Skip to main content
ชนกลุ่มน้อย
รถไฟชั้นนอน โบกี้ 7 คนแน่นเต็มตั้งแต่ต้นทาง เราสองพ่อลูกออกจะตื่นเต้นพอๆกัน เพราะเหลียวมองไปทางไหนก็เจอแต่ใบหน้าคนฝรั่ง เหมือนเดินทางอยู่อีกมุมโลก นี่เรากำลังกลับบ้านนะ ไม่ได้ไปต่างประเทศ อย่ามองจ้องหน้าเรานานๆแปลกๆอย่างนั้นสิ เรากำลังจะไปบ้าน นี่ลูกชายผม อายุแค่ 7 ขวบ เป็นเด็กว่านอนสอนง่าย อย่าห่วงเลยว่าเขาจะเสียงดังรบกวน ขอให้คุณๆเดินทางสู่ปลายทางกันให้มีความสุขที่สุด ห่างออกไปแค่หนึ่งช่วงตัว เป็นครอบครัวคนฝรั่งเศส หูมัธยมศึกษาปีที่สี่ห้าบอกว่าพวกเขาเป็นคนฝรั่งเศส ตุ๊ดตูเลอองฟร็อง .. บองชู .. ตูวาเบียง ..หวี๋ ..ตัวโอซี .. แกลเลคอมม็องตาเลวู.. ซาวะ ..หวี๋/น็อง ... ไล่เรียงสำเนียงเข้าหู ชาติศิวิไลซ์ปรากฏตัวที่ไหนก็มีท่าทีเป็นเจ้าอาณานิคม .. (ฮา) พวกเขารวมทีมกันเหนียวแน่น สังเกตดูกริยาท่าทางที่คุ้นเคยกับดินแดนนี้เหลือเกิน อย่างกับเมืองนี้เป็นเมืองอาณานิคมจริงๆ พูดสนั่นหวั่นไหว เหล่าลูกๆเปิดเผยความมั่นอกมั่นใจว่าชีวิตปลอดภัยอย่างเต็มที่เราสองพ่อลูกเสียอีก ผู้อาศัยดินแดนนี้ ต้องเกรงใจพวกเขาเปิดกล่องโฟมสีขาวอย่างพร้อมเพรียง กลิ่นปิ้งๆย่างๆโชยเข้าจมูก กินพร้อมกัน อิ่มพร้อมกัน การเดินทางอีกยาวไกล
พันธกุมภา
มีนาถึง พันธกุมภาจุดหมายปลายทาง การเดินทางธรรมของเธอครั้งนี้อยู่ที่วัดป่าสุคะโต ที่...ซึ่งฉันไม่เคยไป หากหลายคนอยากไป ก็คงไม่ได้คิดถึงเรื่องการเดินทาง หากมักนึกถึงปลายทาง และในที่สุด...แม้รู้ว่าเธออาจจะเดินทางถึงวัดป่าสุคะโตแน่นอน เธอก็น่าจะเรียนรู้ระหว่างทางดังที่เธอเล่าให้เราฟังฉันเคยพูดถึงเรื่องความกลัวระหว่างการเดินทาง “ในความกลัว” มาก่อนแล้ว ด้านหนึ่งฉันนึกเสมอว่า คนธรรมดาทั่วไปอย่างฉัน ร่ำเรียนมาด้วยวิธีคิดแบบมีเป้าหมาย โดยไม่สนใจระหว่างทาง หรือกระบวนการเรียนรู้ก่อนที่จะถึงเป้าหมาย ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว “ระหว่างทาง” เป็นสิ่งสำคัญมาก อาจจะมากกว่าเป้าหมายด้วยซ้ำไปจากนักเรียนมัธยมสู่การเรียนมหาวิทยาลัย เป้าหมายอาจจะอยู่ที่การเรียนจบ การรับปริญญา ปริญญาบัตร หรือการได้เกียรตินิยม ความหมายของการเรียน มันอยู่ที่ปริญญาหรือการเรียนได้ที่หนึ่งเท่านั้นหรือ สำหรับใครหลายคนขอเพียงแค่เรียนจบ ขอเพียงแค่สอบได้ เหล่านี้ล้วนเป็นเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ บางคนขอจบแบบมีเกียรตินิยมควบคู่มาด้วย นี่เองที่เป็นเป้าหมาย สิ่งนี้หรือคือคุณค่าของการศึกษา
วิจักขณ์ พานิช
เรจินัลด์ เรย์ เขียน วิจักขณ์ พานิช ถักทอและร้อยเรียงเชอเกียม ตรุงปะ เคยกล่าวไว้ว่า “หากคุณสามารถหลีกเลี่ยงการเดินทางทางจิตวิญญาณได้ คุณก็ควรจะทำเสีย” การฝึกฝนทางจิตวิญญาณที่เข้มข้นจะนำพาคุณไปยังสถานที่ที่ซึ่งอัตตาของคุณถูกสั่นคลอนและถอนรากอย่างถึงที่สุด ราวกับกำลังถูกท้าทายด้วยเพลิงไฟแห่งการตื่นรู้ ดังนั้นคุณจำเป็นที่จะต้องตระหนักถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อคุณได้ย่างก้าวเข้าสู่เส้นทางแห่งการฝึกตน เรากำลังพูดถึงคุณค่าทางจิตวิญญาณที่แท้ หาใช่ความเป็นศาสนาที่ฉาบฉวยหรือการโหยหาความสุขสงบด้วยการภาวนาวันละนิดวันละหน่อย เรากำลังพูดถึงการอุทิศตนบนธรรมแห่งการตื่นรู้ในทุกลมหายใจเข้าออก
แสงพูไช อินทะวีคำ
ขณะที่เดินทางไปพัทยา ผมมองดูกระเป๋าเดินทางของตัวเองด้วยความกังวลใจอยู่ลึกๆ “ขออย่าได้เป็นอะไรเลย ประเดี๋ยวจะขายขี้หน้าหมด” “อ้ายกลัวกระเป๋าเดินทางแตกใช่มั้ย?” น้องคนหนึ่งถาม“ก็....กลัวนะ....”“แต่ดูแล้วน่าจะไม่เป็นไรนี่”“ใช่.....”
