สังคม

ผ้าทอลายของลาวโซ่ง

2 November, 2007 - 02:45 -- ittirit

เพชรบุรีวางตัวอยู่อย่างน่าสนใจจากกรุงเทพฯ…

ที่ว่าน่าสนใจนั่นคือ ระยะทางที่ไม่ใกล้ แต่ก็ไม่ไกลจนเกินไป แค่ชั่วเวลานั่งรถเพลินๆ ไม่เกินสองชั่วโมงก็น่าจะเข้าเขตเมืองเพชร โดยมีภาพของทุ่งนายามข้าวออกรวงสีเขียวละมุนตาและต้นตาลยืนต้นเรียงรายอยู่ปลายนา หรืออาจจะเห็นปลายจั่วแหลมๆ ของบ้านหลังคาทรงไทยหลายหลังโผล่พ้นทุ่งนาหรือรั้วบ้าน เป็นฉากทั้งหลายที่บ่งบอกว่า บัดนี้เข้าสู่ดินแดนแห่งน้ำตาลเมืองเพชรแล้ว

หลายวันก่อนเป็นอีกครั้งของความตั้งใจที่จะไปเยือนเพชรบุรีโดยที่ไม่ต้องมีจุดหมายปลายทางที่แน่นอน มีเพียงความตั้งใจบางอย่างเกี่ยวกับบางสิ่งที่อยากไปเห็นอยากไปสัมผัส

หนึ่งในปลายทางของสิ่งที่ตั้งใจในการเดินทางครั้งนี้ก็คือ การแวะเข้าไปดูหมู่บ้านไทยทรงดำหรือว่าลาวโซ่งที่อำเภอเขาย้อย อำเภอที่เป็นทางผ่านก่อนเข้าสู่ตัวเมืองเพชรที่ได้แต่เคยผ่านไปมาครั้งแล้วครั้งเล่าแต่กลับไม่เคยแวะจริงๆ จังๆ เลยสักที

อำเภอเขาย้อย ชื่อนี้เป็นชื่อเดียวกับภูเขาและถ้ำ ภาพของเขาสูงและถิ่นถ้ำจึงเป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่นที่บอกกับผู้สัญจรว่านี่คือเขตเมืองเพชร และหากใครที่ได้เคยผ่านไปมาคงเคยสังเกตว่าข้าวแกงเมืองเพชรที่ว่ามีชื่อไม่แพ้ขนมหวาน ก็มีให้ลิ้มลองเรียงรายอยู่สองข้างทางยามที่เรากำลังจะมุ่งหน้าเข้าสู่ตัวจังหวัด

แต่การไปครั้งนี้ไม่ได้แวะร้านข้าวแกงหรือถ้ำเขาย้อยที่เนืองแน่นไปด้วยหมู่วานร (ลิงแสม) ที่ลงมาป้วนเปี้ยนรอรับนักท่องเที่ยวอยู่แถวปากถ้ำ แต่เราแวะเข้าไปลึกกว่านั้น ในเข้าไปในเขตหมู่บ้าน ผ่านทุ่งนาข้าวเขียวๆ เข้าไปตามทางสายเล็กๆ เพื่อเยี่ยมชมศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ ตามคำบอกเล่าที่เคยได้ยินได้ฟังมาและตามข้อมูลที่พอจะหาได้ก่อนจะมาเพชรบุรี

ดินแดนไทยทรงดำของตำบลเขาย้อยในปัจจุบันแทบจะไม่มีสิ่งใดที่ผิดแผกออกไปจากบ้านเรือนและชุมชนของคนไทยเชื้อสายอื่นๆ ในปัจจุบัน นอกจากอาคารภายในศูนย์วัฒนธรรมที่มีรูปร่างคล้ายกระท่อม ที่มีเสายกพื้นสูง ขนาดและรูปทรงของหลังคาที่แตกต่างออกไปจากเรือนไทยในชนบท แต่สิ่งหนึ่งที่แตกต่างอย่างเป็นเอกลักษณ์คือรูปร่างของจั่วที่คล้ายกับกาแลของเรือนทางภาคเหนือ แต่เป็นกาแลที่ไม้ไขว้กัน ส่วนปลายของแต่ละด้วยม้วนวนเข้าหากัน ซึ่งเพียงแค่รูปแบบของสถาปัตยกรรมนี้ที่ได้เห็นก็ทำให้เรามั่นใจในความมีเอกลักษณ์ของชาวลาวโซ่ง

pic2

ตามเอกสารที่มีไว้ให้หยิบอ่าน บ่งบอกประวัติของชาวไทยทรงดำ (ลาวโซ่ง) ไว้ว่า “ไทยทรงดำหรือลาวโซ่งมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่เมืองแถน แต่เดิมเป็นเมืองใหญ่ของแคว้นสิบสองจุไท ปัจจุบันคือเมืองเดียนเบียนฟู อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศเวียดนาม ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในแผ่นดินไทยนานกว่า 200  ปี อพยพเข้ามาสู่ประเทศไทยเข้ามาสู่ประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี รัชกาลที่ รัชกาลที่ ตั้งถิ่นฐานอยู่ทั่วไปในเขตภาคกลาง เช่น สุพรรณบุรี นครปฐม กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ที่อำเภอเขาย้อยมีประชากรมากกว่าร้อยละ 80 เป็นชาวไทยทรงดำ”

ประวัติที่หยิบยกมามิได้มุ่งเน้นสิ่งอื่นหรือความเป็นอื่นในเชื้อสายความเป็นไทยทรงดำที่มีจุดกำเนิดมาจากดินแดนหนึ่งในละแวกประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเวลานานปีที่ผู้คนกลุ่มนี้ฝังตัวอยู่ในสังคมไทยและกลายเป็นคนไทยอีกชุมชนหนึ่งในที่สุด สิ่งที่หลงเหลือตกค้างทางวัฒนธรรมและศิลปะของลาวโซ่งที่ได้พบเห็นในหมู่บ้าน ณ วันนี้ก็คือรูปแบบงานทางสถาปัตยกรรม (ของตัวเรือน) และผ้าทอลายอันมีเอกลักษณ์เฉพาะและโดดเด่นไม่แพ้กัน

pic1

เมื่อได้ทัศนาผ้าทอซึ่งเคยเป็นชุดแต่งกายประจำชนชาติลาวโซ่งทั้งแบบหญิงชาย (ชุดฮี สำหรับทั้งชายและหญิง ชุดฮ้างนมสำหรับผู้หญิง เสื้อสำหรับชายที่เรียกว่าเสื้อไท และเสื้อก้อมสำหรับผู้หญิง) อันเป็นลวดลายอันโดดเด่นด้วยสีแดง เหลือง เขียวหรือสีสดอื่นๆ บนผืนผ้าสีดำหรือสีน้ำเงินเข้มของตัวผ้าเป็นสีพื้น ไม่ว่าจะเป็นตัวเสื้อหรือกางเกง (คำว่าไทยทรงดำเองมีที่มามาจากคำว่าไทย “ซ่วง” ดำหรือกางเกงสีดำ) ผมสัมผัสได้ถึงพลังอันยิ่งใหญ่อันเปล่งประกายออกมาจากลวดลายและสีสันของผ้าทอ โดยเฉพาะชุดเสื้อผ้าโบราณอายุนับร้อยๆ ปีและเครื่องใช้จำพวกที่นอนหมอนมุ้งที่มีแสดงเอาไว้บนตัวเรือนในศูนย์วัฒนธรรมฯ แห่งนี้

pic3

pic4

ด้วยลวดลายแบบเรขาคณิตง่ายๆ ของรูปสามเหลี่ยมหรือการเดินด้ายหรือวางผ้าเป็นเส้นตรงหรือสร้างจุดตัดกันไปมา กระทั่งการสร้างสรรค์ลายภายใต้ชื่อลายง่ายๆ เช่น ลายตานกแก้ว หรือการปักลายแสนสวยลงบน ‘ผ้าเปียว’ ก็เป็นงานผ้าทอที่มีทั้งความเรียบง่ายแต่น่าทึ่งในพลังสร้างสรรค์ของคนไทยกลุ่มนี้

