ขงจื๊อ

ขงจื๊อ (Confucius) : แดนมังกรในอาภรณ์สีคราม

 


บริวารเงา

 

ขงจื๊อ เป็นชื่อหนึ่งที่ผมได้ยินมาเนิ่นนาน ถ้าจำไม่ผิดอาจจะเป็นหนังจีนกำลังภายในสักเรื่องหนึ่งที่อ้างชื่อนี้ขึ้นมาเพื่อพูดถึงปรัชญาในเรื่องคุณธรรมน้ำมิตร ผมมารู้จักเขาอีกครั้งในห้องสมุดช่วงที่กำลังสนใจพวกวิชาปรัชญา จิตวิทยา วรรณกรรม ฯลฯ  แต่ผมกลับไปชอบปรมาจารย์จีนอีกคนคือ เล่าจื๊อ เสียมากกว่า เพราะว่าแกมีความคิดที่ 'แนว' ดี (อารมณ์ของวัยรุ่นเช่นนี้แล) อีกนัยหนึ่งก็ดูเพี้ยน ๆ อีกนัยหนึ่งก็มีอารมณ์ศิลปินกว่าขงจื๊อ

ขณะที่ผมเห็นว่าขงจื๊อเอาแต่พร่ำบ่นอะไรที่เป็นหลักจริยธรรมน่าเบื่อ ๆ ซึ่งความน่าเบื่อนี้ไม่ใช่ความผิดของขงจื๊อเสียทีเดียว แต่เป็นเพราะหลักจริยธรรมทั้งหลายเหล่านี้มันถูกกรอกหูอยู่ทุกวันในชั้นเรียน และในสื่อต่าง ๆ จน 'วัยรุ่นเซ็ง' ในโลกความจริงที่พวกเขาพบเจอมันไม่เห็นมีอะไรงดงาม ๆ อย่างที่พร่ำสอนไว้เลย

ชีวิตผมดำเนินต่อมาเรื่อย ๆ ผ่านพ้นอะไรมาหลายอย่าง ผาดโผนบ้างน่าเบื่อบ้างเหมือนชีวิตหลาย ๆ คน พบเจอชื่อใหม่ ๆ ที่ผมต้องไปค้นในห้องสมุดหรือตามอินเตอร์เน็ตจนแทบจะลืมชื่อขงจื๊อไปแล้ว มาพบชื่อเขาอีกครั้งจากป้ายโฆษณาภาพยนตร์ในห้างจนความสงสัยผมพุ่งพรวดว่าคนที่มีแนวคิดน่าเบื่อขนาดนี้ถูกนำมาสร้างเป็นหนังได้ด้วยหรือ!?

ถ้าให้พูดแบบแฟร์ ๆ หน่อยล่ะก็ ขงจื๊อเป็นคนที่มีอิทธิพลทางความคิด จิตใจ ของชาวเอเชียตะวันออกอยู่มากที่เดียว โดยต้องนับรวมไปถึงชาวเชื้อสายจีนที่อาศัยอยู่ในที่อื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดเรื่องการนับถือบรรพบุรุษ เรื่องการนับถืออาวุโส เรื่องการรู้จักหน้าที่ของตนเอง ฯลฯ ทั้งหลายเหล่านี้สืบทอดมาทั้งในรูปแบบของคำสอน พิธีกรรม และวิถีปฏิบัติ ที่คาดว่าชาวไทยเชื่อสายจีนทั้งหลายคงคุ้นเคยกันดี

ผมไม่ค่อยแปลกใจนักที่รู้ว่าผู้สนับสนุนรายใหญ่ในการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้คือสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่กำลังเป็นมังกรผงาดในทางเศรษฐกิจโลก และกำลังพยายามประกาศตนให้โลกรู้ด้วยศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย นอกจากภาพยนตร์ของจางอี้โหมว พิธีเปิดกิฬาโอลิมปิก และภาพยนตร์มังกรสร้างชาติแล้ว จีนแผ่นดินใหญ่ยังเคยพยายามสร้างขบวนการ 5 สี แข่งกับญี่ปุ่นมาแล้ว แต่งานโปรดักชั่นนี้ยังไม่ถึงขั้นของญี่ปุ่นแน่ ๆ ล่ะ

