บล็อกของ maythas

ความไม่สง่างามของ นิธิ เอียวศรีวงศ์

20 December, 2007 - 03:27 -- maythas

ผมรู้สึกประหลาดใจ คาดไม่ถึง เหลือเชื่อ รับไม่ได้ ต่อบทความของศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันจันทร์ ที่ 25 พฤศจิกายน 2550  ผมอ่านอย่างตั้งใจทีคำ ทีละประโยค  เมื่ออ่านจบแล้ว ได้แต่ส่ายหัว บ่นงึมงัมอยู่คนเดียวว่านิธิ เอียวศรีวงศ์ได้เขียนอย่างที่เขียนไปแล้วได้อย่างไร

เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า นิธิ  เอียวศรีวงศ์ ในวัยชรา ได้ทำลายตัวเองด้วยการเขียนบทความอันน่าสะอิดสะเอียนเพื่อชื่นชม คุณอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อย่างหน้ามืดตามัว เขาเขียนว่า

“คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะแสดงความเหมาะสมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป (ภายใต้สภาวการณ์ดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้ คือภายใต้ระบบราชการซึ่งมีกองทัพเป็นผู้นำ) มาอย่างน้อยสามเรื่องแล้ว คุณอภิสิทธิ์เสนอให้ยกเลิกกฎอัยการศึกเสีย เมื่อจะจัดให้มีการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม,คุณอภิสิทธิ์คัดค้านร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงและสัญญาว่าจะแก้ไขเมื่อได้เป็นรัฐบาล และไม่กี่วันมานี้ คุณอภิสิทธิ์แสดงความไม่เห็นด้วยกับ กกต.ที่แนะนำมิให้นักการเมืองใช้ 111 อดีตผู้บริหาร ทรท.เป็นสื่อในการหาเสียง”

นิธิ  เอียวศรีวงศ์ เชื่อจริงๆ หรือว่า ทั้งสามเรื่องข้างต้นอันเป็นการแสดงถึง ความสง่างามและความเหมาะสมกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นิธิ  เอียวศรีวงศ์ไม่ถามตัวเองเลยหรือว่าทั้งสามเรื่องข้างต้นนั้นเป็น “ความตั้งใจ” ของอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ จริง ๆ  หรือเป็นแค่โวหารประชาธิปไตยเพื่อเรียกคะแนนชื่นชมเท่านั้น ?  

นอกจากให้สัมภาษณ์ไปตามเรื่องตามราวตามแผนการตลาดแล้ว ที่ผ่าน ๆ มา นิธิ  เอียวศรีวงศ์ เคยเห็นคนอย่างอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ เคลื่อนไหวเรียกร้องอะไรเพื่อประชาธิปไตยมาก่อนบ้างหรือไม่ ?

นิธิ  เอียวศรีวงศ์ ลืมไปแล้วว่าพรรคประชาธิปัตย์เคยสร้างผลงานอะไรไว้หรือไม่เคยสร้างผลงานอะไรไว้บ้างในอดีต นิธิ เอียวศรีวงศ์ จำไม่ได้หรือว่า คนอย่างอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ นั้นเคยให้การสนับสนุนการยึดอำนาจของทหารจากรัฐบาลที่ผ่านการเลือกตั้ง เป็นผู้สนับสนุนมาตรา 7  ที่เปิดโอกาสให้คนนอกเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี และสนับสนุนรัฐธรรมนูญปี 2550 อันเป็นรัฐธรรมนูญบัดซบที่นิธิ  เอียวศรีวงศ์ ได้คัดค้านอย่างแข็งขัน!

อย่างไม่ปิดบัง นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียนบทความชิ้นนี้ออกมาก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 23 ธันวาคม 2550  เขาแสดงจุดยืนของเขาออกมาแล้วว่าต้องการให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีหรือพรรคใดควรจะเป็นรัฐบาล

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าบทความชิ้นนี้ถูกเขียนด้วยรสนิยมทางการเมืองที่แย่เอามาก ๆ และทำลายหลักการอย่างร้ายแรงไม่ต่างอะไรกับที่พรรคประชาธิปัตย์และคมช.กระทำต่อประชาธิปไตย

อันที่จริงการแสดงจุดยืนหรือรสนิยมทางการเมืองของตัวเองออกมาเป็นเรื่องธรรมดา ถือเป็นเรื่องที่ดีด้วยซ้ำ แต่การเชียร์อย่างมืดบอดแบบนี้ของนิธิ  เอียวศรีวงศ์ นับเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจกระทั่งสมควรประณาม และเมื่อคิดว่านิธิ  เอียวศรีวงศ์เป็นนักวิชาการอันดับต้น  ๆ ของประเทศ ที่พูดหรือเขียนมีคนฟังคนอ่านและคนคล้อยตาม เป็นนักวิชาการที่ถูกคาดหวังว่ามีความเป็นกลางหรืออย่างน้อยก็ยึดควรหลักการ ไม่โอนเอียงไปฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่ง แต่แล้วนิธิ  เอียวศรีวงศ์ ก็แสดงตัวตนออกมาไม่ต่างอะไรจากนักการเมือง

มากไปกว่าการแสดงจุดยืนแบบปัจเจกชนของนิธิ  เอียวศรีวงศ์ การเขียนบทความผ่านสื่อ คือการโน้มน้าวชักจูงใจ(อาจเรียกได้ว่าหลอก)คนอ่าน ตลอดจนศิษยานุศิษย์ของเขาให้คล้อยตามเห็นดีเห็นงามไปกับเขาว่าคุณอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ มีความเหมาะสมกว่าใครอื่นในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

นิธิ  เอียวศรีวงศ์ ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องหิริโอตตัปปะเลยสักนิดเดียว ดังนั้นเขาจึงดั้นด้นเขียนต่อไปว่า

“นายกรัฐมนตรีคนใหม่ต้องกล้าเผชิญกับแรงกดดันจากกองทัพ รวมทั้งแรงกดดันจากองค์กรอิสระอีกมากที่คณะรัฐประหารตั้งขึ้น อย่างอาจหาญและมีศักดิ์ศรีด้วย ดังที่คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้แสดงให้เห็นอย่างนุ่มนวล แต่สง่างามในครั้งนี้ความนุ่มนวลก็มีความสำคัญ”

คำกล่าวข้างต้นอาจทำให้ผู้อ่านสำรอกได้เลยทีเดียว เพราะนิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้เสกคาถาให้คุณอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ กลายเป็นบุคคลที่ “อาจหาญและมีศักดิ์ศรี” กับ “นุ่มนวลแต่สง่างาม” แบบไม่ต้องคิดมากไปแล้วในพริบตา  

อันที่จริงหากจะมองหาความดีของใครสักคนแล้วนำมายกย่องเทิดทูนนั้น คนทุกคนสามารถที่จะถูกยกย่องได้หมด  เพราะคนทุกคนย่อมมีทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดีในชีวิตปะปนกันไป ไม่เว้นแม้แต่โจร ไม่เว้นแม้แต่คุณทักษิณ  ชินวัตร และคุณอภิทธิ์  เวชชาชีวะ การที่นิธิ  เอียวศรีวงศ์มองเห็นแต่ความดีของอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ  และมองเห็นแต่ความไม่ดีของคุณทักษิณ  ชินวัตร นั้นหมายความว่าอย่างไร?