แม้จะได้เห็นในช่วงเวลาแสนสั้นแต่ก็ผมก็เชื่อแน่ว่าคงไม่มีชาวลาวโซ่งคนไหนที่มีชีวิตอยู่ที่อำเภอเขาย้อยหรือที่อื่นๆ ในประเทศไทย ได้นำชุดเสื้อผ้า ผ้าปักและผ้าทอแสนสวยแบบที่ได้เห็นในศูนย์วัฒนธรรมฯ เอามาใช้เป็นเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายในชีวิตประจำวันของพวกเขา ทั้งๆ ที่แบบเสื้อผ้าก็ไม่ได้ต่างไปจากชุดสวยหรูที่ออกแบบโดยดีไซเนอร์รุ่นใหม่หรือรูปแบบเสื้อผ้ายุคใหม่เท่าใดนัก

pic5

pic6

การสืบต่อสืบสานและนำเสนอเรื่องราวของชีวิตไทยทรงดำให้หลงเหลือ ปรากฏ และมีพลังพอที่จะถ่ายทอดถึงความสร้างสรรค์ที่โดดเด่นให้กับผู้ที่ผ่านไปเยี่ยมชมได้ประจักษ์ ประทับใจ จนอยากที่จะเรียนรู้ให้ลึกซึ้งและเข้าถึงเรื่องราวความเป็นมาที่ก่อให้เกิดลวดลายและสีสันอันเป็นเอกลักษณ์ได้ ยังคงเป็นเสมือนภาระที่หนักอึ้งสำหรับลูกหลานไทยทรงดำที่ครอบครองมรดกทางวัฒนธรรมชิ้นนี้ต่อไป และผมหวังว่า “ความธรรมดาและเรียบง่าย” ในเรื่องราวของผ้าทอลายชาวลาวโซ่งคงยั่งยืนอยู่ต่อไปและมีการมองเห็นคุณค่าหรือมีการศึกษากันอย่างลึกซึ้งขึ้นต่อไป

ในห้วงคำนึงขบถโรมานซ์: เพลงรัก

ดูกร... ภราดา ...  ภราดร ...  โปรดอย่าได้  ฉงนฉงาย
ค ว า ม ห ม า ย ชี วี  เพลานี้
ณ  ที่ซึ่ง  มนุษยชาติ  โ อ บ ก อ ด ป ฐ พี
ณ ที่ซึ่ง เวลานี้  เ ธ อ มี รั ก ป ร ะ จั ก ษ์ ใ จ

รั ก มิ ต้อง ฝัน ... รั ก  นั้นคือ รั ก จ ริ ง !
“ ค ว า ม รั ก นั้ น ยิ่ ง ใ ห ญ่ ”
เริงรำร้อง  เที่ยวท่องไป
สู่จุดหมายปลายทางแห่ง   เ พ ล ง รั ก นิ รั น ด ร์

ณ ที่นี่ ... ที่นั่น ... ที่โน่น! นั้นมี  รัก!
เราผ่อนพักชีวา  รั ก รั ง ส ร ร ค์
เ มื่ อ  วิ ญ ญ า ณ  แห่ง  รั ก  โ อ บ ก อ ด กัน
โ ล ก = น ร ก – ส ว ร ร ค์  เป็นฉันใด  มิ รู้ แ ล้ ว!

วสันตฤดู ,  1 สิงหาคม 2550
“สุดสะแนน” ,ล้านนาอิสรา , เชียงใหม่
รจนา  ในวันเกิดของ “ม้า” ... นักดนตรีบรรเลงที่ “สุดสะแนน”

** จากบทเพลง “รักติดปีก” ของ “จ๊อบ – บรรจบ พลอิน”

1
พี่น้องชนเผ่า ปว่าเกอญอ(กะเหรี่ยง) ร่วมแจมบรรเลงดนตรี
ณ ราตรีแห่งท้องสนามหลวง สนามราษฎร์

2
สหายมด .. วนิดา ตันติวิทยาพิทักษณ์  คนเดือนตุลาฯผู้คงมั่น กับ “บารมี ชัยรัตน์”
ซึ่งทั้งสองเป็นที่ปรึกษาของสมัชชาคนจน  ร่วมกับพี่น้องยืนบนเวที ณ ท้องสนามหลวงยามราตรี 
จุดเทียนแห่งชัยให้กำลังใจพี่น้องสมัชชาคนจน

3
พ่อแก่ – แม่แก่  และลูก หลาน แห่งสมัชชาคนจน  เดินขบวน ณ ท้องสนามหลวง – สนามราษฎร์ 
มาทวงหนี้จากรัฐทุกรัฐที่รุกรานรากเหง้าวิถีชีวิตของพี่น้อง –ของโลกสังคม!

4
ประกายโชนฉานแห่งโลก เอกภพ จักรวาล

เอาชนะชะตากรรม หรือจะย้ำชะตาตน (5)

1 November, 2007 - 04:54 -- ngoasil

วันเวลาที่ผ่านไป ฉันค่อยๆ คลายความกังวล แม้ว่าความรู้สึกเจ็บปวดจะมาอยู่เป็นเพื่อนเกือบตลอดเวลา แต่วิชาเกลือจิ้มเกลือ เจ็บแก้เจ็บ ยังใช้ได้เสมอ (โปรดใช้วิจารณญาณในการนำไปทดลอง)

และแล้วเหมือนกรรมบันดาล (อีกแล้ว)

วันหนึ่ง ฉันได้เรียนรู้ว่า คนเราได้ใช้ศักยภาพของตัวเองเพียงแค่ 60 – 70 % เท่านั้น ส่วนที่เหลือยังไม่เคยรู้จักมัน และปล่อยให้มายาคติบางอย่างครอบงำ โดยเฉพาะคำว่า “อย่าทำ” .... “ไม่ควรทำ”.....หรือ “ไม่เหมาะสมที่จะทำ” และอะไรอีกหลายความคิดที่ปิดกั้นโอกาสของตัวเอง

กลางเดือนตุลาคมของปีหนึ่ง ฉันเร่ร่อนลงเรือไปที่หาดไร่เล ตอนนั้นแทบว่าไม่มีคนไทยรู้จักหาดไร่เล นอกจากฮิปปี้และนักปีนผา (ที่ส่วนใหญ่เป็นนักปีนผาอาชีพ)

ฉันเป็นนักท่องเที่ยวไทยคนเดียว และเป็นผู้หญิงท่ามกลางชาวต่างชาติที่ยังหลงเหลืออยู่ไม่มากมนัก เพราะเดือนตุลาคมยังไม่หมดมรสุม บังกะโลราคาพอประมาณมีให้เลือกเหลือเฟือ ฉันเปลี่ยนที่พักทุกคืน ย้ายไปตามมุมต่างๆ ตามความพอใจ แค่ย้ายที่นอนอ่านหนังสือเพราะฝนตกเกือบตลอดเวลา

เจ็ดวันที่ฉันอยู่ที่นั่น  สามวันแรก..ฉันเตร็ดเตร่พูดคุยกับนักเดินทาง และนักปีนผา โดยเฉพาะคุณเต็ก เพื่อหาข้อมูลมาเขียนสารคดี แต่เมื่อฉันเจอกับรำพึง นักปีนผาสาว เป้าหมายการทำงานของฉันก็เปลี่ยนไปทันที

“พี่ พี่มาคนเดียวเหรอ รู้ไหมผู้ชายแถวนี้ เขาหาว่าพี่อกหัก จึงมาเที่ยวทะเลคนเดียว” รำพึงบอกให้รู้เมื่อเราสนิทกันแล้ว
ฉันได้แต่ยิ้ม ผู้ชายที่เธอว่า คือกลุ่มนักปีนผาที่ฉันไม่ได้พูดคุยด้วย นอกจากจักรเพียงคนเดียว เพราะฉันรู้จักเขาตั้งแต่เขาขายงานศิลปะที่ฟุตบาทถนนข้าวสาร นั่นเป็นอีกยุคหนึ่งที่ฉันสัญจรไปรู้จักกับพวกเขา และกลายเป็นมิตรภาพที่ยาวไกล จนมาพบกันอีกหนที่ไร่เล แต่เราก็ทิ้งระยะห่างต่อกัน ฉันยังอยู่โดดเดี่ยวตามชายทะเล ถ่ายรูปปู ถ่ายรูปฝนไปตามประสาคนเดินทาง

“พี่ไปปีนผากับหนูเถอะ” รำพึงชวน เมื่อเห็นฉันยืนแหงนมองฝรั่งตัวโตๆ กำลังตะกายไปบนหน้าผาราวกับเป็นแมงมุม
เธอเป็นครูสอนปีนผาที่เป็นผู้หญิงคนเดียวในไร่เล

ภาพประกอบจากอินเตอร์เนต
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

ฉันไม่ลังเลสักนิด แต่บอกกับเธอว่าขาพี่ไม่ดีนะ มันเป็นขาที่หักไปแล้ว เธอบอกว่าการปีนผาไม่ได้ใช้กำลังขาเพียงอย่างเดียว ลองดูไหม..ฉันลิงโลดใจอยู่แล้ว คำชวนที่ตบท้ายว่า
“หนูไม่คิดเงินพี่หรอก อยากให้พี่ลองดู เผื่อจะชอบ”

รายละเอียดการปีนผา คงไม่ต้องอธิบาย เพราะยากที่จะบอกว่าต้องทำอย่างไรบ้าง แต่ในที่สุดฉันก็สามารถปีนขึ้นไปนั่งอยู่บนจุดที่คนเริ่มต้นปีนทั้งหลายขึ้นไปได้ มันเป็นครึ่งทางของยอดเขาที่เป็นหน้าผาชัน 90 องศา ฉันนั่งอยู่บนแง่หินมองทิวทัศน์ไปไกลๆ อย่างสุขแสนสุข สุขใจจนบรรยายไม่ถูก....ใช่ค่ะ สารแห่งความสุขมันหลั่งออกมาจริงๆ ไม่ใช่เพราะใจคิดไปเอง หลังจากที่โหนต่องแต่งดูน่าหวาดเสียว และฉันพยายามจะยืดแขน ยืดมือไปเหนี่ยวแง่หินเล็กๆ เพื่อจะดึงตัวเองขึ้นไปที่สูงกว่า ส่วนเท้าที่ยันร่องหินเอาไว้กำลังเขย่งถีบส่งร่างให้สูงขึ้น เวลาขณะนั้น ในใจฉันมีแต่ความตั้งใจที่จะไปต่อให้ได้ ด้วยเสียงเชียร์ของรำพึงที่คอยตะโกนบอกว่า

