Anime Watch
เนตรชนก แดงชาติ
ใน ช่วง 40 กว่าปีที่ผ่านมานี้การไหล่บ่าของกระแส J-POP ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อวัฒนกรรมการเสพสื่อของบ้านเรา และแน่นอนว่าย่อมหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวถึง “การ์ตูนญี่ปุ่น” ที่ซึมลึกอยู่ในวงการสื่อบ้านเรารวมถึงเด็ก ๆ (ตลอดถึงคนที่เคยเป็นเด็ก) ไปไม่ได้
หลายท่านคงจำ ทั้งโดราเอมอน ดราก้อนบอล เซเลอร์มูน กันได้ และที่จะมาชวนท่านผู้อ่านคุยวันนี้เป็นหนึ่งในอมตะการ์ตูนแห่งช่อง 3 คือเรื่อง “อิคคิวซัง” หรือ “เณรน้อยเจ้าปัญญา” การ์ตูนที่มาจากบุคคลที่มีชีวิตอยู่จริงในช่วงประวัติศาสตร์
“อิค คิวซัง” จากเรื่องเล่าที่นำมาเขียนเป็นนิยายภาพ จากนั้น ฮิซาชิ ซาคากุจิ (Hisashi Sakaguchi) ได้นำมาแต่งเป็นมังงะ (การ์ตูนเล่ม) และอนิเมชัน เรื่องราวของลูกชายพระจักรพรรดิกับพระชายาฝ่ายใต้ในสมัย มุโรมาจิ (ประมาณ พศ. 1338 - 1573) ซึ่งเป็นยุคที่ชนชั้นนักรบมีอำนาจเหนือชนชั้นอื่น ๆ ในสังคม ได้แก่ ชนชั้นชาวนา และชนชั้นพ่อค้า ตลอดจนได้หลอมรวมตัวเองเข้ากับชนชั้นปกครอง (ฝ่ายพระจักรพรรดิและราชสำนัก) ทำให้เกิดระบบศักดินาและเป็นต้นกำเนิดของวัฒนธรรมซามุไร เช่น การตั้งรัฐบาลทหาร หรือ “บาคุฟุ” ที่มี “โชกุน” เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการปกครอง “ไดเมียว” หรือ เจ้าเมืองแคว้นต่าง ๆ ไปจนถึงการเผยแพร่ศาสนาพุทธ นิกายเซนอันเป็นหนึ่งในวิถีของชนชั้นนักรบ ในการสืบทอดอำนาจตกอยู่ในตระกูล อะชิคางะ
อย่างไรก็ตามที่มาของอำนาจทางการเมืองของฝ่ายจักรพรรดิและฝ่ายโชกุนมีจุดที่ แตกต่างกันก็คือ ฝ่ายจักรพรรดิสืบเชื้อสายมาจากตระกูลยามาโตะ สมัย โคฟุน (ค.ศ. 250–538) ที่มีความเชื่อว่าได้สืบเชื้อสายมาจากเทพีพระอาทิตย์ (Amaterasu – omikami) ซึ่งเป็นเทพผู้ให้กำเนิดชาวญี่ปุ่น จากนั้นได้แต่งบันทึกประวัติ- ศาสตร์ “โคจิกิ” (Kojiki) และ “นิฮงโชกิ” (Nihonshoki) ในยุค นาระ (ค.ศ. 710 – 794) เกี่ยวกับการให้กำเนิดโลกและเกาะญี่ปุ่น ความเชื่อในศาสนาชินโต รวมไปถึงการให้กำเนิดและเชื้อสายของผู้ที่สืบทอดสายเลือดของเทพีพระอาทิตย์ อันหมายถึงตระกูลของพระจักรพรรดิ อาจกล่าวได้ว่าเป็นบรรพบุรุษของชาวญี่ปุ่นจึงมีอำนาจในปกครองดูแลลูกหลาน ซึ่งสอดคล้องกับลัทธิขงจื้อที่รับมาจากจีนในยุคต่อมา แตกต่างจากการได้มาซึ่งอำนาจของโชกุนที่มาจากการทำสงครามและกำลังทหาร
แต่ด้วยความที่ฝ่ายจักรพรรดิมีความผูกพันและชอบธรรมทางศาสนา (ชินโต) และวัฒนธรรมมายาวนาน จึงเป็นเหตุที่ชนชั้นเหล่าซามุไรและโชกุนไม่สามารถล้มล้างได้ง่ายนัก แม้จะสามารถทำให้ชาวนาและพ่อค้าหมอบราบคาบแก้วได้แล้วก็ตาม การมีอยู่ของจักรพรรดิเริ่มจะอยู่ในสถานะ “สัญลักษณ์ของสังคม” มากกว่าการปกครองประเทศ
ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นการทำความเข้าใจระบบการปกครองเบื้องต้นในยุคที่เรื่อง อิคคิวซังดำเนินเรื่องอยู่ขอรับ ซึ่งประเด็นที่อยากชวนท่านผู้อ่านคุยนั้นก็คงเกี่ยวกับตัวละครที่ขาดไม่ได้ ในเรื่องนี้เลยคือท่านโชกุน “อาชิคางะ โยชิมิสึ”
การพบกันครั้งแรกระหว่างท่านโชกุนและอิคคิวซังเกิดขึ้นเมื่อเมื่อเสียงของ อิคคิวซังเลื่องลือไปทั่วเมืองจนถึงหูของท่านโชกุน จึงมีความคิดที่จะนิมนต์เณรน้อยอิคคิวมาจับเสือที่อยู่ในม่านไม้ แต่ก็เสียท่าให้ในที่สุด ด้วยการที่อิคคิวซังขอให้ฝ่ายท่านโชกุนไล่เสือออกมาให้ตนจับนั่นเอง
เรื่องราวต่อจากนั้นก็ล้วนเกี่ยวพันทั้งกันระหว่างตัวละครทั้งสองไม่ว่าจะ เป็นความขี้เล่นรักสนุกที่ช่างสรรหาเรื่องปวดสมอง (ทั้งคิดขึ้นเอง ทั้งร่วมมือกับคิเคียวยะซัง เจ้าของร้านค้าจอมงก) หรือเรื่องเดือดร้อนของประชาชนที่ถ้าไม่มาจากท่านโชกุนก็จากคิเคียวยะซัง จนชาวเมืองต้องไปขอความช่วยเหลือจากอิคคิวซังอยู่เสมอ
(ที่มา http://en.wikipedia.org/wiki/Ikkyu)
เรื่อง ในประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับวีรกรรมของท่านโชกุนจะเป็นอย่างไรไม่ทราบ และส่วนใหญ่เรื่องราวที่เกี่ยวกับท่าน “อิคคิว โชจุน” ที่มีตัวตนอยู่จริงนั้น ส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับความเถรตรงและการเป็นปฏิปักษ์ต่อขุนนางและพระเถระที่มือ ถือสากปากถือศีล จึงขอชวนท่านผู้อ่านมองเรื่องอิกคิวซังในฐานะเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งแล้วกัน นะ
ขอรับ
ท่านผู้อ่านรู้สึกเหมือนกันหรือเปล่าว่าการ์ตูนเรื่องนี้ได้นำ “โชกุน” มาเป็นตัวละครที่มีบทบาทในทางขำขันหรือเป็นตัวสร้างปัญหาของเรื่อง จนบางครั้งผู้เขียนนึกในใจว่า “วัน ๆ หนึ่ง คนเป็นไม่ทำงานทำการอะไรเลยหรืออย่างไร” หรือแม้แต่คิเคียวยะซังเองก็ตระหนี่ถี่เหนียวเสียจนมีอารมณ์ร่วมไปกับอิคคิว ซังอย่างไม่น่าเชื่อ จึงน่าสังเกตว่าการ์ตูนเรื่องนี้ได้นำ “ผู้ทรงอำนาจ” ในประวัติศาสตร์มาล้อเลียนหรือล้อเล่น แม้ว่าผู้แต่งจะเกิดคนละยุคสมัยกันก็ตาม
การล้อเลียนหรือล้อเล่นบุคคลผู้มีอำนาจเป็นลักษณะของการตอบโต้ทางสังคมอย่าง หนึ่งที่พัฒนามาจากการนินทาที่เป็นกลไกการลงโทษสมาชิกในสังคมรูปแบบหนึ่ง การได้นินทาใครสักคนนอกจากจะช่วยลดความตึงเครียดแล้วผู้ได้นินทาผู้อื่นนั้น จะมีความรู้สึกต่อผู้ที่ถูกนินทาว่า “กูดีกว่ามึง” ยิ่งเป็นการนินทาผู้มีโอกาสทางสังคมหรือมีสถานะทางสังคมที่สูงกว่าตนเองแล้ว ด้วยยิ่งมีบทบาทในการลดค่าอำนาจ หรือ ลดคุณค่าของผู้มีอำนาจที่สูงกว่าตน เพราะในสภาพสังคมจริง ๆ คงไม่มีใครออกมาวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจในสมัยนั้นเป็นแน่ ดีไม่ดีอาจได้นอนในคุกแก้เซ็งไปจนถึงโดนตัดหัว แม้แต่สมัยนี้ที่มีการเปิดกว้างในการสื่อสารหรือมีสิทธิเสรีภาพตามหลัก ประชาธิปไตยที่ใครต่อใครเชื่อว่าเป็นรูปแบบการปกครองที่ดีแล้วนั้น การนินทาหรือการล้อเลียนผู้มีอำนาจยังเสี่ยงต่อการกระทำผิดตามกฎหมายหรือการ ใช้กำลังเข้าไปจัดการทั้งแบบเปิดเผยและแบบลับ ๆ
