ongart's picture

<p>เขาผ่านชีวิตครูดอยมานับสิบปี ท่ามกลางความบริสุทธิ์ของธรรมชาติและผู้คนชนเผ่า เขาขีดเขียนงานด้านบทกวี เรื่องสั้น สารคดี มาตั้งแต่ปี 2540 ก่อนผันเปลี่ยนวิถีสู่งานด้านสื่อ ”ประชาไท” ตามคำชวนของมิตรสหาย และตามเสียงเพรียกบางอย่างข้างใน</p> <p>แน่นอน คอลัมน์นี้จึงเป็นเสมือนเพิงพักในทางผ่าน เพื่อเล่าเรื่องความจริงที่ประสบ ซึ่งมีอารมณ์ทั้งแง่งาม ประทับใจ ทั้งเศร้าลึก แปลบปวดร้าว เมื่อพบบางชีวิตต้องเผชิญกับชะตากรรมที่ตนเองไม่ได้ก่อ</p> <p>เขาถ่ายทอดตามในสิ่งที่ดวงตาเห็น และดวงใจได้สัมผัส…ว่ายังมีอีกหลากหลายเรื่องราวบนหนทางที่เราผ่านพบ นั้นควรอย่างยิ่งกับการบันทึกเอาไว้ เพื่อจดจำและเรียนรู้...ในชีวิต.</p>

บล็อกของ ongart

งาม แกร่ง กล้า... วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์

5 December, 2007 - 10:30 -- ongart

ภาพวนิดา
ภาพโดย www.thaingo.org 

-งาม-

เธองามดั่งดวงดอกไม้ป่าเบ่งบานสะพรั่งในหมู่มวลธรรมชาติสรรพสิ่ง
เพียงลมสายบริสุทธิ์พัดต้องล่องลอยมาสู่,ชีวิตเธอ
ก็คลี่กลีบนวลยิ้มแย้มเบิกบานอยู่อย่างนั้นให้สัมผัสพบเห็น
เป็นที่ชื่นชมในกัลยาณมิตรให้ชุ่มชื่นดวงจิต
เธอช่วยชุบชูชีวิตหลายชีวิตให้มีหวัง
ยิ่งยามแผ่นดินแล้งแห้งหรือเร่าร้อนดังไฟ

-แกร่ง-

เธอแกร่งดั่งภูผาที่ยืนท้าต้านแรงลม แดด ฝน
วิถียังเฝ้าฝ่าฟัน บากบั่น ยึดมั่น
ก้าวไปบนถนนของคนจนและความจน
แหละผจญไปบนเส้นทางของความจริง
แม้ร่างนั้นดูบอบบาง หากยังฝืนกำหมัดหยัดยืนชูมือขึ้นสู่ฟ้า
เพียรวาดฝัน ปรารถนา ปวงประชาพบทางแห่งเสรี
ใช่, เหมือนกับที่เธอว่าไว้ในบทกวี...
“จินตนาการความฝัน สรรค์สร้างได้จริง บนดินแดนเสรี”

-กล้า-

เธอคือผู้กล้าหาญบนตำนานการต่อสู้ของประชาชน
จ้องดูเธอสิ- -ในชีวิตนั้นมีการเคลื่อนไหว
ดวงตาเธอยังคงสุกใสเปล่งประกายเจิดจ้า
จิตวิญญาณเธอนั้นเล่า,
ยังคงเต้นเร่าประกาศกล้าทายท้าอธรรม
“...ลุกขึ้นเถิดผองทาส  ปลดปล่อยโซ่ตรวน
รุกไล่อธรรม ให้ถอยร่นหมดทาง
คือภาระหน้าที่สืบสาน  บรรพชนคนหาญ
ในลำนำเล่าขาน  ตำนานของเรา”

จากวันนั้นจนถึงวันนี้...
ยังระลึกถึงและสื่อสัมผัสถึงเธอได้..
“งาม แกร่ง กล้า...มด.วนิดา เธอผู้อยู่เคียงข้างประชาชน”

                   ด้วยจิตคารวะ ศรัทธาและเชื่อมั่น
                                             ภู เชียงดาว

หมายเหตุ : เขียนขึ้นหลังทราบข่าวพี่มด วนิดา,ป่วยหนักด้วยโรคมะเร็ง และบทกวีในเครื่องหมายคำพูดที่เน้นตัวหนา คือส่วนหนึ่งของบทกวีที่ชื่อ “สบน้ำ” ของพี่มด วนิดา,ที่ได้กลั่นออกมาจากจิตวิญญาณข้างใน หลังจากไปเยือนแม่น้ำสาละวิน- สบเมย เมื่อ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ ซึ่งต่อมาผมได้ขอบทกวีชิ้นนี้มานำลงเผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ ‘กวีประชาไท’

ในสวนบนเนินเขา (จบ)

28 November, 2007 - 09:08 -- ongart

ข้าไม่สนใจที่จะก้าวไปข้างหน้า
ข้าเดินอย่างสบายๆ ให้ทุกสิ่งดำเนินไปในวิถีของมัน
มีข้าวสามทะนานอยู่ในย่าม
มีฟืนใกล้เตาไฟ
แล้วจะสนใจไยกับมายาและการบรรลุธรรม
ชื่อเสียงและโชคลาภจะมีประโยชน์อันใด
ข้านั่งในกระท่อม ฟังเสียงฝนยามค่ำ
เหยียดขาอย่างอิสระอยู่ในโลก.

‘เรียวกัน’

 

1

ผมกลับมาพักอยู่ในสวนบนเนินเขาอีกครั้ง,ในวันที่ลมหนาวมาเยือน
เป็นการกลับมาใช้วิถีของความเรียบง่ายและเป็นสุข, ผมรู้สึกเช่นนั้นจริงๆ เมื่อมาพักอยู่ในบ้านสวน ซึ่งนับวันสวนยิ่งคล้ายป่าไปทุกที ใจผมรู้สึกนิ่ง สงบมากขึ้น ไม่ต้องเคร่งเครียด เร่งรน หากใช้ชีวิตให้กลมกลืนและใกล้กับวิถีธรรมชาติให้มากที่สุด

มาถึงห้วงยามนี้ ผมบอกกับตัวเองว่า ต่อไปต้องพยายามลดภาระบางสิ่ง ทิ้งความฟุ่มเฟือยบางอย่างให้มากที่สุด

เช้านี้ก็เช่นกัน, หลังตื่นนอน ผมเดินไปในสวน เก็บกิ่งลำไยแห้งที่ถูกลิดทิ้งกองไว้ใต้ต้น มาทำเป็นฟืนก่อไฟในเตาหลังบ้าน หุงข้าว เดินไปเก็บยอดตำลึงริมรั้ว เก็บฝักถั่ว บิดขั้วลูกฟักทองหนุ่มมาผ่าซีก หั่นเป็นท่อน โยนลงหม้อตั้งไฟกำลังเดือดพล่าน ใส่เกลือ เพียงเท่านี้ก็ได้อาหารมื้อเช้าแล้ว

ในความเรียบง่าย ผมมองเห็นความงาม
และในความงามนั้นผมมองเห็นดอกผล

2

3

4

5

สวนของผมในเดือนพฤศจิกายน ผักผลไม้กำลังผลิบานเริงร่าราวกับว่ากำลังแข่งกันประชันโฉม มะเฟืองออกดอกสีชมพูอมขาว พร้อมลูกเล็กๆ ดกพราวไปทั่วกิ่งก้าน ฟักทองลูกยักษ์นอนนิ่งสงบอยู่ใกล้ต้นขนุน มะละกอลูกใหญ่ยาวกำลังแก่งอมคาต้น และทั้งหน้าบ้านหลังบ้าน ดอกถั่วแป๋เหลืองนวลผลิบานสะพรั่งอวดสีสันกันเต็มไปหมด ส่วนใบสดเขียวก็ลามเลื้อยพันเป็นเถาเครือขึ้นคลุมสวน คลุมดิน คลุมหญ้าในขณะที่ฝักอ่อนกำลังยืดตัวชูแถวอยู่อย่างนั้น

