Skip to main content
SenseMaker
เมื่อพูดถึงเหตุและปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ บนโลกนี้ คงไม่มีใครปฏิเสธว่าเทคโนโลยีคือตัวการอันดับต้นๆ โดยในช่วงหนึ่งศตวรรษหลังสุด ICT ถือได้ว่าเป็นเทคโนโลยีที่เปลี่ยนวิถีชีวิตมนุษย์ในทุกสังคม และในวงกว้างไล่มาตั้งแต่การเกิดขึ้นของ ICT ยุคแรกๆ ซึ่งได้แก่โทรเลข ตามมาด้วยโทรศัพท์ มาจนถึง ICT ในยุคปัจจุบัน นั่นคือโทรศัพท์มือถือ และ อุปกรณ์ต่อเชื่อมอินเตอร์เนตต่างๆ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ หรือคอมพิวเตอร์พกพาขนาดต่างๆความเปลี่ยนแปลงที่ปรากฏการณ์ชัดเจน คือ การที่ ICT ทำให้สังคมมนุษย์ มีรูปแบบการติดต่อสื่อสาร และรูปแบบการเข้าถึง ประมวลผล และจัดการข้อมูล ที่มีความรวดเร็วขึ้น (การประหยัดเวลาในการติดต่อสื่อสาร และการจัดการข้อมูล) และด้วยต้นทุนที่ต่ำลง (ลดต้นทุนที่เกิดจากการเดินทางเพื่อการติดต่อ หรือการเข้าถึงข้อมูล) ซึ่งส่งผลให้การจัดการด้านต่างๆ มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น (สามารถดำเนินการต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และทันท่วงทีมากขึ้น)จากปรากฏการณ์ดังกล่าว ทำให้เกิดความเชื่อที่ว่า ICT ได้ย่นและย่อโลกใบนี้ลง ทำให้ระยะทางไม่เป็นอุปสรรค (Distanceless) อีกต่อไป นั่นคือ ไม่ว่าจะอยู่ไกลหรือใกล้ มนุษย์ก็สามารถติดต่อถึงกัน หรือสามารถเข้าถึงข้อมูล และบริการที่ต้องการได้ภายในเวลาไม่กี่วินาทีอีกทั้ง ยังก่อให้เกิดอีกหนึ่งความเชื่อที่ว่า ICT ได้ทำให้มนุษย์มีความคล่องตัว หรือมีอิสรภาพที่จะเคลื่อนที่ (Mobility) มากขึ้น เนื่องจากมนุษย์ไม่จำเป็นต้องผูกติดกับสถานที่ หรือบริเวณใดบริเวณหนึ่ง เพื่อการได้มาซึ่งความสามารถในการดำเนินกิจกรรมที่ตนต้องการ เนื่องจากมีศักยภาพในการติดต่อสื่อสาร และในการเข้าถึง ประมวลผล และจัดการข้อมูลที่ต้องการได้อย่างสะดวกและรวดเร็วจากทุกหนแห่ง (ที่เครือข่ายสื่อสารไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ หรืออินเตอร์เนตเข้าถึงได้) เพิ่มขึ้นความเชื่อทั้งสองข้างต้น ถูกสะท้อนและตอกย้ำด้วยการเกิดขึ้นของระบบบริการแบบ e ต่างๆ เช่น e-Mail e-Commerce และ e-Government และระบบแบบ m ต่างๆ เช่น m-Pay และ m-Banking โดยวัตถุประสงค์ คือ การทำให้บริการ ซึ่งในอดีตผู้ที่ต้องการจะใช้บริการต้องเดินทางไปด้วยตนเอง ณ สถานที่ให้บริการเฉพาะ มาอยู่ในรูปแบบอิเลกทรอนิกส์ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เนต และเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ตามลำดับอีกทั้ง ความเชื่อทั้งสองข้างต้น ยังถูกสะท้อนผ่านการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินการของสถาบันหรือองค์กรต่างๆ ทั้งในระดับภายในองค์กรและระหว่างองค์กร ดังจะเห็นได้จากการเกิดขึ้นและขยายตัวของระบบ Paperless office และรูปแบบการทำงานแบบ Mobile office เป็นต้นโดยระบบ Paperless office จะเน้นไปที่การสร้าง ส่งผ่าน และจัดเก็บเอกสารในรูปแบบอิเลกทรอนิกส์ เพื่อให้เอกสารและข้อมูลต่างๆ สามารถถูกค้นหาได้ง่าย เข้าถึงได้ในวงกว้าง และสามารถถูกนำมาใช้งานในโอกาสต่างๆ ได้อย่างทันที และในรูปแบบที่หลากหลายในขณะที่รูปแบบการทำงานแบบ Mobile office จะเน้นไปที่ความคล่องตัวในการทำงาน ซึ่งทำให้ในขณะที่พนักงานมีอิสระในการทำงานมากขึ้น (พนักงานสามารถทำงาน ได้จากหลายสถานที่ และมีช่วงเวลาทำงาน ที่ยืดหยุ่นมากขึ้น โดยไม่ขาดการติดต่อสื่อสารกับองค์กร) องค์กรยังคงความสามารถ ในการพัฒนาประสิทธิภาพ ได้อย่างต่อเนื่อง (กิจกรรมทางธุรกิจดำเนินได้อย่างต่อเนื่อง รวดเร็ว มากขึ้น) ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นข้างต้น คล้ายกำลังชี้นำ ให้เราเข้าใจว่า ICT เป็นกลไกสำคัญ ที่ทำให้มนุษย์ใกล้ชิดกันมากขึ้น ทั้งจากการติดต่อสื่อสารระหว่างกันที่ทำได้ง่ายจากทุกหนทุกแห่ง และจากการแบ่งปันข้อมูลและทำงานร่วมกัน อีกทั้ง ICT ยังถูกมองว่า เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและอิสรภาพในการทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งในระดับบุคคล และในระดับองค์กร ได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ดี ในขณะที่ทุกสิ่งข้างต้นเกิดขึ้นและดำเนินไป สิ่งต่างๆ ซึ่งสะท้อนความเป็นจริงในอีกมุมหนึ่งก็กำลังเกิดขึ้นและดำเนินไปเช่นกัน นั่นคือเมื่อแต่ละปัจเจกบุคคล มีศักยภาพในการติดต่อสื่อสาร และมีความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลที่ต้องการ ได้จากทุกหนทุกแห่ง รวมทั้งความคล่องตัว หรืออิสรภาพที่จะเคลื่อนที่เพิ่มมากขึ้น ย่อมทำให้แต่ละปัจเจกบุคคล หลุดจากข้อจำกัดของระยะทาง นั่นคือไม่ถูกผูกติดกับสถานที่อีกทั้ง ด้วยความสามารถและการมีอิสรภาพที่มากขึ้นในการเลือกผู้ที่ตนต้องการจะติดต่อสื่อสาร ในการเลือกสังคมที่ต้องการจะมีปฏิสัมพันธ์ และในการเลือกบริโภคข่าวสารจากสังคมที่ตนต้องการ ผลที่ตามมา ทำให้แต่ละปัจเจกบุคคล ไม่จำเป็นต้องถูกผูกติดกับกรอบของสังคมที่ตนเป็นสมาชิกอยู่เดิม ทั้งในแง่ของกรอบความคิด ค่านิยม และวิถีการดำเนินชีวิต (เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า สังคมในแนวขนาน ซึ่งเคยกล่าวถึงในรายละเอียดในบทความแรก) เมื่อแต่ละปัจเจกบุคคลไม่ถูกผูกติดกับสถานที่ ย่อมทำให้เกิดความห่างไกลทางกายภาพระหว่างสมาชิกของสังคม ตั้งแต่ในระดับครอบครัว (สมาชิกในครอบครัว) ไปจนถึงองค์กรขนาดใหญ่ (ประเทศชาติ) ผลที่ตามมา ทำให้สังคมขาดการมีประสบการณ์ร่วมกัน ซึ่งทำให้ปริมาณ การปฏิสัมพันธ์ ระหว่างสมาชิกในสังคมลดลง นอกจากนั้นยังทำให้การรับรู้ทางกายสัมผัส เช่น การจับมือ การโอบกอด หรือการส่งผ่านความรู้สึก จากการปฏิสัมพันธ์ทางกายภาพอื่นๆ ระหว่างสมาชิกในสังคมลดน้อยลง ซึ่งในปัจจุบัน เทคโนโลยียังไม่สามารถเข้ามาทดแทนความอบอุ่น หรือรายละเอียดตรงนี้ได้ นั่นหมายถึง ในขณะที่ ICT ย่นและย่อโลกใบนี้ลง และทำให้ระยะทางไม่มีความหมายนั้น ICT กลับเพิ่มระยะทาง ระหว่างสมาชิกภายในสัมคมต่างๆ ทั้งในรูปแบบของความห่างไกลกันทางกายภาพ ซึ่งเป็นผลจากการมีอิสรภาพในการเคลื่อนที่มากขึ้น และในรูปแบบของความแตกต่างกันทางความคิด ค่านิยม และวิถีการดำเนินชีวิต ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของความสามารถ และอิสรภาพในการเข้าถึงและเลือกรับข่าวสาร เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว จึงเกิดข้อสงสัยที่น่าสนใจที่ว่า สรุปแล้ว ICT ช่วยให้ครอบครัวซึ่งเป็นหน่อยย่อยที่สุดทางสังคม มีความอบอุ่นขึ้น หรือผลักดันให้เกิดความแตกแยก กับอีกข้อสงสัยที่ว่า ตกลงแล้ว ICT ช่วยลดหรือเพิ่มแรงเสียดทานในการดำรงอยู่และการพัฒนาขององค์กรทางสังคมต่างๆ จากปรากฏการณ์และข้อสงสัยข้างต้น จึงนำไปสู่คำถามที่ว่า ความเชื่อที่ว่า ICT ทำให้มนุษย์เราใกล้ชิดกันมากขึ้น หรือความเชื่อที่ว่า ICT ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและอิสรภาพในการทำกิจกรรมต่างๆ ยังคงเป็นจริงอยู่รึเปล่า ปรากฏการณ์ ข้อสงสัย และคำถามทั้งหมด ที่ข้าพเจ้าตระหนัก และพยายามฉายให้เห็นข้างต้น ทำให้ข้าพเจ้าเชื่อว่า ICT เป็นตัวการที่ผลักดันให้เกิดผลลัพธ์ทางสังคม ที่มี “ความย้อนแย้ง” ในตัวของมันเอง โดยนอกจากประเด็นความย้อนแย้งข้างต้นแล้ว ICT ยังเป็นตัวการผลักดันให้เกิดผลลัพธ์ทางสังคมที่มีความย้อนแย้งในอีกหลายมุมมอง ดังนี้ ในมุมของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แน่นอนว่า ICT ทำให้มนุษย์มีความจำเป็นในการเดินทางน้อยลง เนื่องจากสามารถใช้เทคโนโลยีทดแทนได้ แต่ในขณะเดียวกัน ด้วยความคล่องตัว และอิสรภาพในการเคลื่อนที่ ที่ได้รับมาจาก ICT ทำให้มนุษย์กลับมีความปรารถนา และความสามารถที่จะเดินทางอย่างอิสระมากขึ้น เมื่อมองจากมุมของ ศักยภาพทางเทคโนโลยี ICT ได้เปิดโอกาสให้มนุษย์ มีรูปแบบชีวิตที่มีอิสระมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน เพราะความเจริญทางเทคโนโลยีที่ทำให้มนุษย์เสียความเป็นส่วนตัวจากความสามารถที่จะถูกตรวจสอบ และถูกติดตามได้ตลอดเวลา หากมองในมุมของความหลากหลาย ดูเหมือนว่า ICT ได้ทำลายเส้นกั้นเขตแดนทางกายภาพต่างๆ ทำให้เกิดการหลั่งไหลของข้อมูล วัฒนธรรม แนวความคิดข้ามพรมแดน ซึ่งในท้ายที่สุด ICT น่าจะเป็นตัวการสำคัญในการบ่มเพาะความหลากหลายในหลายๆ ด้านของสังคมหนึ่งๆ แต่เมื่อมองในระดับสังคมขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งได้แก่สังคมโลก จะเห็นว่าความหลากหลายทางวัฒนธรรม และแนวความคิดต่างๆ ของสังคมขนาดย่อยทั่วโลกถูกทำลายลง พร้อมกับการเกิดขึ้นของกระบวนการโลกาภิวัฒน์ หรือการมุ่งสู่การมีมาตรฐานและวัฒนธรรมเดียว ข้าพเจ้าหวังเป็นอย่างยิ่งว่า บทความนี้จะเป็นจุดเริ่ม ที่ทำให้ทุกท่านได้ตระหนักและระมัดระวังว่า ในขณะที่ท่านใช้ ICT เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง ผลลัพท์ที่ย้อนแย้ง อาจจะกำลังเกิดและดำเนินไปพร้อมๆ กัน จงอย่าลืมว่า “ในขณะที่ ICT เป็นตัวการสำคัญ ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย แต่ก็กลับทำให้เกิดผลลัพธ์ทางสังคมที่ย้อนแย้งอย่างน่าฉงน”