มันคงไม่ได้หมายความว่าอย่างไร นอกจากหมายความว่านิธิ  เอียวศรีวงศ์ ชอบอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและต้องการให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลก็เท่านั้นเอง  แม้ว่าจะต้องเขียนบทความเชียร์ที่เต็มไปด้วยอคติอย่างน่าเกลียด เขาก็ยอมทำ

ในท้ายยบทความ นิธิ  เอียวศรีวงศ์ ชื่นชมคุณ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และแขวะคู่แข่งอย่างคุณสมัคร สุนทรเวชไปพร้อมกันว่า

“แม้ว่าการปลดปล่อยการเมืองไทยออกจากระบบราชการ และกองทัพเป็นภารกิจเร่งด่วนและสำคัญสุดยอด แต่เราควรหลีกเลี่ยงการปะทะนองเลือดกับกองทัพอย่างที่เคยเกิดมาแล้วในเหตุการณ์ 14 ตุลาและพฤษภาทมิฬ ทั้งสองครั้งที่ผ่านมาล้วนอยู่ภายใต้นายกรัฐมนตรีที่เป็นคนของกองทัพเอง ซึ่งทำให้หลีกเลี่ยงการปะทะได้ยากขึ้น ความนุ่มนวลแต่แกร่งกล้าของคุณอภิสิทธิ์อาจช่วยให้คุณอภิสิทธิ์สามารถนำทหารกลับกรมกองโดยสงบ และสร้างระบบราชการให้เป็นเครื่องมือที่ซื่อสัตย์และมีประสิทธิภาพ เพื่อสนองนโยบายที่ประชาชนสร้างขึ้นผ่านกระบวนการทางการเมืองได้ และนี่เป็นข้อได้เปรียบของคุณอภิสิทธิ์เหนือคู่แข่งที่แสดงอาการแข็งกร้าวหยาบคาย เพราะโอกาสที่เราจะดันทหารกลับกรมกองโดยไม่ต้องเสียเลือดเนื้อนั้นมีอยู่”

ถ้าคุณยังคิดว่านักวิชาการเป็นบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ และน่าเชื่อถือศรัทธา อ่านบทความของนิธิ  เอียวศรีวงศ์ ชิ้นนี้แล้วคุณจะรู้ว่าความคิด ความเชื่อในเรื่องนี้นั้นไม่ถูกต้องเอาเสียเลย ตรงกันข้ามทีเดียว นักวิชาการเป็นกลุ่มที่สมควรประณามเป็นอันดับต้น ๆ ในบางกรณีนั้นสมควรถูกประณามมากกว่านักการเมืองเสียอีก.

 

ต้องขับไล่กกต.

12 December, 2007 - 00:08 -- maythas

-1-

เป็นที่รู้กันดีว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือกกต.ชุดปัจจุบันซึ่งมีคนอย่าง นางสดศรี สัตยธรรม ผู้ซึ่งดูเหมือนจะชมชอบ “สถาบันทหาร” เป็นพิเศษเป็นคณะกรรมการรวมอยู่ด้วยนั้น เป็นองค์กรที่กล่าวได้ว่าคลอดออกมาจาก “มดลูก” ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. ที่ทำการรัฐประหารปล้นชิงอำนาจมาจากประชาชน โดยมีพลเอกสนธิ บุญยรัตนกลิน ผู้ซึ่งนอกจากชอบอ้างเรื่อง “ความมั่นคง” แล้วยังชอบอ้างเรื่อง “คุณธรรม จริยธรรม” แต่ว่ากันว่าจดทะเบียนสมรสซ้อนอย่างน้อยสองครั้งเป็นอดีตประธาน  

เป็นที่รู้กันดีว่าจุดประสงค์หลักของคมช.และ “บรรดาลูกๆ”  ทั้งหลายก็คือต้องการทำลายล้าง ถอนรากถอนโคน อำนาจและอิทธิพลของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร หรือที่เรียกกันง่าย ๆ จนติดปากว่า “อำนาจเก่า”

อันที่จริง คำว่า “อำนาจเก่า” น่าจะใช้เรียกอำนาจและอิทธิพลอัน “เก่า” และ” แก่” กว่าในสมัยของ พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งจะว่าไปแล้วไม่ได้เก่าอะไรเลย อำนาจของพรรคประชาธิปัตย์น่าจะเก่ากว่าด้วยซ้ำ  

คำว่า “อำนาจเก่า” น่าจะหมายถึงอำนาจและอิทธิพลที่ ควบคุม ปกครองประเทศไทยมายาวนานหลายร้อยปี เป็นอำนาจที่เข้มข้น ทรงพลังกว่าอำนาจและอิทธิพลของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ   ชินวัตร อย่างเทียบกันไม่ติด

จะว่าไปแล้ว อำนาจและอิทธิพลที่ประหารรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และทำให้อดีตนายกฯ ผู้นี้ต้องอยู่ต่างประเทศอย่างไม่มีกำหนดกลับนั้นก็คือ “อำนาจเก่า” นั่นเองหรืออย่างน้อยก็เป็นการ “อ้างอิง” ความชอบธรรมจาก “อำนาจเก่า” ไม่ว่าอำนาจเก่าจะเห็นพ้องด้วยหรือไม่ก็ตาม

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “อำนาจเก่า” มีส่วนไม่มากก็น้อยต่อการทำลายรัฐบาลของอดีตนายก ฯ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้ซึ่งนับวันจะถูกทำให้กลายเป็น “ตำนาน” เช่นเดียวกับ “ผู้อภิวัฒน์” ปรีดี  พนมยงค์ ได้เป็นมาแล้ว

หากจะแปลความหมายหรือตีความกันจริง ๆ แล้วคำว่า “อำนาจเก่า” จึงไม่ควรจะเข้าใจกันอย่างง่าย ๆ ว่าเป็นอำนาจของรัฐบาลชุดที่แล้วหรืออำนาจและอิทธิพลของอดีตนายกฯ  ทักษิณ ชินวัตร แต่มันควรหมายถึงอะไรที่ “เก่าและแก่กว่านั้น” ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกันแล้วทำให้อำนาจและอิทธิพลของพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร กลายเป็น “อำนาจใหม่” ไปทันที

