สื่อ

Mod & Munir : 2M ผู้ยิ่งใหญ่ของคนจนไทย-อินโด

10 December, 2007 - 15:39 -- korkaew
มด วนิดา
ภาพจากประชาไท
Munir
ภาพจากวิกิพีเดีย

 

คนสองคนจากต่างดินแดน แต่ “หัวใจ” คล้ายคลึงกัน ยึดมั่นในอุดมการณ์ สร้างความยุติธรรมแก่สังคม ต่อสู้เพื่อคนจนและผู้ด้อยโอกาส ต่อสู้เพื่อสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ นึกถึงคนจนและความยุติธรรมอันดับแรก ห่วงใยและคำนึงถึงตนเองเป็นสิ่งสุดท้ายที่กระทำ 

มด/ วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์

เกิด     2498

บ้านเกิด  กรุงเทพฯ

การศึกษา รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ครอบครัว
เกิดในครอบครัวคนจีนชนชั้นกลางที่ค่อนข้างมีฐานะ แต่เป็นลูกที่แตกต่าง มีวิญญาณขบถตั้งแต่ศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย เข้าร่วมต่อสู้เพื่อประชาชนในยุค 14 ตุลา ตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนมัธยม ซึบซับวิญญาณการต่อสู้ หลังจาก 6 ตุลา ต้องหลบหนีภัยการเมืองเข้าป่าเกือบ 4 ปี

กิจกรรม
ทำกิจกรรมด้านสังคมตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา
สภาหน้าโดม วงดนตรีกรรมาชน สนใจเรื่องปัญหาชนชั้นกรรมาชีพ ตั้งแต่ยังศึกษาที่ธรรมศาสตร์ เข้าไปคลุกคลีช่วยเหลือแรงงานที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ จากนายทุนเจ้าของโรงงาน และมีชื่อเสียงจากการเป็นผู้นำการต่อสู้ ของคนงานโรงงานฮาร่า ยืนหยัดต่อสู่อย่างมั่นคง กระทั่งคนงานสามารถยึดโรงงาน ผลิตสินค้าออกมาขายเองได้

งาน
ยืนอยู่เคียงข้างประชาชนคนยากไร้ทุกกลุ่ม ทุกเครือข่ายมาโดยตลอด  ขบวนการประชาชน ที่สร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนค่อนข้างมาก ในรอบสิบปีมานี้ คือ ขบวนการสมัชชาคนจน ซึ่งมีเครือข่ายคนจนทุกกลุ่มเข้าร่วมเป็นสมาชิก และการต่อสู้เรื่องเขื่อนปากมูนอย่างยาวนาน มีความมั่นคงในอุดมการณ์การต่อสู้ ระหว่างการต่อสู้ ขบวนการประชาชนเกิดการเรียนรู้ และก่อให้เกิดการยอมรับภูมิปัญญาชาวบ้าน เกิดงานวิจัยโดยชาวบ้าน กลายเป็นองค์ความรู้ที่ยอมรับในวงวิชาการ

ชีวิต
มด-วนิดาเป็นคนอยู่ง่าย กินง่าย ไม่ฟุ่มเฟือย ชีวิตเรียบง่าย ติดดินทำงานกับชาวบ้านได้อย่างกลมกลืน ทำงานหนักตลอดชีวิตของการทำงานเพื่อปวงชน ดูแลตนเองน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ควรค่าแก่การคารวะยิ่ง อย่างไรก็ตามเธอมีความเข้มแข็งอย่างที่สุด เมื่อสามารถยืนหยัดอยู่กับมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง โดยไม่ยอมปริปากให้ใครเป็นห่วงนานนับปี กระทั่งยอมรับการรักษาทางการแพทย์ และโรคร้ายก็คร่าชีวิตนักสู้ผู้ยิ่งใหญ่ของคนจนเมื่อ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา  

Munir Said Thalib

เกิด 2508

บ้านเกิด สุราบายา อินโดนีเซีย

การศึกษา กฎหมาย มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบาวิจายา เมืองมารัง จังหวัดชวาตะวันออก

