ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
คำถาม : เราจะรู้จักตัวเองได้อย่างไร
กฤษณมูรติ : ท่านรู้จักหน้าของตัวเองเพราะท่านมองดูมันในกระจกบ่อยๆ และเราก็มีกระจกอีกบานที่จะมองตัวเองให้ชัดเจน ไม่เฉพาะใบหน้าเท่านั้น
แต่จะมองเห็นทั้งหมดที่ท่านคิด
ที่ท่านรู้สึก
รวมถึงแรงจูงใจ
ความปรารถนาของท่าน
แรงกดดัน
และความรู้สึกกลัวต่างๆของท่าน
กระจกบานนั้น - ได้แก่กระจกแห่งความสัมพันธ์
ความสัมพันธ์ระหว่างท่านกับพ่อแม่ของท่าน
ระหว่างท่านกับครูของท่าน
ระหว่างท่านกับแม่น้ำ ต้นไม้ โลก
ระหว่างท่านกับความคิดของท่าน
ความสัมพันธ์จึงเป็นกระจกที่ท่านจะเห็นตัวเอง
มิใช่ตามที่ท่านปรารถนา แต่ตามที่ท่านเป็นอยู่อย่างแท้จริง เมื่อมองดูกระจกธรรมดา ข้าพเจ้าอาจปรารถนาที่จะเห็นตัวเองสวยงามในนั้น แต่สิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้น เพราะว่ากระจกจะสะท้อนอย่างชัดเจนให้เห็นใบหน้าของข้าพเจ้าอย่างที่มันเป็น และดังนั้นข้าพเจ้าจึงไม่สามารถหลอกตนเองได้
ในทำนองเดียวกัน
ข้าพเจ้าสามารถเห็นตนเองอย่างแท้จริง-ในกระจกแห่งความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับผู้อื่น
ซึ่งสุภาพอ่อนน้อมที่สุด
กับผู้ที่ข้าพเจ้าคิดว่า...เขาสามารถจะให้ประโยชน์แก่ตัวข้าพเจ้าได้
แต่จะไม่สุภาพและเหยียดหยาม...ผู้ซึ่งไม่สามารถจะให้ประโยชน์แก่ข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าจะสนใจเป็นพิเศษ...กับผู้ซึ่งข้าพเจ้ารู้สึกกลัว
และข้าพเจ้าจะรีบลุกขึ้นยืน...เมื่อมีบุคคลที่สำคัญเดินมา
แต่กับคนรับใช้แล้ว...ข้าพเจ้าจะไม่ให้ความสนใจใดๆเลย
ดังนั้น
การสังเกตดูตัวเองในความสัมพันธ์กับผู้อื่น ข้าพเจ้าก็จะพบว่า ข้าพเจ้าให้ความนับถือผู้คนอย่างไม่ถูกต้องอย่างไรบ้าง และข้าพเจ้าจะพบตนเองอย่างที่เป็นจริงได้อีก ก็โดยสังเกตความสัมพันธ์ของข้าพเจ้ากับต้นไม้ กับฝูงนก กับความคิด กับหนังสือ และอื่นๆ
ท่านอาจมีปริญญาของทุกๆสาขาวิชาในโลก
แต่หากท่านไม่รู้จักตัวเองแล้ว ท่านก็จะเป็นบุคคลที่โง่เขลา การรู้จักตนเองเป็นเป้าหมายแห่งการศึกษาทั้งหมด หากปราศจากความรู้ในตนเองแล้ว การเก็บข้อเท็จจริง หรือการจดการบรรยายเพื่อสอบให้ได้นั้น - จะเป็นชีวิตอย่างโง่เขลา
ท่านอาจสามารถ
อ้างถึงคัมภีร์ภควัทคีตา อุปนิษัท คัมภีร์อัลกุรอาน หรือคัมภีร์ของคริสต์ศาสนา แต่ถ้าท่านไม่รู้จักตนเองแล้ว ท่านจะเป็นเหมือนนกแก้วนกขุนทอง - ที่จำคำพูดของคนอื่นมาพูดเท่านั้น
ในวินาทีที่ท่านรู้จักตนเอง
ไม่ว่ามันจะเล็กน้อยเพียงใด กระแสของความคิดสร้างสรรค์จะเริ่มเกิดขึ้น มันเป็นการค้นพบอย่างทันทีในตัวเองอย่างที่ท่านเป็นจริง ไม่ว่าท่านจะโลภ ชอบเอาชนะ โกรธ อิจฉา หรือโง่เขลา การสังเกตดูความจริงที่เป็นอยู่ โดยไม่ต้องพยายามที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลง พยายามมองสิ่งที่ท่านเป็นอย่างชัดเจน เป็นการค้นพบที่น่าประหลาดใจมาก และจากที่นั่นเอง ที่ท่านจะสามารถพิจารณาสิ่งที่ลึกซึ้ง...ลงไปได้อีกไม่มีที่สิ้นสุด เพราะการรู้จักตัวเองนั้นไม่มีที่สิ้นสุด...