“พี่ต้องทำได้ อีกนิดเดียว เอ้า อึ๊บ ๆ ไปเลย ไปเลย”  ที่เธอบอกว่าไปเลยหมายความว่า ฉันต้องกล้าดีดร่างไปหาปุ่มหินอีกอันที่สูงกว่าให้ได้ ที่จริงหากไม่มีบัดดี้คอยดึงเชือกส่งร่างให้ขยับขึ้นไป ฉันคงทำไม่สำเร็จ อาจตกหน้าผาลงมาตาย แต่เพราะรู้ว่าถึงมือเท้าจะพลาด อย่างร้ายแรงฉันก็แค่ร่วงลงมาขั้นต่ำตามเดิม เพราะเชือกที่แขวนติดตัวฉันก็จะดึงให้ห้อยต่องแต่งกับหน้าผาสูงเท่านั้น (เทคนิคการปีนที่สูงแบบนี้ ฉันเคยเรียนในวิชาแคมป์ปิ้ง จึงไม่ได้หวั่นวิตก)

การปีนผาสำหรับคนปกติ อาจเป็นดูธรรมดา แต่สำหรับฉัน ภาวะที่ต้องไปต่อในที่สูงให้ได้อย่างสุดกำลังนั้นเอง ทำให้ฉันตระหนักว่า..ถ้าเราทิ้งความหวาดกลัวลง สิ่งที่มุ่งมั่น..ยังมีหนทางเป็นไปได้เสมอ เพราะพลังจากภายในเรามีสำรองอยู่จริงๆ

ที่มากกกว่าความสุขในการปีนผา คือการได้รู้จักศักยภาพของตนเอง รวมทั้งขาข้างหักยังมีโอกาสได้ทำหน้าที่ของมันต่อไป

ไม่รักไม่บอก

ไม่รักไม่บอก  เออ...เหมือนมีใครมาพูดอยู่ข้างหู บอกว่า ฉันรักเธอนะจึงบอก แต่ว่าเรื่องที่ฉันจะบอกนั้น เธออาจไม่ชอบ เธออาจจะโกรธฉัน  แต่ที่ฉันต้องบอกเพราะว่า ฉันรักเธอและปรารถนาดีต่อเธอจริง ๆ

“ฉันไม่บอกไม่ได้แล้ว”
ถึงตอนนี้คุณอาจจะรู้สึกรำคาญใจ พูดพร่ำอยู่ทำไม อยากบอกอะไรก็บอกมาเถอะ

ใช่...ไม่รักไม่บอกค่ะ เป็นชื่อหนังสือเล่มเล็ก ๆ บาง ๆ มีการ์ตูนน่ารักๆ เปิดไปหน้าแรก

ผู้เขียนบอกว่า ที่ทำหนังสือเล่มนี้ เพราะว่า ความสัมพันธ์ของมนุษย์เป็นเรื่องน่ารัก มีเรื่องดีงามที่เขาค้นพบอยู่มากมาย

pic1

เขาเล่าถึงเรื่อง เด็กชายคนหนึ่ง ตามแม่ไปซื้อของที่ร้านเกษมสโตร์ เขากินไอศกรีมรอแม่ แล้วแม่ไม่ได้จ่ายเงินค่าไอศกรีม เขากังวลใจที่ไม่ได้จ่ายเงินเสียที เพราะแม่ไม่ยอมไปที่นั่นอ้างว่าจอดรถยาก แม่บอกรอไปก่อน ในที่สุดวันหนึ่งเขาก็ได้ไปจ่ายเงินค่าค่าไอศกรีม เขามีความสุขมาก ๆ เจ้าของร้านบอกว่าเขาเป็นเด็กดี จึงให้ขนมเขามามากมาย

7 ปีต่อมา เด็กชายอายุ 15 ปี  เขาได้รับสิ่งดีงามทดแทน เขาบอกว่า เขาไปกินอาหารที่ร้านแซนวิชบาร์ ตรงแจงหัวลินกับพ่อ ที่ร้านคืนเงินให้หนึ่งร้อยบาทเพราะครั้งก่อนเก็บเงินเกินไป

เรื่องเล่าที่งดงามในสองหน้าแรก ทำให้ฉันมีความสุขไปด้วยในยามเช้าที่ได้นั่งอ่าน
ใช่...จริง ๆ ด้วยความสัมพันธ์ของคนเป็นเรื่อน่ารัก มีเรื่องน่ารักมากกมาย

pic2

ตอนนี้...คุณนึกออกไหมมีเรื่องน่ารักอะไรเกี่ยวกับคุณบ้างในหนึ่งวัน 

ผู้เขียนซึ่งไม่ประสงค์จะออกนาม คือทิ้งนามไว้ที่หน้าปก หลังปก หรือที่อื่นใด ดูหรือทำเรื่อง ๆ ดี ๆ เช่นนี้แต่ไม่เปิดเผยตัวเอง เขาสรุปว่า...

“ชีวิตมีให้พวกเรา เริ่มต้นใหม่ทุกวัน
ชีวิตมีให้เราเลือกหลากหลาย ขึ้นอยู่กับว่าพวกเราพร้อมที่จะเลือกไหม”

เปิดผ่านไป มีภาพการ์ตูน เด็กหญิงหัวโต...มาบอกว่า ขออภัยร้านใหญ่ ๆ ดัง ๆ ด้วยนะคะ งานนี้เราลงแต่ร้านเล็ก ๆ ค่ะ

อ้าว...เป็นแผนที่ร้านอาหารค่ะ พี่น้อง
โอโห...น่าไปกินทั้งนั้น เป็นร้านอาหาร ร้านเล็กร้านน้อย เริ่มตั้งแต่บริเวณสะพานนวรัฐ สะพานนครพิงค์ น่าไปกินทั้งนั้น กาดหลวง ราชวงศ์ ช้างม่อย แม่เหี๊ยะ สันป่าข่อย สันกำแพงก็มี

ว้าย! มีทุกแห่งเลย ร้านเล็กๆ อร่อยและไม่แพงด้วย ร้านที่ไม่มีในไกด์บุค และไม่มีในหนังสือฟรีก็อปปี้ด้วย
ดีละ...คราวนี้ มีเพื่อนมาเชียงใหม่จะมอบไกด์บุค นอกกระแสเล่มนี้ให้เลือกเลยว่า จะไปกินที่ไหน อร่อยและไม่แพงอย่างนี้ชอบ...คนทำหนังสือเล่มนี้ต้องมีความสุขแน่ ๆ

มาเที่ยวเชียงใหม่หากินหาอยู่แบบไม่แพงก็ได้นะคุณ

จบการกินแล้ว เขาจะบอกเรื่องอะไรอีกล่ะ หนังสือเล่มนี้เขียนว่า รวมแผนที่ร้านอาหารแซกซอกนอกกระแส ไม่มีเส้น ไม่เล่นพวก

เอาล่ะค่ะ...แค่นี้ก่อนนะคะ แล้วจะมาเล่าใหม่ ของไปกินก่อนค่ะ

(อยากได้หนังสือไม่รักไม่บอก ติดต่อภาคีคนฮักเชียงใหม่ค่ะ 16 ถ. เทพสถิต ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200  หรือ 08 4041 5096)

ในสวนบนเนินเขา (5)

