Skip to main content

การปรับทัศนคติ: คําสวยหรูที่ใช้โดยเผด็จการทหาร คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ในการจัดการกับผู้ที่มีอิทธิพลทางความคิดที่แสดงความเห็นไม่ยอมรับรัฐประหาร หรือตั้งคําถามถึงความชอบธรรม หรือความไร้ความชอบธรรมของการก่อรัฐประหารยึดอํานาจฉีกรัฐธรรมนูญ

กระบวนการ ‘ปรับทัศนคติ’ มีตั้งแต่การพูดจาขอ ‘ความร่วมมือ’ และ ‘ความเข้าใจ’ อย่างสุภาพระหว่างถูก ‘เชิญ’ แบบไม่มีทางปฏิเสธไปกักตัวอยู่ในค่ายทหารที่มีบรรยากาศคล้ายที่พักตากอากาศถูกๆ ถึงเจ็ดวัน [1] แต่หาก ‘ทัศนคติ’ ยังไม่เปลี่ยนก็จะมีการเชิญไป ‘ปรับทัศนคติ’ อีกโดยปิดตาพาไปขังในที่ลับนอกเมืองหลวงอย่างที่ผู้เขียนเพิ่งประสบมาระหว่างวันอาทิตย์ที่ 13 ถึงวันอังคารที่ 15 กันยายน 2558

ประมาณเที่ยงครึ่งของวันเสาร์ที่ 12 กันยายน 2558 อดีตภรรยาได้โทรฯแจ้งว่า มีทหารสองนายมาที่บ้านเพื่อหาตัวผม เธอบอกให้ไปดูที่สํานักงานหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ปรากฏว่าทหารก็ได้ไปที่ทํางานแต่ผมไม่อยู่ พอวันรุ่งขึ้นคือวันอาทิตย์ที่ 13 กันยายน เวลาประมาณ 9.35 น. ทหารยศพันโทได้โทรฯ มาบอกให้ผมโทรฯ ไปหาพันเอกนายหนึ่งเมื่อผมโทรฯไปพันเอกคนนี้ก็บอกให้ผมไปรายงานตัวที่กองทัพภาคที่หนึ่งในเวลา 11.00 น. ผมบอกผมคงเคลียร์งานไม่เสร็จจึงขอเลื่อนเป็น 14.00 น. ซึ่งทาง คสช. ก็ยอม

ห้องกักตัว

หลังจากนั้นผมถูกชายสี่คนที่ไม่สวมใส่ชุดทหารแต่สวมผ้าปิดจมูกและปากใช้ผ้าสองชั้นปิดตาผมในรถตู้ที่มองจากข้างนอกไม่ออกว่าเป็นรถของทหารหรือของทางการเพื่อนําผมโดยสารออกจากกรุงเทพฯ เป็นเวลาประมาณชั่วโมงครึ่งผมก็ถูกนํา ตัวออกจากรถ และพาเดินทั้งๆ ที่มีผ้าปิดตาอยู่เข้าไปในห้องขัง
พอผ้าพันตาถูกปลดออกและแสงนีออนคู่บนเพดานแยงตาสักพักจนปรับตัวได้ ผมก็พบว่าตนเองอยู่ในห้องขนาดพื้นที่ประมาณ 4 คูณ 4 เมตร [2] ที่หน้าต่างไม้เก่าๆ สามบานถูกปิดสนิทไม่เห็นเดือนเห็นตะวันและมีลูกกรงเหล็กติดทับอีกที ในห้องมีกล้องวงจรปิด ส่องลงมาจากมุมบนซ้ายของเพดาน มีเครื่องปรับอากาศแบบตั้งพื้นที่ไม่ระบายอากาศแถม

ทํางานไม่ปกติเพราะไม่สามารถปรับอุณหภูมิให้ต่ำกว่า 29 องศาเซลเซียสได้ซึ่งกลับเพิ่มความชื้นในห้องที่อากาศไม่ถ่ายเท ผมจึงแทบหายใจไม่ออกและตัดสินใจปิดเครื่องปรับอากาศ ท้ายห้องขังมีห้องน้ำเล็กๆ ที่มีส้วมและฝักบัวในตัว กําแพงด้านหนึ่งของห้องน้ำ มีอิฐบล็อกแบบมีช่องระบายอากาศเล็กๆ ในระนาบสูงประมาณหกเจ็ดก้อน อย่างไรก็ตาม ช่องที่อากาศควรจะได้ถ่ายเทกลับถูกปิดทับด้วยกระดาษสีน้ำตาลอ่อนจากภายนอกอีกที ในห้องมีทีวีเก่าๆ เครื่องหนึ่งที่รับภาพเบลอๆ ได้จากสองสถานีคือไทยพีบีเอสและช่องสาม มีเตียงเหล็กแบบทหารมีผ้าปูขาวสะอาดพร้อมหมอนสองใบแต่ไม่มีผ้าห่ม มีโต๊ะหนึ่งตัวพร้อมน้ำขวดขนาดเล็กที่ไม่เย็นจํานวนหนึ่งและมีพัดลมหมุนได้ติดบนเพดานหนึ่งตัว ผู้คุมที่ยืนอยู่พร้อมลูกน้องสองคนบอกผมว่าพรุ่งนี้จะมีคนมาบอกว่าจะมีโปรแกรมอะไรบ้าง และหากต้องการอะไรก็ให้เคาะประตูเรียกคนสองคนที่มีผ้าปิดปากปิดจมูก

