วิพากษ์

23 ธันวาคม: "เพราะเราไม่ยอมรับรัฐประหาร"

20 December, 2007 - 03:14 -- karnt

ผมไม่มีปัญหาอันใดกับ ‘ข้อเสนอ’ ของกลุ่ม ‘ปีกซ้ายพฤษภาฯ’ ในบทความ ‘12 เหตุผลที่ต้องเลือกเบอร์ 12 (และอย่าลืมเบอร์ ส.ส.เขตของ พปช.)’ [1] ซึ่งเขียนโดยคุณหมอกิติภูมิ จุฑาสมิต [2]

ต้องขับไล่กกต.

12 December, 2007 - 00:08 -- maythas

-1-

เป็นที่รู้กันดีว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือกกต.ชุดปัจจุบันซึ่งมีคนอย่าง นางสดศรี สัตยธรรม ผู้ซึ่งดูเหมือนจะชมชอบ “สถาบันทหาร” เป็นพิเศษเป็นคณะกรรมการรวมอยู่ด้วยนั้น เป็นองค์กรที่กล่าวได้ว่าคลอดออกมาจาก “มดลูก” ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. ที่ทำการรัฐประหารปล้นชิงอำนาจมาจากประชาชน โดยมีพลเอกสนธิ บุญยรัตนกลิน ผู้ซึ่งนอกจากชอบอ้างเรื่อง “ความมั่นคง” แล้วยังชอบอ้างเรื่อง “คุณธรรม จริยธรรม” แต่ว่ากันว่าจดทะเบียนสมรสซ้อนอย่างน้อยสองครั้งเป็นอดีตประธาน  

เป็นที่รู้กันดีว่าจุดประสงค์หลักของคมช.และ “บรรดาลูกๆ”  ทั้งหลายก็คือต้องการทำลายล้าง ถอนรากถอนโคน อำนาจและอิทธิพลของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร หรือที่เรียกกันง่าย ๆ จนติดปากว่า “อำนาจเก่า”

อันที่จริง คำว่า “อำนาจเก่า” น่าจะใช้เรียกอำนาจและอิทธิพลอัน “เก่า” และ” แก่” กว่าในสมัยของ พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งจะว่าไปแล้วไม่ได้เก่าอะไรเลย อำนาจของพรรคประชาธิปัตย์น่าจะเก่ากว่าด้วยซ้ำ  

คำว่า “อำนาจเก่า” น่าจะหมายถึงอำนาจและอิทธิพลที่ ควบคุม ปกครองประเทศไทยมายาวนานหลายร้อยปี เป็นอำนาจที่เข้มข้น ทรงพลังกว่าอำนาจและอิทธิพลของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ   ชินวัตร อย่างเทียบกันไม่ติด

จะว่าไปแล้ว อำนาจและอิทธิพลที่ประหารรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และทำให้อดีตนายกฯ ผู้นี้ต้องอยู่ต่างประเทศอย่างไม่มีกำหนดกลับนั้นก็คือ “อำนาจเก่า” นั่นเองหรืออย่างน้อยก็เป็นการ “อ้างอิง” ความชอบธรรมจาก “อำนาจเก่า” ไม่ว่าอำนาจเก่าจะเห็นพ้องด้วยหรือไม่ก็ตาม

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “อำนาจเก่า” มีส่วนไม่มากก็น้อยต่อการทำลายรัฐบาลของอดีตนายก ฯ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้ซึ่งนับวันจะถูกทำให้กลายเป็น “ตำนาน” เช่นเดียวกับ “ผู้อภิวัฒน์” ปรีดี  พนมยงค์ ได้เป็นมาแล้ว

หากจะแปลความหมายหรือตีความกันจริง ๆ แล้วคำว่า “อำนาจเก่า” จึงไม่ควรจะเข้าใจกันอย่างง่าย ๆ ว่าเป็นอำนาจของรัฐบาลชุดที่แล้วหรืออำนาจและอิทธิพลของอดีตนายกฯ  ทักษิณ ชินวัตร แต่มันควรหมายถึงอะไรที่ “เก่าและแก่กว่านั้น” ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกันแล้วทำให้อำนาจและอิทธิพลของพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร กลายเป็น “อำนาจใหม่” ไปทันที

“อำนาจใหม่” ย่อมเป็นปัญหาสำหรับ “อำนาจเก่า” ในทางกลับกัน “อำนาจเก่า” ก็เป็นปัญหาสำหรับ “อำนาจใหม่” ด้วยเหมือนกัน หากไม่มีทางรอมชอม ประนีประนอมหรือต่อรองกันได้ สถานการณ์ความตึงเครียด ความขัดแย้งก็จะเกิดขึ้น และอาจนำไปสู่การเลือกข้างกระทั่งแตกหักกันในที่สุด

-2-

คณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งมีที่มาจากอำนาจรัฐประหาร และรัฐประหารซึ่งอ้างอิงตัวเองกับ “อำนาจเก่า” เป็นตัวปัญหาสำคัญที่ขัดขวางประชาธิปไตย เพราะเป้าหมายขององค์กรนี้แยกไม่ออกจากเป้าหมายของผู้ให้กำเนิด (คมช.) ที่ต้องการกวาดล้างอำนาจและอิทธิพลของอดีตนายกฯ  ทักษิณ  ชินวัตร

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกจนเกินเข้าใจหากคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งน่าจะทำให้ประชาธิปไตยว่าด้วยการเลือกตั้งราบรื่นนั้น กลับเป็นตัวที่ก่อปัญหาเสียเองหลายครั้งหลายครา มากเสียยิ่งกว่าอดีตคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวิสัยทัศน์คับแคบแบบคนที่จมอยู่กับตัวบทกฏหมาย แต่ไม่รู้จักสังคมอย่างรอบด้าน เช่นเรื่องของข้อบังคับในเรื่องการหาเสียงของพรรคการเมือง การจัดการกับอดีตกรรมการ 111 คนแห่งพรรคไทยรักไทย  ตลอดจนความพยายามที่  “อุ้ม”  คมช. ในเรื่องของเอกสารลับ

การพยายามทำลายล้างอำนาจและอิทธิพลของอดีตนายก ฯ พ.ต.ท. ทักษิณ  ชินวัตร ด้วย “กุศโลบาย” ต่าง ๆ นั้น ทำให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องหรือ “ส่วนรวม” ต้องพลอยรับความเดือดร้อนไปด้วยอย่างไม่จำเป็น

มีบางคนเปรียบเทียบเหตุการณ์โค่นอำนาจ และความพยายามในเวลาต่อมาในการกำจัดอำนาจและอิทธิพลของอดีตนายก ฯ ว่าเป็นเหมือน  ”การเผาป่าทั้งป่าเพื่อจับเสือตัวเดียว” หรือการ “ทำลายบ้านทั้งหลังเพื่อกำจัดปลวก” หรือ “เหมือนการไล่จับหนูใน การ์ตูน ทอมและเจอร์รี่” ที่ข้าวของในบ้านต้องแตกหักกระจัดกระจายเพราะการวิ่งไล่กันของสัตว์สองตัว

