Skip to main content

ในทางรัฐศาสตร์การทูต รัชสมัยพระนารายณ์ถือเป็นยุคทองแห่งความหลากหลายของนโยบายต่างประเทศสยาม/ไทย ซึ่งมีลักษณะรอบด้านและแบ่งได้หลายรูปแบบ

สำหรับกลุ่มเพื่อนบ้านอุษาคเนย์ มีนโยบายแทรกแซงขยายพระราชอำนาจเข้าไปในเขมรและมลายู นโยบายแผ่พระบรมโพธิสมภาร ให้กองทหารมอญที่หลบหนีมาจากเมาะตะมะ และนโยบายเผชิญหน้าทางทหารกับล้านนาและพม่า (เจ้าพระยาโกษาธิบดี / ขุนเหล็ก เคยยกทัพบุกตีพม่า)

สำหรับกลุ่มประเทศเอเชีย/ยุโรป เช่น จีน ญี่ปุ่น อิหร่าน โปรตุเกส ฮอลันดา อังกฤษ ฝรั่งเศส พบเห็นนโยบายเปิดกว้างการค้า-ศาสนา จนเมื่อฮอลันดามีท่าทีคุกคามอยุธยา พระนารายณ์จึงทรงดำเนินนโยบายผ่อนปรนเพื่อลดแรงกดดันและยอมเสียผลประโยชน์ให้ฮอลันดา แต่ต่อมา พระองค์ก็ทรงดำเนินนโยบายถ่วงดุลอำนาจโดยดึงฝรั่งเศสมาคานกำลังฮอลันดา

ความสำเร็จและล้มเหลวของการทูตสมัยพระนารายณ์นี้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยสภาพแวดล้อมหลายประการ อาทิ การเกี่ยวพันระหว่างการเมืองภายในกับการเมืองระหว่างประเทศ เช่น การแข่งขันแย่งชิงอำนาจที่เข้มข้นระหว่างขุนนางพื้นเมืองกับขุนนางต่างชาติพร้อมการกระโจนขึ้นสู่วงอำนาจของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ (ฟอลคอน) ซึ่งสัมพันธ์ลึกซึ้งกับการเทน้ำหนักการทูตมาที่ฝรั่งเศส จนมีผลต่อความมั่นคงบ้านเมืองและทำให้พระเพทราชาตัดสินใจรัฐประหารยึดอำนาจ

ในอีกทางหนึ่ง คุณภาพของนโยบายต่างประเทศเองย่อมมีผลต่อความก้าวหน้าหรือถดถอยของระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งลักษณะของวิเทโศบายที่ปลอดภัยทรงประสิทธิภาพนั้น ย่อมต้องมีความยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม มีความเสี่ยงน้อยพร้อมเปิดทางหนีทีไล่ ไม่ให้เป็นนโยบายที่มัดตัวหรือทุ่มไปในทางใดทางหนึ่งที่สูงเกินไป พร้อมควรเป็นนโยบายที่ประชาชนสนับสนุนตามวิถีหรือรากฐานสังคมการเมืองในสมัยนั้นๆ

จากกรณีดังกล่าว การที่พระนารายณ์และกลุ่มอำนาจวิชเยนทร์ ตัดสินใจใช้นโยบายผูกมัดสยามกับฝรั่งเศสมากเกินไป จนทำให้นโยบายต่างประเทศมีแนวโน้มไม่ยืดหยุ่นและเผชิญความเสี่ยง พร้อมขัดต่อจารีตสังคมการเมืองสยามหลายๆ ส่วน ได้ทำให้ฐานอำนาจของพระนารายณ์และเครือข่ายพวกพ้อง ขาดการหนุนนำจากพระสงฆ์ ขุนนางพื้นเมือง และประชาชน ซึ่งได้เทกำลังไปอยู่ข้างพระเพทราชาจนสามารถโค่นล้มอำนาจพระนารายณ์สำเร็จ