ใช่, อีกไม่นาน ถั่วแป๋ก็จะกลายฝักแก่ ผมนึกถึงภาพในอีกไม่กี่วันข้างหน้า เดินก้มเก็บมาพอกำมือใช้ตอกมัดเป็นกำๆ ต้มหรือนึ่งกินเป็นของว่างในคืนหนาว ครั้นรออีกเดือนสองเดือนฝักถั่วก็คงแก่แห้ง ชาวลาหู่ที่มาขออาศัยพื้นที่สวนของผมปลูก ก็คงจะมาเก็บ นวด ตี เป็นเมล็ด เทใส่กระสอบไปขายให้พ่อค้าที่มารับซื้อถึงหมู่บ้าน ส่วนผมก็ได้เปลือก ต้นถั่วที่กลายเป็นปุ๋ยให้ดินในสวน คืนความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

ผมยังคงมองเห็นวิถีความเบิกบานไปทั่วสวน
นั่น,เล้าหมูที่ก่อนเคยตั้งอยู่ตรงหน้าบ้านปีกไม้หายไป กลายเป็นเล้าไก่แทน พ่อของผมในวัยเจ็ดสิบกว่ายังคงมีความสุข อยู่กับความเรียบง่าย ขุดหลุม ลงเสา ทำเล้าไก่เอง พ่อกำลังเลี้ยงไก่แจ้ ไก่พื้นเมืองที่กำลังออกลูกกว่าสามสิบตัว

6

7

8

9

และทุกเช้าตรู่,ผมยินเสียงไก่ขันเหมือนต้องการปลุกสรรพชีวิตและโลกให้ตื่นฟื้น พอตะวันไล่หมอกจางหายไปแล้ว เจ้าเหมียวกับลูกแมวสี่ตัวที่ผมพามันย้ายจากเมืองมาอยู่ในบ้านสวน ต่างก็พากันออกมานอนอาบแดด บ้างปีนต้นไม้ ไต่หลังคากันอย่างสนุกสนาน ผมจ้องดูครอบครัวของเจ้าแมวเหมียวแล้ว รู้ได้เลยว่า พวกมันสนุกและชอบพื้นที่ตรงนี้มากกว่า เพราะเห็นนอนเกลือกกลิ้ง วิ่ง กระโจนขึ้นต้นไม้ ไต่หลังคา ซุกหมอบซ่อนในดงถั่ว ขี้ถ่ายและกลบในกองทรายหลังบ้าน

“บางที ไม่ว่าสัตว์หรือคนเราล้วนก็ต่างอยากมีพื้นที่ของตัวเอง อยากมีชีวิตที่เรียบง่ายและอิสระเหมือนๆ กัน เพียงแต่ว่าใครและใครจะมองเห็นและค้นพบก่อนใครเท่านั้น...” ผมบอกกับตัวเอง

ครั้นทอดสายตาลงไปเบื้องล่าง ชาวนาชาวสวนกำลังทยอยกันไต่ไปตามคันนาริมลำเหมือง ไปสู่ท้องทุ่งที่แสงแดดส่องเป็นสีเหลืองทองดูงดงาม เป็นการเริ่มต้นการงานของวันใหม่

ในสวนบนเนินเขาของผมยังคงปรับเปลี่ยนไปตามฤดูกาล ยังคงเคลื่อนไหว ไม่หยุดนิ่ง เหมือนกับที่ใครคนหนึ่งบอกไว้ว่า...งานทำสวนไม่เคยจบสิ้น มีแต่เริ่มขึ้นและต่อเนื่องไปปีแล้วปีเล่า...

มาถึงตอนนี้ ผมไม่รู้ว่ามีใครคิดและรู้สึกเหมือนกับผมบ้างมั้ย ว่า ‘สวนทำให้ชีวิตคนเราเปลี่ยนได้’ เหมือนกับที่ใครหลายคนบอกไว้ ในนิตยสาร Home and Décor นานมาแล้ว...

ราล์ฟ วัลโด อีเมอร์สัน บอกว่า ‘สวน สามารถเยียวยาความเจ็บปวดใดๆ ให้ฉันได้เสมอ’
Mushih-ud-Din บอกว่า ‘สวนให้ความสดใสกับดวงตา และให้ความเบิกบานกับจิตวิญญาณ’

ผมเห็นด้วยกับแนวคิดเหล่านี้.

ในสวนบนเนินเขา (7)

14 November, 2007 - 03:16 -- ongart

 

1

 

เมื่อนั่งอยู่ในความเงียบ ในสวนบนเนินเขายามเช้าตรู่ เพ่งดูหมอกขาวคลี่คลุมดงดอยอยู่เบื้องหน้า ทุ่งนาเบื้องล่างลิบๆ นั้นเริ่มแปรเปลี่ยนสี จากทุ่งข้าวสีเขียวสดกลายเป็นสีเหลืองทองรอการเก็บเกี่ยว ใช่, ใครต่อใครเมื่อเห็นภาพเหล่านี้ คงรู้สึกชื่นชมภาพอันสดชื่นรื่นรมย์กันแบบนี้ทุกคน

ทว่าจริงๆ แล้ว พอค้นให้ลึกลงไป ก็จะพบว่า ในความงามนั้นมีความทุกข์ซุกซ่อนอยู่ให้รับรู้สึก เมื่อนึกถึงภาพเก่าๆ ของหมู่บ้าน ผ่านไปไม่กี่สิบปี  จะมองเห็นได้เลยว่าหมู่บ้านเกิดของผมมีความแปลกเปลี่ยนไปอย่างเร็วและแรง อย่างไม่น่าเชื่อ

“ตอนนี้ อะหยังๆ มันก่อเปลี่ยนไปหมดแล้ว...” เสียงใครคนหนึ่งบ่นเหมือนรำพึง

จริงสิ, อะไรๆ ก็ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว บทเพลงชาวนาชาวสวนที่เคยขับร้อง จึงไม่เพราะเหมือนแต่ก่อน...    
เมื่อความแปลกเปลี่ยนกำลังไหลเลื่อนเคลื่อนคลุมหมู่บ้าน ปกคลุมหัวใจของผู้คนทุกลมหายใจเข้าออก

คิดแล้ว  น่าใจหาย

เมื่อมองเห็นภาพชาวบ้าน ญาติพี่น้องของผมแบกกระเป๋าเดินทยอยออกจากหมู่บ้านไปทำงานต่างแดนกันอย่างต่อเนื่อง

2

“ตอนนี้ ถ้านับจำนวนทั้งคนหนุ่ม คนเฒ่าคนแก่ที่ออกไปยะก๋านข้างนอก คงเกือบสองร้อยคนแล้วมั่ง...” เสียงพี่สาวบอกเล่าให้ฟัง

เป็นการเดินออกไปทำงานรับจ้างต่างบ้านต่างเมือง ในขณะที่รัฐบาลโหมโฆษณาผ่านเสียงตามสาย ผ่านโทรทัศน์ เน้นย้ำอยู่อย่างนั้น...พอเพียง พอเพียง ซึ่งมันช่างสวนกระแสและรู้สึกขมขื่นเสียจริงๆ
ทำไม...ทำไม ผู้คนถึงต้องออกจากหมู่บ้าน...หลายคนคงแอบตั้งคำถามกันแบบนี้ แต่กระนั้น คงมีอีกหลายคนที่รู้สึกเฉยชา และปล่อยให้มันเป็นไป ปล่อยให้ชะตากรรมเป็นฝ่ายตัดสิน

ใครหลายคนบ่นว่า ต้องโทษ ธกส.ต้องโทษนักการเมือง รัฐบาลเก่าที่สร้างหนี้ให้ชาวบ้าน ในขณะที่หลายคนก็บอกว่า ต้องโทษตัวเราเอง ที่ไปเอาเงินมาใช้ แต่ไม่มีปัญญาใช้คืน

แน่นอน พวกเขาถึงละทิ้งผืนแผ่นดินเกิด ปล่อยให้นาข้าวไร้คนเกี่ยว สวนเปลี่ยว ไร่รกร้าง แบกกระเป๋าเข้าเมือง เพียงเพื่อมุ่งหาเงิน เร่งหามาใช้หนี้ เพื่อปลดทุกข์และความเครียดที่รุมเร้า

ทำให้นึกไปถึงถ้อยคำของหลานชาย ที่บอกเล่าความรู้สึก ในวันที่ต้องไปเที่ยวหาคนงานที่เป็นชนเผ่าจากหมู่บ้านใกล้เคียงมารับจ้าง รับเหมาเกี่ยวข้าวภายในทุ่งนาของตน
“...ท้องทุ่งในวันนี้ช่างเงียบเหงา ถึงแม้จะมีผู้คนมาช่วยผมเกี่ยวข้าว แต่เป็นคนที่ไม่รู้จักเลยซักคน เสียงต่างๆที่คุ้นเคย ก็เงียบขาดหายไป เพราะอะไร ?...”