อิทธิฤทธิ์ ประคำทอง
ผมไม่แน่ใจว่าจะวางคำว่า ‘ของ’ เอาไว้ตรงไหนดี ระหว่างคำว่าช้างกับวิวช้าง‘ของ’วิว หรือว่า วิว‘ของ’ช้าง กันแน่...แม้ไม่แน่ใจแต่ผมรู้ดีว่าวิวชอบช้าง (ที่ไม่แน่ใจคือช้างจะชอบวิวด้วยหรือไม่) และเขียนรูปช้างมานานแล้วช้างที่เกิดจากปลายพู่กันและปลายนิ้วของวิวที่ถูกเกลี่ยกลบถมทับวาดเส้นและลากสีจนเกิดเป็นภาพและเรื่องราวที่เกี่ยวพันกับช้างนั้น ถ้าหากว่ามีใครเคยนับช้างของวิวคงเป็นช้างแห่งสีสันโขลงใหญ่นับไม่ถ้วนเลยทีเดียววิวเขียนรูปช้างแค่ให้รู้หรือดูออกว่าเป็นช้าง แม้จะมีงวง มีหาง มีตา แต่รูปร่างก็อ้วนป้อม ซ้ำสีสันตัวช้างก็แตกต่างออกไปจากช้างที่เหมือนจริง ช้างของวิวจึงไม่เหมือนและไม่ใช่ช้างจริงๆ แค่หันข้าง ยืนนิ่งเฉย อาจจะชูงวง หมอบคลานซุกซ่อนตัวอยู่ใต้เงาไม้หรือยืนเล่นอยู่กับเพื่อนๆ สัตว์ตัวอื่นๆ ช้างที่เห็น ใครๆ ดูก็รู้ว่าเป็นช้างของวิว เพราะรูปทรงที่มีเอกลักษณ์และสีสันอันสดใสแตกต่างไปของตัวช้าง คุณอาจจะไม่รู้ว่าเวลาช้างเป็นสีขาว สีฟ้าอ่อน สีชมพูสด แดงหรือม่วง มันให้อารมณ์น่ารักเพียงใดวิววาดรูปช้างลงบนกระดาษเพื่อสเกตช์เป็นแนวทางก่อนเขียนลงบนเฟรมผ้าใบขนาดใหญ่แน่นหนา วันดีคืนดีก็นำโขลงช้างที่วาดเสร็จพร้อมกับเรื่องราวในรูปเขียนออกมาจัดแสดงนิทรรศการให้ได้ชมกัน    
พันธกุมภา
พันธกุมภาถึง มีนา อ่านเรื่องความกลัวของมีนาแล้ว ฉันเริ่มมองมาที่ตัวเองแล้วว่า ฉันกลัวอะไร? มาถึงตอนนี้ก็คิดได้ว่าคงไม่มีความกลัวอะไรที่น่ากลัวไปกว่าการที่เรา “ไม่รู้” ว่าตัวเอง “กลัว” อะไร ความกลัวเป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้น – ใครสักคนเคยบอกเช่นนั้น ฉันมักเลือกสร้างความกลัวเพื่อให้ตัวเองกล้าหาญ และเอาชนะความกลัวให้ได้ เพราะความกลัวคือสิ่งที่ท้าทายจิตใจและมานะในตัวของฉัน แต่ยังไงก็ตามมีน้อยคนนักที่จะสามารถพัฒนาความกลัวที่มีอยู่ในตนให้กลายเป็นความเข้มแข็งในการดำรงชีวิตบางที เราอาจอยู่อย่างโดดเดี่ยวจนไม่มีใครเป็นเพื่อนคอยแนะนำ ให้คำปรึกษา หรือหารือกันเรื่อง “ด้านใน” ของตนก็เป็นได้ ฉันเองหากไม่มีเพื่อนที่ปฏิบัติธรรมเหมือนกัน ก็คงจะไม่ค่อยปฏิบัติเท่าไหร่ คงจะเตร็ดเตร่ไปมา ทำบ้างไม่ทำบ้าง แต่พอเรามีเพื่อนคอยกระตุ้น ดูแล พูดคุย มันก็ทำให้เรามีกำลังใจในการกระทำเพื่อนจึงช่วยให้เราพยุงความกลัว เท่าทันและเอาชนะความกลัวได้เรื่องเพื่อนทางธรรมนี่ก็สำคัญมาก ตอนที่ฉันไปปฏิบัติที่วัดป่าสุคะโตนั้น แม้จะมีเรื่องราวที่น่าสนใจอีกมาก แต่เรื่องการปฏิบัตินั้นฉันก็คิดว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่พี่น้องหรือคนที่สนใจจะได้เรียนรู้ด้วยตนเอง นั้นคือเป็น ภาวนามยปัญญา คือ การเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริงด้วยตัวของตน แม้ว่าปัญญาในมรรคองค์ที่ ๘ จะได้กล่าวถึง สุตตมยปัญญา และ จิตตมยปัญญา คือ ปัญญาจากการอ่านและฟัง และปัญหาจากการพิจารณาไตร่ตรอง แต่ปัญญาที่สำคัญสุดๆ ก็คือ “ปัญญาจากการเรียนรู้ด้วยตนเอง”หลายคนที่ปฏิบัติ มักพบหนทางที่ตนคิดว่าเหมาะสมกับจริตของตัวเอง แน่นอนว่าภูมิปัญญาของแต่ละคนต่างกัน ฉันหรือเธอก็มีภูมิปัญญาต่างกัน มีความคิด มีจริตที่ต่างกัน ฉะนั้นการที่จะบอกว่าเราจะให้คนนี้ปฏิบัติแบบที่เราปฏิบัติก็คงจะไม่ได้หมายความว่ามันจะเหมาะกับเขามากน้อยเพียงใด ฉันจำได้ว่ามีอาจารย์หลายท่านที่บอกว่าให้เราลองที่จะศึกษาหาแนวทางที่เหมาะสมกับจริตของเรา เช่น หากใครที่เป็นคนคิดมาก มีอารมณ์แปรปรวนไปมา โกรธง่าย กลัวง่าย อาจจะเน้นที่การ “ดูจิต” เป็นหลัก ส่วนใครที่ติดกับร่างกาย หน้าตา รูปร่าง ความสวยงาม เป็นต้น ก็อาจเน้นที่การ “ดูกาย”– ซึ่งการดูกายดูจิต ถือเป็นหนทางกว้างๆ ของสติปัฏฐานหรือการเจริญสติวิปัสสนานั่นเองการเรียนรู้ของแต่ละคนจำเป็นต้องเกิดจากประสบการณ์ของแต่ละคน ที่จะได้พบ ได้เผชิญ ได้รู้ตามจริงที่ปรากฏ ทั้งกาย เวทนา จิต และธรรม ทั้งนี้หลังจากที่แต่ละคนปฏิบัติกับครูบาอาจารย์แล้ว เมื่อต้องกลับมาปฏิบัติเองก็เป็นความท้าทายอย่างยิ่งของคนนั้นๆ แม้ว่าหลายคนจะบอกว่าการปฏิบัติจะปฏิบัติที่ไหนก็ได้ เราจะนั่งสมาธิที่ไหนก็ได้นั้น ฉันคิดว่าไม่ผิด แต่บางครั้งหากเราปฏิบัติ โดยที่ไม่รู้แนว ทำไปโดยไม่มีหลักที่ชัดเจนหรือทำด้วยความลังเลสงสัย เช่น บางคนนั่งสมาธิแล้วอาจเจอนิมิตต่างๆ หากใครที่รู้ก็จะเท่าทันนิมิต แต่บางคนก็อาจหลงนิมิต ไปยึดติด คิดว่าตนได้หลุดพ้นก็ว่าได้ หรือบางคนอาจจะทำไปแบบช้างตาบอด คือสักแต่ทำแต่ไม่รู้ว่าทำแล้วจะเป็นอย่างไร จะเกิดอะไรขึ้นตามมาบ้าง ดังนั้น การที่เราไปแสวงหาความรู้จากผู้รู้ จากอาจารย์ต่างๆ นั้น ก็น่าจะเป็นส่วนช่วยตัวเราได้ดีไม่น้อย ที่จะทำให้เราเห็นหนทาง