ตอนนั้นเป็นเวลาประมาณ 5 ทุ่ม ผมเหนื่อยล้าจากการต้องตอบข้อซักถามเป็นเวลากว่าหกชั่วโมงในค่ายทหารที่กรุงเทพฯจึงรีบอาบน้ำ ปิดไฟและพยายามนอนแต่ก็นอนไม่หลับจนกระทั่งรุ่งสาง

การปฏิบัติจาก คสช.

ชายสี่คนที่คาดว่าเป็นทหารชั้นผู้น้อยนอกเครื่องแบบที่สวมผ้าปิดจมูกและปากตลอดเวลาเพื่อให้ผมจำใบหน้ามิได้สลับเวร ‘ดูแล’ โดยการส่งอาหารและน้ำดื่มเข้ามาในห้องขังจะผลัดเวรผลัดละสองคน น้ำเสียงของพวกเขาแข็งกระด้าง ต่างจากทหารระดับกลางและสูงจำนวนหนึ่งที่พูดจาด้วยความสุภาพกับผม ไม่นานคําว่า ‘ครับ’ จาก ‘ผู้คุม’ ที่สวมผ้าปิดปากและจมูกก็หายไป พวกเขาจะไม่พูดเกินกว่าที่จําเป็น

ตอนเช้าของวันรุ่งขึ้น (วันจันทร์ที่ 14 กันยายน 2558) หลังผมได้รับกล่องอาหารเช้าแล้วพยายามกลืนอาหารลงคอสี่ห้าคําและอาบน้ำ ผมได้เคาะประตูขอร้องให้ผู้คุมพาผมออกไปสูดอากาศบริสุทธิ์เพราะระดับออกซิเจนในห้องเล็กๆ ที่อากาศไม่ถ่ายเทนั้นเหลือน้อยเต็มที โดยผมบอกผู้คุมด้วยว่าผมเพิ่งได้รับการตรวจวัดความดันโดยแพทย์ทหารตอนมารายงานตัวเมื่อบ่ายวานและพบว่าความดันผมสูงผิดปกติค่อนข้างมาก ในที่สุดผู้คุมก็ยอมให้ผมออกไปสูดหายใจลึกๆ นอกห้องเป็นเวลาประมาณ 20 นาที แต่พวกเขาบอกให้ผมนั่งหันหน้าเข้าหาห้องน้ำที่อยู่ท้ายห้องก่อน แล้วเดินมาปิดตาผมด้วยที่ปิดตาและผ้าอีกสองชั้นก่อนจะพาผมออกไปนั่งข้างนอกห้องตรงจุดที่ห่างจากห้องเพียงไม่กี่ก้าว ผมรับทราบได้จากเสียง พื้นและคุณภาพอากาศว่าผมยังอยู่ภายในอาคาร ผมได้ขอให้ผู้คุมเปิดประตูค้างไว้ด้วยเพื่อให้อากาศในห้องขังถ่ายเท

หลังจากที่ขอให้ตนได้ไปสูดอากาศบริสุทธิ์นอกห้องขังทุกสองสามชั่วโมงเป็นครั้งที่สามหรือสี่ ผู้คุมคนหนึ่งก็บ่นว่าผม “เรื่องมากจริงๆ” ผมจึงตอบไปทั้งๆ ที่นั่งมีผ้าปิดตาอยู่ว่าผมเพียงแค่ขออากาศบริสุทธิ์หายใจ มิได้ขออะไรมากไปกว่านั้นอย่างเช่นขอโค้กเลย

