Skip to main content
หัวไม้ story
< พิณผกา งามสม > ถ้าผู้หญิงคืออีกซีกหนึ่งของฟากฟ้า อย่างที่จอน เลนนอน ไอดอลแห่งยุคบุปผาชนเคยกล่าวไว้  ภาพข่าว ดร. วันอาซีซาร์ ประกาศลาออกจากตำแหน่งสมาชิกรัฐสภาแห่งสหพันธ์รัฐมาเลเซีย เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อเปิดทางให้กับสามีได้ลงเลือกตั้งชิงเก้าอี้ในรัฐสภาที่ว่างลงในฐานะอีกครึ่งชีวิตทางการเมืองของนายอันวาร์ อิบราฮิม ก็คงเป็นตัวอย่างจริงของความเป็นอีกฟากหนึ่งของท้องฟ้า แต่จะเป็นท้องฟ้าของวันใหม่ดังที่นายอันวาร์ย้ำมาตลอดหรือไม่ เป็นเรื่องของการเมืองที่ยากจะคาดการณ์ ดร. วันอาซีซาร์ ได้ชื่อว่าเป็นทัพหลังที่แข็งแกร่งของนายอันวาร์ จากอาชีพจักษุแพทย์ เธอต้องกระโจนลงสู่สนามการเมือง เมื่อสามีถูกเกมการเมืองเล่นงานจนสะบักสะบอมทั้งข้อหาคอร์รัปชั่นและประพฤติผิดทางเพศ เมื่อ 8 ปี ก่อนผลจากเกมการเมืองที่นายอันวาร์ตกเป็นผู้ถูกกระทำ ได้ชักนำให้นักเคลื่อนไหวและนักการเมืองรวมตัวกันเป็นพรรคยุติธรรมประชาชน โดยมีดร. วันอาซีซาร์เป็นหัวหน้าพรรค เป็นที่รู้กันว่า ดร. วันอาซีซาร์รั้งตำแหน่งหัวหน้าพรรค รอวันที่นายอันวาร์เป็นอิสระ และสามารถลงชิงชัยในสนามเลือกตั้งได้อีกครั้งวันนี้ นายอันวาร์ ต้องเผชิญข้อกล่าวหาเดิมๆ อีกครั้ง ว่าด้วยการประพฤติผิดทางเพศ แน่นอนว่า ดร.วันอาซีซาร์จะต้องทำหน้าที่ของเธอต่อไป ดังที่ประกาศไว้ว่า จะยังคงดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคยุติธรรมประชาชนและประธานมูลนิธิสันติภาพ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในทางการเมืองสำหรับบรรดาฝ่ายค้าน ย้อนหลังไปวันที่ 30 กรกฎาคม คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยาของอดีตนายกรัฐมนตรีที่มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมการเมืองไทยอย่างถอนรากถอนโคน ต้องโทษจำคุก 3 ปี จากคำตัดสินของศาลชั้นต้นว่ามีความผิดฐานความผิดฐาน ร่วมกันจงใจหลีกเลี่ยงการชำระภาษีอากรอันเป็นความผิดตามประ มวลรัษฎากร มาตรา 37 (1) (2) และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 และ 91 การต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมยังคงดำเนินต่อไป เมื่อเธอยื่นอุทธรณ์และขอประกันตัวไปด้วยหลักทรัพย์ 8 ล้านบาท ผู้หญิงสองคนจากประเทศพรมแดนชิดติดกัน กำลังเดินไปบทเส้นทางที่สัมพันธ์กับบทบาทหน้าที่ในทางการเมืองของสามี แต่ด้วยทิศทางที่แตกต่างชีวิตของผู้หญิงของผู้นำในอดีตทั้งในโลกเสรี และโลกสังคมนิยมก็เช่นกันooo เจียงชิง: เมื่อคนแก่ไม่สามารถควบคุมเมียของตัวเอง“ประธานเหมาคิดว่าท่านสามารถควบคุมภรรยาและคนรอบด้านอย่างหลินเปียวกับคังเซิงได้ แต่แล้วท่านกลับควบคุมไม่ได้” ……บทสรุปความเห็นที่สิรินทร์ พัธโนทัย พยายามบอกกับผู้อ่าน ‘มุกมังกร’ว่าประธานเหมา เจ๋อ ตุง ผู้เป็นศูนย์รวมความสามัคคีของชาวจีนมีความสัมพันธ์ชนิดไหนกับ “แก๊ง 4 คน” ในห้วงเวลาโกลาหลจากการปฏิวัติวัฒนธรรมเจียงชิง