30 October, 2007 - 00:08 -- ongart

สิ่งดี ๆ ในชีวิต

พ่อค้าแวะมาหาคนสวนที่เขากำลังพักผ่อนอยู่ตรงหน้ากระท่อม
“สวัสดีครับคนสวน” พ่อค้าทักทาย “ผมมีข้อเสนอดีๆ มาให้ คุณคงสนใจเป็นแน่”
และเมื่อเห็นทีท่าเฉยเมยของคนสวน พ่อค้าก็เริ่มพูดธุระที่เขาคิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย ซึ่งคนสวนจะต้องขยายพื้นที่ปลูกกุหลาบเพิ่มขึ้นและพ่อค้าจะเป็นคนเอาไปขายในเมือง
“คนสวน ด้วยความชำนาญของคุณ กุหลาบของเราจะสวยงามที่สุดในเมือง” พ่อค้าสรุปด้วยท่าทีกระหยิ่มยิ้มย่อง
“ขอบคุณแต่เราไม่สนใจ” คนสวนตอบพร้อมยิ้มอย่างเคย
“แต่คุณจะได้เงินเยอะ...” พ่อค้าว่า ท่าทางแปลกใจ
“ผมไม่สนใจเงินทองหรอก”
“ใครๆ ก็อยากได้เงินกันทั้งนั้น...”
“แต่ไม่ใช่ผม”
“คุณพูดเช่นนั้นได้ยังไง เงินเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต...”
“ไม่รู้สิ! ผมกินอิ่มนอนหลับทุกวัน ผมมีเสื้อผ้าใส่ มีกระท่อมไว้พักพิง ยามค่ำคืนอันหนาวเย็น”  คนสวนตอบอย่างสงบ
พ่อค้าไม่อยากจะเชื่อว่าคนสวนปฏิเสธข้อเสนอของเขา
“และอีกอย่าง...” เขาไม่ยอมแพ้ “คุณจะได้ทำงานที่คุณชอบนะ คนสวน”
“ผมทำงานที่ผมชอบอยู่แล้ว”
คนสวนลุกหนีไป ทิ้งให้พ่อค้าอ้าปากค้าง เขาหุบปาก ลุกขึ้นแล้วออกไปจากสวน พลางบ่นพึมพำว่า “ฉันไม่เข้าใจคนดื้อรั้นพวกนี้เลย ยอมอยู่อย่างยากจน แต่ไม่สนใจสิ่งดีๆ ในชีวิต”
คนสวนใช้เวลาช่วงบ่ายนั้น สดับเสียงเพลงของนกและเฝ้ามองความงามของอาทิตย์อัสดงที่ธรรมชาติดลบันดาล.
จากหนังสือ “สวนแห่งชีวิต”

Grain เขียน, ภารณี วนะภูติ แปล
สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง

 

ภาพที่ 1

ภาพที่ 2

ภาพที่ 3

ผมอ่านงานชิ้นนี้แล้ว ทำให้ครุ่นนึกไปถึงชาวบ้านในหลายๆ พื้นที่ ที่ผมเคยเดินทางไปเยือน ไปนั่งพูดคุย เฝ้าถาม เรียนรู้ ถึงวิถีความเป็นอยู่ของชีวิตของคนทำนา ทำสวน ทำไร่ กลางทุ่งนาป่าเขา

นึกไปถึงความเรียบง่ายของพ่อเฒ่าชาวปวาเก่อญอบ้านแม่คองซ้าย ซึ่งตั้งอยู่ฉากหลังของดอยหลวงเชียงดาว จำได้วันนั้น “พะตีศรี” พาพวกเราลัดเลาะทุ่งนา ลำห้วย ไปตึดแค เอาเศษไม้ใบหญ้า ดินเหนียวโปะกั้นทางน้ำอีกสายให้แห้ง ก่อนลุยโคลน ก้มงมจับปลา ปู กุ้ง ส่วนหมู่แม่หญิงปวาเก่อญอช่วยกันก้มเก็บเด็ดยอดผักกูด ผักไม้ไซร้เครือริมห้วย อีกกลุ่มหนึ่งช่วยกันก่อไฟ หลามปลาด้วยกระบอกไม้ไผ่ ใส่ยอดผักกูด เติมพริก ใส่เกลือ เพียงเท่านั้น ก็ได้อาหารมื้อเที่ยงที่แสนเอร็ดอร่อย

นึกไปถึงใบหน้าของ “พ่อปรีชา ศิริ” ปราชญ์ปกาเกอะญอ ผู้นำธรรมชาติแห่งบ้านห้วยหินลาดใน อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ที่เอ่ยออกมาด้วยน้ำเสียงเปี่ยมสุข อารมณ์ดี

“ทุกวันนี้ เฮาถือว่าหมู่บ้านของเฮานั้นร่ำรวยแล้ว แต่ไม่ใช่ร่ำรวยเงินทอง แต่ร่ำรวยธรรมชาติ เฮามีทุกอย่าง มีดิน น้ำ ป่า มีอากาศให้หายใจ มีอาหาร ยาสมุนไพร เฮาอยู่ได้ด้วยเศรษฐกิจพอเพียง ที่ไม่ต้องดิ้นรนเหมือนคนข้างนอก...”

ใช่, ในหลายๆ พื้นที่ หลายหุบเขา หลายดงดอย ที่พี่น้องชนเผ่าอาศัยอยู่กัน ต่างมีวิถีที่คล้ายคลึงกัน ในทุ่งนา ทุ่งไร่ พวกเขาไม่ได้เพียงแค่ปลูกข้าวอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังใช้พื้นที่นาปลูกพืชผัก เก็บกินได้ตลอดปี ไม่ว่า แตงกวา หัวเผือก หัวมัน ผักกาด งา ฟักทอง ถั่วฝักยาว พริก มะเขือ ฯลฯ จนพูดได้เต็มปากเลยว่า ชาวบ้านไม่ต้องพึ่งพาตลาดข้างนอก เพราะเอาทุ่งนาเอาไร่หมุนเวียนเป็นตลาดสด คนที่นี่จึงไม่เคยอดตาย

และทำให้นึกไปถึงคำพูดของ “ป๊ะป่า” ชาวบ้านลาหู่บ้านก็อตป่าบง ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว ที่บอกย้ำกับผมในวันที่พาผมเข้าไปดูแปลงเพาะกล้ากาแฟ กลางไร่ข้าวโพด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

“ผมว่าอยู่แบบพออยู่กิน ไม่ต้องรวยก็ดีเหมือนกัน รวยแล้วเป็นทุกข์ เห็นทักษิณมั้ย รวยแต่ไม่ได้อยู่บ้าน...”

จริงสิ, บางที... “สิ่งดี ๆ ในชีวิต” คงไม่ใช่วัดกันที่ความร่ำรวยหรือคนรวย แต่สิ่งดี ๆ ในชีวิต อาจเป็นเพียงการใช้ชีวิตอยู่กับความเรียบง่ายธรรมดา อยู่กับธรรมชาติ เรียนรู้และรักษา เฝ้าดูทะนุถนอม ด้วยความรักและความเข้าใจ.

ความผิด

30 October, 2007 - 00:06 -- thanorm

ภาพดอกไม้

ทำไมนะ
คนเราจึงมักมองเห็นแต่ความผิดพลาดของคนอื่น
และชอบกล่าวคำประณามตัดสินลงโทษเขา
ราวกับว่าตัวเอง
ไม่เคยทำความผิดบาปใด ๆ

ครั้งหนึ่ง
เมื่อองค์พระคริสต์ทรงเสด็จประทับสอนฝูงชน
อยู่ ณ มหาวิหารของกษัตริย์ซาโลมอน
ราชโอรสของกษัตริย์ดาวิด ผู้ที่มีความชอบเฉพาะพระเจ้า
พวกธรรมาจารย์และพวกฟาริซาย
ซึ่งต่อต้านคำสอนของพระองค์
ด้วยความเชื่อที่ต่างกันว่า-พระเจ้าของเขาคือการแก้เเค้น
ตามคำสอนดั้งเดิมของโมเสส

ณ บัดนั้น
พวกเขาทั้งหลาย
ได้ฉุดคร่าหญิงหนึ่งที่ทำผิดฐานล่วงประเวณี
มายืนประจานตัวต่อหน้าพระพักตร์ของพระองค์และฝูงชน
เพื่อขอความเห็นชอบจากพระองค์ในการลงโทษหญิงนั้น
และทดลองพระองค์
เพื่อหาเหตุจับผิดฟ้องพระองค์แก่พวกปุโรหิต
ที่รวมหัวกันหมายกำจัดพระองค์
โดยอ้างธรรมบัญญัติที่เป็นความเชื่อของพวกเขา
และทูลกับพระองค์ว่า
“พระอาจารย์เจ้าข้า ผู้หญิงคนนี้ถูกจับเมื่อกำลังล่วงประเวณีอยู่ ในธรรมบัญญัติของโมเสสสั่งให้เอาก้อนหินขว้างให้ตาย ส่วนท่านจะว่าอย่างไรในเรื่องนี้”

พวกเขาถามอยู่ซ้ำ ๆ ซาก ๆ พระองค์จึงตรัสว่า
“ผู้ใดในพวกท่านไม่เคยทำความผิด ให้ผู้นั้นเอาก้อนหินขว้างเธอก่อน”
พอพระองค์ตรัสสิ้นกระแสเสียง
พวกเขาทั้งหลายต่างพากันนิ่งเงียบ
ค่อย ๆ ทยอยเดินออกไปจากมหาวิหารทีละคน-ทีละคน
จนหมดสิ้น

แน่นอน
ฉันอยากเล่าตำนานพระคริสต์เรื่องนี้
ให้คนในยุคสมัยของเราที่ไม่เคยพบพระคริสต์ฟัง
และเตือนสติตัวของฉันเอง
ที่มักมองเห็นแต่ความผิดของคนอื่น
และชอบกล่าวคำประณามตัดสินลงโทษเขา
โดยเฉพาะกับคนที่เราเห็นว่าเขาโง่และต่ำต้อยกว่า
ราวกับว่าตัวเอง
ไม่เคยทำผิดบาปใด ๆ