3

4

ฟ้าครึ้ม พายุพัดพาเมฆฝนหล่นโปรยลงมาในสวนบนเนินเขาอีกครั้ง...ผมหยิบหนังสือ “จากห้วงลึก” ของ “พจนา จันทรสันติ” ออกมาอ่านอยู่เงียบๆ ลำพัง...

“...ความเปลี่ยนแปลงจากวิถีชีวิตแบบบุพกาล มาสู่วิถีชีวิตแบบโลกสมัยใหม่ อาจกินเวลาเพียงลัดนิ้วมือเดียว เมื่อเทียบกับการสั่งสมอารยธรรมทางจิตวิญญาณ ซึ่งต้องกินเวลานานนับพันๆ ปี จากการหยั่งเห็นของคนรุ่นแล้วรุ่นเล่า สืบทอดจากครูคนแล้วคนเล่า สั่งสมขึ้นเป็นประสบการณ์ภายในอันล้ำลึกซึ่งความรอบรู้และบทบาทหน้าที่ของมนุษย์ได้รับการตอบรับยืนยันจากสรรพสิ่งในจักรวาล กว่าที่มนุษย์จะเงี่ยโสตสดับฟัง จนได้ยินกระแสเสียงของพระผู้สร้าง หรือต้นกำเนิดของตน กว่าที่มนุษย์จะขัดเกลาตนเองให้ละเอียด จนถึงขั้นที่สามารถรับคลื่นสัญญาณความหมายต่างๆ ของธรรมชาติ ช่างแตกต่างกันไกลจากเสียงของวิทยุ โทรทัศน์ ซึ่งง่าย ทว่าผิวเผินกว่ามากนัก และมนุษย์อาจใช้เวลาไม่มากเลย ที่จะได้ยินกระแสเสียงของเงินและเทคโนโลยี ซึ่งได้กลายมาเป็นพระเจ้า กลายเป็นศาสนาในยุคใหม่ของตนด้วย

และเสียงของพระเจ้าองค์ใหม่นี้ ย่อมดังกึกก้องกว่า ชัดเจนกว่า และง่ายที่จะได้ยินด้วย ทว่าผู้คนที่เดินติดตามไป ก็คงจะได้ค้นพบด้วยตนเองในไม่ช้าว่า ตนได้มีความสุขแท้จริงละหรือ จะค้นพบว่าอะไรคือสวรรค์และคือนรก และพบว่าอะไรจริงอะไรเท็จ และตรงปลายทางสายนั้นคือมรรคผลอันไพบูลย์เต็มเปี่ยม หรือว่าคือหายนะของทั้งหมด...”

“จากห้วงลึก”
“พจนา จันทรสันติ” เขียน

 

ผมนิ่งอ่านแล้วครุ่นคิดไปต่างๆ นานา...จริงสิ, ไม่ว่าในเมืองหรือชนบท ผู้คนต่างล้วนเอาชีวิตไปวางอยู่กับเงิน เอาเงินเป็นตัวตั้ง ในขณะที่สังคมนับวันยิ่งซับซ้อน ยุ่งเหยิง หมักหมมและเลวร้ายขึ้นทุกวัน และก็อดนึกถึงผู้คนพี่น้องของผมที่ละทิ้งบ้านเกิดไปไม่ได้ว่า ป่านนี้พวกเขาออกไปเผชิญชีวิตในเมืองใหญ่ ในต่างจังหวัด ในเกาะแก่งทะเล ทางภาคใต้ในขณะนี้ ไม่รู้ว่าพวกเขามีชีวิตความเป็นอยู่กันอย่างไรบ้าง และจะเอาตัวรอดกลับคืนมาสู่ถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเองได้หรือไม่...

ความรู้สึกของผมในยามนี้ เหมือนกับที่ “ถนอม ไชยวงษ์แก้ว”เขียนบันทึกไว้ในคอลัมน์ใน www.prachatai.com ตอนหนึ่งที่บอกว่า...

Life is short
The world is rough
If you want to live save
You have to be tough

ชีวิตนี้สั้น
โลกนี้เลวร้าย
หากคุณต้องการจะอยู่อย่างปลอดภัย
คุณต้องแข็งแกร่งพอ.

 

หมายเหตุ : ภาพประกอบโดย “ดอกเสี้ยวขาว” http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=jintanakarn82&month=10-2007&date=09&group=11&gblog=3

ในสวนบนเนินเขา (6) เมื่อผมปลูกกาแฟบนเนินเขา

7 November, 2007 - 01:28 -- ongart

ผมเริ่มค้นพบว่าตัวเองนั้นไม่เหมาะกับเมือง หลังจากที่ใช้ชีวิตในเมืองใหญ่มานานหลายปี
ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมถึงคิดเช่นนี้- -อาจเป็นเพราะระยะหลังรู้สึกว่าชีวิตตัวเองแปลกและป่วย
บางครั้งคล้ายยินเสียงจากข้างในกำลังบอกอะไรบางอย่าง
ราวกับจะบอกว่า... ‘ที่สุดแล้ว,ชีวิตต้องกลับคืนสู่เส้นทางที่จากมา’
แหละนั่น ทำให้ผมเริ่มวางแผนกลับไปใช้ชีวิตในสวนบนเนินเขาเหนือหมู่บ้านเกิดอีกครั้ง
หลังจากที่ปล่อยให้สวนรกร้างว่างเปล่ามานานเต็มที

จริงสิ, ผมปล่อยให้ต้นไม้ในสวนรกเรื้อและโตขึ้นตามลำพัง
ไร้การดูแลเอาใจใส่ ไม่มีเวลารดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย
คงเหมือนกับชีวิตตัวเองกระมัง ที่ต้องมาอยู่กับเมือง
มัวแต่ไขว่คว้าบางสิ่ง แต่ละทิ้งอะไรหลายอย่าง
ผูกพันกับเทคโนโลยี กับการงานที่เร็วและเร่ง
จนทำให้รู้สึกว่าชีวิตนั้นช่างรกรุงรังเสียเหลือเกิน
เหนื่อยและล้า กระทั่งชีวิตชำรุด ผุกร่อน
ต้องเข้าโรงซ่อมหลายต่อหลายครั้ง

พักหลังมานี้ ผมจึงรู้สึกโหยหาและผูกพันกับสวนบนเนินเขามากขึ้น หลังจากเมื่อสงกรานต์ที่ผ่านมาได้เริ่มลงหลักปักฐานปลูกบ้านไม้หลังเล็กๆ ในสวน ผมเทียวขึ้นเทียวล่องอยู่อย่างนั้น อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง, เฝ้าดูสล่ากับเพื่อนบ้านช่วยกันขุดหลุม ลงเสา ขึ้นโครง มุงหลังคา ทำห้องน้ำ ห้องครัว หน้าต่าง ประตู ปูพื้นฝา ระเบียง ฯลฯ

ครั้นเข้าหน้าฝน กลับบ้านสวนครั้งใด ผมมักหิ้วกล้าไม้ใส่รถขนขึ้นไปปลูกแทบทุกครั้ง อย่างน้อยก็สองสามอย่าง เผลอไม่นาน สวนผมกลายเป็นสวนผสมผสานไปโดยไม่รู้ตัว เมื่อเดินสำรวจ ลูบคลำต้นไม้ใบไม้ในสวนทีละต้นๆ จึงรู้ว่ามีต้นไม้ที่ผมลงมือปลูกเอาไว้มีทั้งหมดมากกว่ายี่สิบชนิด รวมกว่าสี่ร้อยต้น ในเนื้อที่ราวห้าไร่

1.jpg

ล่าสุด, ผมมีโอกาสเดินทางไปหมู่บ้านก็อตป่าบง ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลนักจากบ้านเกิด เป็นชุมชนชนเผ่าลาหู่ที่ผมรู้สึกผูกพันมานาน ตั้งแต่เมื่อครั้งยังทำงานเป็นครูดอยอยู่แถบถิ่นนี้ พอลงจากรถ ผมก็สัมผัสได้ถึงธรรมชาติ ความรัก ความเรียบง่าย และไมตรีจิตของพี่น้องชนเผ่าเมื่อทุกคนต่างเดินเข้ามาจับมือ ยกมือไหว้ทักทาย พร้อมเชื้อเชิญขึ้นบ้าน ล้อมวงพูดคุย จิบน้ำชา ถกถามถึงชีวิตความเป็นอยู่ของกันและกัน