ราคาที่ต้องจ่ายในการไล่ล่าทำลายอำนาจและอิทธิพลของอดีตนายก ฯ ทักษิณ ชินวัตรนั้นคือความถดถอยของประเทศในทุกด้าน “ประชาชน” ซึ่งไม่รู้อิโหน่อิเหน่ก็ถูกดึงเข้าไปร่วมด้วย “ประชาชนเขาขอให้ผมปฏิวัติ”

นอกจากคณะกรรมการการเลือกตั้งแล้ว ยังมี “ลูก ๆ” อีกหลายตัวที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติได้ผ่องถ่ายอำนาจไปให้เพื่อจัดการกับอำนาจและอิทธิพลของอดีตนายก ฯ ทักษิณ  ชินวัตร ที่โดดเด่นก็เห็นจะเป็น “คตส.” ซึ่งนับวันจะกลายเป็นตัวตลกเพราะหมกมุ่นกับการจับผิดคนอื่นโดยไม่ดูตาม้าตาเรือ ไม่ดูตัวเองว่า “ด่างพร้อยด้วยรอยตำหนิ”  ไม่น้อยกว่าคนอื่นเลย

ขอชื่นชมนักต่อสู้อย่าง คุณจาตุรนต์ ฉายแสง และคนอื่น ๆ อีกหลายคน  ในความกล้าหาญและการเป็นนักต่อสู้ที่วิจารณ์คณะกรรมการการเลือกตั้งอย่างตรงไปตรงมา แต่มากไปกว่าการวิจารณ์ ทางที่ดีควรจะขับไล่คณะกรรมการการเลือกตั้งชุดนี้ไปให้พ้น ไม่ควรจะปล่อยให้สร้างเวร สร้างกรรมอีกต่อไป เพราะ “งาช้างไม่อาจงอกจากปากกระบอกปืน” ได้ฉันใด  “สันดานรัฐประหาร(โจร)ไม่อาจก่อกำเนิดอุดมการณ์ประชาธิปไตย” ได้ฉันนั้น.

หน้ากาก "ความมั่นคง"

5 December, 2007 - 01:44 -- maythas

-1-

การยึดอำนาจโดยกลุ่มทหาร ที่เรียกตัวเองด้วยชื่อที่ฟังดูคุ้นหูสำหรับคนที่พบเห็นหรือศึกษาเกี่ยวกับการรัฐประหารมาบ้างว่า “คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” (คปค.) ในวันที่ 19 กันยายน 2549 นั้นถือเป็นฝันร้ายยาวนานสำหรับสังคมการเมืองไทย และเชื่อว่าจะตามหลอกตามหลอนประวัติศาสตร์ของประชาธิปไตยไปตลอด

คณะทหารที่ยึดอำนาจจากรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ในเวลาต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเรียกตัวเองเสียใหม่แต่ก็ยังฟังดูคุ้น ๆ อยู่ดีว่า “คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ” (คมช.) บัดนี้คำว่า “ความมั่นคง” ปรากฏขึ้นอย่างเป็นทางการแล้วในรูปของชื่อเรียก

และนับจากนี้เป็นต้นไป วาทกรรม “ความมั่นคง” ก็ได้หวนกลับมาหลอกหลอนสังคมการเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง ไม่ว่าในรูปของ “กฏหมายความมั่นคง” ซึ่งฝ่ายทหารกำลังผลักดันกันอย่างหนัก หรือการแทรกแซงกิจกรรมของพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามภายใต้คำว่า “ความมั่นคง” หรือการคงกฏอัยการศึกไว้ในบางจังหวัดด้วยข้ออ้าง ”ความมั่นคง” ฯลฯ

เราได้ยิน ได้ฟังพลเอกสนธิ บุณยรัตนกลิน อดีต ประธาน คปค.และคมช.  ประธาน ครส. เอ่ยคำว่า “ความมั่นคง” โดยไม่ละอายปากบ่อยครั้งมาก  จนทำให้เกิดความสงสัยว่าประเทศไทยอาจตกอยู่ภายใต้ ”ความไม่มั่นคง” ดังที่ทหารนายนี้บอก ?

แต่จะมีใครที่ไหนที่จะเชื่อคำกล่าวอ้างเรื่อง “ความมั่นคง” ของทหารที่ริอาจคิดการณ์ใหญ่รายนี้

นายกฯ ที่อาจหาญและสง่างามของอาจารย์นิธิ?

28 November, 2007 - 09:26 -- karnt

ใครที่ได้อ่านบทความ “นายกฯ ของวิกฤตการเมือง” [1] ของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่เพิ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน คงรู้สึกงุนงงไม่น้อยว่า อาจารย์นิธิ “กำลังคิดอะไรอยู่”

เพราะไม่เพียงในเนื้อหาของบทความดังกล่าว อาจารย์นิธิได้ประกาศไว้ชัดเจนว่า คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ “เหมาะจะเป็นนายกรัฐมนตรีในยามนี้ที่สุด” แต่เหตุผลของความ “เหมาะสมที่สุด” คือ

“นายกรัฐมนตรีคนใหม่ต้องกล้าเผชิญกับแรงกดดันจากกองทัพ รวมทั้งแรงกดดันจากองค์กรอิสระอีกมากที่คณะรัฐประหารตั้งขึ้น อย่างอาจหาญและมีศักดิ์ศรีด้วย ดังที่คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้แสดงให้เห็นอย่างนุ่มนวล แต่สง่างามในครั้งนี้”

ซึ่งทำให้เกิดปฏิกิริยาแบบทันทีทันควันจากสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล [2] ในหน้าเวบบอร์ดของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ตั้งแต่วันแรกที่บทความดังกล่าวเผยแพร่สู่สาธารณะ

แม้หลายคนอาจอคติว่า สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล คือ “ขาประจำ” ที่ติดตามวิพากษ์วิจารณ์ “นิธิและมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน” มาโดยตลอด แต่ผมกลับเห็นว่า หากตัดอคติดังกล่าว และสำนวนที่เป็นอารมณ์ออกไป ประเด็นในข้อวิจารณ์ของอาจารย์สมศักดิ์เป็นสิ่งที่ต้องรับฟังและพิจารณา

 

โดยไม่จำเป็นต้องมีจุดยืนข้างประชาธิปไตยและรังเกียจรัฐประหาร,
ผู้ที่สนใจติดตามการเมืองไทยอย่างจริงจัง และไม่ความจำสั้นเกินไป ก็น่าจะมองเห็นไม่ต่างจากสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

เพราะปัญหาสำคัญไม่ได้อยู่ที่การเห็นว่าคุณอภิสิทธิ์เหมาะสมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป
แต่อยู่ที่เหตุผล ที่อาจารย์นิธิให้ไว้ในบทความดังกล่าวต่างหาก

ยิ่งเมื่อพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่ว่า

อาจารย์นิธิเป็นศาสตราจารย์ทาง “ประวัติศาสตร์”