เห็นวิธีการและแนวปฏิบัติได้เป็นอย่างดีทั้งนี้เมื่อเราไปปฏิบัติในวัด หรือสถานปฏิบัติธรรม แน่นอนว่า สภาพแวดล้อมในพื้นที่ต่างๆ นั้น ย่อมเหมาะสมแก่การปฏิบัติ คือเงียบ และสงบ หรือ “สัปปายะ” ต่อเรานั้นเอง หรือแม้แต่บางครั้งก็มีกระแสกิเลส ที่ไม่มากและเอื้อต่อการปฏิบัติของเรากว่าที่บ้านหรือที่หอพักหรือที่ทำงานเพื่อนที่ปฏิบัติเหมือนกัน ปฏิบัติแนวเดียวกันนี้เองจะช่วยให้เรามีคนที่คอยเกื้อกูลกันและแนะนำ ตลอดจนสอบถามแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับอารมณ์ของเราได้เป็นอย่างดี – ฉันเชื่อว่าการที่ปฏิบัติแล้วมีเพื่อนๆ พี่น้องทางธรรมมาช่วยแนะนำและชี้แนะ จะทำให้เรารู้ความก้าวหน้าของตน และมีเพื่อนที่คอยให้กำลังใจ เป็นแรงกระตุ้นให้เราปฏิบัติได้อย่างต่อเนื่องต่อเนื่องในระดับชีวิตประจำวันของเรา คือให้การปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน คือการทำชีวิตให้เป็นปกติธรรมดา “ธรรมะ”  คือ ธรรมดาของชีวิต คือ ธรรมชาติ และคือความเป็นสากล ความทุกข์ไม่ได้แบ่งแยก ศาสนา ความเชื่อ อายุ เพศ อาชีพ  ความทุกข์คือสิ่งปรากฏอยู่ทั่วไป คือสากล ฉะนั้น ธรรมะที่จะทำให้เราพ้นทุกข์ นั้นก็คือหลักสากล ที่ไม่ได้หมายถึงคนที่เป็นพุทธศาสนิกชนเท่านั้น คนที่นับถือศาสนาอื่นๆ ก็สามารถเข้าถึงหนทางแห่งการพ้นทุกข์นี้ได้โดยไม่ได้หมายความว่าคนๆ นั้นต้องนับถือศาสนาพุทธ หากแต่คนๆ ได้พบกับหนทางสายกลางแห่งการดำเนินชีวิตให้เท่าทันทุกข์ และพบสุขอย่างแท้จริง การปฏิบัติในชีวิตประจำวันของฉัน คือ เช้า ค่ำ นั่งวิปัสสนา ครั้งละ ๓๐ – ๖๐ นาที แล้ว เวลาที่เหลือ ที่ต้องทำงานคือกำหนดตามดูลมหายใจ เป็นหลัก และ เวลากลางวัน ก็เดินจงกรม เวลาทำงาน นั่งหน้าคอมพิวเตอร์ พิมพ์งาน อ่านหนังสือ ขับรถ กระพริบตา เคี้ยวอาหาร กลืนน้ำลาย ก็ตามรู้กายที่รู้สึก คือเมื่อรู้สึกที่ไหนของกายก็รู้ สักแต่เพียงรู้ รู้แล้วไม่ปรุงแต่ง วางใจเป็นกลาง มีอุเบกขา และมีสติเท่าทันความคิด ความรู้สึก อารมณ์ต่างๆ ไม่คิดว่าชอบหรือไม่ชอบ เพราะหากชอบเราก็จะมีความโลภเกิดขึ้น ถ้าไม่ชอบเราก็จะมีความโกรธ ยิ่งเป็นการเพาะเชื้อกิเลสขึ้นไปอีก ดังนั้น จึงดู สักแต่รู้ อย่างเดียว ทั้งนี้ คนที่ปฏิบัติวิปัสสนา ไม่ได้เป็นคนที่พิเศษไปกว่าคนอื่น หรือต้องมีอะไรที่วิเศษแตกต่างจากคนอื่นๆ หรือทำตัวสุดโต่ง ปรามาสคนอื่นว่า คุณไม่ปฏิบัติธรรมคุณดีไม่เท่าฉันหรอก หรือ ยึดติดกับตัวตนของตนเพิ่มขึ้น คนที่คิดเช่นนี้ไม่ใช่นักวิปัสสนา หรือนักปฏิบัติธรรมที่ดี เพราะยิ่งสร้างอุปาทานเกิดขึ้น สร้างความยึดมั่นถือมั่นเพิ่มขึ้น ทางตรงกันข้าม นักวิปัสสนาทั้งหลายควรจะมีเมตตา กรุณา ต่อผู้ที่ยังเข้าไม่ถึงธรรมะ เพราะเขาอาจจะยังไม่ถึงเวลาธรรมะจัดสรรก็ได้ ดังนั้น สิ่งที่จะช่วยได้คือการแผ่เมตตา แบ่งปันความสุข สงบ ที่ได้รับจากการปฏิบัติให้แก่คนที่ยังเข้าไม่ถึงธรรม เพื่อให้เขาได้พบกับธรรมอันประเสริฐเช่นตัวเราธรรมะของนักพัฒนานักพัฒนาหลายท่านที่ฉันรู้จัก ตอนนี้หลายคนก็เริ่มจะเข้าหาธรรมะ เข้าหาการปฏิบัติทางสำนักปฏิบัติ หรือวัดสายต่างๆ ฉันมักได้ยินเรื่องราวของพี่ๆ ที่รู้จักและนำมาเล่าสู่กันฟัง บางคนก็จับกลุ่มเจอกันและคุยกันในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ หรือบางคนก็นัดกันไปปฏิบัติธรรมร่วมกันนักพัฒนาที่ได้ออกเดินทางด้านภายในเริ่มมีมากขึ้น การแสวงหาทางจิตวิญญาณมีให้เราได้เห็น เช่น หลายเวทีที่มีการจัด มักจะมีเรื่องเหล่านี้ผนวกรวมเข้าไปอยู่ด้วย แม้ว่าจะมีหลายคนมองว่านักพัฒนาที่ปฏิบัติธรรมนั้นเป็นพวกที่เห็นแก่ตัว และแสวงหาความสุขของตน จนบางครั้งลืมความทุกข์ของชาวบ้านหรือคนอื่นๆ นั้น ฉันกลับมองว่านี่เป็นการมองของคนที่ยังไม่เข้าใจ และอาจจะยังไม่ชัดเจนกับสิ่งที่ผู้ปฏิบัติคนนั้นเป็นอยู่ เพราะ บางคนที่ปฏิบัติก็ปฏิบัติจนไม่คิดถึงคนรอบข้าง พูดยกตนข่มท่าน หรือ ทำตัวแปลกแยกแตกต่างอย่างสุดโต่ง เรื่องต่างๆ เหล่านี้ เกิดขึ้นกับฉัน ที่เปลี่ยนไปหลังจากปฏิบัติวิปัสสนาครั้งแรกเมื่อสองปีก่อน เพื่อนพี่ๆ ที่รู้จักกันหลายคน มองว่าเป็นจริตศรัทธา คือมองว่าเป็นค่านิยมชั่วครู่ หรือเป็นความฮิตชั่วคราว บางคนถึงกับบอกว่าฉันเปลี่ยนไป พูดไม่รู้เรื่อง และทำตัวไม่ค่อยคุ้นเคย ฉันบอกเสมอว่าไม่ผิดที่ฉันจะเปลี่ยน – และไม่ผิดที่คนๆ หนึ่งจะเปลี่ยนเมื่อได้พบกับธรรมะ อันที่จริงคนเราเปลี่ยนแปลงทุกๆ วัน ไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์ ไม่ว่าจะดีใจหรือเสียใจ ไม่ว่าจะเหนื่อยหรือมีพลัง ไม่ว่าจะกลัวหรือเข้มแข็ง สิ่งเหล่านี้คือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับพวกเราทุกๆ วัน และทุกๆ ลมหายใจ....เธอว่าอย่างนั้นไหม มีนา......
