สังคม

เหตุเกิดในโข่โละโกร (2)

3

ขณะรถแล่นไป  เราพูดถึงแต่สิ่งที่อยู่ข้างหน้า  และย้อนนึกถึงสิ่งที่ผ่านมา  จนแทบไม่คิดถึงเรื่องขณะปัจจุบัน  ทันทีที่รถมาถึงโค้งหนึ่งนั่นเอง  พะเลอโดะหักหลบลงข้างทางอย่างกะทันหัน รถวิ่งไปบนพื้นขรุขระตึงๆตังๆ  พร้อมกับดับไฟหน้ารถ  ผมเห็นแต่ความมืดสลัว  และตะคุ่มพุ่มไม้ ใบบังที่แสงจันทร์เสี้ยวพอให้มองเห็นได้  

เหมือนว่าซอมีญอกับกะฌอจะเข้าถึงกลิ่นลอยมาล่วงหน้า  ว่ามีอะไรเกิดขึ้นในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า  เขาหายไปจากที่นั่ง  หลบไปอยู่ที่ใดที่หนึ่ง  ผมถามพะเลอโดะว่ามีอะไร  ลุงเวยซาเช่นกัน  นั่งลุกลี้ลุกลนหันซ้ายหันขวา  สัมผัสได้ถึงสิ่งไม่ปกติ

“ข้างหน้ามีด่านตรวจ” พะเลอโดะพูดสั้นเพียงนั้น  อย่างกับได้กลิ่นอันตรายบางอย่าง แล้วส่องไฟฉายจัดสิ่งของในรถเสียใหม่  มะพร้าวงอกหน่อสูงเท่าข้อศอก  หน่อกล้วย ถุงข้าว  ถุงเกลือ  หม้อสนาม เปล  ถุงนอน จอบเสียม  มีดทำสวน  ต้นไม้ในถุงเพาะชำอีกจำนวนหนึ่ง   ทำให้ดูประหนึ่งเป็นรถคนสวนแถบนี้

“พะตี  เขาถามให้บอกว่าไปโข่โละโกร”  พะเลอโดะหันไปพูดกับลุงเวยซา  ผมได้ยินลุงเวยซาพูด เหม่ เหม่ รับคำอยู่ในความมืด พวกโง่ทั้งนั้น  ยังเฝ้ายามกันอยู่”  พะเลโดะพูดไปหัวเราะไป  ผมเห็นความเด็ดขาด  การตัดสินใจฉับพลัน  และท่าทีไม่กลัวใครในเวลาสำคัญมาตลอด  เหมือนเขาเคลื่อนไหวอยู่ในเขตสู้รบ  โดยไม่มีอาวุธหรือกระสุนแม้แต่นัดเดียว

4

รถถอนตัวออกจากข้างทาง  อย่างกับลุกขึ้นมาจากหลุมก้อนหิน  ไฟหน้ารถสว่างโล่ไกลออกไป  เห็นไฟฉายหลายกระบอกส่องขวางถนนอยู่แล้ว  คนในชุดพรางอาวุธสงครามโบกมือไหวๆพร้อมโบกมือ  พะเลอโดะหยุดรถ  ไม่แสดงอาการตื่นกลัวใดๆ  กลับนั่งสง่านิ่งสงบอย่างกับผู้บังคับบัญชากำลังตรวจกำลังพลแนวหน้า

“ไปไหน” เสียงหนึ่งดังง้วนสั้น  ไฟฉายส่องแสงวาบเข้ามาในรถ  พะเลอโดะพูดด้วยน้ำเสียงหนักแน่นแต่เจือด้วยท่าทีอ่อนน้อมเจียมตน  
“ไปสาละวินครับ”
เสียงคำถามดังมาทางด้านประตูรถที่ผมนั่ง

“มาจากไหน” เสียงนั้นดังมาจากความมืด
“เชียงใหม่” ผมตอบแล้วยิ้มมุมปาก
“ช่วงนี้มีอะไรเกิดขึ้นหรือเปล่าครับ” พะเลอโดะโยนคำถาม
“ข้างในกำลังสู้รบ  มาแถบนี้กลางคืนไม่ปลอดภัย” เสียงหนึ่งดังสอดขึ้นมา
“ลุงไปไหน ไปทำอะไร”
“โข่โละโกร”
ลุงเวยซาพูดด้วยน้ำเสียงตื่นๆ  

พะเลอโดะพูดแทรกขึ้นมาว่า  ลุงอยู่แม่เงาขอติดรถมาด้วย  เอาต้นไม้ข้าวของไปฝากลูกหลาน

ไม่มีเสียงถามต่อ  แสงไฟฉายสาดไปทั่วรถ   ราวกับจะค้นหาสิ่งแปลกปลอมที่อาจแฝงตัวมากับฝุ่นในรถ   ผมเสียอีกกลับใจเต้นตึงๆตังๆ  ผมไม่รู้ว่าซอมีญอกับกะฌอไปแอบซ่อนอยู่ตรงไหนของตัวรถ  เกิดเขาค้นหาเจอ  จะมีอะไรเกิดขึ้นนับจากนี้ไป

“นี่อะไร”
เงียบกันชั่วอึดใจ  แสงไฟฉายสาดไปจ่อหน่อมะพร้าว

“ไปได้ๆ ระวังๆ หน่อยแล้วกัน” 
กลุ่มคนในชุดพรางหลีกทางให้  พะเลอโดะกล่าวขอบคุณ แสงไฟส่องไกลไปตามถนนที่คดเคี้ยวไปเรื่อยๆ

ลมหายใจในสิบวัน

20 November, 2007 - 00:02 -- thapana

หากได้รับตั๋วเครื่องบินไป-กลับยุโรป พร้อมเงินติดกระเป๋าไปเที่ยวฟรีๆ 10 วัน เป็นใครย่อมไม่รอช้า ทั้งพร้อมจะเลื่อน – ลา – หยุด ทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อไป มันคงเป็นประสบการณ์ครั้งสำคัญในชีวิตที่น้อยคนจะมีโอกาส แต่ด้วยเงื่อนไขเดียวกันนี้ หากเปลี่ยนจากไปเที่ยวยุโรป 10 วัน เป็นการไป ‘วิปัสสนา’ 10 วันแทน หลายคนคงต้องคิดหนัก

เราหมายใจจะท่องเที่ยวไปให้ทั่วประเทศ ทั่วทวีป ทั่วโลก จากทะเลลึกถึงภูเขาที่สูงที่สุด จากมหานครสู่ป่าดิบ จากกลางตลาดที่คราคร่ำด้วยผู้คนสู่ทะเลทรายเวิ้งว้าง แต่เรากลับไม่สนใจที่จะท่องเที่ยวสำรวจ ‘จิต’ ของเราเอง ... แปลกมั้ย ?

ในฐานะชาวพุทธ ไม่ว่าจะกล่าวด้วยความภาคภูมิ หรืออ้างไปก่อนขณะที่ยังไม่เปลี่ยนศาสนาเป็นอื่น น้อยคนนักที่จะรู้ความหมายว่า วิปัสสนา หมายถึงอะไร และน้อยลงไปอีกที่ต้องการจะรับรู้ประสบการณ์วิปัสสนา ทั้งที่อาจจะกล่าวได้ว่าสิ่งนี้ คือหนทางแห่งปัญญา อันเป็นคำสอนสำคัญขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครูผู้ยิ่งใหญ่ และศาสดาของศาสนาพุทธ

แน่ละ ผมเองก็เป็นคนหมู่มาก ที่บอกได้ว่าเป็นชาวพุทธตั้งแต่เกิด แต่ไม่เคยรู้เรื่องวิปัสสนาแม้แต่น้อย จนกระทั่งได้มีโอกาสไปเข้าอบรมการวิปัสสนาที่ศูนย์ธรรมอาภา1 จังหวัดพิษณุโลก เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมาด้วยการสนับสนุนจากมูลนิธิที่นา พร้อมกับเพื่อนอีกสี่คน

ผู้ที่สมัครใจเข้าร่วมปฏิบัติวิปัสสนาเป็นเวลาสิบวันไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการอบรมใดๆ เลย หากแต่ต้องยอมรับที่จะปฏิบัติตามกฎระเบียบที่ว่าด้วยความเงียบอย่างเคร่งครัด ทั้งการไม่พูดคุยกันแม้แต่คำเดียวตลอดสิบวัน ทั้งการห้ามใช้โทรศัพท์มือถือโดยเด็ดขาด ทั้งการห้ามอ่าน-ห้ามเขียน ฯลฯ ที่ล้วนแต่สามารถทรมานกิเลสคนเมืองได้ทั้งสิ้น เพราะแต่ละคนได้ผูกติดตนเองไว้กับสังคมอย่างแน่นหนาเสียแล้ว ครอบครัว คนรัก เพื่อน ที่ทำงาน โรงเรียน ฯลฯ เวลาเกือบสองสัปดาห์สำหรับคนที่เคยชินกับการพุ่งความสนใจออกไปนอกตัวเองอยู่ตลอดเวลา มันไม่ง่ายเลย

วิปัสสนา แปลว่า ทำให้เห็นความจริง ความจริงของโลก ความจริงของชีวิต ความจริงของตัวเรา ผ่านเครื่องมือที่ง่ายที่สุดคือ ลมหายใจของเราซึ่งเป็นเครื่องหมายของชีวิต เมื่อผมหันความสนใจจากที่เคยมุ่งสู่ภายนอกให้กลับมาดูที่ลมหายใจของตัวเองผมก็ได้เห็น โลกภายในที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อน

สามวันแรกของการปฏิบัติ การปรับตัวให้เข้ากับตาราง การตื่นแต่เช้ามืดเพื่อนั่งสมาธิ สถานที่ใหม่ อาหารมังสวิรัติ กฎแห่งความเงียบ หลายสิ่งหลายอย่างทำให้ผมอึดอัด ฟุ้งซ่าน ห่วงงาน ห่วงครอบครัว จนอดคิดไม่ได้ว่าจะอยู่จนครบสิบวันได้หรือไม่ แต่อาจเพราะความสนใจใคร่รู้จากการฟังธรรมะบรรยายในช่วงเย็นของทุกวันที่บอกว่า ‘...การฝึกอานาปานสติ ดูลมหายใจนี้คือการลับมีดให้คมเพื่อผ่าตัดจิตใจ...’ ทำให้ผมอยากจะลองดูสักตั้งว่า ตลอดทั้งสิบวันนี้ หากผมปฏิบัติอย่างจริงจัง มันจะทำให้ผมดาวดิ้นลงไปได้หรือเปล่า ดังนั้น แม้จะร้อนรนเหลือเกินและคิดห่วงไปสารพัดอย่าง แต่ผมก็ตั้งใจปฏิบัติอย่างเต็มที่ จนกระทั่งลมหายใจเริ่มละเอียดลงเรื่อยๆ และสามารถสัมผัสได้ถึงความเย็นจากลมหายใจที่เหนือริมฝีปาก

แล้วในวันที่สี่ วันที่ได้เริ่มฝึกวิปัสสนา เมื่อเริ่มเคลื่อนสติมาจดจ่อที่กลางกระหม่อมผมก็รู้สึกได้ว่า มีดแห่งสติที่ผมเพียรลับมาตลอดสามวันนั้น มันช่างคมกริบเหลือเกิน มันผ่าเอาเวทนาผมผุดพลุ่งออกมาราวกับน้ำพุ หนังหัวของผมเหมือนมีกระแสไฟฟ้าไหลผ่าน ใบหน้าเหมือนมีตัวอะไรวิ่งอยู่ใต้ผิวหนัง ไหล่ขวาหนักราวกับหินทับ กล้ามเนื้อตามร่างกายกระตุกอย่างควบคุมไม่ได้

บางครั้งก็ร้อนผ่าวไปทั้งตัว บางครั้งก็รู้สึกเบาเหมือนจะลอยได้ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นไม่ใช่อุปาทาน แต่เกิดขึ้นจริงๆ ประจักษ์ด้วยตนเองจริงๆ แม้แต่ความเจ็บปวดตามร่างกายอันเกิดจากการนั่งติดต่อกันเป็นเวลานาน ผมก็ได้เห็นด้วยตนเองว่ามันเกิดขึ้นเฉพาะขณะเข้าวิปัสสนา มันปวดเหมือนกับจะทนไม่ได้ แต่มันก็หายไปแทบจะทันทีที่ออกจากสมาธิ หรือนี่จะเป็นอาการที่เรียกว่า กิเลสกำลังถูกเผา...?