อาจารย์นิธิเป็น “นักวิชาการสาธารณะ” ผู้ยืนอยู่แถวหน้าสุดของ “มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน” ซึ่งประกาศ “ไม่เห็นด้วย” กับ “รัฐประหาร 19 กันยายน” (แม้ว่าท่าทีและถ้อยคำที่ใช้แสดงความ “ไม่เห็นด้วย” จะชวนให้หลายคนตั้งข้อสงสัยและวิพากษ์วิจารณ์อยู่มาก)

และล่าสุด อาจารย์นิธิเป็นผู้ที่ถูกชูขึ้นเป็น “ผู้นำ” ในการรณรงค์ “ไม่รับ” รัฐธรรมนูญ 2550 (ตอนหนึ่งในบทความนี้ อาจารย์นิธิได้อ้างถึง การ “ปกป้องสิทธิเสรีภาพขึ้นพื้นฐานซึ่งให้หลักประกันไว้แล้วในรัฐธรรมนูญ” ซึ่งผมอ่านแล้วก็ไม่แน่ใจว่าอาจารย์หมายถึงรัฐธรรมนูญฉบับใด ระหว่างฉบับที่ถูกฉีกทิ้งไปเมื่อปีที่แล้ว กับฉบับที่อาจารย์เพิ่งรณรงค์ให้ “ไม่รับ”?)

ก็ยิ่งชวนให้งุนงงต่อสิ่งที่ปรากฏในบทความ และชวนให้ตั้งคำถามว่า
คนอย่างอาจารย์นิธิ “ลืม” ไปได้อย่างไรว่า

คุณอภิสิทธิ์ “ยืน” อยู่ที่ใดในห้วงเวลาแห่งการชู “มาตรา 7” ?

ตลอดปีกว่าๆ ที่ผ่านมา คุณอภิสิทธิ์มีปฏิกิริยาอย่างไรต่อรัฐประหาร และการดำเนินการต่างๆ ของคมช., กองทัพ และ “องค์กรอิสระอีกมากที่คณะรัฐประหารตั้งขึ้น” ?

หรือล่าสุด, คุณอภิสิทธิ์แสดงท่าทีอย่างไรต่อ “รัฐธรรมนูญ 2550” ที่อาจารย์บอกให้ประชาชน “ไม่รับ” ?

 

“กล้าเผชิญ…อย่างอาจหาญและมีศักดิ์ศรี” ?!?!?

 

---------

[1] นิธิ เอียวศรีวงศ์, “นายกฯ ของวิกฤตการเมือง”, มติชนรายวัน, 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550, ปีที่ 30 ฉบับที่ 10852
[2] โปรดดูหลายกระทู้เกี่ยวกับบทความนี้ ของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ใน http://www.sameskybooks.org/board

‘ผี’ กับการเลือกตั้ง

"ความพยายามสร้างกติกาอันบิดเบี้ยวตลอดปีกว่าที่ผ่านมา ส่งผลให้ ผี' ยิ่งน่ากลัวสำหรับคนที่กลัว และยิ่งน่าพิสมัยสำหรับผู้ที่ไม่กลัว และผู้ที่ไม่กลัวส่วนใหญ่นั้นแม้จะอยู่ห่างไกล ไร้อำนาจ แต่ก็สามารถแสดงพลังเงียบของตนได้อย่างมีนัยสำคัญ" 

v 

ภาพจาก dschild.exteen 

มุทิตา  เชื้อชั่ง

ผมเป็นคนกลัวผีมากจนแทบจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการกลัวผี และรู้สึกว่าสังคมไทยกำลังกลัว ผี' อย่างหนัก ข้อสังเกตที่เห็นได้ชัดอย่างหนึ่งคือ จากที่เคยมีคำอธิบายมากมายว่าทำไมจึงต้องกลัว ผี' หรือไล่ ผี' แต่นานวันเข้า สถานการณ์เปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังเท้า ความกลัว ผี' ก็ยังคงอยู่และอาจจะมากยิ่งกว่าเดิมโดยที่คำอธิบากลับลดน้อย จางหาย จนหลายต่อหลายคนก็อธิบายไม่ถูกว่าทำถึงทั้งเกลียดทั้งกลัว ผี' เช่นนั้นตลอดเวลา ทุกสถานการณ์ ขณะเดียวกันก็รู้สึกตีบตัน สิ้นหวัง ยิ่งนักในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้

ตามทฤษฎีว่าด้วยผีวิทยาแล้ว ผีไม่มีวันตาย ไม่ตายซ้ำซ้อน และเป็นภาพประทับของความน่ากลัวที่อยู่ในความรู้สึกนึกคิด ถ้าเป็นมากหน่อยก็ไปอยู่ในส่วนของจินตนาการซึ่งไร้ขอบเขต ความกลัวผีที่เกิดขึ้นไม่จำเป็นต้องมีเหตุมีผล ดังนั้น หากไม่ระมัดระวังผู้ที่กลัวผีมีแนวโน้มจะกลัวยิ่งขึ้นๆ จนขาดสติ รู้สึกตนเองไร้อำนาจอย่างรุนแรงขณะเดียวกันก็ไม่เชื่อมั่นในขีดความสามารถและอำนาจของเพื่อนมนุษย์คนอื่นๆ  อาจถึงขั้นกระทำการที่ไม่อยู่ในครรลองที่ควรเป็น เช่น กระโดดถอยหลังทีละหลายก้าว ทำให้หกคะมำหัวร้างข้างแตกได้โดยง่าย  

ผู้ที่กลัว ผี' อาจจะไม่จำเป็นต้องพยายามลบภาพประทับของ ผี' หรือเปลี่ยนให้ ผี' กลายเป็น เทวดา' แต่ควรตั้งสติพิจารณา ผี'ให้ถี่ถ้วน ตำราผีวิทยาในหลายประเทศยืนยันว่า การพิจารณา ผี' อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ สร้างระบบและกลไกที่มีประสิทธิภาพ สร้างความเข้มแข็งของจิตใจและปัญญาของผู้คนเจ้าของประเทศ จะช่วยจำกัด ผี' หรือควบคุมสถาบันผีไม่ให้น่ากลัวกระทั่งเชื่อฟังคำสั่งประชาชนได้ แต่ในบางพื้นที่ที่มีปัญหาเรื้อรังสลับซับซ้อนเกินกว่าจะพูดถึง ก็อาจต้องใช้เวลานานกว่าปกติ

กระนั้นก็ตาม การฝืนธรรมชาติด้วยการกำจัด ผี' ออกไปจากการรับรู้ของผู้คนโดยสิ้นเชิงนั้นไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง เพราะยังมีคนอีกมากมายที่ชอบ ผี' ไม่กลัว ผี' พวกเขาควรมีโอกาสดูหนังผี เล่าเรื่องผี เป็นชู้กับผี ฯลฯ ได้ด้วยเช่นกันตามกติกาของประชาธิปไตย แต่ก็ควรออกแบบโครงสร้างในการควบคุม ตรวจสอบ ผี' ให้รัดกุมอย่างที่กล่าวไป เพื่อไม่ให้สร้างความเดือดร้อนเสียหายต่อส่วนรวม

อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมาเราจะพบว่าสังคมไทย (เมืองหลวงเป็นหลัก) ตระหนักถึงความน่ากลัวของ ผี' และมุ่งกำจัด ผี'ให้สิ้นซากตามแบบวิธีคิดเก่าแก่ แต่ด้วยรูปแบบและคำอธิบายที่ละเมียดขึ้น แม้จะผิดระเบียบวิธีการประชาธิปไตย

ล่าสุด คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มีมติกีดกันอดีต ผี' ทั้ง 111 ตนไม่ให้สามารถปราศรัยร่วมหาเสียง ถ่ายรูปคู่กับผู้สมัคร เป็นวิทยากรให้กับพรรคการเมือง ส่วนการที่อดีตหัวหน้าผีจะปราศรัยช่วยหาเสียงผ่านวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์นั้นอย่าแม้แต่จะฝัน ทั้งยังไม่ให้ ผี' ทั้ง 111 ตน ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ และการสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมือง

วิธีการเหล่านี้ยิ่งทำก็ยิ่งถลำลึกไปในกับดักของอาการกลัว ผี' โดยเฉพาะบรรดาหมอผี เกจิอาจารย์ชื่อดังทั้งหลาย ซึ่งหลายคนหวังดี และอีกหลายคนอยู่ในภาวะขี่หลังเสือ ซึ่งอาจทำให้ขาดสติอย่างรุนแรงออกกฎหมายที่ไม่น่าออก มุ่งเน้นแต่ประเด็นการเมือง การปกป้องตัวเองเป็นหลัก 

และด้วยความพยายามสร้างกติกาอันบิดเบี้ยวตลอดปีกว่าที่ผ่านมา จะส่งผลให้ ผี' ยิ่งน่ากลัวสำหรับคนที่กลัว และยิ่งน่าพิสมัยสำหรับผู้ที่ไม่กลัว และผู้ที่ไม่กลัวส่วนใหญ่นั้นแม้จะอยู่ห่างไกล ไร้อำนาจ แต่ก็สามารถแสดงพลังเงียบของตนได้อย่างมีนัยสำคัญ ดังเช่นการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 50 ที่ผ่านมา จนเป็นที่จับตากันมากว่าการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ คนไม่กลัวผีจะมีพลังเพียงไหน

สุดท้าย หนังสือเล่มล่าสุดของ ศ.Leonard  Coup d'etat สรุปไว้ว่า อาการกลัวผีแต่พอดีเป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นสิ่งแสดงออกถึงสุขภาพอันดีของพลเมือง ซึ่งจะกระตุ้นให้ผีทั้งหลายใช้ความน่ากลัวไปในทางที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง ขณะเดียวกันอาการกลัวผีแบบไม่ลืมหูลืมตาอย่างกรณีของไทยตอนนี้ กระทั่งกฎอัยการศึกก็ยอม  พ.ร.บ.ความมั่นคงออกมาก็ยอม ฯลฯ สามารถส่งผลเสียใหญ่หลวงได้ ซึ่งนอกจากจะกำจัดผีไม่ได้แล้ว ยังทำให้สังคมสุ่มเสี่ยงที่จะไปถึงทางตัน (ยิ่งกว่า) ซึ่งทั้งน่ากลัวและทั้งเจ็บปวดกว่าการเผชิญหน้ากับ ผี' หลายเท่า

 

โธ่เอ๋ย...ประเทศใด?

12 November, 2007 - 06:20 -- karnt

karnt  

 

โธ่เอ๋ย…ประเทศใด?
เหมือนคนจับไข้นั่งไม่ติด
หลอนตนว่าอยู่เมืองนิรมิต
ย้ำจำ ย้ำคิด กำกวม

โธ่เอ๋ย… “ประชาธิปไตย”
หลักการวางไว้ (หลวมๆ)
ครึ่งใบ – ค่อนใบ (บวมๆ)
รัฐธรรมนูญกองท่วมพานแล้ว!

โธ่เอ๋ย… “ประชาชน”
กี่ครั้ง กี่หน ทนแห้ว
แหงนคอรอฟ้าล้าแวว
มืดแล้ว ดึกแล้ว …ทนคอย

อนิจจา… อนิจจัง…
ความเอยความหวังอย่าถดถอย
แม้กี่ผีซ้ำด้ามพลอย
ฝากรูปฝังรอยเกลื่อนเมือง

 

โธ่เอ๋ย…ประเทศใด?
หลอนตนว่าใครต่างลือเลื่อง
งามหรูตรูตรามลังเมลือง
เฮ้ย! เมืองทั้งเมืองจะจมแล้ว!!

ประชาชนต้องซวยก่อน

28 October, 2007 - 00:42 -- maythas

-1-

พรรคประชาธิปัตย์หาเสียงเพื่อการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง โดยชูคำขวัญที่ฟังดูดัดจริตและกินไม่ได้ว่า “ประชาชนต้องมาก่อน”

ผมได้ยินหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปล่งคำนี้ออกมาแล้วก็ให้นึกสงสัยว่าจะมีใครซักกี่คนในโลกนี้เชื่อในสิ่งที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ พูดออกมา

พรรคประชาธิปัตย์ฉวยโอกาส เอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น ๆ ตามสไตล์ถนัดด้วยการโฆษณาหาเสียงก่อนใครเพื่อน  ในขณะที่พรรคคู่แข่งอย่างพรรคพลังประชาชนนั้นต้องเจอกับอำนาจชั่วที่คอยการสกัดกั้นทุกรูปแบบ

-2-

ต้องรอดูกันต่อไปว่า พรรคพลังประชาชนจะฝ่าต้านแรงสกัดจากอำนาจชั่วได้มากน้อยแค่ไหน การตัดทอนกำลังพรรคพลังประชาชนด้วยรูปแบบวิธีการต่าง ๆ จะทำให้พรรคพลังประชาชนอ่อนกำลังลงไปได้มากน้อยเพียงใด หรือว่าจะยิ่งทำให้พรรคการเมืองพรรคนี้เติบโตมากขึ้น ความศรัทธาเชื่อถือจากประชาชนจะช่วยให้เอาชนะฝ่ายตรงข้ามได้หรือไม่

ผมเชื่อว่า หากแม้นเมื่อใดที่ประเทศนี้สามารถปกครองด้วยหลักการของเสียงข้างมากจริงๆ ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่ไม่ต้องการทหาร เมื่อนั้นพรรคพลังประชาชนจะต้องได้จัดตั้งรัฐบาลอย่างแน่นอน เพราะประชาชนเสียงข้างมากของประเทศ ยังคงสนับสนุนพรรคไทยรักไทยที่กลายร่างเป็นพรรคพลังประชาชนภายใต้การนำของสมัคร สุนทรเวช หรืออย่างน้อยก็มีจำนวนมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์อย่างแน่นอน