“อำนาจใหม่” ย่อมเป็นปัญหาสำหรับ “อำนาจเก่า” ในทางกลับกัน “อำนาจเก่า” ก็เป็นปัญหาสำหรับ “อำนาจใหม่” ด้วยเหมือนกัน หากไม่มีทางรอมชอม ประนีประนอมหรือต่อรองกันได้ สถานการณ์ความตึงเครียด ความขัดแย้งก็จะเกิดขึ้น และอาจนำไปสู่การเลือกข้างกระทั่งแตกหักกันในที่สุด

-2-

คณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งมีที่มาจากอำนาจรัฐประหาร และรัฐประหารซึ่งอ้างอิงตัวเองกับ “อำนาจเก่า” เป็นตัวปัญหาสำคัญที่ขัดขวางประชาธิปไตย เพราะเป้าหมายขององค์กรนี้แยกไม่ออกจากเป้าหมายของผู้ให้กำเนิด (คมช.) ที่ต้องการกวาดล้างอำนาจและอิทธิพลของอดีตนายกฯ  ทักษิณ  ชินวัตร

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกจนเกินเข้าใจหากคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งน่าจะทำให้ประชาธิปไตยว่าด้วยการเลือกตั้งราบรื่นนั้น กลับเป็นตัวที่ก่อปัญหาเสียเองหลายครั้งหลายครา มากเสียยิ่งกว่าอดีตคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวิสัยทัศน์คับแคบแบบคนที่จมอยู่กับตัวบทกฏหมาย แต่ไม่รู้จักสังคมอย่างรอบด้าน เช่นเรื่องของข้อบังคับในเรื่องการหาเสียงของพรรคการเมือง การจัดการกับอดีตกรรมการ 111 คนแห่งพรรคไทยรักไทย  ตลอดจนความพยายามที่  “อุ้ม”  คมช. ในเรื่องของเอกสารลับ

การพยายามทำลายล้างอำนาจและอิทธิพลของอดีตนายก ฯ พ.ต.ท. ทักษิณ  ชินวัตร ด้วย “กุศโลบาย” ต่าง ๆ นั้น ทำให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องหรือ “ส่วนรวม” ต้องพลอยรับความเดือดร้อนไปด้วยอย่างไม่จำเป็น

มีบางคนเปรียบเทียบเหตุการณ์โค่นอำนาจ และความพยายามในเวลาต่อมาในการกำจัดอำนาจและอิทธิพลของอดีตนายก ฯ ว่าเป็นเหมือน  ”การเผาป่าทั้งป่าเพื่อจับเสือตัวเดียว” หรือการ “ทำลายบ้านทั้งหลังเพื่อกำจัดปลวก” หรือ “เหมือนการไล่จับหนูใน การ์ตูน ทอมและเจอร์รี่” ที่ข้าวของในบ้านต้องแตกหักกระจัดกระจายเพราะการวิ่งไล่กันของสัตว์สองตัว

ราคาที่ต้องจ่ายในการไล่ล่าทำลายอำนาจและอิทธิพลของอดีตนายก ฯ ทักษิณ ชินวัตรนั้นคือความถดถอยของประเทศในทุกด้าน “ประชาชน” ซึ่งไม่รู้อิโหน่อิเหน่ก็ถูกดึงเข้าไปร่วมด้วย “ประชาชนเขาขอให้ผมปฏิวัติ”

นอกจากคณะกรรมการการเลือกตั้งแล้ว ยังมี “ลูก ๆ” อีกหลายตัวที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติได้ผ่องถ่ายอำนาจไปให้เพื่อจัดการกับอำนาจและอิทธิพลของอดีตนายก ฯ ทักษิณ  ชินวัตร ที่โดดเด่นก็เห็นจะเป็น “คตส.” ซึ่งนับวันจะกลายเป็นตัวตลกเพราะหมกมุ่นกับการจับผิดคนอื่นโดยไม่ดูตาม้าตาเรือ ไม่ดูตัวเองว่า “ด่างพร้อยด้วยรอยตำหนิ”  ไม่น้อยกว่าคนอื่นเลย

ขอชื่นชมนักต่อสู้อย่าง คุณจาตุรนต์ ฉายแสง และคนอื่น ๆ อีกหลายคน  ในความกล้าหาญและการเป็นนักต่อสู้ที่วิจารณ์คณะกรรมการการเลือกตั้งอย่างตรงไปตรงมา แต่มากไปกว่าการวิจารณ์ ทางที่ดีควรจะขับไล่คณะกรรมการการเลือกตั้งชุดนี้ไปให้พ้น ไม่ควรจะปล่อยให้สร้างเวร สร้างกรรมอีกต่อไป เพราะ “งาช้างไม่อาจงอกจากปากกระบอกปืน” ได้ฉันใด  “สันดานรัฐประหาร(โจร)ไม่อาจก่อกำเนิดอุดมการณ์ประชาธิปไตย” ได้ฉันนั้น.

หน้ากาก "ความมั่นคง"

5 December, 2007 - 01:44 -- maythas

-1-

การยึดอำนาจโดยกลุ่มทหาร ที่เรียกตัวเองด้วยชื่อที่ฟังดูคุ้นหูสำหรับคนที่พบเห็นหรือศึกษาเกี่ยวกับการรัฐประหารมาบ้างว่า “คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” (คปค.) ในวันที่ 19 กันยายน 2549 นั้นถือเป็นฝันร้ายยาวนานสำหรับสังคมการเมืองไทย และเชื่อว่าจะตามหลอกตามหลอนประวัติศาสตร์ของประชาธิปไตยไปตลอด

คณะทหารที่ยึดอำนาจจากรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ในเวลาต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเรียกตัวเองเสียใหม่แต่ก็ยังฟังดูคุ้น ๆ อยู่ดีว่า “คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ” (คมช.) บัดนี้คำว่า “ความมั่นคง” ปรากฏขึ้นอย่างเป็นทางการแล้วในรูปของชื่อเรียก

และนับจากนี้เป็นต้นไป วาทกรรม “ความมั่นคง” ก็ได้หวนกลับมาหลอกหลอนสังคมการเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง ไม่ว่าในรูปของ “กฏหมายความมั่นคง” ซึ่งฝ่ายทหารกำลังผลักดันกันอย่างหนัก หรือการแทรกแซงกิจกรรมของพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามภายใต้คำว่า “ความมั่นคง” หรือการคงกฏอัยการศึกไว้ในบางจังหวัดด้วยข้ออ้าง ”ความมั่นคง” ฯลฯ

เราได้ยิน ได้ฟังพลเอกสนธิ บุณยรัตนกลิน อดีต ประธาน คปค.และคมช.  ประธาน ครส. เอ่ยคำว่า “ความมั่นคง” โดยไม่ละอายปากบ่อยครั้งมาก  จนทำให้เกิดความสงสัยว่าประเทศไทยอาจตกอยู่ภายใต้ ”ความไม่มั่นคง” ดังที่ทหารนายนี้บอก ?