เติบโตมาในครอบครัวชาวนา เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนโดยทำงานด้านวัฒนธรรมด้วยการเป็นนักแสดง เจียงชิงเป็นภรยาคนที่ 3 ของประธานเหมาและเป็นคนสุดท้าย โดยใช้ชีวิตคู่ร่วมกับประธานเหมานานถึง 37 ปี เจียงชิงเริ่มก้าวขึ้นมามีบทบาทระดับนำในพรรคช่วงบั้นปลายชีวิตของประธานเหมา เจียงชิงร่วมกับสมาชิกระดับแกนนำของพรรคอีก 3 คนคือ จางชุนเฉียว  เหยาเหวินหยวน และหวังหงเหวิน ในนามแก๊ง 4 คน โดยใช้กรปฏิวัติวัฒนธรรม กำจัดผู้ที่คิดต่างทางการเมือง และปลุกระดมให้เกิดการกวาดล้างผู้ไม่ซื่อตรงต่อพรรค และพวกลัทธิแก้และนายทุน ครั้งมโหฬาร ในระหว่างปี 1966 -1976ผลจากการปฏิวัติวัฒนธรรมจีน ส่งผลให้ชาวจีนจำนวนกว่า 700,000 คนต้องถูกทารุณกรรม ทั้งจากการถูกลงโทษโดยทางการ และถูกทำร้ายร่างการจากเหตุจลาจล มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 34,274 นอกจากนี้ยังสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอันเนื่องจาก ‘กองทัพแดง’ เข้ารื้อค้นทำลายบ้านเรือนราษฎร และร้านค้าที่ต้องสงสัยว่าเป็นฝ่ายนายทุน หรือเป็นพวกลัทธิแก้การปฏิวัติวัฒนธรรมนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า แท้ที่จริงแล้วเป็นไปเพื่อกำจัดศัตรูทางการเมืองของแก๊ง 4 คนนั้นเอง อย่างไรก็ตามผลจากการปลุกระดมและการทำงานอย่างแข็งขันของกองทัพแดงภายในเวลา 10 ปี ก็ส่งผลสะเทือนไปกว้างขวางและก่อความคลางแคลงใจต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างปฏิเสธไม่ได้ภายหลังการอสัญกรรมของประธานเหมาในปี 1976 แก๊งสี่คนถูกจับกุมเนื่องจากซ่องสุมกำลังอาวุธเพื่อยึดอำนาจรัฐในระหว่างดำเนินคดี และถูกกักขังอยู่นั้น เจียงชิงยังคงยืนยันว่า สิ่งที่กระทำลงไปภายใต้การนำของแก๊งสี่คน เป็นเจตนารมณ์ของประธานเหมาโดยประกาศว่าตัวเธอเองนั้นเป็นหัวหน้าฝูงสุนัขของประธานเหมา และจะกัดทุกคนที่ประธานเหมาสั่งให้กัดเจียงชิงถูกพิพากษาโทษประหารชีวิตในปี 1981 แต่ได้รับการลดโทษเหลือเพียงจำคุกตลอดชีวิตในปี 1983 อย่างไรก็ตาม เธอได้รับการปล่อยตัวเพื่อเข้ารับการรักษามะเร็งที่ลำคอ ในปี 1991 เจียงชิงแขวนคอตายในห้องน้ำของโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ปี 1991ความสัมพันธ์ระหว่างเจียงชิง กับประธานเหมาในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมจีนนั้น เป็นข้อถกเถียงและคาดเดากันไปต่างๆ บ้างเชื่อว่า ประธานเหมาและมาดามเหมามีความสัมพันธ์ที่ห่างเหินในช่วงเวลานั้น บ้างก็ว่าอันที่จริงแล้วแก๊ง 4 คนนั้นมีสมาชิก 5 คน บทสนทนาระหว่างสิรินทร์ พัธโนทัย ตัวแทนทางการทูตอย่างลับๆ ที่ได้ผ่านช่วงเวลาวิกบากกรรมจากการปฏิวัติวัฒนธรรมจีนด้วยนั้น เลือกที่จะอธิบายในหนังสืออัตชีวประวัติ ‘มุกมังกร’ ผ่านบทสนทนาของเธอเองกับจิง ผู่ซุน ภรรยาของเลี่ยว เผิงจื้อ สมาชิกระดับแกนนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนว่า“แล้วทำไมประธานเหมาถึงปล่อยให้เธอทำอย่างนี้” ฉันถาม“ตอนนี้ท่านก็แก่มากแล้ว” เธอตอบพร้อมชี้หัวของเธอเอง “คนแก่มักจะไม่สามารถควบคุมเมียได้” (หน้า 398 มุกมังกร) เอวิต้า เปรอง สตรีหมายเลขหนึ่งบนสายรุ้งแห่งประชานิยมเอวิตา เปรอง หรือในชื่อจริง มาเรีย เอวา ดูอาร์เต้ เดอ เปรอง  สตรีหมายเลขหนึ่งคนแรกของอาร์เจนตินา และเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายทั่วโลกทั้งขณะมีชีวิตและเมื่อจากไป ประวัติของเธอ ถูกนำมาเขียน ทำละคร และภาพยนตร์ฮอลีวูด  ประวัติส่วนตัวกว่าที่เธอจะไต่เต้าขึ้นมาสู่การเป็นภรรยาคนที่ 2 ของนายพลเปรองซึ่งผู้นำที่ครองใจชาวอาร์เจนตินาในช่วงสงครามเย็น (ระหว่างปี ค.ศ. 1946-55 และ 1973-4)..และเป็นสตรีหมายเลขหนึ่งของอาร์เจนตินานั้นเป็นเกร็ดแห่งการซุบซิบนินทาชั้นเลิศ ภาพที่ชัดเจนของเธอก็คือ การไต่เต้าจากเด็กยากจน เรียนรู้ความแตกต่างทางชนชั้นโดยแลกด้วยประสบการณ์จริง เอวิตา อาจเป็นได้ทั้งนางฟ้าและปีศาจ ซึ่งสุดแท้แต่ใครจะเลือกใช้ฐานคติทางการเมืองใดตัดสิน และแน่นอนว่า ประวัติของเธอที่ไม่ได้มาจากตระกูลชั้นสูง และไม่ได้จบการศึกษาชั้นเลิศ รวมถึงการไต่เต้าขึ้นมาจากการเป็นนักแสดง ก็ทำให้เธอต้องฝ่าฟันอย่างหนักเพื่อจะได้รับการยอมรับจากชนชั้นนำในอาร์เจนตินา โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกองทัพซึ่งเป็นกลุ่มอำนาจสายอนุรักษ์นิยม อย่างไรก็ตาม เอวิต้า ในฐานะภรรยาของนายพลเปรอง เลือกที่จะทำงานการเมืองเคียงบ่าเคียงไหล่ และปฏิเสธไม่ได้ว่า เธอนั้นเป็นเสมือนฝ่ายประชาสัมพันธ์ชั้นยอดให้กับนายพลเปรอง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ แนวคิดเปรอนิสม์ (Peronism) นั้นถูกเผยแพร่โดยนายพลเปรองและเอวิต้า แม้ว่าโดยหลักทฤษฎีแล้วมันอาจจะเป็นการผสมปนเประหว่างชาตินิยม ประชานิยม และสังคมนิยม รวมถึงบางคราวก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นฟาสซิสม์ด้วย แต่ที่แน่ๆ กลุ่มเป้าหมายของเปรองก็คือ กลุ่ม แรงงาน และคนจนเอวิต้า ทำงานรุกคืบสร้างพื้นที่ทางการเมืองใหม่ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มคนที่เคยปราศจากตัวตนทางการเมือง ได้แก่ เด็กกำพร้า กลุ่มแรงงาน สหภาพ และผู้หญิง เธอก่อตั้งมูลนิธิ เอวา เปรอง ทำงานด้านการกุศล โดยมุ่งไปที่การให้ความช่วยเหลือเด็กกำพร้า และผู้หญิงไร้บ้านซึ่งคนเหล่านี้ก็กลายมาเป็นฐานเสียงสำคัญของเธอภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดี ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1946 ซึ่งนายพลเปรองได้ครองตำแหน่งประธานาธิบดี เอวิต้าเริ่มเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งให้กับผู้หญิง กระทั่งได้ชัยชนะในปี  1947  นอกจากนี้ยังก่อตั้งพรรคสตรีนิยมเปรองนิสม์  (Feminist Peronist Party) ปี 1952 โดยมีสมาชิกแรกตั้งถึง 500,000 คน และมีสาขาพรรคกว่า 3,600แต่ข้อเท็จจริงหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ เอวิตา เปรอง นั้นเป็นสตรีที่ก้าวขึ้นมาพร้อมกับนโยบายประชานิยมของนายพลเปรอง