Skip to main content
Hit & Run
Ko We Kyawเมื่อวันเสาร์ สัปดาห์ก่อน มีการจัดงาน ‘Saffron Revolution, A Year Later' ที่จัดโดยคณะผลิตสื่อเบอร์ม่า (Burma Media Production) หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อรำลึกถึง 1 ปี แห่งการปฏิวัติชายจีวร นอกจากการเสวนาและการกิจกรรมเพื่อเป็นการรำลึกแล้ว ภาคบันเทิงในงานก็มีความน่าสนใจเพราะมีการแสดงจากคณะตีเลตี (Thee Lay Thee) ที่มีชื่อเสียงจากพม่าการแสดงในวันดังกล่าว เป็นการแสดงในเชียงใหม่เป็นครั้งที่ 3 ในรอบปี 2551 หลังจากเคยจัดการแสดงมาแล้วในเดือนมกราคม และการแสดงการกุศลเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยนาร์กิส เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาในพม่า ซึ่งควบคุมเสรีภาพการแสดงออกของประชาชนเป็นอย่างมาก สื่อโทรทัศน์ วิทยุส่วนใหญ่เป็นของรัฐบาล มีการผ่อนปรนให้เอกชนประกอบกิจการผลิตสิ่งพิมพ์บ้าง แต่ก็ต้องมีใบอนุญาตและถูกเซ็นเซอร์จากรัฐบาลก่อนจำหน่าย การแสดงละคร ดนตรี ทั้งการแสดงสด และบันทึกการแสดงลงเทป หรือซีดีเพื่อจำหน่ายก็ต้องได้รับอนุญาตเช่นกันถึงจะสามารถแสดงได้การแสดงตลก แม้จะต้องได้รับอนุญาตก่อนแสดง แต่ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการแสดงความคิดเห็นต่อสังคมและการเมืองพม่า เพราะมุกตลกที่ ‘ซ่อน' สารกับผู้ชม ก็เป็นเรื่องยากกว่าที่รัฐบาลจะจับได้ไล่ทัน แม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐบาลซึ่งถูกส่งไปสังเกตการแสดงตลกก็ยังหัวเราะชอบใจไปกับมุขเสียดสีรัฐบาลของคณะแสดงตลก!ก๊อตซิล่า หัวหน้าคณะตลกตีเลตี เคยกล่าวว่า มุกตลกของพวกเขาเป็นเสียงจริงที่สะท้อนมาจากประชาชนบนท้องถนนในพม่า เราเพียงแต่รับฟังเสียงของประชาชน จากนั้นจึงสะท้อนชีวิตของพวกเขาโดยผ่านการแสดงซึ่งไม่ผิดไปจากนั้น000การแสดงรอบล่าสุดที่เชียงใหม่ของพวกเขา แม้นักแสดงจะมาไม่ครบทีม มีเพียงเส่งตี ปานตี ชอซุเมียว และก๊อดซิล่า แต่ก็สามารถสะท้อนชีวิตของชาวพม่าออกมาเป็นการแสดงแสบๆ คันๆ เสียดสีสภาพสังคมและรัฐบาลทหารพม่าเช่นเคยช่วงหนึ่งของการแสดงพวกเขากล่าวยกย่องพระสงฆ์และประชาชนพม่าที่ออกมาเดินขบวนเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ก่อนที่จะเสียดสีรัฐบาลโดยบอกว่าเดี๋ยวนี้ศาสนาพุทธในพม่าไม่ครบพระรัตนตรัย คือมีพระพุทธ พระธรรม แต่ขาดพระสงฆ์ ที่ขาดเพราะพระสงฆ์ไปอยู่ที่อินเส่งซึ่งในพม่าคุกอินเส่งเป็นสถานที่กักขังนักโทษการเมืองที่รัฐบาลทหารเห็นว่าเป็นปฏิปักษ์ ซึ่งที่ผ่านมาเป็นนักโทษเจเนอเรชั่น'88 ที่ออกมาต่อต้านรัฐบาลในเดือนสิงหาคมปี 1988 แต่ในปัจจุบันผู้ำนำสงฆ์ในการเดินขบวนเมื่อปีที่แล้ว ถ้าไม่ลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ ก็ถูกควบคุมตัวอยู่ภายในเรือนจำแห่งนี้เป็นจำวนมากเช่นกันเขายังกล่าวถึงผู้ปกครองพม่าอย่างแสบคัน โดยเปรียบเทียบกับผู้นำของประเทศอื่นๆ โดยนักแสดงได้กล่าวเปรียบว่าประชาชนแต่ละประเทศจะแสดงความเคารพต่อผู้นำประเทศเป็นอย่างมาก ในประเทศไทยประชาชนจะพร้อมใจกันสวมเสื้อสีเดียวกันในวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์ ในสหรัฐอเมริกาประธานาธิบดีจอร์จ บุช มาเยือนชายแดนไทย-พม่าที่ อ.