รวิวาร
เริ่มแรกที่เขียนทำให้ได้พบว่า ฉันไม่เคยสื่อสารในลักษณะนี้มาก่อน ฉันพูดกับตัวเองมาตลอด เขียนบันทึก ห้วงรำพึง โดยไม่ได้คำนึงว่ากำลังพูดอยู่กับใคร ไม่เคยหวั่นว่าเนื้อหาจะลอย ข้ามไปข้ามมา อ่านไม่รู้เรื่อง เรื่องสั้นหรือบทกวีที่เคยเขียนล้วนแต่เป็นส่วนตัวอย่างยิ่ง เหมือนเล่าออกไปในน่านฟ้าอากาศ เป็นรูปแบบที่เมื่อเผยแพร่ออกไปแล้วมีผู้คนมากมายได้อ่าน แต่ก็เสมือนผู้อ่านนามธรรม จนกว่าเราจะรู้จักกันจริง ๆ ฉัน ซึ่งคิดว่าการเขียนเป็นเรื่องง่ายดายเมื่อรู้แน่ว่าจะกล่าวสิ่งใด จึงรู้สึกติดขัด ไม่ลื่นไหล คิดถึง “ต้นไม้” แต่ก็ไม่รู้แน่ว่าอย่างไร ฉันปล่อยให้ตัวอักษรนำพา ให้ความรู้สึกเคลื่อนไป มันจะต้องนำไปสู่สิ่งใดสักสิ่งแน่ละ ดูสิว่า การเขียนอย่างไม่ควบคุมจะเป็นไปได้แค่ไหน เรามีความอึดอัด และใฝ่ฝันมาตลอดที่จะเขียนแบบไร้พล็อต มันอาจมีพล็อต แต่ต้องไม่ใช่พล็อตที่มาจากการวางแผนไว้ล่วงหน้า หรือคิดสาระตะเสร็จแล้ว ฉันเคยทดลองเขียนเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งแบบที่ว่า ปรากฏว่าเรื่องราวได้เรียบเรียงตัวมันเอง กับงานร้อยแก้วชิ้นหนึ่ง ซึ่งออกมามีเนื้อหาใจความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จึงสรุปกับตัวเองว่า ที่แท้ในหัวสมอง ทุก ๆ วันมันคิดต่อเนื่องกันมานาน เพียงแต่ลึกขึ้น ๆ และแตกรายละเอียดไปเรื่อย ๆ ตามวันเวลา พอลงมือเขียน เจ้าความคิดความรู้สึกเหล่านั้นก็หลั่งไหลออกมา .................................................................... ที่หน้าบ้านมีต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง มันเก่าแก่โบราณมาก ยังคงลักษณะไม้ป่า เป็นไม้ประดู่หุ้มด้วยไทร ต้นไม้นี้โดดเดี่ยว สูงใหญ่ มองเห็นได้แต่ไกลเราสามารถมองดูต้นไม้นี้ได้เต็มตา ตั้งแต่จากโคนจรดเรือนยอด เนื่องจากไม่มีไม้อื่นนอกจากลำไยตัดแต่งพันธุ์ต้นเตี้ยเว้นที่อยู่ห่าง ๆ มันทาบลำต้นและกิ่งก้านสาขาเต็มฟ้า ยืนหยัด เด่นสง่า ทั้งกลางวันกลางคืน แน่วนิ่ง เปียกปอนอยู่ในสายฝน เลือนรางกลางป่าหมอก และส่งเสียงเปาะแปะเหมือนฝนตกยามรุ่งสาง เมื่อหมอกยามอรุณกลั่นตัวลงเป็นหยดน้ำกระทบกับใบ มันอยู่ห่างจากรั้วบ้านของฉัน ในเขตสวนของใครบางคน ซึ่งความหวาดผวาจับติดใจไม่จางว่า สักวันหนึ่ง ไทรสูงสง่าต้นนี้จะล้มลงมาทับลำไยน้อย ๆ ซึ่งจะนำเงินหลักแสนมาให้ครู ,สถาปนิก ,มนุษย์ แสงอรุณ รัตสิกร รักต้นไม้มาก ท่านซื้อที่ดินเมืองเหนือผืนหนึ่ง เพียงเพื่อรักษาต้นไม้ใหญ่ที่รู้สึกรักราวกับปู่ ไม้นั้นขึ้นอยู่กลางที่ดินผืนนั้น เพื่อนคนหนึ่งบอกฉันว่า หากเจ้าของคิดจะโค่น ให้ฉันขอร้องเขา ถ้าเขาไม่ยอมก็ให้ขอซื้อ เธอจะพยายามรวบรวมเงินอย่างสุดความสามารถเพื่อให้มันได้มีชีวิตสืบไป ใช่แต่เธอคนเดียวหรอกเพื่อนเอ๋ย...ต้นไม้อายุยืนกว่าพวกเรามากมายนัก ไม้ชราล้วนแต่อยู่ในป่าเหลือเพียงไม้ต้นนี้ ฉันมีเพียง ต้นไม้ต้นนี้แทนสายใยสุดท้าย...ฉันเห็น วันหนึ่ง ขบวนต้นไม้พากันวิ่งออกจากเมืองตอนฟ้าสาง มันเตลิดร่อนไปบนถนนอย่างอิสระ และป่าเถื่อนเขาเป็นพวกต้นไม้ที่ถูกล้อมไปขายตลาดต้นไม้ในเมืองที่ฉันนั่งรถผ่าน และเห็นเขากำลังจะตาย ด้วยเหลือวิญญาณอยู่เพียงหนึ่งส่วน บนต้นไม้ใหญ่ของฉันมีรังนกหลายร้อยรัง กระจิบกระจาบ ต้อยตีวิด ปิ๊ดตะลิว นกปีกสีฟ้าที่ฉันจำชื่อไม่ได้ รวมทั้งดุเหว่า ใต้โคนต้นมีนกกระปูดปีกส้มมันปลาบตัวเขื่อง บินเรี่ย ๆ กระโดดจิกหาอาหารไปมาเวลาเช้า เย็น ยังเป็นที่อยู่ของตุ๊กแก เป็นที่ที่อีกาไล่ล่าเหยื่อ และเหยี่ยวแดงสองผัวเมียบนเชิงผาที่ชอบบินโฉบมาหยอกพวกปักษีฟ้าเหนือดอยใสกระจ่างอยู่เสมอ โดยเฉพาะฤดูหนาว ฟ้าสีครามเหมือนเพิ่งลงสีใหม่นั้นจะดูสดสว่างงามจับตาเมื่อทาบด้วยเรือนยอดสีเขียวเลื่อมพราว กลางคืนดื่นดึก ดวงดาวห้อยย้อยลงมาจวนเจียนจะถึงดิน เด็ก ๆ พากันเรียกว่าต้นไม้คริสตมาส ด้วยมีดาวเล็กดาวน้อยชำแรกส่องแสงอยู่ตามกิ่งก้านเต็มไปหมด รวมทั้งดวงดาราหนึ่งที่สุกใสส่องประกายเหนือยอด ดาวเหนือ เข็มทิศของคนเดินทาง ดาวประกายพรึก ดาวประจำเมือง หรือดาวอะไรก็ตาม ความสุกสว่างของมันทำให้จิตใจของเราเฟื่องฟูด้วยความหวัง ขอบคุณจ้ะต้นไม้... ฉันดีใจที่เธออยู่ที่นี่ แม้เธออาจจะรู้สึกเศร้าเมื่อหวนนึกถึงความหลัง ที่นี่เคยเป็นดงเสือดุ ผู้คนไม่กล้าผ่าน รอบตัวเธอคงแน่นขนัดด้วยเพื่อนไม้ใหญ่ กลิ่นอายไพรพฤกษ์คงเข้มข้น น่าหวั่นเกรงสำหรับมนุษย์ ถึงแม้ ต่อมาไม่นาน เธอจะได้รู้ในที่สุดว่าท่ามกลางบรรดาสัตว์เล็กสัตว์น้อย มนุษย์อันตรายที่สุด ...มนุษย์ได้รับเกียรติจากพระเจ้า ให้สามารถคิด สงสัย และตัดสิน เราได้รับเสรีภาพให้คิดโดยอิสระ ปราศจากรูปแบบตายตัวกำหนด แต่แล้ว เรากลับเข้าใจผิด แยกตัวเองจากแหล่งที่มา สร้างความคิด ผลิตสิ่งต่างๆ ที่เป็นอันตรายต่อโลก ชีวิต และตัวเอง เราคือธรรมชาติ เช่นเดียวกับต้นไม้ เป็นส่วนหนึ่งของชีวาลัย เราเป็นอีฟและอดัมไม่เคยเปลี่ยน แท้จริงเราหาได้อาศัยเพียงคาร์บอนมอนนอกไซด์จากต้นไม้เท่านั้น ทว่า ในร่างกาย สายเลือด สมอง เซลล์ทุกเซลล์ ทุกอารมณ์ ความคิด ความรู้สึกของเราอิงอาศัยพวกเขา ต้นไม้ ภูเขา แม่น้ำ ท้องฟ้า ผืนดิน จักรวาลและดวงดาวทั้งปวง ความรู้บนความเข้าใจผิดไม่อาจแยกเราออกจากธรรมชาติได้ ฉันพบว่า ความน่าเกลียดทั้งหลาย จากสิ่งก่อสร้าง เคหาสถ์ อาคารสถาน และจากดวงจิตมนุษย์ เช่นความทุกข์ ความโกรธเกลียด ริษยาขัดแย้ง เกินกว่าครึ่งสามารถสลายไป พลันที่ได้เข้าไปอยู่ท่ามกลางหมู่ไม้ เราไม่ต้องทำอะไรเลย เพียงแค่เข้าไปนั่งเล่นใกล้ ๆ ต้นไม้ หรือพยายามปลูกต้นไม้ ดอกไม้ให้มากที่สุด ทุก ๆ ที่ ทุกหนแห่งครูแสงอรุณ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นนักเรียนฝึกงานในสำนักของสถาปนิกแฟรงค์ ลอย ไรท์ผู้ยิ่งใหญ่ คือผู้สามารถสัมผัสวิญญาณป่าและเข้าใจภาษาต้นไม้ มีคนไม่กี่คนที่ได้ยินเสียงเรียกของต้นไม้ เขามีอาการเหมือนเดินละเมอ ตรงเข้าไปโอบกอดต้นไม้ ลืมความเก้อกระดาก เมื่อคิดว่า คนอื่นอาจเข้าใจไปอย่างหมั่นไส้ว่า เขาเป็นพวกโรแมนติก รักธรรมชาติ หรือแสดงอาการเกินเหตุ ทว่า เขาก็ไม่สามารถหักห้ามใจ ต้นไม้แสนดีเหลือเกิน อบอุ่นภายใต้เปลือกสัมผัสขรุขระกระด้าง เขารู้สึกได้ถึงบางสิ่งบางอย่างข้างใน พลังบริสุทธิ์ สะอาด และเยียวยาจากธรรมชาติ ที่ทำให้เขารู้สึกเหมือนเป็นอีกคนภายหลังกลับจากป่าไม้ ................................................................................หน้าหนังสือพิมพ์วันนี้มีทั้งข่าวดีและข่าวร้าย ข้อมูลเรื่องโลกร้อนที่เปี่ยมด้วยความรู้สึกห่วงใย และคำชักชวนให้ช่วยกันแก้ไข กับอีกข่าวหนึ่ง ...ขอโทษด้วยนะจ๊ะต้นไม้ ในนามของมนุษยชาติ พวกเขาหยอดยาฆ่าหญ้าชนิดดูดซึมเข้มข้นเข้าไปในสักทองต้นตรงสูงใหญ่ กรีดเซาะโคนต้น ผ่าแยกแหวกเป็นโพรง แล้วโยนยาพิษเข้าไป คอยให้ต้นไม้ตายทั้งเป็น สะดวกแก่การลากพาออกจากป่า เมื่อไหร่เราถึงจะรู้ว่า เรากำลังทำลายชีวิตตัวเอง เราพากันควงสว่านยักษ์ บุกตะลุยเจาะพื้นโลกจนพรุนเพื่อขุดหาน้ำมันและสินทรัพย์มีค่า เรากวัดแกว่งเลื่อยเหล็กตัดไม้ทุกต้นที่เอื้อมถึงได้ในป่า หว่านยาพิษลงบนพื้น ทิ้งสารเคมีและสิ่งโสโครกลงสู่ทะเลและแม่น้ำ พ่นควันพิษปริมาณมหาศาลขึ้นไปในอากาศ ทุกวัน ทุกเวลา จากนั้นก็บอกว่า... “ช่วยไม่ได้! วิถีของโลกเป็นไปอย่างนี้ นี่คือธุรกิจ นี่คือระบบเศรษฐกิจ นี่คืออารยธรรม” อารยธรรมแบบไหนกันที่เผาบ้าน ทำลายฐานที่มั่นของตัวเอง จากนั้นชิงหนีโลกไป ปล่อยให้ลูกหลานไปตายเอาดาบหน้า !ขอโทษจ้ะต้นไม้ ขอโทษอีกครั้ง ความกราดเกรี้ยวรุนแรงไม่อาจช่วยแก้ไขปัญหา ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับมนุษย์ เมื่อถูกพรากจากตัวเองไปเป็นเวลาสองพันปี สองพันปีแห่งอารยธรรมที่เราคิดว่าตัวเองเป็นศูนย์กลาง และมีอำนาจจัดการกับทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ถึงอย่างไร เรา –ฉัน จะทำเท่าที่ทำได้ จะคิดไปให้สุดความคิด รู้สึกให้เต็มความรู้สึก เพื่อที่จะประกาศ กระทำ ชักชวน บอกเล่า ให้โลกธรรมชาติรอบ ๆ ตัวฉันและคนใกล้ชิดเยียวยาฟื้นคืน ให้ทุกคนที่ฉันรู้จัก จดจำและตระหนักได้ว่า เราทำอะไรลงไปขออย่าให้ความรักต้นไม้นี้เป็นเพียงอารมณ์โรแมนติก สายลมพัดกิ่งไม้ไหว ดอกไม้ ผีเสื้อ แต่จงเป็นเชื้อเพลิงแห่งปาฏิหาริย์เรียกความเป็นมนุษย์กลับคืน เป็นเผ่าพันธุ์ซึ่งตระหนักขึ้นในที่สุดว่าตนเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ และ เรา- ผู้ซึ่งได้รับอภิสิทธิ์ในการถือคฑาแห่งสวรรค์ และอาวุธทำลายล้างของซาตาน ไม่อาจอยู่ได้โดยปราศจากป่าไม้ สายน้ำ ผืนดินอุดม และท้องฟ้าสวยบริสุทธิ์