เปรองนั้นอาศัยความเป็นดาราภาพยนตร์ และนักจัดรายการวิทยุเข้าถึงกลุ่มชนชั้นแรงงาน คนยากจน และโดยอาศัยวาทศิลป์ครองใจผู้คนระดับรากหญ้ากล่าวได้ว่า เอวิต้า คือผู้หญิงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประวัติศาสตร์การเมืองอาร์เจนตินา ทั้งถูกคาดการณ์ด้วยว่าเธอจะเป็นผู้สืบอำนาจต่อจากนายพลเปรอง ทว่าวาระสุดท้ายของชีวิตเดินทางมาถึงก่อนจุดจบทางการเมือง เส้นทางอันรุ่งโรจน์ของเธอต้องจบลงเมื่อวัย 33 ปีด้วยโรคมะเร็งในมดลูกเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ปี 2493 แน่นอนว่า เมื่อมีด้านสว่างย่อมมีด้านมืด แม้ว่ายุคสมัยของทั้งนายพลเปรอง และเอวิต้าจะจับใจผู้คนชนชั้นรากหญ้าเพียงใดก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงที่ตามก็คือว่า ผลพวงจากนโยบายประชานิยมที่สร้างต้นทุนทางการเมืองอย่างสูงลิ่วของคนทั้งสอง โดยทุ่มเทลงไปเอาใจคนยากจนและกลุ่มแรงงานนั้น ทำให้อาร์เจนตินาสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินไปมาก และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของอาร์เจนตินาในเวลาต่อมา การจากไปของเอวิต้า กลายเป็นความสูญเสียอันยิ่งใหญ่ของชาวอาร์เจนตินาในช่วงเวลานั้น ฝูงชนจำนวนมหาศาลออกมายังท้องถนนเพื่อไว้อาลัยสตรีหมายเลขหนึ่ง ภายในเวลาแค่วันเดียว มีรายตัวเลขผู้ได้รับบาดเจ็บเนื่องจากการเบียดเสียดถึง 2,000 คน และมีผู้เสียชีวิต 8 คนเอวิต้ายังคงมีเรื่องราวดึงดูดความสนใจของผู้คนแม้เมื่อเธอเสียชีวิต นายพลเปรองมีโครงการที่จะจัดทำอนุสรณ์สถานอย่างยิ่งใหญ่ให้กับสตรีหมายเลขหนึ่ง ทว่าเมื่อนายพลเปรองต้องสิ้นอำนาจ ศพของเอวิต้าก็ไม่รับการเอาใจใส่จากรัฐบาลทหารและถูกโขมยไป ก่อนที่จะได้กลับคืนมาปี 1974 ปัจจุบันศพของเอวิตาบรรจุไว้ในสุสาน La Recoleta Cemetery อิเมลดา มาร์กอส เมียของผู้นำโลกที่ 3 เอ่ยถึง อิเมลดา มาร์กอส จินตภาพเกี่ยวกับเธอนั้นมักโยงใยไปถึงรองเท้าสองพันกว่าคู่ และตู้เสื้อผ้าหรูหราอลังการ ขณะที่ประชาชนในประเทศฟิลิปปินส์ก็ยังคงย่ำอยู่กับความยากจนและการเมืองที่หมุนวนอยู่กับที่อิเมลดา มาร์กอส อาจเป็นสตรีคนเดียวในโลกที่โลกจดจำรองเท้าของเธอมากพอๆ กับตัวเธอ (อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนั้นไม่แน่ชัด สื่อรายงานว่าเธอมีรองเท้าประมาณ 2700 – 3000 คู่ ขณะที่อิเมลดา ยืนยันว่าเธอมีรองเท้าแค่ 1,060 คู่เท่านั้น!!!) สปอร์ตไลท์ฉายไปที่อิเมลดา อดีตสตรีหมายเลขหนึ่ง ชัดขึ้น และชัดขึ้นเรื่อยๆ เมื่อสามีของเธอร่วงหล่นจากอำนาจ เฟอร์ดินันด์ มาร์กอส  เป็นผู้นำประเทศฟิลิปปินส์ในระหว่างปี 1965-1986 เช่นเดียวกันกับผู้นำในยุคสมัยแห่งการพัฒนาในประเทศโลกที 3 อื่นๆ มาร์กอส ถูกกล่าวหาว่าคอร์รัปชั่น เอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง และเป็นเผด็จการ จนกระทั่งถูกดึงลงจากอำนาจด้วยการปฏิวัติใหญ่โดยขบวนการประชาชนเมื่อปี 1986 ต้องลี้ภัยไปยังฮาวาย