ประเทศสมาชิกของ CPTPP (ที่มา: More Than Shipping)
Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership (CPTPP) หรือที่ในช่วงหลังๆ นี้จะได้ยินคนเรียกว่า “TPP-11” เป็นกรอบความร่วมมือเขตการค้าเสรีที่เปลี่ยนมาจาก Trans Pacific Partnership (TPP) เป็นกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกจำนวน 11 ประเทศ ซึ่งประกอบไปด้วย ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ และเวียดนาม (ประเทศที่กำลังแสดงความสนใจในการเข้าร่วมกับ CPTPP อยู่คือ ไทย ไต้หวัน โคลอมเบีย และสหราชอาณาจักร) อย่างไรก็ดี แต่เดิมนั้นสหรัฐฯ ก็เป็นสมาชิกหนึ่งของ TPP ด้วย แต่รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ถอนตัวไปจาก TPP เมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 2017 ด้วยมองว่า TPP จะไม่ทำให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับสหรัฐฯ และอาจมีผลกระทบต่อการจ้างงานภายในสหรัฐฯ เอง
หลังจากการถอนตัวของสหรัฐฯ ออกจาก TPP ทำให้กรอบนี้เปลี่ยนชื่อเป็น CPTPP อย่างเป็นทางการเมื่อ 8 มีนาคม ค.ศ. 2018
ภายใต้ความร่วมมือ CPTPP นั้นมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจโลกอย่างมาก เพราะเมื่อคำนวณปัจจัยต่างๆ ของประเทศสมาชิกรวมกันแล้วเราจะเห็นว่า ประเทศสมาชิกทั้ง 11 ประเทศมีประชากรรวมกันกว่า 500 ล้านคน ในขณะที่มูลค่า GDP รวมกว่า 10 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคิดได้เป็นมูลค่ากว่าร้อยละ 13 ของเศรษฐกิจโลก กรอบ CPTPP พยายามสร้างบรรทัดฐานด้านการเปิดเสรีทางการค้ากับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ หรือกฎที่จะมีผลต่อรัฐวิสาหกิจต่างๆ
วันนี้เราจะมาพูดถึงการเรื่อง CPTPP ในฐานะที่ไม่ใช่เป็นเพียงเป้าหมายของความร่วมมือของประเทศทั้ง 11 ประเทศเท่านั้น แต่ CPTPP เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่เป็นเครื่องมือในการหาเสียงภายในประเทศญี่ปุ่น และเป็นหนึ่งในนโยบายต่างประเทศที่สำคัญของญี่ปุ่นต่อภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
1. TPP กับการเมืองภายในญี่ปุ่น
ผู้ที่ติดตามการเมืองญี่ปุ่นโดยต่อเนื่องจะพบว่า เมื่อมีการเลือกตั้งแต่ละครั้งในญี่ปุ่น ไม่เพียงแต่ประเด็นเรื่องเศรษฐกิจ สังคมผู้สูงอายุ ฐานทัพอเมริกา และการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 9 จะเป็นประเด็นหลักในการหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ (ดูรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง ที่นี่) ประเด็นเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจของญี่ปุ่นภายใต้นโยบาย Abenomics นั้นไม่เพียงแต่เน้นเรื่องการพัฒนาประเด็นต่างๆ ภายในประเทศ แต่การใช้ TPP ก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการหาเสียง โดยญี่ปุ่นคาดหวังว่าการใช้ TPP ที่ญี่ปุ่นเป็นผู้นำในภูมิภาคนั้นจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่นให้ดีขึ้นมา