หลังจากนั้น 'ป๊ะป่า' ชาวบ้านที่ผมคุ้นเคย ชวนเข้าไปดูแปลงเพาะกล้ากาแฟในหุบเขา ขณะที่เราเคลื่อนไหวไปเบื้องหน้า...ผมชอบภาพผ่านสองข้างทาง อากาศสะอาด แดดส่องผ่านหุบห้วย ขุนเขาสลับทับซ้อน ไร่ข้าว ถั่วลิสง ถั่วแป๋ ขึ้นแซมเต็มผืนดินที่ว่าง งามฝักข้าวโพดเหลืองแก่คาต้นรอการเก็บเกี่ยว แหล่ะนั่น ต้นกาแฟแทรกตัวอยู่ใต้ร่มเงามะม่วงสูงใหญ่

ผมชอบความสดเขียวมันวับของใบกาแฟ พร้อมลูกดกสีเขียวแดงเต็มกิ่งก้าน 

2.jpg

ป๊ะป่า กับภรรยามีความสุขเริงร่ากับกล้ากาแฟที่เพาะไว้

“รู้มั้ย กลายเป็นว่า ปลูกกาแฟนั้นดูแลง่ายกว่าปลูกข้าวโพดเสียอีก ปลูกทิ้งไว้ใต้ต้นลำไย มะม่วง สองปีก็เก็บหน่วยขายได้ ถึงเวลามีพ่อค้ามารับซื้อถึงหมู่บ้านเมล็ดกาแฟสด ลูกสีแดง ตอนนี้ ราคาตกประมาณ 12-15 บาทต่อกิโล...” ป๊ะป่า บอกเล่าให้ฟัง

ในขณะที่ ‘สุรเดช’ สมาชิก อบต.ปิงโค้ง ลูกหลานของป๊ะป่า บอกว่า เขาเอากล้าที่ป๊ะป่าไปปลูกใต้สวนมะม่วงเพียงห้าสิบต้น ปล่อยทิ้งไว้สองปีจนสูงท่วมหัว ล่าสุดเขาเก็บเมล็ดกาแฟขายได้เงินสี่ห้าพันบาท

“ตอนนี้ ทางนายกฯพิพัฒน์พงศ์ เดชา นายก อบต.ปิงโค้ง ได้ส่งเสริมให้ป๊ะป่าเพาะกล้าแจกจ่ายให้กับชาวบ้านได้ปลูกกันตามไร่ตามสวน ซึ่งต่อไปอาจเป็นอีกอาชีพหนึ่งของชาวบ้านแถวนี้ และกำลังคิดกันว่าทำอย่างไรถึงจะส่งเสริมถึงขึ้นคิดจะสร้างแบรนด์เนมให้กับตำบลปิงโค้ง..และแพ็คใส่ถุงเป็นกาแฟบดขายได้ในอนาคต”

3.jpg
‘สุรเดช’ พาชื่นชมสวนกาแฟใต้ร่มเงามะม่วง

เราช่วยกันขนกล้ากาแฟในแปลงเพาะ ใส่ในกระบะหลังของรถขับเคลื่อนสี่ล้อคันเล็กจนเต็มล้น

“เอาไปลองปลูกในสวน แล้วรอเก็บหน่วยอีกสองปีข้างหน้าเน้อ...” นานแล้ว ที่ผมไม่ได้ยินน้ำเสียงของการให้ด้วยความเต็มใจ “ชีวิตผมไม่ต้องรวย แค่พออยู่ได้ มีเหลือก็แบ่งปัน แค่นี้ก็มีความสุขแล้วล่ะ...” ป๊ะป่า เอ่ยออกมาด้วยสีหน้ายิ้มแย้มอารมณ์ดี

“อ่อบูอื่อย่าๆ...” ผมกล่าวขอบคุณป๊ะป่า ด้วยภาษาลาหู่ เป็นกล่าวคำขอบคุณด้วยความรู้สึกศรัทธาและชื่นชมในวิถีชนเผ่า

จริงสิ, ชีวิตแค่พออยู่พอกิน อยู่กับดิน น้ำ ฟ้า ป่าไม้ อากาศ ขุนเขา ฯลฯ เพียงเท่านี้ชีวิตก็รุ่มรวยแล้ว มาถึงตอนนี้ทำให้ผมนึกไปถึงภาพไร่กาแฟ ของ 'ไอแซค ไดนีเสน' ในหนังสือ 'Out of Africa' ที่ 'สุริยฉัตร ชัยมงคล' แปลเอาไว้อย่างงามและมีชีวิตชีวา

“...เราไม่มีวันรวยขึ้นมาได้จากการทำไร่.แต่การปลูกกาแฟนั้นเป็นสิ่งหนึ่งที่รั้งตัวคุณเอาไว้และไม่ยอมปล่อย, มีอะไรบางอย่างต้องเกี่ยวกับมันเสมอ”

ผมล่ำลาชาวบ้าน ก่อนขับรถขนกล้ากาแฟกลับไปสวนบนเนินเขาเหนือหมู่บ้านเกิดผมทันที

จากบ่ายจนเย็นย่ำ ที่ผมทำงานในสวนโดยมิยอมหยุดพัก เม็ดเหงื่อผุดพรายเต็มใบหน้า ไหลซึมเสื้อผ้าจนเปียกชื้นเย็น ก้มๆ เงยๆ อยู่อย่างนั้น จับจอบขุดหลุมไปตามหว่างร่มเงาของมะม่วง ลำไย ฉีกถุงเพาะกล้ากาแฟ ค่อยๆ หย่อนลงในหลุม พลิกดินกลบ จากหลุมนี้ ไปหลุมนั้น...นานนับนาน

ขณะที่ผมปลูกกาแฟไปรอบบ้านปีกไม้ที่ยังสร้างไม่เสร็จ ผมครุ่นนึกไปถึงการเติบใหญ่ของกาแฟในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และนึกไปถึง 'ไอแซค ไดนีเสน' อีกครั้ง, ที่เธอบอกเล่าให้เห็นสีสันความจริงที่คล้ายกับว่ากำลังเคลื่อนไหวไปมาอยู่เบื้องหน้าอย่างไรอย่างนั้น...

“...การปลูกกาแฟนั้นเป็นงานยาวนาน, มันไม่เป็นผลอย่างที่วาดไว้เสียทั้งหมด, เมื่อคุณยังอายุน้อย, เปี่ยมด้วยความหวัง, ภายใต้สายฝนที่ถะถั่งลงมา, คุณประคองหีบต้นกล้ากาแฟที่เขียววะวับออกจากเรือนเพาะชำ, และพร้อมพรักด้วยบรรดาชาวไร่มืออาชีพกลางทุ่ง, เฝ้าดูต้นกล้าที่ลงสู่หลุมเรียงรายเป็นแถวอย่างมีระเบียบบนพื้นดินเปียกฉ่ำซึ่งมันจะงอกงามขึ้น กินเวลาสี่หรือห้าปี กว่ามันจะเติบโตได้ที่ และในช่วงนั้นก็อาจจะเกิดแล้งฝน หรือโรคพืช, และเจ้าวัชพืชพื้นเมืองก็จะพากันงอกพรึ่บขึ้นมาเต็มไร่”

กระนั้น, ผมก็ลงมือปลูกกาแฟไปแล้วกว่าสองร้อยต้นในสวนบนเนินเขา และอดจินตนาการไปถึงภาพความงามของดอกกาแฟสีขาวกำลังเบ่งบาน พร้อมโชยกลิ่นหอม เหมือนกับที่เธอบอกว่า “ดอกกาแฟนั้นมีกลิ่นหอมระคนขื่นนิดๆ”

และผมอยากจะต่อถ้อยคำของเธออีกว่า...
ชีวิตชาวไร่ชาวสวนก็คงเหมือนกับดอกกาแฟนั่นแหละ…
ที่มีทั้งกลิ่นหอมระคนขื่นนิดๆ

ซึ่งผมรู้สึกเช่นนั้นจริง ๆ ครับ.