ชนกลุ่มน้อย
หนังสือเดินทาง 7 เล่ม  กับเพลง 7 ซีดีอัลบั้มผมหลงชอบ ‘ตากอากาศ’ อย่างไม่ทราบสาเหตุ  ผมเห็นครั้งแรกจากหนังสือเล่มหนึ่ง  ตากอากาศกลางสนามรบ  นับแต่นั้นมา  ตากอากาศก็เข้ามาอยู่ในใจผม  มันให้ความรู้สึกนัยยะความหมาย  กว้างไกลเมื่อไปอยู่ร่วมคำอื่น  มีบวกลบอยู่ในนั้นผมถือโอกาสเชิญมาอยู่ร่วมในชื่อเรื่องอีกครั้งต้นฉบับชิ้นนี้ เขียนห่างฝั่งทะเลสาบสงขลาราว  10 กิโลเมตร  ผมกลับไปบ้านเกิด  แบบด่วนๆ  จึงต้องพกข้อมูลทุกอย่างใส่แฟ้ม  พร้อมต้นฉบับอื่นที่ค้างคา  รูปถ่าย  กล้องถ่ายรูป(ประจำตัว)  พร้อมเป้  และเจ้าชายน้อย 7 ขวบ เช่นเคยเรื่องของเรื่องก็คือผมเตรียมตัวล่องใต้  เรื่องไม่ใหญ่ได้อย่างไร  เมื่อนานเป็นปีกว่าจะกลับไปเยือนบ้านเกิดสักครั้ง วางแผนไว้ว่าจะไปยังเส้นทางที่เคยไป  คน--สถานที่ที่เคยผูกพัน ไปสวน ไปตามทางเดินเก่าๆ ..    คิดได้อย่างนั้น ผมจะไปวิธีไหน รถไฟ .. เป็นทางเลือกแรก ..  แล้วผมก็นึกถึงหนังสือ เพลง ทีนี้ ผมจะชวนหนังสือเล่มไหนร่วมเดินทาง  ซีดีแผ่นไหนติดตัวไปด้วย.. (ผมขาดหนังสือ  ขาดเพลงไม่ได้)  ยิ่งคิดไว้ล่วงหน้าว่า  หากได้ไปเปิดหน้าหนังสือตรงสถานที่นั้น  ฟังเพลง ณ ตรงโน้น  เรื่องอะไรบ้างล้อมรอบตัว   นึกเล่นๆไปอย่างนั้น  แค่นึกก็ได้รับรสบางอย่างไหลเข้ามาแล้วผมเลือกหนังสือมา 7 เล่ม (บอกไม่ปิดลับ) เริ่มจาก  แผ่นดินอื่น , สะพานขาด  สองเล่มนี้ เป็นงานของ กนกพงศ์  สงสมพันธุ์  อยากอ่านความคุ้นเคยร่วมบรรยากาศบ้านเกิด หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว  ของมาเควซ  ผมเรียกสั้นๆอย่างนั้น  เปิดหน้าไหนก็ชวนอัศจรรย์   อ่านได้ทุกบรรยากาศ      วิหารที่ว่างเปล่า ของ เสกสรรค์  ประเสริฐกุล  นักเขียนต้นแบบอีกคนหนึ่งที่ผมตามอ่านมานาน   แค่มีวิหารที่ว่างเปล่าอยู่ตัว  ก็ได้รับแรงดลใจเข้าแล้วดาวที่ขีดเส้นฟ้า  ของ  พนม  นันทพฤกษ์  ด้วยอยากย้อนรอยดาวที่ขีดเส้นฟ้า นิค  อาดัมส์  วัยหนุ่มของศิลปิน  ของ เออร์เนสต์  เฮมมิงเวย์ หยิบหนังสือเล่มนี้อ่านแล้วได้พลัง(หนุ่ม)กลับมา  เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ  งานของ อรุณธตี รอย  แปลโดย สดใส  ผมเพิ่งได้มา  ยังไม่ได้เปิดอ่าน และเล่มสุดท้ายคือ ดินแดนลม บทกวีเล่มล่าสุดของผมเอง  ที่ใช้ฉากตัวละครและเรื่องราวในบ้านเกิด (ลุ่มทะเลสาบสงขลา) เสียส่วนใหญ่   ตามด้วยแผ่นซีดี 7 แผ่น  เริ่มด้วย  Shangri – La  ของ MARK  KNOPFLER  แผ่นนี้ เสี้ยวจันทร์  แรมไพร หยิบยื่นให้  ฟังงานชุดนี้แล้วคิดถึงเกาะนางคำ เกาะยวน เกาะทอม เกาะหมาก เกาะสี่เกาะห้ากลางทะเลสาบทุกครั้ง  The next voice you hear  งาน the best  of Jackson  browne  ผมอยากฟังเพลง Late  for  the sky  ดังขึ้นที่บ้านเกิด  Clapton  Chronicles  งาน the best of eric Clapton  เพียงอยากฟัง  tears in heaven  ,  my father’s eyes  และ wonderful  tonight    SLEEP THROUGH THE STATIC  งานชิ้นหลังสุดของ JACK  JOHNSON  การเดินทางของตะกร้า (The  Journey  Of  Basket)  งานของ รังสรรค์  ราศี-ดิบ  นางฟ้าสีขาวกับรอยเท้าพระจันทร์ (White  Angel  and  moon’s  footprint) ของ สุวิชานนท์  รัตนภิมล  เงาผมเอง  และสุดท้าย  รู้ว่าความรักมีพลัง  งานของพี่ศักดิ์สิริ  มีสมสืบ  ผมอยากฟังเพลงนางฟ้าชัดๆ ที่บ้านเกิดอีกที      เพียงพอสำหรับออกไปตากอากาศบ้านเกิด  ผืนดินที่ได้ชื่อว่า แดดกับเมฆฝนผลัดเปลี่ยนกันครองพื้นที่อย่างต่อเนื่อง  วูบวาบชวนอ่อนไหว  เดี๋ยวมืดเดี๋ยวสว่าง   สลับกับลมพัดแรง  พัดจนใบยางลั่นสนั่นได้ยินไปทั่วหมู่บ้าน   ผมนึกล่วงหน้าไปถึงเส้นทางเก่าๆ  สวน  ทะเลสาบ  ทางรถไฟ  บ้านหลังที่ผูกพัน  หน้าคนที่อยากไปเยี่ยม ..  ใช้เวลาในช่วงสั้นๆ  สู่ดินแดนนั้น  เสมือนหนึ่งกลับไปเยือนดินแดนลม        