ครอบครัว
เกิดในครอบครัวอาหรับ อินโดนีเซีย ซึ่งปกติชาวอาหรับมีความเชี่ยวชาญทางด้านธุรกิจการค้า เป็นชนชาติที่ค่อนข้างร่ำรวยในอินโดนีเซีย ไม่เชี่ยวชาญและยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ครอบครัวมูเน่ก็เช่นเดียวกัน มุ่งในเรื่องของธุรกิจในครอบครัว คิดแต่เรื่องสร้างฐานะให้เป็นปึกแผ่น แต่มูเน่กบฏต่อครอบครัว ไม่ยอมทำตามกฎเหมือนครอบครัวอาหรับทั่วๆ ไป ตั้งแต่เข้าเป็นนักศึกษาก็เลือกเรียนกฎหมาย และสนใจการทำกิจกรรมเพื่อช่วยคนจนคนด้อยโอกาสมากกว่า ซึ่งแทบจะหานักกิจกรรมชาวอาหรับ-อินโดนีเซียได้น้อยมาก ในรั้วมหาวิทยาลัย และในสังคมอินโดนีเซีย

กิจกรรม
เป็นนักกิจกรรมตัวยง เป็นประธานสภานักศึกษาของมหาวิทยาลัย สนใจปัญหาแรงงาน การกดขี่ค่าแรงในเมืองสุราบายา เข้าร่วมกิจกรรมช่วยเหลือด้านแรงงานที่ถูกกดขี่ เอารัดเอาเปรียบจากนายทุน กระทั่งได้แต่งงานกับผู้นำกรรมกรหญิงชื่อ ซูซีวาติ ซึ่งต่อสู้เคียงข้างกันเพื่อคนด้อยโอกาส และเพื่อสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอด

งาน
จากสุราบายา และหลังจากซูฮาร์โตลงจากอำนาจในปี 2541 เขาเดินทางสู่กรุงจาการ์ตา และก่อตั้งองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ชื่อว่า KONTRAS หรือ Committee Against Disappearances and Torture ในยุคซูฮาร์โต 32 ปีที่ครองอำนาจ มีผู้คนเสียชีวิต ถูกจับ และสูญหายในยุคนั้นจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงปราบปรามคอมมิวนิสต์ มีผู้คนล้มตายมากกว่าสองล้านคน เหยื่อการเมือง และบ้าอำนาจของซูฮาร์โตส่วนใหญ่กระทำการต่อต้าน วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลซูฮาร์โต ซึ่งมูเน่และองค์กร ได้ยกประเด็นผู้สูญหายทั้งหมดในยุคนั้น ขึ้นมาเป็นประเด็นเชิงสังคมที่รัฐบาลในยุคนั้นต้องตอบคำถาม และค้นความจริงของการสูญหาย เสียชีวิต และถูกจับในยุคนั้น ทำให้ทหาร และผู้มีอำนาจในยุคนั้นแค้นเคืองมูเน่ ที่กัดไม่ปล่อยในปัญหาดังกล่าว

ชีวิต
วิถีชีวิตกับอุดมการณ์ของมูเน่ สอดคล้องกันอย่างควรค่าแก่การคารวะ เขาไม่สนใจสร้างฐานะในแบบครอบครัวอาหรับ เขาใช้ชีวิตเรียบง่าย มีเพียงมอเตอร์ไซต์หนึ่งคันสำหรับเดินทางไปไหนต่อไหน งานของเขาเสี่ยงต่อชีวิตอย่างมาก เพราะมีผู้อำนาจหลายคนเสียผลประโยชน์จากการต่อสู้ของเขา เขาเสียชีวิตจากการวางยาพิษเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2547 ขณะนั่งเครื่องบนไปเรียนต่อที่อัมสเตอร์ดัม จนกระทั่งปัจจุบันทางการยังไม่สามารถจับผู้ร้ายได้ อย่างไรก็ตาม เขาเป็นนักสู้แถวหน้าของเอ็นจีโอ อินโดนีเซีย การตายของเขาเป็นจุดร่วมและกระตุ้นให้ประเด็นสิทธิมนุษยชน ในอินโดเซียเป็นประเด็นที่ทั่วโลกติดตาม