ตัดเรื่องขบวนการ 5 สี ออกไป งานภาพยนตร์โรงใหญ่ของจีนนี้คงไม่ต้องบอกก็รู้ว่ามาพร้อมกับความอลังการณ์แน่นอน คอภาพยนตร์แนวเดียวกันคงจำ "Hero" กันได้ ซึ่งนอกจากเรื่องความอลังการณ์ จังหวะการเล่าเรื่องบางช่วงแล้ว เรื่อง ขงจื๊อ ก็มีการ 'เล่น' กับโทนสีเช่นเดียวกับ Hero เหมือนกัน (ซึ่งไว้จะพูดถึงต่อไป)

แน่ะ ๆๆๆ ผมเชื่อว่าหลาย ๆ คนพอได้ยินว่ามันเป็นเรื่องจีนแผ่นดินใหญ่เข้าคงพากันสงสัยแน่ ๆ ว่ามันจะเป็นภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่ออีกหรือไม่ ตัวผมเองรู้เต็มอกว่ามันต้องมีโฆษณาชวนเชื่อแฝงมาอยู่แล้ว แต่ผมไม่สนใจ ยังไงผมก็จะดู และอยากจะให้ลองมองกันแฟร์ ๆ กว่านี้หน่อยว่า ไม่ว่าภาพยนตร์จากชาติไหน ภาษาไหน ใครสนับสนุนมันก็มีโฆษณาชวนเชื่อทั้งนั้นแหละครับ

ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอภาพชีวประวัติของขงจื๊อ หรือที่รู้จักกันในยุคสมัยนั้นว่า 'ขงฉิ่ว' ผู้ที่เกิดเมื่อ 551 ปีก่อนคริสตกาลจากชีวประวัติวัยเด็กซึ่งตัวภาพยนตร์ไม่ได้เล่า ขงฉิ่วสูญเสียพ่อซึ่งเป็นนักรบไปเมื่ออายุ 3 ปี และอาศัยอยู่กับแม่ท่ามกลางความยากจนแต่ก็สนับสนุนให้เขาได้เรียนหนังสือ โดยในเรื่องนี้เริ่มต้นเล่าในฉากที่ขงฉิ่วอยู่ในวัยผู้ใหญ่ที่รับราชการมีลูกมีเมียแล้ว

และสิ่งที่เราจะได้เห็นจากขงจื๊อฉบับภาพยนตร์ คือภาพของขงจื๊อในฐานะมนุษย์ปุถุชน มากกว่าภาพของปราชญ์ต้นแบบที่ดูเลิศเลอ ไม่เชิงว่าตัวขงจื๊อที่แสดงโดยโจวเหวินฟะ จะละทิ้งความเป็นนักอุดมคติไปทั้งหมด แต่ในช่วงครึ่งแรกที่ขงฉิ่วต้องต่อกรกับ 'กลุ่มผู้มีอำนาจ' เขาไม่ได้เอาอุดมคติลุ่น ๆ เข้าไปเสยคาง แต่มีการใช้วาทศิลป์ ใช้เล่ห์กลตบตา จนคนที่เคยซึมซับแต่คำสอนของเขามาคงนึกไม่ออกว่าจะได้เห็นขงจื๊อในภาพที่ดูเป็น 'นักการเมือง' แบบนี้ (ถึงจะเป็นเรื่องเล่าก็เถอะ)

เรื่องนี้คงเหมือนกับการที่รัฐบาลจีนนำเสนอเรื่องราวของขงจื๊ออีกครั้งนั่นแหละครับ ทั้งที่ในสมัยก่อนพรรคคอมมิวนิสท์จีนต่อต้านขงจื๊อจะเป็นจะตาย มองว่าเป็นแนวคิดแบบศักดินาบ้าง อะไรบ้าง มีการยกเลิกพิธีพรรมรำลึกถึงขงจื๊อ แต่พอถึงช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมาก็ค่อยรื้อฟื้นมาอีกครั้ง และในปัจจุบันพวกสื่อบันเทิงทั้งหลายของจีนก็เริ่มตามกระแสโลกมากขึ้น การจะเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ มันก็ต้องรู้จักหาอะไร 'จับใจ' คนด้วย จริงไหม