บางคนชอบพรรคพลังประชาชนเพราะนโยบายต่าง ๆ ในอดีตที่ให้ความสำคัญแก่คนระดับล่าง (จะมีคนบางจำพวกแย้งในทันทีว่านโยบายของพรรคไทยรักไทยเดิม และของพรรคพลังประชาชนเป็นนโยบายประชานิยมที่ทำให้คนเป็นหนี้ ทำให้ประชาชนไม่รู้จักพึ่งตนเอง! ทั้งที่ประชาชนอยู่มาได้เป็นร้อยปีก่อนที่จะมีพรรคการเมืองด้วยซ้ำ)

บางคนชอบพรรคพลังประชาชน เพราะความสามารถของนักการเมืองในพื้นที่และความผูกพันภักดีที่มีต่อกัน ซึ่งความผูกพันภักดีที่ว่านี้คนชั้นกลางจะไม่มีทางเข้าใจได้เลยในชีวิตนี้ว่ามีความหมายความสำคัญอย่างไร

วันก่อน เจ้าหน้าที่คนหนึ่งในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าให้ฟังว่าจะอย่างไรก็ยังเลือกพรรคพลังประชาชนแม้ว่าจะไม่ได้เป็นพรรคที่จัดตั้งรัฐบาลก็ตาม เขาให้เหตุผลหลายข้อว่าทำไมจึงยังเลือกพรรคนี้

(แล้วเจ้าหน้าที่คนนี้ก็เล่าให้ฟังถึงข่าวอื้อฉาวเรื่องบ้านราคาสามสิบล้านของอธิการบดีสุรพล นิติไกรพจน์ ซึ่งผมไม่รู้ว่าจริงเท็จมากน้อยเพียงใด ใครที่มีพลังอำนาจช่วยเข้าไปตรวจสอบให้ทีเถิดว่าอธิการบดี ม.7 ท่านนี้  เอาเงินมากมายมาจากไหน มาจาก ”ผลประโยชน์ทับซ้อน” จากตำแหน่งอธิการบดีหรือเปล่า!)

นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อยที่จะชี้ให้เห็นว่าประชาชนยังคงเชื่อมั่นศรัทธาในพรรคไทยรักไทยที่ถึงแม้นว่าจะเปลี่ยนชื่อไปแล้วก็ตาม

-3-

คำว่า “ประชาชนต้องมาก่อน” ของพรรคประชาธิปัตย์นั้น ทำให้ผมต้องใช้จินตนาการขนาดหนัก เพราะนึกไม่ออกเลยจริง ๆ ว่าคนอย่างชวน หลีกภัย, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือเทพเทือก นั้นจะปล่อยให้ประชาชนมาก่อนได้อย่างไร

คิดไปคิดมา คำว่า “ประชาชนต้องมาก่อน” จึงน่าจะหมายถึงว่า “ประชาชนต้องมาซวย” ก่อนพรรคประชาธิปัตย์นั่นเอง ผมขอยกตัวอย่างง่าย ๆ ถึงรัฐประหารที่ผ่านมา     

หากติดตามประวัติศาสตร์การเมืองบ้าง ก็จะพบได้ไม่ยากว่าพรรคประชาธิปัตย์จะ “โชคดี”  ได้จัดตั้งรัฐบาลเสมอหลังเกิดการรัฐประหารแล้วมีการเลือกตั้ง จนอาจกล่าวได้ว่า “รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์กับรัฐประหารเป็นของคู่กัน”

รัฐประหารครั้งที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์สามารถ “สืบทอดอดีต” ของตัวเองได้อย่างดีโดยเล่นเป็น “ลูกคู่” คอยรับและส่งบทให้เข้ากับคณะรัฐประหารอย่างไม่ประดักประเดิดหรือละอายแก่ใจ บางคนจึงเรียกพรรคประชาธิปัตย์ว่าเป็น “อะไหล่ธิปัตย์” คือช่วยสนับสนุน ซ่อมแซม อำนวยความสะดวกแก่กลุ่มที่ยึดอำนาจ 

การที่พรรคประชาธิปัตย์ปล่อยให้เกิดรัฐประหารกระทั่งเห็นพ้องด้วย การที่พรรคประชาธิปัตย์ปล่อยให้รัฐบาลเถื่อนทำงานไปโดยคอยเป็น “ลูกคู่” หรือเป็น “อะไหล่” นั้น ไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากปล่อยประชาชนให้ซวยนั่นเอง

เป็นที่ตระหนักกันดีว่าสภาวะเศรษฐกิจหลังรัฐประหารนั้นตกต่ำ ประชาชนเดือดร้อน ค่ารถเมล์ขึ้น ค่าครองชีพเพิ่ม ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นความซวยหลังรัฐประหารต่อเนื่องมาถึงก่อนการเลือกตั้ง เป็นความซวยของประชาชนที่ “เกิดขึ้นก่อน” ที่พรรคประชาธิปัตย์จะได้เป็นรัฐบาล

ดังนั้น คำขวัญที่ว่า “ประชาชนต้องมาก่อน” นั้นเป็นคำขวัญที่ยัง “กล่าวไม่หมดความ” คำขวัญที่ถูกต้องของพรรคประชาธิปัตย์ต้องเป็นว่า “ประชาชนต้องซวยก่อน”

แล้วพอประชาชนรับความซวยไปแล้ว พรรคประชาธิปัตย์ก็จะได้เป็นรัฐบาลบริหารเงินงบประมาณเป็นล้านล้าน  สบายใจ.

คนบาปที่โรงพยาบาลศิริราช

วิทยากร บุญเรือง

 

ผมไปเจอข่าวชิ้นหนึ่ง เหตุเกิดที่โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งไม่ว่าจะยังไง ข่าวชิ้นนี้ผมว่ามันสามารถสะท้อนอะไรได้หลายอย่าง สำหรับสังคมไทยที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

คือข่าวที่กลุ่มมิจฉาชีพแฝงตัวเข้ามาก่ออาชญากรรมในโรงพยาบาลศิริราช มาหากินกับพสกนิกรผู้จงรักภักดีได้ลงคอ ...

(กรุณาอ่านให้จบก่อนด่า)

ท่านพงศพัศ พงษ์เจริญ ตำรวจหน้าหล่อ ได้กล่าวว่า ที่โรงพยาบาลศิริราช มีเรื่องซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้นนั่นคือมีกลุ่มมิจฉาชีพแฝงตัวเข้ามาก่ออาชญากรรม และที่ไม่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง คือเป็นการก่อเหตุในเขตพระราชฐาน

โดยขณะนี้ตำรวจได้รวบรวมหลักฐานแล้วเตือนไปยังแก๊งมิจฉาชีพที่ตั้งใจมาก่ออาชญากรรมว่า นอกจากจะได้รับโทษสูงสุด' ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ภายหลังถูกจับและดำเนินคดีแล้ว ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะทำการประจาน' ผู้ที่กระทำผิดด้วย

แม้จะมีเรื่องสิทธิมนุษยชนเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะเป็นฝ่ายรับเอง เพราะการประกอบอาชญากรรมในเขตพระราชฐานนี้เป็นเรื่องที่คนไทยรับไม่ได้'

อาชญากรรมในเขตพระราชฐาน' ... แค่ฟังคำนิยามจากท่านพงศพัศแล้วก็รู้สึกขนลุก เหมือนคนที่ไปตกปลาในเขตอภัยทาน ทั้งตกนรกและติดคุก!