ขอคารวะแก่ จิตวิญญาณของสองผู้ยิ่งใหญ่ของคนจน: ไทย-อินโดนีเซีย ในแง่อุดมการณ์ที่แน่วแน่มั่นคง 

Note*: ขอบคุณ Mr.Heru Suseto, Deputy Dean Department of Law Society and Development Faculty of Law University of Indonesia ที่ให้ข้อมูลมูเน่

'ลูกแหง่' แห่งรัฐไทย

"ต้นตอของปัญหาใหญ่ๆ ในสังคม พบว่าเรื่องหนึ่งคือ คนที่เป็นเจ้าของปัญหาไม่มีช่องทางส่งเสียงของตัวเองในช่องทางสื่อสารมวลชน ยิ่งวิทยุและทีวีนั้นยิ่งไม่ต้องพูดถึง พื้นที่ของคนเดือดร้อน ถูกเบียดออกมาบนท้องถนนที่ออกมาประท้วงให้คนเมืองใหญ่รำคาญ"

 

ห้องสมุด 365 วัน

 

แนวคิดเรื่อง ห้องสมุดไร้กำแพง' หรือ Library without wall ถูกพูดถึงในหลักสูตรการเรียนรู้ของเหล่าบรรณารักษ์มาหลายปีดีดักแล้ว และระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตก็กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำลายกำแพงห้องสมุดลง เพื่อทำให้แนวคิดนี้เป็นจริงขึ้นมาได้

พักหลังๆ เลยไม่ค่อยมีคนติดกับภาพบรรณารักษ์ยุคก่อนๆ ที่ต้องอนุรักษ์ความเชย ความเฮี้ยบ และเงียบเอาไว้กับตัว เพราะบรรณารักษ์ยุคใหม่เปิดตัวเองกับโลกภายนอก (และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม) มากขึ้นเยอะ

บล็อกยอดนิยมเจ้าหนึ่งในเวิร์ดเพรส ได้แก่ บล็อกเกี่ยวกับห้องสมุด projectlib.wordpress.com ซึ่งเจ้าของบล็อกประกาศตัวว่าเป็นหนอนหนังสือเต็มขั้น และเป็นหนึ่งในบรรณารักษ์ยุคดิจิทัลที่ติดตามข่าวสารบ้านเมืองพอๆ กับที่สนใจข้อมูลที่เป็นสาระความรู้อื่นๆ ด้วย

เพราะอย่างนี้ความเคลื่อนไหวใหม่ๆ ในแวดวงต่างๆ นอกเหนือจากเรื่องหนังสือ ห้องสมุด วัฒนธรรม สังคม ที่น่ารู้ เลยถูกรวบรวมเอาไว้ในบล็อกนี้อย่างจุใจ

ที่สำคัญ บรรณารักษ์ที่นี่ไม่มองลอดแว่นหรือทำตาเขียว กรณีที่ใครคิดจะอ่านออกเสียงดังๆ หรือจะเอาอาหารมากินประกอบการอ่านบล็อกห้องสมุดแห่งนี้แน่ๆ

เพื่อน

13 November, 2007 - 04:52 -- korkaew

มีโอกาสต้อนรับเพื่อนชาวอินโดนีเซียที่มาเยือนเมืองไทยเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา  หลังจากที่เธอเสร็จสิ้นภารกิจการงานในกรุงเทพมหานคร ที่ได้รับมอบหมายจากที่ทำงานแล้ว เธอก็บินตรงไปยังภูเก็ต และแวะเยี่ยมเยือนผู้เขียนที่พังงา

ขอเรียกเธอสั้นๆ ว่า ทีน่า เธอเป็นลูกครึ่งจีน-อินโดนีเซีย ทำงานเป็นเลขานุการ  ที่สถานทูตสหรัฐอเมริกา ประจำอินโดนีเซีย แม้ร่างกายจะไม่สมบูรณ์แต่เธอก็ได้รับโอกาส ให้ทำงานในตำแหน่งหน้าที่สำคัญของสถานทูต เธอแสดงให้เห็นว่า ร่างกายไม่ใช่อุปสรรคของการทำงานและขาดความคล่องตัวแต่อย่างใด ตลอดเวลาสิบกว่าปีในการทำงาน เธอได้รับมอบหมายให้ไปดูงานต่างแดนหลายประเทศ เช่น อียิปต์ สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ประเทศไทย ฯลฯ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการทำงานของเธอ 

1
ทีน่า กับเพื่อนๆ

เคยถามเธอว่า สังเกตจากสิ่งแวดล้อมที่กรุงจาการ์ตาและอีกหลายเมืองในอินโดนีเซีย ไม่ว่าจะเป็นห้องน้ำสาธารณะ รถประจำทางสาธารณะ ห้างสรรพสินค้า หรือสถานที่สาธารณะต่างๆ แม้แต่ส่วนราชการ ไม่ได้ให้ความสำคัญและเอื้ออำนวยต่อคนพิการหรือร่างกายไม่สมบูรณ์เลย เพราะไม่มีเครื่องมือใดๆ ช่วยเหลือและบริการสำหรับคนพิการ 

แล้วเธออดทนได้อย่างไรมาเป็นเวลาเกือบ 50 ปี เธอยอมรับว่า รัฐบาลไม่ให้ความสำคัญกับกลุ่มคนพิการ ซึ่งคงต้องรณรงค์และกดดันให้รัฐบาลเห็นความสำคัญต่อปัญหานี้ อินโดนีเซียยังถือว่าเป็นประเทศที่ยากจน ปัญหาสำคัญของอินโดนีเซียตอนนี้คือ การพยายามกำจัดปัญหาคอรัปชั่น ซึ่งเป็นปัญหามหึมาของประเทศ หากกำจัดคอรัปชั่นไม่ได้ ประเทศจะไม่มีทางไปรอด เธอบอกว่า การคอรัปชั่นของอินโดนีเซียเป็นการคอรัปชั่นแบบไม่มียางอาย ที่เธอรับไม่ได้เอาเสียเลยก็คือ เงินบริจาคช่วยเหลือเหตุการณ์สึนามิ ที่ระดับรัฐมนตรีกระทรวงหนึ่งประกาศในสื่อเลยว่า เงินบริจาคของชาวต่างชาติ ให้โอนเข้าบัญชีธนาคารของเขา เพื่อที่เขาจะนำไปช่วยเหลือชาวอาเจะห์ด้วยตนเอง เธอมองว่านอกจากจะแสดงให้เห็นถึงการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ไม่ได้เรื่องแล้ว นักการเมืองเหล่านี้ยังดูแคลนสติปัญญาคนอินโดนีเซีย นึกว่าประชาชนไม่รู้ว่านักการเมืองคอรัปชั่นขนาดไหน นี่ไม่ใช่ยุคปิดหูปิดตาประชาชนเหมือนในอดีต เธอบอกว่าอย่างนั้น 

นี่คือปัญหาของอินโดนีเซีย  เธอเป็นประชาชนธรรมดาที่ไม่ฝักใฝ่เรื่องทางการเมืองแม้จะเป็นกลุ่มการเมืองทางเลือกก็ไม่สนใจ ความจริงแล้ว ภาคประชาชนของอินโดนีเซีย หรือ เอ็นจีโอของเขาเข้มแข็งมาก พยายามตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่น และการละเมิดสิทธิมนุษยชนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันอย่างแข็งขัน เมื่อแข็งมาก แรงกดของฝ่ายอำนาจก็มากเป็นลำดับเช่นกัน คนทำงานเอ็นจีโอด้านสิทธิมนุษยชน คนสำคัญของอินโดนีเซียได้สังเวยความกลัวการตรวจสอบเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนของฝ่ายอำนาจมาแล้วหนึ่งราย (ในยุคประชาธิปไตย) คือ Munir เขาเสียชีวิตด้วยยาพิษ เมื่อครั้งที่เขานั่งเครื่องบินไปต่างประเทศ ซึ่งจะนำเรื่องราวของเขามาให้อ่านในตอนต่อไป

