ชาติพันธุ์

แด่สหาย จากชายแดนทิศตะวันตก

 

อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นเมืองท่ามกลางหุบเขา มีเสน่ห์เล็กๆ ในแบบของตัวเอง แม่สอดไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว แต่มีคนแวะเวียนมาเยอะเพราะแม่สอดเป็นประตูผ่านแดนไปยังเมืองเมียววดีของพม่า

ความทรงจำบางๆ ที่เมืองเชียงตุง

ความทรงจำบางๆ ที่เมืองเชียงตุง

 
 

ครั้งหนึ่งผมยังจำได้ผมได้ไปเที่ยวเมืองเชียงตุง  เมืองแห่งประวัติศาสตร์ที่สัมพันธ์กับคนเมือง ชาติพันธุ์ไทเขิน ไทยอง คนเมือง หรืออื่นๆ  แต่บอกได้คำเดียวเชียงตุงยังคงเป็นเมืองที่บริสุทธ์มาก ทั้งธรรมชาติวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนท้องที่ที่ยังเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

เยี่ยมญาติตอนที่ 1

บนถนนที่ทอดยาวสู่หุบเขาทางทิศตะวันตกของจังหวัดแม่ฮ่องสอน เส้นทางที่ห่างออกมาเพียงสามสิบกิโลเมตรเศษ ลัดเลาะไปตามภูเขาบนถนนสายรพช. ซึ่งค่อยๆ แปรสภาพเป็นดินและหินลูกรังก่อนจะถึงสุดสายปลายทาง อันเป็นสถานที่คล้ายด่านกักกันมนุษย์กลุ่มหนึ่งที่ไร้ประเทศและเสรีภาพ

หมู่บ้านกลางป่าที่ปลูกเบียดเสียดเรียงรายทุกซอกหลีบของพื้นที่จัดสรร คนนับหมื่นอัดแน่นในที่อาศัยกว้างกว่าเท้าและหัวจะพาดวางเพียงไม่กี่วา ที่นี่คือศูนย์ผู้พักพิงบ้านในสอย

ศาสนาพุทธในหมู่บ้านแปลกหน้า


  

มีใครเคยใช้ชีวิตในบ้านนอกโดยเฉพาะทางภาคอีสาน เมื่อประมาณสัก 20 ปีก่อน อาจจะมีความทรงจำเกี่ยวกับวัดที่แตกต่างจากปัจจุบัน ฉันจำได้ว่าเมื่อครั้งยังเด็ก เราแทบจะก้มลงกราบที่เท้าพระ เมื่อท่านเดินผ่านด้วยความศรัทธาอย่างแท้จริง ซึ่งปัจจุบันเป็นไปได้ยาก


ฉันเป็นชาวพุทธมาแต่อ้อนแต่ออก ด้วยหมู่บ้านที่มีวัดป่า พระเณรเพียงไม่กี่รูปหนึ่งในนั้นเป็นลูกพี่ลูกน้องฉันเอง เราจึงเที่ยวเล่นแวะเวียนมาที่วัดทุกครั้งที่มีโอกาส

ฉันยังจำไม่ลืมที่พระหลวงพี่ จับเราพี่น้องนั่งเรียงแถวทำสมาธิ เทศน์สอนประวัติความเป็นมาของพุทธเจ้าให้ฟัง ความที่ท่านบวชตั้งแต่อายุยังน้อย ตอนนี้ท่านจึงกลายเป็นเจ้าอาวาสไปแล้ว

เด็กชาวว้ากับเรื่องที่ไม่ถูกบันทึก

< แสงธรรม >

20 มิถุนายน 2551

ฉันได้รับการแจ้งข่าว ชาวบ้านในหมู่บ้านชายแดนไทย – พม่า ด้านที่ติดกับรัฐฉาน พบกลุ่มเด็กชายและหญิงจำนวน 5 คน วิ่งมาจากอีกฝั่งแล้วข้ามเข้ามาในเขตไทย

ดูเหมือนพวกเขาวิ่งหนีบางสิ่งบางอย่าง

ชาวบ้านมาพบเด็กกลุ่มนี้เข้า พบว่าเป็นเด็กชาวว้า

0 0 0

Aviv Geffen : นักดนตรีผู้เป็นไอดอลของฝ่ายซ้ายอิสราเอล หรือเพียงแค่นักสันติภาพเพ้อฝัน (จบ)

29 February, 2008 - 20:14 -- parid

 

"ผมคงจัดเป็นพวกปีกซ้ายนั่นแหละ และพอเวลาผ่านไปผมก็รู้สึกแข็งแกร่งขึ้น ผมให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์มากกว่าอิฐบล็อกหรือกำแพงศักดิ์สิทธิ์ ผมเชื่อในการมีชีวิตอยู่ ผมคิดว่าแทนที่คำถามจะเป็นพวกคุณเชื่อในพระเจ้าหรือเปล่า' มันควรจะเป็นว่า พระเจ้าเชื่อในพวกเราหรือเปล่า' ต่างหาก ใครจะรู้ได้"

- Aviv Geffen -

 

Memento Mori

"Officer, it's better to be a coward that is alive
than to be a dead hero
You fight with tanks and guns
I fight with pen and paper
You call me a draft dodger
Memento Mori..."

