแบ่งเขตแดนทางกายภาพ หากแต่เป็นเรื่อง อาณาเขตทางจิตใจ' ของผู้คนทั้งสองฝั่งที่อาจจะกว้างไม่เพียงพอที่จะลบ บาดแผลทางประวัติศาสตร์' ระหว่างกัน จนก่อเกิดเป็น กำแพงแห่งความเกลียดชัง' ที่ทั้งสองฝ่ายสร้างขึ้นเพื่อป้องกันตน (ด้วยทัศนคติในแง่ลบ Negative thinking) เมื่อไรก็ตามที่บาดแผลถูกสะกิดจากอำนาจรัฐ ประวัติศาสตร์' ระหว่างสองชาติบ้านใกล้ก็จะถูกนำมาเชื่อมโยงให้กลายเป็นเรื่องระหว่าง ศัตรู'ทันที ทั้งๆ ที่ในระดับวิถีชีวิตประจำวันของชาวบ้าน ประวัติศาสตร์' ของพวกเขาอาจจะไม่มีอาณาเขตหรือดินแดนใดๆ เป็นตัวแบ่งความสัมพันธ์เลยด้วยซ้ำ

 

นอกจากการมุ่งประเด็นไปที่ การทวงคืนดินแดน' หรือ การยกปราสาท'ให้เขา สิ่งที่ผู้คนทั้งสองแผ่นดิน (ตามเส้นแบ่งของรัฐ) ต้องนำมาพิจารณาในกรณีของ เขาพระวิหาร' ก็คือ เรื่องของ ทัศนคติ' (attitude)ที่เราใช้มองกันและกัน เพราะสิ่งนี้ต่างหากที่จะช่วยป้องกันปัญหาระหว่างผู้คนทั้งสองฝ่ายในระยะยาว เราควรจะกลับมาทบทวนว่า ที่ผ่านมาเราทั้งสองฝ่ายมองกันในฐานะอะไร? เพื่อนบ้าน' หรือ แค่ คนบ้านใกล้'

 

เกริ่นเสียยืดยาวอีกตามเคย

 

My Neighbor Totoro : ‘เพื่อนบ้าน' และ การมองโลกในแง่ดี'

 

My Neighbor Totoro (ค.ศ. 1988) ภาพยนตร์อนิเมชั่น ผลงานการกำกับของ ฮายาโอะ มิยาซากิ' (Hayao Miyazaki) นำเสนอเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่าง มนุษย์' กับสิ่งแวดล้อม' (ซึ่งหมายรวมถึงทุกสรรพสิ่งบนโลก ทั้ง ต้นไม้ คน สัตว์ สิ่งของ และฯลฯ) โดยบอกเล่าผ่านตัวละคร ซัทสึกิ'เด็กสาววัย 11 ปี กับ เมย์' น้องสาววัย 4 ขวบ ที่ต้องย้ายติดตามคุณพ่อมาสู่บ้านใหม่ในชนบท

 

สิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ของชนบทไม่เพียงแต่จะสร้างความรื่นรมย์ให้กับเด็กทั้งสอง แต่ที่นี่ยังทำให้พวกเธอได้พบเจอกับ มิตรภาพ' ของ เพื่อนบ้าน' หน้าใหม่ อย่าง คุณยายใจดีข้างบ้าน ที่สามารถเข้านอกออกในบ้านของพวกเธอราวกับเป็นญาติสนิท, ‘คันตะ' หลานชายของคุณยายใจดี, มัคคุโระคุโระสึเกะ' หรือซึซึวาตาริ' เจ้าตัวประหลาดกลมๆ สีดำๆ ที่มักจะเข้ามาอาศัยในบ้านร้างและนำฝุ่นเข้ามาในบ้าน แต่เมื่อมีคนเข้ามาอยู่ เจ้าตัว ซึซึวาตาริ' หรือ มัคคุโระ คุโรสุเกะ' ก็จะย้ายออกไป

 

ที่สำคัญพวกเธอยังได้พบกับ โตโตโร่' หรือ วิญญาณผู้พิทักษ์ป่า' ผู้น่ารัก ซึ่งแตกต่างจากจินตนาการของมนุษย์ส่วนใหญ่ ที่มักจะสร้างภาพของวิญญาณให้มีลักษณะ น่ากลัว' แต่สำหรับ โตโตโร่' กลับมีลักษณะคล้ายกระต่ายขนฟูตัวใหญ่ ที่ชอบนอนหลับพักผ่อน และมักจะส่งความรู้สึกผ่านเสียงคล้ายกับการหาว