ซึ่งโดยแท้จริงแล้ว
คนเราทุกคนล้วนแต่เคยทำความผิดด้วยกันทุกคน
และต่างกำลังทำความผิดอีกมากมาย
ตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปจนถึงเรื่องที่ใหญ่โต
เพราะโลกนี้…
มีสิ่งที่ยั่วยวนกิเลสตัณหามนุษย์ให้ทำความผิดบาป
มากกว่าสิ่งที่ดีงามและถูกต้อง
และแท้จริงแล้ว
คนเราไม่มีใครกลัวการทำความผิดกันหรอก
แต่คนเรากลัวการถูกจับผิดและถูกลงโทษต่างหาก
จึงมิใช่เรื่องแปลก
ถ้าคนๆ หนึ่งเกิดความอยากจะ ฆ่า คนสักคนหนึ่ง
ด้วยเหตุผลใดเหตุผลหนึ่ง
โดยเชื่อว่ากติกาทางสังคม ค่านิยม ความความเชื่อ
ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม กฎหมาย
ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรมและพระเจ้า
ไม่สามารถเอื้อมมือไปถึง
เขาย่อมลงมือทำได้ง่าย ๆ
เหมือนบี้มดตายสักตัวหนึ่ง

ดังเช่นในสงคราม
ที่พวกทหารบางพวกของประเทศฝ่ายที่ชนะสงคราม
ลงมือทำกับเชลยและประชาชนของประเทศผู้แพ้
ด้วยการฆ่าลูกเล็กเด็กแดงอย่างไร้ความปราณี
ทารุณกรรมพวกผู้ชายด้วยวิธีการโหดร้ายต่าง ๆ นา ๆ
และผลัดกันข่มขืนหญิงสาวทุกคนอย่างป่าเถื่อน
ก่อนจะลงมือฆ่าตกตามกันไปอย่างเลือดเย็น
คือจารึกอัปลักษณ์ของฆาตกรอำมหิต
ที่อยู่นอกเหนืออำนาจการควบคุม
ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน

ไม่มีอำนาจใด ๆ     
ห้ามคนไม่ให้ทำความผิดได้หรอก
ตราบใดที่พวกเขา
ยังสามารถยืนอยู่นอกเหนืออำนาจการควบคุมทั้งมวล
เพราะถึงที่สุดแล้ว
แม้แต่พระคริสต์ซึ่งไม่ทรงเห็นชอบ
กับพวกธรรมาจารย์และพวกฟาริซายกับปุโรหิต
ที่มาดหมายจะฆ่าหญิงผู้มีชู้และถูกจับได้
ซึ่งการฆ่าที่พวกเขากระเหี้ยนกระหืออยากจะลงมือ
ย่อมเป็นความผิด
ยิ่งกว่าความผิดฐานมีชู้ของหญิงนั้นหลายเท่า
แต่พวกเขากลับไม่สำนึก
เพราะพวกเขาตั้งตนอยู่ในฐานะผู้จับผิด
และถือกฎการลงโทษเอาไว้ในมือ
พระองค์ก็ยังทรงหักห้ามได้แค่
“ผู้ใดในพวกท่านไม่เคยทำผิด ให้ผู้นั้นเอาหินขว้างเธอก่อน”
และปรามหญิงผู้เคราะห์ร้ายที่พระองค์ทรงปกป้องเอาไว้ว่า
“ต่อไปอย่าทำอีกนะ”
เช่นเดียวกับพระวจนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุด
ที่พระองค์ทรงตรัสกับคริสเตียนทั้งโลกว่า
“จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตัวเอง”
ก็ด้วยพระประสงค์เดียวกัน
นั่นคือ-ปลุกมโนธรรมในตัวเขาให้ตื่นขึ้น

ใช่
ไม่มีอำนาจใด ๆ
ห้ามคนไม่ให้ทำความผิดได้หรอก
นอกจากมโนธรรมในตัวเขาเท่านั้น
ที่จะต้องถูกปลุกให้ตื่นขึ้นมา
ตรึงกางเขนซาตานในตัวเขาไม่ให้ทำความผิดบาป
เพราะถ้าคนขาดมโนธรรมอยู่ในตัวคอยควบคุม
เมื่อสบช่องที่จะทำความผิด
โดยปราศจากสิ่งภายนอกคอยควบคุม
คนที่ชอบทำความผิด ย่อมจะลงมือทำ
เพราะไม่มีอะไรที่เขาต้องเกรงกลัว
เหมือนอย่างที่เราเห็นตำหูตำตากันทุกวันนี้
ตั้งแต่การฆ่า การลักขโมย การผิดประเวณี
การโกหกมดเท็จ การอกตัญญู การเอารัดเอาเปรียบกดขี่ข่มเหง ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกัน
จนเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์และสังคมทุกชาติทุกภาษา
ทุกยุคทุกสมัย      

อา ! บางที
ณ ขณะเวลานี้
อาจจะเป็นตัวเราเองนั่นแหละ
ที่กำลังลงมือทำด้วยใจกระหยิ่ม
เพราะเหลียวซ้ายมองขวาดูแล้ว
ไม่เห็นมีใครในโลกนี้สักคน-คอยจับผิด
นอกจากเหยื่อ
อาเมน !

 

หมายเหตุ : เรื่องนี้เป็นเรื่องสั้นที่เคยตีพิมพ์ใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3 กันยายน 2548 ในวาระที่ฤดูกาลเลือกตั้งใกล้เข้ามา พร้อมกับพรรคการเมืองต่าง ๆ เริ่มขุดคุ้ยความไม่ดีของกันและกันออกมาโจมตีกัน เพื่อยืนยันว่าพรรคของตัวเองดีที่สุด ผู้เขียนจึงนำเรื่องสั้นเรื่องนี้มาลงอีกครั้งหนึ่ง เพราะดูเข้ากับสถานการณ์ ของการตัดสินและทำลายกันและกันระหว่างนักการเมือง เผื่อใครสักคนหนึ่งจะสะดุดและได้คิดในการหาเสียงที่สร้างสรรค์ นอกเหนือจากวิธีการหาเสียงแบบน้ำเน่าที่เราเคยรับรู้มาจนเบื่อ.

25 ตุลาคม 2550
กระท่อมทุ่งเสี้ยว เชียงใหม่

เพลงรบ เพลงสงครามบนแผ่นดินฟากตะวันตก (10) ดอกกุหลาบน้อย พ้อต่อฉื่อโพ

picture1

ระหว่างรอความหมายเพลงของเหล่อวา  ซึ่งผมเขียนไว้ว่าจะนำมาขึ้นจอ  แต่เพลงของเขาอยู่ระหว่างทางแปลความหมาย  สัปดาห์ต่อไปน่าจะถึงฝั่งน้ำปิง  นอนรอ  นั่งรอ ... บังเอิญนึกถึงเพลงศิลปินเพลงอีกชุดหนึ่ง  รูปปกเทปดอกกุหลาบแดง

พ้อต่อฉื่อโพ  -- กุหลาบน้อย   เป็นชื่อบนปกเทป
นานมาแล้วผมเคยเขียนถึง  ผ่านคนบอกเล่า  และคนแปลความหมายเนื้อเพลง 

ว่ากันว่า  เป็นงานเพลงที่รวบรวมเอาเพลงอมตะสองฟากฝั่งสาละวิน  เลือกเอาคุ้นหูคนตะเข็บชายแดนมาไว้ในที่เดียวกัน  ผ่านเสียงร้องหวานเศร้าจับใจ  ในโทนเนื้อเสียงใกล้เคียง  นอร่าห์ โจนส์ (Norah  Jones)  นักร้องแนวแจ๊ส ลูกครึ่งอเมริกัน-อินเดีย

picture2

นางถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกพลัดพราก  ห่วง  อาลัยในแผ่นดินอย่างจับใจ
ชื่อนาง กะญอพอ  
นางเกิดที่เมืองร่างกุ้ง  มุ่งหน้าสู่ดินแดนก่อซูเล
คนบอกเล่า  เล่าว่านางเก็บตัว  ไม่ยุ่งเกี่ยวกับหน้าสื่อ  ผมจึงขอเขียนถึงแต่เพลงของนาง เพลงที่นางร้อง  มีเนื้อหาความหมายไม่ต่างไปจากชีวิตของนาง

“คืนนี้  แสงจันทร์ส่องฟ้า
ณ ใต้ร่มไม้  ฉันคิดถึงบ้าน
ต้นไม้  สรรพสิ่งหลับนิ่งอยู่ในกลางคืน
แต่หัวใจฉันกลับบ้าน
แผ่นดินที่ฉันเกิด  ฉันรักมาก
บ้านฉัน  ดอกไม้ของฉัน  ฉันเคยพบเห็น
แผ่นดินอื่น  แม้สงบสุขสวยงามเพียงใด
ฉันก็ยังรักหมู่บ้าน  และดอกไม้ของฉัน...” (เพลงชื่อ คิดถึงบ้าน)