- Memento Mori (2)

จริงๆ แล้ว ไม่เพียง Aviv Geffen เท่านั้นที่เป็นที่รู้จักของชาวอิสราเอลโดยทั่วไป พ่อของเขาเอง Yehonatan Geffen (เป็นที่รู้จักในนาม Jonathan Geffen เสียมากกว่า) ก็มีชื่อเสียงอยู่เหมือนกัน

ผู้คนรู้จักพ่อของ Aviv ในฐานะของ นักเขียน, กวี, นักหนังสือพิมพ์, นักแต่งเพลง และ ผู้แต่งบทละคร ซึ่งเขาได้แต่งเอาไว้ ทั้งเรื่องสำหรับเด็กและสำหรับผู้ใหญ่

ประวัติของโจนาธานผู้เป็นพ่อก็มีอะไรเศร้าๆ ปนอยู่ หนึ่งในนั้นคือเรื่อ่งที่แม่ของ Jonathan (ย่าของ Aviv) เสียชีวิตเพราะกินยามากเกินขนาด ขณะที่เขามีตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งเขาเชื่อว่าแม่เขาฆ่าตัวตาย หลังจากนั้นสองปี เขาก็เลิกเป็นทหารแล้วย้ายมาอยู่ที่เมือง Tel-Aviv เริ่มต้นเขียนบทกวี ก่อนที่ต่อมาโจนาธานจะหันมายึดอาชีพเป็นผู้สื่อข่าวให้กับหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ที่ชื่อ Maariv เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

เขามักจะโดนวิจารณ์ในเรื่องทัศนะซ้ายจัดของเขาอยู่เสมอ จนบางครั้งก็ถึงขั้นถูกข่มขู่เอาชีวิต ซึ่งนอกจากรุ่นพ่อเขาจะโดนแล้ว Aviv Geffen ผู้เป็นรุ่นลูกก็โดนอย่างเดียวกัน แต่พวกเขาทั้งสองต่างก็ไม่แคร์ในคำขู่ ยังคงยืนยันทำในสิ่งที่ตนเชื่อต่อไป

Aviv Geffen เคยพูดไว้ว่า "มีการขู่เอาชีวิตผมอยู่หลายครั้งมาก บางคนก็ขอให้เพลงของผมถูกแบนไปเสีย แต่ผมคิดว่าผมมีข้อความสำคัญมากๆ ที่จะส่งไปยังผู้คน"

พ่อของ Aviv Geffen มีชีวิตอยู่ในยุคสมัยที่ความขัดแย้งเรื่องดินแดนทวีความรุนแรงและซับซ้อนขึ้น และคนรุ่นเดียวกันที่ดำรงชีวิตอยู่ร่วมยุคสมัย ต่างก็มีบาดแผลความทรงจำจากการประหัตประหารกัน เช่นเดียวกับที่รุ่นปู่ของเขาก็มีความทรงจำจากสงครามโลก

ก่อนหน้าที่จะมาร่วมกับโปรเจกท์วง Blackfield ตัว Aviv Geffen ได้เป็นปากกระบอกเสียงให้วัยรุ่นหนุ่มสาวระบายความคับข้องใจจากคนในยุคสมัยเดียวกันผ่านทางบทเพลง และบทเพลงหนึ่งในนั้นคือ Cloudy Now ซึ่งเพลงนี้ทำให้มีเสียงตอบรับจากวัยรุ่นอิสราเอลจำนวนมากหันกลับมาถามเขาว่า "คุณต้องการจะเปลี่ยนแปลงหรือเปล่า?"

ผมรู้สึกเฉยๆ กับการประกาศจุดยืนที่จะอยู่กับฝ่ายซ้ายของเขา แต่กลับรู้สึกดีกว่าในแง่ของการที่เขาใช้ความป๊อบปูล่าให้เป็นประโยชน์ ใช้มันเป็นกระบอกเสียงให้กับอุดมการณ์ที่ตนมี เพราะผมเชื่อทั้งในแนวทาง "ศิลปะเพื่อศิลปะ" และ "ศิลปะเพื่อสังคม" ขณะที่ "ศิลปะเพื่อศิลปะ" ที่เน้นด้านรูปแบบและการแสดงออกทางความรู้สึก ไม่จำเป็นต้องเป็นที่นิยมก็ได้ จะสามารถตอบสนองคนจำนวนมากหรือน้อยเพียงใดก็ไม่มีปัญหา แต่โดนส่วนตัวคิดว่า "ศิลปะเพื่อสังคม" มันต้องมีรูปแบบที่เป็น Mass Appeal เพื่อที่จะสื่อสารกับคนในสังคมให้เข้าใจได้ และผมจะเกลียดมากถ้ามันเป็นศิลปะกึ่งขู่เข็ญแข็งกระด้างไร้ความเป็นมนุษย์

พอมาถึงรุ่นลูก กระแสการเรียกร้องสันติภาพในหมู่หนุ่มสาว อาจจะทำให้ภาพเสมือนฝันร้ายแต่ครั้งก่อนพร่าเลือนไป แต่จะแน่ใจได้ล่ะหรือว่าฝันร้ายจบลงแล้วจริงๆ หรือเพียงแค่เปลี่ยนโฉมหน้า ให้คนในยุคปัจจุบันรับกับมันได้เพียงเท่านั้น เพราะไซออนนิสท์ ที่เต็มไปด้วยความเชื่อมั่นว่าตนถูก และแฝงฝังด้วยความคิดเชื้อชาตินิยมก็ยังคงมีอยู่

ถ้ามองในอีกทาง จะไปโทษชาวอิสราเอลในรุ่นหลังๆ คงไม่ได้เหมือนกัน เพราะพวกเขาไม่ได้มีส่วนในประวัติศาสตร์ทำให้เกิดความวุ่นวายนี้ขึ้น แค่บังเอิญมีเชื้อชาตินี้มาตั้งแต่เกิดเท่านั้น นอกจากนี้ชาวอิสราเอลในระดับล่างยังเชื่อว่า บาดแผลของพวกเขาจากสงครามโลกครั้งที่สองมีมากพออยู่แล้ว แค่อยากมีแผ่นดินอยู่ไว้ทำมาหากินอย่างสงบสุขบ้าง และดูเหมือนแรงงานข้ามชาติที่อพยพเข้าไปอยู่ในสถานที่นั้นคงต้องการอย่างเดียวกัน