เวลาผ่านไปกว่า 20 ชั่วโมงโดยปราศจากการพูดคุยฉันมนุษย์กับผู้อื่นและโดยไม่มีผู้ใดมาบอกว่าจะมีโปรแกรมอะไร ก็มีชายคนหนึ่งใส่เสื้อคอกลมสีแดงเปิดประตูที่ล็อกจากข้างนอกเข้ามาพร้อมแนะนำตัวว่าเป็นนายทหารยศพันโทแต่ไม่ยอมบอกชื่อ ตอนแรกทหารผู้นี้พูดจาดีเป็นกันเอง และบอกว่าเขามาเยี่ยมเยียนเพื่อดูว่าผมเป็นอย่างไรบ้าง เราคุยกันเรื่องข้อดีข้อเสียของทักษิณ (ป.ล. ผมบอกว่าผมไม่ใช่เสื้อแดงหรือแฟนคลับทักษิณ) เรื่อง ‘ความจำเป็น’ ในการทำรัฐประหาร เรื่องความเกลียดชังระหว่างสีเสื้อเป็นเวลาประมาณสองชั่วโมงนายพันที่สวมสร้อยทองเส้นโตก็ถามผมว่ามีอะไรที่เขาพอจะช่วยจัดหาให้ได้ไหม ผมหยิบกระดาษมาหนึ่งแผ่นและเขียนสิ่งที่ขอลงไปห้ารายการรวมถึงแชมพู สบู่ และผงซักฟอกพร้อมยื่นเงินให้เป็นธนบัตร 100 บาท

สองรายการแรกที่ขอไป ได้แก่ (1) ขอแสงอาทิตย์ และ (2) ขออากาศบริสุทธิ์ ข้อสองนั้นผู้พันจัดให้โดยยอมเปิดประตูห้องขังให้อากาศถ่ายเท ทว่า ให้ผมหันหน้าเข้าหาห้องระหว่างเราคุยกันต่อเพื่อจะได้ไม่เห็นว่ามีอะไรนอกห้อง แต่ข้อขอร้องข้อแรกมิได้รับการตอบสนอง

การพยายามออกกําลังกายในห้องขังประกอบด้วยการก้าวทางยาวสี่ก้าว หันขวาสองก้าวแล้วก็เดินเป็นทางยาวอีกสี่ก้าว วนไปวนมาเช่นนี้ ทํา ให้ออกซิเจนในห้องอันน้อยนิดยิ่งลดน้อยลงเร็วขึ้นไปอีกจนต้องหยุดเดินจงกรม ผมได้แต่บอกตนเองว่าชีวิตคนเรานั้นสั้นนัก แม้ความยากลําบากและความทรมานที่เผชิญก็ไม่น่าจะนานเกินไปเช่นกัน

กําลังใจผมดีขึ้นตอนห้าโมงเย็นของวันที่สองหลังจากเห็นข่าวไทยพีบีเอสรายงานการควบคุมตัวผมโดย คสช.และการเรียกร้องให้ปล่อยตัวผมโดยทันทีจากสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย [3] ฯลฯ

สิ่งที่ผมเหลือบเห็นระหว่างการจองจํา

ระหว่างที่ผมถูกคุมขังในห้อง ผู้คุมจะเปิดประตูแง้มแคบๆ เอาน้ำ เอาอาหารมาให้ตามมื้อ มีครั้งหนึ่งตอนประตูถูกแง้มเปิดผมเหลือบเห็นบริเวณห้องโถงที่เป็นทางยาวและเห็นธงชาติปักเป็นมุม 45 องศาอยู่นอกอาคาร นี่เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ผมรู้สึกละอายที่เห็นธงชาติและนึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวผมในนามของรัฐไทย

การสอบสวน

ผมยอมรับตั้งแต่ไป ‘รายงานตัว’ ที่กองทัพภาคที่หนึ่งเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2558 แล้วว่าผมเป็นคนทวีตเป็นภาษาไทยและอังกฤษทํานองตั้งคําถามในมุมมองส่วนตัวว่า ยศพลเอกของประยุทธ์ยังคงอยู่หรือไม่ในเมื่อประยุทธ์เป็นผู้ก่อรัฐประหาร และได้เซ็นยืนยันว่าข้อความเป็นจริง แต่มิได้ขอโทษเพราะยืนยันความเห็นเรื่องการรักษาประชาธิปไตยว่า ทหารนั้นมีหน้าที่ต้องปกป้องรัฐธรรมนูญมิใช่ฉีกรัฐธรรมนูญเสียเอง

พอถูกพาไปยังสถานที่สอบปากคําครั้งที่สองในกองพันทหารราบแห่งหนึ่งในเขตดุสิต ทหารยศระดับพันโท พันเอก ฯลฯ ประมาณ 6 นายก็ดูเหมือนอยากจะรู้เกี่ยวกับตัวผมไปทุกเรื่อง พวกเขาอยากทราบว่าผมเรียนจบที่ไหน ทํางานตําแหน่งอะไรที่ไหน พวกเขาอยากรู้ที่อยู่ปัจจุบัน พื้นเพทางบ้าน พ่อแม่พี่น้องชื่ออะไร เป็นใคร ทํางานอะไร เบอร์โทรศัพท์พวกเขาเบอร์อะไร อยากรู้แม้กระทั่งชื่อเล่นผม ซึ่งผมมิได้บอก (อดคิดมิได้ว่าจะเอาไปใช้โทรฯ หาญาติหาเพื่อนเพื่อให้ฟังดูเนียนขึ้นหรือไม่)