แต่จะมีใครที่ไหนที่จะเชื่อคำกล่าวอ้างเรื่อง “ความมั่นคง” ของทหารที่ริอาจคิดการณ์ใหญ่รายนี้

รัดทำมะนวย ฉบับหัวคูณ

22 November, 2007 - 11:56 -- maythas

หนังสือที่มีชื่อโดนใจใครหลาย ๆ คนเรื่องนี้ได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวางทั้งจากคนที่เห็นด้วยและคนที่รับไม่ได้

แน่นอนว่าพรรคพลังประชาชนจะต้องถูกอกถูกใจที่มีคนมาช่วย "ด่า" รัฐธรรมนูญปี 2550เพิ่มมากขึ้น หลังจากที่หัวหน้าพรรคฝีปากกล้าของพลังประชาชนเคยลั่นมาแล้วก่อนหน้านี้ว่า "รัฐธรรมนูญเฮงซวย"

นักวิชาการน้อยใหญ่หลายคนเห็นตรงกันโดยไม่จำเป็นต้องทำโพลล์ว่ารัฐธรรมนูญปี 50 นั้นเฮงซวยจริง ๆ ทั้งนี้เพราะมันไม่ตอบโจทย์ที่กำลังเป็นปัญหาของสังคม ไม่ตอบคำถามของคนชั้นกลางที่อยากมีชีวิตมั่นคงภายใต้กระแสของโลกาภิวัฒน์ ทั้งยังไม่ช่วยให้คนระดับล่างมองเห็นอนาคตที่ดีขึ้นในวันข้างหน้า

แต่รัฐธรรมนูญเฮงซวยฉบับปี 2550 ซึ่งร่างโดยนักวิชาการเฮง... กลับสนองความต้องการของกลุ่มข้าราชการที่ต้องการกลับเข้ามามีบทบาทในวงการเมือง ที่ต้องการเข้ามามี "ส่วนแบ่ง" ในวงการเมืองซึ่งมีเงินสะพัดมหาศาล

ผู้เขียน "รัดทะมะนวย ฉบับหัวคูณ" ใช้นามปากกาว่า "วาทตะวัน สุพรรณเภษัช นักเขียน มิลเลี่ยนคลิก" เป็นการรวบรวมบทความที่เคยเผยแพร่ทางเวบไซต์ของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ช่วง 1 ปีตั้งแต่มีการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

สามารถติดตามได้ไม่ยากว่าแท้จริงแล้ว ผู้เขียนชื่อมีชื่อจริงว่า พ.ต.อ.ประจักษ์ศิลป์ สุพรรณเภสัช ส่วนคนที่จัดพิมพ์คือ พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค อดีต รอง ผบ.ตร. เป็นคนจัดพิมพ์ออกจำหน่ายเล่มละ 100 บาท ส่วนคนที่ซื้อมาเพื่อนำมาแจกจ่ายให้กับผู้สมัครพรรคพลังประชาชนคือ พล.ต.ท.ชัชจ์ กุลดิลก ผู้สมัคร ส.ส.ระบบสัดส่วน กลุ่ม 6 (กทม. นนทบุรี สมุทร ปราการ) แห่งพรรคพลังประชาชน

พ.ต.อ.ประจักษ์ศิลป์ สุพรรณเภสัช เปิดเผยถึงที่มาที่ไปของ "รัดทำมะนวย ฉบับหัวคูณ" ให้ฟังว่า
"ผมไม่เห็นด้วยกับเหตุการณ์รัฐประหาร เพราะไม่เชื่อว่าคนที่ทำลายประชาธิปไตย ฉีกรัฐธรรมนูญ จะเข้าใจ ประชาธิปไตย และเชื่อเสมอว่า ตำรวจเข้าใจประชาธิปไตยมากที่สุด และเมื่อรัฐประหารเสร็จเรียบร้อย ก็มีข่าวเรื่องการทุจริตต่างๆ นานา อย่างรถหุ้มเกราะล้อยาง ซึ่งผมไม่พอใจมาก เพราะในอดีตมีทหารกี่คนที่ทุจริตและถูกดำเนินคดีไม่รู้จัก กี่คน..."

พร้อมกันนี้ ผู้เขียนได้อธิบายความหมายของคำว่า "รัดทำมะนวย ฉบับหัวคูณ" แบบมีอารมณ์ขันว่า
"มันไม่ได้เป็นคำหยาบคายอะไร หากอ่านหนังสือผมให้หมดก็จะรู้ว่า คำว่ารัดทำมะนวย เป็นคำที่ยืมมาจาก สุจิตต์ วงศ์เทศ ที่เขียนเอาไว้ในหนังสือพิมพ์ มติชนว่า รัดทำมะนวยปล้นอำนาจประชาชน ส่วน ฉบับหัวคูณ ผมเอามาจากคำของซือแป๋ ราชดำเนิน (พล.ต.หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช) ที่เขียนเอา ไว้ว่า ไอ้พวกทุจริตมันเป็นพวกหัวคูณ คือคิดอะไรแต่เรื่องผลประโยชน์ของตัวเอง โดยการคูณ คูณ คูณ คูณ ว่าเป็นเงินเท่าไร ผมก็ยืมเอาคำมาผสมกันเป็น รัดทำ มะนวย ฉบับหัวคูณ"

อย่างไรก็ตาม ในหนังสือเล่มดังกล่าวหน้า 129 ผู้เขียนระบุคำว่า รัดทำมะนวย มาจากบทกวีของ คุณชนะ คำมงคล ที่เขียนไว้ว่า

"เจ้าขุนทองยังไม่มา เห็นแต่หน้าเจ้าขุนทวย
กำลังร่างรัดทำมะนวย ฉวยอำนาจประชาชน"

ส่วน พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค ผู้จัดพิมพ์ และเป็นประธานชมรมข้าราชการตำรวจบำนาญบอกว่า หนังสือเล่มนี้เป็นผลพวงมาจากหนังสือ "ทำลายรัฐตำรวจ สร้างรัฐทหาร" ของชมรมข้าราชการตำรวจ ซึ่งเป็นหนังสือ ที่ชมรมทำออกจำหน่ายให้กับข้าราชการตำรวจ ช่วงต้นปี 2550 เพื่อชี้แจงถึงรายละเอียดร่าง พ.ร.บ. ข้าราชการตำรวจ ที่จะมีผลกระทบกับตำรวจทุกคนในอนาคต

"...เพราะคนนอกที่ไม่ใช่ตำรวจ กำลังจะเข้ามามีอำนาจเหนือตำรวจทั้งประเทศ ต่อมารัฐบาล พล.อ. สุรยุทธ์ (จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี) เริ่มพูดถึง นโยบายการปราบยาเสพติดของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และการฆ่าตัดตอน 2,000 ศพ ชมรมเห็น ว่าเป็นการสร้างเรื่องเพื่อทำลายข้าราชการตำรวจ และผลักให้ตำรวจทั้งประเทศเป็นผู้ร่วมกระทำผิด และผลักให้ไปเป็นพวก พ.ต.ท.ทักษิณ โดยไม่ตั้งใจ"