หนังไทยเรื่อง สาละวิน หรือมือปืน 2  สร้างกำกับโดยท่านมุ้ย หม่อมเจ้าชาตรี  ยุคล  ฉากใหญ่ฉากหนึ่ง  ฉากไล่ล่าคนกะเหรี่ยงมาถึงริมน้ำสุดแดนประเทศ  เฮลิคอปเตอร์บินวนสาดกระสุน  คนหนีตายเหมือนมดแตกรัง 

ท่ามกลางความโกลาหล  แตกตื่น  ร้องไห้  เสียงปืน  ควันไฟ   เพลงหนึ่งเพลงนั้นก็ดังขึ้น   เรียกน้ำตาจากผู้ชม  เพลงนั้นชื่อ ดอกกุหลาบ  เพลงของ พ้อต่อฉื่อโพ นั่นเอง

“ดอกกุหลาบที่ฉันส่งมอบให้เธอ
เป็นสิ่งบอกว่า  ฉันรักเธอ
ความรักที่ฉันมีทั้งหัวใจ  มอบให้เธอ
เมื่อเราห่างไกลกัน  ส่งดอกไม้ที่สวยงามให้เธอ
ดูดอกไม้ของฉันสิ  เห็นความหมายฉันรักเธอไหม
ดอกกุหลาบดอกนี้  จะบอกเธอ
คนที่ฉันรัก คือคนนี้
คิดถึงเมื่อเราอยู่สองคน
ทุกวัน  ก็ยังโหยหา
เธอเคยรับดอกไม้จากมือฉัน
ให้ดูดอกไม้ต่างหน้าฉัน
ดอกไม้ดอกนี้จะบอกเธอ
ว่าฉันรักเธอมาก”

picture3

นางยังใช้ชีวิตอยู่ตามลำพังที่ใดที่หนึ่งบนฝั่งน้ำปิง  หากนางรู้  ฝากความคิดถึง ระลึกถึง  ถึงนางด้วย  เพลงของนางมีชีวิตและวิญญาณ  เต็มไปด้วยเสียงของความพลัดพรากจากบุคคล แผ่นดินอันเป็นที่รัก  เหมือนชีวิตของนาง  เหมือนชีวิตใครๆบนฝั่งฟากตะวันตกนั้น

ไปพัทยา

พัทยาลาก่อน   ร้องโดย รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส

ลมทะเล พัดมา
หาดพัทยา ครวญคลั่ง
ฟังเหมือนมนต์ภวังค์
วอนหวีดหวัง ครางว่า

ยังรักเธอ รักเธอ
พร่ำเพ้อละเมอ รอท่า
ยังฝืนกลืน น้ำตา
ฝันจนกว่า ชีพวาย

*ครวญครางไป ใยกัน
เกลียวคลื่นนั้นมัน ชวนวิ่งว่าย
แล้วล่ม ร่างร้างตาย
หาย อาวรณ์

ลาแล้วลา ขอลา
โอ้พัทยา ลาก่อน
ชีวิตคือ ละคร
ฉันมันอ่อนโลกเอย

(เนื้อเพลงและฟังเพลงได้ที่ blue balloon, bloggang.com)

สองวันสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ไปพัทยาเพราะต้องพาคนสนิทไปพักผ่อน ตามที่สัญญากันไว้ คนสนิทเป็นวัยรุ่นช่วงกลางเกือบปลาย เป็นคนยุคใหม่ที่เรียกว่าไม่มองอะไรเกินกว่าตัวกู อันนี้ไม่รวมกับกระบวนการพัฒนาทางจิตวิทยาที่เป็นในทุกรุ่น ทุกสังคม  นั่นคือการที่มั่นใจแบบผิดๆเพราะแรงมาก ยังดีที่คนสนิทนี้ยังไม่ใจแตก ไม่ปล่อยชีวิตจนเสียคนในกรอบสังคมทั่วไป อันนี้ถือว่าเป็นโชคของพ่อแม่และผู้เขียนเอง และที่สำคัญตัวของคนสนิทผู้นี้เองด้วย

การไปพัทยาคราวนี้ เป็นแบบจู่โจมพอสมควร ไม่ได้เตรียมตัวมากมายนัก เช็คดูปรากฏว่ามีวันหยุด เลยไปได้ เพราะปกติแล้วผู้เขียนเองก็ทำงานสัปดาห์ละเจ็ดวัน ถึงไม่ได้เข้าที่ทำงาน ก็เอางานมาทำที่บ้าน วันเสาร์นั้นพอดีเคลียร์งานและฝากงานกับเพื่อนร่วมงานเสร็จ ก็ออกจาก กทม.มุ่งสู่พัทยา  แต่รถก็ติดไปตลอดทางบนมอเตอร์เวย์ นึกเสียดายเงินค่าธรรมเนียมใช้ทาง  จำได้ว่าเมื่อสิบปีก่อนที่ใช้ รถก็ไม่ได้น้อยกว่าตอนนี้เท่าไร แต่การก่อสร้างระหว่างทางมีน้อยกว่าตอนนี้มาก ไม่แน่ใจว่า ใจคอจะสร้างเสริมไปอีกเจ็ดชั่วโคตรรึเปล่า คิดในใจว่าตอนที่คิดสร้างนี่ ไม่ได้คิดเผื่ออนาคตเลยหรือไร

เมื่อถึงพัทยาก็ได้เข้าพักที่โรงแรม เช็คอินด้วยความเรียบร้อยแต่เป็นเวลาบ่ายแก่ๆแล้ว มีผู้คนเข้ามาพักมากมายและบางคนก็เช็คอินในเวลาใกล้ๆกัน  น่าดีใจแทนโรงแรมที่มีคนมาเข้าพักมาก มากกว่าสมัยที่ผู้เขียนเป็นเด็กๆ สมัยนั้น คนไทยไม่นิยมท่องเที่ยวขนาดนี้ คนชั้นกลางไม่คิดถึงการท่องเที่ยวมากขนาดนี้ การพักในโรงแรมถือเป็นของเกินความจำเป็นในสมัยก่อน ทางออกตอนนั้นคือการพักบ้านเพื่อนฝูงญาติมิตร  ปัจจุบันคนชั้นกลางหรือต่ำกว่ามีโอกาสท่องเที่ยวและพักโรงแรมมากขึ้น  คนไทยเที่ยวมากขึ้น แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเที่ยวเป็น เพราะการเที่ยวเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับการมีมารยาทสากล

สมัยก่อนจำได้ว่ามีเรื่องเล่าตลกๆว่า คนไทยไม่ว่ากรุงหรือชนบทเข้าพักและใช้ห้องน้ำในโรงแรมชั้นดีหน่อยยังต้องกักน้ำในอ่างน้ำ บางคนต้องเอาขันน้ำใบพอดีๆ ติดตัวไปด้วย ส่วนผ้าขนหนูเช็ดตัวก็ขนเอาไปเช่นกัน เครื่องใช้ส่วนตัวก็ขนกันไป เดี๋ยวนี้โรงแรมมีให้เกือบหมด นี่ก็ยังมีตลกเล็กน้อยที่เพื่อนของคนสนิทยังคงขนผ้าเช็ดตัวไปด้วย เห็นแล้วขำเอ็นดูน่าจะเป็นเพราะมีความเชื่อว่าผ้าในโรงแรมสกปรกเพราะใช้มากันหลายคน แต่เค้าคงลืมไปว่า โรงแรมขนาดสามดาวขึ้นเดี๋ยวนี้ต้องใช้เครื่องซักและอบอย่างดี และมีการฆ่าเชื้อ เอาเป็นว่าเป็นไปแล้ว

การเดินทางบ่อยๆและใช้ชีวิตต่างแดนเป็นระยะนานๆ แบบผู้เขียนมีผลดีตรงนี้คือสามารถเข้าใจการเดินทางได้ดี และไม่เก้อเขินในการใช้ชีวิตแบบสากลแบบนั้น อันนี้เป็นเรื่องของการมีโอกาสโดยแท้ สมัยผู้เขียนจบตรีใหม่ๆ มีคนบ้าเรื่องการใช้ชีวิตแบบนี้ ถึงขนาดเปิดเป็นโรงเรียนสอนมารยาทสากล ว่าไปก็ดีที่เป็นการเปิดหูเปิดตาตนเอง แต่ที่แย่คือเป็นการสอนแบบเปลือกๆว่าชีวิตฝรั่งเป็นแบบนี้  ทั้งที่จริงๆ ไม่ใช่ฝรั่งทุกคนเป็นแบบนี้ และการที่ผู้เขียนไปอยู่ต่างประเทศกว่าครึ่งของชีวิต ก็เป็นการบอกว่าคนที่ผ่านชีวิตแบบฝรั่งก็ไม่ได้เข้าถึงชีวิตแบบ “ไฮ คัลเจ้อร์” ของฝรั่ง เพราะคนที่รวยๆ ของฝรั่งก็ไม่ไปเรียนมหาวิทยาลัยที่นักเรียนไทยไปเรียน ถึงเค้าจะเรียน เค้าก็ไม่สุงสิงกับนักเรียนกะเหรี่ยงอย่างเรา เพราะว่าเค้ามีวงสังคมของเค้า