ผมฝันร้ายในคืนที่สี่นั้น เป็นฝันร้ายที่มาเป็นชุดๆ มากเสียจนจำรายละเอียดและจำนวนเรื่องที่ฝันไม่ได้ รู้แต่ว่ามันช่างน่ากลัวเหลือเกิน ผมไม่เคยรู้เลยว่า ในหัวสมองของผมจะมีจินตนาการที่เลวร้ายซ่อนเร้นอยู่มากมายขนาดนี้ ผมสะดุ้งตื่นหลายครั้งและรู้สึกว่าตัวเองหายใจเบาและเร็วมาก

ผมไม่เคยเป็นอย่างนี้มาก่อนเลย เช้าวันนั้น ธรรมบริกร ผู้คอยดูแลผู้เข้าอบรม มาบอกผมว่า เมื่อคืนผมนอนกรนเสียงดัง เขาไปเคาะประตูห้องแล้วแต่ผมไม่ตื่น ผมไม่รู้ตัวเลยว่าได้หลับลึกไปขนาดไหน หรือนอนหลับไม่สนิทขนาดไหน

ในวันต่อๆ มา ผมรู้สึกว่าบางสิ่งบางอย่างที่ดำมืดในตัวค่อยๆ ถูกชำระล้างออกไป ผมเริ่มมองเห็นความเปลี่ยนแปลง ความฟุ้งซ่านในใจเหมือนถูกกวนจนฟุ้งกระจายไปทั่วแล้วจางหายไปเรื่อยๆ ความขุ่นเคืองที่หมักหมมคล้ายตะกอนนอนก้นอยู่ ค่อยๆ ถูกระบายออกไปจนเกือบหมด

ธรรมบรรยายได้ย้ำเตือนอยู่หลายครั้งว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฎบนร่างกายล้วนเป็นผลมาจากการหลุดร่อนของสังขารที่ทับถมกันอยู่ภายในมาตลอดชีวิต ตามหลักที่ว่า เมื่อหยุดการปรุงแต่ง การปรุงแต่ง(สังขาร)เดิมก็หลุดร่อนออกมา แล้วผลแห่งความโลภ ความโกรธ ความหลง กิเลสนานาประการในใจ ก็ผุดโผล่ออกมาบนผิวกาย เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งอาการที่น่าพอใจ ทั้งอาการที่ไม่น่าพอใจ ไม่มีอะไรคงทนสักอย่าง แม้แต่ความเจ็บปวดจนแทบทนไม่ไหวมันก็ดำรงอยู่เพียงชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น

จากการปฏิบัติติดต่อกันหลายวัน ผมพบว่าร่างกายกับจิตใจมันสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออกจริงๆ ขณะที่จิตใจปั่นป่วนร่างกายก็ปั่นป่วน มันต่อต้านการหยุดนิ่ง มันเคยชินกับการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา มันต่อสู้เพื่อจะสร้าง เพื่อจะปรุงแต่งต่อทุกความรู้สึกทางกายทางใจ แล้วเมื่อจิตใจสงบร่างกายก็สงบลงไปพร้อมๆ กัน

ถึงวันที่แปด ผมนั่งวิปัสสนาติดต่อกันได้นานกว่าสองชั่วโมง แม้อาการเมื่อยล้า เจ็บปวดขาจะยังมีอยู่ แต่ผมรู้ว่ามันจะหายไปในเวลาไม่นาน มันมาแล้วมันก็ไป เช่นเดียวกับความฟุ้งซ่านของจิตที่ยังกระโดดไปมาระหว่างอดีตกับอนาคต มันก็ยังเป็นของมันอยู่ แต่ผมก็รู้แล้วว่า เมื่อมันมาเดี๋ยวมันก็ต้องไป แค่ตามดู รู้ทัน วางเฉยเสียมันก็ไม่อาจไปไหนได้ไกล

หลังสิบโมงเช้าของวันสุดท้าย ทุกคนได้รับอนุญาตให้พูดคุยกันได้ ใช้โทรศัพท์ได้ ซึ่งธรรมบรรยายอธิบายว่านี่คือวิธีสมานแผล หลังจากการผ่าตัดจิตใจแล้ว ผมคิดว่า วิธีนี้จะมีประโยชน์มากจริงๆ ในกรณีที่เราไปกันเป็นกลุ่ม เพราะเมื่อเราสามารถพูดคุยกันได้ เราก็ย่อมจะเปิดใจพูดคุยกันได้มากกว่าคนที่มาลำพัง (แต่นี่ก็อาจเป็นข้อเสียเพราะมันอาจทำให้เราอดคุยกันไม่ได้ระหว่างที่รักษาความเงียบ) ดังนั้น ในช่วงพัก ชายหนุ่มทั้งห้าจากมูลนิธิที่นา จึงตั้งหน้าตั้งตาคุยกันชนิดไม่สนใจคนอื่น

เมื่อถึงวันที่ต้องกล่าวอำลา สิบวันที่ยาวนานเหมือนสิบสัปดาห์ในตอนแรก กลับดูสั้นกว่าเดิม ประสบการณ์ตลอดสิบวันแห่งการสำรวจจิตตัวเอง อาจมากพอที่จะเขียนบรรยายเป็นหนังสือได้หลายเล่ม แต่สิ่งที่ทรงคุณค่าที่แท้จริงนั้นกลับยากที่จะบรรยายออกมาเป็นคำพูดหรือตัวอักษร อาจเพราะมันไม่ต้องการคำอธิบาย หรืออาจเพราะไม่มีคำอธิบายใดจะบอกได้อย่างครบถ้วน ผมรู้เพียงว่า ผลลัพธ์ของมันช่างมหัศจรรย์ หลายสิ่งหลายอย่างในตัวผมเปลี่ยนแปลงไป ผมรู้สึกถึงการ ‘เลือก’ อย่างมีสติมากขึ้น เข้าใจมากกว่าเพียงแค่พูดว่า อนิจจัง-ทุกข์ขัง-อนัตตา อย่างที่เคยได้ยินมาตลอดชีวิต

‘…ภูเขาก็เป็นภูเขา. น้ำก็เป็นน้ำ. บรรพชิตก็เป็นบรรพชิต.ชาวบ้านก็เป็นชาวบ้าน.แต่ว่าภูเขาเหล่านี้ แม่น้ำเหล่านี้ โลกเองทั้งหมด พร้อมทั้งดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาวทั้งหลาย, ทั้งหมดนั้นไม่มีอะไรสักอย่างเดียวที่ตั้งอยู่ภายนอกจิตของเธอ! สากลโลกธาตุอันไพศาล ก็ตั้งอยู่แต่ภายในใจเธอเท่านั้น,เมื่อเป็นดังนั้น จะมีที่อื่นที่ไหนอีกเล่า ที่จะหาพบสิ่งต่างๆ ที่มีปรากฎการณ์นานาชนิด. ภายนอกของจิตไม่มีอะไรเลย. ...’2

ธาตุดั้งเดิมของมนุษย์ ก็ไม่ต่างจากธาตุดั้งเดิมที่ประกอบอยู่ในทุกสรรพสิ่ง ทั้งสิ่งมีชีวิต และไม่มี
ชีวิต ทั้งที่เป็นรูป และเป็นนาม หากเข้าใจปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในตัวเรา ก็ย่อมจะเข้าใจปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นนอกตัวเรา หากประจักษ์ถึงสัจจะในตัวเรา ก็ย่อมประจักษ์ถึงสัจจะนอกตัวเรา เมื่อเห็นความจริงของสรรพสิ่ง อัตตาก็ถูกสลายไปเรื่อยๆ

มนุษย์แต่ละคนย่อมสามารถเข้าถึงความจริงที่เขาพร้อมจะรับ แต่หากปฏิเสธไม่ยอมรับความจริงก็เท่ากับขีดวงล้อมให้ตัวเองแคบเข้าไปเรื่อยๆ ความทุกข์ก็รุมล้อมมาจากทุกด้าน คล้ายกับว่า เมื่อต่อต้านมัน มันจึงคงอยู่ แต่เมื่อมองดูมันกลับสลายไป

สิบวันแห่งการสำรวจจิตใจตนเอง คือประสบการณ์ล้ำค่าที่เราทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด ไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นบัณฑิตหรือชาวนา ‘ธรรม’ นั้นย่อมเป็นของกลางสำหรับทุกคน นับแต่ขจัดทุกข์ กำจัดกิเลศ ไปจนถึงพบกับความจริงสูงสุด แต่ที่ไม่มีใครต้องการจะไป อาจเป็นเพราะกิเลสมันได้ยึดครองจิตใจไปเสียหมดแล้ว และมันกลัวที่จะต้องถูกกำจัดจึงหลีกเลี่ยงทุกวิถีทางที่จะไป เราได้ปล่อยให้กิเลสมันเป็นนายเหนือเรามาตลอด

สุตตะมยปัญญา ได้จากการฟัง การอ่าน การรับรู้ทุกชนิด จินตามยปัญญา ได้จากการคิดใคร่ครวญ และ ภาวนามยปัญญา ได้จากประสบการณ์ จึงมีคำพูดที่ว่า อ่านหนังสือพันเล่ม ไม่เท่าออกเดินทางไกล การประจักษ์แจ้งในตน ย่อมไม่อาจได้จากการอ่านหรือการคิดเอาเอง หากแต่ต้องปฏิบัติให้รู้เห็นด้วยตนเองเท่านั้น การวิปัสสนานั้น แม้จะอ่านหนังสือสักเท่าไร ก็ไร้ประโยชน์หากไม่ได้ผ่านประสบการณ์นั้นด้วยตนเอง

ภาวะของการเป็น ที่ได้รับจากประสบการณ์เท่านั้น ที่จะทำให้แต่ละคนได้ประจักษ์ และซาบซึ้งถึงคุณค่าของชีวิต รู้สึกอยากจะขอบคุณทุกๆ คน ทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้นำพาให้ตนเองได้มาถึงจุดนี้ เหตุผลที่เราทุกคนควรจะมีโอกาสไปวิปัสสนาสักครั้งหนึ่งในชีวิตนั้น อาจกล่าวได้มากมาย แต่ถึงที่สุดแล้วอาจมีแค่ข้อเดียว

เพราะภาวะแห่งการ ‘เป็น’ นี้เท่านั้น ที่จะทำให้เรา ‘เป็น’ ยิ่งๆ ขึ้นไปอีก
และเมื่อเราได้รู้จักตนเองแล้ว เราจึงพร้อมจะช่วยให้ผู้อื่นได้รู้จักตนเองด้วย

สายหมอกกับดอกไม้ ที่แห่งรักและคิดถึง จรัล มโนเพ็ชร

15 November, 2007 - 00:00 -- thanorm

picture

หลังจากที่ จรัล มโนเพ็ชร
ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่แห่งล้านนาได้จากไป เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2544 ตราบจนกระทั่งถึงวันนี้เป็นเวลา 6 ปีเต็ม ๆ ผมคิดว่านอกจากบทเพลงที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวามากมายหลายชุด ที่เขาทิ้งไว้เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมอันล้ำค่า ที่ทำให้เราคิดถึงถึงเขา ยามได้ยินบทเพลงของเขา ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่งแล้ว ยังมีสถานที่และผู้คนที่เคยเกี่ยวข้องผูกพันกับชีวิตของเขา บางสถานที่บางบุคคล ที่ทำให้เราคิดถึงเขา ยามได้ไปเยือนสถานที่แห่งนั้น และได้พบใครบางคนดังกล่าว เช่น