2
ทีน่ากับเพื่อน ศราวุธ ประทุมราช

สำหรับทีนา สิ่งที่เธอทำได้ในการแก้ปัญหาให้กับตัวเองแบบคนธรรมดาสามัญ คือ ให้กำลังใจตนเอง และครอบครัวเป็นกำลังใจสำคัญในการดำรงอยู่ เธอสามารถช่วยเหลือตัวเองได้เกือบเท่าๆ กับคนที่มีร่างกายสมบูรณ์ แต่ใช้กำลังมากกว่าเกือบสองเท่า ใจเธอสู้แม้ผู้เขียนยังทึ่ง เพราะสิ่งที่เธอเรียกร้องในการท่องเที่ยวพังงาครั้งนี้คือ พายเรือแคนู ซึ่งเธอว่ายน้ำไม่ได้ เธออยากเห็นป่าเมืองไทย แต่ผู้เขียนจนใจ ยอมแพ้เรื่องศักยภาพของคนนำเที่ยว (คือผู้เขียนเอง) มากกว่า เพราะกลัวจะพาเธอไปไม่รอด เลยได้แค่ขี่ช้างท่องป่า สบายขึ้นมาหน่อย และลงเรือแคนูพร้อมกับเธอ แม้มันล่มก็ยังมีฝีพายและเสื้อชูชีพพยุงกันไปได้ 

แม้บางเวลาเธอจะอ่อนแออย่างเห็นได้ชัด แต่ก็พยายามรบกวนคนอื่นแต่เพียงเล็กน้อย ช่วงที่อยู่อินโดนีเซีย เธอแสดงน้ำใจในความเป็นเจ้าบ้าน คอยแนะนำให้ความเห็นเรื่องวัฒนธรรมประเพณีของอินโดนีเซีย เธอเป็นนักอ่าน และชอบเรียนรู้ สังเกตจากความรอบรู้ของการตอบคำถามของเพื่อนต่างบ้านต่างเมือง เพื่อนๆ ก็ได้รับความคิดเห็นในมุมแปลกใหม่ของเธอ ในเรื่องความแตกต่างทางวัฒนธรรมของแต่ละภาคของอินโดนีเซีย แถมยังมีตัวอย่างให้ได้ปฏิบัติกันจริงด้วย ด้วยการพาพรรคพวกไปพิสูจน์วัฒนธรรมเรื่องอาหารการกินของคนจีนผสมวัฒนธรรมซูดาน ซึ่งเป็นพื้นที่แถบตะวันตกของอินโดนีเซีย โดยฝีมือคุณแม่ของเธอ ที่บ้านในเมืองโบโกร์ เมืองเดียวกับสถานที่ตั้งที่พักของประธานาธิบดีอินโดนีเซีย  ซึ่งห่างจากจาการ์ตาราว 54 กิโลเมตร นับเป็นอาหารที่สุดแสนอร่อยมื้อหนึ่งสำหรับพวกเรา 

3
อาหารมื้อที่อร่อยที่สุดมื้อหนึ่ง

ทีน่าเป็นความทรงจำที่ดีจากอินโดนีเซีย นั่นคือ ความเป็นคนอินโดนีเซียที่น่ารักและมีน้ำใจ “ผู้คนน่ารัก” ไม่ได้มีแต่ในบ้านเรา แต่มีทุกหนทุกแห่งในโลก โดยเฉพาะคนหาเช้ากินค่ำและผู้คนในชนบททุกแห่งหนที่ผู้เขียนได้พบเจอ  ภาษาไม่ได้เป็นอุปสรรคที่จะเห็นการกระทำด้านดีและมีเมตตาของมนุษย์ ผู้เขียนทำการบ้านเรื่องภาษาอินโดไปน้อย พูดได้งูๆ ปลาๆ เช่น  ซายา เมา เปอกี บันดุง (แปลว่า ฉันต้องการจะไปบันดุง) ชาวบ้านเห็นว่า คงได้แค่นี้มั้ง ทั้งชาวบ้านและคนขับรถในหมู่บ้านชายแดนเมืองบันดุงจึงรุมช่วยเหลือ ช่วยกันโบกรถประจำทาง แถมกำชับคนขับให้ไปส่งให้ถึงเมืองบันดุง (น่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะเขาคุยกับคนขับแล้วชี้มือชี้ไม้มาทางผู้เขียน) วันนั้นก็กลับถึงที่หมายอย่างปลอดภัย 