"...ทำให้ตำรวจที่เป็นผู้ปฏิบัติเสียกำลังใจอย่างมาก จึงรวมตัวกันออกหนังสืออีกเล่ม เพื่อบอกความจริงกับสังคมชื่อ "ฆ่าตัดตอน โกหกบันลือโลก" ซึ่งเป็นเป็นหนังสือคู่แฝดที่จัดทำมาพร้อมกับ "รัดทำมะนวย ฉบับหัวคูณ"

หนังสือเล่มนี้ จะเป็นสีสันและอาจส่งผลต่อการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นในเดือนธันวาคม 2550 มากไปกว่านั้นหนังสือเล่มนี้จะต้องส่งผลสะเทือนไม่มากก็น้อย ต่อชะตาชีวิตของรัฐธรรมนูญปี 2550

มันยิ่งเป็นการตอกย้ำความเชื่อที่ว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 นั้นเป็นรัฐธรรมนูญเถื่อนที่ไม่มีความศักดิ์สิทธิ์อะไรเลย เพราะผู้ร่างก็เป็นกลุ่มบุคคลที่ถูกตั้งขึ้นโดยอำนาจเถื่อนที่ไม่ได้การยอมรับ ซ้ำเนื้อหาก็เถื่อนเอามาก ๆ (เวลาที่ผมเข้าไปที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และเผอิญเห็นหน้านักวิชาการที่ช่วยยกร่างรัฐธรรมนูญปี 50 แล้ว ผมก็นึกถึงรัฐธรรมนูญเถื่อนทุกที ราวกับว่าที่หน้าผากของนักวิชาการท่านนี้มีรัฐธรรมนูญปี 50 แปะอยู่)

ผมเชื่อว่าชะตาชีวิตของรัฐธรรมนูญปี 2550 คงจะสั้นเอามาก ๆ หรืออย่างน้อยก็จะไม่มีความศักดิ์สิทธิ์น่ายำเกรง เป็นกรอบกฏหมายสูงสุดที่สัปดน น่าหัวร่อ มันจะกลายเป็นขี้ปากให้ใครต่อใครเอามาด่าเล่น

แม้ว่าผมจะไม่ค่อยเห็นด้วย กับเหตุผลที่ทางผู้จัดพิมพ์ยกมาอ้างในการจัดพิมพ์หนังสือเรื่อง "รัดทำมะนวย ฉบับหัวคูณ" แต่ผมเห็นด้วยว่ารัฐธรรม "นวย" ปี 2550 นั้น "หัวคูณ" จริงๆ

ประชาชนต้องซวยก่อน

28 October, 2007 - 00:42 -- maythas

-1-

พรรคประชาธิปัตย์หาเสียงเพื่อการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง โดยชูคำขวัญที่ฟังดูดัดจริตและกินไม่ได้ว่า “ประชาชนต้องมาก่อน”

ผมได้ยินหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปล่งคำนี้ออกมาแล้วก็ให้นึกสงสัยว่าจะมีใครซักกี่คนในโลกนี้เชื่อในสิ่งที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ พูดออกมา

พรรคประชาธิปัตย์ฉวยโอกาส เอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น ๆ ตามสไตล์ถนัดด้วยการโฆษณาหาเสียงก่อนใครเพื่อน  ในขณะที่พรรคคู่แข่งอย่างพรรคพลังประชาชนนั้นต้องเจอกับอำนาจชั่วที่คอยการสกัดกั้นทุกรูปแบบ

-2-

ต้องรอดูกันต่อไปว่า พรรคพลังประชาชนจะฝ่าต้านแรงสกัดจากอำนาจชั่วได้มากน้อยแค่ไหน การตัดทอนกำลังพรรคพลังประชาชนด้วยรูปแบบวิธีการต่าง ๆ จะทำให้พรรคพลังประชาชนอ่อนกำลังลงไปได้มากน้อยเพียงใด หรือว่าจะยิ่งทำให้พรรคการเมืองพรรคนี้เติบโตมากขึ้น ความศรัทธาเชื่อถือจากประชาชนจะช่วยให้เอาชนะฝ่ายตรงข้ามได้หรือไม่

ผมเชื่อว่า หากแม้นเมื่อใดที่ประเทศนี้สามารถปกครองด้วยหลักการของเสียงข้างมากจริงๆ ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่ไม่ต้องการทหาร เมื่อนั้นพรรคพลังประชาชนจะต้องได้จัดตั้งรัฐบาลอย่างแน่นอน เพราะประชาชนเสียงข้างมากของประเทศ ยังคงสนับสนุนพรรคไทยรักไทยที่กลายร่างเป็นพรรคพลังประชาชนภายใต้การนำของสมัคร สุนทรเวช หรืออย่างน้อยก็มีจำนวนมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์อย่างแน่นอน

บางคนชอบพรรคพลังประชาชนเพราะนโยบายต่าง ๆ ในอดีตที่ให้ความสำคัญแก่คนระดับล่าง (จะมีคนบางจำพวกแย้งในทันทีว่านโยบายของพรรคไทยรักไทยเดิม และของพรรคพลังประชาชนเป็นนโยบายประชานิยมที่ทำให้คนเป็นหนี้ ทำให้ประชาชนไม่รู้จักพึ่งตนเอง! ทั้งที่ประชาชนอยู่มาได้เป็นร้อยปีก่อนที่จะมีพรรคการเมืองด้วยซ้ำ)

บางคนชอบพรรคพลังประชาชน เพราะความสามารถของนักการเมืองในพื้นที่และความผูกพันภักดีที่มีต่อกัน ซึ่งความผูกพันภักดีที่ว่านี้คนชั้นกลางจะไม่มีทางเข้าใจได้เลยในชีวิตนี้ว่ามีความหมายความสำคัญอย่างไร

วันก่อน เจ้าหน้าที่คนหนึ่งในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าให้ฟังว่าจะอย่างไรก็ยังเลือกพรรคพลังประชาชนแม้ว่าจะไม่ได้เป็นพรรคที่จัดตั้งรัฐบาลก็ตาม เขาให้เหตุผลหลายข้อว่าทำไมจึงยังเลือกพรรคนี้

(แล้วเจ้าหน้าที่คนนี้ก็เล่าให้ฟังถึงข่าวอื้อฉาวเรื่องบ้านราคาสามสิบล้านของอธิการบดีสุรพล นิติไกรพจน์ ซึ่งผมไม่รู้ว่าจริงเท็จมากน้อยเพียงใด ใครที่มีพลังอำนาจช่วยเข้าไปตรวจสอบให้ทีเถิดว่าอธิการบดี ม.7 ท่านนี้  เอาเงินมากมายมาจากไหน มาจาก ”ผลประโยชน์ทับซ้อน” จากตำแหน่งอธิการบดีหรือเปล่า!)

นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อยที่จะชี้ให้เห็นว่าประชาชนยังคงเชื่อมั่นศรัทธาในพรรคไทยรักไทยที่ถึงแม้นว่าจะเปลี่ยนชื่อไปแล้วก็ตาม

-3-

คำว่า “ประชาชนต้องมาก่อน” ของพรรคประชาธิปัตย์นั้น ทำให้ผมต้องใช้จินตนาการขนาดหนัก เพราะนึกไม่ออกเลยจริง ๆ ว่าคนอย่างชวน หลีกภัย, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือเทพเทือก นั้นจะปล่อยให้ประชาชนมาก่อนได้อย่างไร

คิดไปคิดมา คำว่า “ประชาชนต้องมาก่อน” จึงน่าจะหมายถึงว่า “ประชาชนต้องมาซวย” ก่อนพรรคประชาธิปัตย์นั่นเอง ผมขอยกตัวอย่างง่าย ๆ ถึงรัฐประหารที่ผ่านมา     

หากติดตามประวัติศาสตร์การเมืองบ้าง ก็จะพบได้ไม่ยากว่าพรรคประชาธิปัตย์จะ “โชคดี”  ได้จัดตั้งรัฐบาลเสมอหลังเกิดการรัฐประหารแล้วมีการเลือกตั้ง จนอาจกล่าวได้ว่า “รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์กับรัฐประหารเป็นของคู่กัน”

รัฐประหารครั้งที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์สามารถ “สืบทอดอดีต” ของตัวเองได้อย่างดีโดยเล่นเป็น “ลูกคู่” คอยรับและส่งบทให้เข้ากับคณะรัฐประหารอย่างไม่ประดักประเดิดหรือละอายแก่ใจ บางคนจึงเรียกพรรคประชาธิปัตย์ว่าเป็น “อะไหล่ธิปัตย์” คือช่วยสนับสนุน ซ่อมแซม อำนวยความสะดวกแก่กลุ่มที่ยึดอำนาจ 

การที่พรรคประชาธิปัตย์ปล่อยให้เกิดรัฐประหารกระทั่งเห็นพ้องด้วย การที่พรรคประชาธิปัตย์ปล่อยให้รัฐบาลเถื่อนทำงานไปโดยคอยเป็น “ลูกคู่” หรือเป็น “อะไหล่” นั้น ไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากปล่อยประชาชนให้ซวยนั่นเอง

เป็นที่ตระหนักกันดีว่าสภาวะเศรษฐกิจหลังรัฐประหารนั้นตกต่ำ ประชาชนเดือดร้อน ค่ารถเมล์ขึ้น ค่าครองชีพเพิ่ม ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นความซวยหลังรัฐประหารต่อเนื่องมาถึงก่อนการเลือกตั้ง เป็นความซวยของประชาชนที่ “เกิดขึ้นก่อน” ที่พรรคประชาธิปัตย์จะได้เป็นรัฐบาล

ดังนั้น คำขวัญที่ว่า “ประชาชนต้องมาก่อน” นั้นเป็นคำขวัญที่ยัง “กล่าวไม่หมดความ” คำขวัญที่ถูกต้องของพรรคประชาธิปัตย์ต้องเป็นว่า “ประชาชนต้องซวยก่อน”

แล้วพอประชาชนรับความซวยไปแล้ว พรรคประชาธิปัตย์ก็จะได้เป็นรัฐบาลบริหารเงินงบประมาณเป็นล้านล้าน  สบายใจ.

ขอยกย่อง "จรัล ดิษฐาอภิชัย"

13 October, 2007 - 02:05 -- maythas

อันที่จริง ผมตั้งใจจะหยุดเขียนบทความการเมืองสักระยะด้วยรู้สึกระอากับความวิปริตทางปัญญาของสังคมไทย ผมยังรู้สึกหลอนไม่หายกับการยึดอำนาจของทหารท่ามกลางความดีอกดีใจของพวก “ทาสที่ปล่อยไม่ไป” และพวกที่กลุ้มรุมทึ้งแย่งผลประโยชน์ “แห่งชาติ” ที่ไม่ได้ “เหลือแต่กระดูก” หลังการจากไปของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร

กลุ่มคนเหล่านี้ที่เข้ามายึดกุมอำนาจหลังรัฐประหาร ไม่เกี่ยวข้องอะไรเลยกับการสร้างประชาธิปไตยหรือปฏิรูปการเมือง  รัฐบาลเถื่อนของนายกรัฐมนตรีสุรยุทธ์ จุลานนท์ กับ คมช. คตส. กกต. ที่ผ่านมาได้ทำอะไรบ้างที่เป็นสร้างเสริมประชาธิปไตย หรือปฏิรูปการเมืองไปสู่ครรลองประชาธิปไตยนอกจากสมคบคิดกันกวาดล้างกลุ่ม “อำนาจเก่า”

ถึงตอนนี้ เราคงได้เห็นกันแล้วว่า กลุ่มที่ช่วยกันไล่อดีตนายกฯ ทักษิณ  ชินวัตร นั้นได้หันมากัดกันเองเมื่อมีการจัดสรรปันส่วนผลประโยชน์ไม่ลงตัว

ได้เห็นกันแล้วว่ารัฐบาลที่เอ่ยอ้างถึงคุณธรรม จริยธรรมโดยไม่คิดนั้น  มีระดับคุณธรรม จริยธรรมไม่ได้ดีไปกว่าสมัยนายกฯ ทักษิณ  ชินวัตรเรืองอำนาจ หรือเผลอ ๆ รัฐบาลชุดนี้อาจมีระดับจริยธรรมแย่เสียยิ่งกว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการครอบครองหุ้นเกินห้าเปอร์เซ็นต์ของหลายรัฐมนตรี การใช้งบลับและการสืบทอดอำนาจด้วยท่าทีเหนียมอายของพลเอกสนธิ บุณยรัตนกลิน ซึ่งเข้าไปนั่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ฯลฯ

ผลเสียที่การรัฐประหารทำไว้ เลวร้าย “อย่างที่ไม่เคยปรากฏ” มาก่อน

คนที่เห็นดีเห็นงามกับการยึดอำนาจหรือคนที่มีส่วนร่วมกับม็อบพันธมิตรนั้น ถึงเวลาแล้วที่จะสำนึกถึงความเสียหาย และตระหนักถึงบทเรียนของการปล่อยให้ทหารมาเพ่นพ่านในวงการเมืองและสร้างปัญหาซ้ำแล้วซ้ำเล่า