ในช่วงประมาณปี ค.ศ. 2015 ผลสำรวจของ NHK ต่อประเด็นว่าญี่ปุ่นควรให้สัตยาบันกับ TPP หรือไม่ พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามชาวญี่ปุ่นกว่าร้อยละ 8 มีความเห็นชอบอย่างมาก (greatly approved) ในขณะที่ร้อยละ 45 ค่อนข้างเห็นด้วย (to some extent approved) ร้อยละ 29 ค่อนข้างไม่เห็นด้วย (did not much approve) และร้อยละ 8 ไม่เห็นด้วยเลย (did not approve at tall) ต่อบทบาทของญี่ปุ่นในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ TPP ซึ่งผลการสำรวจนี้สอดคล้องไปกับผลสำรวจของ Nihon Keizai ที่ผู้ตอบแบบสอบถามกว่าร้อยละ 49 เห็นด้วย และร้อยละ 26 ไม่เห็นด้วย (Harris 2015)
อย่างไรก็ดี ในช่วงที่รัฐบาล Liberal Democratic Party (LDP) ของญี่ปุ่นกำลังตัดสินใจว่าจะให้สัตยาบันกับ TPP หรือไม่นั้นก็ได้รับเสียงค้านจากพรรค (The Democratic Party of Japan) DPJ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน โดย DPJ มองว่ารัฐบาลภายใต้ LDP ไม่ได้พยายามปกป้องผลประโยชน์ของญี่ปุ่น ในขณะที่พรรค Japan Restoration Party (JRP) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่สองก็มีความเห็นว่าแม้ว่า TPP จะดีที่จะช่วยทำให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นดีขึ้น เพราะจะสามารถเข้าถึงตลาดที่กว้างมากขึ้น แต่ญี่ปุ่นเองต้องพัฒนาความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น มิเช่นนั้นจะได้รับผลเสียจาก TPP ในขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์ (The Japan Communist Party: JCP) มองว่ารัฐบาล LDP ต้องมีความโปร่งใสในการที่จะไปให้สัตยาบัน
แม้ว่าในประเทศญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่มีขนาดทางเศรษฐกิจที่ถือว่าดี ซึ่งน่าจะสะท้อนว่านักการเมืองจะเห็นความสำคัญของการเปิดเสรีทางการค้า แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม ในช่วงก่อน ค.ศ. 2015 ส.ส. ของญี่ปุ่นกว่า 200 คน และ ส.ว. กว่า 60 คนเห็นว่าญี่ปุ่นไม่ควรเข้าไปร่วมกับกรอบความร่วมมือที่เน้นการเปิดเสรีทางการค้า (Harris 2015) โดยกดดันให้นายกรัฐมนตรีต้องมีจุดยืนที่จะปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติของญี่ปุ่นไว้ให้มั่น โดยเฉพาะประเด็นสินค้าอ่อนไหวทางด้านการเกษตร เช่น ข้าว ข้าวสาลี (wheat) เนื้อวัว สินค้าประเภทนม (dairy) และน้ำตาล
ภาพการประท้วงการเข้าร่วม TPP ของเกษตรกรชาวญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 2021 (ที่มา: Common Dreams)
ในช่วงที่ญี่ปุ่นเริ่มผลักดัน TPP นั้น ความกังวลของเกษตรกรชาวญี่ปุ่นต่อการเสียผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอันจะเกิดขึ้นจากการเปิดเสรีทางการค้านั้นมีอยู่ในสังคมญี่ปุ่น เราจะเห็นได้จากในปี ค.ศ. 2012-2013 มีการประท้วงในสังคมญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นจาก Japan’s Central Union of Agricultural Cooperatives หรือกลุ่มฟาร์ม และประมงที่มีความกังวลต่อการเข้าร่วม TPP
2. TPP กับการเมืองระหว่างประเทศของญี่ปุ่น