อีกครั้งหนึ่งในใจกลางเมืองบันดุง ซึ่งผู้เขียนได้รับการเตือนมาว่า อย่าใช้บริการแท็กซี่ ฉะนั้นจึงเลือกใช้บริการรถสองแถว ซึ่งแน่นขนัด และท่ามกลางความมืดมิดของราตรีนั้น ผู้เขียนกลับได้รับแสงสว่างจากน้ำใจคนขับและชาวบ้านที่โดยสารมาด้วยกัน เนื่องจากผู้เขียนต้องต่อรถอีกทอดไปยังโรงแรมที่พัก แต่สถานที่รอรถนั้นไฟฟ้าสลัวๆ น่ากลัวมาก ชาวบ้านที่อยู่บนรถต่างส่งภาษาที่ผู้เขียนไม่ทราบว่าพูดอะไร แต่คนขับรถพาผู้เขียนมายืนรอที่ป้ายรอรถ แถมยังรอนานถึง 20 นาที โดยที่ผู้โดยสารไม่มีใครบ่นสักคำ จนกระทั่งรถอีกคันมาถึง คนขับจึงบอกให้ขึ้นรถ และไปช่วยกำชับกับคนขับคันที่ผู้เขียนนั่งให้ไปส่งที่โรงแรมในนามบัตรที่ผู้เขียนส่งให้เขาดูก่อนหน้านี้ ผู้เขียนจึงได้ทราบว่า ทุกคนยอมเสียเวลาเพราะเมตตาคนต่างถิ่นต่างภาษาที่ต้องรอรถในเวลาค่ำมืดเพียงลำพัง เป็นเรื่องที่ซาบซึ้งใจอย่างมาก

ภาษาท้องถิ่นเป็นสิ่งสำคัญในการเข้าถึงชีวิตและวัฒนธรรมของผู้คน ซึ่งต้องตระหนักแต่ประสบการณ์ของผู้เขียน “ภาษากาย” และ “ภาษาใจ” ก็สำคัญไม่น้อย หมายถึงการมีท่าทีและความจริงใจต่อสิ่งที่อยู่ตรงหน้า เป็นเรื่องที่สร้างไมตรีต่อกันได้เช่นกัน

4

วันนี้ทีน่าคงมีความสุขกับครอบครัว และขึ้นรถไฟจากที่บ้านซึ่งห่างจากที่ทำงานถึง 54 กิโล ไป - กลับทุกวัน ร่างกายที่ไม่เอื้ออำนวยไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานและการมีน้ำใจต่อคนอื่นเลย

ความคิดสีเขียวของ ‘วัน ตัน’

 

ใครที่เป็นแฟนประจำนิตยสาร สารคดี' ย่อมรู้ว่า วัน ตัน' เป็นนามปากกาของ บก.วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ - ผู้เป็นทั้งนักคิด นักเขียน และคนทำหนังสือผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อสิ่งพิมพ์ของไทย

นอกเหนือจากบทบาทการเป็นนักคิดนักเขียน วันชัยยังเป็นนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและเป็นนักเคลื่อนไหวด้านกิจกรรมเพื่อสังคมอีกนับไม่ถ้วน บท บก.ของวันชัย จึงเป็นสิ่งที่หนอนหนังสือ ต้องอ่าน' พอๆ กับคอลัมน์ที่ วัน ตัน' เขียนถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นบนโลกสีเขียวใบนี้ แง่มุมดีๆ และความคิดที่ชวนให้เก็บไปต่อยอด มักมีที่มาจากงานเขียนหลายๆ ชิ้นบนพื้นที่หน้ากระดาษที่ว่ามาแล้วทั้งสิ้น