ในกระบวนการรู้จักตนเองนั่นเอง
ที่ท่านจะเริ่มรู้จักพระผู้เป็นเจ้า และความจริง และภาวะเหนือกาลเวลาอันเป็นอนันตกาล ครูของท่านอาจจะถ่ายทอดความรู้ - ที่เขาได้รับมาจากครูอีกทอดหนึ่งให้ท่าน ท่านอาจทำคะแนนได้ดีเยี่ยมในการสอบ ได้ปริญญาและได้สิ่งอื่นๆอีก แต่หากไม่มีความรู้ในตน ดังเช่นการมองใบหน้าของตนในกระจกแล้ว ความรู้อื่นๆก็จะมีความหมายน้อยเหลือเกิน
ผู้ที่ได้รับการศึกษาสูง
แต่ไม่รู้จักตนเองนั้น เป็นบุคคลที่ไม่มีปัญญา เขาจะไม่รู้จักความคิด ไม่รู้จักชีวิต ด้วยเหตุนี้ การที่ครูต้องได้รับการศึกษาในความหมายที่แท้จริงซึ่งหมายถึงว่า
เขาต้องรู้
ถึงการทำงานของจิตใจและหัวใจของเขา
เห็นตนเองชัดเจนอย่างที่เป็นจริง - ในกระจกแห่งความสัมพันธ์ จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก
การรู้จักตน
เป็นการเริ่มต้นของปัญญา
จักรวาลทั้งหมดจะอยู่ในการรู้จักตนเอง
มันจะครอบคลุมการดิ้นรน
และการแสวงหาทุกอย่างของมนุษยชาติ.
หมายเหตุ : ครับ นี่เป็นคำบรรยายเกี่ยวกับการรู้จักตัวเองของกฤษณมูรติ อีกตอนหนึ่ง ที่บรรยายลงลึกและกว้าง มาถึงประเด็นที่สำคัญที่สุด นั่นคือ การทำความรู้จักตัวเอง จากกระจกแห่งความสัมพันธ์ ระหว่างตัวเรากับผู้คน ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คำบรรยายนี้ ผมคัดมาจากรวมงาน ”แห่งความเข้าใจชีวิตและการศึกษาที่แท้” แปลโดย โสรีย์ โพธิแก้ว เหมือนตอนที่แล้ว และต้องขออนุญาตอาจารย์ในที่นี้ด้วยนะครับ
ด้วยความสัตย์จริงโดยส่วนตัวผม ตั้งแต่ผมเกิดมา ผมยังไม่เคยมีใคร มาให้ความรู้ที่เป็นดรรชนีชี้ทางให้ผม ทำความรู้จักตัวเองได้ดีที่สุดเท่ากับกฤษณมูรติ และเรื่องอื่นๆอีกมากมายเกี่ยวกับภายในของมนุษย์ ที่ท่านถอนรากถอนโคนออกมาตีแผ่ให้เราพินิจพิเคราะห์และทำความเข้าใจ ที่ผมอ่านแล้วรู้สึกเหมือนถูกทุบหัว และต้องยอมรับว่าแท้จริงแล้ว ตัวเองแทบไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ของตัวเอง เมื่อพบงานของท่าน ผมจึงรู้สึกเหมือนได้พบขุมทรัพย์ทางจิตวิญญาณที่เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณค่าเป็นอย่างยิ่ง และขอขอบคุณนักแปลทุกท่าน ที่นำงานของกฤษณมูรติมาเผยแพร่ในบ้านเรา
แน่นอน ผมยังไม่จบการนำเสนองานของกฤษณมูรติ ที่ผมอ่านแล้วอ่านอีกด้วยความซาบซึ้ง แก่ท่านผู้อ่าน สลับกับข้อเขียนของตัวเอง ตามวาระอันควร สำหรับท่านที่สนใจหนังสือเล่มนี้ของกฤษณมูรติ รวมทั้งเล่มอื่นๆของท่าน เชิญติดต่อสอบถามได้ที่ สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง โทร. 024 110-774 และ 028 661-557
30 มิถุนายน 2552
กระท่อมทุ่งเสี้ยว เชียงใหม่