อย่าว่าแต่คนรุ่นใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์ หรือไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ความเสียหายของพัฒนาการทางการเมืองจากการที่กลุ่มทหารเข้ามาแทรกแซงการเมืองไทยเป็นระยะ ๆ  แม้แต่คนรุ่น “เดือนตุลา” ที่เคยเข้าป่าก็ยังไม่ “ซึ้ง” ถึงความเลวร้ายอันเกิดมาจากการยึดอำนาจของเผด็จการทหาร ดังนั้น จึงให้คะแนนคมช. สอบ “ผ่าน” นี่ช่างน่าสงสัยว่าที่แท้แล้วบทเรียนของ “เดือนตุลา” นั้นเป็นอย่างไร

ถ้าให้ทหารที่ยึดอำนาจสอบผ่านแม้จะอย่างเฉียดฉิว จะสอนนักศึกษาให้เคารพการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย จะสอนให้คนรุ่นหลังเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้อย่างไร การหวังเกาะกระแสสังคมเพื่อสร้างชื่อโดยไม่คำนึงถึงหลักการอะไรเลยนั้น สมควรถูกประณาม

ข่าวที่ว่าคุณจรัล  ดิษฐาอภิชัย ถูกสมาชิกสภานิติบัญญัติที่มาจากการแต่งตั้งโดยทรราชย์ ลงคะแนนเสียงถอดถอนออกจากการเป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนนั้น ทำให้ผมหันมาต้องเขียนระบายความอัดอั้นตันใจ

ข่าวนี้สร้างความปวดใจให้ผมไม่น้อย ตอน นวมทอง  ไพรวัลย์ อัตวินิบาตกรรม บอกตามตรงว่า ผมยังไม่รู้สึกแย่เท่านี้เลย นั่นคงจะเป็นเพราะว่า นวมทอง ไพรวัลย์เดินทางไปสู่อีกภพภูมิหนึ่งที่ไม่ต้องรับรู้เรื่องการเมือง แต่ข่าวนี้ทำให้เหลืออดจริง ๆ

คุณจรัล ดิษฐาอภิชัย ถูกมองว่าไม่มีความเป็นกลางและละเมิดสิทธิมนุษยชน ผมไม่รู้ว่าจะหัวเราะหรือจะร้องไห้ดีกับข้อกล่าวหาที่ว่านี้

สมมุติว่าคุณจรัล ดิษฐาอภิชัย วางตัวไม่เป็นกลางและละเมิดสิทธิมนุษยชนจริงดังคำกล่าวหา การล้มล้างทำลายระบอบประชาธิปไตยของทหารและการวางตัวของประธานองคมนตรี ไม่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและขาดความเป็นกลางยิ่งกว่าหรอกหรือ ?

การกระทำของกลุ่ม ASTV ไม่เป็นกลางและละเมิดสิทธิมนุษยชนยิ่งกว่าหรือ ? การโจมตีและสร้างความเสียหายให้แก่นักข่าวสาวที่ไม่อาจปกป้องตัวเองจากการที่ไปสัมภาษณ์อดีต นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร จนต้องออกจากราชการนั้นไม่เลวร้ายกว่าหรอกหรือ?

นี่คือความวิปริตทางปัญญาของสังคมไทยที่แยกไม่ออกระหว่างการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยกับการล้มล้างทำลาย แยกไม่ออกระหว่างความเลวกับความเลวกว่า เป็นความวิปริตทางปัญญาที่ปล่อยปละละเลยให้ความอยุติธรรมดำเนินไปโดยทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นหรือแกล้งโง่

ผมอยากจะย้ำว่าการถอดถอนคุณจรัล ดิษฐาอภิชัย นั้นคือการ “ละเมิด” อย่างรุนแรง เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ละเมิดหลักการประชาธิปไตย สภาเถื่อนอย่างสนช. นั้นไม่สามารถอ้างอำนาจอันชอบธรรมในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระซึ่งเป็นอำนาจที่สี่

สภาเถื่อนนี้ “มาโดยไม่ชอบ ยังใช้อำนาจโดยไม่ชอบอีก”

การออกมาต่อสู้ของ คุณจรัล ดิษฐาอภิชัย โดยประกาศจุดยืนอย่างตรงไปตรงมา ไม่แทงกั๊ก ไม่หลบ ๆ ซ่อน ๆ เป็นสิ่งที่น่ายกย่อง ในขณะที่หลาย ๆ คนพากันพูดว่าไม่เอารัฐประหาร แต่ไม่ทำอะไรสักอย่างเดียว

การเคลื่อนไหวอย่างกล้าหาญของคุณจรัล ดิษฐาอภิชัย เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าชื่นชมและจดจำของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

ขอชื่นชมคุณจรัล  ดิษฐาอภิชัยที่ต่อสู้เพื่อปกป้องประชาธิปไตยโดยไม่กลัว “เปลืองตัว”

ราหูอมจันทร์

นิตยสาร “ราหูอมจันทร์” เกิดขึ้นท่ามกลางความซบเซาทั้งทางด้านการเขียน การอ่านและการวิจารณ์ของแวดวงเรื่องสั้นไทย

ราหูอมจันทร์ เป็นนิตยสารรายครึ่งปีหรือที่ทางผู้จัดทำเรียกว่ารายฤดูกาล เป็นการคัดสรรเรื่องสั้นที่มีผู้ส่งไปจากทั่วสารทิศเพื่อรวมพิมพ์เป็นเล่ม

บรรดาคอเรื่องสั้น ต่างวาดหวังว่าการมาถึงของราหูอมจันทร์อาจช่วยให้วงการคึกคักขึ้นมาบ้างไม่มากก็น้อย   อย่างไรก็ตาม เมื่อได้อ่านแล้ว ต้องกล่าวตามตรงว่าราหูอมจันทร์ Vol. 3 “วันปลดปล่อยผีเสื้อ” นั้นมีระดับคุณภาพที่น่าผิดหวังไม่น้อย ทางผู้จัดทำนิตยสารนี้คือกองทุน “กนกพงศ์  สงสมพันธุ์” ก็ยอมรับว่า

“ราหูอมจันทร์ Vol. 3 แม้ว่าระดับความพอใจในคุณภาพจะยังขาดเกินส่วนผสมบางอย่าง แต่จากเรื่องสั้นทั้งหมด 76 เรื่องซึ่งเลือกเฟ้นออกมาได้ 12 เรื่อง คงจะพอร้องแรกแหกกระเชอไล่ราหูได้”

เรื่องสั้นที่ถูกนำมาเป็นชื่อหนังสือคือ “13 กุมภาพันธ์ วันปลดปล่อยผีเสื้อ”  นั้น ผมไม่ค่อยเข้าใจนัก ไม่เข้าใจว่าทำไมวันแห่งการจากไปของ “ฮีโร่” ซึ่งเป็นนักรบจากอเมริกาใต้และเป็นศัตรูตัวฉกาจของมหาอำนาจอเมริกา กับความตายของ “จิมมี่” เพื่อนนักดนตรี จึงกลายเป็นวันปลดปล่อยผีเสื้อไปได้ หรือทั้งคู่เปรียบเหมือนผีเสื้อที่ได้รับการปลดปล่อยด้วยความตาย ? ผมคงอ่านเรื่องสั้นชิ้นนี้ไม่แตกจึงไม่เกิดความรู้สึกประทับใจ

