Skip to main content

 

อินโดจีนของฝรั่งเศสและหมู่เกาะอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ คือ หน่วยอาณานิคมฝรั่งที่โดดเด่นบนพื้นทวีปและพื้นสมุทรอุษาคเนย์ เขตการเมืองแรก แตกกระจายออกเป็นรัฐเอกราชอิสระถึงสามแห่ง ได้แก่ เวียดนาม ลาว และ กัมพูชา ขณะที่เขตการเมืองหลังแปลงสภาพเป็นรัฐเอกราชเพียงหนึ่งเดียว คือ อินโดนีเซีย

Benedict Anderson ในงาน "Imagined Communities" (1991) เคยนำอินโดจีนไปเปรียบเทียบกับอินโดนีเซีย บนสมมุติฐานที่ว่า ทั้งๆ ที่ทั้งสองดินแดนมีแบบแผนการกระชับอำนาจของเจ้าอาณานิคมที่คล้ายๆ กัน ทว่า ทั้งสองกลับผลิตผลลัพธ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน นั่นก็คือ สามประเทศอิสระกับหนึ่งรัฐจินตกรรม

Anderson ใช้นโยบายทางการศึกษาและภาษา รวมถึงระบบราชการในยุคอาณานิคมเป็นกรอบวิเคราะห์ความเหมือนและความต่าง กล่าวคือ ในหมู่เกาะอินเดียตะวันออก ดัตซ์ใช้ระบบการศึกษารวมศูนย์อันมีปัตตาเวีย (จาการ์ตา) เป็นศูนย์กลาง โดยลูกหลานชนพื้นเมืองจากเขตหมู่เกาะที่แตกกระจัดกระจาย ถูกดูดเข้ามาพบปะแลกเปลี่ยนกันในโรงเรียนอบรมชั้นสูง ต่อมา กระบวนการจินตกรรมรัฐหมู่เกาะถูกกระตุ้นเมื่อนักเรียนที่จบการศึกษามีโอกาสเข้ารับราชการและถูกส่งไปประจำการในทุกส่วนภาคของหมู่เกาะ พร้อมมีการประดิษฐ์ภาษาอินโดนีเซียเพื่อใช้เป็นสื่อกลางระหว่างกลุ่มพหุชาติพันธุ์ ซึ่งส่งผลให้การสร้างรัฐและการสร้างชาติใหม่ของอินโดนีเซียค่อยๆ ก่อรูปขึ้นอย่างเป็นระบบ

ส่วนในอินโดจีน แม้ฝรั่งเศสจะใช้แนวทางการศึกษารวมศูนย์เพื่อตัดขาดอิทธิพลสยามในเขตอินโดจีนตะวันตก (ลาวและกัมพูชา) กับมรดกขงจื้อในเขตอินโดจีนตะวันออก (ตังเกี๋ย อันนัม และโคชินไชน่า) ดั่งเห็นได้จากโรงเรียนในฮานอยและไซ่ง่อนที่ดึงดูดเหล่านักศึกษาจากหน่วยดินแดนต่างๆ ในอินโดจีนให้มาพบปะแลกเปลี่ยนกัน ทว่า บรรดาศิษย์เก่าที่จบไปประกอบอาชีพข้าราชการ มักได้แก่ ชาวเวียดนาม ขณะที่คนลาวและคนเขมรจัดว่ามีสัดส่วนที่จำกัดอยู่มาก ขณะเดียวกัน กลับไม่พบการพัฒนาภาษาร่วมในภูมิภาคอินโดจีน โดยภาษาพื้นเมืองของคนเวียดนาม คนลาวและคนเขมร ยังคงถูกใช้อย่างแพร่หลายตลอดยุคอาณานิคม ซึ่งข้อจำกัดเหล่านี้ ส่งผลให้อินโดจีนมีจินตกรรมร่วมที่เข้มข้นน้อยกว่าอินโดนีเซีย จนเกิดแรงแยกระหว่างเวียดนาม ลาวและกัมพูชา ซึ่งแตกกระจายออกมาเป็นสามรัฐเอกราชอิสระในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ตาม ข้อวิเคราะห์ของ Anderson ซึ่งเน้นเฉพาะแต่นโยบายและยุทธศาสตร์ในยุคอาณานิคม กลับถูกโต้แย้งโดยนักวิชาการรุ่นหลัง เช่น Ivarsson (2008) ที่พยายามนำปัจจัยในยุคก่อนอาณานิคมมาอธิบายแรงแยกอินโดจีน โดยเฉพาะการนำตำนานปรำปรา เรื่องเล่าประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์วัฒนธรรม ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ยุคจารีตมาประยุกต์ปรับแปลงเพื่อเพิ่มพลังชาตินิยมใหม่ โดยกรณีศึกษาหลักของ Ivarsson ได้แก่ กระบวนการก่อรูปรัฐลาวในช่วง ค.ศ. 1860-1945 ซึ่งเป็น "Critical Period" ภายใต้เงื้อมเงาการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสยามกับฝรั่งเศส

กระนั้นก็ดี บทเรียนจาก Anderson ผ่านวิธีวิทยาเปรียบเทียบ ก็ช่วยสร้างแนวมองใหม่ที่คมชัดเกี่ยวกับ "Similar Process/ Different Outcome" หรือ "กระบวนการที่เหมือน/ผลลัพธ์ที่แตกต่าง" โดยหยิบยกเอาอินโดจีนและอินโดนีเซียมาเป็นข้อโต้เถียงหลัก

คำถามที่น่าคิดต่อ คือ แล้วการก่อเกิดจินตกรรมของหน่วยอาณานิคมหรือกึ่งอาณานิคมอื่นๆ เช่น พม่าของอังกฤษและสยามใต้นโยบายโยงอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางในยุคปฏิรูปประเทศให้ทันสมัย จะช่วยให้ภาพกระบวนการและผลลัทธ์ที่เหมือนและแตกต่างกันอย่างไรบนภูมิทัศน์การเมืองอุษาคเนย์!


ดุลยภาค ปรีชารัชช 


 

บล็อกของ ดุลยภาค

ดุลยภาค
รัฐประหารที่ส่อเค้าล้มเหลวในตุรกีล่าสุด ให้บทเรียนราคาแพงต่อวิชา "รัฐประหารศึกษา” และ "การเมืองเปรียบเทียบ" โดยเฉพาะเรื่องบทบาททหารกับการเมือง
ดุลยภาค
กล่าวโดยสรุป รัฐจารีตอุษาคเนย์ มักคุ้นชินกับเกมสังเวียนพยัคฆ์-คชสาร ซึ่งถูกจัดขึ้นเพื่อสะท้อนประสบการณ์เชิงบวก-เชิงลบต่อสัตว์พื้นเมืองทั้งสองชนิด รวมถึงใช้เพื่อส่งสัญญะ แสดงพลังข่มขู่ขับไล่ผู้รุกรานต่างถิ่น แต่ขณะเดียวกัน เกมสังเวียนประเภทนี้ ก็ถูกใช้เพื่อตอบสนองมหกรรมบันเทิงของเหล่ากษัตริย์-ขุนนาง-ประชาชน ซึ่งก็ไม่แตกต่างอะไรมากนักจากศึกสังเวียนโคลอสเซียมในจักรวรรดิโรมัน