ความเปลี่ยนแปลงและความสืบเนื่องของนโยบายต่างประเทศสมัยสมเด็จพระนารายณ์ มีผลต่อการบ่มเพาะวัฒนธรรมยุทธศาสตร์ (Strategic Culture) ของรัฐสยาม/ไทยในเวลาต่อมา ในยุคล่าอาณานิคมสมัยรัชกาลที่สี่และรัฐกาลที่ห้า เมื่อสยามต้องจัดวางปฏิสัมพันธ์ใหม่กับบรรดารัฐมหาอำนาจที่มีกำลังเศรษฐกิจ การเมือง และการทหาร ที่เหนือกว่า นโยบายถ่วงดุลอำนาจและนโยบายผ่อนปรนถูกดึงมาใช้ หากแต่มีการเพิ่มความพริ้วไหวยืดหยุ่นของนโยบายต่างประเทศพร้อมมีวิวัฒนาการการจัดระเบียบอำนาจปกครองและสร้างความเหนี่ยวแน่นในหมู่ชนชั้นนำ ทั้งนี้เพื่อให้สยามที่แม้จะถูกบีบรัดให้กลายเป็นรัฐที่ยอมโอนอ่อนผ่อนตามพลังมหาอำนาจ ยังสามารถทรงไว้ซึ่งความมั่นคงที่เพียงพอต่อการรักษาเสถียรภาพการเมืองในลักษณะที่ว่าปัจจัยภายนอกมิอาจรุกกระทบต่อการเปลี่ยนราชวงศ์หรือสร้างความกังวลหวาดระแวงใดๆ ซึ่งขัดต่อวิถีสังคมการเมืองสยามมากนัก (เมื่อเทียบกับสมัยพระนารายณ์)

กระนั้น แม้จะเกิดข้อผิดพลาดประการใด แต่ภาพเรืองรองของการต่างประเทศสยามสมัยสมเด็จพระนารายณ์ก็ได้แปลงสภาพกลายเป็นมรดกประวัติศาสตร์ที่ฝังรากลึกอยู่ในมโนทัศน์ของชนชั้นปกครองไทยหรือนักนโยบายต่างประเทศไทยหลายรุ่นหลายสมัย รายละเอียดเกี่ยวกับพิธีการต้อนรับคณะทูตฝรั่งเศสที่นำโดยเชอวาลีเยร์ เดอ โชมองต์และเหตุการณ์ถวายพระราชสาส์น แด่สมเด็จพระนารายณ์ (ที่แม้จะมีการวิจารณ์ถึงเรื่องเกียรติภูมิประเทศแตกต่างกันออกไป) ก็ยังถูกถ่ายทอดตราตรึงอยู่ในวงประวัติศาสตร์การทูตในฐานะอภิมหาเหตุการณ์ที่สำแดงความรุ่งโรจน์ของการต่างประเทศไทยในอดีต

อย่างน้อย ธรรมเนียมติดต่อรับรองคณะทูตสมัยพระนารายณ์ ก็เป็นค้นเค้าในหลักปฏิบัติต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองของกรมพิธีการทูต กระทรวงการต่างประเทศ และอย่างน้อย ที่ตึกชั้นล่างของกระทรวงการต่างประเทศ ถนนศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร มีการปั้นรูปสีหบัญชรอันงดงาม ทั้งนี้เพื่อจำลองย่อส่วนท้องพระโรงที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงรับพระราชสาส์นจากสุริยกษัตริย์ หรือ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส นั่นเอง


ดุลยภาค ปรีชารัชช
 

บล็อกของ ดุลยภาค

ดุลยภาค
รัฐประหารที่ส่อเค้าล้มเหลวในตุรกีล่าสุด ให้บทเรียนราคาแพงต่อวิชา "รัฐประหารศึกษา” และ "การเมืองเปรียบเทียบ" โดยเฉพาะเรื่องบทบาททหารกับการเมือง
ดุลยภาค
กล่าวโดยสรุป รัฐจารีตอุษาคเนย์ มักคุ้นชินกับเกมสังเวียนพยัคฆ์-คชสาร ซึ่งถูกจัดขึ้นเพื่อสะท้อนประสบการณ์เชิงบวก-เชิงลบต่อสัตว์พื้นเมืองทั้งสองชนิด รวมถึงใช้เพื่อส่งสัญญะ แสดงพลังข่มขู่ขับไล่ผู้รุกรานต่างถิ่น แต่ขณะเดียวกัน เกมสังเวียนประเภทนี้ ก็ถูกใช้เพื่อตอบสนองมหกรรมบันเทิงของเหล่ากษัตริย์-ขุนนาง-ประชาชน ซึ่งก็ไม่แตกต่างอะไรมากนักจากศึกสังเวียนโคลอสเซียมในจักรวรรดิโรมัน