กรณีนี้ไม่รู้ว่าจะถึงขั้นประจานให้ถูกรุมประชาทัณฑ์ ... นี่คงคิดมากไป และน่ากลัวเกินไป

แต่ถ้าถูกประจานให้เสียชื่อแซ่ วงศ์สกุล ก็น่าสงสารว่าเขา ครอบครัว คนที่เกี่ยวข้อง จะถูกกระทำ อะไร' ‘เยี่ยงใด' ต่อไปในอนาคต

อืม ... ถึงกับประจานและลงโทษอย่างสูงสุด สิทธิมนุษยชนของคนลักเล็กขโมยน้อยไม่สำคัญเท่ากับการทำร้ายจิตใจคนไทย ที่สำคัญสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะเป็นฝ่ายรับเอง แน่นอนอันนี้เข้าใจดี... (เพราะคนกลุ่มใดกันเล่า ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนมากที่สุด ;-)

ผมได้คุยเล่นๆ ในประเด็นนี้กับอาจารย์ท่านหนึ่งที่มีผลงานวิชาการเกี่ยวกับเรื่อง 6 ตุลา และท่านก็ได้กล่าวเล่นๆ ตอบว่า "พวกขโมยไม่ใช่คนไทยแน่นอน อาจเป็นพวกญวนหรือพม่า" ;-)

นั่นอาจเป็นมุมมองในช่วง 30 ปีที่ล่วงเลยมา สำหรับกรณีญวน ส่วนพม่าอาจเป็นกระแสหลังภาพยนตร์บางระจันจนถึงปัจจุบัน และมันยิ่งทำให้คิดถึงต้นมะขามสนามหลวง แรงงานข้ามชาติที่ถูกทารุณ --- ผมรู้สึกหดหู่ขึ้นมาอย่างจับจิต

จากคำพูดของอาจารย์ท่านนี้มันชวนให้คิดต่อว่า แน่นอน! คนที่เข้าไปถึงที่นั่นได้ ยังไงมันก็ต้องคนไทยแหละ! แต่เราจะนิยามให้เขาเป็นคนไทยที่ดีไม่ได้ เขาคือคนไทยที่ทำบาปมหันต์ ที่กล้าทำอะไรได้ในพื้นที่ที่นั่น!

ด้านหนึ่งพวกเขาคือคนบาป ที่ไปทำบาปมหันต์แบบไม่มีเหตุผล ณ สถานที่ที่ไม่น่าจะไปทำเลย ให้ตายสิ!

ในขณะที่สื่อไทยพยายามประโคมข่าวการทำความดี แต่กรณีนี้ได้ยืนยันว่า "คนไทยนั้นมีทั้งดีและเลวปะปนกันไปทุกช่วงเวลา" และเราก็ไม่ได้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันอย่างคำหรูที่พรั่งพรูออกมาในช่วงนี้

เหตุการณ์อุกอาจนี้ อีกด้านหนึ่งมันสะท้อนให้เห็นว่า ในพื้นที่ที่คนไทยอาจจะซาบซึ้งที่สุดที่ได้ไปอยู่ที่ตรงนั้น มีอาหาร มีของแจก แต่กลับมีคนกลุ่มหนึ่งซึ่งอาจจะมีเหตุผลเรื่องปากท้อง ซึ่งพวกเขาอาจจะยังไม่รู้สึกหนำใจกับอาหาร (ที่ไม่การันตีว่าจะได้รับทุกมื้อจากนี้ไป) และสิ่งของ (เล็กน้อย) ที่ได้รับแจกที่นั่น

คนบาปเหล่านั้นอาจจะเป็นตัวแทนของผู้ที่ถูกกระทำจากระบบสังคมไทยที่ไม่จัดสรรอะไรให้เพียงพอเท่ากัน อาทิ การเข้าถึงทุน สวัสดิการพื้นฐานที่มีคุณภาพต่างๆ เป็นต้น

พวกเขาไม่สามารถพัฒนาศักยภาพภายใต้สังคมที่เหลื่อมล้ำมหาศาลนี้ได้ ไม่สามารถไปทำอาชีพ อาทิ กัปตันเครื่องบิน แอร์โฮสเตส หมอ พยาบาล ฯลฯ จึงต้องหันมาเอาดีในสิ่งที่สังคมกำหนดว่ามันเป็นสิ่งชั่ว --- การลักเล็กขโมยน้อย

และสุดท้าย ผมยังติดใจอยู่อย่าง .... คือสงสัยว่าคนบาปเหล่านั้นจะสวมเสื้อเหลืองด้วยรึเปล่า?

 

 

 

 

คลื่นมหาชนล้นศิริราช - ตร.ประกาศจับแก๊งล้วงกระเป๋าได้ประจานไม่ไว้หน้า

21 ต.ค.--ผู้จัดการออนไลน์

 

ประชาชนคนไทยยังคงหลั่งไหลเดินทางมาถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ขาดสาย สมาคมนักวิ่งแห่งประเทศไทยราว 200 คน ร่วมใจวิ่งเฉลิมพระเกียรติในเส้นทางถนนบรมราชชนนี ขึ้นสะพานพระราม 8 มุ่งหน้าไปยัง รพ.ศิริราช เพื่อเป็นการแสดงพลังถวายความจงรักภักดี สำนักพระราชวังพระราชทานพระบรมฉายาลักษณ์ 12,000 ใบ ขณะที่ตำรวจประกาศจัดการแก๊งมิจฉาชีพไม่ไว้หน้า จับได้จับประจานให้ได้อาย

เมื่อเวลา 08.30 น.สมาคมนักวิ่งแห่งประทศไทยราว 200 คน ร่วมใจวิ่งเฉลิมพระเกียรติในเส้นทางถนนบรมราชชนนีขึ้นสะพานพระราม 8 มุ่งหน้าไปยัง รพ.ศิริราช เพื่อเป็นการแสดงพลังถวายความจงรักภักดีแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และร่วมลงนามถวายพระพร ณ จุดลงนามอาคารศาลา 100 รพ.ศิริราช

09.00 น.ชมรมลูกเสือชาวบ้าน อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว จำนวน 20 คน ลงนามถวายพระพร

09.10 น.สมาชิกแจ้งข่าวอาชญากรรมกองตำรวจสื่อสาร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 100 คน เดินทางร่วมลงนาม พร้อมแจกโปสการ์ดพระบรมมฉายาลักษณ์

10.00 น.นายบรรพต โรจรุ่งสัจ เดินทางลงนามถวายพระพร พร้อมทูลเกล้าฯ ถวายพระบรมฉายาลักษ์ ขนาด 15 คูณ 12 นิ้ว จำนวน 32000 ภาพ และ 8 คูณ 10 นิ้ว จำนวน 12,000

