Skip to main content

Number 10.5

 

 

ช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา Fabio Capello ผู้จัดการทีมชาติอังกฤษออกมาเป็นข่าวเล็กๆ ด้วยการออกมาเล่นบท “เซ็นเซอร์สื่อ” ประกาศกฎระเบียบของทีมชาติอังกฤษในการตะลุยศึกฟุตบอลโลกในกลางปีนี้ที่ประเทศแอฟริกาใต้ โดยห้ามผู้เล่นในทีมเล่นทวิตเตอร์ (Twitter) เฟซบุ๊ค (Facebook) และห้ามนักเตะเขียนคอลัมน์บทความต่างๆ ลงในวารสารหรือหนังสือพิมพ์ในระหว่างการแข่งขันฟุตบอลโลก

โดย Capello มุ่งหวังว่าทีมชาติอังกฤษจะประสบความสำเร็จในการแข่งขันฟุตบอลโลกหนนี้ จึงต้องเข้มงวดเพื่อให้นักเตะอุทิศตนเพื่อทีมและมีสมาธิกับการแข่งขัน ทั้งนี้สื่อมวลชนคาดหมายกันว่าการออกกฎของ Capello เป็นการป้องกันไม่ให้ข้อมูลของทีมรั่วไหลผ่านไปทางเครือข่ายทางสังคมบนเน็ตอย่างทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ค

ก่อนหน้านี้สโมสรยักษ์ใหญ่อย่าง Manchester United ได้ออกประกาศทางเว็บไซต์ว่าทางสโมสรได้ทำการขอร้องอย่างเป็นทางการว่าจะไม่มีนักเตะของสโมสรนำข้อมูลส่วนตัวไปโพสต์ไว้บนเว็บไซต์เครือข่ายทางสังคม และได้ระบุไปอีกว่าหากแฟนๆ พบกับหน้าเพจใดที่ระบุว่าเป็นการเขียนโดยผู้เล่นของสโมสร ก็โปรดตั้งข้อสงสัยมันไว้ได้ก่อน ซึ่งตามนโยบายนี้ได้ทำให้หน้าเว็บเฟซบุ๊คของนักเตะอย่าง Rio Ferdinand, Wes Brown และ Ryan Giggs ได้ถูกถอดออกไปเรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ปฏิกิริยาจาก Manchester United เป็นการตัดไฟเสียแต่ต้นลมหลังจากเหล่านักเตะในลีกเมืองผู้ดีได้ใช้ช่องทางสื่อใหม่นี้สร้างความปวดหัวให้กับสโมสรต้นสังกัดของตนเอง เช่น Ryan Babel ปีกตัวสำรองของสโมสร Liverpool ถูกปรับเงินและตัดออกจากทีมหนึ่งนัด เพราะดันเล่นทวิตเตอร์สนุกมือไปหน่อย วิจารณ์เจ้านายอย่าง Rafael Benitez ผู้จัดการทีม ส่วนพ่อหนุ่ม James Hurst กองหลังวัย 17 ปีของ Portsmouth พ่วงด้วยดีกรีกัปตันทีมชาติอังกฤษรุ่นอายุต่ำกว่า 17 ปี ถูกแบนห้ามซ้อมโดยสโมสร เพราะดันไปบอกเพื่อนของเขาในเฟซบุ๊คว่าทีมจะแพ้ก่อนเกมการแข่งขัน และทีมของเขาก็โดน Arsenal ถลุงไป 4 ประตูต่อ 1 ส่วน Jozy Altidore กองหน้าอเมริกันของสโมสร Hull เองก็ประสบปัญหาพิษภัยจากเฟซบุ๊คโดยเขาโดนปรับเงินหลังจากโพสต์วิจารณ์ทีมตนเอง