 

หมายเหตุ : งานชิ้นนี้ ตีพิมพ์ครั้งแรก ในคอลัมน์ “คนคือการเดินทาง” เสาร์สวัสดี นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันเสาร์ที่ 29 กันยายน 2550 และผู้เขียนนำมาเพิ่มเติมและเรียบเรียงใหม่

ในสวนบนเนินเขา (5)

30 October, 2007 - 00:08 -- ongart

สิ่งดี ๆ ในชีวิต

พ่อค้าแวะมาหาคนสวนที่เขากำลังพักผ่อนอยู่ตรงหน้ากระท่อม
“สวัสดีครับคนสวน” พ่อค้าทักทาย “ผมมีข้อเสนอดีๆ มาให้ คุณคงสนใจเป็นแน่”
และเมื่อเห็นทีท่าเฉยเมยของคนสวน พ่อค้าก็เริ่มพูดธุระที่เขาคิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย ซึ่งคนสวนจะต้องขยายพื้นที่ปลูกกุหลาบเพิ่มขึ้นและพ่อค้าจะเป็นคนเอาไปขายในเมือง
“คนสวน ด้วยความชำนาญของคุณ กุหลาบของเราจะสวยงามที่สุดในเมือง” พ่อค้าสรุปด้วยท่าทีกระหยิ่มยิ้มย่อง
“ขอบคุณแต่เราไม่สนใจ” คนสวนตอบพร้อมยิ้มอย่างเคย
“แต่คุณจะได้เงินเยอะ...” พ่อค้าว่า ท่าทางแปลกใจ
“ผมไม่สนใจเงินทองหรอก”
“ใครๆ ก็อยากได้เงินกันทั้งนั้น...”
“แต่ไม่ใช่ผม”
“คุณพูดเช่นนั้นได้ยังไง เงินเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต...”
“ไม่รู้สิ! ผมกินอิ่มนอนหลับทุกวัน ผมมีเสื้อผ้าใส่ มีกระท่อมไว้พักพิง ยามค่ำคืนอันหนาวเย็น”  คนสวนตอบอย่างสงบ
พ่อค้าไม่อยากจะเชื่อว่าคนสวนปฏิเสธข้อเสนอของเขา
“และอีกอย่าง...” เขาไม่ยอมแพ้ “คุณจะได้ทำงานที่คุณชอบนะ คนสวน”
“ผมทำงานที่ผมชอบอยู่แล้ว”
คนสวนลุกหนีไป ทิ้งให้พ่อค้าอ้าปากค้าง เขาหุบปาก ลุกขึ้นแล้วออกไปจากสวน พลางบ่นพึมพำว่า “ฉันไม่เข้าใจคนดื้อรั้นพวกนี้เลย ยอมอยู่อย่างยากจน แต่ไม่สนใจสิ่งดีๆ ในชีวิต”
คนสวนใช้เวลาช่วงบ่ายนั้น สดับเสียงเพลงของนกและเฝ้ามองความงามของอาทิตย์อัสดงที่ธรรมชาติดลบันดาล.
จากหนังสือ “สวนแห่งชีวิต”

Grain เขียน, ภารณี วนะภูติ แปล
สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง

 

ภาพที่ 1

ภาพที่ 2

ภาพที่ 3

ผมอ่านงานชิ้นนี้แล้ว ทำให้ครุ่นนึกไปถึงชาวบ้านในหลายๆ พื้นที่ ที่ผมเคยเดินทางไปเยือน ไปนั่งพูดคุย เฝ้าถาม เรียนรู้ ถึงวิถีความเป็นอยู่ของชีวิตของคนทำนา ทำสวน ทำไร่ กลางทุ่งนาป่าเขา

นึกไปถึงความเรียบง่ายของพ่อเฒ่าชาวปวาเก่อญอบ้านแม่คองซ้าย ซึ่งตั้งอยู่ฉากหลังของดอยหลวงเชียงดาว จำได้วันนั้น “พะตีศรี” พาพวกเราลัดเลาะทุ่งนา ลำห้วย ไปตึดแค เอาเศษไม้ใบหญ้า ดินเหนียวโปะกั้นทางน้ำอีกสายให้แห้ง ก่อนลุยโคลน ก้มงมจับปลา ปู กุ้ง ส่วนหมู่แม่หญิงปวาเก่อญอช่วยกันก้มเก็บเด็ดยอดผักกูด ผักไม้ไซร้เครือริมห้วย อีกกลุ่มหนึ่งช่วยกันก่อไฟ หลามปลาด้วยกระบอกไม้ไผ่ ใส่ยอดผักกูด เติมพริก ใส่เกลือ เพียงเท่านั้น ก็ได้อาหารมื้อเที่ยงที่แสนเอร็ดอร่อย

นึกไปถึงใบหน้าของ “พ่อปรีชา ศิริ” ปราชญ์ปกาเกอะญอ ผู้นำธรรมชาติแห่งบ้านห้วยหินลาดใน อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ที่เอ่ยออกมาด้วยน้ำเสียงเปี่ยมสุข อารมณ์ดี

“ทุกวันนี้ เฮาถือว่าหมู่บ้านของเฮานั้นร่ำรวยแล้ว แต่ไม่ใช่ร่ำรวยเงินทอง แต่ร่ำรวยธรรมชาติ เฮามีทุกอย่าง มีดิน น้ำ ป่า มีอากาศให้หายใจ มีอาหาร ยาสมุนไพร เฮาอยู่ได้ด้วยเศรษฐกิจพอเพียง ที่ไม่ต้องดิ้นรนเหมือนคนข้างนอก...”

ใช่, ในหลายๆ พื้นที่ หลายหุบเขา หลายดงดอย ที่พี่น้องชนเผ่าอาศัยอยู่กัน ต่างมีวิถีที่คล้ายคลึงกัน ในทุ่งนา ทุ่งไร่ พวกเขาไม่ได้เพียงแค่ปลูกข้าวอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังใช้พื้นที่นาปลูกพืชผัก เก็บกินได้ตลอดปี ไม่ว่า แตงกวา หัวเผือก หัวมัน ผักกาด งา ฟักทอง ถั่วฝักยาว พริก มะเขือ ฯลฯ จนพูดได้เต็มปากเลยว่า ชาวบ้านไม่ต้องพึ่งพาตลาดข้างนอก เพราะเอาทุ่งนาเอาไร่หมุนเวียนเป็นตลาดสด คนที่นี่จึงไม่เคยอดตาย

และทำให้นึกไปถึงคำพูดของ “ป๊ะป่า” ชาวบ้านลาหู่บ้านก็อตป่าบง ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว ที่บอกย้ำกับผมในวันที่พาผมเข้าไปดูแปลงเพาะกล้ากาแฟ กลางไร่ข้าวโพด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

“ผมว่าอยู่แบบพออยู่กิน ไม่ต้องรวยก็ดีเหมือนกัน รวยแล้วเป็นทุกข์ เห็นทักษิณมั้ย รวยแต่ไม่ได้อยู่บ้าน...”

จริงสิ, บางที... “สิ่งดี ๆ ในชีวิต” คงไม่ใช่วัดกันที่ความร่ำรวยหรือคนรวย แต่สิ่งดี ๆ ในชีวิต อาจเป็นเพียงการใช้ชีวิตอยู่กับความเรียบง่ายธรรมดา อยู่กับธรรมชาติ เรียนรู้และรักษา เฝ้าดูทะนุถนอม ด้วยความรักและความเข้าใจ.

ในสวนบนเนินเขา (4)

23 October, 2007 - 02:54 -- ongart

ความเรียบง่ายมีแรงดึงดูดที่ลี้ลับ
เพราะมันจะฉุดเราไปยังทิศทางตรงกันข้ามกับทิศทาง
ที่คนส่วนใหญ่ในโลกไปกัน
ไปจากการทำตัวให้เด่น ไปจากการสะสม
ไปจากการทะนงหลงตน
และจากการเป็นเป้าสายตาของสาธารณะ
ไปสู่ชีวิตสงบ อ่อนน้อมถ่อมตน กระจ่างใส
ยิ่งกว่าสิ่งใดๆ
ที่วัฒนธรรมบริโภคอย่างฉาบฉวยรู้จักกัน.