ร้านอาหาร สายหมอกกับดอกไม้
ที่ตั้งอยู่ริมถนนเชียงใหม่ 700 ปี หน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ มีใครต่อใครมากมายหลายคนบอกผมเป็นเสียงเดียวกันว่า ยามได้มาเยือนสถานที่แห่งนี้แล้ว ทำให้คิดถึง คุณจรัล มโนเพ็ชร เหลือเกิน

ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่แปลก เพราะ สายหมอกกับดอกไม้ เป็นร้านอาหารที่คุณอันยา โพธิวัฒน์ คนรักของคุณจรัล ได้ร่วมมือร่วมใจกับคุณจรัลสร้างร้านนี้ขึ้นมาและเริ่มเปิดบริการอย่างเงียบ ๆ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2541 โดยมีเจตนาทำร้านที่มีลักษณะเป็นสวนอาหารขนาดย่อมนี้ เป็นที่ต้อนรับญาติสนิทมิตรสหาย

ต่อมา
เมื่อคุณจรัล มโนเพ็ชร ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะโยกย้ายจากกรุงเทพฯกลับคืนมาอยู่บ้านเกิด ได้บินจากกรุงเทพฯมาเล่นดนตรีประจำร้านนี้อาทิตย์ละ 2-3 วัน ตั้งแต่เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2543จนกระทั่งจากไปด้วยโรคปัจจุบัน ขณะกำลังเตรียมงานคอนเสิร์ต 25 ปี จรัล มโนเพ็ชร ที่บ้านดวงดอกไม้ ทุ่งหลวง จังหวัดลำพูน เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2544

ร้านสายหมอกกับดอกไม้ จึงกลายเป็นสถานที่และผู้คนที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของศิลปินผู้ยิ่งใหญ่จากล้านนาที่จากไป นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา

แน่ล่ะ หลังจากวันที่คุณจรัลจากไป ถึงแม้ว่าผู้คนจะค่อย ๆบางตาลง แต่คนที่รักและคิดถึงคุณจรัล ก็ยังคงมาเยี่ยมเยือนร้านนี้กันอยู่เสมอ ซึ่งก็ตรงกับใจของคุณอันยาเจ้าของร้าน ที่ไม่อยากเหน็ดเหนื่อยกับการรับแขกมากเกินไป เหมือนสมัยที่คุณจรัลยังมีชีวิตอยู่และมาเล่นดนตรีประจำที่ร้านนี้

วันนี้ถ้าคุณย่างก้าวเข้าไปในบริเวณร้านสายหมอกกับดอกไม้ สิ่งแรกที่จะสะดุดตาคุณก็คือรูปปั้นครึ่งตัวของ คุณจรัล ฝีมือของคุณหงส์จร เสน่ห์งามเมือง ที่ตั้งอยู่บนแท่นสูงประมาณเมตรครึ่ง ใกล้ ๆ กับประตูทางเข้าร้านทางด้านขวามือ

และเมื่อเดินเข้าไปในร้านที่คุณจรัลออกแบบเป็นอาคารไม้หลังคาหน้าจั่วเชิงซ้อนแบบล้านนาประยุกต์ คุณก็จะพบภาพถ่ายของคุณจรัลในอิริยาบถต่าง ๆ ที่คุณอันยา ใส่กรอบแล้วนำมาติดไว้อย่างสวยงามตามซอกมุมต่าง ๆ ภายในร้าน เช่นเดียวกับเวทีที่คุณจรัลเคยมานั่งเล่นกีตาร์และร้องเพลง ก็ถูกจัดวางเอาไว้ในที่เดิมรวมทั้งข้าวของกระจุกกระจิกส่วนตัวและเทปเพลงของคุณจรัลในตู้โชว์ และหนังสือสองเล่มที่คุณอันยา เขียนถึงคุณจรัลเอาไว้อย่างงดงาม นั่นคือ

รักและคิดถึง จรัล มโนเพ็ชร
และ
ตามรอยฝัน จรัล มโนเพ็ชร

จึงมิใช่เรื่องที่แปลก
ที่ร้านอาหารสายหมอกกับดอกไม้ จะเป็นสถานที่ที่ใครต่อใครหลายคนได้เข้ามาเยือนแล้ว จะพากันคิดถึง จรัล มโนเพ็ชร ศิลปินทระนงผู้ยิ่งใหญ่แห่งล้านนา โดยเฉพาะตัวผม ที่ได้ร่วมเล่นบนเวทีเล็ก ๆ ที่น่ารักและอบอุ่นร่วมกับคุณจรัล ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้ายที่สายหมอกกับดอกไม้

ร้านสายหมอกกับดอกไม้ จึงเป็นสถานที่แห่งความคิดถึง จรัล มโนเพ็ชร ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง เพราะมันคือสถานที่แห่งความรักของเขา

และอันยา โพธิวัฒน์ เธอผู้รู้จักตัวตนของเขาอย่างลึกซึ้ง ได้เขียนบทกวีบทหนึ่งไว้อาลัย แด่การจากไปของเขาเอาไว้ว่า

ดอกไม้ดอกเดียวของฉัน
ดอกไม้ดอกเดียวของฉันเป็นนักกีตาร์
เป็นนักร้องแสนดี
เป็นนักแต่งเพลงแสนวิเศษ
คุณรู้ โลกก็รู้และตระหนัก
เขาเป็นนักกีตาร์ที่มีวิถีใช้นิ้วเป็นของตนเอง
สัมผัสเส้นสายบนเครื่องดนตรีที่ลี้ลับต่อการเรียนรู้
มันเป็นศาสตร์ชนิดหนึ่ง
ที่มีผู้เล่นเท่านั้นจะตระหนักได้ว่าจะนำทางไปสู่ทิศทางใด
ในโลกลี้ลับที่เปี่ยมมนต์ขลังจากเสียงเพียงประการเดียว
นี่คือสิ่งที่ฉันเรียก...ศิลปะ
และเมื่อใครสักคนดุ่มเดินไปในวิถีที่ลี้ลับ
ซึ่งรังสรรค์ขึ้นจากตัวตนของเขาเอง
นั่นคือ ศิลปิน

ดอกไม้ของฉันอยู่กับฉันมาเนิ่นนานหลายปี
นำกลิ่นหอมแสนหวานจากเสียงกังวานของกีตาร์
มาสู่ฉัน ทั้งกลางวัน กลางคืน
ตลอดฤดูร้อน ฤดูฝน ฤดูหนาว
ฉันคงไม่อาจมอบตำแหน่งใดในโลกนี้ให้เขาได้
นอกจาก...ศิลปินที่รักสุดหัวใจ

แด่ดอกไม้
เมื่อเสียงนุ่มแผ่วจากดนตรีของเจ้าจางจากไป
กังวานยังสะท้านอยู่ในความรู้สึก
กลิ่นหอมของกุหลาบเหลืองแสนหวานที่โรยรา
ยังอ้อยอิ่งอยู่ในอารมณ์ที่เร่งเร้า
ดอกไม้เจ้าเอย...
เจ้าเป็นดอกไม้ดอกเดียวของฉัน
เมื่อกลีบของเจ้าร่วงหล่นทับถมลงบนดิน
บนฟูกของความตาย
เมื่อเธอจากไป ความรักจะปิดเปลือกตาลง
และหลับสนิทอยู่ในนิทรา
เช่นเดียวกับร่างไร้ชีวิต
ซึ่งนิ่งสนิทอยู่ตรงหน้าฉัน
ในห้วงนิทราของความตาย
เธอยังคงงดงามเช่นเดียวกับเด็กน้อยที่น่ารัก
ด้วยน้ำตาและความเงียบ ฉันกล่าวอำลาเธอ.

***อันยา โพธิวัฒน์ เขียนไว้ในหนังสือ แก้วก๊อล้านนา

 

13 พฤศจิกายน 2550
กระท่อมทุ่งเสี้ยว เชียงใหม่

เหตุเกิดในโข่โละโกร (1)

1

“ถ้าจะตาย  ใจสงบแล้วที่ได้เห็นแม่น้ำใหญ่”   ลุงเวยซา วัย 69 ปี  พูดกับพวกเรา แล้วทรุดตัวนั่งลงริมฝั่งแม่น้ำใหญ่สาละวิน  พึมพำเสียงเปรยสั่นเครือเหมือนลืมตัว “โข่โละโกร โข่โละโกร..”  ผมนึกว่าลุงจะตื่นตาตื่นใจไปตามประสา  แต่พอเห็นหลังมือป้ายตา  นิ่งเหม่อมองไกล  ผมถึงเข้าใจว่า นั่น ไม่ใช่เรื่องธรรมดาๆเสียแล้ว 

นาทีต่อนาทีนับจากนั้น  ผมเห็นลุงเวยซายิ่งตัวเล็กลงเหลือเท่ากำปั้น  กลืนกลายเป็นเนื้อเดียวกับก้อนหินใหญ่ริมฝั่ง  เป็นหุ่นปั้นหินเปลือยกายท่อนบน  นุ่งเตี่ยวสะดอเก่าๆสะพายย่าม  เท้าเปลือย  และแทบมองไม่เห็นหนวดเคราขาวหรอมแหร็ม  กับเส้นผมแห้งแข็งเหมือนฟางข้าว

เรามาถึงริมฝั่งแม่น้ำตอนเที่ยงคืนกว่าๆ  ผมเหลือบเห็นผิวน้ำเลื่อมมันวาวสะท้อนแสงจันทร์เสี้ยว  อย่างผิวหนังสัตว์เกล็ดงูยักษ์เคลื่อนผ่านหน้าไป   ห้าคนอัดแน่นอยู่บนรถจิ๊ปสีเทารุ่นสงครามโลก  พะเลอโดะเป็นคนขับ  ผมนั่งเคียงคู่  ลุงเวยซานั่งข้างหลัง  

ส่วนอีกสองคน ซอมีญอกับกะฌอดูราวหลอมแบนราบเป็นเนื้อเดียวกับพื้นรถ

ผมมาถึงฝั่งโข่โละโกรเป็นครั้งแรก  เหมือนลุงเวยซา  ซอมีญอกับกะฌอเขาคุ้นเคยเป็นอย่างดี  พะเลอโดะเป็นผู้นำทาง  เขาเข้าออกโข่โละโกรอย่างกับบ้านหลังที่สอง  เขาบอกว่า  เขามากี่ครั้งก็ไม่เคยรู้สึกเบื่อ 

โข่โละโกรมีเรื่องใหม่ๆ ผ่านเข้ามาทุกวัน  ไม่ต่างกับการมาถึงของพวกเรา  

แสงไฟรถฉายไปยังบ้านไม้แต่ละหลังที่ปิดประตู  ปิดไฟเปล่าเปลี่ยวอยู่ในความมืด  ราวกับโบกี้รถไฟไม้เก่าทิ้งร้าง  ไม่มีหัว ไม่รู้ท้าย  ปล่อยเลยตามเลยไว้ริมแม่น้ำ  อย่างกับรอวันคืนอัศจรรย์ผ่านมาชุบชีวิตให้มันตื่นขึ้นเคลื่อนไหวได้อีกครั้ง  แล้ววิ่งเลียบแม่น้ำไปเยี่ยงจักรกลโบราณที่ไม่คาดหวังว่าจะมีสิ่งมีชีวิตตื่นขึ้นมาขอโดยสารหรือไม่  