แต่บางคนก็ทำให้ตนเองสมหวังหลังใช้เว็บไซต์เครือข่ายทางสังคมบ่งบอกความปรารถนาของตนเองอย่าง Darren Bent ก่อนที่จะถูกย้ายทีมจาก Tottenham Hotspur นั้นเขาได้โพสต์ไว้บนทวิตเตอร์ของเขาซึ่งมีผู้ติดตามมากกว่า 30,000 บัญชี โดยได้โพสต์ว่าต้องการย้ายไปทีม Sunderland และแอบด่าประธานสโมสรเก่าไปด้วย

ก่อนหน้านั้นสื่ออินเตอร์เน็ตพึ่งตกเป็นจำเลยในคดีการตะลุมบอนกันระหว่างแฟนบอลอันธพาลลูกหนังของทีม West Ham กับทีม Millwall เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว (2009) ในศึกฟุตบอลถ้วยลีกคัพรอบ 2 โดยผลปรากฏว่ามีชายคนหนึ่งถูกมีดเสียบที่หน้าอกและตำรวจจับผู้ทะเลาะวิวาทได้ 13 คน โดยมีการระบุว่ามีการใช้โทรศัพท์มือถือและเว็บบอร์ดในอินเตอร์เน็ตทำการ วางแผน-ยั่วยุ-นัดแนะ ในการก่อความวุ่นวาย

ที่อังกฤษแค่เบาะๆ และถือว่าพึ่งเริ่มตื่นตัวกันเท่านั้น เพราะทางฝั่งอเมริกามันเริ่มเป็นประเด็นมาพอสมควรแล้ว โดยกีฬายอดฮิตของคนอเมริกันอย่างการแข่งขันบาสเก็ตบอล NBA การแข่งขันอเมริกันฟุตบอล NFL และลีกฮอคกี้น้ำแข็ง NHL เริ่มมีการจำกัดการใช้สื่อใหม่อย่างทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ค

NBA ไม่อนุญาตให้มีการทวีตในระหว่างเกม รวมถึงห้ามก่อนและหลังการแข่งขัน 45 นาที Charlie Villanueva เคยถูกทีม Milwaukee Bucks ทีมเก่าของเขาแบน ซึ่งหลายคนเข้าใจว่าการแบนนี้มีเหตุผลเนื่องมาจากการทวีตระหว่างเกมการแข่งขันของเขา ส่วนบางทีมก็ไปไกลกว่ากฎของ NBA เช่นทีม Miami Heat ก็ห้ามสมาชิกของทีมทวีตระหว่างที่อยู่ที่สนามทุกเวลาไม่ว่าจะเป็นทีมเหย้าหรือเยือน

ลีกอเมริกันฟุตบอล NFL ได้เริ่มพัฒนากฎระเบียบเกี่ยวกับการควบคุมการใช้ทวิตเตอร์และเฟซบุ๊คของนักกีฬา หลังจากที่หลายทีมได้ออกกฎระเบียบขึ้นมาเองแล้ว โดยระเบียบของ NFL นั้นอนุญาตให้ผู้เล่น,โค้ชและผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถใช้โปรแกรมจำพวกเครือข่ายทางสังคมนี้ได้ในวันที่มีการแข่งขัน แต่ต้องห้ามเล่นก่อนเกมจะเริ่ม 90 นาทีและหลังให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อจบเกมไปแล้วอีก 90 นาทีเช่นกัน Chad Ochocinco ผู้เล่นของ Cincinnati Bengals มือทวีตตัวยงของทีม ที่ทุกครั้งเมื่อมีสกอร์เขาจะทำการทวีตทันที แต่หลังจากกฎระเบียบนี้ออกมา ก็คงไม่ค่อยมีกิจกรรมอะไรข้างสนามให้เขาทำมากแล้ว

ส่วนลีกฮ๊อคกี้ NHL ไม่มีนโยบายเกี่ยวกับทวิตเตอร์หรือเฟซบุ๊คอย่างเป็นทางการ เพียงแต่มีกฎการห้ามใช้อุปกรณ์สื่อสารก่อนเกมการแข่งขันเริ่ม 30 นาที