อิทธิฤทธิ์ ประคำทอง
ในงานนิทรรศการออกร้านเพื่อจำหน่ายสินค้าของที่ระลึกและของแต่งบ้านปีหนึ่งนานมาแล้วที่บังเอิญได้ไปเดินดูและเลือกซื้อข้าวของ ในมุมหนึ่งของงานซึ่งเป็นการออกร้านสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้าน และต่างประเทศอื่นๆ ตะกร้าสานจากกาน่าเหมือนจะได้รับความนิยมจากผู้คนที่เดินในงานมากเป็นพิเศษ สินค้าจำพวกเฟอร์นิเจอร์ไม้และไม้แกะสลักในร้านจากอินโดนีเซียก็ได้รับความสนใจไม่น้อย ร้านของเวียดนามและกัมพูชาที่อยู่ถัดๆ มาก็มีผู้คนเข้าไปชมสินค้ากันคึกคัก แต่เหตุไฉนร้านค้าซึ่งเป็นสินค้าตัวแทนจากประเทศลาวหรือ สปป. ลาว บ้านใกล้เรือนเคียงของเราจึงได้หงอยเหงาว่างไร้ทั้งคนซื้อหรือเยี่ยมกรายเข้าไปชมถึงเพียงนี้ถึงจะไม่มีผู้คนเข้าไปเยี่ยมเยียนหรือเลือกซื้อสินค้าในร้านจากลาวร้านนี้ก็ตาม แต่ผลิตภัณฑ์จำนวนมากมายซึ่งล้วนแต่เป็นผ้าฝ้ายทอมือต่างขนาดสีสันและลวดลายกลับมีความสวยงามต้องตาต้องใจอยู่ไม่น้อย เรารับรู้ได้ทันทีถึงบางสิ่งบางอย่างที่เป็นความพิเศษที่มีอยู่ในลักษณะการทอและการตัดเย็บแปรรูปให้ออกมาเป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์ของข้าวของเหล่านี้ แต่ถึงจะชื่นชอบและอยากจะซื้อหาก็ต้องพบกับความผิดหวัง เมื่อชายคนหนึ่งที่อยู่ประจำร้านข้างๆ เดินเข้ามาบอกว่าคนขายที่ร้านนี้เขารู้สึกไม่ค่อยสบายเลยกลับไปก่อน แต่เนื่องจากยังไม่ถึงเวลาปิดงานเลยต้องเปิดร้านเอาไว้ก่อน และบอกให้เลือกดูตามสบายแต่คงขายให้ไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าอะไรราคาเท่าไหร่ เมื่อไม่มีโอกาสจะเป็นเจ้าของผ้าชิ้นที่หมายตาเอาไว้ สิ่งที่ทำได้จึงเพียงแต่จดจำและเรียนรู้ว่าผ้าทอเหล่านี้เป็นฝีมือของใครมาจากที่ใด...ในประเทศลาวนั่นเป็นปฐมบทที่ทำให้ได้รู้จักและจดจำ ‘ผ้าละหา’ ได้ จากการพบปะกันหนแรกที่กรุงเทพฯ...หลวงพระบาง 2549ปลายปี 2549 เมื่อลมหนาวพัดโชยและอากาศก็หนาวเย็นสมดังที่กำลังเดินทางกลางฤดูหนาวในดินแดนที่อุดมด้วยภูเขาของภาคเหนือของลาว แต่ถึงกระนั้นแดดก็แผดสีจนบ้านเมืองผู้คนริมฝั่งโขงแห่งนี้ต้องแสงสว่างดูน่าสนใจไปทั่วหลวงพระบาง จุดหมายปลายทางของคนไทยหลายคนตระหง่านและตระการตารอคอยอยู่ในฐานะเมืองเก่าอย่างเมืองเชียงทองซึ่งตั้งอยู่บนที่ราบระหว่างแม่น้ำโขงและน้ำน้ำคานสายเล็กๆในอดีตเมืองแห่งนี้มีเจ้าแผ่นดินประทับอยู่ แต่ปัจจุบันพระราชวังเดิมได้กลายมาเป็น “พิพิดทะพันแห่งซาด” หลวงพระบาง ที่บางคนอาจจะคุ้นเคยสายตาจากภาพต้นตาลสูงลิ่วนำสายตาไปสู่ตัวอาคารพระราชวังสีขาวในแนวระนาบอาจจะด้วยโชคชะตาต้องตรงกันก็ว่าได้ ยามสายวันหนึ่งที่เราออกไปเดินแถวกลางเมืองย่านถนนคนจีน ใกล้ทางขึ้นยอดพูสีและฝั่งตรงข้ามของพิพิธภัณฑ์ซึ่งเคยเป็นวังเก่านั่นเอง เราได้พบร้านค้าบนอาคารเก่าสไตล์ฝรั่งยุคโคโลเนียล ซึ่งวางตัวอยู่ข้างๆ ทางขึ้นพระธาตุพูสีที่มีนักท่องเที่ยวพลุกพล่านนั่นเอง ซึ่งที่นั่นก็คือที่ตั้งของร้านผ้าฝ้าย “ละหา” ที่เราประทับใจและอยากจะซื้อผ้ามาแต่คราวได้เห็นตัวอย่างงานที่กรุงเทพฯร้านละหาที่เคยเป็นวังนอกมาก่อน หลวงพระบาง ในสัมผัสนั้นเรารับรู้อีกครั้งว่า “ละหา” ไม่ใช่ผ้าทอมือธรรมดาๆ แต่เป็นระดับสินค้าแบรนด์เนมส่วนหนึ่งของลาว อันเนื่องมาจากการเลือกเปิดร้านขึ้นบริเวณนี้ในลักษณะเป็นร้านค้าเดี่ยวๆ บนอาคารเก่าแก่สวยงาม ลักษณะจัดร้านที่เปิดให้คนเข้าไปชมได้ทั้งชั้นล่างและชั้นบน และตัวผลิตภัณฑ์ที่แม้จะเป็นผ้าฝ้ายแต่ก็สื่อได้อย่างเป็นสากลในวันนั้นคนขายประจำร้านที่เป็นชายหนุ่มบอกว่ากำลังมีการลดราคา 20 เปอร์เซ็นต์เป็นคริสต์มาสเซลล์ก็ว่าได้ ทำให้ได้เป็นเจ้าของผ้าฝ้ายละหาอย่างสมใจเอาที่เมืองหลวงพระบางนี่เองจากเวียงจันทน์ถึง ‘ละหา’ 2549หลังการเดินทางในแดนเหนือหลายวันในลาวก็ได้เวลากลับเข้าสู่เวียงจันทน์ นครหลวงโบราณและยังคงเสน่ห์ของความเล็กๆ น่ารักอีกแห่งหนึ่งของอินโดจีนยามนั้นที่เวียงจันทน์มีลมหนาวพัดโชยและลมเย็นอย่างที่ฤดูหนาวควรจะเป็นอยู่รายรอบ...อย่างไม่ตั้งใจอีกครั้งครา จากการเดินเล่นไปรอบๆ บริเวณกลางเมืองเพื่อหาอะไรรับประทานและซื้อหาข้าวของก่อนเดินทางกลับสู่ไทยในเย็นวันเดียวกัน ก็บังเอิญได้พบเข้ากับร้านละหาสาขาเวียงจันทน์เข้าอีกครั้งหนึ่งร้านละหา เวียงจันทน์คราวนี้บรรยากาศดูแตกต่างไป ร้านผ้าฝ้ายทอมือละหาที่ลาวเป็นเพียงห้องเสื้อที่เปิดอยู่ในอาคารห้องแถวธรรมดาๆ มีการตกแต่งสไตล์ธรรมชาติหรือคันทรี่เพื่อสื่อถึงที่มาของผลิตภัณฑ์ แต่ก็เรียกได้ว่าเน้นการโชว์ให้เห็นเสื้อผ้าและสินค้าในห้องห้องหนึ่งระหว่างที่การเลือกดูข้าวของในร้านอยู่นั้นก็มีสตรีวัยกลางคนแต่งกายเรียบง่าย แต่น้ำเสียงและท่าทีที่พูดกับคนในร้านที่ดูเป็นผู้หลักผู้ใหญ่คล้ายกับจะเป็นหัวหน้าหรือเจ้าของของที่นี่อยู่ในที แล้วทันใดนั้นจากภาพที่ประดับตกแต่งไว้ตามข้างฝาผนังในร้าน ไม่ว่าจะเป็นภาพตอนที่ได้รับรางวัลหรือการยกย่องเกียรติคุณจากรัฐบาลลาวและหน่วยงานด้านการพัฒนาระดับชาติต่างๆ และมีภาพตอนเข้าเฝ้ารับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ของไทยคราวเสด็จเยือนลาวด้วย ทำให้จดจำได้ว่าหญิงในภาพน่าจะเป็นหญิงผู้นี้ซึ่งเป็นเจ้าของผ้าละหาด้วยถัดมาคือวาระแห่งการทักทาย ทำความรู้จักและสนทนาแลกเปลี่ยนถึงที่มาและแนวคิดในการทอผ้าฝ้ายทอมือและแปรรูปออกมาได้อย่างสวยงามและมีความเป็นสากลกับ นางสงบันดิด ยดมั่นคง (Madam Songbandith Nhotmankhong) ในร้านละหาที่เวียงจันทน์ นางสงบันดิด ยดมั่นคง“ละหามาจากชื่อของหมู่บ้านที่เป็นบ้านเกิดในแขวงสะหวันนะเขตทางใต้ของลาว เริ่มทำเสื้อผ้าหรืองานด้านการ์เมนต์ส่งออกสิ่งทอเมื่อประมาณสิบกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้มีประสบการณ์ด้านการตัดเย็บและส่งออก จากการที่ทำการ์เมนต์มาเห็นแนวโน้มที่ไม่ดี คิดได้ว่าหากไม่ทำสินค้าที่เป็นแบรนด์ของตัวเองออกมาคงจะไปไม่รอดแน่ๆ ก็เลยคิดว่าน่าจะมาฟื้นของเก่า ตั้งแต่สมัยยายหรือแม่ที่เคยเห็นว่าทอผ้าและตัวเองก็ทอเป็นผูกลายให้สีเป็น เลยคิดว่าเราน่าจะเอาจุดนี้มาทำโชคดีว่าทำตัวอย่างแรกของผ้าทอออกมาชุดหนึ่งส่งไปให้ญี่ปุ่นดูก็ได้รับความสนใจมากและมีการสั่งออเดอร์มาเลย แต่เนื่องจากตอนนั้นยังไม่มีประสบการณ์พอ ได้ออเดอร์แต่ก็ไม่มีวัตถุดิบ เลยต้องใช้วิธีการไปซื้อฝ้ายและซื้อผ้ามาจากชาวบ้านเพื่อเอามาทำให้ทันที่เขาสั่งตอนนี้ละหาส่งออกผ้าไปขายให้บริษัทญี่ปุ่นเป็นหลักมีทั้งหมด 15 บริษัทเพื่อให้มีรายได้จ่ายให้กับลูกน้องในสามหมู่บ้านและต้องมีค่าใช้จ่ายนับหมื่นดอลลาร์ต่อเดือน การทำงานกับชาวบ้านก็จะมีปัญหาเรื่องวินัยเราจะต้องดุคนเป็นหรือจะต้องคุมเข้มได้ แต่โชคดีว่าที่บ้านสมัยปู่และพ่อเป็นคนที่มีบารมีที่ชาวบ้านนับถือ ทำให้ชาวบ้านเชื่อถือ เชื่อฟังและตั้งใจทำงานให้จากการยอมรับนับถือที่ชาวบ้านมีให้ในจุดแรก เราก็จะต้องใช้ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ที่มี พอดีว่าเราเป็นคนที่มีความรู้ได้เรียนหนังสือมาทางด้านจิตวิยาเยาวชนที่รัสเซียก็เลยเอาความรู้จุดนี้มาช่วยในการทำงานทำให้ทำงานด้านความคิดกับชาวบ้านได้และเราถือว่าเป็นการช่วยเหลือชาวบ้านที่เราทำงานด้วยและเราต้องสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นด้วย อย่างการจ่ายเงินให้ชาวบ้านก็ต้องจ่ายให้ตรงเวลาและให้รายได้ที่ดีพี่กับสามีช่วยกันออกแบบลายผ้า