การที่ Geffen ไม่เห็นด้วยกับการที่ชาวอิสราเอลเข้ายึดครองปาเลสไตน์ ถึงควรถูกตั้งคำถามว่า จริงๆ แล้วชาวอิสราเอล รวมถึงแรงงานอพยพหลายคน ไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าหรือเปล่า

Cloudy Now

"In a violent place we call our country
Is a mixed up man and I guess that's me
The sun's in the sky but the storm never seems to end"

-Cloudy Now -

ในภาพยนตร์ฮอลลิวูดหลายเรื่อง มักจะพูดถึงชาวยิวที่ถูกกระทำจากสงครามโลกครั้งที่สอง และประเด็นที่ยกมาเล่นกันมากที่สุดคงหนีไม่พ้นการล่าล้างเผ่าพันธุ์จากเผด็จการเชื้อชาตินิยมนาซี ถ้าพูดในเชิงมนุษย์ธรรม มันเป็นเรื่องที่ชวนให้รู้สึกเห็นอกเห็นใจพวกเขาอยู่ไม่น้อย แต่ต้องไม่ลืมว่าการผลิตซ้ำความรู้สึกเห็นอกเห็นใจแบบนี้ออกมา มันจะกลายเป็นการให้ความชอบธรรมไซออนนิสท์ที่หลายคนก็มีแนวคิดแบบเชื้อชาตินิยมเช่นเดียวกันหรือไม่ และคงไม่ต้องนับว่าประวัติศาสตร์ที่ถูกเขียนโดยผู้ชนะสงครามนี้ ต้องอาศัยการตรึกตรองกันเสียหน่อยว่ามันจะไม่กลายเป็นโฆษณาชวนเชื้อของประเทศมหาอำนาจประเทศใดไปเสีย

และหากใครศึกษาประวัติศาสตร์มาบ้างคงพอจะทราบว่า แต่เดิมชาวยิวไม่ได้อยู่ในแผ่นดินผืนนี้อย่างหนาแน่น จะมีอยู่ก็เพียงเป็นชุมชนเล็กๆ ที่กระจัดกระจาย จนกระทั่งชาวยิวได้ถูกรวมเข้ามาในดินแดนครั้งหนึ่งเมื่อสมัยตุรกีเข้ามามีอำนาจ

ก่อนที่ต่อมาประเทศในยุโรป (รวมที่ไม่ใช่ยุโรปอย่างรัสเซียไปอีกหนึ่งประเทศ) ได้พยายามเข้ามามีอำนาจในปาเลสไตน์ เพราะในสมัยก่อนบางประเทศในยุโรปต้องการดินแดนนี้เป็นเส้นทางลำเลียงสินค้าไปสู่ทวีปเอเชีย แต่พวกเขาก็ทำอะไรไม่ได้มาก ทำให้ประเทศเหล่านี้ (โดยเฉพาะอังกฤษ) หันมาผลักดันสนับสนุนการถือสิทธิครองดินแดนของชาวยิวในอิสราเอลแทน กลุ่มขบวนการไซออนนิสท์เอง ก็เกิดจากการหนุนหลังของประเทศอังกฤษด้วยเช่นกัน

แต่ผมก็ไม่อยากให้มองว่าใครเป็นฝ่ายดี ใครเป็นฝ่ายร้าย เพราะเกมการแย่งชิงที่ชนชั้นนำใช้พวกเราเป็นตัวเบี้ยตัวหมากมาต่อสู้กันเอง ได้ทำให้เราต้องมาละเลงเลือดและน้ำตา มากมายเกินอสงไขย ผ่านยุคสมัยมาถึงปัจจุบัน มันก็ได้กลั่นตัวขึ้นไปเป็นเมฆทึบหนา มันบดบังสายตาจนมองเห็นได้ยากว่าอะไรดี? อะไรร้าย? อะไรที่ควรปกป้อง? อะไรที่ควรทำลาย? อะไรคือฉัน? อะไรคือเธอ? อะไรคือพวกเรา? อะไรคือพวกมัน? อะไรคือความสงบสุข? อะไร...อะไรกันที่มันเดือดพล่านอยู่ในใจเรา!?

ผมจึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมหนุ่มสาวร่วมสมัยเดียวกัน ถึงนึกอะไรไม่ออก นอกจากการเฝ้าฝันถึงสันติภาพลมๆ แล้งๆ เพราะว่า เมฆหมอกทึบๆ มันทำให้อะไรๆ มืดดำเกินกว่าจะมองได้ชัดแจ้งว่าพวกเขาควรจะไปทางทิศไหน ตัวผมเองก็อยากให้ทุกคนตื่นขึ้นมา ลุกขึ้นมา มาช่วยกันมองหาทางภายใต้ท้องฟ้ามืดครื้มนี้

แต่ถ้าหากคุณบอกว่านักสันติภาพทั้งหลายกำลังเพ้อฝันแล้วล่ะก็ ผมก็อยากจะบอกว่า พวกเราล้วนเพ้อฝันพอๆ กันหมด

ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่กระทำการโดยไม่นึกถึงว่าใครเป็นศัตรูใครเป็นผู้บริสุทธิ์ ใช้ความเจ็บปวดของผู้คนเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมในการตอบโต้อีกฝ่าย รวมถึงคนที่คลั่งชาติแล้วเกลียดชังแบบเหมารวมอย่างไม่ลืมหูลืมตา ไม่เลือกที่จะแยกแยะ และคิดว่าว่าหากพวกนี้ถูกกำจัดไปให้หมด (โดยรัฐที่ไม่ค่อยน่าไว้วางใจ) ไปแล้วความสงบสุขจะบังเกิดได้

มันจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ น่ะหรือ จะบอกไว้ตรงนี้ก็ได้ว่า

...พวกคุณก็เพ้อฝันสิ้นดี!