แสงพูไช อินทะวีคำ
ถือว่าผมเป็นคนหนึ่งที่มีเพื่อนพ้องน้องพี่มากพอสมควร แต่ละคนชอบส่งข่าวให้กันและกันบ่อยๆ เวลาที่มีเรื่องราวต่างๆ ที่น่าสนใจ เรื่องไอชีที ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เพื่อนส่งข่าวให้รู้ว่า “....คนจากลุ่มน้ำโขงจะมารวมตัวกันที่ ICT Camp มากมาย...เป็นโอกาสที่ดีที่จะได้พบกับผู้คนมากหน้าหลายตาจากประเทศพม่า กัมพูชา เวียดนาม ไทย ลาว .....” ทุกคนดูตื่นเต้นเอามากๆ เมื่อมีคำบอกเช่นนั้นจากเพื่อนๆ ผมจึงตกลงใจว่า “ไป” อีกประการหนึ่งก็คือ มีน้องๆ จากองค์กรเดียวกันไปร่วมด้วยเช่นกัน เพื่อเรียนรู้ร่วมกัน ะในโปรแกรมบอกว่ามีทั้งเรื่อง ไอที ข้อมูลข่าวสาร และเรื่อง Advocacy งานนี้จัดขื้นที่ Learning Resort ที่พัทยา มีผู้เข้าร่วมจำนวน 60 ถืง 70 คน ผมบอกกับน้องๆ ในองค์กรเดียวกับผมว่า “ดีแล้ว....เราคงต้องเรียนรู้เรื่อง Advocacy ให้มาก เพราะงานของพวกเราจะเป็นเรื่องนี้เสียมากกว่า” ตอนแรก ผมว่าจะไม่ไป แต่น้องๆ ก็บอกว่า “พี่ไปด้วยกันเถอะ....หนูไม่เคยไปต่างประเทศ หนูจะไปคนเดียวได้ไง” ในที่สุดผมจึงจำเป็นต้องไปด้วยกับน้องจากลาวประมาน 7 คน การเดินทางก็ต้องนั่งรถตุ๊กๆ จากบ้านถืงสะพานมิตรภาพลาว-ไทย จ่ายค่าแท็กชี่จากด่านฝ่ายลาวไปถืง ด่านฝ่ายไทย 250 บาท จากนั้นก็มีรถมารับจากสะพานมิตรภาพไปที่สนามบินอุดรธานี มุ่งสู่บางกอก แล้วนั่งรถอีกทีหนึ่งกว่าจะถืงพัทยา การเดีนทางจากอุดรธานีถืงบางกอกคราวนี้ด้วยสายการบินแอร์เอเชีย เวลาลงจากเครื่องที่บางกอก กระเป๋าแตกกระจุยกระจายไปหมด เสียงบ่นจากคนหนึ่งที่ยืนข้างๆ ผมว่า “แอร์เอเชียไม่ค่อยรับผิดชอบอะไร ของเสียหายหมด....” “เป็นเพราะว่าราคาถูกมั้ง...ถืงไม่รับประกันไอ้เรื่องเสียหายอย่างงี้” “แต่บางครั้งของที่เราๆ ถือมาด้วยนี้น๋ะ....มันราคาแพงกว่าราคาตั๋วด้วยช้ำ” “ก็จริงนะ....” “แต่ไม่ใช่ว่าราคาตั๋วไม่แพงแล้วจะไม่มีหลักประกันความเสียหายให้ผู้โดยสาร มันก็ไม่ถูกนะ” “ใช่...แต่จะทำไงล่ะ?” “จะทำไงได้ล่ะ.....?” “ได้แต่บ่นไปนั่นแหละ....” “ใช่....ไม่ได้อะไร...ก็แค่ได้แต่บ่นอย่างเดียว” แล้วทุกคนก็เถือกระเป่าเดีนออกจากสนามบินไปคนละทาง
อิทธิฤทธิ์ ประคำทอง
ฉากแรก เธอเป็นหญิงสาวหน้าตาสะสวย มีแววตาเป็นประกาย ด้วยอิริยาบถที่สบายๆ และการพูดคุยที่ดูเป็นธรรมชาติ เราได้เห็นว่าเธอกำลังเตรียมเครื่องดื่มอะไรสักอย่างที่มีสีเขียวเข้ม โดยมีชายอีกคนหนึ่งคอยจดจ้องดูสิ่งที่เธอทำ พร้อมกับถามว่าเธอใส่อะไรลงไปในเครื่องปั่นเพื่อทำเครื่องดื่มชนิดนี้บ้าง... “ฉันก็เอาผักที่มีในตู้เย็นทุกอย่างใส่เข้าไป...คะน้า แตงกวา...ผักทุกอย่างที่มีสีเขียว แล้วก็ดื่มมัน” เธอว่า เสร็จแล้วเธอก็บรรจงเทเครื่องดื่มที่ทำอยู่ลงในแก้วที่มีก้านทรงสวย แล้วยื่นให้กับชายคนนั้น ตอนนี้เครื่องดื่มที่เธอทำแลดูเป็นเครื่องดื่มสำหรับวาระพิเศษ มิใช่น้ำผักปั่นที่เธอทำดื่มเองอยู่เป็นประจำ “ตอนนี้คุณก็เลยหยุดดื่มค็อกเทลไปเลยใช่ไหม”...ชายคนนั้นถามหลังจากที่ทั้งคู่ชนแก้วแล้วพร้อมใจกันดื่มน้ำผักปั่นภายใต้บรรยากาศที่ดูสดใสในห้องครัวของบ้านแห่งหนึ่ง    ฉากที่สอง หญิงสาวคนเดิมปรากฏตัวอีกครั้งในชุดที่เราจำเธอไม่ได้ กล้องถ่ายภาพในระยะใกล้ทำให้เห็นบรรยากาศของการออกกำลังกายกลางแจ้งแห่งหนึ่ง และเครื่องเล่นชนิดนั้นก็คือชิงช้าที่แกว่งตัวพาคนที่ห้อยหัวแล้วใช้ขาเกี่ยวมันแกว่งกระหวัดไปถึงอีกฟากหนึ่งซึ่งมีอีกคนคอยรับอยู่แบบเดียวกับที่เราเคยเห็นนักแสดงห้อยโหนหวาดเสียวในละครสัตว์หรือกายกรรมชอบทำ เบื้องล่างของชิงช้าที่ว่าคือความสูงจากพื้นดินที่มีตาข่ายและเบาะรองรับเอาไว้ เสียงของหญิงสาวคนเดิมดังขึ้น “ฉันเคยเป็นโรคกลัวความสูง กลัวจนทำอะไรไม่ได้ แต่ตอนนี้ฉันไม่สนใจความกลัวที่ว่านั้นแล้ว ชีวิตเป็นของฉัน อยากทำอะไรฉันก็ทำ และฉันก็รู้สึกดีขึ้นมาก” เราเข้าใจได้ว่าภาพที่เห็นคือภาพของหญิงสาวคนนี้ที่กำลังแกว่งตัวห้อยโหนอย่างที่เราคาดไม่ถึงว่าคนที่บอกว่าตัวเองเคยกลัวความสูงจะกล้าทำกิจกรรมเยี่ยงนี้  ฉากที่สาม เธอปรากฏตัวในฐานะแขกรับเชิญในรายการ ‘Oprah’ (โอปราห์) รายการทอล์คโชว์ดังแห่งอเมริกาโดยมีพิธีกรหญิงผิวดำที่โด่งดังที่สุดในสหรัฐอเมริกานั่งอยู่บนโซฟาในห้องส่ง พร้อมกับผู้ชายอีกคนซึ่งจำได้ว่าเป็นชายคนเดียวกับที่ปรากฏในฉากแรกและดื่มน้ำผักปั่นร่วมกับเธอ หญิงสาวผู้นี้ยังคงมีท่าทีสบายๆ พร้อมกับรอยยิ้มที่ดูสดใส หากไม่มีการเฉลยเราก็คงไม่รู้ว่าเธอเผชิญอยู่กับชะตากรรมอันหนักหน่วงของการมีมะเร็งคุกคาม “คุณคิดถึงการเป็นมะเร็งอยู่ไหม คิดหรือเปล่าว่าตอนนี้เนื้อร้ายในตับของฉันกำลังลุกลามไปถึงไหนแล้ว” โอปราห์ถามแขกรับเชิญในรายการ “ไม่เลย ฉันไม่เคยคิดอย่างนั้น ฉันคิดถึงแต่ชีวิตตอนนี้ ตอนที่เรากำลังมีลมหายใจอยู่ในปัจจุบัน คิดถึงสิ่งที่ทำให้ฉันยิ้มได้แล้วมีความสุขมากกว่า ฉันรู้ดีว่าชีวิตไม่ได้ยาวนานมากพอที่คนเราจะคิดถึงอดีตหรือสิ่งที่ทำให้เราจมอยู่กับความทุกข์” ............................ Kris Carr คือหญิงสาวชาวตะวันตก (อเมริกัน) ผู้นั้น เรา – ในฐานะผู้ชมรายการโอปราห์ผ่านทางช่องเคเบิลทีวีอีกทีหนึ่ง ได้รับรู้ว่าเธออยู่กับมะเร็งขั้นที่สี่มาระยะหนึ่งแล้ว แต่มะเร็งที่ว่าก็ไม่ได้กัดกร่อนหรือทำให้ร่างกายเธอทรุดโทรมลง...เราไม่ทันได้รู้ว่าเธอรับการบำบัดด้วยวิธีการแพทย์สมัยใหม่อย่างการทำคีโมฯ บ้างหรือไม่ แต่ภาพที่เห็นผ่านหน้าจอเธอคือหญิงสาวที่มีเสน่ห์และผู้ถึงการมีชีวิตอย่างที่ตระหนักถึงปัจจุบันหรือการมีลมหายใจเพื่อสิ่งนี้ตอนนี้เท่านั้น โดยไม่ปล่อยตัวให้จมไปกับโรคร้ายที่เกิดขึ้น เธอเป็นคนหนึ่งที่ยอมหันหลังให้กับกิจกรรมแบบเดิมในชีวิต หันมาดูแลร่างกายด้วยวิธีธรรมชาติ เลิกทุกข์กังวล ใช้ชีวิตอย่างที่ควรจะเป็นหรือกระทั่งอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน เราได้เห็นว่าไม่นานมานี้เธอก็เพิ่งจะมีพิธีแต่งงานกับคนรักในบรรยากาศที่อบอุ่นโดยไม่ลังเลว่าความตายอาจจะมาพรากเธอไปจากเขาเมื่อไรก็ได้ “ทำไมคุณถึงได้เปลี่ยนความคิดและหันมาดูแลตัวเองอย่างนี้ได้ล่ะครับ” ชายผู้ร่วมในรายการถามขึ้นบ้าง “เพราะเมื่อคนเรา ‘จนตรอก’ มันก็ทำให้เกิดเป็นแรงบันดาลใจขึ้นมาน่ะสิคะ ฉันคิดอย่างนี้ได้ก็เพราะฉันป่วยเป็นมะเร็ง แต่ท้ายที่สุดฉันก็ไม่ได้บ่นว่าที่ตัวเองโชคร้าย แต่ใช้โอกาสนี้เพื่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ฉันไม่เคยทำหรือไม่เคยคิดถึงมาก่อน” หญิงสาวเจ้าของเรื่องราวตอบ โอปราห์ถามเธอส่งท้ายอีกครั้งว่า เธอไม่คิดจริงๆ เหรอว่าตัวเองเป็นทุกข์หรือกังวลใจว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร Kris Carr ในวัย 36 ตอบแบบไม่ลังเลเลยว่า ฉันไม่เคยคิดอย่างนั้นแม้แต่วินาทีเดียว เพราะฉันรู้ดีว่า “ชีวิตนี้หวานเกินไปกว่าที่จะขม” Why, when we are challenged to survive, do we give ourselves permission to truly life?     ---------------------------------------- Kris Carr เป็นช่างภาพและนักแสดง ขณะนี้เธอได้นำเสนอเรื่องราวของเธอกับการเป็นมะเร็งผ่านภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Crazy Sexy Cancer สนใจติดตามได้ที่ www.crazysexycancer.com
พันธกุมภา
มีนา