นอกจากนี้พวกเขายังต้องการทราบว่าทําไมผมถึงไม่เอารัฐประหารและต้องการปฏิรูปกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือที่รู้จักกันในอีกชื่อว่า ม.112 หนึ่งในผู้สอบสวนอัดวิดีโอในตอนแรก และพิมพ์คําตอบผมลงในคอมพิวเตอร์ตลอดเวลา มันยิ่งกว่าสอบสัมภาษณ์สมัครงานในองค์กรโหดๆ เสียอีก

พอผมบอกว่าผมไม่ใช่คนเสื้อแดงหรือพวกทักษิณ พวกเขาก็ทําหน้างงๆ และถามผมว่า “แล้วคุณอยู่กลุ่มไหน ?”

นายพันผู้หนึ่งบอกว่าถ้าเป็นยี่สิบสามสิบปีก่อนผมคงเขียนหนังสือพิมพ์แล้วก็มีผู้อ่านเพียงไม่กี่คน และพูดต่อว่าแต่ทุกวันนี้ผมแสดงความเห็นในโซเชียลมีเดียซึ่งอ่อนไหวมาก และเขาถือว่าผมเป็น ‘ผู้นําทางความคิด’ คนหนึ่ง

ผมพบว่ามีทหารอย่างน้อย 2 นายเฝ้าดูความเห็นที่ผมแสดงออกในโซเชียลมีเดีย

ผมบอกว่าผมมิได้อยู่กลุ่มไหนเลย เป็นแค่ปลาซิวปลาสร้อย ขอให้คสช.อย่าวิตกจริตและให้ใช้อํานาจที่อยู่ในมืออย่างระมัดระวัง พร้อมกับบอกว่าโลกมิได้มีเพียงสองฝ่ายขาวดํา ทั้งย้ำว่าทุกอย่างที่พวกเขาถามผม ผมสามารถอธิบายเป็นเหตุเป็นผลได้ ผมยังได้บอกบรรดานายทหารที่สอบสวนผมด้วยว่าแม้ คสช. มีอํานาจเบ็ดเสร็จแต่ก็มิอาจนําพาสังคมไทยย้อนกลับไปสู่ยุคเผด็จการเมื่อหลายสิบปีที่แล้วอย่างยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้ เพราะโลกเปลี่ยนไปมาก ประเทศต่างๆ เชื่อมโยงพึ่งพากันและแม้แต่ความคาดหวังของคนไทยว่าเผด็จการทหารควรเป็นอย่างไร ทําอะไรได้บ้างไม่ได้บ้าง ก็ไม่เหมือนในอดีต

ผู้เขียนถูกถามเรื่องนิติราษฎร์ ผมบอกว่าผมมิใช่แฟนคลับกลุ่มนิติราษฎร์และมิได้เป็นพวกเดียวกัน ผมยังย้ำว่าผมไม่เห็นด้วยเรื่องการเกิดวัฒนธรรมแฟนคลับ ไม่ว่านิติราษฎร์จะเจตนาหรือไม่ก็ตาม เพราะในสังคมประชาธิปไตย ประชาชนคนคิดวิเคราะห์เอง มิใช่รอคําตอบจากผู้นําทางความคิดหรือผู้เชี่ยวชาญ สังคมที่ประชาชนคิดเองได้คือสังคมที่เข้มแข็ง

ผมยังบอกบรรดาเหล่าทหารว่าช่วยไปอ่านเรื่องทฤษฎีความสลับซับซ้อน (complexity theory) และทฤษฎีผกผัน (chaos theory) ด้วยเพราะหลายอย่างที่พวกเขาทําอาจนํามาซึ่งผลตรงกันข้าม

มีทหารยศพลตรีเดินเข้ามาแล้วเล่าเรื่อง 2 เรื่องให้ฟัง

เรื่องแรกอ้างว่าจักรพรรดิองค์แรกของจีนบอกให้เคารพคน 3 กลุ่ม ได้แก่ เจ้า ชาวนา และทหาร ชาวนาเพราะปลูกข้าวให้กิน ทหารเพราะปกป้องประเทศ

เรื่องที่ 2 คือเหตุการณ์ล่องเรือดินเนอร์บนแม่น้ำเจ้าพระยา นายพลผู้นี้เล่าว่าคืนนั้นเขาพบนักธุรกิจไทยเชื้อสายจีนจํานวนหนึ่งบนเรือ พวกเขากล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นบุญยิ่งที่บรรพบุรุษพวกเขาอพยพมาเมืองไทย ไม่ได้ไปประเทศอย่างเขมรเพราะอาจถูกฆ่า (โดยเขมรแดง)