 

Aviv Geffen : นักดนตรีผู้เป็นไอดอลของฝ่ายซ้ายอิสราเอล หรือเพียงแค่นักสันติภาพเพ้อฝัน (2)

23 February, 2008 - 04:12 -- parid

 

"1,000 people yell
Shouting my name
But I wanna die in this moment
I wanna die"

- 1,000 People -

Aviv Geffen เกิดและเติบโตในช่วงสงครามเลบานอนครั้งแรก ที่กองทัพอิสราเอลคิดจะเข้ายึดครองเลบานอนเพื่อยุติสงครามกลางเมือง แต่ความขัดแย้งนี้ดูจะห่างไกลจากตัวเขารวมถึงหนุ่มสาวคนอื่น ๆ ซึ่งต่างก็ดำเนินชีวิตคู่ขนานกับความขัดแย้งนี้จนแม้ปัจจุบันก็ยังไม่จบไม่สิ้น ข้อตกลงหยุดยิงไม่อาจทำให้ความตึงเครียดลดลงได้ ระเบิดนิรนามยังคงถูกยิงมาจากที่ไหนสักแห่ง

ภาพที่ดูขัดแย้งกันอย่างชัดเจนในตัว Geffen คือ ขณะที่เขาแต่งเพลงและเผยความคิดเห็นในแบบอิสราเอลฝ่ายซ้าย แต่ขณะเดียวกันก็เป็นผู้ประสบความสำเร็จในอาชีพทางดนตรี ทั้งยังได้รับความนิยม...โดยเฉพาะจากหมู่วัยรุ่นหนุ่มสาว

มีบางครั้งที่ Geffen ต้องไปแสดงในเขตของชาวมุสลิม เขาบอกว่าแม้เขาจะไปในฐานะชาวอิสราเอล แต่ก็มีความเชื่อว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากชาวมุสลิม แม้จะระแวงในความปลอดภัยอยู่บ้าง แต่เขาคิดว่าเขาแยกออกระหว่างคนที่มาฟังเพลง กับพวกบ้าเลือดที่จ้องแต่จะเอาชีวิตคน

จากเท่าที่ได้อ่านเนื้อหาเพลงต่าง ๆ ของ Aviv Geffen ที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ (ทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ) แล้ว พบว่าในแต่ละอัลบั้มเขาก็ไม่ได้มีแต่เรื่องของสังคมหรือการเมืองอย่างเดียว แต่มันมีเพลงรัก ๆ ใคร่ ๆ เรื่องความสัมพันธ์ ที่แฝงมุมมองแบบนักเสรีนิยมผู้เศร้าสร้อย ซึ่งน่าจะถูกใจวัยรุ่นยุคปัจจุบัน บ้างก็สะท้อนความแปลกแยก เบื่อหน่ายยุคสมัย ซึ่งมันคงตอบสนองความรู้สึกของหนุ่มสาวทั้งหลายได้เช่นเดียวกัน

ถ้าให้พูดถึงรูปแบบทางดนตรี หลายเพลงของ Geffen แม้เขาจะร้องเป็นภาษาฮิบรู แต่สำเนียงดนตรีมันก็ชวนให้นึกถึงร็อคสีทึม ๆ ของ Roger Waters อย่างเสียมิได้ ยิ่งไม่ต้องบอกว่า เนื้อหาการเมืองจากผลงานยุคแรก ๆ ของ Aviv Geffen แม้จะสะท้อนภาพกว้าง ๆ ของความขัดแย้ง แต่ก็มีกลิ่นอายความโกรธขึง ประชดประชัน ของ Waters อยู่ไม่น้อยทีเดียว

กระนั้นดนตรีของเขาก็ไม่ได้มีเพียงเงาทะมึน Roger Waters เท่านั้น บางเพลงก็เป็นเพลงป็อบหรือเพลงโฟล์คอารมณ์สบาย ๆ ขณะที่บางเพลงก็แฝงไปด้วยอิทธิพลของโปรเกรสซีฟร็อคสมัยใหม่ จนกระทั่งเมื่อความชื่นชอบส่วนตัวของ Geffen ที่มีต่อวง Porcupine Tree ทำให้เขาได้มารู้จักกับ Steve Wilson แล้วจึงได้ให้กำเนิดวงโปรเจกท์ที่ชื่อว่า Blackfield ขึ้นมาในที่สุด

ถึง Blackfield จะไม่ใช่วงที่วางแนวทางในเนื้อหาเอาไว้ชัดเจน แต่การฟอร์มวงนี้ก็ได้ช่วยให้เนื้อเพลงภาษาฮิบรูของเขาบางเพลงได้รับการแปลและดัดแปลงให้เป็นภาษาอังกฤษในนามของวง Blackfield เพลงหนึ่งของ Geffen ที่โด่งดังมากในประเทศคือ Achshav Meunan นั้นได้รับการแปล(ง) เป็นเพลง Cloudy Now ซึ่งมีซาวน์ที่เนียนขึ้นกว่าเดิม และเนื้อหาคงจะได้รับการเผยแพร่อย่าง กว้างขวางกว่าเก่า