แม่สอด ก็ส่งบอดี้การ์ดมาอารักขาหลายพันคน ขณะที่ตานฉ่วยผู้นำของประเทศเรา ครั้งหนึ่งไปตรวจราชการที่เขตอิระวดี ซึ่งเป็นเขตที่ประสบภัยพิบัติจากพายุไซโคลนนาร์กีส ก็มีประชาชนชี้ไปที่ตานฉ่วยและบอกว่านี่คือคนที่บ้าที่สุดในประเทศพม่าตอนท้ายของการแสดง ก๊อดซิล่า หัวหน้าคณะ ยอมถอดโลงจีออกเหลือแต่กางเกงบ็อกเซอร์ แล้วสวมกล่องเครื่องใช้ไฟฟ้ายี่ห้อซันโย (Sanyo - ถ้าเสียงแบบเลียนอักษรพม่าจะพ้องกับ ตะโยะ ในภาษาพม่าแปลว่า จีน) แปลงร่างเป็นหุ่นยนต์พูดความจริง หุ่นยนต์ตัวนี้มีความสามารถพูดความจริงได้ทุกเรื่อง ตั้งแต่เรื่องทะลึ่งทะเล้นสารพัดหุ่นยนต์ก็ตอบได้หมดแต่พอถึงคำถามท้ายสุดท้ายว่าการเลือกตั้งปี 2010 ใครจะชนะการเลือกตั้ง หุ่นยนต์ตัวนี้ก็ช็อตและล้มตึงจากเก้าอี้ไปดื้อๆ ทำเอาผู้ชมหัวเราะปรบมืออย่างชอบใจ เพราะเสียดสีการเมืองพม่าภายใต้รัฐบาลทหารที่ควบคุมกลไกการปกครองในพม่าเป็นอย่างดี และเมื่อถามว่าทำไมถึงตอบไม่ได้ หุ่นยนต์ก็ตอบว่าเพราะยี่ห้อซันโยทำมาจากจีนกับอินเดีย ถึงตรงนี้ทำเอาผู้ชมยิ่งขำกันใหญ่ เพราะจีน กับ อินเดีย สองมหาอำนาจที่ขนาบพม่าต่างหนุนรัฐบาลทหารพม่า และกำลังทวีบทบาทและอิทธิพลในพม่าปิดท้ายการแสดงด้วยนาฏศิลป์ของซอซุเมียว โดยก่อนจบการแสดงก๊อดซิล่าหัวหน้าคณะยืนยันว่าแม้ผู้ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจอย่าง ‘ซากะนา' จะถูกจับหลังจากระดมสิ่งของเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยจากพายุนาร์กิส แต่พวกเขายืนยันว่าจะแสดงตลกต่อไป000ขอเอาใจช่วยให้คณะตีเลตีได้ทำการแสดงกันต่อไป ไม่ถูกจับไปอบรมที่อินเส่งเสียก่อนแต่ก็น่าอิจฉาพวกเขาตรงที่คณะตลกพม่ายังสามารถพูดถึงรัฐบาลพม่าได้ แม้จะกล่าวถึงอย่างเลี่ยงๆ แต่ก็สามารถพูดถึงได้อยู่ดี ไม่อย่างนั้นคนคงไม่ขำ แต่มี ‘คณะ ตลก.' คณะหนึ่งของไทย ที่คนดูต้องวิจารณ์ ‘คณะตลก.' ที่ว่าีนี้อย่างระมัดระวังอย่าง ‘คณะตลก.รธน.'ที่ในรอบ 2 ปีมานี้โชว์ลีลาอึ้ง ทึ่ง เสียว โดยเฉพาะรอบล่าสุดในการเชือดสมัคร คดีชิมไปบ่นไป คณะ ตลก. ลงทุนโยนกฎหมายแรงงานทิ้งหันมาเปิดพจนานุกรมเพื่อนิยามสมัครเป็นลูกจ้างให้ขาดคุณสมบัติการเป็นเสนาบดีให้ได้ แต่การตีึความที่ว่าทำเอาคนไทยขำแทบน้ำตาเล็ด เพราะ ‘นายจรัล' หัวหน้าคณะ ตลก.รธน. ก็ถูกคนดูสงสัยว่าจะเข้าข่ายเดียวกับสมัครตามการตีความด้วยพจนานุกรมจนต้องขาดคุณสมบัติตามนายสมัคร ที่ คณะตลก. เพิ่งเชือดไปหรือไม่!ไม่รู้ว่าถ้า ‘ตลกคณะตีเลตี' กับ ‘คณะ ตลก.รธน.' มาประชัน ใครจะขำกว่ากันโดยเฉพาะถ้าให้ ‘หุ่นยนต์พูดความจริง' มาตอบคำถามเรื่องคุณสมบัติหัวหน้าคณะ ตลก.