เสียงรถยามวิกาลไม่ได้ทำให้ผู้คนที่อาศัยอยู่ในโบกี้ไม้แตกตื่น 

พะเลอโดะบอกว่า เว้นแต่พวกทหารที่คอยดมกลิ่นกลางคืน  นอกนั้นไม่มีใครอยากรู้หรอกว่าเป็นใครมาทำอะไร  ผู้คนแถบนี้คุ้นเคยกับคนเข้าคนออก 

เท็จจริงใดๆ ดูไร้ประโยชน์   บรรยากาศชีวิตแถบนี้ปกคลุมด้วยความเท็จมากกว่าความจริง  ความสงสัยใดๆไม่ได้นำพาไปสู่ความเคร่งครัดในสิ่งคาดหวังใหม่ๆ

ผมรับรู้เรื่องราวโข่โละโกรอันจำกัด  

ส่วนหนึ่งมาจากพะเลอโดะ  เล่าเพียงว่าชุมชนคนพลัดถิ่นเกิดขึ้นมากลางสนามรบ  เพราะผลพวงจากสงครามเชื้อชาติบนแผ่นดินพม่า  หนีการสู้รบข้ามน้ำโข่โละโกรมาตั้งบ้านอยู่สุดขอบพรมแดน  ให้พอมีพื้นที่ดำรงชีพกันไปได้ 

แต่ดูเหมือนชีวิตไม่ง่ายเถรตรงอย่างแนวเขตปันแดน  อิทธิพลของนักรบกะเหรี่ยงยังแผ่ขยายมาถึงคนหนีมาสุดแนวเขตจนได้    ใครไม่มีลูกชายส่งไปออกรบ  ก็ต้องส่งส่วยไปอุดหนุน    

พันธะทางสายเลือด  พรมแดนไม่อาจปิดกั้นกันไหลทะลักไปหากัน 

2

วันดีคืนดีของลุงเวยซา  ก็มีคนแปลกหน้าพร้อมอาวุธเข้ามาถึงบ้าน  ขอพริกขอข้าวสาร  มีอยู่เท่าไหร่ก็ต้องเอาให้เขาไป  

ลุงเวยซาบอกว่า พวกนี้เป็นผีโข่โละโกร แฝงตัวมากับกลางคืน  เคลื่อนไหวมาตามป่าเขาอย่างเงียบกริบ  ไม่มีใครรู้ว่าพวกนี้มาจากที่ใด  จะไปไหน  แต่ลุงเวยซารู้ผ่านพ่อแม่บอกต่อกันมา  ว่าดินแดนนั้นเหมือนถูกสาปอยู่หลังแม่น้ำโข่โละโกร  ที่นั่น เต็มไปด้วยนักรบที่พร้อมจะห้ำหั่นใส่กันได้ทุกเมื่อ   

วัยวันลุงเวยซาผ่านไป 69 ปี  ไม่เคยสักครั้งที่คิดจะเดินไปยังดินแดนนั้น  หรือไปให้ถึงฝั่งน้ำโข่โละโกรสักครั้ง   ลุงเชื่อฝังใจว่าที่นั่นเต็มไปด้วยพวกผีโข่โละโกร  ไม่เชื่อฟังเหตุผลใดๆ  

ถ้าถูกจับไปเป็นลูกหาบแบกกระสุนปืนเมื่อไหร่  อย่าหวังว่าจะได้กลับออกมาง่ายๆ  
“พระเจ้าให้เป็นอย่างนั้น” ลุงเวยซาบอก 

พะเลอโดะกลับหัวเราะ  แล้วพูดออกไปว่า  พระเจ้าอยู่ในเรานี่แหละ.. พะตี

ในสวนบนเนินเขา (7)

14 November, 2007 - 03:16 -- ongart

 

1

 

เมื่อนั่งอยู่ในความเงียบ ในสวนบนเนินเขายามเช้าตรู่ เพ่งดูหมอกขาวคลี่คลุมดงดอยอยู่เบื้องหน้า ทุ่งนาเบื้องล่างลิบๆ นั้นเริ่มแปรเปลี่ยนสี จากทุ่งข้าวสีเขียวสดกลายเป็นสีเหลืองทองรอการเก็บเกี่ยว ใช่, ใครต่อใครเมื่อเห็นภาพเหล่านี้ คงรู้สึกชื่นชมภาพอันสดชื่นรื่นรมย์กันแบบนี้ทุกคน

ทว่าจริงๆ แล้ว พอค้นให้ลึกลงไป ก็จะพบว่า ในความงามนั้นมีความทุกข์ซุกซ่อนอยู่ให้รับรู้สึก เมื่อนึกถึงภาพเก่าๆ ของหมู่บ้าน ผ่านไปไม่กี่สิบปี  จะมองเห็นได้เลยว่าหมู่บ้านเกิดของผมมีความแปลกเปลี่ยนไปอย่างเร็วและแรง อย่างไม่น่าเชื่อ

“ตอนนี้ อะหยังๆ มันก่อเปลี่ยนไปหมดแล้ว...” เสียงใครคนหนึ่งบ่นเหมือนรำพึง

จริงสิ, อะไรๆ ก็ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว บทเพลงชาวนาชาวสวนที่เคยขับร้อง จึงไม่เพราะเหมือนแต่ก่อน...    
เมื่อความแปลกเปลี่ยนกำลังไหลเลื่อนเคลื่อนคลุมหมู่บ้าน ปกคลุมหัวใจของผู้คนทุกลมหายใจเข้าออก

คิดแล้ว  น่าใจหาย

เมื่อมองเห็นภาพชาวบ้าน ญาติพี่น้องของผมแบกกระเป๋าเดินทยอยออกจากหมู่บ้านไปทำงานต่างแดนกันอย่างต่อเนื่อง

2

“ตอนนี้ ถ้านับจำนวนทั้งคนหนุ่ม คนเฒ่าคนแก่ที่ออกไปยะก๋านข้างนอก คงเกือบสองร้อยคนแล้วมั่ง...” เสียงพี่สาวบอกเล่าให้ฟัง

เป็นการเดินออกไปทำงานรับจ้างต่างบ้านต่างเมือง ในขณะที่รัฐบาลโหมโฆษณาผ่านเสียงตามสาย ผ่านโทรทัศน์ เน้นย้ำอยู่อย่างนั้น...พอเพียง พอเพียง ซึ่งมันช่างสวนกระแสและรู้สึกขมขื่นเสียจริงๆ
ทำไม...ทำไม ผู้คนถึงต้องออกจากหมู่บ้าน...หลายคนคงแอบตั้งคำถามกันแบบนี้ แต่กระนั้น คงมีอีกหลายคนที่รู้สึกเฉยชา และปล่อยให้มันเป็นไป ปล่อยให้ชะตากรรมเป็นฝ่ายตัดสิน

ใครหลายคนบ่นว่า ต้องโทษ ธกส.ต้องโทษนักการเมือง รัฐบาลเก่าที่สร้างหนี้ให้ชาวบ้าน ในขณะที่หลายคนก็บอกว่า ต้องโทษตัวเราเอง ที่ไปเอาเงินมาใช้ แต่ไม่มีปัญญาใช้คืน

แน่นอน พวกเขาถึงละทิ้งผืนแผ่นดินเกิด ปล่อยให้นาข้าวไร้คนเกี่ยว สวนเปลี่ยว ไร่รกร้าง แบกกระเป๋าเข้าเมือง เพียงเพื่อมุ่งหาเงิน เร่งหามาใช้หนี้ เพื่อปลดทุกข์และความเครียดที่รุมเร้า

ทำให้นึกไปถึงถ้อยคำของหลานชาย ที่บอกเล่าความรู้สึก ในวันที่ต้องไปเที่ยวหาคนงานที่เป็นชนเผ่าจากหมู่บ้านใกล้เคียงมารับจ้าง รับเหมาเกี่ยวข้าวภายในทุ่งนาของตน
“...ท้องทุ่งในวันนี้ช่างเงียบเหงา ถึงแม้จะมีผู้คนมาช่วยผมเกี่ยวข้าว แต่เป็นคนที่ไม่รู้จักเลยซักคน เสียงต่างๆที่คุ้นเคย ก็เงียบขาดหายไป เพราะอะไร ?...”

3

4

ฟ้าครึ้ม พายุพัดพาเมฆฝนหล่นโปรยลงมาในสวนบนเนินเขาอีกครั้ง...ผมหยิบหนังสือ “จากห้วงลึก” ของ “พจนา จันทรสันติ” ออกมาอ่านอยู่เงียบๆ ลำพัง...

“...ความเปลี่ยนแปลงจากวิถีชีวิตแบบบุพกาล มาสู่วิถีชีวิตแบบโลกสมัยใหม่ อาจกินเวลาเพียงลัดนิ้วมือเดียว เมื่อเทียบกับการสั่งสมอารยธรรมทางจิตวิญญาณ ซึ่งต้องกินเวลานานนับพันๆ ปี จากการหยั่งเห็นของคนรุ่นแล้วรุ่นเล่า สืบทอดจากครูคนแล้วคนเล่า สั่งสมขึ้นเป็นประสบการณ์ภายในอันล้ำลึกซึ่งความรอบรู้และบทบาทหน้าที่ของมนุษย์ได้รับการตอบรับยืนยันจากสรรพสิ่งในจักรวาล กว่าที่มนุษย์จะเงี่ยโสตสดับฟัง จนได้ยินกระแสเสียงของพระผู้สร้าง หรือต้นกำเนิดของตน กว่าที่มนุษย์จะขัดเกลาตนเองให้ละเอียด จนถึงขั้นที่สามารถรับคลื่นสัญญาณความหมายต่างๆ ของธรรมชาติ ช่างแตกต่างกันไกลจากเสียงของวิทยุ โทรทัศน์ ซึ่งง่าย ทว่าผิวเผินกว่ามากนัก และมนุษย์อาจใช้เวลาไม่มากเลย ที่จะได้ยินกระแสเสียงของเงินและเทคโนโลยี ซึ่งได้กลายมาเป็นพระเจ้า กลายเป็นศาสนาในยุคใหม่ของตนด้วย

และเสียงของพระเจ้าองค์ใหม่นี้ ย่อมดังกึกก้องกว่า ชัดเจนกว่า และง่ายที่จะได้ยินด้วย ทว่าผู้คนที่เดินติดตามไป ก็คงจะได้ค้นพบด้วยตนเองในไม่ช้าว่า ตนได้มีความสุขแท้จริงละหรือ จะค้นพบว่าอะไรคือสวรรค์และคือนรก และพบว่าอะไรจริงอะไรเท็จ และตรงปลายทางสายนั้นคือมรรคผลอันไพบูลย์เต็มเปี่ยม หรือว่าคือหายนะของทั้งหมด...”

“จากห้วงลึก”
“พจนา จันทรสันติ” เขียน

 

ผมนิ่งอ่านแล้วครุ่นคิดไปต่างๆ นานา...จริงสิ, ไม่ว่าในเมืองหรือชนบท ผู้คนต่างล้วนเอาชีวิตไปวางอยู่กับเงิน เอาเงินเป็นตัวตั้ง ในขณะที่สังคมนับวันยิ่งซับซ้อน ยุ่งเหยิง หมักหมมและเลวร้ายขึ้นทุกวัน และก็อดนึกถึงผู้คนพี่น้องของผมที่ละทิ้งบ้านเกิดไปไม่ได้ว่า ป่านนี้พวกเขาออกไปเผชิญชีวิตในเมืองใหญ่ ในต่างจังหวัด ในเกาะแก่งทะเล ทางภาคใต้ในขณะนี้ ไม่รู้ว่าพวกเขามีชีวิตความเป็นอยู่กันอย่างไรบ้าง และจะเอาตัวรอดกลับคืนมาสู่ถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเองได้หรือไม่...