                                                                                             มาร์ค เอ.เบิร์ช

จากหนังสือ “ความเงียบ”
จอห์น เลน เขียน, สดใส ขันติวรพงศ์ แปล  

 

picture one

กลับคืนสวนบนเนินเขา,อีกครั้ง
ในเวลาย่ำเย็น ตะวันลับดอยไปนานแล้ว
ชีวิตไม่สนใจกาลเวลา,นกป่ายังคงเริงร่าบนกิ่งไม้
ขนกล้าไม้ลงจากท้ายกระบะรถ
ก้มหยิบจอบที่ซ่อนซุกอยู่ใต้ถุนบ้าน
หอบกระถางดอกไม้วางในตำแหน่งที่เหมาะสม
ขุดหลุมปลูกมะลิ แก้ว ชวนชม โมก หอมหมื่นลี้ ตรงหน้าบ้านที่ยังสร้างไม่เสร็จ
แยกหน่อแยกกอไผ่เลี้ยงลงริมขอบรั้วด้านทิศเหนือเอาไว้กันลมแรง
ทำงานไป หยุดพักไป ปาดเหงื่อกับท่อนแขนเสื้อเปียกชื้นเย็น
หยุดจ้องมองไปเบื้องหน้า...ภูเขายังคงเขียวคราม ลมค่ำยังพัดไหว
เบื้องล่างต่ำลงไป ทุ่งนายังงามงดสดสียอดตองของกล้าข้าว

picture one

เสียงมอเตอร์ไซค์คันเก่าของพ่อไต่เนินเขาดังแว่วมาแต่ไกล
ใช่แล้ว, พ่อมาเอาอาหารอ่อยให้หมูที่เลี้ยงไว้ในคอกเล้าในสวน
ดูสิ, ใบหน้า ดวงตา รอยยิ้มของพ่อวัยเจ็ดสิบกว่า
ยังคงเจิดจ้าฉายแววความหวังและมีเมตตาอยู่อย่างนั้น
อยู่กับความสุข ชีวิตเรียบง่าย ไม่มีพิธีรีตอง
นั่งอยู่บนขอนไม้ หั่นหยวกกล้วยอยู่ใต้ถุนบ้าน
มีหมานอนหมอบอยู่ข้างกายพ่อ
เพียงครู่เดียว ก็หยิบหยวกกล้วยผสมแกลบรำ
คนคนกับน้ำก่อนหิ้วถังไปเทใส่รางอาหารในคอกหมูกินอย่างมูมมาม
แม่ไก่ของเพื่อนบ้านวนเวียนอยู่ใกล้ๆ
และเจ้าหมาก้มกินเศษอาหารที่กระเด็นอยู่รายรอบเล้า
มองกี่ครั้ง กี่ครั้ง,ทุกชีวิตล้วนเป็นบทกวี
ที่เคลื่อนไหวเต้นย่างไปมา

นั่น,ดอกสักขาวโปรยร่วงพราว
ยามสายลมโชยพัดมา
ก่อนฝนมาเยือน.

คิดถึงเธอ... เด็กๆ ตามแนวชายแดน (2)

16 October, 2007 - 02:32 -- ongart

pic1
ที่มาภาพ  www.salweennews.org

pic2
ที่มาภาพ www.sarakadee.com

pic3
ที่มาภาพ www.salweennews.org

กอดกับความเย็นเยียบอยู่อย่างนั้น, กลางป่าเปลี่ยว
อ้อมอกอันบอบบางของเธอมิเคยอบอุ่น
อยู่กับความมืดดำในความรู้สึกหวาดหวั่นพรั่นพรึง, ชีวิต
ความตายเหมือนมิเคยแยกจางห่างกันเลย
โอ. เด็กๆ  ตามแนวชายแดน
ยามใดหนาวฤดูลมแล้งแห้งโหมพัดเข้ามาสู่,
หัวใจเธอนั้นเหมือนจักรับรู้รสสัมผัสชีวิตวิถีที่จำต้องระเหเร่ร่อน
นั่น,คือสัญญาณความขัดแย้งอันเลวร้าย
ที่ซุกซ่อนอยู่ในหลืบเขารอการอุบัติ
เสียงแม่กระซิบบอกพวกเธอเบาๆ
เร็วเข้า, รีบกอบฝุ่นกลบกองฟืนไฟให้ดับมอด
แล้วรีบเร่งเดินทางไกลหนีไปให้ห่างจากแนวชายแดน
บทเพลงสงครามกวาดล้างชนเผ่ากำลังเริ่มต้น, อีกครั้ง
เหมือนดั่งบทเพลงเร่าร้อนที่ร่ำร้องไม่รู้จักจบ
ท่ามกลางเสียงลามเลียปะทุไหม้ของไฟป่า
ผสานเสียงห่ากระสุนปืน ระเบิดก้องในหุบเขา,
เปรี้ยง เปรี้ยง...ปัง ปัง !!!
กี่ชีวิตหมุนคว้างดั่งใบไม้ปลิดปลิวร่วง
แผ่นดินจึงสั่นสะเทือนไปทั่วสองฟากฝั่ง
ทำให้ฉันคิดถึงเธอ…
เด็กๆ ตามแนวชายแดน.

 

หมายเหตุ : บทกวีชิ้นนี้เขียนไว้นานแล้ว เมื่อครั้งยังทำงานอยู่ตามแนวชายแดนแถบ อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ หยิบมาอ่านอีกครั้งๆ...เหตุการณ์เหล่านี้ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง.

ในสวนบนเนินเขา (3)

2 October, 2007 - 02:42 -- ongart

 

pic01

 

“การถอยออกไปจากสนามรบของชีวิต
ทำงานเงียบๆ ด้วยเป้าหมายที่สร้างสรรค์
คือคำตอบหนึ่งต่อคำถามที่ว่า
จะอยู่อย่างไรในสถานการณ์ที่ทุกอย่างกำลังพังทลาย”

จากหนังสือ “ความเงียบ”
จอห์น เลน เขียน, สดใส ขันติวรพงศ์ แปล

ผมไม่รู้ว่า สวนของผมนั้นกลายเป็นสวนผสมผสานตั้งแต่เมื่อไหร่...

แต่ผมรู้ว่า พักหลังมานี่ เมื่อเดินทางกลับบ้านไปสวนทีไร ผมมักติดกล้าไม้เข้าไปในสวนเกือบทุกครั้ง ไม่อย่างก็สองอย่าง แวะซื้อมาจากกาดคำเที่ยง บ้างได้มาจากเพื่อนๆ พี่ๆ ที่มอบให้มา พอไปถึง ก็ลงมือขุดหลุม เอาเศษฟางเศษหญ้าลงคลุกกับเนื้อดิน หย่อนต้นไม้ต้นเล็กลงไป กลบดิน รดน้ำให้ชุ่ม หรือรอให้น้ำฟ้าหล่นรดให้ฉ่ำชื้นเอง แล้วก็รอการผลิบานของต้นไม้

มาถึงตอนนี้ สวนบนเนินเขาของผมมีต้นไม้ในสวนไม่ต่ำกว่ายี่สิบชนิดในเนื้อที่ไม่กี่ไร่

เมื่อยามตะวันเริ่มอ่อนแสงค่อยหย่อนตัวลับดอยหลวงเชียงดาวทางทิศตะวันตก ผมชอบเดินย่ำไปในสวนยามเย็น สัมผัส ลูบคลำต้นไม้ในสวนไปช้าๆ ทีละต้นๆ พบว่ามีต้นไม้อยู่หลากหลายไล่มาตั้งแต่มะม่วง ลำไย มะพร้าว กะท้อน ขนุน มะยงชิด ฝรั่ง  พุทรา ไผ่ กล้วย มังคุด เงาะ อะโวคาโด มะไฟ มะเฟือง ชมพู่ มะละกอ มะเกี๋ยง มะม่วงหิมพานต์ สะตอ แค ชะอม ฯลฯ
เป็นภาพที่งดงามและเป็นสุข เมื่อมองเห็นทุกๆ เนื้อที่ของสวนเล็กๆ ถูกเบียดเสียดด้วยกล้าไม้ ปลูกแทรกกันไปมาอยู่อย่างนั้น