 

โตโตโร่' ช่วยให้พวกเด็กๆ รับรู้ว่านอกจากโลกปกติที่พวกผู้ใหญ่ (อย่างเราๆท่านๆ) รู้จัก มันยังมีโลก' อีกโลกหนึ่ง ที่พวกเธอสามารถสัมผัสได้ เพียงแค่เปิดใจยอมรับ หรือ ต้องมีทัศนะคติในการมองโลกในแง่ดี (positive thinking) อย่างที่ เมย์' เด็กสาววัย 4 ขวบ เป็นผู้ค้นพบโลกของ โตโตโร่'

 

และภายในโลกที่ผู้ใหญ่ซึ่งเต็มไปด้วยอคติ' ไม่มีวันมองเห็นนั้น มันเป็นโลกที่แถบจะไม่มีขอบเขต เป็นโลกที่อาจจะสามารถนำพาพวกเราลอยสูงขึ้นไปยังท้องฟ้า (อยู่เหนือปัญหา) อย่างที่ โตโตโร่' ได้นำพา เมย์' และ ซัทสึกิ' ล่องลอยไปพบเจอกับมุมมองใหม่ๆ ด้านบน

 

นอกจาก ความอบอุ่น' และ ความสัมพันธ์' อันดีระหว่างผู้คนในครอบครัว คุราซาเบะ' (พ่อ แม่ ซัทสึกิ และเมย์) แล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังพยายามที่จะบอกกับเราว่า ความกลัว' (อคติ) คือ อุปสรรค' สำคัญในการทำความรู้จักกับ มิตรภาพ' ดังที่เราจะเห็นได้ว่า เด็กหญิงอย่าง เมย์' (ผู้ค้นพบโลกของโตโตโร่) มักจะกล่าวอยู่เสมอว่า "เมย์ไม่กลัว" และนั่นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เธอสามารถค้นพบและเรียนรู้จักกับทุกๆ สิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตประจำวันด้วยความสนุกสนาน

 

และในหลายๆ ฉากที่เกี่ยวข้องกับ บ้านหลังใหม่' เราจะพบว่า ผู้กำกับคล้ายจะจงใจที่จะเปิดประตูบ้านทิ้งไว้ เพื่อให้คนในครอบครัวได้รับรู้โลกภายนอก ขณะเดียวกันก็เป็นการส่งเสริมให้ เพื่อนบ้าน' ได้เรียนรู้จักกับครอบครัวของ ซัทสึกิ' และ เมย์' เช่นเดียวกัน เช่น ในฉากที่ คุณยายข้างบ้าน' เดินเข้ามาทำความรู้จักกับเด็กๆ ถึงในบ้าน หรือในฉากที่พวกเด็กๆ (ซัทสึกิ และเมย์) นอนเปิดประตู จนทำให้พวกเธอได้พบเห็น โตโตโร่' และเพื่อนๆ กำลังทำพิธีกรรมปลูกต้นไม้ ซึ่งสุดท้ายพวกเด็กๆ ก็ได้มีโอกาสเข้าไปร่วมพิธีกรรมนั้นด้วย

 

การเปิดประตูบ้าน' (การเปิดใจ) ในภาพยนตร์เรื่องนี้ จึงไม่ใช่เรื่องของการยอมสูญเสีย พื้นที่ส่วนตัว' แต่เป็นการเปิดประตู เพื่อให้ เพื่อนบ้าน' ได้มีโอกาสเรียนรู้จักกับ ความจริงใจ' ที่ตัวละครในครอบครัวของซัทสึกิ และเมย์ มีให้ และ ความไม่กลัว' (ความไม่มีอคติ) ของเด็กๆ ก็ไม่ใช่ความไม่ระมัดระวัง หรือ ความประมาท' แต่ในทางตรงกันข้ามมันกลับเป็น ความกล้าหาญ' ที่จะทำลาย อคติ' ในการเรียนรู้จักกับ เพื่อนบ้าน' และทุกๆ สรรพสิ่งบนโลกใบนี้อย่างเท่าเทียม และการมองโลกในแง่ดี (positive thinking) ของตัวละครก็นำไปสู่เรื่องราวที่งดงามของ มิตรภาพ'

 

หลังชมภาพยนตร์จบ ผมพยายามหาคำตอบให้กับตัวเองว่ "วันนี้เราพร้อมที่จะ เปิดใจ' รับ เพื่อนบ้าน' โดย ปราศจากอคติ' เพื่อ ความเท่าเทียม' ของ มิตรภาพ' แล้วหรือยัง?"