และเสียชีวิตที่นั่นในปี 1989 แม้แต่ศพของเขาก็ไม่ได้รับอนุญาตให้นำกลับมาฝังยังประเทศเกิด โดยผู้นำขณะนั้น นางคอราซอน อาควิโน อ้างเรื่องความมั่นคงของประเทศอิเมลดา มาร์กอสนั้น ไม่ปรากฏรายงานบทบาททางการเมืองของเธอว่ามีนัยสำคัญอย่างไรต่อสามี หากแต่ภาพลักษณ์ของความเป็นคนสุลุ่ยสุร่าย มีทรัพย์สินโดยเฉพะเครื่องแต่งกายเครื่องประดับจำนวนมาก ได้ตอกย้ำภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำสุดยอดคอรัปชั่นและเอื้อประโยชน์พวกพ้องของมาร์กอสผู้เป็นสามีแน่นอนว่า ทรัพย์สินจำพวกเสื้อขนสัตว์ รองเท้า กระเป๋า ฯลฯ เหล่านี้เป็นภาพอันฉูดฉาดที่ช่วยขับเน้นประเด็นคอร์รัปชั่นของผู้นำในประเทศกำลังพัฒนาที่ประชากรส่วนใหญ่ยังยากจน ทว่า การนับจำนวนข้าวของเครื่องใช้ เครื่องประดับอันไม่จำเป็นทั้งหลายนั้น ย่อมง่ายดายกว่าการขุดรากถอนโคนตัวระบบที่เป็นปัญหาหยั่งรากลึกในสังคมการเมืองของฟิลิปปินส์เอง ผู้นำฟิลิปปินส์คนต่อๆ มาก็ยังคงเผชิญกับข้อกล่าวหาเดิมๆ นั่นคือระบบเล่นพวกพ้อง ระบบเครือญาติ เผด็จการ และคอร์รัปชั่น แม้แต่นางสิงห์น้อย กลอเรีย อาร์โรโย่ ผู้นำคนล่าสุด สำหรับอิเมลดา มาร์กอส ผู้หญิงที่เคยขึ้นทำเนียบหนึ่งใน 100 สาวงามที่สุดในโลก วันนี้เธอมีอายุ 79 ปี และยังคงต้องเทียวขึ้นศาลในฐานะจำเลยในคดีที่สืบเนื่องจากการคอร์รัปชั่นอันมโหฬารของตระกูลมาร์กอสจำนวนทั้งสิ้น 901 คดี 000ผู้หญิงของผู้นำทางการเมือง ล้วนถูกจดจำต่างกันไป ทั้งโดยที่เธอเหล่านั้นเลือกและไม่ได้เลือก ตัวเลือกที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับผู้หญิงที่สามีของเธอมีแรงผลักดันทางการเมืองสูงก็คือ เลือกที่จะอยู่เงียบๆ ทำหน้าที่เป็น ‘หลังบ้าน’ไม่ว่าหลังบ้านนั้นจะเปิดหรือปิดประตูก็ตามแต่ถ้าใครเลือกจะไม่เป็นแค่ ‘หลังบ้าน’ แต่เลือกออกมายืนเคียงข้าง หรือนำไปข้างหน้า ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่า ชะตากรรมของพวกเธอหนีไม่พ้นถูกขีดวาดด้วยผลลัพธ์ทางการเมืองนั้นเองอ้างอิง:- สิรินทร์ พัธโนทัย, มุกมังกร, เนชั่นพับลิชชิ่ง กรุ๊ป, กรุงเทพฯ: 2539.- มาเลเซีย: ภริยาอันวาร์ ประกาศลาออกจากสมาชิกรัฐสภา เปิดทางให้สามีลงเลือกตั้ง http://www.prachatai.com/05web/th/home/13033 - ศาลยันคำพิพากษาไร้อคติ ‘อ้อ-บรรณพจน์’ คุกคนละ 3 ปี แต่ให้ประกันตัว ttp://www.prachatai.com/05web/th/home/13023 - Jiang Qing http://en.wikipedia.org/wiki/Jiang_Qing - Eva Perón http://en.wikipedia.org/wiki/Eva_Per%C3%B3n#Passing_and_funeral - The Effects of Peronism on Argentina http://www.ccds.charlotte.nc.us/History/Americas/05/neale/ - PERONISM: "Our Sun, Our Air, Our Water" http://209.85.175.104/search?q=cache:WSyPYXXeeswJ:www.time.com/time/magazine/article/0,9171,944526,00.html+peronism&hl=th&ct=clnk&cd=19&gl=th - The Shoes of Imelda Marcos http://www.time.com/time/magazine/article/0,9171,961002,00.html