เรื่องสั้น “บักหัวแดง” ของ “ไพฑูรย์  ธัญญา” อ่านสนุกด้วยลีลาภาษาพื้นบ้านอีสาน ประเด็นที่น่าสนใจของเรื่องสั้นนี้ก็คือการชี้ให้เห็นว่าการแต่งงานของผู้หญิงอีสานกับฝรั่ง แล้วอาศัยตั้งรกรากที่อีสานบ้านเกิดฝ่ายหญิงนั้น คนที่เป็นฝ่ายเสียเปรียบไม่ใช่ผู้หญิงแต่กลับเป็นฝรั่งพลัดถิ่นที่แทบไม่มีอำนาจต่อรอง เมื่อถูกฝ่ายหญิงและญาติสูบเงินไปหมดแล้ว ฝรั่งก็ไม่มีความหมายอะไรอีก เรื่องสั้นนี้ชวนให้มองความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงไทยกับฝรั่งเสียใหม่ หลังจากที่เรื่องสั้นจำนวนไม่น้อยก่อนหน้านี้เอาแต่คร่ำครวญถึงความทุกข์ยากของคนอีสาน

“ผัวฝรั่งนำความมั่งคั่งมาสู่นางเอกและแม่ผัว พวกหล่อนโก้หรูฟู่ฟ่า เปลี่ยนจากเถียงนามาอยู่คฤหาสน์หลังใหญ่ เปลี่ยนจากนั่งมอเตอร์ไซค์มานั่งโตโยต้าวีโก้ แต่เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก ความรักที่เคยหวานชื่นก็แปรมาเป็นขมขื่น อีหล่าเริ่มออกแววน้ำเน่า แม่ยายก็ออกลายขี้งก ปล่อยให้พระเอกของเราคอตกเพราะถูกเมียและแม่ยายช่วยกันทำเรื่อง“ (หน้า22-23)

“สีของดอกไม้” ของ “ประชาคม ลุนาชัย” เบาหวิวเกินไป ฉากและอารมณ์ดูจะซ้ำกับนวนิยายเรื่องก่อนหน้าของเขาคือ “เขียนฝันด้วยชีวิต” ดูเหมือนว่างานบางชิ้นของเขาจะซ้ำไปซ้ำมา

ผมอ่านเรื่องสั้นทั้งหมดอย่างรวดเร็ว เรื่องไหนที่ไม่หยุดตรึงให้อ่าน  ผมก็จะผ่านไป และผมก็ผ่านไปหลายเรื่อง เรื่องสั้น “ขอบคุณแรมโบ้” ของชิด  ชยากร นั้น เป็นตัวอย่าง

“ขอบคุณแรมโบ้” กล่าวถึงการชกมวยระหว่าง “แรมโบ้” กับ “ไอ้เลือดเหล็ก”  ผู้เขียนบรรยายการชกไปทีละยก ๆ เหมือนกับกำลังดูโทรทัศน์ ก่อนจะหักมุมว่าทั้งหมดคือการนึกถึงเรื่องหวาดเสียวในระหว่างการถอนฟันของตัวละครเท่านั้นเอง

“ระฆังยกแรกดังขึ้น... พอกรรมการสับมือลงเป็นสัญญาณให้ชกได้ ทั้งแรมโบ้และและไอ้เลือดเหล็กทะยานเข้าหากันทันที...” (หน้า60)

“พอระฆังยกสองเริ่ม พงษ์ศิริปราดเข้ามายืนคอยถึงมุมน้ำเงินของไพโรจน์...” (หน้า 62)

“ยกสามเริ่ม ต่างฝ่ายต่างไม่รีรอเดินอัดกันในทันที...” (หน้า 63)

ผู้เขียนบรรยายเรื่อยไปจนครบยกที่ห้า  อ่านไปเหนื่อยไปกับการติดตามการต่อสู้ของนักมวยที่ไม่เห็นจะน่าสนใจตรงไหน

เรื่องสั้นของอัศศิริ  ธรรมโชติ เรื่อง “ปีหมูของคน”  นั้นน่าผิดหวังอย่างแรง งานเขียนของอัศศิริ  ธรรมโชติ เคยเป็นแรงดลใจให้ผมสมัยย่างเข้าวัยหนุ่ม ด้วยภาษาที่สวยงามราวร้อยกรอง เนื้อหาที่สะเทือนใจ แต่เรื่องสั้นชิ้นนี้สร้างความผิดหวังสำหรับคนรอคอยงานใหม่ ๆ ของอัศศิริ ธรรมโชติ มันเหมือนงานเขียนลงหนังสือพิมพ์รายวันมากกว่า

เรื่องสั้นเริ่มต้นด้วยการนึกถึงวัยเด็กของตัวละครที่เกิดปีกุน แล้วตัดเข้าสู่ยุคปัจจุบันอันเป็นปีที่ตรงกับปีกุน หมอดูทำนายว่าปีกุน 2550 เป็นปีที่น่ากลัว จะเป็นปีหมูไฟที่เผาผลาญบ้านเรือนให้มีแต่ความเดือดร้อน

จากนั้นก็เป็นการรายงานข่าวถึงสิ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นตั้งแต่เรื่องไข้หวัดนก หมูราคาตกต่ำจนต้องฆ่าทิ้ง รวมทั้งระเบิดส่งท้ายปีเก่า แล้วก็รำพึงว่า “คนเอ๋ย หมูเอ๋ย” แล้วก็รำพึงต่อไปราวกับไม่มีอะไรให้เขียน ก่อนจะสรุปถึงเหตุการณ์ระเบิดส่งท้ายปีเก่าที่ทำให้คนบริสุทธิ์ตายฟรี แล้วทิ้งท้ายว่า

“โอ้... คนเอ๋ย” ผมไม่รู้ว่าบรรณาธิการคิดยังไงจึงปล่อยเรื่องสั้นชิ้นนี้ออกมา ส่วนเรื่อง ”เซโดชา” ของ สุวิชานนท์  รัตนภิมล นั้นบรรยากาศแปลกดี จุดเด่นของเรื่องสั้นเรื่องนี้คือความรู้เกี่ยวกับป่าของผู้เขียน อย่างไรก็ตาม ความลี้ลับที่ผู้เขียนวาดไว้ทำให้อ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง

ได้แต่หวังว่าราหูอมจันทร์เล่มต่อไปจะเข้มข้นกว่านี้ คงจะมีเรื่องสั้นชั้นดีให้กองบรรณาธิการได้คัดเลือกมากกว่านี้.

Pages

Subscribe to RSS - บล็อกของ maythas