สะบายดีหลวงพระบาง : กรุณาปลดสัมภาระก่อนออกเดินทาง

 

นพพร ชูเกียรติศิริชัย  

 

บางครั้งผมก็รู้สึกเบื่อหน่ายที่จะต้องหอบสัมภาระมากมายเข้าไปในโรงภาพยนตร์

ปัจจุบันผมแอบสงสัยว่าเหตุใดความสุขในการชมภาพยนตร์แบบเมื่อครั้งยังเป็นเด็กจึงสูญหายไป จนเมื่อมีโอกาสชมภาพยนตร์เรื่องสะบายดีหลวงพระบาง'จึงทำให้ผมรับรู้ว่าแท้จริงแล้วความสุขในวัยเด็กของผมไม่ได้หายไปไหน แต่หนังสือ ตำรา คำวิพากษ์วิจารณ์ ที่ผมแบกเอาไว้ในสมองต่างหากที่บดบังความสุขแบบที่เราคุ้นเคย

 

รักสาม (ต้อง) เศร้า ? เออ...ทำไม?

นพพร ชูเกียรติศิริชัย

ถ้าหาก E เท่ากับ EMOTION (อารมณ์ รัก โลภ โกรธ หลง และ อื่นๆ), M เท่ากับ MAN (มนุษย์ไม่ว่าหญิง ชาย และอื่นๆ) และ C เท่ากับ CLOCK (ซึ่งหมายถึงระยะเวลา) จากสมการ E=mc2คุณคิดว่า จำนวนของบุคคล' ที่เหมาะสมกับ ความรัก' จะเท่ากับเท่าไหร่?

รัก/สาม/เศร้า ตามสมการ รัก/สอง/สุข และเวลาแค่ไหนถึงจะพอสำหรับ รัก'

รัก/สาม/เศร้า' เป็นเรื่องราวของเพื่อนรักสามคน ที่แอบรัก' กัน ในฐานะที่มากกว่าเพื่อน น้ำ' แอบรัก พายุ' ‘พายุ' แอบรัก ฟ้า' โดยที่ตัวฟ้าเองก็ไม่เคยรับรู้มาก่อนเลยว่าพายุแอบรักตนเอง (และก็ไม่เคยรับรู้เช่นกันว่าเพื่อนรักของตนอย่าง น้ำ' ก็แอบรักเพื่อนรักอย่าง พายุ' เหมือนกัน) ตาม สมการความรักเป็นเรื่องของคนสองคน จึงไม่ยากที่ คนป่วย' ผู้ปรารถนาความรักอย่าง ฟ้า' จะตกหลุมรัก ผู้ดูแล' อย่าง พายุ'

แต่ เมื่อฟ้ารับรู้ว่าเพื่อนรักอย่าง น้ำ' แอบรัก พายุ' สมการความรักระหว่างฟ้า' กับ พายุ' จึงถูกรบกวนด้วย ความเป็นเพื่อนของน้ำ' และด้วยเหตุผลที่ว่า เวลาชีวิต' ของเธอนั้นเหลือน้อยลงทุกที ฟ้า' จึงคิดว่าคงเป็นการเปล่าประโยชน์ที่เธอจะนำพาความรักของพายุไปกับเธอ เธอจึงตัดสินใจลบตนเองทิ้งจากสมการความรักระหว่าง น้ำ' กับ พายุ' ด้วยความมุ่งหวังว่า หากไม่มีเธอสักคน สมการความรักระหว่างเพื่อนรักของเธอจะสมบูรณ์ขึ้น

แต่การหายตัวไปของฟ้า' กลับไม่ได้ช่วยให้ทุกอย่างดีขึ้น เพราะทุกคนต่างก็ต้องสูญเสียส่วนหนึ่งของความรู้สึกดีๆ (รวมถึงตัวของฟ้าเอง) น้ำ' จึงตัดสินใจที่จะออกตามหา ฟ้า' และตัดสินใจที่จะลบตนเองออกจากสมการความรักระหว่าง ฟ้า' กับ พายุ' แต่นั่นกลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความรักระหว่าง พายุ' และ น้ำ' ในวันที่ ฟ้า' ได้จากลาโลกนี้ไป

จากเรื่องราวทั้งหมดของ รัก/สาม/เศร้า

KUNG FU PANDA : THIS IS CHINA NOT PANDA THAT YOU KNOWN.


