Skip to main content
คนไม่มีอะไร
  หยุดสร้างภาพด้วยวาทะ "การมีส่วนร่วมของประชาชน" ศยามล  ไกยูรวงศ์โครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา           ในยุคสมัยนี้ไม่ว่าภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาชนใช้ วาทะ "การมีส่วนร่วมของประชาชน" ทุกวงการ โดยกำหนดตัวชี้วัดของการบริหารงานแบบธรรมาภิบาลให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ  นับเป็นนิมิตรหมายอันดีสำหรับสังคมไทย ที่ทุกภาคส่วนตระหนักชัดในหลักการนี้    แต่ในความเป็นจริงการใช้วาทะกรรมดังกล่าว   ได้ถูกบิดเบือนเพื่อสร้างภาพพจน์ของการแสวงหาผลประโยชน์ของระบบ และตนเอง                  เหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นในการจัดเวทีของนิคมอุตสาหกรรมที่จะดำเนินการในพื้นที่ตำบลทุ่งปรัง อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช   เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2552  เมื่อประชาชนในพื้นที่จำนวน 300 กว่าคนเข้าร่วมเวทีโดยไม่ได้ถูกเชิญ  มีความเห็นยกมือพร้อมกันว่าไม่ต้องการนิคมอุตสาหกรรม   จึงเป็นสาเหตุให้การจัดเวทีโดยบริษัทที่ปรึกษา ในการประชุมรับฟังความเห็น บนหลักการของการมีส่วนร่วมของประชาชนต้องหยุดลง                สิ่งที่น่าคิดก็คือ ผู้แทน กนอ. ได้กล่าวในที่ประชุมร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2551 ที่มหาวิทยาลัยลักษณ์ ว่าได้ว่าจ้างองค์กรเอกชน (NGO) องค์กรหนึ่งซึ่งมีประสบการณ์ในการจัดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน  จึงไม่ต้องห่วงว่าจะไม่มีส่วนร่วม                  สาเหตุที่ประชาชนไม่ร่วมในเวที   อยู่ที่ว่ากระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเริ่มต้นจากเจ้าของโครงการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาฯ   ความเชื่อถือว่าบริษัทที่ปรึกษาจะเป็นกลางจึงเป็นไปไม่ได้   การจัดเวทีและทำเอกสารเผยแพร่ของบริษัทที่ปรึกษาก็เพื่อมาชักชวนโน้มน้าวให้  ชาวบ้านเห็นด้วยกับการสร้างนิคมอุตสาหกรรม  เมื่อพิจารณาจากคู่มือที่บริษัทที่ปรึกษาทำ  ก็เห็นได้ชัดว่าทำเพื่อโน้มน้าวให้ชาวบ้านทราบแต่ผลดีของโครงการ  แต่ในความเป็นจริงนิคมอุตสาหกรรมย่อมมีทั้งผลกระทบด้านบวกและด้านลบทั้งสิ้น               กรณีนี้สะท้อนให้เห็นว่าระบบของการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)  ยังเป็นปัญหา และต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนเพื่อมิให้โครงการของรัฐและเอกชน ต้องสูญเสียงบประมาณว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาในราคาแพง  แต่ยังสร้างปัญหาความขัดแย้งให้กับชุมชนและเจ้าของโครงการ   การมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริงไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย หากรัฐบาลไม่เริ่มต้นด้วยการนำเสนอข้อมูลทั้งหมดว่าแผนพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้จะพัฒนาภาคใต้ในทิศทางใด คนใต้และคนในพื้นที่เห็นด้วยกับแผนพัฒนาหรือไม่                 ประเด็นจึงอยู่ที่ว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจต่อทิศทางการพัฒนาประเทศ การพัฒนาภูมิภาค การพัฒนาจังหวัด แผนพัฒนาตำบลและชุมชนมีหรือไม่  ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในมาตรา 57  สิทธิในการได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลของหน่วยงานของรัฐ ก่อนการอนุญาตหรือการดำเนินการโครงการ หรือกิจกรรม  ทั้งบุคคลและชุมชนท้องถิ่นผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิแสดงความคิดเห็นของตนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อไปประกอบการพิจารณา  และมาตรา 87  รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน  (1) ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น  (2) ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจทางการเมือง การวางแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจ และสังคม รวมทั้งการจัดทำบริการสาธารณะ               โครงการนิคมอุตสาหกรรมเป็นเพียงโครงการหนึ่งในอีกหลายโครงการตามแผนพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้   การที่เจ้าของโครงการแต่ละโครงการดำเนินการไปก่อน  โดยใช้งบประมาณของภาษีประชาชนว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาจัดทำรายงาน EIA  ไปก่อน  ขณะเดียวกันสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ผลักดันให้รัฐบาลเร่งอนุมัติแผนพัฒนาฯไปด้วย   โดยประชาชนในพื้นที่ก็ยังไม่ทราบว่าบ้านตัวเอง จังหวัดตัวเอง จะพัฒนาอย่างไร   จึงเป็นกระบวนการตัดสินใจแบบบนลงล่างเหมือนเดิม   จึงไม่ต้องแปลกใจว่าประชาชนในหลายพื้นที่คัดค้านโครงการต่างๆที่จะเกิดขึ้น หรือถ้าต้องเห็นด้วย ก็เห็นด้วยแบบยอมจำนนต่อการกดดันจากจังหวัด เจ้าของโครงการ และรัฐบาล ด้วยการรับค่าชดเชยที่ไม่เป็นธรรม                  วาทะ "การมีส่วนร่วมของประชาชน"  จึงถูกสร้างขึ้นจากกลยุทธ์ที่ทำอย่างไรก็ได้ให้โครงการเกิด เช่น กรณีนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด หากรัฐบาลไม่แก้ไขปัญหาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากนิคมอุตสาหกรรม ให้พวกเขามีชีวิตที่ดีได้   ไม่ว่าแผนพัฒนาอุตสาหกรรมในรูปแบบใด โครงการใด  ประชาชนในพื้นที่ก็ยังไม่ไว้วางใจรัฐบาล บริษัทที่ปรึกษา และเจ้าของโครงการ   ที่พวกเขามีคำถามและเรียกร้องความเป็นธรรมจากการพัฒนาที่ไร้ความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม                    รัฐบาลและภาคประชาชนจึงจำเป็นต้องผลักดันให้มีการปรับปรุงกลไกในการพิจารณาและตรวจสอบ EIA ที่มีการตรวจสอบอย่างโปร่งใส ตลอดจนการตรวจสอบและติดตามผลการดำเนินการโครงการ    มิฉะนั้นภาษีของประชาชนต้องละลายไปกับการศึกษาโครงการซ้ำแล้วซ้ำเล่า และตามแก้ไขปัญหาปลายเหตุอย่างไม่สิ้นสุด ขณะที่สังคมไทยมีความขัดแย้งตลอดเวลา