ฉันดีใจ...ที่เธอมีคนดูแลระหว่างการเดินทาง แม้ว่าเราจะเดินทางเพื่อไปปฏิบัติธรรม คนส่วนมากเขาก็มองว่าเราเติบโตมาในสังคมที่เห็นว่าการชวนดื่มเหล้า การกินอาหารร่วมกันเป็นการให้เกียรติกับผู้มาเยือน การที่เธอกล้าปฏิเสธและอธิบายความเป็นตัวเธอ นับว่าเป็นความกล้าที่จะบอกความเป็นตัวตนด้านดีของตัวเองคนจำนวนมากเกรงใจคนอื่นอย่างน่าเป็นห่วง ฉันเอง...บางครั้งยังไม่กล้าที่จะบอกถึงความเป็นตัวตน หรือความคิดจริงๆ ในเรื่องงาน หลายครั้งเป็นข้อจำกัดขององค์กร สถาบัน และเส้นแบ่งหลายๆ อย่างที่ทำให้เรา...ไม่กล้า ไม่กล้าที่จะบอกว่า เราอยากทำงานเพราะคิดถึงคนที่ลำบาก แต่องค์กรของเราอาจจะต้องการทำงานเพื่อตอบสนองคนที่ให้เงินเรามาทำงาน คนส่วนมากก็เป็นเช่นนั้นหากเพิ่มเรื่องความเกรงใจเข้าไปด้วย โดยที่ไม่ได้ตระหนักรู้ว่า แท้จริง ความเกรงใจนั้นเกิดขึ้นเพราะเราเกรงใจเขา หรือทำไปเพราะอยากให้เขาเกรงใจเราเช่นเดียวกัน...อาหารที่บำรุงกายเนื้อของเรา มีส่วนจริงที่เนื้อสัตว์ เหล้า จะทำให้เราเสริมพลังงานค่อนข้างมาก นอกจากการที่เราต้องการงดเนื้อสัตว์เพื่อให้ปฏิบัติได้ดี สิ่งสำคัญคือการลดความกังวลของเรานั่นเอง เรายังดีที่เป็นคนธรรมดา กล้าที่จะบอกว่าเราเลือกที่จะไม่กินอะไร หากเป็นพระ แม้จะไม่อยากกินแต่พุทธบัญญัติก็จะต้องรับและฉันท์อาหารที่คนนำมาถวายอยู่ดี หลายวัดจึงต้องบอกว่าหลักปฏิบัติของแต่ละที่เป็นอย่างไร เพื่อให้คนทำบุญไม่ต้องเบียดเบียนสัตว์เพื่อมาทำบุญคนธิเบตที่นับถือศาสนาพุทธ ก่อนที่ประเทศจีนจะเข้ามาปกครองก็กินเนื้อสัตว์ แต่เขาไม่ได้ฆ่าสัตว์ เขารอให้สัตว์เหล่านั้นตายเอง จากที่ถึงอายุขัยของมัน อุบัติเหตุ จึงจะนำมาเป็นอาหาร เอาเข้าจริงแล้วมนุษย์ก็ไม่ได้พัฒนาตนเองขึ้นมาด้วยพันธุกรรมที่เป็นสัตว์ที่กินสัตว์อื่นเป็นอาหาร โรค ภัย ไข้ เจ็บ สมัยใหม่หลายๆ อย่างจึงเนื่องมาจากอาหารที่เกินความต้องการของร่างกายจริงๆ   
ฐาปนา
“...ที่สุดแล้ว ปัญหาการเมืองรวมถึงปัญหาส่วนตัวทุกเรื่อง เมื่อสืบเสาะลงไปให้ลึกที่สุดจะพบว่า เป็นปัญหาทางจิตวิญญาณทั้งนั้น ทุกชีวิตเป็นเรื่องของจิตวิญญาณ ฉะนั้นปัญหาทุกอย่างของชีวิตจึงมีต้นตอมาจากจิตวิญญาณและจะแก้ไขได้ด้วยวิธีทางจิตวิญญาณ สงครามเกิดขึ้นเพราะใครบางคนมีสิ่งที่อีกคนอยากได้ นี่คือสิ่งที่ทำให้คนบางคนทำสิ่งที่อีกคนไม่อยากให้ทำความขัดแย้งทุกชนิดเกิดจากการวางความปรารถนาไว้ผิดที่สินติเดียวที่จะยั่งยืนได้ในโลกหล้าคือศานติภายในให้แต่ละคนค้นพบสันติในใจตน เมื่อนั้นเธอจะพบว่า เธอไม่ต้องพึ่งพาอะไรอีก...”(สนทนากับพระเจ้าเล่ม 2 หน้า 204)
รวิวาร
 บางครั้งหมอกก็ไหลมาตั้งแต่ดื่นดึก ห้อมล้อมบ้านของเราไว้เหมือนกองทัพสีขาวหนาวเย็น แล้วเมื่อแสงแรกจากเรือนจุดสว่างขึ้นยามสาง ลำแสงสีส้มก็ผ่าละอองหมอกออกเป็นทาง ธรรมชาติของหมอกนั้นอย่างไร บางคราว เราตื่นขึ้น แลเห็นรอบตัวได้ชัดเจนเป็นรูปเป็นร่าง เห็นชายฟ้าด้านตะวันออกหลังแนวไผ่คู่หน้าประตูเป็นสีชมพูอ่อนๆ แต่แล้วไม่นาน สายธารแห่งหมอกกลับไหลรินสู่หุบเขา ทั้งจากด้านดงดอย ยอดเขาสูง แม่น้ำ ที่ลุ่ม และถนนจากเมือง ดาหน้ามาจากทุกทิศทาง ปิดกั้นบ้านน้อยของเราไว้ บางทีความคิดของเราก็ทำทีอย่างหมอก มียามที่มองอะไรไม่เห็น นอกจากฝ้าละอองเปียกชื้นเยียบหนาว ยามเดินออกจากตัวบ้าน จับมือลูกเล็ก ๆ ออกไปรอรถรับส่งตั้งแต่ฟ้ายังไม่สว่าง เราเดินไปยังไม่ถึงประตูรั้วดี พอหันหลังกลับ บ้านก็หายวับเสียแล้ว เมฆหมอกมากมายในชีวิตยามพร้อมใจรินไหล ทำให้เรามองไม่เห็นสิ่งใดดุจกัน ความหวาดหวั่นพรั่นใจในยามยาก ทำให้เรามองไม่เห็นหลักที่ตั้งของตัวเอง แม้ภูเขาจะยังอยู่ ดอยหลวงเชียงดาวสูงตระหง่านเด่นสง่าไม่เคยวับหาย บ้านที่ปลูกสร้าง รวงรังทั้งหลังยังตั้งมั่นอยู่ ทว่า หมอกสีเทาในรอยต่อของรัตติกาลและรุ่งอรุณกลับปิดบังทุกสิ่ง ทุกทัศนียภาพคือกลุ่มหมอก เหน็บหนาว อับจน ไร้หนทาง ไม่ว่าจะเดินไปทิศใด กระนั้น สายหมอกก็อยู่เพียงชั่วครู่ ไม่ช้าไม่นาน เพียงสองสามชั่วโมง ดวงตะวันก็เป็นฝ่ายชนะ ริ้วหมอกขาวลอยรี่ราวถูกขับไล่ ถอยร่นหวั่นหวาด สะเปะสะปะ เหนือพื้นหญ้ารอบบ้าน ละไอหมอกสลายเป็นควันขาวอยู่ทุกหย่อม บนยอดดอย หมอกหลอมละลาย รวมเป็นเมฆก้อนย่อม รุกไล่กันลงมาตามไหล่เขา แล้วลอยหาย เผยโฉมหน้าขุนเขาอย่างรวดเร็ว