หกชั่วโมงผ่านไปเป็นเวลาประมาณ 3 ทุ่มครึ่ง พวกทหารที่สอบปากคําผม (รวมถึงพยายามที่จะอธิบายให้ผมฟังว่าทําไมรัฐประหารจึงจําเป็น) ก็บอกลาและพาผมเดินมายังที่จอดรถซึ่งมีรถตู้เก่าๆ ที่ปิดกระจกมืดมิดและมองไม่ออกว่าเป็นของทหารหรือของรัฐรออยู่พร้อมชายฉกรรจ์สี่นายสวมเสื้อซาฟารีแขนสั้นสีดําและมีหน้ากากผ้าปิดปากปิดจมูกทุกคน พอผมเข้าไปในรถ พวกเขาก็ปิดตาผมสองชั้น ชั้นนอกคาดด้วยผ้าขาวม้า และรถก็เดินทางออกนอกเมืองเป็นเวลาชั่วโมงครึ่งก่อนถึงที่คุมขังที่ผมไม่ทราบว่าอยู่ที่ใดโดยไร้คําอธิบายใดๆ ว่าทําไมต้องปฏิบัติกับผมเช่นนี้

ทําไมชายสี่คนจึงสวมหน้ากากผ้าปิดปากและจมูก

ผมได้แต่คาดการณ์ดังนี้

ก) เพื่อมิให้ผมจําหน้าได้
ข) เพื่อให้ผมกลัว
ค) เพื่อลดร่องรอยทาง DNA หากพวกเขาต้องทําอะไรไม่ดี
ง) ถูกทุกข้อ

โทรศัพท์มือถือ

วันแรกก่อนที่ผมเข้าไป ‘รายงานตัว’ ณ กองบัญชาการกองทัพภาคที่ 1 ผมได้ฝากโทรศัพท์มือถือไว้กับเจ้าหน้าที่ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเพื่อความปลอดภัย และนั่นนํามาซึ่งการถกเถียงกับทหาร คสช. ที่ต้องการเช็คว่าผมเป็นคนโพสต์ข้อความในไลน์เกี่ยวกับการแต่งตั้งเลขาสภาความมั่นคงแห่งชาติคนใหม่หรือไม่ ซึ่งผมได้ปฏิเสธ

พวกเขาถามว่าทําไมผมเอาโทรศัพท์มือถือไปฝากไว้กับเจ้าหน้าที่องค์การสหประชาชาติ ผมก็ตอบไปว่าเพราะอํานาจเบ็ดเสร็จภายใต้ ม.44 ไม่อยู่เหนือสหประชาชาติ คําตอบทําให้บรรดานายทหารยิ่งไม่พอใจ ผมบอกผมยินดีแสดงโทรศัพท์ให้ดูเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ใจ หากผมต้องโทรฯ ไปหาเจ้าหน้าที่สหประชาชาติผู้นี้เพื่อนําโทรศัพท์มาแสดง พวกทหารถกเถียงกันสักพักแต่สุดท้ายก็ตัดสินใจไม่ทําอะไรต่อ อาจเป็นเพราะพวกเขาไม่อยากลากยูเอ็นเข้ามาเกี่ยวข้องก็เป็นได้

หลังจากไม่ได้โทรศัพท์ ทหาร คสช. ก็บอกผมว่า คสช. ต้องการตรวจค้นที่พักผม ผมบอกว่าได้ หากทว่าผมต้องมีทนายสิทธิมนุษยชนและเจ้าหน้าที่สหประชาชาติเป็นพยาน พร้อมเจ้าหน้าที่ตํารวจด้วย

“แต่เรามี ม.44” ทหารนายหนึ่งโต้กลับพร้อมบอกว่า คสช. สามารถใช้อํานาจนี้ทําอะไรก็ได้ ผมบอกว่าผมเข้าใจแต่คงไม่สามารถให้ความร่วมได้หากปราศจากทนาย เจ้าหน้าที่ยูเอ็น และตํารวจ

พวกทหารถกเถียงกันเองอย่างเคร่งเครียดอีกสักพักสุดท้ายก็ล้มเลิกความตั้งใจที่จะค้นที่พักผม

‘ขอบคุณ คสช.’?