 

< นพพร ชูเกียรติศิริชัย >

 

 

หากพูดถึงประเทศจีน คุณนึกถึงอะไร? กังฟู, ก๋วยเตี๋ยว, หมีแพนด้า,มังกร, ลูกท้อ,ซาลาเปา, ปรัชญาลัทธิเต๋า และภูเขาสูงหน้าตาแปลกๆ

 

หากสิ่งเหล่านี้คือคำตอบของคุณ นั่นก็หมายความว่า คุณพร้อมแล้วที่จะไปสัมผัสกับภาพยนตร์ ‘KUNG FU PANDA’ หรือในชื่อภาษาไทยว่า กังฟูแพนด้า จอมยุทธพลิกล็อค ช็อคยุทธภพ

 

ผมไม่แน่ใจว่าหมีแพนด้าถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของ มิตรภาพระหว่างประเทศจีน กับประเทศอื่นๆ ตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ที่แน่ๆ บทบาทความเป็น ทูตสันติภาพของหมีแพนด้า ในบัดนี้ได้ถูกนำเสนอผ่านจอภาพยนตร์ฮอลีวู้ดไปเป็นที่เรียบร้อย

 

อนาคตของชาติ สู้ๆ สู้ตาย!

 

  

ปิติ-ชูใจ

ท่ามกลาง หนังซัมเมอร์' ที่ดาหน้ากันมาถมจนเต็มพื้นที่ในโรงภาพยนตร์ช่วงฤดูร้อน ทางเลือกของคนดูหนังใน โรงหนังชั้นนำใกล้บ้านคุณ' ก็ยังไม่ได้หลากหลายอะไรนัก เพราะแนวทางหลักๆ ของหนังซัมเมอร์ที่เห็นอยู่ตอนนี้ก็มีแค่ แอ๊กชั่น, ตลก, สยองขวัญ และอนิเมชั่น กรณีที่อยากดูหนังนอกกระแส ก็ต้อง เข้าเมือง' กันอย่างเดียว เพราะที่ทางของหนังเหล่านี้ยังกระจุกตัวอยู่ที่สยามหรือไม่ก็สุขุมวิทแค่นั้น (ซึ่งมันก็เป็นเรื่องเข้าใจได้ในยุคที่หนังถูกจำกัดความหมายให้เป็นแค่เครื่องมือผ่อนคลายและสร้างความบันเทิง)

แต่อย่างน้อยที่สุด หน้าร้อนปีนี้ยังมีหนังไทยน่าสนใจอยู่ 2 เรื่อง ที่พอจะแหวกกระแสเดิมๆ ออกไปได้บ้าง 

เรื่องแรกคือ อรหันต์ซัมเมอร์' ที่ชูประเด็น การบวชสามเณรภาคฤดูร้อน' มาเป็นจุดขาย กับอีกเรื่องคือ ดรีมทีม' ของผู้กำกับจอมเสียดสี (เรียว กิติกร) ที่ปีนี้มาพร้อมกับการขายความน่ารักของเด็กๆ อนุบาล วัยกำลังซน

ทั้งสองเรื่องมีความพ้องต้องกันประการหนึ่ง คือ เป็นหนังที่ผู้ปกครองสามารถพาเด็กๆ ไปดูได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีคำหยาบคายประเภท เหี้ย-ห่า และสารพัดสัตว์' หลุดออกมาให้เด็กๆ ได้ยิน...(ซึ่งประเด็นนี้กลายเป็นจุดขายที่แข็งแรงของหนังไปได้ยังไง--ก็ยังงงๆ อยู่เหมือนกัน)

ทั้งสองเรื่องเป็นหนังที่ดูเพื่อเน้นขำ เน้นฮา อย่างเดียวก็ได้ หรือจะดูเพื่อให้เห็นภาพสะท้อนความเป็นไปของสังคมไทยก็ยังได้ เพราะเรื่องใหญ่ใจความของทั้งอรหันต์ฯ และดรีมทีม คือการมองจากมุมของเด็กๆ ที่ถูกวางภาระแห่งการเป็น อนาคตของชาติ' ไว้บนบ่า