รธน. ไม่รู้ว่าหุ่นยนต์จะช็อตใบ้กินหรือเปล่าเกี่ยวกับตีเลตีนานาดี เขียนบทความลง นานาดี เขียนบทความลงนิตยสารสาละวิน ฉบับที่ 47 ประเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน 2551 อธิบายคณะ ‘ตีเลตี' ว่าเป็นคณะนักแสดง ‘อะเญะปอย' หรือ การแสดงตลก สลับกับการร้องและการรำแบบนาฏศิลป์พม่า  "ตีเลตี"  ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2546 จากความคิดของซากะนา (Zarganar) นักแสดงตลกอาวุโสชื่อดังในวงการบันเทิงพม่า เขาได้รวบรวมบรรดานักศึกษาไฟแรงจากวิทยาลัยนาฏศิลป์ย่างกุ้งมาสร้างคณะตลก โดยการควบคุมของหัวหน้าคณะที่มีชื่อในการแสดงว่า ‘ก๊อตซิล่า' (Gawzillar) อดีตเจ้าหน้าที่ในกระทรวงวัฒนธรรมที่ผันตัวเองออกมาเป็นนักแสดงอิสระ สำหรับ ‘ตีเลตี' มีความหมายว่า "สี่ผล" (‘ตี' แปลว่า ผล, ลูก ‘เล' แปลว่า สี่) ในคณะมีนักแสดงชายตัวหลักที่ชื่อลงท้ายด้วยคำว่า ‘ตี' 4 คน ได้แก่ ซีตี (พุทรา - Zee Thee) ปานตี (แอปเปิล - Pan Thee) เส่งตี (Sein Thee - เพชร) และเจตี (มะเฟือง - Kyae Thee) นอกจากนี้ยังมี ชอซุเมียว (Chaw Su Myo) และ เมียะซะแปโง่ง (Mya Sabae Ngone) นางรำสาวสวยที่ช่วยเพิ่มสีสันให้กับการแสดงแต่ละครั้งอีกด้วยการแสดงมุขตลกการเมืองในพม่ามีความเสี่ยงสูง เช่น ปาปาเลย์ แห่งคณะแสดงสามพี่น้องตลกหนวด (The Moustache Brother) แห่งเมืองมัณฑะเลย์ที่มีชื่อเสียง ก็เคยถูกรัฐบาลจับมาแล้วหลายหน นักแสดงตลกอย่างซากะนา ก็ถูกรัฐบาลจับแต่การแสดงตลกก็เหมือนเป็นการพูดแทนในสิ่งประชาชนไม่สามารถพูดได้  ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้การแสดงของตีเลตีเป็นที่ถูกอกถูกใจชาวบ้านร้านตลาดเป็นอย่างมาก พวกเขาได้รับความนิยมและสามารถครองใจ ประชาชนได้อย่างรวดเร็ว แม้แต่เจ้าหน้าที่ที่ถูกส่งให้ไปสังเกตการณ์หน้าเวทีแต่ละครั้งก็ยังแอบชอบใจและก่อนหน้านี้ วีซีดีการแสดงของตีเลตีที่จัดขึ้นที่ทะเลสาบกั่นดอจี เมืองย่างกุ้ง เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ถูกทางการพม่าห้ามเผยแพร่ การันตีคุณภาพการแสดงของคณะนี้เป็นอย่างดีรูปแบบการแสดงของคณะตีเลตีเหมือนการแสดง ‘อะเญะปอย' ทั่วไป โดยจะโหมโรงด้วยการร้องเพลงเรียกน้ำย่อย ต่อด้วยนาฏศิลป์แบบพม่าของนักแสดงหญิงที่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างคล่องแคล่วกระฉับกระเฉงไปตามท่วงทำนองเพลงที่คึกคัก ถึงตรงนี้นานาดีชื่นชมการแสดงของนางรำเป็นอย่างมาก โดยว่านางรำสามารถเลี้ยงชายผ้าถุงความยาวประมาณเมตรเศษ ๆ ให้พลิ้วไหวอยู่ในอากาศได้อย่างน่าทึ่ง แต่ถ้าไม่รับการฝึกฝนจน ชำนาญแล้วละก็ แค่เดินเฉย ๆ ก็อาจสะดุดชายผ้าล้มหัวฟาดพื้นได้ง่ายๆและเมื่ออุ่นเครื่องจนร้อนได้ที่แล้ว ซีตี ปานตี เส่งตี และเจตี และก๊อตซิล่า หัวหน้าคณะ จะขนมุขตลกมาเพียบ โดยการแสดงตลกจะมีทั้งการพูดถึงเหตุการณ์ต่างๆ ในพม่า และการสมมติสถานการณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นฉากการสนทนาระหว่างทหารพม่าและชาวบ้าน  ซึ่งทั้งบุคลิก น้ำเสียงและเครื่องแต่งกายของนักแสดงก็จะเปลี่ยนไปตามตัวละครนั้นๆ  เรียกได้ว่า ทำเอาคนดูแทบไม่มีเวลาหยุดหัวเราะตลอดเวลาการแสดงอ้างอิงบันเทิง: คณะตลกตีเลตี ผู้ซับน้ำตาเหยื่อนาร์กิสด้วยเสียงหัวเราะ,โดย นานาตี, นิตยสารสาละวิน ฉบับที่ 47 (16 พ.ค. - 30 มิ.ย. 51)Thee Lay Thee Show a Smash in Chiang Mai, By Wai Moe, the Irrawaddy, Monday, January 28, 2008 http://www.irrawaddy.org/article.php?art_id=10054