ความรู้สึกของผมในยามนี้ เหมือนกับที่ “ถนอม ไชยวงษ์แก้ว”เขียนบันทึกไว้ในคอลัมน์ใน www.prachatai.com ตอนหนึ่งที่บอกว่า...

Life is short
The world is rough
If you want to live save
You have to be tough

ชีวิตนี้สั้น
โลกนี้เลวร้าย
หากคุณต้องการจะอยู่อย่างปลอดภัย
คุณต้องแข็งแกร่งพอ.

 

หมายเหตุ : ภาพประกอบโดย “ดอกเสี้ยวขาว” http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=jintanakarn82&month=10-2007&date=09&group=11&gblog=3

ไปทำไม

13 November, 2007 - 04:45 -- ittirit

ผมหยิบยืมคำว่า “ไปทำไม” ขึ้นมาเป็นชื่อเรื่องของข้อเขียนนี้จากชื่อสำนักพิมพ์ของรุ่นพี่ท่านหนึ่ง ซึ่งพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับภาพถ่ายการเดินทางและโปสการ์ดราคาประหยัดเพียงสามใบสิบบาท และเขาเรียกขานสำนักพิมพ์ตัวเองในเชิงสัพยอกว่า ‘สำนักพิมพ์ไปทำไม’...แม้จะฟังดูคล้ายกับว่าเจตนาจะกวนๆ แต่ก็เข้าท่าดีเหมือนกัน

คำว่า “ไปทำไม” แม้จะดูคล้ายกับการตั้งคำถามโดยตรง แต่ขณะเดียวกันก็เป็นเหมือนการปุชฉาโดยมีโทนของน้ำเสียงฟังเหมือนกับการบ่นพึมพำกับตัวเองหรือการพ่นความไม่ได้ดังใจหรือความไม่เข้าใจของคนที่บังเอิญไปประสบพบเห็นพฤติกรรมของ “การไป” (ที่ไหนสักที่ ของคนสักคนหรือสักกลุ่มหนึ่ง)

ไม่ใช่ความบังเอิญที่ทำให้ไปประสบพบเห็นการเดินทางของคนไทยกลุ่มหนึ่งเพื่อท้าทายความสูงของยอดเขาเอเวอเรสต์ ( 8,848 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง – เป็นระดับความสูงจากเว็บไซต์ Wikipedia.org บางแหล่งอ้างว่ายอดเขาแห่งนี้สูง 8,850 เมตรฯ) ซึ่งเป็นยอดเขาสูงที่สุดในโลก งานนี้สถานีโทรทัศน์ TITV ได้นำชาวไทยกลุ่มหนึ่ง (ถ้าจำไม่ผิดจากการรายงานข่าวหรือสกู๊ปพิเศษที่เคยได้รับฟังมีทั้งหมด 9 คน) เดินทางไปเก็บตัว ฝึกฝนการป่ายปีนและการใช้อุปกรณ์เครื่องช่วยในการปีนเขา ฝึกฝนการปีนเขาเอเวอเรสต์กับชายชาวเชอร์ปาซึ่งเป็นทั้งไกด์ ครูฝึกและคนนำทางท้องถิ่นกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นชาวเนปาล ชาวเชอร์ปาที่มีชื่อเสียงในระดับโลกถึงความชำนาญและความเชี่ยวชาญการปีนเขาสูง (โดยเฉพาะยอดเอเวอเรสต์ที่อยู่ในประเทศเนปาล) มาเนิ่นนานแล้ว นับตั้งแต่สมัยที่เอ็ดมันด์ ฮิลลารี พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ได้ในวันที่ 29 พฤษภาคม ปี ค.ศ. 1953 การเดินทางขึ้นสู่จุดสูงสุดของโลกของชาวชาวนิวซีแลนด์คนนี้ จะเป็นไปไม่ได้เลยหากปราศจากความช่วยเหลือของเพื่อนร่วมทางชาวเชอร์ปาที่ชื่อว่า เทนซิง นอร์เกย์

หลังจากวันแห่งความสำเร็จของคนทั้งคู่ กว่า 50 ปีต่อมาได้มีผู้คนจาก 63 ประเทศ 1200 คนได้สรรหาเส้นทางขึ้นสู่ปลายยอดเขาที่สูงที่สุดแห่งนี้ (ซึ่งมีเส้นทางขึ้นสู่ Summit หรือปลายยอดทั้งหมด 15 เส้นทาง) จนสำเร็จและได้รับการจดจารเอาไว้ในประวัติศาสตร์ว่าเป็นผู้พิชิตยอดเขาแห่งนี้

1

2

“ปฏิบัติการเกียรติยศ สู่ยอดเอเวอเรสต์” ของคนไทยโดย TITV และผู้ให้การสนับสนุน (ซึ่งส่วนมากเป็นห้างร้านบริษัทใหญ่ๆ) เชื่อแน่ว่าคงไม่มีเหตุผลใดจะยิ่งใหญ่ไปกว่าการที่จะนำภาพและชื่อของคนไทยเข้าไปต่อแถวในขบวนการของผู้ขึ้นไปย่ำยอดเขาเอเวอเรสต์ ภาพของการนำธงไตรรงค์ของไทยไปปักบนความสูงกว่าแปดพันเมตรบนยอดเขาน่าจะนำมาซึ่งน้ำตาแห่งความปลื้มปิติของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและผู้ที่ให้ความสนใจในปฏิบัติการครั้งนี้

3
มุมมอง 360 องศาบนยอดเอเวอเรสต์

ข่าวคราวของความพยายามทุกวิถีทาง (โดยมีสปอนเซอร์สนับสนุนและมีชาวเชอร์ปา ซึ่งเป็นญาติของเทนซิง นอร์เกย์ ชาวเชอร์ปาคนแรกในประวัติศาสตร์ผู้พิชิตเอเวอเรสต์) ในการที่จะขึ้นสู่ยอดซัมมิทได้ถูกนำเสนอผ่านช่วงรายการทั้งช่วงข่าวและรายการบันเทิงปกิณกะอื่นๆ ของสถานี TITV อยู่ทุกวี่วัน ด้วยเหตุนี้มันจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของความสนใจของคนไทยโดยเฉพาะคนไทยที่สนใจเรื่องราวของการเดินทาง การเอาชนะเรคคอร์ทหรือปูมบันทึกต่างๆ ที่มีคนจากหลากหลายเชื้อชาติได้เข้าไปฝากชื่อเอาไว้ ไม่รวมถึงคนไทยในภาพรวมที่ถูกเอาเข้าไปเกี่ยวโยงกับปฏิบัติการครั้งนี้โดยการใช้ถ้อยคำในทำนองว่าเป็นปฏิบัติการเพื่อเกียรติยศของคนไทย

ความเป็น ความตาย ความทุกข์ ความสุขของคนไทยหรือผู้ที่เกี่ยวข้องในปฏิบัติการครั้งนี้จึงถูกนำเสนอประหนึ่งเป็นปฏิบัติการแห่งความเสียสละหรือปฏิบัติการอันศักดิ์สิทธิ์ หรือเป็นการทำเพื่อชาติ มีการนำเสนอเรื่องราวและภาพประหนึ่งผู้ที่ได้เข้าไปเป็นคนไทยหนึ่งในเก้าเปรียบเหมือนวีรบุรุษหรือวีรสตรี โดยหลงลืมหรือมองข้ามไม่ลงลึกซอกหลืบทางความคิดในแง่ที่เป็นปัจเจกของบุคคลเหล่านี้แต่ละคนว่าไปทำไม ทำไปเพื่ออะไร ยอมเสี่ยงต่ออาการแพ้ความสูง หิมะกัดจนพิการหรืออุบัติเหตุร้ายแรงจากหิมะถล่มหรือสภาพอากาศแปรปรวนไปเพื่ออะไร...

4
แผนที่เส้นทางขึ้นสู่ซัมมิท

หากเราลองทำใจให้กว้างและเข้าใจปรากฏการณ์แห่งการเดินทางครั้งนี้ว่ามิใช่การเอาอย่างฝรั่ง หรือความคลั่งไคล้ในการทำลายสถิติหรือความพยายามในการยัดเยียดชื่อคนไทยเข้าไปต่อแถวในหางว่าวของรายชื่อผู้ที่ทำสำเร็จมาก่อนหน้านั้นในเรคคอร์ท เราย่อมเข้าใจได้ว่าคนไทยไม่ว่าใครก็ตาม หรือจะด้วยวัตถุประสงค์ใดก็ตามมีสิทธิ์ที่จะทำอะไรพรรค์นี้ได้เหมือนๆ กับชาวโลกจากประเทศชาติอื่นๆ

5
ชาวเชอร์ปา

การเดินเท้าและป่ายปีนน้ำแข็งอันหนาวเย็น เสี่ยงภัยในสภาพอากาศปกติของยอดเขาสูงๆ อย่างเอเวอเรสต์นั้นอุดมไปด้วยความเสี่ยงสารพัด และหากใครก็ตามที่มุ่งหวังว่าจะไปขึ้นสู่ยอดเอเวอเรสต์ย่อมพานพบกับสายตาและน้ำเสียงอันไม่เข้าใจว่า “จะไปกันทำไม” เพราะในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของผู้ล้มเหลวพบว่ามีผู้เสียชีวิตจากปฏิบัติการเยี่ยงนี้ไปแล้วเกือบสองร้อยชีวิตดังเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่นักเดินเขาสู่เอเวอเรสต์ต้องสังเวยชีวิตไปกับพายุที่ซัดเข้ามาอย่างฉับพลันในวันที่ 10 พฤษภาคมปี 1996 ซึ่งนักเขียนสารคดีชาวอเมริกันที่เป็นส่วนหนึ่งในโศกนาฏกรรมครั้งนั้นได้เขียนบันทึกออกมาในหนังสือชื่อ Into Thin Air

6
นักปีนเขาสู่ยอดเอเวอเรสต์

ผมไม่ได้จ้องมองปฏิบัติการครั้งนี้ในแบบฉงนสนใจ ลุ้นระทึกหรือด้วยความทึ่ง หรือแม้แต่รู้สึกว่าตัวเองจะอิจฉาตาร้อนที่คนไทยได้เข้าไปร่วมในขบวนการย่ำยอดเขาเอเวอเรสต์ ผมเพียงแต่นึกถึงมุมที่หลากหลายของเรื่องราวและพบว่าคำตอบของเรื่องราวที่แท้จริงน่าจะมีมากกว่าการที่ (คนไทย) ใครคนใดคนหนึ่งจะยอมเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายและการเอาชนะตัวเองเพื่อแลกกับความสูงสุดที่รอคอยมานานหลายล้านปีบนยอดเขาศักดิ์สิทธิ์แห่งเนปาลยอดนี้มิเช่นนั้นแล้วปฏิบัติการ ‘เกียรติยศ’ เยี่ยงนี้ก็อาจจะพบกับคำเย้ยหยันง่ายๆ ว่า “ไปทำไม” ก็เท่านั้น

ภาพประกอบทั้งหมดจากเว็บไซต์ที่มีข้อมูลดีๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับยอดเขาเอเวอเรสต์  www.nationalgeographic.com/everest/

ใ น ห้ ว ง คำ นึ ง ข บ ถ โ ร ม า น ซ์ : " จ ด ห มา ย ถึ ง เ พื่ อ น "

สหาย " รั กไ ห ม ว ง ศ์ ล้า น นา " คับ

อ้ายฯ ส่งใบโอนมาให้ที่อ้ายรักไหม กรุณามอบภาพวาดเดือนตุลาฯ มาให้อ้าย เป็นภาพที่อ้ายชอบมากๆ , คับ ..... หากบังเอิญ เกิดฟลุ๊คเมื่อใด จักโอนมาให้ครบในทันทีเลย แต่ตอนนี้ขอเดือนละห้าห้อยก่อน (เพราะอ้ายเป็นมหาโจรห้าห้อย - - - HA ฮา ฮ่า)