การล้อเลียนผู้มีอำนาจในประวัติศาสตร์ไม่เพียงพบในเรื่องอิคคิวซังอันเป็น เรื่องเล่าที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตเท่านั้น ยังพบเรื่องเล่าเหล่านี้ในสังคมต่าง ๆ ทั่วโลก แม้แต่ในประเทศไทย เรื่องเล่าประเภทนี้ที่รู้จักกันดีอย่าง “ศรีธนญชัย” เองก็มีลักษณะที่คล้ายกับเรื่องอิคคิวซัง เช่น ความสมองไว และการเอาตัวรอดได้ในสถานการณ์ต่าง ๆ (แม้ว่าบางตอนของศรีธนญชัยอาจจะ “ฮาร์ดคอร์” กว่า เช่น การคว้านท้องน้องของตัวเองก็ตาม) นอกจากนิทานพื้นบ้านเรื่องยาวอย่างศรีธนญชัยแล้ว ยังมีเรื่องเล่าตลกขำขันในชุมชนที่ไม่มีมีแบบแผนหรือมีผู้แต่งที่แน่ชัด อย่างเช่นการ “เล่าเจี๊ยะ” หรือ “เจียะก้อม” ของล้านนา เนื้อหาก็ต่างพัวพันอยู่กับตัวแทนของสถาบันที่มีอำนาจทางสังคม เช่น เจ้าเมือง พระ พ่อค้าคหบดี เหมือนกันอย่างมิได้นัดหมาย
เมื่อมองกลับมาในปัจจุบัน ผู้ที่ตกเป็นเป้าของการล้อเลียนส่วนใหญ่จะเป็นนักการเมืองหรือดารา ส่วนสถาบันศาสนานาน ๆ จะมีการล้อเลียนเกิดขึ้นสักครั้ง แต่ก็ต้องเป็นพระระดับเซเลปที่กระทำความผิดทั้งทางกฎหมายจนเป็นข่าวใหญ่โต เช่น “พระยันตระ” หรือ มีบทบาทในสื่อมาก ๆ เช่น “พระพยอม” อย่างไรก็ตามผู้เขียนไม่ทราบได้ว่า เพราะความเข้มแข็งเรื่องบาปกรรมจากการล้อเลียนพระมีผลในสังคมสมัยนี้ หรือ ความห่างเหินกันระว่างคนกับพระกันแน่ ที่ทำให้การล้อเลียนสถาบันศาสนาลดลงเหลือเพียงแค่การนินทาพระที่ประพฤติตน ไม่เหมาะสมตามหมู่บ้านในชนบท ส่วนการล้อเลียนเศรษฐีที่เราเห็นชัดที่สุดคงหนีไม่พ้นคุณ “ทักษิณ ชินวัตร” ในการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
แต่บางครั้งเหตุการณ์อันน่าเศร้าสลดก็เกิดจากการล้อเลียน เช่น การที่นักศึกษาเล่นละครล้อเลียน ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 อาจเป็นเพราะว่าตัวละครที่นำมาล้อเลียนนั้นได้ล้มหายตายจากไปหลายร้อยปี หรือว่าระบบบาคุฟุและวัฒนธรรมซามุไรได้ถูกปฏิวัติไปตั้งแต่สมัยเมจิ หรือว่า ความแยกแยะได้ว่าอะไรเป็นเรื่องแต่ง อะไรเป็นเรื่องจริง หรือว่าผู้แต่งไม่ไปแตะ “กล่องดวงใจ” ของชาวญี่ปุ่น คงไม่สำคัญเท่า ความ “เซนซิทีฟ” ของบุคคลที่ “ถูกล้อเลียน” หรือ “ถูกนินทา” ที่กลัวว่าผู้เสพสารจะเชื่อว่าเป็นจริงตามที่โดนล้อหรือเปล่า
จะจริงหรือไม่จริงก็ตามมันก็ห้ามคนนินทาได้ยากยากดั่งการห้ามไฟไม่ให้มีควันนั่นแหละขอรับ