จนทุกวันนี้เราสามารถออกแบบลายออกมาเป็นผืนผ้าได้ด้วยคอมพิวเตอร์ เพราะสามีเรียนมาทางด้านวิศวกรรมมาจากเยอรมัน แม้ว่าเราจะทำงานกับชาวบ้านหรือใช้การย้อมสีด้วยธรรมชาติทั้งหมดก็ตาม แต่การควบคุมเรื่องการใช้สีและการย้อมสีเราจะต้องเป็นคนทำเอง เพราะถ้าให้คนอื่นทำก็ได้ออกมาไม่เหมือนเราทำเอง ตอนนี้เราสามารถย้อมสีจากธรรมชาติออกมาได้ถึง 62 สีและแต่ละปีก็จะมีการคิดสีใหม่ๆ เกิดขึ้นมาเรื่อยๆพี่เป็นคนที่ชอบทำงานและชอบคิดลายใหม่ๆ อย่างตอนนั่งรถไกลๆ ไม่จะเป็นจากสะหวันนะเขตมาเวียงจันทน์ก็ไม่เบื่อเพราะได้ใช้เวลาคิด เกิดความคิดอะไรก็จะเอามาขีดๆ เขียนๆ เก็บไว้” นางสงบันดิดเล่าทั้งความเป็นมาและการทำงานให้ฟังอย่างละเอียด"พี่เคยทอผ้าถวายให้กับสมเด็จพระเทพฯ ด้วยเมื่อตอนที่เสด็จเปิดสะพานมิตรภาพที่สะหวันนะเขต โดยทอเป็นลายนาคไต่ขัวบัวพันชั้น ซึ่งเป็นลายผ้าโบราณของลาวที่ทอยากมากและมีความสวยงามมากและพระองค์ก็ทรงโปรดมาก”คืนนั้นระหว่างโดยสารบนรถไฟตู้นอนจากหนองคายกลับเข้ามากรุงเทพฯ แม้อากาศจะเย็นแต่เราก็รู้สึกอบอุ่นเมื่อควักเอาผ้าห่มละหาที่มีสีสันเป็นเอกลักษณ์ขนาดย่อมๆ ที่ตัดสินใจซื้อมา (ด้วยสนนราคาที่หากคิดว่าแค่ผ้าฝ้ายทอมือราคาเท่านี้แล้วย่อมขัดแย้งกันอยู่มาก) เมื่อตอนกลางวันขึ้นมาห่มอย่างสุขใจป.ล. ในปี 2551 ถ้าใครได้บังเอิญเดินทางผ่านไปสะหวันนะเขต ฝากเยี่ยมพี่ท่านนี้ด้วยที่อยู่ของโรงงานผ้าละหา:Thong Laha Sinh248 Factory: P.O.Box 157Savannakhet Province, Lao PDRTel:(856) 41-212-398Fax:(856) 41-212-316เว็บไซต์ของผ้าละหา www.lahasinh.comEmail : lahasinh@hotmail.com
แสงพูไช อินทะวีคำ
โอน้อ เจ้าผู้พ้วดอกอ้ม ผมพี่ดำนิน เฮียมเอยผมดำงามพอดูช่างตื่มสีแดงเข้มดำแดงคนเขาเอี้นสองสีแตกต่างสังมาอยู่ฮ่วมเค้าเกสาเจ้าผู้เดียวน้องบ่ออยากเว้าเลี้ยวเว้าล่ายความจริงมีบ่อนอีงจริงมาจา ว่ากันตามเรื่องย่อนมันเคืองคาข้อง หม้องใจน้องอุ่นความคิดเป็นว่าวุ้น นำอ้ายบ่าวพี่ชายน้องนี้หมายอยู่ซ้อนเฮียงฮ่วมชายเดียว อ้ายเอยคนอื่นนางบ่อเหลียวม่ายตานางซ้ำกรรมหยังนางบ่อฮู้ มาเห็นชายจริงหวังฮ่วมหวังอยากมาฮ่วมซ้อน นำอ้ายแต่ผู้เดียวแต่ว่าอ้ายพัดเบี้ยว แปล เปรียนสัญญาว่าสิแปลงผมยอย ย่อนลงทางหน้าชายสิเอามันถี้ม ให้เป็นสีดำธรรมชาติบาดมาเห็นเทื่อนี้ หูอ้ายพัดบ๋องกลางหูเป็นยอยเพราะใส่ต้างใจพี่ต่างคราวหลังสังบ่อเป็นครืเฮาจา ว่ากันคราวนั้นความฝันเป็นลมแล้ง นอนสะแคงไห้จ่มอกระทมแทบม้าง หัวใจอ้ายช่างเปรี่ยนแปรงแยงหมู่ดาวอยู่ฟากฟ้า ตานางส่องละเมีหาครืสิเห็นชายมาก่าวจา ดอมน้องผมผ่องหูของอ้าย ชายก็แปรงแปลเปี่ยนเป็นบทเฮียนแก่อ้าย ชายฮู้เมื่อคีงหากบ่อจริงดั่งเว้า เมือตื่นจากความฝันอกกะสันชวงระทมผู้ขื่นขมคืรน้องลมตีตองใบกร้วยปลายชานพัดวีว่ำอกระกรรมนั่งไห้ สัญญาฮ้างถูกลืมมื้อใดฟ้ามืดครื้ม ฮ้องหื่มโหยหวนปั่นปวนในอุลานาง ฮักบ่อจางแต่มายม้างทางฮักเฮาเวเวี้ง เพราะชายเวีงเวห่างสัญญาจริงถูกม้าง ให้เฮาฮ้างห่างกันความฝันสิอยู่ซ้อน นอนเสื่อเฮียงหมอนครืนกเขาลาครบ่อนเดีมบ่อคืนโค้งเหมือนดั่งหงลาน้ำ บ่อคืนมาวังเก่ากอดเข่าได้แต่ไห้ ใจสะอื้นอ่าวหลังความหวังมาขาดสิ้น เมื่อพี่ห่างลาไกลใจนางม้วหมองทุข์ อั่งทวงเทกั้นจิดกระสันฮักมาม้าง ฮักอำพางหลวงหลอกบอกว่าฮักเท่าฟ้า ให้นางบ้าป่วงบ่อเช่า แท้น้อ
พันธกุมภา
พันธกุมภาถึง มีนาอย่างที่เธอได้บอกฉันนั่นแลว่า กว่าคนเราจะสามารถเอาใจมาอยู่กับกายได้นั้นต้องใช้เวลาและให้โอกาสตัวเองพอสมควร ซึ่งหลายคนอาจไม่เคยคิดเลยว่าทำไมต้องเอาใจมาอยู่กับกาย หรือเอากายมาอยู่กับใจ เพราะเขาไม่มีโอกาสได้รู้ว่าควรทำอย่างไร ควรทำเมื่อไหร่บ่อยครั้งที่ “ความสุข” ทางโลก ที่เข้ามากระทบเราทั้งทาง หู ตา จมูก ลิ้น และกาย รวมถึงใจของเรานั้นทำให้เราคิดว่านี่คือความสุขที่แท้จริง แต่หารู้ไม่ว่าการที่รับผัสสะเหล่านั้นมาปรุงแต่งก็กลับทำให้จิตใจของเรามีแต่การสร้างกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว หลายคนที่เข้าถึงธรรมปฏิบัติ บางคนพบว่าความสุขทางโลกไม่ใช่ทางออกหรือคำตอบของชีวิต พวกเขาจึงเลือกที่จะแสวงหาความสุขอันแท้จริง ความสุขที่เป็นความจริงอันสูงสุด ด้วยวิธีการทางธรรมตอนที่ไปชัยภูมิ ณ วัดป่าสุคะโต ฉันเดินทางโดยไม่คิดว่าจะพบอะไรบ้าง ไม่ได้คิดว่าต้องเจอพระอาจารย์มาสอน เพราะไม่ได้คาดหวังอะไรมากไปกว่า การได้ทำความรู้จักกับ แนวปฏิบัติสาย หลวงพ่อเทียน จิตตฺสุโภ คือการเจริญสติแนวเคลื่อนไหว เพียงเท่านั้นการมาเยือนที่วัดป่าสุคะโตในช่วงปลายปี เป็นสิ่งที่ดีและเหมาะแก่การปฏิบัติเพื่อละบางอย่างจากทางโลก ผู้คนที่เข้ามาปฏิบัติมีหลายสิบคน ที่วัดนี้เราอยู่กันดั่งญาติมิตร เหมือนที่หลวงพ่อคำเขียน ท่านได้เขียนไว้ว่า “ที่นี่ไม่มีใครแปลกหน้า มีแต่ญาติมิตรที่เพิ่งได้พบกัน” ไม่มีใครแปลกหน้า, ฉันเดินทางมาเพียงลำพัง แต่เมื่อขากลับออกจากวัด ได้พบกับญาติมิตรทางธรรม สองคน คนหนึ่งเป็นไกด์ ชื่อพี่อุ๊ อีกคนเป็นนักออกแบบ ชื่อ พี่หนู พวกเราต่างเดินทางมาโดยไม่รู้จักใคร แต่ท้ายที่สุด เมื่อได้ใช้ชีวิตร่วมกันที่วัดก็ได้รู้จักและสนิทกัน จนพี่ๆ คนอื่นๆ ให้สมญาพวกเราทั้งสามว่า “แก๊งหลุมศพ”เนื่องเพราะคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2550 พวกเราทั้ง 3 คน ได้ร่วมกันเดินจงกรม ที่สุสานภายในวัดป่าสุคะโต พี่อุ๊เดินตรงศาลา พี่หนูเดินตรงหลุมศพ ส่วนฉันเดินตรงเมนเผาศพ ที่เป็นเชิงตะกอน โดยเริ่มเดินตอน 3 ทุ่ม แต่ละคนได้ไฟฉายประจำกายและเดินไปในป่ามืดตามลำพัง คนละเส้นทาง เพื่อไปพบกันที่สุสาน – เราใช้เวลาปฏิบัติที่สุสาน จนถึง 5 ทุ่มกว่าๆ พระอาจารย์ปู่ ที่เป็นครูสอบอารมณ์ก็เข้ามารับออกไปช่วงที่เดินจงกรมนั้น เป็นการเดินในสถานที่ที่เรามีแต่ “ความกลัว” การเดินก็เพื่อมุ่งให้เรามีสติ อยู่กับปัจจุบันขณะ เรียนรู้ที่จะเฝ้าดูจิตของตน โดยใช้กายเป็นฐานของการปฏิบัติซึ่งแนวปฏิบัติโดยการเคลื่อนไหวทางกายนี้เอง เป็นแนวที่หลวงพ่อเทียนได้สั่งสอนลูกศิษย์มาเรื่อยๆ ทั้งนี้ที่วัดป่าสุคะโต นักแสวงหาทางธรรมที่เดินทางมาเองหรือมากับคอร์สปฏิบัติที่มีการจัดทุกๆ เดือน ก็จะมีที่พักให้ และจะมีการทำวัตรเช้า เย็นร่วมกัน ตอนตี 4 และ 6 โมงเย็น ส่วนเวลาที่เหลือก็เป็นการปฏิบัติ ใครที่นั่งก็เคลื่อนไหวมือตามจุด สร้างจังหวะ และเดินจงกรมเพื่อให้รู้กาย ระลึกรู้ตามกายในตัวเราอาหารนั้น เป็นการรับประทานร่วมกัน ตอนเช้า 7 โมง และใครที่จะกินตอนกลางวันก็สามารถห่อใส่ปิ่นโตเอาไว้ทานได้ และอาจเผื่อสำหรับเวลาเย็นด้วยฉันใช้เวลาอยู่ที่วัดป่าสุคะโต 4 วัน ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2550 ถึง วันที่ 1 มกราคม 2551 และก็ได้เดินทางกลับกรุงเทพฯ พร้อมกับญาติธรรมทั้ง 2 คนการเดินทางไปยังวัดป่าสุคะโตในครั้งนี้ ฉันพบว่า การปฏิบัติที่ฉันเคยปฏิบัติกับการปฏิบัติในแนวทางนี้ แม้ว่าจะมีความแตกต่างกันใน “สติปัฏฐาน” จากเดิมที่ใช้ “เวทนา” เป็นฐาน ก็พบ “กาย” เป็นฐาน ซึ่งเราสามารถที่จะประยุกต์เข้ากับตัวเองได้ นั่นคือ หากเรารู้สึกตรงไหน แบบใด ก็เพียงแค่รู้ก็พอ ย้ำ แค่รู้ก็พอเวลาเราคิด เกิดอารมณ์โกรธ กลัว เราก็เพียงรู้ แล้วดึงสติกลับมายังฐานสติของเรา ซึ่งแต่ละคนก็อาจมีแนวทางต่างกัน ทว่าหลักใหญ่แล้ว ก็มีสองแบบ คือ “ดูกาย” และ “ดูจิต” ดูกายก็คือการรู้กาย ดูจิต ก็คือการรู้จิต รู้ใจ ของตน แค่เพียงรู้ก็พอ....มาถึงตรงนี้ ฉันก็พบว่าอันที่จริงแล้ว เมื่อจิตกับกายเราไม่ได้ล่องลอยหลุดออกจากกันแล้ว เราสามารถที่จะรู้การทำงานของกาย การทำงานของจิต รู้ว่าอันที่จริงแล้ว เราควรดู “ภาวะด้านใน” ของตนมากกว่า ผัสสะภายนอกที่มาในรูปของ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ผ่านทางตา ลิ้น จมูก หู และร่างกายของเราการเข้าถึงสุคะโต หนนี้ ยังมีเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนการเดินทางมาถึงวัดป่าสุคะโตอีก นั่นคือเรื่องมารผจญและเรื่องเล็กๆ ที่เกิดก่อนมาถึงวัด ไว้มาเล่าให้เธอรับรู้อีกครา ฉบับหน้านะครับธรรมรักษา....