ยิ่งยามมองเห็นกล้าถั่วแป๋ที่พ่ออนุญาตให้คนชนเผ่าลาหู่เข้ามาปลูก เริ่มงอกงามชูช่อสดเขียว รอการเลื้อยคลุมไปทั่วผืนดินและสวน ยิ่งดูว่าทุกอย่างช่างกลมกลืนกันไปหมด

 

pic02

 

 

pic03

 

ในขณะที่สวนของชาวบ้านส่วนใหญ่ จะพากันลงไม้ผลเศรษฐกิจอย่างใดอย่างหนึ่งลงไปจนเต็มสวนของพวกเขา เมื่อนั่งอยู่บนเนินเขา ทอดสายตามองออกไปยังอีกเนินเขาอีกฟากฝั่งหนึ่ง จะมองเห็นสวนส้ม สวนลำไย สวนส้มโอ ยืนต้น เข้าแถว เรียงรายเป็นแถวลึกจากตีนดอยเข้าไปจนจรดแนวป่า

ใช่ ดินแถวหมู่บ้านของผม เป็นดินร่วนปนหิน จึงเหมาะกับการปลูกไม้ผล ปลูกอะไรก็ขึ้นงามไปหมด โดยเฉพาะพื้นที่บนเนินเขา คนแถวนี้มักจะปลูกลำไยกันเยอะ กระทั่งเริ่มมีการปลูกส้มเขียวหวาน กันเป็นทิวแถว

แต่ก็นั่นแหละ ดินดำ น้ำชุ่ม ปลูกแล้วได้ผลมากเพียงใด หากชาวบ้านมุ่งหวังปลูกไว้เพื่อขาย ก็ไม่อาจประสบความสำเร็จได้ เมื่อราคาลำไย ส้มเขียวหวาน ต่ำลงๆ อย่างเห็นได้ชัด

ยกตัวอย่าง ราคาลำไย ตอนนี้ เกรด AA ราคาอยู่ที่ 8-10 บาทต่อกิโล ต่ำสุดอยู่ที่ 4- 5 บาทต่อกิโล

เห็นชาวสวนก้มหน้าก้มตาเก็บลำไย เด็ดเคว็ดลำไยใส่ลังทีละเม็ดๆ แล้ว รู้สึกเศร้า

“ราคาร่วงลงมาขนาดนี้ ไม่ต้องพูดถึงเรื่องกำไร และไม่ต้องพูดเรื่องค่าแรงตัวเองที่ลงทุนลงแรงไปในแต่ละวันหรอก” เสียงชาวสวนลำไยบ่นครวญ

ทำให้นึกไปถึงคำแนะนำของ อ.ดีพร้อม ไชยวงศ์เกียรติ ที่เขียนบทความเกี่ยวกับลำไย ไว้ใน นสพ.เดลินิวส์  ฉบับวันที่ 11 กันยายนที่ผ่านมา

“...ลำไยเป็นไม้ผลที่ให้ผลผลิตล้นตลาดตามฤดูกาล ไทยขาดผู้บริหารจัดการที่จะทำให้ชาวสวนขายผลลำไยออกจากสวนในราคาที่ดีได้  เป็นอย่างนี้มาหลายปีต่อเนื่องกัน  ชาวสวนจึงยากจนลง  สมควรคิดหารายได้ทางอื่นมาเสริมรายได้จากการผลลำไย เช่น การเพาะเห็ดห้าและการค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนสวนลำไยให้เป็นไร่นาสวนผสม หรือทำเกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรพอเพียง  ซึ่งทำได้หลายทาง เช่น  ปลูกไผ่  กล้วย  พืชสวนครัว ทดแทนลำไย ปีละ 5-10%  ทำไปเรื่อยๆ ทุกปี จนกว่าราคาลำไยที่ขายออกจากสวนจะดีขึ้น...”

และทำให้นึกถึงแฟนผู้อ่านคอลัมน์ของผมอีกท่านหนึ่ง...ชื่อคุณพิชญ์ตะวัน ที่ส่งข่าวเรื่องพืชเรื่องสวนมาให้ผมเมื่อสัปดาห์ก่อน

“...มีข่าวดีจะบอก หากคุณภูอยากปลูกพืชหลายเชิง ไม่ใช่เชิงเดี่ยวที่ไร่ ขอให้พิจารณา มะละกอ(ตระกูลแขกทั้งหลายราคาดีม๊าก มาก) ช่วงก่อนที่สวนตัดขายราคามะละกอดิบ อยู่ที่ 6 บาท/ กิโล หากสุก แม่ค้ารับ 12-14 บาท/กิโล ตอนนี้ราคาลงมาบ้างอยู่ที่ 4 บาท/กิโลแต่สุกรับที่ราคาม 8-10 บาท/กิโล”

“แต่บ่ต้องกังวล เพราะมะละกอ ทิ้งไว้อยู่กับต้นได้นาน รอราคาขึ้นมาค่อยดัดขายก็ได้แหล่งขายเมล์สอบถามได้เน้อ...”

คุณพิชญ์ตะวัน ยังแนะนำอีกว่า หากอยากปลูกพืชยืนต้นที่อยู่โยงคงกระพันให้ปลูกมะขามเปรี้ยวยักษ์..มีแหล่งรับซื้อไม่อั้น ราคาประกันอยู่ที่ 12บาท/กิโล

“ฝากข่าวมาบอก เล่าสู่กันฟังเผื่อสนใจ๋...”

เออสินะ...น่าสนใจดีครับ และไม่น่าเชื่อว่า พืชสวนอย่างมะละกอ มะขาม ที่หลายคนไม่ค่อยสนใจหรือมักมองข้ามไป กลับมีราคาดีกว่าราคาลำไยที่ต้องคอยประคบประหงม ลงทุนลงแรงดูแลอยู่ตลอดเวลา

ผมกลับไปสวนครั้งล่าสุด, หลานชายที่ทำงานโครงการลุ่มน้ำปิงตอนบน ขนกล้ามะขามเปรี้ยวเกือบสองร้อยต้น มาให้ถึงในสวน บอกว่า เพิ่งไปติดต่อขอรับกล้ามะขามที่เจ้าหน้าที่เพาะเอาไว้ที่อำเภอพร้าว ผมตั้งใจไว้ว่า วันใดฝนตกซึงติดต่อกันอีกหน จะรีบกลับไปปลูกมะขาม กับไผ่ตง ตามแนวรั้วรอบๆ สวน

มาถึงตอนนี้ ผมไม่รู้ว่า สวนของผมนั้นกลายเป็นสวนผสมผสานตั้งแต่เมื่อไหร่...
แต่ผมรู้และเริ่มเห็นอะไรบางอย่างชัดเจนมากขึ้นในชีวิต เมื่อพลิกกลับไปอ่านถ้อยคำของ จอห์น เลน อีกครั้ง...

“การถอยออกไปจากสนามรบของชีวิต ทำงานเงียบๆ ด้วยเป้าหมายที่สร้างสรรค์ คือคำตอบหนึ่งต่อคำถามที่ว่า จะอยู่อย่างไรในสถานการณ์ที่ทุกอย่างกำลังพังทลาย”   

หมายเหตุ : งานเขียนชุดนี้เคยตีพิมพ์ใน “พลเมืองเหนือรายสัปดาห์” ผู้เขียนขออนุญาตนำมาลงในประชาไท,อีกครั้ง.

ในสวนบนเนินเขา (2)

25 September, 2007 - 07:45 -- ongart

 

ongart_20070925_01.jpg

 

 

“...เมื่อมนุษย์จมอยู่กับฝูงชนที่ขาดความเป็นมนุษย์
ถูกผลักไปมาอย่างอัตโนมัติไปตามแรงเหวี่ยง
บุคคลนั้นก็สูญเสียความเป็นมนุษย์ที่แท้

สูญเสียคุณธรรม หมดความสามารถที่จะรัก

และศักยภาพที่จะกำหนดตนเอง
เมื่อสังคมประกอบด้วยผู้คนที่ไม่รู้จักความวิเวกภายใน
สังคมนั้นก็ไม่อาจรวมกันได้ด้วยความรัก
แต่อยู่ได้ด้วยอำนาจครอบงำและความรุนแรง...”