ใน อรหันต์ซัมเมอร์' เรื่องราวเริ่มต้นที่บรรดาพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ส่งตัวลูกหลานไปบวชเณรด้วยเหตุผลต่างๆ กันไป บางรายต้องการดัดนิสัยและสร้างวิันัยให้ลูก ส่วนบางรายหวังจะเกาะชายผ้าเหลืองลูกขึ้นสวรรค์ ในขณะที่ผู้ปกครองอีกบางคนจำต้องส่งลูกหลานไปสู่สถาบันศาสนาด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ แต่โดยรวมแล้วก็คือ ผู้ปกครองส่วนใหญ่หวังว่า ศาสนา' จะช่วยกล่อมเกลาและสั่งสอนให้ลูกหลานของตัวเองเป็น คนดี' ต่อไปในอนาคต

ส่วนเรื่อง ดรีมทีม' ที่ผู้กำกับบอกว่า ไม่มีนัยยะทางการเมืองแอบแฝง' ก็พุ่งประเด็นไปที่การแข่งขันชักเย่อของเด็กอนุบาลที่มุ่งสู่สนามระดับชาติ โดยมีผู้ปกครองหลากหลายประเภทคอยสนับสนุน ชี้นำ หรือไม่ก็คอยสร้างความวุ่นวายปั่นป่วนไม่แพ้เด็กๆ ที่ยังไม่รู้เดียงสาในเรื่อง

เรื่องราวของสามเณรแสนซนอย่าง ข้าวปั้น, นะโม, น้ำซุป, บู๊ ฯลฯ และเรื่องราวของน้องหัวแก้ว, เป๊ะ, เซน 1, เซน 2, อะตอม, ภูมิ ฯลฯ จึงเป็นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ที่พวกเขาเหล่านั้นได้เผชิญร่วมกันในฤดูร้อนหนึ่งซึ่งจะส่งผลกับทิศทางชีวิตของพวกเขาในทางใดทางหนึ่งในอนาคต

และประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือว่า พวกเขาจะรับมืออย่างไรกับความคาดหวังของผู้คนรอบข้าง

การเรียนรู้ร่วมกันของเหล่าสามเณรในอรหันต์ซัมเมอร์' ทำให้พวกเขามีศัตรูร่วมกัน (ในตอนแรก) คือความเข้มงวดกวดขันของหลวงพี่และหลวงพ่อในเรื่อง

การรวมตัวกันโดยอัตโนมัติของเหล่าสามเณรภาคฤดูร้อนจึงเกิดขึ้น เพื่อแข็งขืนต่อข้อปฏิบัติอันเคร่งครัดและเพื่อทำตามที่ธรรมชาติเรียกร้อง เช่น ร้องเพลงเมื่ออยากร้อง หรือต้มมาม่ากินเมื่อหิว

แน่นอนว่า การกระทำเหล่านี้ไม่ใช่การกระทำในฐานะสามเณร แต่เป็นการกระทำตามประสาเด็กทั่วไป แต่เมื่อพวกเขาอยู่ในสถานะซึ่งต้องดำรงไว้ซึ่ง คุณงามความดีในฐานะผู้สืบทอดศาสนา' (และอนาคตของชาติ) การฝืนธรรมชาติของเด็กทำให้เกิดการเรียนรู้ว่า พวกเขาควรจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรต่อกฎอันเคร่งครัดและความคาดหวังของพ่อแม่พี่น้องลุงป้าน้าอาที่คิดกันง่ายๆ ว่า ผ้าเหลือง' จะเป็นเครื่องมือบ่มนิสัยอันดีงามของเด็กได้

ทั้งที่ในความเป็นจริง ใต้ร่มเงาของศาสนา ก็ยังมีปัญหาที่แก้ไม่ตกอยู่หลายเรื่อง เห็นได้จาก พุทธศาสนิกชน' ในเรื่องอรหันต์ซัมเมอร์ ส่วนใหญ่ก็เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในทางวัยวุฒิกันแล้ว แต่ความเข้าใจเกี่ยวกับพระธรรมคำสอนยังไม่ไปถึงไหน และคนส่วนใหญ่ยังติดอยู่แค่เปลือกของพิธีกรรมเท่านั้น