วันอังคารที่ 15 กันยายน 2558 หลังจากผู้เขียนถูกปิดตานําตัวขึ้นรถตู้อีกชั่วโมงครึ่ง กลับมายังกองทัพภาคที่ 1 นายทหารยศระดับกลางประมาณ 6 นายที่ผมเจอครั้งแรกเมื่อสามวันก่อนก็สวมเครื่องแบบติดยศนั่งรออยู่อย่างเป็นมิตรขึ้น หลังตรวจวัดความดันจากแพทย์ทหารบกเสร็จ ผมก็เดินไปนั่งยังโต๊ะที่มีทหารรออยู่เพื่อเซ็นเอกสารการปล่อยตัว ระหว่างนั้นนายทหารยศประมาณพันเอกนายหนึ่งก็ถามผมว่า “คุณประวิตรไปโพสต์อะไรในเฟซบุ๊กตอน 12.19 น. ของวันนี้หรือ”

ผมงงกับคําถามเพราะผมไม่มีอุปกรณ์สื่อสารใดๆ ติดตัวเลยมาสามวันแล้ว จึงบอกทหารนายนั้นไปว่าน่าจะมีคนแอบอ้างเป็นผม หรือไม่ก็เป็นผู้อื่น

ทหารนายนั้นจึงอ่านข้อความในเฟซบุ๊กที่อ้างว่าผมเขียนให้ทุกคนฟัง: “ผมขอขอบคุณ คสช.... และของดวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการเมืองเศรษฐกิจ...”

ผมบอกว่านั่นไม่ใช่ผมเด็ดขาด มีใครแอบอ้างผมหรือเปล่า นายพันคนนั้นจึงเพ่งดูมือถืออีกทีก่อนบอกว่าเป็นของคุณพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานจากพรรคเพื่อไทย [4] ที่ถูกเรียกมาปรับทัศนคติและถูกปล่อยก่อนผมไปเพียงไม่กี่ชั่วโมง แล้วนายพันผู้นั้นก็อุทานขึ้นด้วยน้ำเสียงอันพึงพอใจว่า “ได้ผล!”

‘เงื่อนไขแนบท้ายการปล่อยตัว’

ก่อนปล่อยตัวจากห้องขังที่มองไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหนและติดต่อใครมิได้ ผมต้องเซ็นเอกสารที่มีข้อความว่า

ข้าพเจ้าได้รับการดูแลเป็นอย่างดี มิได้ถูกทําร้าย หรือมิได้ถูกใช้กําลังบังคับ ขู่เข็ญ หลอกลวง ทรมาน ให้คําสัญญา หรือกระทํา โดยมิชอบด้วยประการใดๆ และทรัพย์สินต่างๆ ที่ข้าพเจ้านําติดตัวมาในระหว่างถูกกักตัวไว้นั้น ข้าพเจ้าได้รับคืนครบถ้วนทั้งหมดแล้ว ซึ่งข้าพเจ้าได้มอบชื่อบุคคลและเบอร์ติดต่อเพื่อติดตามตัวข้าพเจ้าในกรณีต่างๆ ดังนี้...

หน้าสองของเอกสารยังได้ระบุเงื่อนไขสามข้อที่ ‘ขอให้ปฏิบัติตาม’ ว่า

1. ข้าพเจ้าพักอาศัยอยู่บ้านเลขที่... และข้าพเจ้าจะไม่เดินทางออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่ได้รับอนุมัติจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
2. ข้าพเจ้าจะละเว้นการเคลื่อนไหวหรือประชุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ
3.หากข้าพเจ้าฝ่าฝืนเงื่อนไขดังกล่าวหรือดําเนินการช่วยเหลือสนับสนุนกิจกรรมทางการเมือง ข้าพเจ้ายินยอมที่จะถูกดําเนินคดีทันที และยินยอมถูกระงับธุรกรรมทางการเงิน

สตอกโฮล์มซินโดรม [5] ระยะเริ่มแรก

พอผ่านเรื่องความเข้าใจผิดว่าใครเป็นผู้โพสต์ในเฟซบุ๊กกันแน่ บรรดาทหารแจ้งผมว่าอีกสักพักนายของพวกเขาจะมา นายที่ว่านั้นคือ พลเอก อัศวิน แจ่มสุวรรณ หัวหน้าสํานักงานแม่ทัพภาคที่ 1 ผู้ซึ่งผมเคยพบมาแล้วสองครั้งเมื่อกว่า 10 เดือนก่อนหน้านี้ ตอนที่ยังมียศพลโท เพื่อเตือนผมให้ระมัดระวังเรื่องการแสดงความเห็นเกี่ยวกับ ม.112 และสถาบันกษัตริย์ โดยการพบสองครั้งนั้นเป็นการพบนอกสถานที่ของทหาร ครั้งแรกที่ร้านกาแฟสตาร์บัคส์สาขา The Nine ครั้งสองที่ห้องอาหารโรมแรมของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตซึ่งเป็นสถานที่ที่มีบรรยากาศดีกว่าในค่ายทหารมาก