"ผมไม่ได้แยกดนตรีของผมออกจากข้อความที่ผมต้องการสื่อเลย สำหรับผมแล้วมันเป็นสิ่งเดียวกัน และข้อความของผมมันก็ง่าย ๆ คือ ทุกคนควรจะมีอิสระที่จะเลือกชีวิตตัวเอง นั่นล่ะ คือทุกอย่างที่ผมอยากบอก"

There Are No Angels In Paradise

"There are no angels in paradise,
here there is only hell that allows only dreams that
there are angels in paradise
But there are no angels
And there is no paradise"

- There are no angels in Paradise -

จากที่ได้กล่าวไปในตอนที่แล้วว่า Aviv Geffen เป็นศิลปินผู้มีความเชื่อมโยงกับฝ่ายซ้ายของอิสราเอล คือขบวนการสันติภาพ (Peace Camp) ซึ่งขบวนการนี้ได้เคลื่อนไหวทั้งด้วยการผลักดันการเมืองและการเชื่อมต่อกับพลเรือน

กลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งในนี้คือองค์กรเอกชนที่ชื่อ Peace Now ซึ่งมีส่วนสำคัญในการเซ็นสัญญาข้อตกลง Oslo แต่ชาวอิสราเอลบางส่วนก็ได้วิจารณ์ในความโปร่งใสขององค์กรนี้เหมือนกัน เพราะรู้มาว่าองค์กรนี้ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป

ขณะเดียวกันก็มีนักหนังสือพิมพ์คนหนึ่งที่ชื่อ Uri Avnery เกิดไม่พอใจในการทำงานของกลุ่ม Peace Now เลยได้ออกมาก่อตั้งกลุ่มของตัวเองที่ชื่อ Gush Shalom ซึ่งเป็นกลุ่มที่สุดแสนจัดจ้านและ Radical เอามาก ๆ แต่ถ้ามองในอีกมุมหนึ่งจัดจ้านก็ทำให้พวกเขาแข็งกร้าวดี โดยเฉพาะในเรื่องการทวงสิทธิ์ให้ชาวปาเลสไตน์การกลับเข้ามาอาศัยในฉนวนกาซ่าและเขตเวสแบงค์อีกครั้ง ทั้งยังบอกอีกว่า การเข้ามาถือครองของอิสราเอลถือเป็นอาชญากรรมทางสงคราม (War Crime) เลยทีเดียว

กลุ่มที่เป็นที่รู้จักอีกกลุ่มหนึ่งคือ National Census (มีอีกชื่อคือ พีเพิ้ลส์วอยซ์) ซึ่ง Sari Nusseibeh ผู้แทนฯ จากปาเลสไตน์ และ Ami Ayalon จากพรรคแรงงานอิสราเอล ร่วมกันตั้งขึ้นมา National Census ได้ร่างข้อตกลงซึ่งตั้งใจจะทำให้ทั้งอิสราเอลและปาเลสไตน์ยอมรับได้โดยอาศัยตัวเนื้อหาที่มีลักษณะประนีประนอมกับทั้งสองฝ่าย ล่าสุดจากการล่ารายชื่อสนุบสนุนผ่านเว็บไซต์ มีตัวเลขผู้สนุบสนุนเป็นชาวอิสราเอลจำนวนกว่าสองแสนห้าหมื่นคน และชาวปาเลสไตน์อีกกว่าแสนหกหมื่นคน

อย่างไรก็ดี นี่คือโลกที่ไม่มีใครเป็นเทวดาอันดีเลิศไร้ที่ติ ขบวนการเพื่อสันติภาพเหล่านี้ก็ได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบจากหลาย ๆ ฝ่าย เรื่องหลัก ๆ ที่ Peace Camp ถูกวิพากษ์วิจารณ์ก็ไม่ได้ต่างไปจากขบวนการเพื่อสันติภาพในบ้านเราเลย อย่างเช่นเรื่องแนวคิดการขาดความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ การให้อภัยต่อความรุนแรงจากผู้ก่อการร้ายปาเลสไตน์ แต่ไม่สนใจต่อสู้เพื่อสิทธิของคนอิสราเอล

พวกซ้ายที่ออกไปในทางโปรปาเลสไตน์ วิจารณ์ข้อตกลงออสโลว่าเป็นแค่การหลอกชาวปาเลสไตน์และเป็นสัญญาลวงโลก ผู้ได้ประโยชน์คือกลุ่มทุนไซออนนิสท์เท่านั้น ขณะเดียวกันฝ่ายขวาเองก็เห็นว่าสนธิสัญญานี้เป็นเพียง "ม้าไม้โทรจัน" ในการช่วยลำเลียงกลุ่มก่อการร้ายให้เข้ามาปฏิบัติการได้ง่ายขึ้นเท่านั้นเอง

ส่วนพวกฝ่ายซ้ายโปรอิสราเอลก็วิจารณ์ขบวนการณ์เพื่อสันติภาพไว้หลายประเด็น ตั้งแต่เรื่องของการพยายามสร้างภาพลบให้กับทหารรักษาความปลอดภัยมากเกินไป การทำให้ชาวยิวรู้สึกเกลียด (ความเป็นยิวใน) ตัวเอง มุ่งการเคลื่อนไหวทางการเมืองมากเกินไปทำให้ขาดฐานคิดทางสังคมและเศรษฐกิจ ไม่สามารถจูงใจฝ่ายที่สนับสนุนอิสราเอลได้เพราะขาดการใส่ใจในฝ่ายที่โปรอิสราเอล