แต่บทเรียนอย่างหนึ่งที่จีนควรรู้ไว้คือ การแข่งขันทางธุรกิจบันเทิงนี้ผู้บริโภคเขาก็อยากมีตัวเลือกหรืออยากบริโภคอะไรที่มันดู Globalized หรือดูเป็นสิ่งที่คนอื่น ๆ ทั่วโลกเขาดูกัน ฉะนั้นการไปจำกัดโรงฉายเรื่อง Avatar เพื่อเอาเรื่องขงจื๊อมาฉายจึงถูกชาวจีนก่นด่า ต่อต้าน ทำให้เรื่องขงจื๊อเสียคะแนนไปปล่าว ๆ ปลี้ ๆ เพราะคนเกิดอคติไปก่อนเสียแล้ว

เท่าที่ผมลองสำรวจบทวิจารณ์ของชาวจีนในเน็ตมา หลายคนดูจะไม่ชอบภาพยนตร์ขงจื๊อเท่าไหร่ เช่น บล็อกเกอร์จีนที่ชื่อ Han Han เขียนวิจารณ์ไว้ในบล็อกว่าหนังเรื่องขงจื๊อไม่ได้สามารถทำให้คนดูรู้สึกซาบซึ้งกับมันได้เท่าที่โจวเหวินฟะเคยคุยไว้ (โจวเหวินฟะถึงขั้นเคยบอกเลยว่า "ถ้าดูเรื่องนี้แล้วไม่ร้องไห้ ก็ไม่ใช่คนแล้ว")

อีกบทหนึ่งที่ท้าทายการแสดงของโจวเหวินฟะมากคือบทตอนที่ขงจื๊อแกต้องเผชิญกับสภาพความขัดแย้งระหว่างแนวคิดอุดมคติของเขากับโลกของความจริง อีกฉากหนึ่งที่ผมค่อนข้างประทับใจคือฉากที่หนานจื่อ พระชายาจากแคว้นหนึ่ง ที่ตัวหนังฉายภาพเป็นหญิงร้ายคอยใช้เสน่ห์เป่าหูผู้นำ เธอได้พบกับขงจื๊อ และประชันบทบาทกันอย่างกระชั้นชิด ก่อนจะทิ้งท้าย ด้วยคำพูดที่บาดความรู้สึกอย่าง "ฉันเข้าใจความเจ็บปวดลึก ๆ ในตัวคุณ"


...และหลังจากนั้นภาพยนตร์ก็ฉายภาพ 'ความเจ็บปวด' ของ ขงจื๊อที่เขาต้องหะหกระเหิน ไปพร้อมกับเหล่าลูกศิษย์ลูกหา ภาพของขงจื๊อที่ดูรุ่งโรจน์และเป็น 'นักการเมือง' ที่ประสบความสำเร็จในช่วงแรก ๆ เริ่มกลายเป็นภาพของวีรบุรุษตกอับ (Tragic Hero) ที่ยังคงยืนยันวิถีทางความเชื่อของตนเอง และสั่งสอนผู้คนโดยไม่สนว่าจะถูกต่อต้าน

เนื้อเรื่องในช่วงหลังนี้ ผมว่าภาพยนตร์ยังสื่อออกมาไม่ได้อารมณ์เท่าช่วงแรก ๆ หลายบทหลายตอนดูไม่ปะติดปะต่อ และทำให้รู้สึกถึงความอิหลักอิเหลื่อของการพยายามอิงประวัติดั้งเดิมกับการเสริมแต่งจินตนาการที่ไม่ได้เน้นไปทางใดทางหนึ่ง จนทำให้คนที่ดูเพื่อ 'เอาประวัติ' ก็ไม่ได้ประโยชน์ คนที่ดูเพื่อความบันเทิง (เช่นผม) ก็จะไม่ได้รับรสชาติความเป็นหนังอย่างเต็มที่

ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือการที่ภาพยนตร์พยายามเน้นโทนสีน้ำเงิน/คราม อย่างมากทั้งฉากและเครื่องแต่งกาย โดยเฉพาะฉากที่มีขงจื๊ออยู่ ถ้าว่าตามหลักศิลปะแบบซื่อ ๆ แล้ว สีน้ำเงินเป็นสิ่งที่สื่อถึงความสุขุม สติปัญญา และความสุภาพ ขณะเดียวกันก็เป็นวรรณะสีเย็น

ขณะที่ดูเรื่องนี้อยู่ก็ไพล่นึกไปถึงปราชญ์จีนอีกคนที่ชื่อเล่าจื๊อซึ่งผมได้พูดถึงตอนต้น จากหนังสือต่าง ๆ ที่ผมอ่านมารู้สึกว่าทั้งเล่าจื๊อและขงจื๊อ ต่างก็เป็นปรัชญาคนละสาย คนละขั้ว ขงจื๊อออกจะเน้นเรื่องคุณธรรมน้ำมิตร เรื่องในเชิงรัฐศาสตร์และจริยศาสตร์ในชีวิตประจำวัน ขณะที่เล่าจื๊อเน้นพูดถึงปรัชญาที่จับต้องไม่ค่อยได้ แต่ก็มีความหมายลึก ๆ บางคนถือว่าเล่าจื๊อเป็นนักเสรีนิยม หรือนักคิดแนวอนาธิปไตยคนแรกทีเดียว

แต่อย่างที่ขงจื๊อบอกไว้ว่า เล่าจื๊อสำหรับเขาแล้วเปรียบเหมือนมังกร ซึ่งยากจะเข้าถึงและใช่จะได้เห็นในชีวิตปกติ ผมหวังว่าจะได้เห็นฉากวิวาทะทางปรัชญาของปราชญ์สองท่านนี้อยู่เหมือนกัน ไม่โดยทางตรงก็ทางอ้อม แต่ตัวหนังก็นำเล่าจื๊อออกมาในฉากหนึ่ง ที่แต่งด้วยเทคนิคภาพจนดูเหมือนเป็นเทพอะไรสักอย่างโผล่มาชี้แนะขงจื๊อ และขงจื๊อก็น้อมรับฟัง เราเลยอดดู 'ดราม่า' ไป

เนื้อหาของภาพยนตร์ยังสะท้อนความขัดแย้งระหว่างแคว้นต่าง ๆ  การแย่งชิงอำนาจ รวมถึงการกดขี่จากประเพณีของผู้มีอำนาจ เช่นการต้องฝังบ่าวไพร่ไปพร้อมกับนายเมื่อนายเสียชีวิต แน่นอนว่าแนวความคิดของขงจื๊อไม่ก้าวหน้าเท่ายุคปัจจุบันที่มีเรื่องของหลักการสิทธิมนุษยชน (ที่ในบ้านเรายังดูไม่ค่อยมีมาตรฐานเท่าไหร่) เรื่องรัฐสวัสดิการ (ที่ดูลม ๆ แล้ง ๆ พิกล) ฯลฯ แต่สำหรับในยุคนั้นแล้วหลาย ๆ เรื่องก็ถือว่าก้าวหน้า ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดเรื่องการศึกษาที่ขงจื๊อคิดว่าทุกชนชั้นควรมีสิทธิได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน เรื่องการละเลิกพิธีกรรมป่าเถื่อนที่ไม่เคารพคุณค่าของมนุษย์ ฯลฯ 

และการที่ได้เห็น 'พระเอก' คนนึงต่อสู้กับ 'ผู้มีอำนาจ' อยู่ในโลกภาพยนตร์ มันก็ชวนให้เอาใจช่วยอยู่ไม่น้อย (พล็อตสูตรสำเร็จแบบนี้ ตราบใดที่มันยังตอบสนองมนุษย์ได้ มันก็จะยังคงมีอยู่ต่อไป)

...แม้คำว่า 'คุณธรรม' ที่ขงจื๊อ ชอบอ้างถึง ในปัจจุบันมันจะถูกนำมาปู้ยี้ปู้ยำโดยกลุ่มที่มีอำนาจตรวจสอบคนอื่น แต่ตนเองตรวจสอบไม่ได้ก็ตาม


 

ตัวอย่างภาพยนตร์

Subscribe to ขงจื๊อ