ฐาปนา
“...ยังไม่เคยเห็นธนาคารไหนในโลกให้ดอกเบี้ยร้อยเปอร์เซนต์ ฝากพันให้พัน ฝากหมื่นให้หมื่น ฝากล้านให้ล้าน ไม่เคยเห็น แต่ธรรมชาติจะให้มากกว่านั้นแทบทุกเรื่อง ถ้าเราฝากธรรมชาติ อย่างเช่น ถ้าเราเอาเงินสิบบาทไปฝากธนาคาร ถ้าเขาให้ดอกร้อยเปอร์เซนต์ สิ้นปีก็ได้สิบบาท รวมที่ฝากเป็นยี่สิบบาท คือสูงสุดแล้ว แต่ถ้าฝากธรรมชาติ ก็เหมือนฝากให้คนอื่นทำงาน สมมติต้นกล้วยห้าบาท ค่าปลูกกล้วยอีกห้าบาท รวมเป็นต้นทุนสิบบาท พอสิ้นปีได้ปลีกล้วยมาอันหนึ่ง เครือกล้วยอีกเครือหนึ่ง หน่อกล้วยอีกสองหน่อ อันนี้ไม่รู้ราคาเท่าไรแล้ว ถามว่ามันได้ร้อยเปอร์เซนต์ หรือกี่ร้อยเปอร์เซนต์ แถมปีที่สองก็ไม่ต้องไปฝากอีกมันมีของมันสองหน่อแล้ว ธรรมชาติจะให้เรามากขึ้นเรื่อยๆ...”(คำเดื่อง ภาษี ปราชญ์ชาวบ้านผู้ริเริ่มการทำเกษตรกรรมธรรมชาติ)ครอบครัวของแม่ผมเป็นครอบครัวชาวนา ตากับยายยังทำนาอยู่แม้ว่าลูกทุกคนจะมีครอบครัวไปหมดแล้วที่นาของตามีอยู่หลายสิบไร่ นอกจากนี้ตายังเลี้ยงวัว และมีบ่อปลาอีกหลายบ่อ พอถึงหน้านา รอบบ้านตาจะกลายเป็นทุ่งข้าวเขียวสุดลูกหูลูกตา ทุกช่วงปิดเทอมผมจะได้ไปอยู่กับตา ช่วยตาเลี้ยงวัวบ้าง จับปลาบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็จะวิ่งเล่นตามประสาเด็ก ภาพท้องนา จึงเป็นภาพที่อยู่ในใจผมมาตลอดเมื่อผมอายุได้ประมาณสิบขวบ ตาให้ผมได้ลองดำนาเป็นครั้งแรก ในวัยนั้น อะไรแปลกๆ ใหม่ๆ คือเรื่องน่าสนุกทั้งสิ้น เมื่อรู้วิธี ผมก็โหมทำทั้งวัน สนุกอย่างลืมเหน็ดลืมเหนื่อย ผลของการดำนาวันแรก ผมเลยได้เป็นไข้นอนซมอยู่บนเตียงเนื่องจากตากแดดทั้งวัน คุยถึงเรื่องนี้ทีไร ตากับยายจะหัวเราะด้วยความเอ็นดูทุกครั้งหลังจากนั้นไม่นาน ตาจากไปด้วยโรคไต ยายขายนาส่วนหนึ่ง ที่เหลือก็ให้เขาเช่า วัวถูกขายไป บ่อปลาถูกถม ผมไม่ได้กลับไปที่นั่นอีกเลยผมเติบโตเช่นเดียวกับบุตรข้าราชการทั่วไป จบมอหกต่อปริญญาตรี จบแล้วหางานทำ วนเวียนเข้าๆ ออกๆ เป็นลูกจ้างอยู่นานปี ก่อนจะพบหนทางของตัวเอง อาจเพราะบางสิ่งในวัยเด็กยังอยู่ในความทรงจำอย่างยาวนาน ผมจึงหวนหาวันคืนในท้องนามาตลอดยี่สิบปีเต็มนับจากครั้งแรกที่ผมได้ดำนา ผมได้ดำนาอีกครั้งบนที่นาแปลงเล็กๆ ของมูลนิธิที่นา แม้จะเป็นเพียงที่นาแปลงเล็กๆ ที่แบ่งให้ทุกคนได้ลองทำคนละแถว สองแถว แต่มันก็ทำให้ผมได้สัมผัสกับประสบการณ์การดำนาอีกครั้งแสงแดดพื้นเลนในท้องนาต้นกล้าข้าวเหนียวต้นเล็กในอดีต ก่อนที่การปฏิวัติเขียวจะเปลี่ยนชีวิตมนุษย์ไปค่อนโลก ผืนดินคงอุดมกว่านี้ ธรรมชาติคงสมบูรณ์ยิ่งกว่านี้ เพียงแค่หว่านข้าวลงในแปลง ปล่อยให้สายลม แสงแดดและพื้นดินดูแล เมล็ดข้าวก็เติบโตจนกลายเป็นต้นข้าว ที่เต็มไปด้วยรวงข้าว มีเมล็ดข้าวในแต่ละรวงนับสิบนับร้อยเมล็ด หรือจะเพาะจากเมล็ดข้าว ให้เป็นต้นกล้า จากนั้นก็ดำนา ปักดำกล้าข้าว 3-4 ต้นเป็นหนึ่งกอ ทำไปทีละจุดๆ จนเต็มท้องนา ผ่านวันผ่านคืน ข้าวก็จะเติบโตเป็นแถวแนว เขียวไปทั้งท้องทุ่งหากไม่ได้ลงมือดำนา หากไม่ได้เฝ้ามองการเติบโตของต้นข้าว หากไม่ได้ลงมือเก็บเกี่ยว หากไม่ได้สีข้าว หากไม่ได้หุงข้าว และหากไม่ได้ลิ้มรสข้าวที่ปลูกเอง ไหนเลยจะรับรู้ถึงความรักอันไพศาลจากธรรมชาติธรรมชาติไม่เคยเรียกร้องสิ่งใด นอกจากให้ ทั้งยังให้มากเกินกว่าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของมนุษย์ แต่ความต้องการของมนุษย์กลับมากยิ่งกว่าที่ธรรมชาติมอบให้ และไม่เคยเพียงพอ นั่นจึงเป็นโศกนาฏกรรมตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติขณะที่ดำนา ผมเกิดความคิด ความรู้สึกหลายอย่าง เหมือนได้ย้อนกลับไปในวันที่ได้ดำนาเป็นครั้งแรก เพียงแต่ครั้งนี้มันมากกว่าความสนุกประสาเด็กในวันวานหากการวิปัสสนา คือหนทางแห่งการเรียนรู้ตนเอง ทำให้เห็นทุกข์และหาหนทางที่จะลด หรือไปให้พ้นจากความทุกข์การได้ผลิตอาหารเองเช่นการปลูกข้าว ก็เป็นหนทางที่ทำให้เห็นความจริงว่า ชีวิตมนุษย์คือส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่อาจหลีกพ้น และการใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติเท่านั้น จึงจะเป็นหนทางสู่สันติหากความรักคือคำตอบ ธรรมชาติซึ่งเป็นความรักที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ก็มีคำตอบสำหรับทุกคำถามเมื่อการดำนาเสร็จสิ้น ผมนั่งมองแนวต้นกล้าเบี้ยวๆ เฉๆ ของตนเองและชาวนาสมัครเล่นทั้งหลายแล้วก็ให้นึกขำแน่นอน ความสำคัญของมันย่อมอยู่ที่การเติบโตของต้นข้าวไม่ใช่ความเป็นระเบียบเหมือนแถวทหาร แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความเที่ยงตรงสม่ำเสมอของระยะห่างก็เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตเช่นกันพวกเราเหมือนเด็กปอหนึ่งที่เพิ่งหัดเขียนกอไก่ กว่าจะเขียนได้เต็มหน้ากระดาษก็โย้ไปเย้มา ขณะที่ชาวนาผู้ปลูกข้าวมาทั้งชีวิต เหมือนกับช่างอักษรผู้มีลายมืออันหมดจดงดงาม บรรจงเขียนอักษรแต่ละตัวด้วยความชำนาญ รวดเร็ว และเป็นระเบียบยิ่ง ทั้งเมื่อเขียนเสร็จแล้ว ต้นข้าวแต่ละกอ แต่ละแถวก็มีระยะห่างราวกับใช้ไม้บรรทัดวัดชาวนา นำเมล็ดข้าวหนึ่งเมล็ดไปฝากผืนดิน แล้วผืนดินก็คืนเมล็ดข้าวอีกสิบร้อย พัน หมื่นเมล็ดให้แก่ชาวนาบางที เมื่อถึงวันหนึ่ง ผมอาจจะหมดความสนใจในการจับดินสอ ปากกา แล้วหันไปขีดเขียนบนผืนดินแทน มันคงจะคล้ายกับการจับดินสอหัดเขียนกอไก่อีกครั้งหนึ่ง แต่ไม่ใช่การดุ่มเดินไปเพียงลำพังแน่นอน เพราะผมรู้ว่าปลายทางของการทำงานนี้อยู่ที่ไหนสักวันหนึ่ง...