นักปฏิบัตินิยมทั้งหลายก็มองคล้าย ๆ กันในเรื่องของการไม่ใส่ใจพื้นฐานทางเศรษฐกิจและความมั่นคง (ของคนระดับล่างจริง ๆ คนละอย่างกับ "ความมั่นคง" ในรัฐธรรมนูญของประเทศเรา) การไร้ผลในทางปฏิบัติของข้อตกลงออสโล และคิดว่ามันอันตรายเกินไปหากขบวนการมัวแต่ไปเอาใจฝ่ายปาเลสไตน์ (ซึ่งผู้ที่ได้ประโยชน์คงไม่พ้นพวกชนชั้นนำ)

คำวิพากษ์วิจารณ์นี้บางส่วนมันก็ชวนให้นึกย้อนกลับมามองขบวนการสันติภาพในบ้านเราอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะเรื่องในทางปฏิบัตินิยมและมุมมองเชิงเศรษฐศาสตร์ ที่ละเลยไป

แต่ขณะที่บางคนอาจวิพากษ์วิจารณ์บางกลุ่มว่าไม่ออกมาพูดเพื่อผู้บริสุทธิ์ (บริสุทธิ์จริงหรือเปล่า?) ที่ถูกทำร้ายบ้าง ผมอยากขอแสดงความเห็นเสียหน่อยว่าเรื่องพวกนี้ถูกสื่อกระแสหลักเล่นข่าวกันเยอะ และเล่นไปในด้านเดียวจนเละเทะไปหมดแล้ว มันเปล่าประโยชน์ที่จะลงไปร่วมซ้ำเติมด้วย

ผมเองก็ยังเป็นปุถุชนที่ยังมีความหวาดระแวง ผมกริ่งเกรงเรื่องความไม่มั่นคงในชีวิตของคนที่บริสุทธิ์จริง แต่การจะเคลื่อนคล้อยไปกับ Majority ที่กุมวาทกรรมหลักของสังคมไว้อยู่แล้วนั้น

มันฟังดูน่ากลัว และชวนให้หวาดระแวงไม่แพ้กัน

 

Aviv Geffen : นักดนตรีผู้เป็นไอดอลของฝ่ายซ้ายอิสราเอล หรือเพียงแค่นักสันติภาพเพ้อฝัน (1)

16 February, 2008 - 02:06 -- parid

 

"Love films are broadcast late
But violence is allowed at any hour
While on a kibbutz a girl was raped
In the disco they set their spirits free"

- Violence -

เป็นเรื่องธรรมดาที่น้อยคนในบ้านเราจะรู้จักศิลปินหนุ่มจากอิสราเอลที่ชื่อ Aviv Geffen เพราะผมเองกว่าจะรู้จักเขาก็ต้องโยงอะไรหลายทอดอยู่เหมือนกัน

มันเริ่มจากการที่ผมชื่นชอบวงโปรเกรสซีฟร็อค ที่ชื่อ Porcupine Tree แล้วนักร้องนำและผู้กุมบังเหียนของวงนี้คือ Steve Wilson ในขณะที่ยังคงอยู่กับวงเดิม ก็ได้ออกไปมีโปรเจกท์ย่อยคือวง Blackfield ด้วย ซึ่งวงโปรเจกท์ของเขานี้ ก็ตั้งใจว่าจะเป็นวงป็อบร็อค ที่ทำร่วมกับนักดนตรีรุ่นน้องชาวอิสราเอลคนหนึ่ง และนักดนตรีรุ่นน้องที่ว่านี้ก็คือ Aviv Geffen นั่นเอง

ก่อนที่จะมาร่วมทำวง Blackfield นาย Geffen คนนี้ได้เคยมีผลงานอยู่ในบ้านเกิดตัวเองอยู่แล้ว แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ขณะที่เราไม่ค่อยรู้จักเขากันเท่าไหร่ แต่สำหรับที่อิสราเอลแล้วเขาถือเป็นไอดอลร็อคสตาร์ประจำใจคนทั่วประเทศเลยทีเดียว


วง Blackfield : Aviv Geffen (ซ้าย) , Steve Wilson (ขวา)

ในทางดนตรีนั้น Aviv Geffen เป็นนักดนตรีป็อบร็อค ที่มีรูปลักษณ์แบบ Anti-Macho คือ ไม่เสริมคุณสมบัติตัวเองด้วยการอวดเบ่งความเป็นชาย จนบางครั้งอาจไพล่ให้นึกไปถึง David Bowie หรือ Lou Reed สไตล์เพลงของเขาได้รับอิทธิพลจาก U2 , Nirvana , Bob Dylan และนอกจากนั้นแล้วเจ้าตัวยังบอกเองว่าได้รับอิทธิพลอย่างมากจาก Roger Waters นักดนตรี/นักแต่งเพลงผู้มองโลกในแง่ร้ายและเคยเป็นมันสมองในยุคหนึ่งของ Pink Floyd

คงไม่เพียงดนตรีเท่านั้นหรอกที่เขาได้จาก Roger Waters มา แม้แต่การแต่งเนื้อเพลงรวมถึงแนวคิดซ้าย ๆ บางอย่างก็คงได้มาจาก Waters ด้วย (แต่ไม่น่าจะโหดเท่า Waters) เพราะ Aviv Geffen ไม่เพียงแต่เป็นขวัญใจคนหนุ่มสาวเท่านั้น เขายังเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองฝ่ายซ้ายคนสำคัญคนหนึ่งอีกต่างหาก