ในที่สุดแสงสว่างก็แผ่เต็มที่ราบ ตะวันดุจกระจกส่อง ทำให้เรามองเห็นขุนเขาได้กระจ่าง เห็นชัดทั้งริ้วทิวธงบริเวณจุดพักแรม เห็นร่องเหลี่ยมผาสีส้ม และสันเขาสูงต่ำเหยียดชัน .................................................. เรามาอยู่ที่นี่ มิใช่เยี่ยงผู้ยึดมั่นอุดมการณ์ เราเพียงใช้ชีวิตตามที่คิด เชื่อ และรู้สึก บางคราวรู้สึกมาดมั่น บางครั้งถูกป่าหมอกห้อมล้อม ละอองหมอกแห่งความสับสนอันเหน็บหนาว สายหมอกที่พันริ้วปิดบังนัยน์ตา และบางคราวรัดรอบหัวใจ ที่เราทำทั้งหมดนั้นเต็มที่ดีชอบทั่วถ้วนแล้วหรือไม่ จะทำเช่นไร หากปราศจากอาหารยาไส้ ไม่มีขนมนมเนยให้ลูกยา? เวลาเช่นนั้นหลงลืมว่า เคยรู้สึกขอบคุณเป็นล้นพ้น จนร้องเอ็ดอึงอยู่ในใจ ที่นี่ที่ไหนกัน ถ้าหากไม่ใช่สรวงสวรรค์ เราคงได้ประกอบคุณงามความดีที่ตัวเองไม่รู้มาก่อนหรือคิดไม่ถึงเป็นแน่ ถึงได้มาอยู่ในที่ที่งดงามดุจดั่งสรวงสวรรค์เช่นนี้ ยามเช้า อากาศสดชื่นบริสุทธิ์ แสงแดดอบอุ่นสาดส่องเข้าไปถึงใจ นกน้อยร้องรำพัน จนถึงยามสาย โผบินเริงร่า ร่อนระบำให้เราดู ร่าเริงเสียจนการตื่นขึ้นเพื่อจิกหาอาหารประทังชีวิตของมันเหมือนเป็นคนละสิ่งกับการทำมาหาเลี้ยงชีพของมนุษย์ มันร้องว่า ฉันไม่กังวล ไม่มีภาระ ไม่หนักใจ และก็ไม่ทอดถอนใจว่า ...เฮ้อ! อีกวันแล้วหรือนี่ วันนี้จะหาอะไรกินดี ถ้าหากไม่มีหนอนแถวนี้ เราจะทำอย่างไร กลางวัน... กลางวัน เสียงระฆังชายคากรุ๋งกริ๋งกังวาน สายลมหอบเสียงใสเหมือนแก้วพลิ้วเสนาะทั่วทุ่ง สายลมโชยพัดไม่หยุด จากฟากดอยเทือกโน้น ส่งข่าวสารสู่สันเขาเทือกนี้ ลอยข้ามชายแดนไปไกลก่อนวกกลับมา ระเรื่อยแผ่วผิวเนื้อตลอดบ่าย ไม่ให้รุ่มร้อนจากแรงตะวัน เย็นย่ำเมื่อพระอาทิตย์ลับลา แมวหมาพากันออกมานอกชาน นอนบิดตัวเหยียดยาว ดูเกียจคร้านและสุขสงบ พวกมันมาส่งอำลาวันแสนดีงามอีกวันหนึ่ง สนธยาซึ่งสงบ ลาละ วางมือและประโลมใจ งดงามไม่แพ้ยามอื่น เย็นพิเศษบางวัน เด็กน้อยได้โลดเต้นกับเมฆดอกกุหลาบที่ปลิดออกจากสวรรค์ ระบายด้วยสีแสงตะวันที่สะท้อนดวงจากหลังภูเขา เป็นสีกุหลาบแก่ก่ำงามวิจิตร ฟ้าเหนือดอยหลวง หนึ่งวันในหนึ่งปี หรือสิบปี ร้อยปี มีดอกกุหลาบที่เทวีแห่งเบื้องบนปลิดโปรยเล่นให้คนชม มียามเช้า สาย บ่าย กลางวัน กลางคืน และฤดูกาล หมอกสีขาวละลายเป็นไอต่อหน้าต่อตาเราทุกเช้า แล้วความทุกข์ความหวั่นใจของเราเล่า กาลเวลาทำให้เราเป็นทุกข์ หรือว่าการรับรู้ถึงเวลาที่ทำให้เป็นทุกข์? สรรพสิ่งหมุนวนไป ไม่มีอะไรคงรูปถาวร เมื่อเราพยายามหยุดบางอย่างไว้ด้วยความคาดหวัง นั่นหาใช่นิรันดร์ ไม่ใช่ปัจจุบัน ไม่อนิจจัง เรากลายเป็นทุกข์ ฉันต้องก้าวออกมา สายหมอกอยู่ที่นั่น แต่ไม่ช้าไม่นานมันจะสลายไป บ้านของเรายังอยู่ เบื้องหลังเมฆหมอกมืดทึบ สิ่งที่ได้เลือกโดยผ่านกระบวนการตรวจสอบจากชีวิตดีแล้วย่อมทนทานไม่อาจเปลี่ยนแปร ทางของฉันซึ่งไม่แตกต่างจากของเธอ และทุกคน เราล้วนมองหาเส้นทางที่สามารถเดินไปด้วยหัวใจเป็นสุข ทางซึ่งชีวิตทุกวันไม่ต้องฝืนใจ การงานที่ไม่ต้องอดทนทำไปเพื่อความสุขในวันข้างหน้า ทว่า ทุกข์ทรมานและเสียน้ำตาในวันนี้ ความลับของชีวิตมีหลายข้อเสียจนผู้คนพากันกล่าวว่า “ชีวิตคือสิ่งลี้ลับ มหัศจรรย์” เมื่อเราคิดว่าได้ยินเสียงเรียก และก้าวตามมันไป บางครั้งกลับมีทางแยกสายเล็กสายน้อยลวงให้เราเลือก เธอจะเดินทางใดล้วนไม่ผิด หากแต่ละทางย่อมนำพาไปสู่สิ่งหนึ่ง แล้วพอเราคิดว่า อืม ..ฉันพอจะรู้แล้วล่ะว่า ทางไหนจะนำไปสู่สิ่งที่ปรารถนามากที่สุด มันกลับเฉลยขึ้นว่า ถนนทุกสายมุ่งไปสู่สิ่งเดียว ซ่อนที่หมายและไม่ใช่ที่หมายไว้ในหนทางเสียอย่างนั้น...   ถึงอย่างไร เราคงไม่อาจพลัดหลงไปไหน นอกเหนือจากบ่อโคลนดูดแห่งการลืมหรือทะเลทรายแห่งความไร้ชีวิต เราอาจหยุดพัก สับสน หรือมึนงงบ้าง อย่างไร เรายังคงสัญจรไปใน “ชีวิต”