อีกทั้งพลเอกอัศวินยังดูมีการศึกษา พูดภาษาอังกฤษได้ดีพอสมควร แถมแกไม่เคยทําหน้าบึ้ง ไม่พอใจหรือไม่สุภาพใส่ผม ตอนผมพบสองครั้งแรกนายทหารชั้นผู้ใหญ่ผู้นี้ก็มิได้สวมชุดทหารหรือมีลูกน้องพร้อมอาวุธตามมาเป็นพรวน มันมีอะไรบางอย่างในตัวแกที่ทําให้ผมระลึกถึง อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ผู้ซึ่งผมเคารพรักและนับถือจนเพื่อนบางคนล้อว่าสุลักษณ์เปรียบเสมือนพ่อผม (ขอถือโอกาสตรงนี้ขอบคุณ อ.สุลักษณ์และทุกท่านที่ได้ออกมาเรียกร้องให้ปล่อยตัวผมในรอบสองโดยทันที)

สักพักพลเอกอัศวินก็เดินเข้ามาในห้อง และผมก็ลุกเดินไปไหว้และจับมือนายทหารชราที่หน้าตายิ้มแย้มเป็นมิตร (บรรดาลูกน้องของพลเอกอัศวินคงงงว่าทําไมชื่นมื่นเหลือเกิน)

พลเอกอัศวินทักว่าผมดูอ่อนวัยลง ผมแสดงความยินดีที่พลเอกอัศวินได้เลื่อนยศจากพลโทเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา แล้วเขาก็บอกผมว่า

“ตอนนี้นักข่าวไปรอที่ศาลทหารแล้ว ตอนแรกว่าจะฟ้อง [ม.116] ทั้งสามคน [6] [รวมถึงผมที่ถูกควบคุมตัวรอบนี้] แต่กรรมการกลางเปลี่ยนใจนาทีสุดท้าย เราเป็นคนไทยด้วยกัน เอาเป็นว่าครั้งนี้เราไม่ให้ใบแดงแต่ให้ใบชมพู แต่ถ้าทําอีกก็จะดําเนินคดีไปเลย”

ผมถามว่าอายุความคดีนี้กี่ปี นายพันผู้หนึ่งตอบว่า 15 ปี

“15 ปี? ไม่รู้ตอนนั้น คสช.ไปอยู่ไหนแล้ว” ผมเอ่ย

พลเอกอัศวินยังได้เอ่ยถึงสถานที่สองที่และถามว่าผมมีบ้านอยู่แถวนั้นหรือมีกิ๊ก? ผมจึงทราบว่าทาง คสช.ได้ติดตามสัญญาณ GPS ของโทรศัพท์ผมเพื่อดูว่าผมอยู่ที่ใดบ้าง

พลเอกอัศวินย้ำกับผมว่าคงห้ามผมวิจารณ์คสช. ไม่ได้ หลังจากนั้นไม่นานเขาก็ขอตัวและบอกกับผมว่า “ผมหวังว่าเราคงไม่ต้องพบกันอีก”

ป.ล. หลังจากประวิตรได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 15 กันยายน 2558 เขาก็ได้ตัดสินใจลาออกจากหนังสือพิมพ์ The Nation ที่ที่เขาทํางานมา 23 ปี หลังจากผู้บริหารเรียกเข้าพบและขอให้ช่วยลาออกเพื่อลดแรงกดดันจากทั้งภายในและภายนอกบริษัท

.....

 

หมายเหตุ ตีพิมพ์ครั้งแรกใน วารสารฟ้าเดียวกัน ปีที่ 13 ฉบับที่ 2 พฤษภาคม - สิงหาคม 2558 

[1] ผู้เขียนเคยถูกเรียกไปรายงานตัวและถูกคุมขังในค่ายทหารระหว่างวันที่ 25-31 พฤษภาคม 2557 หรือ 3 วันหลังรัฐประหาร ดู ประวิตร โรจนพฤกษ์, “ประสบการณ์กักตัวแบบบิ๊กบราเธอร์ทหารยุค 2014,” บล็อกเส้นเดินทางตัวอักษร, 4 มิถุนายน 2557, http://blogazine.pub/blogs/pravit/post/4815.

[2] หลังได้รับการปล่อยตัวผู้เขียนได้นึกย้อนกลับไปถึงสภาพห้องคุมขัง ได้โพสต์บทกวีลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว

เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2558 ดังนี้

ห้อง 4 คูณ 4 เมตร                      A 4×4 metre room.
ไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน                    With no daylight or sky to see.
มี CCTV เพ่งฉันตลอด                     There was a CCTV starling at me.
แต่ไม่มีอากาศถ่ายเท                     But little air ventilation.
ฉันถูกคุมขังอยู่ 2 คืน                   I was locked up inside for two nights
เพียงเพราะตั้งคําถามเรื่อง                       For merely questioning
ความชอบธรรมของเผด็จการทหาร        the legitimacy of the Thai junta leader.

[3] ดูปฏิกิริยาจากองค์สื่อต่างๆที่ “สมาคมสื่อไทย-เทศ เรียกร้องปล่อยตัว ‘ประวิตร’ ทันที,” ประชาไท, 24 กันยาน 2558, http://www.prachatai.com/journal/2015/09/61388.