ฉากที่สามเณรเจ้าปัญญาพยายามรักษาอาการคลุ้มคลั่งของ ผี' ในจิตใจผู้ใหญ่ ด้วยการมุ่งชี้ไปที่ต้นเหตุของปัญหา ซึ่งผู้กำลังมีทุกข์เท่านั้นจะรู้ว่า ต้นตอแห่งความทุกข์ของตัวเองคืออะไร แต่ หลวงพี่ใบบุญ' (ตูน เอเอฟ 3) ผู้อบรมสั่งสอนสามเณร กลับต้องไปเตรียมน้ำมนต์เพื่อมา ปราบผี' อย่างไม่เต็มใจนัก หลังจากถูกบรรดาญาติโยมกดดันอยู่พักใหญ่

ถ้าดูแบบไม่คิดอะไร...มันก็คงไม่มีอะไร แต่เมื่อคิดไปแล้ว ก็จะเห็นได้เองว่า ในขณะที่บรรดาพุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่พร่ำภาวนาถึงความดีงามของศาสนา และทะนงตนว่าตัวเองเป็นชาวพุทธที่ดี แต่เมื่อต้องเผชิญหน้ากับ ปัญหา' พวกเขากลับคิดถึงแต่วิธีที่เป็นไสยศาสตร์มากกว่าจะคำนึงถึงหลักธรรมคำสอนซึ่งเป็น แก่นแท้' ของศาสนา และหวาดกลัวเสียจนหลงลืมไปว่าความรัก โลภ โกรธ หลง เกลียดแค้น ชิงชัง เป็นอารมณ์ปกติของมนุษย์ ซึ่งแน่เสียยิ่งกว่าแน่ว่า มันซุกซ่อนอยู่ในตัวเราทุกคน'

แทนที่จะมุ่งสู่การดับทุกข์และพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้น พุทธศาสนิกชนจำนวนมากนี่แหละ ที่มุ่งหน้าเข้าสู่ตรรกะที่ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับเรื่องของการบำบัดทุกข์ในใจตน กลับมองว่าบุคคลอื่นๆ ต่างหากที่เป็นสาเหตุแห่งทุกข์และพยายาม กำจัด' ทิ้ง มันถึงได้เกิดเป็นปัญหาตามมาเรื่อยๆ ไม่รู้จบ

ความงดงาม' ของศาสนาที่ถูกถ่ายทอดออกมาให้เห็นในอรหันต์ซัมเมอร์จึงไม่ได้อยู่ที่ความดีงาม' แต่ไปตกอยู่ที่การ ตระหนักรู้' ถึงธรรมชาติของสรรพสิ่งว่ามีความงดงามเฉพาะตัวของมันอย่างไรมากกว่า

ชั้นเชิงในการนำเสนอภาพของศาสนาของหนังเรื่องนี้จึงไม่ได้แบนราบ และพร่ำสอนถึงการทำความดีเพียงอย่างเดียว แต่มีทั้งการเรียนรู้จากความจำยอม, ความผิดพลาด, ความโง่เขลา หรือความถือดี

สามเณรที่ดูเหมือนจะมีอนาคตไกล หากไม่ได้เรียนรู้หรือทำความเข้าใจในภาวะต่อมาของชีวิต ก็มีสิทธิ์หลงผิดได้พอๆ กับเด็กทั่วไปที่ไม่เคยเฉียดใกล้ชายผ้าเหลือง หรือผู้ยากไร้ที่ต้องเลือกอะไรบางอย่างด้วยภาวะแห่งความจำยอม อาจแปรเปลี่ยนให้มันเป็นโอกาสทองของชีวิตก็ย่อมได้

มันจึงไม่เกี่ยวกับว่า เรามี โอกาส' ในการเลือกหรือไม่ แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราจะสร้างโอกาสอย่างไรจากสิ่งที่ได้เลือก (หรือ ต้อง' เลือก) ไปแล้ว

ส่วนความตั้งใจของกลุ่มเด็กอนุบาลใน ดรีมทีม' แรกเริ่มมีแค่ว่า พวกเขาอยากเล่นเกมชักเย่อ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการออกเสียงว่า ชัก-เย่อ' หรือ ชัก-กะ-เย่อ' มันก็คือเกมที่ผู้แข่งขันทั้งสองฝ่ายยืนอยู่คนละด้านของปลายเชือก และใครที่มีแรงสาวได้มากกว่า ฝ่ายนั้นก็คือ ผู้ชนะ'