ด้านวงการเทนนิสก็เป็นข่าวฮือฮาเหมือนกัน เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว (2009) ก่อนเริ่มการแข่งขันเทนนิสรายการ U.S. Open องค์กร Tennis Integrity Unit (TIU) หน่วยงานป้องกันการทุจริตในเครือสมาคมเทนนิสนานาชาติ (ITF) ได้ติดใบประกาศไว้ตามสถานที่ต่างๆ โดยระบุว่าทวิตเตอร์มีความเสี่ยงผิดต่อกฎป้องกันการฉ้อโกงในการแข่งขันเทนนิส

การออกกฎห้ามการส่งข้อความทวีตทั้งระหว่างนัดแข่งและสนามแข่ง โดยห้ามส่งข้อมูลเกี่ยวกับการแข่งขันทั้งของตนเองและผู้เล่นคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลประเมินศักยภาพของผู้เล่น อากาศภายในสนาม โอกาสและความเป็นไปในสนาม ซึ่งคำเตือนนี้ยังมีผลต่อผู้ฝึกซ้อมพนักงานทั่วไปและครอบครัวของผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด โดย Chris Widmaier โฆษก U.S. Open ให้ความเห็นกับการควบคุมทวิตเตอร์นี้เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อสร้างความแน่ใจว่าการแข่งขันเป็นไปอย่างเรียบร้อยในยุคสื่อใหม่นี้

ถึงแม้สโมสรกีฬาชั้นนำทั่วโลกต่างก็มีเว็บไซต์หรือพื้นที่ทางอินเตอร์เน็ตต่างๆ ประจำสโมสรอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการมากมาย แต่กระนั้นวงการกีฬากลับให้ความสำคัญในการ “เซ็นเซอร์” การแสดงออกทางความเห็นของนักกีฬาผ่านสื่อใหม่ในอินเตอร์เน็ตที่มีความรวดเร็วสูง

อุตสาหกรรมกีฬาและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องอย่างการพนันนั้นมีมูลค่ามหาศาลในปัจจุบัน ทำให้บางครั้งความเห็นและข้อมูลของนักกีฬาในจังหวะเวลาหนึ่งๆ ถูกเปลี่ยนไปเป็นทรัพย์สินที่สำคัญของทีม และทีมก็ต้องป้องกันมันไว้อย่างสุดความสามารถ

ทั้งนี้คอลัมนิสต์กีฬาคนหนึ่งของ The Sportmeisters ได้แสดงความเห็นไว้สำหรับกรณีการเซ็นเซอร์ความเห็นนักกีฬานี้ว่า “ในอเมริกาทุกคนมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็น และก็เพราะว่านักกีฬาได้รับความสนใจจากสื่อสูง ถ้าพวกเขาเลือกที่จะมีตัวตนในอินเตอร์เน็ต พวกเขาก็จำเป็นที่จะตระหนักและรับผิดชอบในสิ่งที่พวกเขาจะแสดงความคิดเห็น ซึ่งมันไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะสูญเสียสิทธิที่จะพูด”

แต่จะยุติธรรมหรือไม่อย่างไรไม่รู้ เมื่อนักกีฬาบางคนเองได้ทั้งค่าจ้างจากทีมสูง ได้เป็นพรีเซนเตอร์สินค้าต่างๆ และได้เป็น "ใครบางคนที่สำคัญ" ก็อาจจะยอมเสียอะไรบางอย่างไปเพื่อแลกกับความสำเร็จของทีมและตัวเขาเอง แต่สำหรับไอ้พวกตัวสำรองที่มีค่าตัวถูก กลับต้องพลอยติดกับดักนี้ไปด้วย ต้องยอมรับสถานะ “ไม่ดัง ตังค์น้อย ไม่ค่อยมีปากเสียง” โดยปริยาย

อ่านเพิ่มเติม:

Capello bans Twitter and Facebook from World Cup (thefirstpost.co.uk, 29-01-2010)
Manchester Utd ban Twitter and Facebook (thesportreview.com, 21-01-2010)
The Twitter Ban in Pro Sports: Is It Affecting First Amendment Rights? (bleacherreport.com, 03-10-2009)
U.S. Open issues tweet warning (sports.espn.go.com, 28-08-2009)
Rampage of the cyberthugs: How veteran hooligans used the internet to set up bloody battle (dailymail.co.uk, 27-08-2009)

 

บล็อกของ Number 10.5

Number 10.5
บาห์เรนเป็นหนึ่งในประเทศที่ประชาชนลุกฮือ เพื่อร้องประชาธิปไตยในสังคมอาหรับ (ที่เรียกว่า Arab Spring) มาเมื่อตั้งแต่ปีที่แล้ว
Number 10.5
รอบเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ประเด็นเรื่องการเหยียดผิวในวงการฟุตบอลกลายเป็นประเด็นที่น่าจับตาอีกครั้ง ...
Number 10.5
ที่มา ... เฟซบุ๊คของ Pipob Udomittipong 15 มีนาคม 2012  
Number 10.5
 ว่าด้วยตัวเลขที่น่าสนใจของไทยพรีเมียร์ลีก 2011
Number 10.5
"Vincere o morire!" (ชนะหรือตาย!) คาถาของ Benito Mussolini ที่ให้กับนักฟุตบอลอิตาลีในยุคฟาสซิสต์ครองเมือง, ในภาพท่านผู้นำกับบันดานักฟุตบอลทีมชาติในยุค 1930’s อันรุ่งเรืองของอิตาลี
Number 10.5
Number 10.5 จากความรุนแรงของแฟนบอลในการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานประเภท ก. ระหว่างทีมการท่าเรือและทีมเมืองทองยูไนเต็ด กลายเป็นที่กล่าวขวัญถึงเป็นอย่างมากในสังคมไทย เพราะที่ผ่านมาการแข่งขันฟุตบอลระดับสโมสรในประเทศกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นและได้รับความสนใจเป็นอย่างสูงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน รวมถึงกระแสต่อต้าน เสื้อน้ำเงิน ที่ลามมาถึงวงการฟุตบอลเมื่อ ‘เนวิน ชิดชอบ’ นักการเมืองผู้ทรงอิทธิพล ได้ให้การสนับสนุนฟุตบอลบุรีรัมย์อย่างเต็มตัวทั้งทีมในระดับลีกภูมิภาค ดิวิชั่น 2 และการซื้อทีม PEA ในระดับไทยพรีเมียร์ลีก โดยเหตุการณ์ล่าสุดต้องเลื่อนการแข่งขัยระหว่างทีมชัยภูมิและทีมบุรีรัมย์ออกไป…
Number 10.5
Number 10.5  ปกติแล้วเหล่าแฟนบอลหรือผู้ที่คลุกคลีเรื่องบอลมักจะปฏิเสธการมีส่วนร่วมเบื้องหลังของนักการเมืองเสมอ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ฟุตบอลไทยก็มิอาจจะหนีกลุ่มคนที่น่ารักน่าชังเหล่านี้ได้ วันนี้มาดูกันว่าเบื้องหลังทีมสโมสรฟุตบอลไทย ทั้งพรีเมียร์ลีก ดิวิชั่น 1 และลีกภูมิภาค มีกลุ่มทุนหรือนักการเมืองที่น่าจับตา กลุ่มใด-คนใดสนับสนุนกันบ้าง   เมืองทองยูไนเต็ด ในอดีตเคยมีไข่มุกดำ วีระ มุสิกพงศ์ เป็นประธานสโมสรมาก่อน ก่อนถูกทุนสยามกีฬาเทคโอเวอร์ รวมถึงยังมีกลุ่มทุนครอบครัวมหากิจศิริ ที่มีสายสัมพันธ์กับทักษิณและพรรคเพื่อไทย ร่วมบริหารทีม   แฟนบอลอยุธยาถิ่นเก่าของทีมสโมสรการไฟฟ้าฯ…