ต่อมานางประเทือง อินทร์บำรุง ย่านหนองแขม นำขนมมาแจกเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังที่ดูแลการลงนามถวายพระพร ใต้ถุนอาคาร 100 ปี รพ.ศิริราช

ต่อมานายสรรเสริญ จุฬางกูล ประธานกรรมการกลุ่มซัมมิตคอปอร์เรชั่น น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายรถเก้าอี้ไฟฟ้าแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ด้าน นางชูศรี สภาพไทย จ.พระนครศรีอยุทธยา ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปลาตะเพียนเงิน ตะเพียนทอง ซึ่งนางชูศรีเปิดเผยว่า นางเอื้อง สภาพไทย ผู้เป็นมารดา อายุ 75 ปี ผู้ซึ่งป่วยเป็นอัมพาต แต่มีความตั้งใจที่จะถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันนี้จึงเป็นตัวแทนนำปลาตะเพียนฝืมือของแม่มาถวาย

คณะกรรมการจัดงาน เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ชุมแสง จ.นครสวรรค์ นำพระเจ้าพ่อเจ้าแม่ชุมแสงจำนวน 1,580 องค์ แจกจ่ายแก่ประชาชน

ต่อมาคนไทยเชื้อสายจีนกลุ่มบัวขาว เดินทางมาลงนามถวายพระพร จากนั้นก็ได้เดินทางไปที่ลานพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เพื่อสวดมนต์ บทไต๊เส็งกิมกัง เพื่อขอพรพระบรมราชชนกให้ปกปักพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงหายจากอาการพระประชวรโดยไว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะผู้แทนเยาวชนจากโครงการคุณธรรมนำไทยจำนวน 99 คน รวมลงนามถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หลังจากนั้นได้ไปสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก และได้รวมกันนั่งสมาธิถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งในค่ำวันนี้กลุ่มเยาวชนดังกล่าวจะเดินทางไปร่วมงานแสง สี เสียง และ สื่อผสม ผ่านจอม่านน้ำ "ลูกของแม่พ่อของแผ่นดิน 80 พรรษานฤบดินของแผ่นดินไทย"ที่สวนเบญจกิตติ จัดโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.) ในโอกาสปีมหามงคลครบรอบ 80 พรรษา และวันคล้ายวันพระราชสมภพ ของสมเด็จพระศรีนครินทร์ทรา บรมราชชนนี

11.00 พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เดินมาตรวจสอบความเรียบร้อยที่ รพ.ศิริราช เปิดเผยว่า ในช่วง 2 วันนี้มีเรื่องซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้นนั่นคือมีกลุ่มมิชฉาชีพแฝงตัวเข้ามาก่ออาชญากรรม และที่ไม่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง คือเป็นการก่อเหตุในเขตพระราชฐาน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ตำรวจได้รวบรวมหลักฐานแล้วเตือนไปยังแก๊งมิจฉาชีพที่ตั้งใจมาก่ออาชญากรรมว่า นอกจากจะได้รับโทษสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ภายหลังถูกจับและดำเนินคดีแล้ว ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะทำการประจานผู้ที่กระทำผิดด้วย แม้จะมีเรื่องสิทธิมนุษยชนเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะเป็นฝ่ายรับเอง เพราะการประกอบอาชญากรรมในเขตพระราชฐานนี้เป็นเรื่องที่คนไทยรับไม่ได้

"ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเองก็มีความเป็นห่วงในเรื่องดังกล่าว พร้อมทั้งได้สั่งการกำลังเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบ พร้อมกันนี้ได้ฝากไปยังประชาชนที่ไปลงนามถวายพระพร ใน รพ.ศิริราช ว่าอย่าได้เกรงใจ เจ้าหน้าที่ทุกนายพร้อมให้บริการแก่ประชาชน หากเกิดเหตุร้ายหรือเหตุสงสัยสามารถแจ้งที่ตำรวจได้ทันที"

เมื่อตอบข้อซักถามว่า พฤติกรรมของแก๊งนี้เป็นอย่างไร โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติเปิดเผยว่า กลุ่มมิชฉาชีพกลุ่มนี้ทำเป็นขบวนการ โดยการแฝงตัวเข้ามาในที่ที่มีคนจำนวนมาก และอาศัยช่วงชุลมุนก่อเหตุอาชญากรรม

พล.ต.อ.พงศพัศ กล่าวต่อว่า นับแต่วันแรกที่เปิดให้ลงนามถวายมีการก่อเหตุล้วงกระเป๋าแล้ว 7 ราย 3 รายแรก ทราบเบาะแสแล้ว ส่วน 4 รายที่ก่อเหตุวานนี้เชื่อว่าจะมีความเกี่ยวพันธ์กับชุดแรกที่ก่อเหตุ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังเร่งทำงานและสืบสวนเชื่อว่าจะได้ตัวคนร้ายเร็วๆ นี้

อย่างไรก็ตาม ในการรักษาความสงบเรียบร้อยในศิริราช ทางเจ้าที่ตำรวจยังได้ประสานกำลังไปยังตำรวจสันติบาล ในการดูแลรักษาความสงบอีกด้วย

ในส่วนของการจัดการจราจร พล.ต.อ.พงศพัศ เปิดเผยว่า ได้มีการประชุม ศูนย์การจราจรได้รับรายงานว่า การจราจรเรียบร้อยดี อาจมีการจราจรติดขัดเล็กน้อย แต่สถานการณ์โดยภาพรวมยังคงปกติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอความร่วมมือไปยังประชาชนที่มาลงนามถวายพระพร อย่าก่อเหตุอันมิบังควรใดๆ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศตั้งแต่เช้าถึงเที่ยง ที่ รพ.ศิริราช ยังคงมีคลื่นสีเหลืองแห่งความจงรักภักดีหนาแน่นอยู่เต็มบริเวณ ศาลาศิริราช 100 ปี ลานพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก โถงอาคารเฉลิมพระเกียรติ และประชาชนที่มาถวายพระพรวันนี้จะมีจำนวนมากกว่าวันธรรมดา คาดว่าจะเป็นเพราะวันนี้เป็นวันหยุดราชการ ทำให้มีประชาชนหนาแน่นกว่าปกติ ซึ่งในการนี้ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเดินตรวจตราความเรียบร้อยปะปนในหมู่ประชาชน เพื่อป้องกันความสงบเรียบร้อยด้วย

นอกจากนี้ นายดิษธร วัชโรทัย ผู้อำนวยการกองงานส่วนพระองค์สำนักพระราชวัง ได้นำพระบรมฉายาลักษณ์พระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำนวน 1,200 ภาพ มาแจกจ่ายให้แก่ประชาชน โดยภาพดังกล่าวเป็นภาพชุดจากมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในฉลองพระองค์สูทสีเทา ซึ่งเป็นภาพที่พระองค์แย้มพระสรวล โดยการพระราชทานพระบรมฉายาลักษณ์ในครั้งนี้ยังความปลาบปลื้มแก่พสกนิกร บางคนถึงกับยกมือไหว้ท่วมหัวน้ำตาคลอ

