นาโก๊ะลี
ช่วงกลางเดือนสิงหาคม ได้มีช่วงจังหวะการเดินทางของชีวิตที่ได้แวะเวียนไปที่บ้านหนองเต่า ขุนดอยแม่วาง เชียงใหม่ หมู่บ้านปกาเกอะญอ และบ้านของพะตีจอนิ โอโดเชา ปราชญ์ชาวปกาเกอะญอ ผู้ที่ไม่ว่าจะได้รับการยอมรับหรือการยกย่องอย่างไรก็ยังใช้ชีวิตอยู่บนผืนดินดังเดิมตามที่บรรพชนเคยเป็นมา ว่าอันที่จริงแล้ว นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราได้มีโอกาสอยู่ร่วมในพิธีกรรมอันงดงามเช่นนี้ ว่าก็คือพิธีมัดมือ (กีจือ ในภาษาปกาเกอะญอ แปลออกมาตรงตัวว่า มัดมือ ก็คือการผูกแขน หรือบายศรีคล้ายของคนเมืองและลาว) คงจะไม่ว่าถึงรูปแบบพิธีกรรม หรือความเชื่อของประเพณีโดยละเอียดนักในวาระนี้ แต่สิ่งที่อยากจะพูดถึงคือเรื่องพลังงาน อย่างไรหรือ.....? เรื่องก็มีอยู่ว่า ในงานพิธีมัดมือนั้น โดยส่วนใหญ่จะทำพร้อมกันทั้งหมู่บ้าน แต่ละหมู่บ้านก็อาจทำไม่พร้อมกัน บางครั้งก็ขึ้นอยู่กับหัวหน้าหมู่บ้าน (ฮีโข่) ตามแบบโบราณ หรือก็อาจจะขึ้นอยู่กับว่า ลูกหลานที่ไปอยู่นอกบ้านต่างเมืองกลับมาพร้อมหน้าพร้อมตากันหรือไม่ พิธีเริ่มจากช่วงเช้า หลังจากที่ก่อนหน้าวันงาน ทุกบ้านก็เตรียมข้าวของเครื่องเซ่นไหว้ อาหารการกิน ต้มเหล้า ขนม ข้าวต้มตามสมควร เช้าวันงาน หลังจากทำอาหาร โดยมากมักจะเป็นเนื้อไก่ หรือหมู จัดเตรียมสำรับเรียบร้อย ทุกคนพร้อมหน้าพร้อมตา พ่อแม่ ผู้เฒ่าในบ้าน มัดมือให้ลูกหลาน พ่อ แม่มัดให้ลูก พี่มัดให้น้อง ญาติมิตรเพื่อนพ้องมัดมือให้กัน