แพ็ท โรเจ้อร์
ช่วงนี้เป็นช่วงที่มีงานรับปริญญากันมาก ผู้เขียนก็ต้องไปมีส่วนในงานแบบนี้ทุกปีนับตั้งแต่เรียนจบมา 11 ปีที่แล้ว เพราะสายงานนั้นบังคับให้ต้องร่วม บทความนี้จึงเป็นบทความที่ไม่เกี่ยวกับองค์การโดยตรงสักครั้งหนึ่ง แต่เกี่ยวกับ "คน" ที่รับปริญญาและคนที่เกี่ยวข้อง การรับปริญญาในเมืองนอกนั้น ไม่ได้เป็นพิธีที่ยิ่งใหญ่เหมือนเมืองไทย แต่ถามว่ามีคนมาชุมนุมกันมั้ยตอบว่ามี แต่การทำมากินสำคัญกว่า หลายคนจึงไม่ได้สนใจว่าต้องรับหรือไม่ หากต้องย้ายเมืองไปทำงานทีอื่นหรือกลับบ้านไปก่อนวันรับปริญญา กระนั้นเมืองนอกคือสหรัฐฯในที่นี้ (บางแห่งมีการรับปีละสองหน และบางแห่งมีการรับปีละหน ก็มักเป็นเทอมที่สิ้นสุดในเดือน พ.ค. หรือ มิ.ย.) ก็จะมีงานรับปริญญาหลังวันสอบไล่ในเทอมนั้น (ไม่ใช่คอยนานแบบเมืองไทย เพราะต้องให้มั่นใจว่าจบแน่ จบจริง) ที่สหรัฐฯ นั้นรับแบบหลอกๆ ไปก่อน จากนั้น ถ้าพบว่าเรียนผ่านครบข้อบังคับตามหลักสูตรแล้วจริง ก็จะส่งใบปริญญาไปให้ที่บ้านหรือที่อยุ่ที่ให้ไว้ ส่วนใบระเบียนสมบูรณ์ก็จะส่งให้ทาง ปณ.ตามที่ร้องขอมาได้ ส่วนหากมีการสูญหายก็บอกไปว่าหายหรือไม่ได้รับ มหาวิทยาลัยก็จะออกใบให้ใหม่ได้ ไม่ถือเป็นเรื่องใหญ่แบบเมืองไทยเพราะว่าหากมีการจับได้ว่าใช้วุฒิปลอม มีโทษทางอาญาที่รุนแรงในเมืองไทย บัณฑิตไทยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก ผู้เขียนเป็นคนหนึ่งที่ค้านกับเรื่องนี้มาตลอดว่า หากใบปริญญาไม่มีปัญญาในตัวเจ้าของ อย่าไปมีเสียเลย ผู้เขียนจำได้ว่า ตอนเรียนจบที่สหรัฐฯ ก็ไม่ได้คอยจนรับปริญญาเพราะส่งบทนิพนธ์ทุกอย่างกลางเทอม ไม่ได้อยู่รอจนงานรับปริญญา แต่ให้มหาวิทยาลัยส่งมาให้ทางไปรษณ๊ย์ พกกลับมาแค่ใบรับรองจากคณะ/บัณฑิตวิทยาลัยว่า จบแน่ เพื่อเอามาสมัครงาน มีคนสำคัญต่างๆ ของแต่ละสถาบันมาให้โอวาทแก่บรรดาผู้สำเร็จการศึกษา หัวเรื่องใหญ่ๆ คือ 1. แสดงความยินดีที่จบ 2. ขอให้ใช้วิชาความรู้ในด้านดี 3. ขอให้ตระหนักถึงภาระตนเองในสังคม 4. ขอให้เจริญสุขสวัสดิ์ มีอยู่แค่นี้ จากนั้นก็มีคำปฏิญาณของบัณฑิต ที่มีทำนองคล้ายกันในความรับผิดชอบ ซึ่งก็ได้แต่พูดกันไป ไม่เห็นใครเอามาปฏิบัติกันสักกี่คน หลายคนที่จบมานี่ก็โกงๆ เค้าจบมาด้วย ไม่เห็นมีใครพูดสักคำว่าอีนี่โกงมาจึงจบ มัวแต่มาปลื้มกันในท้ายสุด ลืมมองว่ากระบวนการที่ได้มาสกปรกแค่ไหนบรรดาผู้สำเร็จการศึกษากระดี๊กระด๊ากันเกือบทั้งนั้น เหมือนงานรวมรุ่นได้เพราะไม่ได้เจอกันหลังจากเรียนจบ แต่ว่าน่าเสียดายที่จริงๆแล้วนั้นไม่เคยได้ตั้งคำถามเลยว่าจบแล้วนี่ รู้แจ้งจริงตามใบปริญญาที่ให้ไว้เป็นหลักฐานหรือเปล่า มีผู้ใหญ่หลายคนของแต่ละมหาวิทยาลัยมักบอกว่าบัณฑิตที่จบไปมีคุณภาพดี เป็นการโฆษณาเกินจริงเป็นส่วนมาก เพราะผู้เขียนเองพบว่าไม่เกินร้อยละ 10 ของผู้สำเร็จการศึกษาในปัจจุบันนี้ของไทยได้คุณภาพอย่างที่ควรจะเป็น อันนี้ไม่ได้หมายความว่าสหรัฐฯ จะไม่เป็น เพราะที่นั่นเองหลายครั้งผู้เขียนก็อยากจะเอาปริญญาคืนเพราะไม่ได้เรื่อง สอนพวกนี้มากับมือพบว่าตอนเรียนก็ขี้เกียจบรม แต่ด้วยกระบวนการที่ว่า "ถ้าเข้ามาแล้ว ต้องผลักดันให้เรียนให้จบ" ทำให้ต้องปล่อยให้จบแบบที่ไม่น่าเชื่ออย่างไรก็ตาม ได้แต่หวังว่าพวกที่ปล่อยให้จบนั้น จะยังพอเอาตัวรอดได้ และพัฒนาตนเองต่อไป ผู้เขียนเองเคยเป็นเด็กที่เกือบเรียนไม่จบมัธยมต้น เพราะมีปัญหาในเรื่องจิตวิทยาช่วงวัยรุ่น และคณาจารย์กลุ่มหนึ่งเข้าใจและเชื่อในศักยภาพของผู้เขียนจึงให้มีการสอบพิเศษและช่วยให้กำลังใจผู้เขียนมาก จนผ่านพ้น หากจะมองแล้ว การเรียนในมัธยมต้นนั้นไม่ได้มีอะไรมากกว่าทางผ่าน แต่ในระดับปริญญานี่แหละที่อาจมีผลกระทบทางสังคมได้มากกว่า การเชื่อในศักยภาพตรงนี้ต้องมองระดับของการศึกษาด้วย ถ้าคนไม่เก่งจริงก็คงไปลงเอยที่ไม่ได้รับปริญญา น่าเสียดายที่เดี๋ยวนี้ การศึกษาระดับปริญญามันคือการทำมาหากินกันไปเสียหมดจนต้องปล่อยผ่านกันอย่างง่ายขึ้นที่เห็นว่าง่ายขึ้นชัดเจนคือ การที่อาจารย์หลายคนยอมให้เด็กปริญญาตรีสามารถไปลอกงานมาเขียนรายงานเป็นดุ้นๆ แหล่งข้อมูลก็คือ อินเตอร์เน็ทนี่แหละ แล้วการลอกมาลงเป็นดุ้นนี่ยิ่งมากยิ่งดี เพราะอาจารย์ชอบให้เด็กไปเอามามากๆ จะได้เอามาใช้ต่อ ทั้งที่เอามาจากแหล่งข้อมูลเชื่อถือไม่ได้ คนใกล้ตัวของผู้เขียนเจอกับตนเองที่มาถามผู้เขียนว่ารายงานควรทำอย่างไร เนื่องจากอาจารย์สั่งงานมาแบบกว้างสุดขีด ผู้เขียนบอกว่าให้มีประเด็นคำถามแล้วตอบ งานออกมาจึงมีแค่ 5 หน้า เพราะไม่ได้ลอกมาเป็นดุ้นๆ และมีการวิเคราะห์ข้อมูล ปรากฏว่าอาจารย์ไม่ได้ตรวจเอง และให้ผู้ช่วยสอนที่เป็นแค่เด็กป. โท มาตรวจ และให้เกรดที่ขึ้นอยู่กับความหนาของรายงาน ไม่ได้เรื่อง ทำให้เด็กเกิดอาการน้อยใจที่ทำดีแต่ไม่ได้ดี ที่เห็นชัดต่อมาอีกคือผู้เขียนก็พบว่านักศึกษาของผู้เขียนเองก็ชินกับการทำงานแบบนี้ เดาได้ว่าชินมาจากระดับปริญญาตรี ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยปิดหรือเปิด เป็นกันหมด น่าอดสูกันจริงได้พูดคุยกับอาจารย์ที่สอน ป.ตรี ได้ความว่าขี้เกียจตรวจมาก เอาความหนาเป็นเกณฑ์ บอกว่าแค่เด็กหามาตรงจุดก็บุญแล้ว ลอกมาเป็นกระบิๆ หรือลอกมาเหมือนกันก็ได้คะแนน ตกลงกลายเป็นว่าอาจารย์เองนี่แหละก้ไม่ได้เรื่อง พบว่ามีอาจารย์ขยันๆน้อยจนถึงไม่มี และที่สำคัญอาจารย์ระดับ ป.ตรีต้องปล่อยเด็กให้จบเพราะว่าต้องทำตัวเลข และสร้างประชานิยม เพื่อให้เด็กมาลงวิชาที่ตนสอนเยอะๆ โดยเฉพาะสถาบันที่มีสาขาเกือบทุกจังหวัดทั่วไทย ที่เน้นตัวเลขจนไม่น่าเชื่อ ทั้งนี้ก็รวมถึงพวกม.เปิดและปิดต่างๆด้วยหลายแห่ง ที่ขาดการคุมคุณภาพอย่างไม่เหลือหรอน่าเสียดายที่ระบบทุกอย่างทำให้เด็กของเรา ไม่สู้ ไม่อดทน ไม่ไฝ่รู้ จนไม่เหลือเลยว่าคุณภาพเป็นอย่างไร ไม่นานมานี้ได้อ่านข่าวว่าเวียตนามก็มีปัญหาว่าบัณฑิตที่ไปเป็นพนักงานบนเรือบินพูดอังกฤษไม่ได้ ผู้เขียนเองก็พบว่าของเราก็มีปัญหาคล้ายกัน บัณฑิตไทยเอกอังกฤษใช้ภาษาอังกฤษไม่ได้เพียบ บางคนก็เกียรตินิยมมาด้วย ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกไปเสียแล้ว สิ่งที่น่ากลัวที่สุดไม่ใช่แค่คุณภาพปริญญาที่ไร้ปัญญา แต่เป็นเรื่องคุณภาพของนักศึกษาส่วนใหญ่ที่ไม่มีความวิริยะ ไม่มีความไฝ่รู้ เพราะว่าสังคมไม่ส่งเสริม อีกทั้งตัวเด็กเองก็ขี้เกียจลงๆ เตือนก็ไม่ได้สอนก็ไม่ได้ มีอาการฉุนฉียว น้อยอก น้อยใจ พาลถึงฆ่าตัวตาย เพราะพ่อแม่พี่น้องและสังคมโดยรวมกลัวเด็กเครียด เด็กไร้สุข เหมือนเรื่อง "พ่อแม่รังแกฉัน"ที่ผู้เขียนเรียนมาแต่เด็ก แม้ฝรั่งเองก็ยังบอกว่าต้องเข้มงวดกับเด็ก ไม่งั้นเด็กจะเสีย แต่สังคมไทยเลี้ยงเด็กได้เละตุ้มเป๊ะ ลืมมองว่าวันหน้าเด็กจะเสีย และแข่งขันกับใครไม่ได้เอาเป็นว่า การที่มีเด็กดีๆเหลืออยู่บ้าง ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเช่นกัน แต่เป็นสัดส่วนที่น้อยมาก ดังนั้นพวกนี้ก็อย่ามาตะโกนว่าทำไมต้องโดนตำหนิด้วย พวกคุณทำดีก็ดีแล้ว ไม่ต้องเดือดร้อน ผู้ใหญ่ที่เข้าใจเค้ายังคงเข้าใจพวกคุณ อย่ามาว่าผู้ใหญ่นักเลยว่าไม่เข้าใจ ผู้ใหญ่สมัยนี้ดีๆก็พอมี แล้วที่สอนเด็กๆให้ขยันก็เพราะรู้ว่าไม่ขยันแล้ว จะเสียโอกาสในชีวิตอย่างนึกไม่ถึง ปัญหาการไร้ปัญญาต้องอยู่ที่ตัวเด็กด้วยว่า "อย่าสนุกที่ไม่ต้องทำการบ้านมาก อย่าบ่นที่มีการบ้านแยะและหัดฟังผู้ใหญ่บ้าง" การที่ต้องอดทนในการรับฟัง อดทนที่ต้องทำงานหนักไม่ใช่เรื่องน่าดูถูก อย่าอ้างคำว่าประชาธิปไตย หรือไม่ยุติธรรม เพราะการเป็นประชาธิปไตยในจุดนี้ ไม่ได้หมายความว่า เด็กจะเท่าผู้ใหญ่ทุกอย่าง การอบรมบ่มนิสัยเป็นหน้าที่ที่ผู้ใหญ่ต้องทำ และการเรียนรู้เป็นหน้าที่ของเด็ก เนื่องจากวุฒิภาวะและการรับรู้อะไรต่างๆไม่ได้มีระดับที่จะทำให้เข้าใจอะไรได้มากและลึกซึ้ง แม้ในสหรัฐฯเองนั้น เด็กก็ไม่ได้มีสิทธิมากเหมือนเด็กไทยในสมัยนี้ สังคมตรงนั้นสอนเรื่องวินัยและความรับผิดชอบ ดังนั้น วันนี้ไม่ว่าเด็กหรือใหญ่ ทุกคนต้องเปลี่ยนการมองบทบาทและความรับผิดชอบทางสังคมให้คมชัดขึ้น เพราะสังคมนั้นเป็นของทุกคน และทุกคนต้องร่วมรับผิดชอบตามที่ควรจะเป็น คิดให้เป็นและทำให้ได้ ให้เป็น
รวิวาร
...หัวใจของฉันพยายามบอกหลายสิ่งหลายอย่างเหลือเกิน ขณะที่ความคิดเวียนวนสอดแทรก เจ้าความคิดนั้นเหมือนเครื่องกำเนิดอะไรสักอย่าง มันมีหน้าที่ขับส่งบางสิ่งออกมาไม่มีขาดตอน บางสิ่งที่ไม่ต่อเนื่อง ขาดระเบียบ ไร้จุดจบ เว้นเสียแต่ว่าเราจะพยายามบีบเค้น หรือกำหนดทิศทางแก่มัน เช่น การใคร่ครวญเรื่องบางเรื่อง การคิดพล็อตเรื่อง หรือขบคิดปัญหาที่แก้ไม่ตก ฉันกำลังรู้สึกว่า หัวใจถวิลหากระดาษสีนวลตา และปากกาหมึกซึมดี ๆ โต๊ะริมหน้าต่าง แสงแดดอ่อน ๆ ไม่ใช่ห้องหนาวเหน็บ ไฟโคมสีส้ม และแป้นคีย์บอร์ดอย่างนี้ แต่ก็เอาเถอะหัวใจเอ๋ย ค่อย ๆ ปลดปล่อยตัวเอง จนกว่าฉันจะพบคำเฉลยที่ดีสำหรับเจ้า ซึ่งเป็นที่พอใจแก่เจ้าแหละข้างใน ยังมีบางอย่างคอยขัดขวางอยู่ คล้ายความรู้สึกปิดกั้นในอันที่จะไม่พูดออกมา เหมือนความรู้สึกไม่อยากคุยโทรศัพท์ ไม่อยากกดเบอร์โทรศัพท์ของใคร ทว่าเมื่อได้พบปะกันตามธรรมชาติ เรากลับพูดคุยไม่หยุดจำเป็นหรือไม่ที่เราต้องสื่อสารความคิดเหล่านี้ออกไป บรรดาความคิดข้างในที่เฝ้าฉงน กังขา วิเคราะห์ ตรวจตรา ขบคิดสิ่งต่าง ๆ นานา เรามองหาอารมณ์ที่พอดี ๆ ในการพูด เรามองหาสิ่งที่เราไม่รู้ว่าคืออะไร มั่นใจเพียงไม่ใช่กฎเกณฑ์ประดามีเกี่ยวกับการเขียน“อ้าย” เรียกที่นี่ว่า กระต๊อบ “ตูบตีนดอย” รอคอย ให้การเขียนของเราดุจปีกเหยี่ยว มันขยับ ปรบเบา ๆ เท่านั้นเองขณะร่อนวนลงเพื่อเพ่งหาภักษาหาร จากนั้นเมื่อสบนัยน์ตาเรา หรืออาจได้กลิ่นกายอันผิดธรรมชาติที่อาบบนร่าง โดยความคิดว่าเหยี่ยวอาจมีผัสสะนาสิกแหลมคมดุจเดียวกับนัยน์ตา มันบินวนขึ้นไป กิริยาที่ไม่อาจเรียกว่าบิน เพียงปรบปีกสองสามครา เหินลอยงามสง่า เงียบกริบ แล้วเมื่อสายลมโอบอุ้มได้สัดส่วนพอดิบพอดี มันลอยละล่อง นุ่มนวล ไม่ต้องพะวงประคองหัวใจ กล่าวออกมาเถิด หรือเจ้ารักที่จะเงียบงัน หรือภาษานั้นแปลกแยกแผกเจ้าเสียแล้ว เจ้าเคยพบหนทางซึ่งภาษาได้เป็นอิสระจากภาษา ปลดปล่อยข้า และปลดปล่อยเจ้า เพราะเมื่อหัวใจพูด หัวใจจะรับฟังเสียงของความคิดท่วมท้นอยู่บนหน้ากระดาษ ในหนังสือพิมพ์ หน้านิตยสาร ที่ใดที่หัวใจเล็ดรอดออกมาได้ หัวใจดวงอื่นถูกดึงดูด เอิบอาบดื่มกิน ขออย่าจากฉันไป แม้เพียงเสี้ยววินาที หัวใจเอ๋ย อย่าให้ฉันละเลย หลงไปในเสียงแห่งข่าวสารประจำวัน และกิจกรรมต่าง ๆ ทัศนะนานาของมนุษย์ ขอให้ฉันได้ยินเสียงของความรู้สึก สัมผัสถึงถ้อยคำของพระเจ้า เช่นที่ผุดขึ้นในบทเพลง ปีกนกเหยี่ยว แสงดาวหนาวเย็นยามค่ำ และรอยยิ้มของเด็กหญิงกวีร้องว่า นิจจา โลกเอ๋ย สวรรค์ถูกละเลยลืมสิ้น มนุษย์มีหู หากขาดการสดับยิน วิญญาณ สูญสิ้นวจี แล้วร้องร่ำโลกเอ๋ย อย่ากระนั้นเลย ตื่นเถิด ปวงเจ้าหลับใหลนานเนิ่นพิภพร่ำไห้ สวรรค์ห่าง ฟื้นสิ คืนสู่สัจจา หาไม่แล้ว วิญญาณแก้ว ลอยสูญกระต๊อบ “ตูบตีนดอย” คำเรียกนี้ทำให้หัวใจรำลึกขึ้นได้ว่า เรามาอยู่ที่นี่ด้วยเหตุใด แม้ที่อยู่อาศัยตรงหน้าจะเป็นบ้านไม้ผสมปูนหลังย่อม และอาจขยายใหญ่ เพื่อให้เพียงพอสำหรับลูกสาวสองคน แต่ “อ้าย” กลับเรียกมันว่า “ตูบตีนดอย” นั่นเป็นการประกาศหัวใจอันเรียบง่ายของมันออกมา “อ้าย” มาเยือนเมื่อเข้าหนาวค่อนแล้ว อากาศเหน็บหนาวเย็นเยือก เราก่อไฟผิงยามคืน สนทนายามวัน ยิ้มหัว พูดคุย รักกันและกัน เมื่อเหนื่อยล้า อ้ายถอดรองเท้าเหยียบย่ำพื้น พวกลูกหมาวิ่งตามด้วยความประหลาดใจที่อ้ายแลเห็นคือกระต๊อบเล็ก ๆ ซึ่งเสงี่ยมเจียมตัว ปรารถนาน้อย และเคารพฟ้าดิน กระท่อมของเราที่อยู่แทบเท้าขุนเขา บ้านซึ่งเปลือกนอกดูมั่นคงแข็งแกร่งนั้น แท้จริงพึงเป็นเพียงที่พักพิงที่สร้างขึ้นตามธรรมชาติ เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยซึ่งกำเนิดจากธรรมชาติไม่ถูกปิดกั้นจากแม่พระธรรมชาติ หลังคากระต๊อบทุกแห่งล้วนสร้างด้วยฟางหญ้า บางวันอาจมีเม็ดฝนหยาด กลางคืนเปิดช่องแก่แสงดาว พื้นฟากนั้นคือไม้ไผ่สับ เผยที่ว่างให้ลมแทรกพัด หนาวนักก็ปูเสื่อนอน ฝาเรือนคือผิวไผ่สาน ยาด้วยมูลสัตว์กันลมหนาวปะทะ สองสามีภรรยามัวแต่หมกมุ่นวิตกกังวลกับอาหาร เงินทอง พะวงถึงอิฐก้อนต่อไป ไม้กระดานแผ่นหน้า หน้าต่าง เสาเรือนที่จะเสาะหามาเพิ่ม ลืมไปว่า สิ่งใดนำพวกตนมาที่นี่ ลืมว่าที่แท้ชีวิตต้องการสิ่งใด เรามั่งคั่งฟ้ากุหลาบสนธยา ดวงดาวระยิบพราวคืนค่ำ ฝ้าหมอกยามอรุณ กลางวัน สายลมรำเพยพัดไม่หยุดหย่อน แมกไม้ห้อมล้อม ฤดูกาลเสกสรรสารพันบนผืนดิน หน้ากระดาษของเรายังว่างเปล่า ผืนดินยังรอการไถหว่าน เรามาอยู่เพื่อสร้างสรรค์ชีวิต ทั้งภายนอก ภายใน ชีวิตเราลำพัง ชีวิตเรากับคนที่เราเลือกร่วมชีวิต เด็กน้อย พืชพันธุ์สัตว์เลี้ยง และเพื่อนมนุษย์ที่อยู่ห่างไกลออกไป ผ่านสายสัมพันธ์บนแผ่นกระดาษ วันเดินทาง “อ้าย” ขอกระดาษสาแผ่นหนึ่ง ตวัดปากกา จารบทกวีมอบไว้ พร้อมกล่าวกำชับว่า ขอให้ประทับรักษาไว้ และให้พวกเราทั้งสี่วาดรูปประกอบตามใจนึก.......................บทกวี บ้านชีวิตตั้งตระหง่าน สูงเทียมเมฆ เทียมฟ้าพราวเดือนดาว ดวงตาวัน ธารอำไพพริ้มพราวพร่าง สุกสว่าง กระจ่างใส ทุกเพลาณ กระต๊อบ ตูบตีนดอยหลวงคือรังรวงชีพชีวิตแห่งเพื่อนข้าบ้าน มหรรณพ ,รวิวาร,วงธาร,ชาวาร์บ้านชีวี เกื้อโลกหล้า งามนิรันดร์สายลม แสงแดด ผีเสื้อ ดอกไม้ แมลงปอ ไร้ทุกข์โศกโลก เอกภพ จักรวาล สราญรมย์สุขสันต์บ้านชีวิต บ้านดงป่า บ้านชีวันแม่พระธรรมชาติสร้างสวรรค์ อวยพรชัย มอบแด่เธอWe love youด้วยรักอันงดงาม + พลังใจอ้ายแสงดาว ศรัทธามั่นและผองเพื่อน 6 ธันวาคม 2550 ,ล้านนา เจียงใหม่สำหรับฉันแล้ว บทกวีนี้เปรียบดั่งการเจิม ทุกคำเปี่ยมด้วยรัก ปรารถนาดี และออกมาจากหัวใจ เราไม่จำเป็นต้องสรรหาชื่อสวย ๆ งาม ๆ มาขานเรียกบ้านอีกแล้ว ไม่จำเป็นต้องมีพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ใดเพื่อความสุขความเจริญในการอยู่อาศัย อ้ายทำให้เราจดจำรำลึกถึงการมีชีวิตอยู่ภายใต้ธรรมชาติน้อมนำ ชีวิตแบบที่จึงปกติสุข งอกงาม นี่คือความศักดิสิทธิ์ยิ่งกว่าสายสิญจน์ มนตราใด คือพรขึ้นเรือนใหม่ ดุจคาถามิ่งมงคลชัยสำหรับทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกกิจกรรม อันจะออกมาจากทุกชีวิตในบ้านหลังนี้ยินดีเจ้า อ้ายปี้แก้ว แสงดาว ศรัทธามั่น