ถ้อยคำของ “โทมัส เมอร์ตัน”
คัดมาจากหนังสือ “ความเงียบ”
จอห์น เลน เขียน, สดใส ขันติวรพงศ์ แปล

สวนบนเนินเขาเหนือหมู่บ้านเกิดของผม ตั้งอยู่ในเนื้อที่สี่เหลี่ยมผืนผ้า มีความกว้างและยาวราวสี่ห้าไร่
ก่อนหน้านั้นส่วนหนึ่งด้านล่างเป็นสวนลำไยประมาณสามไร่ของเพื่อนบ้าน ก่อนเขาจะถามขายให้ในราคาไม่กี่หมื่นบาทเมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมา หลังจากนั้น ผมค่อยขยับขยายหักร้างถางพงป่าไผ่ที่ทอดทมึนขึ้นไปบนเนินเขา จนกลายเป็นเนื้อที่เดียวกัน

ครับ, เป็นสวนแห่งความหวัง สวนแห่งชีวิตและความอยู่รอดของผม ที่ต้องการอาศัยอยู่ในยุคสังคมที่เร็วและเร่งเช่นนี้

ongart_20070925_02.jpg

ครั้งหนึ่ง...อาปุ๊ “ ’รงค์ วงษ์สวรรค์” ศิลปินแห่งชาติ ผู้ใหญ่อีกท่านหนึ่งที่ผมเคารพนับถือ...ที่พาชีวิตครอบครัวไปพำนักอยู่ในสวนทูนอิน ในเขต ต.โป่งแยง อ.แม่ริม เอ่ยถามผมว่า สวนที่บ้านมีเนื้อที่เท่าไร ผมบอกว่า ประมาณสี่ห้าไร่

“เฮ้ย...สี่ห้าไร่ไม่ใช่น้อยๆ นะ ถ้าเรารู้จักตกแต่งสวน ตกแต่งป่า...” นั่นคือถ้อยคำบอกเล่าของพญาอินทรีแห่งวรรณกรรมบอกย้ำในค่ำคืนนั้น

จริงสินะ, หะแรกผมเคยคิดว่ามันดูเหมือนกีดแคบ ยังไม่พอ แต่พอนานเข้าจึงรู้ใช่, ว่ามันไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ไม่มากไม่น้อย สำหรับคนๆ คนหนึ่งกับวันเวลาช่วงหนึ่งในชีวิตที่มาอาศัยอยู่ในโลกใบนี้

และคนทำสวนทำไร่จะรู้ว่ามันกว้างใหญ่ก็ในช่วงฤดูฝนนี่แหละ เมื่อฝนหล่นพรำ เนื้อดินชุ่มฉ่ำ แดดฟาด หญ้าก็แทรกแตกหน่อ ม้วนคลี่ ผลิบาน ชูช่อใบ เหยียดร่างชะลูดสูง ขึ้นรกเรื้อปกคลุมไปทั่ว จนต้องแผ้วถางกันไม่หวาดไม่ไหว

มาถึงตอนนี้ ทำให้พลอยนึกไปถึงวิธีแก้ปัญหาหญ้ารกปกคลุมสวนของคนขี้เกียจอย่างผม...

จำได้ว่าตอนเป็นครูดอย ผมเคยขอเมล็ดถั่วพันธุ์พื้นเมืองของพี่น้องชนเผ่าลีซูจากบ้านฟ้าสวย หลังดอยหลวงเชียงดาว มาหนึ่งถุงใหญ่ เป็นเมล็ดถั่วตระกูลคล้ายๆ ถั่วแปบบ้านเรา แต่ที่น่าสนใจของถั่วพันธุ์นี้ก็คือ วิธีเพาะปลูกถั่วชนิดนี้ ง่ายและไม่ต้องลงแรงอะไรมากเลย เพียงแค่กำเมล็ดโปรยหว่านไปทั่วผืนดินผืนนั้น หลังจากน้ำฟ้าหล่นโปรยลงมาอย่างต่อเนื่อง จนเนื้อดินนุ่มชุ่มพื้น หว่านไปรอบๆ โคนต้นลำไย มะม่วงที่ปลูกเสริมเป็นแนวยาวจากทิศตะวันออกจรดรั้วทางทิศตะวันตก

เพียงเท่านั้น เพียงข้ามวันผ่านคืนไปไม่นาน เมล็ดถั่วก็งอกติดดิน ก่อนแตกใบ ทอดยาวเลื้อยคลุมผืนดินจนดูเขียวสดไปทั่ว แน่นอนว่า นอกจากจะได้เมล็ดถั่วเอาไว้เป็นเชื้อเป็นเมล็ดพันธุ์ต่อไปแล้ว ต้นถั่วที่ขึ้นเลื้อยปกคลุมไปทั่วผืนดินแปลงนี้ ก็ช่วยคลุมหน้าดินไม่ให้มีหญ้า วัชพืชอื่นได้มีโอกาสขึ้นรกปกคลุมเหมือนแต่ก่อนอีกเลย

ครั้นเมื่อเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์แล้ว ผมก็ปล่อยให้ต้นถั่วเหล่านั้นแห้งตายกลายเป็นปุ๋ยทับถมพื้นดินในสวนนั้น เมื่อฝนแรกของฤดูกาลใหม่มาเยือน

แต่นั่นมันก็นานมาแล้ว, หลังจากที่ผมพาตัวเองลงจากดอย มาทำงานในเมืองใหญ่ สวนในชีวิตของผมก็ดูเหมือนรกร้าง ไร้คนเอาใจใส่ มะม่วง ลำไย ที่ปลูกเอาไว้ก็โตขึ้นโดยลำพัง นานและนานเหลือเกิน ที่ผมปล่อยให้มันเป็นอยู่อย่างนั้น ไม่เคยนึกถึงและเอาใจใส่ คอยใส่ปุ๋ย รดน้ำ พรวนดินเหมือนแต่ก่อน

เหมือนกับชีวิตตัวเอง...

จากที่เคยใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติมาตลอดเวลา แต่ต้องมาอยู่กับเมือง เทคโนโลยี การงานที่เร็วและเร่งอย่างนี้ ทำให้ชีวิตผมดูเหมือนกำลังถูกผูกติดกับอะไรบางอย่าง

บางครั้งเหมือนกับมีสิ่งดึงดูด บางครั้งดูเหมือนมีบางอย่างกระชากให้เหวี่ยงไปตามถนนของความต้องการ กระทั่งคล้ายกับว่า ตัวเราไม่แตกต่างกับเครื่องจักรกล ที่ไหลเลื่อนเคลื่อนไปตามฟันเฟืองของสังคมแห่งทุนและเทคโนโลยี

จึงไม่แปลกเลยว่า หลังจากผมพาตัวเองมาใช้ชีวิตอยู่ในเมืองเพียงไม่กี่ปี ผมรู้สึกได้เลยว่า “ชีวิตชำรุด” ถึงขั้นต้องเข้าโรงพยาบาลซ่อมร่างกายหลายต่อหลายครั้ง

จึงไม่แปลกเลย ที่ “จอห์น เลน” บอกเล่าเอาไว้ในหนังสือ “ความเงียบ” ว่า...

“...คนหนุ่มสาวส่วนใหญ่ผู้แสวงหาชีวิตที่เร่งเร็ว ชอบที่จะอยู่ในเมืองใหญ่ พวกเขาไม่ชอบการคิดใคร่ครวญ สนองความสุขทางผัสสะอย่างเท่าที่จะทำได้ วินัยในตน ความสุขุมรอบคอบ ความอ่อนน้อมถ่อมตน และความสำรวมถูกทำให้สลบไสลไปหมดแล้ว พวกเขาชอบดนตรีอึกทึกมากว่าความเงียบ ชอบความรุนแรงมากกว่าความสงบ…”

“...ความสำเร็จในชีวิต ไม่ได้อยู่ที่การแสวงหาทรัพย์สิน แต่อยู่ที่การมีสุขภาพดี ชีวิตเป็นอิสระ สามารถใช้ผัสสะและจินตนาการได้อย่างเสรี...”

อาจเป็นด้วยเหตุนี้กระมัง ที่ทำให้ผมโหยหาและอยากกลับคืนไปสู่ความเงียบ ใน “สวนแห่งชีวิต” บ่อยครั้ง.

หมายเหตุ : งานเขียนชุดนี้เคยตีพิมพ์ใน “พลเมืองเหนือรายสัปดาห์” ผู้เขียนขออนุญาตนำมาลงในประชาไท,อีกครั้ง.

Pages

Subscribe to RSS - บล็อกของ ongart