การผลักดัน CPTPP ของญี่ปุ่นเป็นการแสดงบทบาทนำในฐานะของผู้นำของภูมิภาคในการเป็นผู้สร้างมาตรฐานการค้าเสรีในกระแสเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนอย่างมาก การถอนตัวไปของสหรัฐฯ จากการเป็นสมาชิกของ CPTPP ทำให้ญี่ปุ่นต้องพยายามดึงให้รัฐบาลสหรัฐฯ กลับมาสู่เวทีการค้าแบบพหุภาคีอีกครั้ง เพราะรัฐบาล Trump ต้องการให้ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจเป็นไปแบบทวิภาคี (bilateralism) มากกว่าแบบพหุภาคี (multilateralism) แต่ Toshimitsu Motegi ที่ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีของญี่ปุ่นที่มีหน้าที่ในการเจรจาประเด็นต่างๆ ในกรอบ CPTPP แสดงความเห็นว่าประเทศญี่ปุ่นควรเร่งให้สหรัฐฯ กันกลับมาเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ CPTPP อีกครั้งหนึ่ง เพราะเป็นกรอบแบบพหุภาคีระดับภูมิภาค
ในช่วงที่ผ่านมา กรอบ CPTPP เริ่มมีการพูดถึงประเด็นการจะรับสมาชิกเพิ่มขึ้นอีก เพราะเห็นว่ากระแสการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนนั้นมีผลต่อระบบเศรษฐกิจของแถบเอเชียแปซิฟิกและระดับโลก เพราะสงครามการค้าดังกล่าวเป็นการใช้นโยบายปกป้องทางการค้า (protectionist policy) ที่ขัดต่อระบอบการค้าระหว่างประเทศที่เน้นเรื่องการเปิดเสรีทางการค้าและลดการปกป้องทางการค้า ดังนั้นกรอบ CPTPP จึงพยายามส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่ากลุ่มประเทศสมาชิกนี้มีความต้องการสนับสนุนการค้าเสรี (Suzuki 2019)
อย่างไรก็ดี แม้ว่า CPTPP จะแสดงความเห็นว่าจะเปิดรับประเทศสมาชิกใหม่ๆ เข้ามาร่วม แต่ปัญหาที่ยังคงมีอยู่กับกลุ่มสมาชิกดั้งเดิมก็ยังคงปรากฏ เช่น การที่สมาชิกดั้งเดิมอย่างบรูไน ชิลี เปรู และมาเลเซีย ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน โดยเฉพาะในกรณีของมาเลเซียภายใต้การนำของ Mahathir Mohamad ที่ยังไม่ได้ตัดสินใจให้สัตยาบันกับ CPTPP เพราะการเข้าร่วม CPTPP ของมาเลเซียเป็นการเข้าร่วมภายใต้การนำของรัฐบาลยุคก่อนหน้า ทำให้เมื่อมีการเปลี่ยนผ่านผู้นำการเมืองภายในประเทศ ทำให้กระบวนการที่เกี่ยวข้องล่าช้าไป
ในขณะที่ญี่ปุ่นพยายามผลักดัน CPTPP อย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากสมาชิกของ CPTPP ไม่ได้มีจีนอยู่ด้วย รัฐบาลจีนได้พยายามผลักดันอีกกรอบความร่วมมือเพื่อแสดงบทบาทนำในภูมิภาค และเพื่อสร้างกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายใต้ชื่อ Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) ซึ่งประกอบไปด้วยประเทศสมาชิกจำนวน 16 ประเทศ ซึ่งได้แก่ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน จีน อินเดีย ญี่ปุ่น ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์
ภายใต้กรอบ RCEP นั้น เมื่อนำเอาจำนวนประชากรของประเทศสมาชิกทั้ง 16 ประเทศมารวมกัน จะมีปริมาณมากกว่าร้อยละ 50 ของประชากรทั้งโลก และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่าร้อยละ 30 ของทั้งโลก ความแตกต่างของ RCEP กับกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจแบบพหุภาคีอื่นๆ บนโลกก็คือ RCEP ได้รับการสนับสนุนจากจีน ในขณะที่ CPTPP ได้รับการสนับสนุนจากญี่ปุ่น อีกทั้งประเทศสมาชิกอยู่ในเขตเอเชีย-แปซิฟิกเท่านั้น ซึ่งแตกต่างไปจาก CPTPP ที่มีประเทศสมาชิกตั้งอยู่ในพื้นที่ต่างๆ และ CPTPP ก็ไม่ได้มีอินเดียและจีนซึ่งเป็นสองมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเป็นสมาชิก