ปรเมศวร์ กาแก้ว
บนศาลากลางหมู่บ้านวันนี้ไม่มีเสียงเอ็ดตะโรของเด็กๆ ขณะที่ฟ้าใส ดวงอาทิตย์คล้อยบ่ายทิ้งไว้เพียงเศษเปลือกลูกยางที่แหลกแล้วและ ใบตองห่อขนมเกลื่อนพื้นอีกฟากหนึ่งเป็นถนนสายเล็กๆ เราเดินตามทางนั้นไปเลี้ยวอ้อมป่าละเมาะสู่อีกหมู่บ้านทางตะวันตกตามคำชวนของขาว สองข้างทางเป็นผืนนาไกลสุดตา ปู่เคยบอกว่าแถวนี้มีที่นาของปู่รวมอยู่ด้วยแล้วช่วงเก็บเกี่ยวจะพาเรามาเที่ยวเล่นกันเด็กๆ ชักย่านเดินตามกันเต็มถนนตัดกลางทุ่งนาไปทางตะวันตกขณะที่แดดบ่ายโดนเมฆขาวบดบังเป็นร่มเงาและลมทุ่งผัดแผ่วๆ ไล้เนื้อตัวเรา อีกไม่ไกลข้างหน้าเป็นหมู่บ้านริมธารเล็กๆ ที่ขาวและเพื่อนๆ อาศัยอยู่ และที่นั่นแหละคือจุดหมายของเรา“เก็บทางมะพร้าวนั่นไว้สิ เลือกอันที่มีเขาสวยๆ นะ” บอยยิ้มเล็กๆ ที่มุมปากเมื่อเห็นผมทำท่าสงสัยเรื่องทางมะพร้าว“เขา?”“เขาอะไรกัน?”“ก็ส่วนโค้งๆ ที่ตรงนั้นไงล่ะ” บอยชี้นิ้วไปที่ทางมะพร้าวตรงโคนต้นก่อนหันมายิ้มให้อีกครั้ง“ได้แล้วๆๆ ฉันได้วัวแล้ว” จ้อยเป็นคนแรกที่เลือกได้“นี่มันทางมะพร้าว จะเป็นวัวได้ไง”“นี่แหละวัวที่ขาวพูดถึง” จ้อยเปรยขึ้นแล้วเราก็หัวเราะครื้นเครงกันเราเดินเลือกวัวทางมะพร้าวไว้ได้คนละ 2 ตัว บอยชี้แนะเราถึงวิธีเล่นและอธิบายรูปลักษณ์ของวัวทางมะพร้าวให้เราหมดเปลือก ในรอยยิ้มของบอยอิ่มเอิบบอกเราว่าส่วนโค้งว้าวที่กาบเราให้มันเป็นเขากะยาวลงมาสัก 2 ฟุตให้มันเป็นลำตัวแล้วตัดออก เจาะรูผูกเชือกตรงส่วนหัวใช้ลากพุ่งด้วยความเร็วให้ชนกันเชือกของฝ่ายใดขาดก็แพ้ ประหนึ่งเหมือนกีฬาวัวชน กีฬาพื้นบ้านทางภาคใต้ที่นิยมเล่นกันนั่นเอง
ฐาปนา
กิจกรรมส่วนที่สองของโครงการ one year # 2 ของมูลนิธิที่นา ที่ผมเข้าร่วม คือกิจกรรมเรื่องเกษตรกรรมธรรมชาติ เริ่มต้นด้วยการประชุมแนะนำโครงการและให้ผู้เข้าร่วมโครงการแต่ละคนวาดรูปพืช ที่ตนเองอยากปลูก หรือ สัตว์ที่ตนเองอยากเลี้ยง ซึ่งในช่วงเวลาสามเดือนของกิจกรรมส่วนที่สองนี้ ทุกคนจะต้องดูแลสิ่งมีชีวิตของตนเองสองวันต่อมา เราเดินทางไปชมการทำเกษตรกรรมอินทรีย์และการดูแลสุขภาพวิถีไทที่ “สวนสายลมจอย” อำเภอสันกำแพง พื้นที่ไม่ถึงสิบไร่แห่งนี้ ถูกปรับเปลี่ยนจากพื้นที่นามาเป็นร่องสวน และบ่อเลี้ยงปลา, เต็มไปด้วยมะพร้าว พืชผล พืชผัก และสมุนไพรนานาชนิดจากการทำนาทำสวนที่ใช้สารเคมีในอดีต ถึงวันที่เจ้าของสวนต้องล้มป่วยด้วยฤทธิ์ของสารเคมี สวนแห่งนี้จึงค่อยๆ ผ่านวันคืนแห่งการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงมาสู่สภาพปัจจุบันต้นมะพร้าวนั้นถูกปลูกขึ้นในช่วงที่มีการส่งเสริมให้ปลูกพืชอื่นเนื่องจากข้าวกำลังล้นตลาดปลาตัวโตในบ่อ เลี้ยงไว้แต่ไม่กิน เพราะที่นี่ทานมังสวิรัติ การเลี้ยงปลานั้นช่วยให้ระบบนิเวศน์สมบูรณ์ขึ้นพืชผักใกล้บ้านและที่ปลูกริมลำเหมืองใช้ปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมักที่ทำเอง ไม่ใช้สารเคมีใดๆ ทั้งสิ้น“แล้วเรื่องโรคเรื่องแมลงละครับ ?” ผมถาม“ก็มีบ้าง แต่เราปลูกหลายๆ อย่างรวมกัน มันก็ช่วยคุมกันไป ถ้ามีแมลงบ้างก็ถือว่าแบ่งกันกิน ให้มันกินบ้าง เรากินบ้าง ไม่เป็นไร” เครื่องสีข้าวแรงคน ตั้งอยู่กลางกองข้าวเปลือกใต้หลองข้าว สีแต่พอหุง เมื่อหมดจึงสีใหม่ การสีข้าวแบบนี้ทำให้จมูกข้าวไม่ถูกทำลาย ข้าวแต่ละเมล็ดจึงเปี่ยมด้วยสารอาหารสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นอยู่ในสวนแห่งนี้ ได้แก่บ้านพักหลังเล็กทั้งที่เป็นบ้านไม้ไผ่และบ้านดินที่ปลูกเรียงรายรอบบริเวณ อันเนื่องมาจากที่นี่ได้จัดกิจกรรมธรรมชาติบำบัดต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน นอกจากผู้ที่มาดูงานแบบเช้าไปเย็นกลับและผู้มาเข้ารับการรักษาแล้ว ยังมีผู้มาเข้าคอร์สบำบัดเรียนรู้เรื่องการรักษาสุขภาพวิถีไท ทำให้ต้องมีที่พักรองรับเอกชัย จินาจันทร์ เจ้าของสวนรุ่นที่สอง เล่าว่า แต่เดิมนั้น บิดาให้ความสนใจเรื่องเกษตรอินทรีย์ และการปฏิบัติธรรม ต่อมาตนเองได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องธรรมชาติบำบัด จนกระทั่งสามารถให้คำแนะนำและดูแลรักษาผู้ป่วยได้ จึงได้ดำเนินกิจกรรมด้านนี้ควบคู่ไปกับการทำเกษตรอินทรีย์ปัจจุบัน สวนสายลมจอย อยู่ในเครือข่ายเกษตรกรรมอินทรีย์ซึ่งเริ่มมีครอบครัวเกษตรกรเข้าร่วมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆหลังอาหารกลางวัน จำนวนผู้มาเข้ารับการบำบัดประจำวันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่มานวด,ฝังเข็ม,พอกโคลน ฯลฯ พวกเรานั่งฟัง เอกชัย และ พี่ต้อม ผู้จัดการสวนสายลมจอย บรรยายเรื่องการดูแลสุขภาพตนเองผ่านแผนผัง “นาฬิกาอวัยวะ” ซึ่งบอกช่วงเวลาการทำงานของอวัยวะภายในแต่ละส่วน หากเราสามารถใช้ชีวิตประจำวันให้สอดคล้องกับนาฬิกาอวัยวะนี้ได้ ชีวิตของเราก็จะดำเนินไปอย่างสมดุล ไม่โอนเอนไปมา ไม่เสี่ยงต่อการเกิดโรคภัยไข้เจ็บอันเนื่องมาจากการเสียสมดุล03.00 – 05.00 ปอด ตื่นนอนในช่วงนี้ได้ ปอดจะได้ทำงานเต็มที่ เพิ่มความแข็งแรงให้ปอด05.00 – 07.00 ลำไส้ใหญ่ ช่วงเวลาของการขับถ่าย เพราะลำไส้ใหญ่ทำงานได้ดีที่สุด07.00 – 09.00 กระเพาะอาหาร หากได้ทานอาหารเช้าในช่วงนี้จะมีพลังงานตลอดวัน09.00 – 11.00 ม้าม อารมณ์โกรธ เครียด อิจฉา ริษยา มีผลต่อม้าม ซึ่งสร้างเม็ดเลือดขาว คนที่ใช้อารมณ์ด้านลบเป็นประจำจึงเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง11.00 – 13.00 หัวใจ ช่วงเวลาหลังอาหารเที่ยงควรงีบหลับสัก 20 นาที (cesta) จะทำให้ สดชื่น เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน13.00 – 15.00 ลำไส้เล็ก ช่วงนี้มีการดูดซึมอาหารมากทำให้หิว แต่ไม่ควรรับประทานอะไรมาก15.00 – 17.00 กระเพาะปัสสาวะ -17.00 – 19.00 ไต ช่วงนี้คนจำนวนมากมักจะออกกำลังกาย ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระให้ไต ควรจะออกกำลังกายเบาๆ ไม่ควรหักโหม19.00 – 21.00 กล้ามเนื้อหัวใจ ช่วงเวลาที่ระบบต่างๆ ในร่างกายเริ่มผ่อนคลาย เพื่อเตรียมนอน21.00 – 23.00 พลังงานรวม -23.00 – 01.00 ถุงน้ำดี -01.00 – 03.00 ตับ -“เรื่องการดื่มกาแฟละครับ ?” ใครคนหนึ่งถาม“กาแฟมีประโยชน์ คือช่วยกระตุ้นสมองและหัวใจ แต่ควรดื่มหลังอาหารและไม่ควรดื่มมาก เพราะจะทำให้เลือดเป็นกรด” เอกชัย ตอบตื่นตีสี่ มื้อเช้าเจ็ดนาฬิกา พักผ่อนหลังอาหารเที่ยง เข้านอนสามทุ่ม นี่คือวัตรปฏิบัติของภิกษุสงฆ์ คือระบบที่พระพุทธองค์ทรงทราบ และนำปฏิบัติมาเป็นเวลากว่าสองพันปีแล้วหลังจบการบรรยาย เราต่างมองหน้ากันแล้วยิ้ม เพราะเราต่างรู้ดีว่าแต่ละคนใช้ชีวิตผิดจากนาฬิกาอวัยวะ บ้างก็มาก บ้างก็น้อย และเราก็รู้ว่าไม่ใช่เรื่องยากหากตั้งใจจะปฏิบัติจริงหรือไม่ใช่?