Geffen ก็เช่นเดียวกับศิลปินผู้ติดความเป็นนักเคลื่อนไหวคนอื่น ๆ เขาคิดจะใช้เพลงของตัวเองเป็นเครื่องมือเปลี่ยนแปลงสังคม เพลงที่เขาเขียนนั้นเต็มไปด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับความรัก สันติภาพ ภาพสะท้อนของยุคสมัย ความเลวร้ายของการสู้รบ และ ...ความตาย

ในฐานะที่อยู่ใกล้ชิดกับเหตุการณ์ เขาต้องกลายเป็นส่วนหนึ่งการต่อสู้เรียกร้องสันติภาพในเหตุความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์อย่างแน่แท้ ในตอนนั้นกลุ่มของอิสราเอลแบ่งเป้นสองค่ายอย่างชัดเจนคือกลุ่มฝ่ายขวาอย่าง ค่ายชาตินิยม (National Camp) กับกลุ่มอิสราเอลซ้ายอย่างค่ายสันตินิยม (Peace Camp) และ Aviv Geffen ก็ได้เลือกที่จะอยู่ข้างเดียวกับกลุ่มสันตินิยม

ในช่วงที่มีการรณรงค์เพื่อสันติภาพอย่างแรงกล้านั้น เขาก็ได้อยู่ในเหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่งในปี 1995 คือเหตุการณ์สังหารอดีตนายกรัฐมนตรีนาย ยิทซ์ซัค ราบิน (Yitzhak Rabin) ขณะปราศัย ณ จัตุรัสกลางเมือง Tel Aviv

ในตอนนั้น Rabin เป็นนายกรัฐมนตรีของอิสราเอลที่มาจากการเลือกตั้ง และช่วงที่เขาเป็นรัฐมนตรีก็มีบทบาทสำคัญในการผลักดันนโยบายสันติภาพ เหตุการณ์ที่มีส่วนสำคัญมากที่สุดคือการทำสนธิสัญญาออสโล (Oslo Accord) ร่วมกับผู้นำปาเลสไตน์ ซึ่งสนธิสัญญานี้เป็นการมอบอำนาจการปกครองบางส่วนของดินแดนในฉนวนกาซ่าและเขตเวสต์แบงก์ ให้กับปาเลสไตน์ แลกกับการหยุดสร้างความรุนแรง

ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องดี แต่สนธิสัญญานี้ก็ได้ทำให้ชาวอิสราเอลแบ่งออกเป็นสองพวกอย่างชัดเจน ทั้งพวกที่เห็นด้วยและชื่นชม พวกนี้จะมองว่าเป็นสนธิสัญญาที่ช่วยหลักดันให้เกิดสันติภาพ ขณะที่ชาวอิสราเอลอีกส่วนหนึ่งกลับมองว่า Rabin เป็นคนทรยศที่มอบดินแดนที่ควรจะเป็นของอิสราเอลให้คนอื่นไป นอกจากนี้ยังได้ออกมาบอกว่าสนธิสัญญาออสโล ไม่ได้ทำให้การก่อการร้ายลดลงเลย มีแต่จะยิ่งทำให้เพิ่มขึ้น แล้วก็ยังมีชาวยิวผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์เหล่านี้

นอกจากนี้แม้ผู้นำองค์กรปลดปล่อยปาเลสไตน์ (ซึ่งองค์กรในตอนนั้นอ่อนกำลังลงมาก) จะยอมรับในข้อตกลงยับยั้งการต่อสู้ด้วยอาวุธและหันมาแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี แต่เนื้อหาส่วนหนึ่งของข้อตกลงได้สนับสนุนสิทธิในการครองดินแดนของไซออนนิสท์ (กลุ่มสนับสนุนแนวคิดว่าดินแดนนี้เป็นของยิว) และเป็นการทำข้อตกลงโดยผู้นำที่ไม่ได้ถามชาวปาเลสไตน์ ทำให้กลุ่มชาวปาเลสไตน์ทั้งฝ่ายชาตินิยมและฝ่ายซ้ายไม่พอใจเช่นกัน

ความไม่พอใจส่งผลบานปลายมาจนถึงในวันที่ 4 พฤศจิกายน 1995 ชาวยิวขวาจัดคนหนึ่งซึ่งไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรงกับสนธิสัญญานี้ ได้วางแผนที่จะสังหารนาย Rabin ขณะที่เขากำลังออกเดินสายสร้างการสนับสนุนสนธิสัญญาออสโลจากประชาชน (ทั้งๆ ที่มันได้ตกลงกันไปเรียบร้อยแล้ว) ซึ่งมือสังหารคนนี้คิดว่า มันจะทำให้ประเทศของเขารอดพ้นจากวิกฤตได้

ในวันเดียวกันนั้นเอง Aviv Geffen ในฐานะนักดนตรีผู้สนับสนุนสันติภาพก็ได้ขึ้นเวทีต่อหน้าผู้คนกว่า 3 แสนคน ที่โห่ร้องปรบมือแสดงความยินดี เขาได้ร้องเพลงบัลลาดที่ชื่อ "Livkot Lecha" ซึ่งเป็นชื่อเพลงภาษาฮิบรู แปลเป็นภาษาอังกฤษคือ "Cry for You" (ฉันร้องไห้เพื่อคุณ) โดยเนื้อหาของเพลงเป็นเหมือนเพลงที่จะร้องให้กับผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว

"Lanetzach achi
ezkor otcha tamid
Venipagesh basof ata yode'a.
veyesh li chaverim
aval gam hem kavim
El mul orcha hameshage'a."