ข้อสังเกต
- ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับนโยบายต่างประเทศเช่น CPTPP ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการเมืองภายในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งอาจจะเห็นไม่มาในประเทศอื่นๆ นอกเหนือไปจากสหรัฐฯ ที่ประเด็นเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการไปมีความตกลงทางการค้ากับประเทศหรือภูมิภาคอื่นๆ จะส่งต่อผลการเลือกตั้งและการเมืองภายในประเทศ
- ญี่ปุ่นจะพยายามใช้ CPTPP เป็นเครื่องมือในการเปิดการค้าเสรีแบบพหุภาคีกับประเทศต่างๆ โดยเน้นการใช้กรอบพหุภาคีมากกว่าแบบทวิภาคีที่สหรัฐฯ และจีนชอบใช้
- ญี่ปุ่นจะพยายามเสนอให้สหรัฐฯ กลับเข้ามาร่วมเป็นสมาชิก เพื่อแก้ไขปัญหาการปกป้องทางการค้าที่สหรัฐฯ เริ่มใช้นับตั้งแต่ที่ Trump เข้ารับตำแหน่ง แต่ผู้เขียนวิเคราะห์ว่าการเปลี่ยนแปลงนโยบายของ Trump ต่อ CPTPP นั้นจะไม่เปลี่ยนแปลงไปจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ
- รัฐบาลญี่ปุ่นจะให้ความสำคัญกับ CPTPP ต่อไป ในขณะที่รัฐบาลจีนจะให้ความสำคัญกับ RCEP เพราะ CPTPP เป็นกรอบความร่วมมือที่ไม่มีจีนเป็นประเทศสมาชิก ซึ่งเป็นการแสดงจุดยืนทางการเมืองระหว่างประเทศในการคานอำนาจกับจีน แม้ว่าญี่ปุ่นจะมีความสัมพันธ์อันดีกับอินเดียซึ่งเป็นสมาชิกของ RCEP แต่ญี่ปุ่นก็จะไม่ให้ความสำคัญกับ RCEP เท่าที่ให้กับ CPTPP
- CPTPP จะเป็นสิ่งพิสูจน์บทบาทของญี่ปุ่นในการทำให้สรัฐฯ กลับเข้ามาเป็นสมาชิก และทำให้จีนเข้ามาร่วมในกรอบความร่วมมือ ซึ่งหาทำได้ จะสะท้อนความสามารถของญี่ปุ่นในการเป็นผู้ประสานผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและผู้นำระดับภูมิภาคได้อย่างดี
เอกสารอ้างอิง
Harris, T. (2015). The Next Steps for Japan on the Road to the Trans-Pacific Partnership. Accessed 21 January 2019.
Iwamoto, K. (2018). Five Things to Know About Asian Trade Megadeal RCEP. Accessed 21 January 2019.
Suzuki, W. (2019). TPP-11 Opens Doors to New Members. Accessed 20 January 2019.
----------
เกี่ยวกับผู้เขียน นรุตม์ เจริญศรี เป็นอาจารย์ประจำสำนักวิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บล็อกของ นรุตม์ เจริญศรี
นรุตม์ เจริญศรี
อัตลักษณ์ทางการแข่งขันของประเทศเอสโตเนีย ระหว่าง ค.ศ.1991-2011 โดย สมพงค์ พรมสะอาด
นรุตม์ เจริญศรี
เวลาอ่านหนังสือภาษาอังกฤษ บ่อยครั้ง หน้าด้านซ้ายถัดจาก
นรุตม์ เจริญศรี
ผมเริ่มต้นเขียน blog นี้ด้วยความสนใจต่อประเด็นองค์ความรู้เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ภูมิภาคนิยม และภูมิภาคศึกษา จึงอยากเริ่มเขียนและสนทนากับผู้สนใจในประเด็นที่คล้ายๆกัน ผมใช้เวลาคิดอยู่หลายวันว่าจะเริ่มต้นเขียนหัวข้ออะไรเป็นหัวข้อเปิด ซึ่งจะได้เชื่อมโยงต่อไปยัง