ตอนนี้สารคดีเปิดพื้นที่ บล็อก' ให้กับสมาชิกและคนในกอง บก.แล้ว นักเล่นเน็ตจึงมีโอกาสได้อ่านงานของวันชัย และวัน ตัน ได้ง่ายดายและรวดเร็วขึ้น

เท่านั้นยังไม่พอ บล็อก http://www.sarakadee.com/blog/oneton/ ของวันชัย ไม่ใช่แค่สถานที่เก็บงานเขียนในสารคดีเท่านั้น แต่เป็นแหล่งรวมความคิดเห็นที่น่าสนใจของวันชัยในแง่ต่างๆ เพื่อให้คนที่สนใจตามอ่านกันได้ โดยไม่้ต้องใช้เวลาไปกับการเสาะแสวงหาผลงานของวันชัยจากหลายๆ ที่

ล่าสุด บก.วันชัย พูดถึงพลังงานนิวเคลียร์, สถานการณ์ในพม่า และ ตลกร้าย' เรื่องเอฟทีเอ ไทย-ญี่ปุ่นด้วย

บอกได้คำเดียวว่า ไม่น่าพลาด'

 

ถึงคราว 'หมดปัญญา'

ประกาศตัวเป็น 'นิตยสารออนไลน์' รายล่าสุดที่เปิดให้ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตดาวน์โหลดเนื้อหาข้างในเล่มมาอ่านกันได้ฟรีๆ ทุกหน้า ที่ www.modepanya.com ด้วยความตั้งใจของคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ไฟแรง คือ ณ พงศ์ วรัญญานนท์, เวสารัช โทณผลิน และ ศิริพร ฤกษ์สิรินุกูล ที่อยากสร้างสรรค์สารคดีเสริมปัญญาให้นักอ่านได้เสพสาระและความบันเทิงกันแบบไม่ต้องอาศัยทุนรอนมากนัก (ที่สำคัญ-ไม่ต้องตัดต้นไม้มาทำหนังสือ ช่วยบรรเทาภาวะโลกร้อนไปได้อีกนิดหน่อย)

แม้จะไม่ใช่หนังสือทำอาหาร แต่บทความหลายชิ้นช่วยบำรุงสมองนักอ่านได้ดี มีสรรพคุณด้านการกระตุ้นความคิด ซึ่งอาจจะฟังดูขัดแย้งกับชื่อ 'หมดปัญญา' ที่เป็นหัวนิตยสารอยู่บ้าง แต่คนทำก็แก้ต่างไว้ในบทบรรณาธิการว่า แท้จริงแล้ว 'หมดปัญญา' เป็นคำย่อที่กร่อนมาจาก 'โหมดปัญญา' Modepanya นี่เอง

บทสัมภาษณ์หลากหลายในฉบับแรก สำแดงความบ้าพลังของคนทำเป็นอย่างดี อาทิ การคุยกับ 'สุชาติ สวัสดิ์ศรี' หรือ 'สิงห์สนามหลวง' 'ประกาย ปรัชญา' ผู้ดำรงชีวิตด้วยการเป็นกวี 'ตุลย์ ไวฑูรย์เกียรติ' นักแต่งเพลงผู้กำลังเล่นเกมภาษา รวมถึง 'สายสวรรค์ ขยันยิ่ง' ผู้คว้ารางวัลเกียรติยศด้านการใช้ภาษาไทย นอกจากนั้นยังมีกราฟิกสวยที่รวมภาพแบบเรียนตั้งแต่ยุคแรกไปจนถึงยุคสร้างชาติและยุคล่า (สุด) ภายใต้คอนเสปต์รวมๆ เรื่อง 'ภาษา' ที่มีความเกี่ยวพันโยงใยกับเราทุกคน...

ของดีๆ แล้วยังเปิดให้อ่านฟรีๆ แบบนี้...

ใครไม่อ่านก็คง 'หมดปัญญา' เหมือนกันแหละ

Pages

Subscribe to สื่อ