อ้ายฯ ส่งบทกวีที่เขียนถึงแม่อุ๊ย "พูนศุข พนมยงค์" ไปให้ อ้าย "สุชาติ สวัสดิศรี" แล้ว คงจะลงตีพิมพ์ใน เนชั่น คอลัมน์ "สิงห์สนามหลวง" ไม่ช้านี้....  อ้ายชอบแม่อุ๊ย "พูนศุข พนมยงค์" ที่เขียนพินัยกรรม ก่อนตายว่า ... ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น" ช่างคมเฉียบขาดนัก ... ท่านปรีดี พนมยงค์ และท่านผู้หญิงพูนศุขฯ ถูกข่มเหงรังแกจากพวกกลุ่มศักดินา และพวกข้าราชการมานานนัก ทั้งๆ ที่ท่านมีคุณูปการต่อสังคมไทย (สมมุติ)มายาวนาน ... ตาย ก็ มิได้ ตาย ที่บ้านเกิดเมืองนอน !!! เช่นเดียวกับ "ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์" , "ศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์) ฯลฯ

ภาพ คุณหญิงพูนศุข และนายปรีดี
พูนศุข ณ ป้อมเพชร์ กับปรีดี พนมยงค์ ภาพจากคอลัมน์เรือนพักนักเดินทาง ประชาไท

อะไรกันนักหนา ประชาชนต้องช่วยกันเช็ดล้างให้หมดสิ้นที้งพวกเผด็จการนักธุรกิจเลือกตั้งรัฐสภา (ทุกยุค ไม่ว่าสมัยน้าชาติ, น้าชวน, น้าทักษิณฯ ฯลฯ ) และเผด็จการทหาร คมช. ฯลฯ

ตอนนี้ใน www.prachatai.com อ้ายเขียนบทกวีให้ เผด็จการ คมช. ลงจากเวที หมดเวลาของเธอแล้ว !!! อ้ายรักไหมฯ click ไปที่ คอลัมน์ blogazine ได้เลย พวกเรา กวี นักเขียน ฯลฯ ล้านนา และทั่วประเทศ ช่วยกันขีดเขียนอยู่

มีลีลาจังหวะดีๆ อ้ายจักไปแอ่วหา และพักผ่อนบ้านหลังที่สองของอ้าย ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ที่ "รักไหม" กรุณาให้อ้ายฯได้พำนัก ฯลฯ

*** อยากให้ "รักไหมฯ" อ่านหนังสือพ็อคเกตบุ๊คของ อ้าย "แคน สาริกา" ที่เขียนเรื่อง "คนตุลาตายแล้ว" จังเลย มีขายตามแผงทั่วไป

มันไป จูบปาก สวมโอบกอด กันได้ยังงายยยยย ระหว่าง น้าสุธรรม แสงประทุม, น้าจาตุรนต์ ฉายแสง , น้าอดิศร เพียงเกษ , น้าอ้วน (ภูมิธรรม), น้าหมอมิ้งค์ , น้าอดีตสหาย "สงวน พงษ์มณี " ฯลฯ เพื่อนเราถูกฆ่าตายอย่างทารุณโหดร้าย แล้วพวกเธอ ปายยยยยย จูบปาก เค้า ทำมายยยยยย !!!!

... " น้าหมัก, น้าทมยันตี , น้าอุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุทธยา (ตายไปซะแหล่ว) ฯลฯ ที่พากันปลุกระดมให้เข่นฆ่า นักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน กลางท้องสนามหลวง - สนามราษฏร์ และในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ... "รักไหม" , คับ .... " น้าแดง .... มนัศ เศียรสิงห์" หนึ่งในแนวร่วมศิลปินประชาชนแห่งประเทศไทย และพรรคพวกก็เสียสละชีวิตเพื่อป้องกันพี่น้องประชาชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา ฯลฯ เอาไว้ !!!

... มันไปจูบปากฆาตรกรแห่งเดือนตุลาฯ .... 6 ตุลาฯ ได้ยังงายยยยย? อย่าอ้างเรื่อง "แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง" ฟังแล้วมันอยากอ๊วก คนอดีตเดือนตุลาฯ พวกนี้ คือพวกลื่นไหลไปตามกระแสอภิมหาบริโภคทุนนิยมโลกาวินาศสุดโต่งที่ทำลายรากเหง้าวิถีชีวิตของชุมชน ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นที่เหมืองถ่านหินแม่เมาะ , คริสตี้ เมืองกาญจนื, เขื่อนปากมูน , โรงไฟฟ้าจะนะ - สงขลา และจักมาทำลาย แม่น้ำสาละวิน , แก่งเสือเต้น , บ่อนอก - หินกรูด , ป่าชุมชนของพี่น้องชนเผ่า และ ชาวบ้าน ฯลฯ พวกเธอผู้อวิชชามิตรัสรู้เลยหรือว่า พวกเธอได้ทำลายรากเหง้า วิถีชีวิตของพวกเธอ และ ลูกหลาน เหลน โหลน หลีด ลี้ ฯลฯ ของพวกเธอด้วย

แ ต่ ท ว่า ... ก็ยังมีคนเดือนตุลาฯ ที่น่าคารวะ พวกเขายืนหยัดมั่น ยืนเรียงเคียงข้างประชาชนผู้ทุกข์ยาก เสมอมา ... พวกเขาไม่ " เปลี่ยนสี แปรธาตุ " !!!

"รักไหมฯ" คับ .... ขณะนั่งเขียนสาส์นนี้ ณ ใต้ร่มไม้แห่งบ้านในเมือง เสียงนกเขาขันคู - คู กล่อมไพเราะพริ้งเพราะนัก .... ธรรมชาติงดงามมีคุณค่าต่อมนุษย์เสมอ แต่มนุษย์อวิชชากลับไปทำร้าย ทำลาย แม่พระธรรมชาติซึ่งเป็นแม่แรกของมนุษย์ (ก่อนที่พระคุณพ่อ พระคุณแม่ จักให้กำเนิดเรา).... ก่อนโน้น บ้านในเมืองของอ้ายตอนที่แม่ยังมีชีวิตอยู่ แม่จะยกมือไหว้พระธาตุดอยสุเทพทุกครั้งยามราตรีกาล พระธาตุดอยสุเทพงดงามราวกับอยู่บนสรวงสวรรค์ เป็นแสงสีทองงามตา... แต่ทว่า ณ บัดนี้ เรามองไม่เห็นพระธาตุดอยสุเทพทั้งกลางวันและกลางคืนแล้ว ด้วยว่ามีตึกสูงมาบดบัง !!! โอ้สุดแสนจะเสียดาย !!!

... เอาล่ะ เรามาคุยต่อเรื่องคนเดือนตุลา (ฟังไม่จืด) แม้นยังมีอดีตคนเดือนตุลาฯ อดีตสหายฯ ที่ลื่นไหลฯ ทว่า เรายังมีคนเดือนตุลาฯ ที่ยังยืนหยัดคงมั่นอยู่ ไม่ว่าจะเป็น... "สหาย มด ... วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์, สหายสุวิทย์ วัดหนู (กลับคืนสู่ดินแล้ว), สหายตี้ กรรมาชน (กลับคืนสู่ดินแล้ว), สหายสิงห์คำ ....ประเสริฐ จันดำ (กลับคืนสู่ดินแล้ว), สหายนิด กรรรมาชน (เพื่อนร่วมชีวิตของสหายตี้ กรรรมาชน), สหายร้อย,.. วัฒน์ วรรลยางกูล, สหาย อ.เปลื้อง คงแก้ว (เทือก บรรทัด) (คืนสู่ดินแล้ว), สหายพันดา ธรรมดา แห่งตรัง, สหายสถาพร ศรีสัจจัง (พนม นันทพฤกษ์), สหายไท (อ.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล), สหายใบไม้ จิระนันท์ พิตรปรีชา, สหายศิลา โคมฉาย, สหายแคนสาริกา, สหาย อ. วรศักดิ์ มหัทธโนบล, สหาย อ.กนกศักดิ์ แก้วเทพ, สหาย อ. ธีรยุทธ บุญมี, สหายอ. ธเนศวร์ เจริญเมือง ,สหาย อ. สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, สหาย อ.เทพศิริ สุขโสภา , สหายสินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย, สหายวีระศักด์ ขุขันธินธ์, สหาย อ. ธีรยุทธ บุญมี , พี่เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ฯลฯ และอีกหลายๆ ท่านที่มิได่เอ่ยนาม ฯลฯ

ใช่ ใช่ เรายังมีคนเดือนตุลาฯ ที่มีจิตวิญญาณสำนึกงดงามที่เราสามารถยกมือไหว้คารวะอยู่อย่างเต็มใจ !!!

... เ อา เ ถิ ด สำหรับ อดีตคนเดือนตุลาฯ ที่ดูเหมือน "เปลี่ยนสี แปรธาตุ" (ขอโทษ) ปล่อยแม่งงงง์ มัน จู บ ปา ก โ อ บ ก อ ด กั น ปา ยยยย

ก ร ร ม คือ การกระทำ .... จักต้องเห็นผลกรรมสักวันหนึ่ง
โ ล ก ร้ อ น แ ล้ ง เ ล ว ร้า ย มา ทุ ก ที แ ล้ ว ... พะ ยะ คั บ !!!

อิสลามมาลากุม , อาเมน , ตถาตา .... สาธุ !!!

บุญฮักษา , รักษาสุขภาพ , คับ
ด้วยจิตคาราวะ + พลังใจ

อดีตสหายรัตน์ (แสงดาวฯ)

หมายเหตุ : สหายเอ๋ย ... อ้ายฯมีเรื่องขำขันจักเล่าสู่กันฟัง ....อ้ายเคยอ่ายหนังสือพิมพ์มติชนรายวันฉบับวันอาทิตย์ section คติชน มีคนสัมภาษณ์สหายอาวุโสแห่งอิสานคนหนึ่งที่พาคนเดือนตุลาฯ หนีตายจากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มหหหหหาโหด ปี 2519 สหายอาวุโส พาคนเดือนตุลาฯ (ที่เป็นรัฐมนตรีสมัยน้าทักญิโนมิค) หนีตายข้ามแม่น้ำของ ... แม่น้ำโขงไปแดนลาว สหายอาวุโสให้สัมภาษณ์ว่า "รู้งี้ถีบมันตกลงแม่น้ำ โขงซะดีกว่า".... อดีตรัฐมนตรีหมอแคนคนนั้นซึ่งเป็นอดีตคนเดือนตุลาฯ ไปจูบปาก ซบอก โอบกอดพวกเผด็จการรัฐสภาระบบทักษิณฯ ที่ทำลายรากเหง้าวิถีชีวิตของพี่น้องชาวบ้าน - ชุมชน ฯลฯ

ในสวนบนเนินเขา (6) เมื่อผมปลูกกาแฟบนเนินเขา

7 November, 2007 - 01:28 -- ongart

ผมเริ่มค้นพบว่าตัวเองนั้นไม่เหมาะกับเมือง หลังจากที่ใช้ชีวิตในเมืองใหญ่มานานหลายปี
ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมถึงคิดเช่นนี้- -อาจเป็นเพราะระยะหลังรู้สึกว่าชีวิตตัวเองแปลกและป่วย
บางครั้งคล้ายยินเสียงจากข้างในกำลังบอกอะไรบางอย่าง
ราวกับจะบอกว่า... ‘ที่สุดแล้ว,ชีวิตต้องกลับคืนสู่เส้นทางที่จากมา’
แหละนั่น ทำให้ผมเริ่มวางแผนกลับไปใช้ชีวิตในสวนบนเนินเขาเหนือหมู่บ้านเกิดอีกครั้ง
หลังจากที่ปล่อยให้สวนรกร้างว่างเปล่ามานานเต็มที