ทั้งนี้ การแจกพระบรมฉายาลักษณ์แบ่งเป็น 2 ช่วง โดยแจกในช่วงเช้า 6,000 ภาพ ช่วงเย็น 6,000 ภาพ โดยด้านหลังพระบรมฉายาลักษณ์ได้มีบทเพลงพ่อของแผ่นดินเอาไว้ด้วย

 

ที่มา:

http://manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9500000124743

 

 

"ความมั่นคง" ? พอเสียทีเถิด

22 October, 2007 - 10:55 -- karnt

 

การอ้างว่าต้องเร่งผลักดันให้ "ร่าง พ...การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร"i ผ่านออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้ เพื่อจะได้ยกเลิก "กฎอัยการศึก"ii ทั่วประเทศนั้น ฟังแล้วชวนให้รู้สึกทั้งขบขันและเศร้าใจ

ผู้ที่ได้อ่านเนื้อหาของร่างพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ นี้ ย่อมซาบซึ้งดีถึงนัยยะที่นำไปสู่ความว่างเปล่าของข้ออ้างนั้น

 

แต่ที่น่าเศร้าใจไม่แพ้กันก็คือ การที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตอบข้อท้วงติงในประเด็นความชอบธรรมของรัฐบาลและสนช.ที่มาจากการรัฐประหาร ในการร่างและพิจารณาออกกฎหมาย ด้วยการย้อนว่า "...ที่ผ่านมาสนช.ได้ผ่านกฎหมายมาเป็น 100 ฉบับ ขนาดรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายแม่ ยังออกจากสนช..."iii

 

แม้ว่าจะต้องขอขอบคุณท่านประธาน ที่กรุณาเอ่ยตัวเลขคร่าวๆ นี้ออกมา เนื่องจากไม่ใช่ประชาชนทุกคนที่จะทราบว่า ชั่วระยะเวลาเพียงปีเดียว สนช.ที่มาจากการรัฐประหารนี้ได้ผ่านกฎหมายออกไปบังคับใช้มากมายขนาดไหน

 

เพราะ - กฎหมายฉบับใดที่คาดว่าแสดงถึงความ "ก้าวหน้า" ก็ประโคมข่าวใหญ่โต

ขณะที่กฎหมายบางฉบับกลับแทบจะไม่เป็นข่าว ทั้งที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างรุนแรง

 

แต่ - นอกจากตัวเลขคร่าวๆ ดังกล่าว จะไม่ได้แสดงถึง "ความชอบธรรม" ใดๆ ของรัฐบาลและสนช. ชุดนี้แล้ว ยังชวนให้ตั้งคำถามต่อไปอีกว่า อะไรที่ทำให้ผู้ทรงเกียรติที่มาจากการรัฐประหารเหล่านี้ ตั้งหน้าตั้งตาร่างและผ่านกฎหมายอยู่นั่นแล้ว?

 

ทั้งที่เพียรประกาศว่าจะเร่งคืนอำนาจ - คืนประชาธิปไตยให้กับประชาชน และยืนยันว่ามีการเลือกตั้งภายในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 หรืออีกเพียง 60 กว่าวันข้างหน้า

 

แล้วเหตุใดจึงต้องเร่งผลักดันกฎหมายสำคัญขนาดนี้ กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนขนาดนี้ และมีเสียงต่อต้านคัดค้านขนาดนี้ ?

 

เพื่ออะไร? "ความมั่นคง" ?

 

"ความมั่นคง" นอกจากจะเป็นข้ออ้างของการรัฐประหารทุกครั้งแล้ว ยังเป็นข้ออ้างในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชนมานับครั้งไม่ถ้วน ตลอด 75 ปีของระบอบที่เรียกว่า "ประชาธิปไตย" และตลอด 1 ปีที่ผ่านมา

 

การแบกปืนลากรถถังเข้ามารัฐประหารยึดอำนาจ - ฉีกรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 19 กันยายน 2550 ก็อ้าง "ความมั่นคง", การออกกฎอัยการศึก ก็อ้าง "ความมั่นคง", การจำกัดสิทธิในการสื่อสารและแสดงความคิดเห็น ก็อ้าง "ความสมานฉันท์" อันเป็นไปเพื่อ "ความมั่นคง", การผลักดันกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนก็อ้าง "ความมั่นคง"

 

และล่าสุดคือ การผลักดัน "ร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร"

 

ท่านผู้ทรงเกียรติเหล่านี้คงหลงลืมไปว่า "ความมั่นคง" ภายในประเทศนั้น ไม่มีทางเกิดขึ้นด้วยการออกกฎหมายมาลิดรอนหรือคุกคามสิทธิ เสรีภาพ สวัสดิภาพของประชาชน

 

ตัวอย่างจากหลายประเทศบอกชัดเจนว่า การลิดรอนและคุกคามสิทธิ เสรีภาพ สวัสดิภาพของประชาชน ส่งผลอย่างไรต่อ "ความมั่นคง" ภายในประเทศนั้น?

 

หรือหากไม่ต้องการมองออกไปภายนอก ก็เพียงตอบคำถามว่า ภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2550 และการดำเนินการร้อยแปดในนาม "ความมั่นคง" แล้ว ประเทศไทยมี "ความมั่นคง" ภายในสูงขึ้นเพียงไร? (หากตอบว่าสูงขึ้น หรือสูงขึ้นมาก ก็จำเป็นต้องตอบอีกคำถามว่า แล้วทำไมยังดันทุรังผลักดันกฎหมายฉบับนี้?)

 

หากเป้าหมายคือ "ความมั่นคง" ภายในประเทศจริง, แทนที่จะดิ้นรนร่างและตรากฎหมายไม่รู้จบอยู่อย่างนี้ ผมก็อยากร้องขอต่อบรรดาผู้ทรงเกียรติในสนช., รัฐบาล รวมทั้งคมช. ว่า

 

"พอเสียทีเถิดครับ"

 

ยุติบทบาททางการเมืองของท่านเสีย

เพื่อปล่อยให้ประเทศสามารถไปถึงการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด

 

ท่านที่เป็นทหารก็กลับเข้ากรมกองไปเสีย

ท่านที่เป็นพลเรือนก็กลับไปทำหน้าที่เดิมของท่าน

 

ท่านใดที่ต้องการรับใช้ประเทศด้วยวิถีทางทางการเมือง ก็พาตัวเองลงสู่สนามเลือกตั้งให้ประชาชนได้ตัดสิน

 

พอเสียทีเถิดครับ

เพื่อ "ความมั่นคง" ภายในประเทศนี้


i โปรดดู: "ร่างพ...มั่นคงฉบับแก้ไข อำนาจ ‘กอ.รมน.' ยังล้นเหลือ", มติชน, วันที่ 18 ตุลาคม พ.. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10813, หน้า 2.

ii โปรดดู: สมชาย หอมลออ, "หยุด พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ (อีกครั้งหนึ่ง)", http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=9986&SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai

iiiโปรดดู: http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=9986&SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai

Pages

Subscribe to วิพากษ์