หลายครั้งที่ผู้เขียนนั่งปลงว่าพวกอดีตนักเรียนนอกหลายคนชอบทำตัวว่าเอาวัฒนธรรมฝรั่งเข้ามาแล้สบอกว่าตนเองเป็นคนชั้นสูง โดยลืมมองว่าวัฒนธรรมฝรั่งที่ตนเองเอามาเป็นแค่วัฒนธรรมปกติของฝรั่งตรงนั้นเท่านั้น เพียงแต่ว่าคุณภาพชีวิตของคนธรรมดาในประเทศที่พัฒนาแล้วมันสูงกว่าคนธรรมดาในประเทศด้อยพัฒนาอย่างชัดเจนเท่านั้น แม้ว่าในปัจจุบันสังคมไทยนี้จะดีกว่าแต่ก่อนในด้านเปลือกๆ แต่ในด้านแนวคิดหลักๆทางสังคม ก็ยังห่างไกลสังคมตรงนั้นอีกหลายช่วงตัว

เมื่อพูดถึงเรื่อง “ความแตกต่าง” ผู้เขียนพบว่าพัทยานี่เป็นเมืองแห่งเซ็กซ์และบันเทิงอย่างเต็มรูปแบบจริงๆ ว่าไปแล้วพัทยาเหมือนบางส่วนของกทม.ที่จำลองไปติดชายทะเล ความเป็นตะวันตกมากกว่ากทม.ในหลายเรื่อง เช่นความเปิดเผยเรื่องอาชีพพิเศษ แต่ก็มีความเป็นชนบทในเวลาเดียวกัน เพราะคนไทยตรงนั้นจะมี “การสลับรหัส” ในการติดต่อกับคนต่างชาติและกับคนไทยด้วยกันอย่างชัดเจน  ความเป็นบ้านนอกคือการที่ยังคิดอะไรแบบง่ายๆ ไม่ซับซ้อน แต่ความเป็นตะวันตกคือการที่มีกินมีใช้อย่างสะดวกสบาย แต่งตัวแบบคนตะวันตก อย่างไรก็ตามเท่าที่ดูสถานที่ที่จะบ่มเพาะวิธีคิดแบบเป็นระบบให้สังคมฉลาดขึ้นในพื้นที่พัทยาไม่มีเลย เช่น สถาบันการศึกษาชั้นสูงที่เน้นสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์  (ที่มีก็ออกมาข้างนอกพอสมควร)

คนสนิทของผู้เขียนและเพื่อนตื่นตาตื่นใจกับชีวิตแสงสีที่พัทยา พวกเขาทั้งหมดสนุกกับชีวิตแบบตรงนั้น ทำให้ผู้เขียนมองย้อนกลับไปการไปเที่ยวพัทยาครั้งแรกในชีวิตเมื่อปี 2523 ไปกับที่บ้าน ตอนนั้นพัทยาไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นเท่าเดี๋ยวนี้ ซากของการเป็นที่ตากอากาศของทหารสหรัฐฯยังมีให้เห็น เส้นทางค่อนข้างสะดวกในสมัยนั้น รถไม่ติด มีโรงแรมไม่กี่แห่ง และไม่มีแสงสีมากแบบเดี๋ยวนี้ จากนั้นผู้เขียนก็ไปอีกกับเพื่อนๆ และจากนั้นก้ขับรถไปเองเมื่อแม่ให้รถมาใช้ส่วนตัว เวลาเครียดๆ ก็ไปพัทยา ไปหาโรงแรมพอใช้ได้ ไปพักคนเดียว  จนกระทั่งเวลากลับมาธุระเมืองไทยก็ไปแต่พัทยา แต่ทุกครั้งที่ไปไม่ได้รู้สึกเหมือนครั้งนี้ เพราะงานนี้เหมือนเป็นผู้ปกครองพาลูกๆ ไปเที่ยว มุมมองต่างออกไป วัยตนเองก็เปลี่ยน พัทยาก็เปลี่ยน  คนที่ไปด้วยก็เปลี่ยน เหมือนหนังฝรั่งที่พยายามให้เห็นภาพของชีวิตในแต่ละจุดของชีวิต หรืออย่างหนังไทยง่ายๆ เช่น “แฟนฉัน” ก็เช่นกัน

การเดินทาง การเรียนรู้ในชีวิต เป็นสิ่งที่บอกกับผู้เขียนว่าการที่เราจะส่งต่อแนวความคิดให้คนรุ่นต่อๆไปให้ทราบถึงความเป็นไปในอดีตไม่ใช่เรื่องง่ายๆ กว่าที่ผู้ใหญ่วันนี้จะเป็นตัวตนก็ย่อมผ่านเรื่องต่างๆที่เกิดขึ้นในอดีต หลายครั้งเราพยายามนึกว่าคนรุ่นใหม่ต้องคิดอย่างเรา อันนี้เป็นการเห็นแก่ตัวของคนรุ่นก่อนมากเกินไป อย่างไรก็ตามคนรุ่นใหม่ควรที่จะมองคนรุ่นก่อนอย่างเข้าใจด้วยเช่นกัน หลายครั้งที่ผู้เขียนได้แต่ถอนหายใจกับความใจร้อนและไม่เข้าท่าของคนรุ่นเด็กกว่า และความเห็นแก่ตัวบ้าอำนาจของคนรุ่นแก่กว่าผู้เขียน ที่มักมองข้ามมิติของกาลเวลาที่ทำให้ความไม่เข้าใจกันเกิดขึ้นอย่างที่ไม่ควรจะเกิด

เรื่องความต่างแบบนี้เป็นเรื่องที่สังคมไทยไม่เคยแม้แต่จะคิดแก้ แต่มักใช้การเงียบ การปล่อยให้ผ่านไปตามกาลเวลาเป็นตัวแก้ปัญหา อันนี้แปลกใจนักว่าทำไมคนที่ว่าเก่งๆฉลาดๆ ไม่รู้จักนำมาใช้กัน จนสังคมนี้ขาดมิติไปเสียทุกเรื่อง เพราะการไม่ยอมพยายามจัดการความแตกต่างนั่นเอง

เพลง “พัทยาลาก่อน” เป็นเพลงเก่าๆที่คนในยุคผู้เขียนยังพอจำได้ ซึ่งก็ให้ภาพในสองมิติคืออันแรกให้เห็นว่าในอดีตสังคมไทยเป็นอย่างไร และอีกมิติหนึ่งคือ เพลงเก่าๆ ก็จะหายสาบสูญไปตามกาลเวลา เอามาให้ฟังเพราะๆ ก็แล้วกัน

ผมเฝ้าดูการทดลอง

24 October, 2007 - 00:21 -- thapana

1.jpg

ผมสมัครเข้าร่วมโครงการหนึ่งปี “ชุมชนทดลอง # 2” ของมูลนิธิที่นา [1] ด้วยความไม่รู้ กล่าวคือ ไม่รู้เรื่องวิปัสสนา ไม่รู้เรื่องศิลปะ และไม่รู้เรื่องเกษตรกรรมธรรมชาติ  ความไม่รู้นี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะถ้ารู้แล้วคงไม่ต้องมา

เมื่อได้คุยกับทีมงานหลายท่านก่อนเริ่มโครงการ ก็ได้รับความห่วงใยเกรงว่า ผู้เข้าร่วมโครงการจะคาดหวังมากเกินไป เนื่องจาก the land ไม่ใช่ utopia ซึ่งผมก็เข้าใจ ขณะเดียวกันผมเองก็ห่วงใยเกรงว่า ทีมงานจะคาดหวังกับผู้เข้าร่วมโครงการมากเกินไปเช่นเดียวกัน

เพราะในความต่างของปัจเจกที่มาอยู่ร่วมกันภายใต้เงื่อนไขหลวมๆ นี้ หากผู้เข้าร่วมไม่มีความชัดเจนในจุดประสงค์ของตนเอง ก็อาจล้มเลิกความตั้งใจเสียง่ายๆ

สำหรับผม ซึ่งมีความรู้สึกเบื้องแรกคือ การเข้าร่วมโครงการคลับคล้ายกับการมาเข้าค่ายเป็นเวลาหนึ่งปี อาจชัดเจนในจุดประสงค์มากกว่าผู้เข้าร่วมบางท่าน แต่นั่นก็ด้วยวัยวุฒิที่มากกว่า ทั้งไม่ได้หมายความว่า ในเบื้องปลาย ผมและคุณจะได้รับประสบการณ์อย่างเดียวกัน เพราะแม้ว่าเราจะมาอยู่ร่วมกันเนื่องจากความสนใจที่คล้ายกัน ทว่า เราแต่ละคนย่อมสร้างประสบการณ์จากแนวคิดที่เรามีเกี่ยวกับตัวเอง และแนวคิดที่เรามีเกี่ยวกับตัวเองย่อมจะแตกต่างกัน