จริงสิ, ผมปล่อยให้ต้นไม้ในสวนรกเรื้อและโตขึ้นตามลำพัง
ไร้การดูแลเอาใจใส่ ไม่มีเวลารดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย
คงเหมือนกับชีวิตตัวเองกระมัง ที่ต้องมาอยู่กับเมือง
มัวแต่ไขว่คว้าบางสิ่ง แต่ละทิ้งอะไรหลายอย่าง
ผูกพันกับเทคโนโลยี กับการงานที่เร็วและเร่ง
จนทำให้รู้สึกว่าชีวิตนั้นช่างรกรุงรังเสียเหลือเกิน
เหนื่อยและล้า กระทั่งชีวิตชำรุด ผุกร่อน
ต้องเข้าโรงซ่อมหลายต่อหลายครั้ง

พักหลังมานี้ ผมจึงรู้สึกโหยหาและผูกพันกับสวนบนเนินเขามากขึ้น หลังจากเมื่อสงกรานต์ที่ผ่านมาได้เริ่มลงหลักปักฐานปลูกบ้านไม้หลังเล็กๆ ในสวน ผมเทียวขึ้นเทียวล่องอยู่อย่างนั้น อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง, เฝ้าดูสล่ากับเพื่อนบ้านช่วยกันขุดหลุม ลงเสา ขึ้นโครง มุงหลังคา ทำห้องน้ำ ห้องครัว หน้าต่าง ประตู ปูพื้นฝา ระเบียง ฯลฯ

ครั้นเข้าหน้าฝน กลับบ้านสวนครั้งใด ผมมักหิ้วกล้าไม้ใส่รถขนขึ้นไปปลูกแทบทุกครั้ง อย่างน้อยก็สองสามอย่าง เผลอไม่นาน สวนผมกลายเป็นสวนผสมผสานไปโดยไม่รู้ตัว เมื่อเดินสำรวจ ลูบคลำต้นไม้ใบไม้ในสวนทีละต้นๆ จึงรู้ว่ามีต้นไม้ที่ผมลงมือปลูกเอาไว้มีทั้งหมดมากกว่ายี่สิบชนิด รวมกว่าสี่ร้อยต้น ในเนื้อที่ราวห้าไร่

1.jpg

ล่าสุด, ผมมีโอกาสเดินทางไปหมู่บ้านก็อตป่าบง ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลนักจากบ้านเกิด เป็นชุมชนชนเผ่าลาหู่ที่ผมรู้สึกผูกพันมานาน ตั้งแต่เมื่อครั้งยังทำงานเป็นครูดอยอยู่แถบถิ่นนี้ พอลงจากรถ ผมก็สัมผัสได้ถึงธรรมชาติ ความรัก ความเรียบง่าย และไมตรีจิตของพี่น้องชนเผ่าเมื่อทุกคนต่างเดินเข้ามาจับมือ ยกมือไหว้ทักทาย พร้อมเชื้อเชิญขึ้นบ้าน ล้อมวงพูดคุย จิบน้ำชา ถกถามถึงชีวิตความเป็นอยู่ของกันและกัน

หลังจากนั้น 'ป๊ะป่า' ชาวบ้านที่ผมคุ้นเคย ชวนเข้าไปดูแปลงเพาะกล้ากาแฟในหุบเขา ขณะที่เราเคลื่อนไหวไปเบื้องหน้า...ผมชอบภาพผ่านสองข้างทาง อากาศสะอาด แดดส่องผ่านหุบห้วย ขุนเขาสลับทับซ้อน ไร่ข้าว ถั่วลิสง ถั่วแป๋ ขึ้นแซมเต็มผืนดินที่ว่าง งามฝักข้าวโพดเหลืองแก่คาต้นรอการเก็บเกี่ยว แหล่ะนั่น ต้นกาแฟแทรกตัวอยู่ใต้ร่มเงามะม่วงสูงใหญ่

ผมชอบความสดเขียวมันวับของใบกาแฟ พร้อมลูกดกสีเขียวแดงเต็มกิ่งก้าน 

2.jpg

ป๊ะป่า กับภรรยามีความสุขเริงร่ากับกล้ากาแฟที่เพาะไว้

“รู้มั้ย กลายเป็นว่า ปลูกกาแฟนั้นดูแลง่ายกว่าปลูกข้าวโพดเสียอีก ปลูกทิ้งไว้ใต้ต้นลำไย มะม่วง สองปีก็เก็บหน่วยขายได้ ถึงเวลามีพ่อค้ามารับซื้อถึงหมู่บ้านเมล็ดกาแฟสด ลูกสีแดง ตอนนี้ ราคาตกประมาณ 12-15 บาทต่อกิโล...” ป๊ะป่า บอกเล่าให้ฟัง

ในขณะที่ ‘สุรเดช’ สมาชิก อบต.ปิงโค้ง ลูกหลานของป๊ะป่า บอกว่า เขาเอากล้าที่ป๊ะป่าไปปลูกใต้สวนมะม่วงเพียงห้าสิบต้น ปล่อยทิ้งไว้สองปีจนสูงท่วมหัว ล่าสุดเขาเก็บเมล็ดกาแฟขายได้เงินสี่ห้าพันบาท

“ตอนนี้ ทางนายกฯพิพัฒน์พงศ์ เดชา นายก อบต.ปิงโค้ง ได้ส่งเสริมให้ป๊ะป่าเพาะกล้าแจกจ่ายให้กับชาวบ้านได้ปลูกกันตามไร่ตามสวน ซึ่งต่อไปอาจเป็นอีกอาชีพหนึ่งของชาวบ้านแถวนี้ และกำลังคิดกันว่าทำอย่างไรถึงจะส่งเสริมถึงขึ้นคิดจะสร้างแบรนด์เนมให้กับตำบลปิงโค้ง..และแพ็คใส่ถุงเป็นกาแฟบดขายได้ในอนาคต”

3.jpg
‘สุรเดช’ พาชื่นชมสวนกาแฟใต้ร่มเงามะม่วง

เราช่วยกันขนกล้ากาแฟในแปลงเพาะ ใส่ในกระบะหลังของรถขับเคลื่อนสี่ล้อคันเล็กจนเต็มล้น

“เอาไปลองปลูกในสวน แล้วรอเก็บหน่วยอีกสองปีข้างหน้าเน้อ...” นานแล้ว ที่ผมไม่ได้ยินน้ำเสียงของการให้ด้วยความเต็มใจ “ชีวิตผมไม่ต้องรวย แค่พออยู่ได้ มีเหลือก็แบ่งปัน แค่นี้ก็มีความสุขแล้วล่ะ...” ป๊ะป่า เอ่ยออกมาด้วยสีหน้ายิ้มแย้มอารมณ์ดี

“อ่อบูอื่อย่าๆ...” ผมกล่าวขอบคุณป๊ะป่า ด้วยภาษาลาหู่ เป็นกล่าวคำขอบคุณด้วยความรู้สึกศรัทธาและชื่นชมในวิถีชนเผ่า

จริงสิ, ชีวิตแค่พออยู่พอกิน อยู่กับดิน น้ำ ฟ้า ป่าไม้ อากาศ ขุนเขา ฯลฯ เพียงเท่านี้ชีวิตก็รุ่มรวยแล้ว มาถึงตอนนี้ทำให้ผมนึกไปถึงภาพไร่กาแฟ ของ 'ไอแซค ไดนีเสน' ในหนังสือ 'Out of Africa' ที่ 'สุริยฉัตร ชัยมงคล' แปลเอาไว้อย่างงามและมีชีวิตชีวา

“...เราไม่มีวันรวยขึ้นมาได้จากการทำไร่.แต่การปลูกกาแฟนั้นเป็นสิ่งหนึ่งที่รั้งตัวคุณเอาไว้และไม่ยอมปล่อย, มีอะไรบางอย่างต้องเกี่ยวกับมันเสมอ”

ผมล่ำลาชาวบ้าน ก่อนขับรถขนกล้ากาแฟกลับไปสวนบนเนินเขาเหนือหมู่บ้านเกิดผมทันที

จากบ่ายจนเย็นย่ำ ที่ผมทำงานในสวนโดยมิยอมหยุดพัก เม็ดเหงื่อผุดพรายเต็มใบหน้า ไหลซึมเสื้อผ้าจนเปียกชื้นเย็น ก้มๆ เงยๆ อยู่อย่างนั้น จับจอบขุดหลุมไปตามหว่างร่มเงาของมะม่วง ลำไย ฉีกถุงเพาะกล้ากาแฟ ค่อยๆ หย่อนลงในหลุม พลิกดินกลบ จากหลุมนี้ ไปหลุมนั้น...นานนับนาน

ขณะที่ผมปลูกกาแฟไปรอบบ้านปีกไม้ที่ยังสร้างไม่เสร็จ ผมครุ่นนึกไปถึงการเติบใหญ่ของกาแฟในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และนึกไปถึง 'ไอแซค ไดนีเสน' อีกครั้ง, ที่เธอบอกเล่าให้เห็นสีสันความจริงที่คล้ายกับว่ากำลังเคลื่อนไหวไปมาอยู่เบื้องหน้าอย่างไรอย่างนั้น...

“...การปลูกกาแฟนั้นเป็นงานยาวนาน, มันไม่เป็นผลอย่างที่วาดไว้เสียทั้งหมด, เมื่อคุณยังอายุน้อย, เปี่ยมด้วยความหวัง, ภายใต้สายฝนที่ถะถั่งลงมา, คุณประคองหีบต้นกล้ากาแฟที่เขียววะวับออกจากเรือนเพาะชำ, และพร้อมพรักด้วยบรรดาชาวไร่มืออาชีพกลางทุ่ง, เฝ้าดูต้นกล้าที่ลงสู่หลุมเรียงรายเป็นแถวอย่างมีระเบียบบนพื้นดินเปียกฉ่ำซึ่งมันจะงอกงามขึ้น กินเวลาสี่หรือห้าปี กว่ามันจะเติบโตได้ที่ และในช่วงนั้นก็อาจจะเกิดแล้งฝน หรือโรคพืช, และเจ้าวัชพืชพื้นเมืองก็จะพากันงอกพรึ่บขึ้นมาเต็มไร่”

กระนั้น, ผมก็ลงมือปลูกกาแฟไปแล้วกว่าสองร้อยต้นในสวนบนเนินเขา และอดจินตนาการไปถึงภาพความงามของดอกกาแฟสีขาวกำลังเบ่งบาน พร้อมโชยกลิ่นหอม เหมือนกับที่เธอบอกว่า “ดอกกาแฟนั้นมีกลิ่นหอมระคนขื่นนิดๆ”

และผมอยากจะต่อถ้อยคำของเธออีกว่า...
ชีวิตชาวไร่ชาวสวนก็คงเหมือนกับดอกกาแฟนั่นแหละ…
ที่มีทั้งกลิ่นหอมระคนขื่นนิดๆ

ซึ่งผมรู้สึกเช่นนั้นจริง ๆ ครับ.