[4] ข้อความฉบับเต็มของคุณพิชัย นริพทะพันธุ์ ที่เผยแพร่ทางเฟซบุ๊กส่วนตัว (ชื่อ Pichai Naripthaphan) เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2558 เวลา 14.42 น. คือ

เพื่อไม่ให้ทุกท่านเป็นห่วง ผมขอเรียนว่าผมได้รับการปล่อยตัวออกมาแล้ว ตั้งแต่หลังเที่ยงขอขอบคุณพี่น้องสื่อมวลชนทุกท่านที่กรุณาเสนอข่าวตลอดเวลาที่ผมถูกคุมตัว ผมขอขอบคุณท่านจาตุรนต์ ท่านภูมิธรรม ท่านสุรพงษ์ ท่านกิตติรัตน์ และทุกท่านที่เรียกร้องให้ปล่อยตัวผม รวมถึงฮิวแมนด์ไรซ์วอซ และหน่วยงานอื่นๆโดยในสภาวะการเมืองที่ไม่ปกตินี้ ผมขอไม่ให้สัมภาษณ์ทางเศรษฐกิจและผลของการเมืองที่มีต่อเศรษฐกิจ ผมเชื่อว่าเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ในทุกเรื่องที่ผมได้ให้ข้อคิดไว้ และอีก 10-20 ปี ในอนาคตเราจะสามารถย้อนกลับมามองประวัติศาสตร์ของประเทศไทยในช่วงนี้ได้เป็นอย่างดี และขอให้กําลังใจรัฐบาลให้แก้ไขปัญหาของประเทศได้

[5] สตอกโฮล์มซินโดรมคืออาการผูกพันเห็นอกเห็นใจระหว่างตัวประกันกับคนร้าย

[6] อีก 2 คนคือ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพลังงาน พรรคเพื่อไทย และนายการุณ โหสกุล อดีตส.ส. เพื่อไทย ดู “คสช.ให้โอกาส ‘พิชัย-เก่ง’ รอดศาลทหาร เนชั่นยื่นขอปล่อย ‘ประวิตร’,” ไทยโพสต์ออนไลน์, 15 กันยายน 2558, www.thaipost.net/?q=คสชให้โอกาสพิชัย-เก่งรอดศาลทหาร-เนชั่นยื่นขอปล่อยประวิตร.

 

บล็อกของ ประวิตร โรจนพฤกษ์

ประวิตร โรจนพฤกษ์
หนึ่งในเครื่องมือหลักของการยึดอำนาจของคณะรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 หาใช้อาวุธสงครามเพียงอย่างเดียวไม่ หากรวมถึงการใช้ภาษาที่ก่อให้เกิดความพร่ามัวหรือแม้กระทั่งการมองความจริงแบบที่คณะรัฐประหารหรือที่เรียกตนเองว่า คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ต้องการ
ประวิตร โรจนพฤกษ์
บันทึกนี้ขออุทิศแด่ทุกๆท่านที่รัก เสรีภาพ ความเสมอภาค และประชาธิปไตย 
ประวิตร โรจนพฤกษ์
  เรื่องปัญหาการเซ็นเซอร์ เหมือนเป็นหัวข้อที่ไม่ต้องอธิบายว่าเป็นปัญหาถ่วงความเจริญทางการรับรู้และสติปัญญาของสังคมอย่างไร
ประวิตร โรจนพฤกษ์
ไม่ว่าคุณจะเอา ทักษิณ ยิ่งลักษณ์ หรือไม่ คุณควรออกไปใช้สิทธิวันพรุ่งนี้ เพราะมันได้กลายเป็นการต่อสู้ระหว่างเลือกตั้งกับลากตั้งโดยปริยาย
ประวิตร โรจนพฤกษ์
 วิกฤติการเมืองปัจจุบันอาจทำให้หลายคนหน้ามืดตามัวตกหล่มความเกลียดชัง แต่สำหรับผม ผมถือว่ามันช่วยให้ผมได้คิดและเข้าใจสังคมไทยดีขึ้น
ประวิตร โรจนพฤกษ์
ความหมายของสัญลักษณ์และชื่อกลุ่มต่างๆ เป็นสิ่งที่ดิ้นได้ และในกรณีของการโบกธงชาติ เป่านกหวีดและเรียกขานตนเองของม็อบ กปปส. ว่า 'มวลมหาประชาชน' ก็เช่นกัน
ประวิตร โรจนพฤกษ์
เราทุกคนคงจะต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันท่ามกลางความเห็นที่แตกต่างทางการเมืองอย่างสันติและสร้างสรรค์ เคารพเสียงทุกเสียง ยอมรับเสียงส่วนใหญ่และเคารพรับฟังเสียงส่วนน้อย