เราทุกคนมีเรื่องที่สนใจ และเรื่องที่เราสนใจนั้น คือแนวคิดที่เรามีเกี่ยวกับตัวเอง เราจะมีแนวคิดเกี่ยวกับตัวเองไปตลอดจนกว่าเราจะลงมือปฏิบัติ เมื่อได้ปฏิบัติเราจึงได้รับประสบการณ์ ประสบการณ์ [2]  นั้นคือความรู้สึกว่าเราได้ “เป็น” ดังที่เราได้คาดการณ์ไว้ ยิ่งทำมากตัวเราก็ยิ่งชัดมากขึ้น ยิ่งสร้างสรรค์ศักยภาพก็ยิ่งปรากฎ

ผมสนใจเรื่องการทำอาหาร แต่หากผมไม่ได้มาลองทำอาหารที่ the land ผมก็คงไม่มีโอกาสรู้ว่าผมทำอาหารเป็นด้วย  ผมสนใจเรื่องศิลปะ แต่ยังไม่ได้ลงมือปฏิบัติ เช่นเดียวกัน หากเปลี่ยนจาก “ผม” เป็น “คุณ” แนวคิดเกี่ยวกับตนเองของคุณ ก็คือสิ่งที่รอการพิสูจน์ และสิ่งที่ได้พิสูจน์แล้วจะเปลี่ยนเป็นประสบการณ์เกี่ยวกับตนเอง

คุณอาจรู้ว่าตนเองเป็นคนรักธรรมชาติ รักศิลปะ แต่หากคุณไม่ทำอะไรที่แสดงถึงความรักต่อธรรมชาติ ต่อศิลปะ คุณย่อมมีเพียงแนวคิดเกี่ยวกับตนเอง

คำถามสำคัญก็คือ อะไรคือตัวตนสูงสุดของคุณที่คุณต้องการจะเป็น ... ? หน้าที่ของเราคือแสดงมันออกมา มันอยู่ข้างในตัวเรานี่เอง

ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า concept เกี่ยวกับตัวเรา เป็นชุดปฏิบัติการที่รอการปฏิบัติ และ the land คือ workshop หลายมิติที่พร้อมจะรองรับปฏิบัติการของเราแต่ละคน  และ - - ย่อมมีการเปรียบเทียบเป็นธรรมดาเพราะ the land ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานอย่างที่บางคนคิดว่าควรจะมี หรือควรจะเป็น บางคนคิดว่า the land น่าจะเป็นชุมชนต้นแบบเกษตรกรรมธรรมชาติ เศรษฐกิจพอเพียง หรืออย่างน้อยก็มีแหล่งอาหารตามธรรมชาติที่สมบูรณ์กว่านี้ แต่ผมกลับเห็นต่างออกไป

the land มีเสน่ห์เพราะมันเป็นพื้นที่ทดลอง ผู้เข้าร่วมโครงการมีสิทธิ์จะทดลองใช้ชีวิต ทดลองงานความคิด หรือ ทดลองปฏิบัติการบางอย่าง ซึ่งคุณไม่อาจไปทดลองในพื้นที่อื่นได้ concept ของที่นี่จึงไม่ควรจะเป็นอย่างอื่น

เราอาจทดลองทำการเกษตร แต่ที่นี่ไม่ควรกลายเป็นแหล่งศึกษาดูงานด้านการเกษตร
เราอาจทดลองสร้างงานศิลปะ แต่ที่นี่ไม่ควรกลายเป็น gallery
เราอาจทดลองนั่งวิปัสสนา แต่ที่นี่ไม่ควรกลายเป็นสถานปฏิบัติธรรม
ผมรู้สึกกับ the land อย่างนั้น จึงมาที่นี่ด้วยความสมัครใจและสบายใจ

ผมเห็นป๊อบทดลองทำราวตากผ้าจากไม้ไผ่ เห็นน้อยเนื้อทดลองจับปลาด้วยบุ้งกี๋ เห็นเน้ตทดลองทำกล้วยตาก เห็นไม้ทดลองปลูกผัก เห็นพี่ทอมทดลองเพื่อการทดลอง และเห็นว่ามีหลายคนพร้อมจะทดลองทานอาหารที่ผมทำ แต่ละคนล้วนสนุกกับการทดลอง  แต่ละคนล้วนได้ประสบการณ์จากการทดลอง

ความต่างของปัจเจกที่มาอยู่รวมกันจึงคล้ายพรรณไม้หลากสีในระบบนิเวศน์เขตร้อน ขณะที่ความคิดรวมหมู่ซึ่งมีเป้าหมายอยู่ที่การทดลองและการสร้างสรรค์ เป็นพลังงานเข้มข้นที่รอการเปลี่ยนให้เป็นรูปธรรม
ทั้งที่เห็นด้วยตา และเห็นด้วยใจ

ใครจะรู้ - - การทดลองบางอย่างอาจจะสร้างสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน
เพราะสิ่งที่ยิ่งใหญ่ล้วนเริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ
ผมจึงตื่นเต้นทุกครั้งที่ได้เห็นการทดลองใหม่ๆ ที่ the land

ชุมชนทดลอง    experimental community
โอกาสทดลอง    chance to try
ชีวิตจริง        real life

----------

[1] มูลนิธิที่นา > www.thelandfoundation.org

[2] แนวคิดเรื่อง ประสบการณ์ จาก “สนทนากับพระเจ้า (Conversation with God)”, Neal Donald Walsch ; รวิวาร โฉมเฉลา แปล

ในสวนบนเนินเขา (4)

23 October, 2007 - 02:54 -- ongart

ความเรียบง่ายมีแรงดึงดูดที่ลี้ลับ
เพราะมันจะฉุดเราไปยังทิศทางตรงกันข้ามกับทิศทาง
ที่คนส่วนใหญ่ในโลกไปกัน
ไปจากการทำตัวให้เด่น ไปจากการสะสม
ไปจากการทะนงหลงตน
และจากการเป็นเป้าสายตาของสาธารณะ
ไปสู่ชีวิตสงบ อ่อนน้อมถ่อมตน กระจ่างใส
ยิ่งกว่าสิ่งใดๆ
ที่วัฒนธรรมบริโภคอย่างฉาบฉวยรู้จักกัน.

                                                                                             มาร์ค เอ.เบิร์ช

จากหนังสือ “ความเงียบ”
จอห์น เลน เขียน, สดใส ขันติวรพงศ์ แปล  

 

picture one

กลับคืนสวนบนเนินเขา,อีกครั้ง
ในเวลาย่ำเย็น ตะวันลับดอยไปนานแล้ว
ชีวิตไม่สนใจกาลเวลา,นกป่ายังคงเริงร่าบนกิ่งไม้
ขนกล้าไม้ลงจากท้ายกระบะรถ
ก้มหยิบจอบที่ซ่อนซุกอยู่ใต้ถุนบ้าน
หอบกระถางดอกไม้วางในตำแหน่งที่เหมาะสม
ขุดหลุมปลูกมะลิ แก้ว ชวนชม โมก หอมหมื่นลี้ ตรงหน้าบ้านที่ยังสร้างไม่เสร็จ
แยกหน่อแยกกอไผ่เลี้ยงลงริมขอบรั้วด้านทิศเหนือเอาไว้กันลมแรง
ทำงานไป หยุดพักไป ปาดเหงื่อกับท่อนแขนเสื้อเปียกชื้นเย็น
หยุดจ้องมองไปเบื้องหน้า...ภูเขายังคงเขียวคราม ลมค่ำยังพัดไหว
เบื้องล่างต่ำลงไป ทุ่งนายังงามงดสดสียอดตองของกล้าข้าว

picture one

เสียงมอเตอร์ไซค์คันเก่าของพ่อไต่เนินเขาดังแว่วมาแต่ไกล
ใช่แล้ว, พ่อมาเอาอาหารอ่อยให้หมูที่เลี้ยงไว้ในคอกเล้าในสวน
ดูสิ, ใบหน้า ดวงตา รอยยิ้มของพ่อวัยเจ็ดสิบกว่า
ยังคงเจิดจ้าฉายแววความหวังและมีเมตตาอยู่อย่างนั้น
อยู่กับความสุข ชีวิตเรียบง่าย ไม่มีพิธีรีตอง
นั่งอยู่บนขอนไม้ หั่นหยวกกล้วยอยู่ใต้ถุนบ้าน
มีหมานอนหมอบอยู่ข้างกายพ่อ
เพียงครู่เดียว ก็หยิบหยวกกล้วยผสมแกลบรำ
คนคนกับน้ำก่อนหิ้วถังไปเทใส่รางอาหารในคอกหมูกินอย่างมูมมาม
แม่ไก่ของเพื่อนบ้านวนเวียนอยู่ใกล้ๆ
และเจ้าหมาก้มกินเศษอาหารที่กระเด็นอยู่รายรอบเล้า
มองกี่ครั้ง กี่ครั้ง,ทุกชีวิตล้วนเป็นบทกวี
ที่เคลื่อนไหวเต้นย่างไปมา

นั่น,ดอกสักขาวโปรยร่วงพราว
ยามสายลมโชยพัดมา
ก่อนฝนมาเยือน.

Pages

Subscribe to สังคม