 

หมายเหตุ : งานชิ้นนี้ ตีพิมพ์ครั้งแรก ในคอลัมน์ “คนคือการเดินทาง” เสาร์สวัสดี นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันเสาร์ที่ 29 กันยายน 2550 และผู้เขียนนำมาเพิ่มเติมและเรียบเรียงใหม่

เพลงรบ เพลงสงครามบนแผ่นดินฟากตะวันตก (จบ) เพลงลาไม่มีทำนอง

1.jpg

เพลงรบต่อเนื่องกันมาถึงบันไดขั้นสุดท้าย  ยังมีบันไดอีกหลายขั้นทอดไป  และยังมีบันไดขั้นใหม่ๆทอดข้ามไปมา  ข้ามพรมแดนแปลกหน้าหากันและกัน  ไม่ว่าเพลงจะเกิดขึ้นในถ้ำ  เกิดในศูนย์ลี้ภัย  เกิดตามป่า  เกิดในเมือง  เพลงยังมีชีวิตเดินทางไปตามหาคนฟังต่อไป

ยามเพลงเดินไปตามไร่ข้าว  ห้างไร่  ออกตามหาคนฟัง  ผมไม่นึกว่าภาพนั้นจะกลายเป็นเรื่องราวอื่นไปได้มากกว่านั้น  
คนเกี่ยวข้าวหยุดพัก  ตีวงล้อมเข้ามา  นั่งฟังเพลง

คนหนุ่มที่ใช้เวลากับการเล่นเพลง  แต่งเพลง  ร้องฟังกันเองในแค้มป์ผู้ลี้ภัย  เหมือนโลกไม่เคยเห็น  โลกไม่เคยรับรู้
ออกเดินไปร้องเพลงกันในถ้ำ

2.jpg

เสียงปืนที่คำรามอยู่อีกฟากยอดเขา  เด็กหนุ่มกำลังแต่งเพลง  เขาเขียนเพลงที่สั่นใจคนหนุ่มให้ออกไปรบ ...คงเป็นฉากฝันไป  ฉากฝันไปจริงๆ  
หลายครั้งที่ผมไปอยู่ร่วมวงเพลงในไร่ข้าว  รวงข้าวคงไม่อยากรักนวลสงวนตัว  โยกรวงไปตามเพลง  รวงข้าวฟังเพลง  แต่เนื้อหาเพลงนั้น  เล่าถึงเด็กๆที่นอนฟังเสียงปืนทั้งคืน  ชีวิตที่อยู่ด้วยความหวาดหวั่น 

เสียงเพลงจริงจังเหลือเกิน  มันเป็นเสียงของการมองโลกอย่างมีความหวัง  มองโลกในแง่ดีผ่านชีวิตอันโหดร้าย ปลุกปลอบ  ให้รู้สึกถึงกำลังใจ

เพลงริมตะเข็บชายแดน  ยังทำหน้าที่นั้น  ผมเชื่ออย่างนั้น  คนสร้างเพลงปรารถนาจะให้ก๊อปปี้ไปฟังกันเยอะๆโดยปราศจากราคา

ที่ทางที่อยู่ที่ยืนของเพลงบนความยากลำบาก  ต่อสู้ ดิ้นรน  พลัดพราก  สูญเสีย  ขมขื่น  ถึงกระนั้น  เพลงยังกังวานขึ้นมาด้วยความหวังเสมอ

3.jpg

ผมเขียนถึงเพลงรบบนแผ่นดินตะวันตก  คารวะบทเพลงเหล่านั้น  คนสร้างเพลงเหล่านั้น  บทเพลงที่ไม่มีทางจะพลิกผันกลายเป็นอื่นไปมากกว่าเพลงร้องปลอบตัวเอง  เผ่าพันธุ์ตัวเอง 

เป็นฝุ่นลมในคืนดำมืด  เป็นเสียงร้องที่ไม่ปรารถนาน้ำตาจากใครอื่น

แต่ใครจะรู้ว่าสักวันหนึ่ง  รั้วกั้นขวางความเกลียดชังกันระหว่างเผ่าพันธุ์จะพังลง  แล้วเพลงที่เกิดจากพลังต่อสู้ดิ้นรน  จะกังวานไปทั่วแผ่นดินนั้น   แผ่นดินประเทศพม่า   

มีโอกาสเหมาะเมื่อไหร่  หรือมีอื่นใดเติมเข้ามา  ผมคงได้กลับไปเขียนถึงอีกครั้ง            

*** ปล. เพลงของเหล่อวา  มีอันต้องยกรอไว้ก่อน  มาถึงมือเมื่อไหร่  คงได้นำมาเขียนเพิ่มเติม

การทำลายมิตรและสร้างศัตรู

ผู้เขียนได้รับเชิญจากหน่วยงานหนึ่งให้เป็นกรรมการตัดสินการประกวดสุนทรพจน์ภาษาอังกฤษเมื่อไม่นานมานี้  รู้สึกหัวเสียกับคุณภาพของผู้เข้าประกวดเป็นอย่างมาก เพราะว่าไม่มีคุณภาพในระดับที่เรียกว่าใช้ได้เลย ปัญหานอกเหนือจากความสามารถทางภาษาอังกฤษทั่วไปแล้ว  เรื่องของเนื้อความซึ่งไม่ว่าในภาษาใดก็ตามต้องมีโครงสร้าง การผูกเรื่อง และคุณค่าทางวาทวิทยาในตัวเอง น่าเสียดายที่เมืองไทยไม่มีการสอนการวิเคราะห์วาทะอย่างเป็นแก่นสาร หากมีก็แค่การมองแบบการใช้ภาษาไทยธรรมดา หรือการใช้ภาษาอังกฤษธรรมดา ไม่มีการส่งเสริมอย่างแท้จริงในสิ่งที่เรียกว่า speech criticism/rhetorical criticism 1

การวิเคราะห์และวิพากษ์วาทะอาจเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงถึงความเก็บกดทางอารมณ์หรือการเลี่ยงความขัดแย้ง เพราะการวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องใดๆก็ตามในสังคมไทย ถือเป็นเรื่องที่อาจทำให้หมางใจกันได้ ทั้งที่การวิพากษ์วิจารณ์นั้น อาจทำให้เกิดการริเริ่มบางอย่างที่ดีๆได้ แต่ส่วนมากแล้วในสังคมไทย วัฒนธรรมการวิพากษ์ไม่มีเนื่องจากต้องการเลี่ยงความขัดแย้ง ทำให้การวิพากษ์เป็นเรื่องต้องห้าม เป็นเรื่องการทำลายมิตรและสร้างศัตรูไปโดยปริยาย เพราะคนที่โดนวิจารณ์ไม่สามารถรับคำวิจารณ์ได้ และคนวิจารณ์ก็ไม่มีทักษะในการวิจารณ์ หรือเรียกว่าวิจารณ์ไม่เป็น

เรื่องของการวิจารณ์ในสายตาฝรั่งนั้น ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสมอไป วิถีการวิจารณ์ต้องอยู่บนพื้นฐานของการหวังดีของทุกฝ่าย โดยปรารถนาที่จะให้เกิดความเข้าใจในเรื่องนั้นๆให้ดีขึ้นกระจ่างขึ้น แต่ไม่ใช่ใช้อารมณ์หรือความเป็นตัวตนมากเกินไป ดังนั้นผู้รู้หลายคนจึงพยายามช่วยสร้างกรอบในการวิจารณ์ขึ้น เพื่อให้เกิดความกระจ่าง ความแม่นยำ ความชัดเจน และความเป็นมาตรฐานในระดับหนึ่งของการวิจารณ์  ทั้งนี้ ไม่ได้หมายถึงว่าจะกำจัดความเป็นอัตตวิสัยนออกไปหมด เพราะว่าการวิพากษ์ไม่ได้ปฏิเสธความเป็นตัวตนของผู้วิจารณ์เสียทีเดียว การที่คนแต่ละคนต่างเกิดมาแตกต่างกัน มีระบบการกล่อมเกลาเลี้ยงดูต่างกัน ความแตกต่างนี้แหละที่ทำให้เกิดความแปลกใหม่ในเรื่องติชม ดังนั้น มุมมองที่แตกต่างและมีการนำเสนอผ่านศิลปะการวิจารณ์นี่แหละที่ทำให้มนุษย์ได้ค้นพบสิ่งใหม่ๆในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าทางวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์  แต่ไม่ใช่ไสยศาสตร์

เพราะเรียนมาทางด้านวาทวิทยา เน้นกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม (Social Movement Rhetoric) มาตั้งแต่ตอนเด็กๆ อายุ 21 ทำให้มองอะไรเปลี่ยนไปจากที่เคยเป็น ตอนแรกก็เรียนไม่รู้เรื่องเลย เปิดฉากมาก็เรียนวิธีพูดในที่สาธารณะก่อนสองวิชา แล้วก็มาเรียน ทฤษฎีวาทวิทยา ที่เน้นตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ จนถึงปัจจุบัน และ มองไปถึงการวิเคราะห์วาทะแบบมุมมองสังคมยุคหลังสมัยใหม่ ที่ต้องมองแบบสวนกระแสหรือรื้อสร้าง  จนกลับไปสอนที่สหรัฐฯอีก ทำให้มองโลกแตกต่างออกไปไปเรื่อยๆ สิ่งที่สังคมอเมริกันสอนได้มากอย่างหนึ่ง คือสอนให้มีการคิดที่อิสระและยอมรับคำวิจารณ์ที่ไม่มีอคติจนเกินไปได้

วันนั้นผู้เขียนยอมรับว่าดีใจที่มีเด็กไทยสามารถแสดงออกได้ทางภาษาอังกฤษอย่างไม่เก้อเขิน แต่สิ่งที่ไม่สบายใจคือ กระบวนการในการสร้างเนื้อหาที่ไม่แข็งแรงเท่าที่ควรจะเป็น น่าเสียดายที่ผู้ชมหลายคนมองแค่ว่าเด็กอายุเท่านี้ได้เท่านี้ และสามารถพูดภาษาอังกฤษได้จบประโยค และมีหลายประโยคมารวมๆกัน อันนี้ก็ต้องมองว่าน่าจะมีการพัฒนาต่อไป ซึ่งถ้าเรามองว่าแค่นี้น่าพอใจแล้ว ก็คงไม่น่าจะคาดหวังได้มากนักว่าในเวลาต่อไปเยาวชนของเราจะสู้อะไรกับกระแสโลกาภิวัฒน์ได้ เพราะคิดไม่เป็น คิดไม่ได้ เพราะฝรั่งในวัยเดียวกันนี่เค้าไปไหนๆกันหมดแล้ว อันนี้ห้ามพูดว่าเพราะเป็นภาษาอังกฤษเลยแสดงออกไม่ได้ คงไม่ใช่

ผู้เขียนมีอาการปากคันที่จะเสนอความเห็นต่อผู้เข้าประกวดในวันนั้น แต่เพราะมีธุระจึงต้องออกจากงานไปก่อนหลังจากที่รวบรวมคะแนนให้ผู้ดำเนินรายการเสร็จ อีกทั้งก็ไม่ได้รับการบอกเล่าว่าจะต้องให้ความเห็นต่อผู้เข้าประกวดแต่อย่างไร  เสียดายเหมือนกันที่จะชี้แนะบางอย่าง แต่ก็กลัวว่าจะเป็นการสร้างศัตรูโดยใช่เหตุเช่นกัน

วัฒนธรรมการวิพากษ์ วิเคราะห์ และวิจารณ์ จึงเป็นเหมือนของใหม่ในสังคมไทยไปเรื่อยๆ  เป็นสิ่งยากที่จะเลิกการปฏิบัติเช่นนี้ เพราะหากใครแหกคอกขึ้นมา ผู้นั้นก็จะอยู่ในสังคมนี้อย่างลำบาก

คงเป็นปัญหาในสังคมอย่างหนึ่งที่เราๆท่านๆต้องจัดการกันต่อไป อย่างไม่มีวันสิ้นสุด

1สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่
- http://www-relg-studies.scu.edu/facstaff/murphy/courses/exegesis/rhetorical.htm
- http://www.rhetoricalens.info/index.cfm?fuseaction=feature.display&feature_id=3
- http://slatin2.cwrl.utexas.edu/~roberts-miller/rhetanalysis.htm
- http://www.writingcentre.ubc.ca/workshop/tools/rhet1.htm
- http://en.wikipedia.org/wiki/Rhetoric
- http://www.rhetorica.net/textbook/index.htm

Pages

Subscribe to สังคม