พันธกุมภา
มีนา ถึง พันธกุมภา ฉันต้องขอบคุณ พันธกุมภา ที่เชื้อเชิญ และพยายามดึงฉันออกมาเขียน แม้ว่าจะถูกบอกว่า "น่าจะเป็นนักเขียนได้..." แต่ฉันยังไม่...แม้แต่ลงมือทำ จะเป็นได้อย่างไร หน้านี้...และหน้าที่นี้ ต้องเป็นความต้องการของพันธกุมภา ที่จะดึงฉันออกมาจากะลาเดิมเป็นแน่ สำหรับฉันแล้ว การเดินทางไปวัดป่าสุคะโต เพื่อพบหลวงพ่อเทียนของเธอ แทบจะไม่เกี่ยวข้องอะไร หากเราไม่ใช่กัลยาณมิตรที่ดีต่อกัน ฉันสนับสนุนให้เดินทางเพื่อไปเรียนรู้ ให้จิตอยู่กับกาย คนสมัยนี้...ฉันเองก็เป็นคนสมัยนี้ ไม่ได้เรียนรู้ที่จะอยู่กับปัจจุบันของตนเอง ฉันเคยสังเกตตัวเองเมื่อต้องทำงาน ต้องเดินทางไปทำงาน หรือไปในที่ๆ เราไม่รู้จัก ฉันมักกังวลเสมอ แม้ว่าจะใช้การเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะ ถึงอย่างไรเขาก็ต้องพาผู้โดยสารทั้งหมดไปส่งที่จุดหมายปลายทางของแต่ละคน ฉันเห็นตัวเองเมื่อฉันไม่รู้จักสถานที่นั้น ซึ่งจริงๆ อาจต้องใช้เวลามากกว่า 1 ชั่วโมงกว่าจะเดินทางถึง ทั้งๆ ที่ไปกับเพื่อนกลุ่มใหญ่ ฉันก็ยังกังวลใจกับสิ่งที่ยังมาไม่ถึงคือจุดหมายปลายทาง ฉันรู้สึกว่าฉันไม่สามารถควบคุมมันได้ ฉันไม่สามารถวางแผนแล้วเป็นไปอย่างที่ฉันวางไว้ได้ สิ่งใดก็เกิดขึ้นอยู่เสมอ ข้อธรรมที่ฟังมาตั้งแต่เด็กจนปัจจุบันก็ไม่ช่วยได้ หากฉันหรือเธอไม่เริ่มปฏิบัติ ด้วยการเริ่มวางมัน เมื่อฉันเห็นตัวเองดังนั้นแล้ว การเดินทางอีกครั้งของฉันบนรถโดยสารเช่นเดิม กับเพื่อนกลุ่มเดิม แต่ในสถานที่ใหม่จึงเริ่มขึ้นฉันเริ่มดูตัวเอง...อืม...ฉันยังกังวลอยู่ แล้วฉันก็เริ่มมามองดูที่ลมหายใจของตัวเองว่ากำลังหายใจเข้า หรือ หายใจออก สักพักฉันก็มาชื่นชมกับต้นไม้ข้างถนน รถ ผู้คนที่เดินไปมา บางที่ๆ ผ่านแทบจะไม่มีคนเลย บางที่ก็เป็นตลาด เออ...หนอ พอเราอยู่กับปัจจุบันแล้ว ความสุขใจ มันช่างหาง่ายจริงๆ ความกังวลใจที่เคยมีมันมลายหายไปตอนไหน...ไม่รู้ เท่าที่ฉันสัมผัส คนอย่างเราๆ มักวางกายไว้ที่หนึ่ง...ที่นี่ ใจลอยไปอยู่กับอนาคต...สิ่งที่มาไม่ถึง ลึกๆ แล้วมันคือความกลัว ที่การศึกษาและชีวิตสมัยใหม่จับมันใส่สมองส่วนคิดเรามาตลอดว่า คนต้องหา ความมั่นคง ...บางครั้งอดคิดไม่ได้ว่าความมั่นคงมันคืออะไร แปลว่า ความสุขหรือเปล่า อนาคตจะเป็นอย่างไร หลายคนวางแผนเป็นอย่างดี ดังเช่น งาน การนัดหมายงาน มีแผนปี แผน 2 ปี แต่เมื่อเหตุการณ์มาถึง แผนทั้งหลายกลับพลิก ฝนอาจจะตกอย่างแรง น้ำท่วมทำให้เดินทางหรือไปทำงานได้ทันตามที่วางแผนไว้ เหตุการณ์ที่ร้ายแรงก็อาจจะมีคนที่เรารักสูญเสียชีวิต เจ็บ หรือป่วย สิ่งเหล่านี้ ทำให้เราต้องล้มเลิกแผนที่วางไว้ ไม่ว่านานแค่ไหนก็ตาม อันเนื่องจากการที่เราเห็นคุณค่าของชีวิต ความสุข มากไปกว่า "ความมั่นคง" เงินทอง เกียรติยศ ชื่อเสียง หรือสิ่งตอบแทนใดๆ หลายเสียงคงบอกว่าอยู่ที่เงิน ถ้าเรามีเงินมากๆ จะทำให้เรามั่นคงได้ สิ่งนั้นเป็นความจริงหรือเป็นจริงหรือไม่ ฉันไม่อาจรู้และไม่อาจตอบแทนใครได้ ฉันรู้เพียงว่า หากวันนี้ฉันมีเงินมากๆ ฉันต้องรับผิดชอบมากขึ้น ต้องทำงานมากขึ้น ร่างกายของฉันคงรับกับโรค ความเจ็บป่วยไม่ไหว จิตใจก็คงเครียด ....ฉันคงป่วยจิตและป่วยกายไปพร้อมๆ กัน ขณะที่คนทำงานเพื่อสังคม แรกเข้ามาต่างมาด้วยความพยายามที่จะเปลี่ยนสังคม อย่างพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน การเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเกิดกับสิ่งใดก็ตาม ย่อมส่งผลกระทบและย้อนกลับมาที่ตัวเรา ทั้งในสิ่งดีและสิ่งที่ไม่ดี แม้ว่าเราจะมีอุดมการณ์เพื่อช่วยชาวบ้าน ช่วยเด็ก ช่วยคนทุกข์ อย่างยากลำบาก ลงมือทำทั้งแรงกายแรงใจ โดยไม่สนใจว่าตนเองจะเจ็บป่วยหรือทุกข์เพียงใด ขอให้คนทุกข์ยากเหล่านี้ได้มีชีวิตที่ดี คนเหล่านี้เขาขอให้เราทำหรือ? ไม่? ถ้าเขาขอ เราทำแล้วมีความสุข ก็อย่าลืมดูแลจิตใจตนเอง ... เราไม่รู้ว่า วันนี้เราดีสำหรับคนอื่น แต่เราไม่เห็นดีในตัวเอง ถ้าเขาไม่ขอ เราทำ...เราคาดหวังให้เขาขอบคุณเราหรือ...เพื่อชื่อเสียงที่จะอยู่กับเราไปจนตายหรือ แล้วเรามีตรงไหนที่เรารักและดูแลตัวเอง อย่างไม่เบียดเบียนต่อสรรพสิ่ง หากคำตอบออกมาว่าเรามีความสุขจากที่ชาวบ้านขอบคุณเรามากมาย เราเองอาจไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย...นอกจากคนอื่นที่รู้จักชื่อและหน้าตาของเรา...เท่านั้น เมื่อความทุกข์และความเจ็บป่วยมาเยือน หลายคนที่ทำงานเพื่อคนอื่น ทำงานเพื่อสังคม มักย้อนถามตัวเองว่า เราทุ่มเทมานาน เราทำไปเพื่ออะไร ทำไมเราไม่ได้สิ่งตอบแทน การเดินทางเข้าวัดป่าสุคะโต อาจเป็นจุดเริ่มต้อนของพันธกุมภา...ในฐานะเพื่อน ฉันได้แต่เอาใจช่วยว่า เมื่อไปถึงแล้วเธอจะได้เรียนรู้ตั้งแต่เริ่มต้น เรื่องง่ายๆ ที่ทำยากสำหรับคนสมัยนี้...ให้กายกับจิตอยู่ด้วยกัน ...อยู่กับปัจจุบัน... เมื่อทำงาน เราเองก็เหมือนกับคนทั่วไป ยังต้องดูแลตนเองด้วยการ ดูแลกาย ดูแลจิต ความห่วงใยที่มีต่อคนใฝ่ปฏิบัติธรรมก็เป็นแบบหนึ่ง คนที่มีอุดมการณ์ทำงานเพื่อสังคมก็เป็นแบบหนึ่ง อย่าท้อใจ...ที่จะเริ่มต้น เริ่ม...จากการมองเห็นตัวเอง เห็นจิตของตนเอง
พันธกุมภา
พันธกุมภาถึง มีนา,ฉันเริ่มเขียน “ธรรมตามใจ” มาได้เพียงไม่นาน ก็พบว่าอันแท้แล้ว ยังมีกัลยาณมิตรทางธรรมอีกหลายคนที่อยู่ในช่วงวัยใกล้ๆ กัน จึงน่าจะชวนกันมาแบ่งปันธรรมปฏิบัติในพื้นที่นี้ร่วมกัน มีนา, เป็นเพื่อนรุ่นพี่ ที่ตอบรับคำเชื้อเชิญจากฉัน – เธอ เป็นผู้หญิงรุ่นพี่ ที่ฉันรู้จักมาค่อนปีทีเดียว ตอนนั้นจำไม่ได้ว่าเจอกันครั้งแรกที่ไหนอย่างไร เพราะผ่านมาแล้วหลายนาน แต่ก็ไม่เป็นไร คงไม่สำคัญไปกว่าการที่ต่อไปเราทั้งสองจะได้แบ่งปัน แลกเปลี่ยนเรื่องราวที่เราต่างปฏิบัติเช่นกันฉันกับเธอ, พันธกุมภากับมีนา, เป็นสิ่งที่สมมุติขึ้นมา ตัวตนทางโลกของเราอาจมีค่าเฉลี่ยของอายุที่ต่างกันอยู่มาก แต่ในทางธรรมแล้ว ไม่ว่าเพศใด วัยใด ย่อมมี “ความเท่า” กันอยู่เสมอ ไม่ว่าเราจะอายุเท่าไหร่ ทำงานอะไร เพศไหน การเป็นพี่น้องทางธรรมนั้นย่อมหมายถึงความเหลื่อมล้ำต่างๆ ของเพศ วัย อายุ สถานะทางสังคม จะไม่เป็นอุปสรรค กำแพงกั้นระหว่างกันและกัน ฉะนี้แล้วเราจึงเสมือนเพื่อนร่วมเดินทางในเส้นทางนี้ด้วยกันยังไงก็ดี ฉันมีเรื่องที่อยากจะเล่าให้เธอฟังว่า หลังจากที่ฉันได้อ่านประวัติและคำสอนของหลวงพ่อเทียน จิตตฺสุโภ เมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา ตอนนั้นจิตของฉันบอกว่าแนวปฏิบัติที่หลวงพ่อเทียน ท่านได้สอนสั่งศิษยานุศิษย์มามากมายแล้วนี้ เป็นแนวปฏิบัติที่น่าจะหาโอกาสได้ลองฝึกได้ปฏิบัติดูบวกกับที่ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่ฉันนับถือได้แนะนำให้ได้ลองเข้าร่วมปฏิบัติแนวหลวงพ่อเทียน ตอนประมาณเดือนเมษายนปีนี้กับกลุ่มนักพัฒนา ที่จังหวัดสกลนคร ฉันได้ตอบปากตกลงที่จะเข้าร่วม และรอเวลาที่จะมาถึงด้วยการศึกษาและอ่านคำสอนของหลวงพ่อเทียน เท่าที่จะหามาอ่านได้ต่อมาไม่นาน วันหนึ่งมีคนบอกฉันว่าเขาจะไปบวชที่วัดป่าสุคะโต ที่จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเป็นวัดที่มีแนวการสอนการปฏิบัติตามแนวทางของหลวงพ่อเทียน และที่วัดก็เปิดให้ผู้สนใจการปฏิบัติได้เข้าไปปฏิบัติตามเหตุอันควร
แสงพูไช อินทะวีคำ
จริงๆแล้วผมพยายามถอดความจากกวีที่เป็นสำนวนภาษาลาวมาเป็นคำไทย.... แต่คงไม่ไพเราะเหมือนคำลาวที่ผมแต่งไว้เพราะการเขียนภาษาไทยไม่ดีพอ..... อย่างไรก็ตาม ผมมีความตั้งใจมากเพื่อการสื่อความเข้าใจทั้งสองด้านให้กลายเป็นพลังแห่งความรักของสองชาติลาวไทย ผมมีความต้องการสูงสุดให้คนลาวและไทยมีความเข้าใจกันมากขื้น ผมเข้าใจว่าในโลกใบนี้หากไม่มีคำว่า “ศัตรู” คงดีที่สุดพี่สัญญากับน้องว่าจะเปลี่ยนพี่จะเพียรแต่งแต้มแปลงเรือนผมผมไม่แดงเหมือนฝรั่งหลอกพี่ว่าแต่มาเจอเธอยิ่งกว่าเดีมผมก็แดงแทงใจน้องหูก็บ๋องมีต่างช่างเปลียนไปหูก็บ๋อง ผมก็แดงมันแทงใจก็นั้นไง พี่ไม่จำคำสัญญาน้องไม่อยากปากมากให้พี่หน่ายไร้ความหมายจากสายตาของพี่ไปแต่ความจริงมันแทงอกน้องทนไม่ไหวเพราะห่วงใย มีไว้พี่คนเดียวน้องหมายมั่น น้องมั่นหมายกับชายเดียวคนอื่นไม่เกียว ไม่เหลี้ยวแลเหมือนมีแผล กรรมเก่า ให้เศร้าหมองทำให้น้องต้องฝืดทน บนทางรักเพราะพี่บอกน้องว่าพี่ก็รักจ่งใจปักรักน้องไม่เสื่อมครายแต่ผมพี่ยังไม่วายสีดำแดงแถมยังแต่งหูมีต้าง(ต่างหู)กว่าหลังหูใส่ต่าง ใจพี่ต่าง เราห่างกันความผูกพัน ที่เคยมีพี่ก็หน่ายรักที่มีของเรา จริงมลายไร้ความหมายเมื่อสัญญานั้นถูกลืม