เกมชักเย่อกลายเป็นเรื่องใหญ่โตเมื่อคำว่า ชัยชนะ' เข้ามาเกี่ยวพัน จากความสนุกสนานธรรมดาๆ กลายเป็นภารกิจยิ่งใหญ่ที่ต้องอาศัยโค้ช (ฟุตบอล) ทีมชาติมาเป็นตัวช่วย และความคาดหวังว่า เด็กๆ ต้องชนะ' ก็เป็นภาระที่ต้องแบกรับเพิ่มมาอีกหนึ่งเรื่อง

แม้ผู้กำกับกิตติกรจะบอกว่าหนังดรีมทีมไม่มีประเด็นแอบแฝง แต่มันก็ยังตีความได้อยู่ดีว่า ในสังคมไทยนี้ไซร้...มีผู้ใหญ่มากมายคอยอยู่เบื้องหลังเด็กๆ เต็มไปหมด

ผู้ใหญ่บางคนอาจจะทำตัวน่ารักน่าเอ็นดูด้วยการวิ่งเข้าหาผู้ใหญ่อีกคน เพื่อให้สมผลประโยชน์ของตัวเองและเด็กในความดูแล เช่น แม่ของน้องเซน 1' (เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์) ซึ่งพยายามล็อบบี้โค้ชทีมชักเย่อในทุกครั้งที่มีโอกาส เพื่อให้ลูกชายของตัวเองได้อยู่ในตำแหน่งหัวหน้าทีม หรือไม่อย่างนั้นก็จะมีคนอย่าง พ่อของน้องเซน 2' (คมสัน นันทจิต) ซึ่งพยายามปลูกฝังเข้าสู่หัวลูกอยู่ทุกบ่อยว่า ที่หนึ่งคือผู้ชนะ' และ ต้องชนะเท่านั้นถึงจะดี'

จะว่าไปแล้ว การกระทำของผู้ใหญ่ในหนังดรีมทีม ไม่ได้น่าเกลียดโฉ่งฉ่างอะไร และค่อนไปในทางฉันทาคติที่เกิดจากความลำเอียงเพราะรัก' โดยแท้ ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาของคนทั่วไป แต่ถ้ามองในอีกแง่หนึ่ง ก็คงจะซึ้งว่า ด้วยเรื่องเล็กๆ น้อยๆ น่ารักน่าเอ็นดูแบบนี้แหละ ที่ทวีความรุนแรงขึ้นเป็นเงาตามตัว ตามวันและวัยของผู้ที่เติบใหญ่ในสังคมแห่งการแข่งขัน

วัฒนธรรม ตัวกู-ของกู-พวกพ้องกู ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ชั่วเวลาข้ามวัน แต่มันต้องสั่งสมกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งบางทีมันอาจจะเริ่มต้นด้วยเรื่องขี้ปะติ๋วแบบนี้แหละ และเราก็มักจะมองข้าม หลงลืม หรือเพกเฉยกับความอคติของตัวเอง (แล้วไปเข้มงวดกวดขันกับการสร้างมาตรฐานให้คนอื่นปฏิบัติตามแทน)

ในโลกที่ไม่ต้องการความพ่ายแพ้ ที่อยู่ที่ยืนของคนแพ้จึงมีน้อย แม้แต่ในหนังดรีมทีมเอง ก็มีที่ทางให้กับการพ่ายแพ้เพียงเล็กน้อย ทั้งที่ผู้กำกับพยายามเสนอว่า ที่หนึ่งไม่ใช่ทุกอย่าง' แต่ก็ยังไม่ชัดเจนฟันธงพอที่จะทำให้เห็นว่า การเป็นที่สอง' หรือ การเป็นผู้แพ้' มีรสชาติอย่างไร ซึ่งอันที่จริง (ความคิดเห็นส่วนตัว) มันน่าสนใจกว่าเป็นผู้ชนะเสียอีก

ถึงกระนั้นก็เถอะ...รอยยิ้มของเด็กๆ ในเรื่องดรีมทีมก็เป็นสิ่งที่คนดูปรารถนาจะได้เห็นมากกว่ารอยน้ำตา และเตือนให้คนดูอย่างเราได้รู้ว่า ที่แท้แล้วเราก็เสพติดในชัยชนะไม่แพ้คนอื่นๆ ในสังคมหรอก...(-__-")

 

 

Pages

Subscribe to RSS - บล็อกของ cinemania