- Livkot Lecha -

"Forever my friend
I'll see you in the end
And we will always be the best of brothers
The friends I have are fine
But in the light you shine
I only see the shadow of the others"

- คำแปลจากเนื้อเพลง Livkot Lecha (Cry for You)

แต่เหมือนชะตาเล่นตลก หลังจากที่จบการแสดงของเพลงนี้แล้ว Geffen ได้เข้าสวมกอดอำลานายกรัฐมนตรี บอกลากันด้วยคำว่า Shalom (ในภาษาฮิบรู คำนี้หมายความได้ทั้ง สวัสดี' ‘ลาก่อน' หรือ สันติ') แล้วหลังจากนั้นอีกไม่นานนัก ขณะที่ Rabin กำลังจะเดินไปขึ้นรถ เขาก็ได้ถูกมือสังหารเข้ามาเหนี่ยวไกใส่สามนัด พิษจากบาดแผลที่ถูกยิงทำให้ Rabin เสียชีวิตในเวลาต่อมา

"ฉันได้กลิ่นของปืนพก" คือปากคำส่วนหนึ่งของ Geffen ตอนที่ให้สัมภาษณ์ลงนิตยสารเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้นวันนั้น

เป็นที่น่าตั้งคำถามว่า นอกจากกลิ่นของปืนพกแล้ว เขาได้กลิ่นของความไม่พอใจกับข้อตกลงนี้ด้วยหรือไม่ หลายต่อหลายครั้งที่คนเราลุกขึ้นมาสนับสนุนโดยที่ยังไม่เข้าใจความซับซ้อนของมันมากพอ เพียงแต่สนับสนุนเพราะมัน "เข้าทาง" สิ่งที่เราคิดฝันไว้เท่านั้นเอง 

หลังจากเหตุการณ์ ได้มีคนค้นพบกระดาษชีทเพลงเปิ้อนเลือดในกระเป๋า เนื้อเพลงในชีทเปื้อนเลือดนั้นคือเพลง Shar Lashalom (Song for Peace-บทเพลงเพื่อสันติภาพ) ซึ่งเป็นเพลงยอดนิยม และเป็นเหมือนเพลงประจำของกลุ่มซ้ายสันติในอิสราเอล โดย Rabin ได้ขึ้นร้องเพลงนี้ร่วมกับ Miri Aloni บนเวที ก่อนที่จะถูกสังหาร

มันฟังดูตลกร้ายตรงที่มีคนคิดว่าเพลง "Cry for You" ที่ Geffen ร้องในวันนั้นกลายเป็นเหมือนลางบอกเหตุสำหรับเหตุการณ์สังหารนาย Rabin อยู่กลาย ๆ แล้วเหตุการณ์นี้ยังทำให้ในเวลาต่อมาเพลง "Cry for You" กลายเป็นเพลงแห่งยุคสมัยสำหรับนักโปรโมทสันติภาพในอิสราเอลเลยทีเดียว

เหตุการณ์ในครั้งนั้นอาจจะเป็นเรื่องน่าตกใจสำหรับหลายๆ คน แต่ก็น่าเห็นใจมือสังหารผู้นั้นอยู่เหมือนกัน เพราะแทนที่เขาจะได้ในสิ่งที่หวัง แต่กลับกลายเป็นทำให้ชื่อของ Rabin ถูกนำไปใช้ในการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ของฝ่ายซ้ายไปเสีย (ยังไม่นับว่ามีคนโยงเรื่องนี้กับทฤษฎีสมคบคิด ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่ามาจากทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา)

ผมเองก็ไม่อาจทราบได้ว่าศิลปินผู้เลือกข้างอย่างชัดเจนเช่น Aviv Geffen จะเข้าใจความซับซ้อนของเหตุการณ์นี้ขนาดไหน แต่สิ่งที่พอจะรู้คือมันได้ทำให้ความคิดและจิตใจของเขาเปลี่ยนไป จากเดิมที่เขาเคยมีด้านที่จัดจ้าน เคยเขียนเพลงประท้วงแบบถอนรากถอนโคน (Radical) ก็เริ่มสุขุมเยือกเย็นและอ่อนโยนขึ้น เพลงของเขามีเนื้อหาการเมืองน้อยหรือเบาลง ขณะเดียวกันก็มีความลึกซึ้งกว่าเดิม

เขาได้บอกกับนิตยสารที่ให้สัมภาษณ์ว่า "ในอิสราเอลมันมีความกดดันมากพออยู่แล้ว มันไร้ประโยชน์ที่จะโยนน้ำมันลงไปในกองไฟ"

ความรู้สึกสะเทือนใจ เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ แต่ขณะเดียวกันมันก็ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือได้ ไม่ว่าจะโดยฝ่ายใดก็ตาม แต่ผมลองคิดในด้านดีของมันว่า หากความสะเทือนใจในระดับปัจเจก มันได้รับการกลั่นกรองผิดถูกในสำนึกของแต่ละคน มันอาจจะทำให้คนๆ นั้นเติบโต และเรียนรู้จากสิ่งที่ผิดพลาด หรือไม่งั้นก็เป็นสิ่งที่ช่วยกระแทกปลุกให้ตื่นจากความฝันได้

แล้ว Geffen เอง จะเติบโตจากสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ได้ขนาดไหนกัน

...ไว้คราวหน้า จะมาพูดถึงชีวิตและดนตรีของ Aviv Geffen รวมถึง Peace Camp ที่เขาสังกัดอยู่ด้วย

พอเขียนมาถึงตรงนี้ อารมณ์ของผมมันก็ไม่ค่อย Love and Peace เท่าไหร่แล้ว

 

 

Pages

Subscribe to ชาติพันธุ์