สุขภาพ

บนเส้นทางชีวิต ที่ร่วมเดินกับหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์

 

หลังจากนัดคุยกันระหว่างตัวแทนองค์กรเอกชนในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพเมื่อวันศุกร์ที่ 18 ม.ค.51 เราต่างแยกย้ายกันราวๆ บ่ายสามโมงกว่า ขณะที่แต่ละคนกำลังเดินทางยังไม่ถึงที่หมายต่างก็ได้รับแจ้งเรื่องการจากไปอย่างสงบของคุณหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คนแรกของประเทศไทย

คุณหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ หรือคุณหมอใจดีในสายตาภาคประชาชนที่ขับเคลื่อนเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานในการได้รับบริการสาธารณสุขเพราะหมอสละเวลาบ่อยมากที่จะรับฟังความทุกข์ ความคับข้องใจ และความสูญเสียที่ประชาชนได้รับจากความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพของไทย ตลอดจนหมอคือคนที่รับปากเริ่มต้นว่าจะดำเนินการทุกวิถีทางที่จะทำให้คนไทยได้ใช้ยารักษาโรคต่างๆ ในราคาที่ถูกลง ทำให้ทุกคนสามารถได้รับการรักษาได้โดยไม่ต้องพะวงว่าไม่มีเงินเพียงพอรักษา นั่นคือรับปากว่าจะหาทางทำให้การทำซีแอล* เป็นจริงในประเทศไทย

ดิฉันหยิบหนังสือที่คุณหมอมอบให้เมื่อต้นปี 48 มาพลิกดูอีกครั้ง หนังสือ "บนเส้นทางสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า" ปกหน้าด้านใน มีลายมือของหมอเขียนว่า "ขอให้กำลังใจการทำความดี เป็นเครือข่ายเป็นสายใยแห่งความงดงามในสังคมเสมอ" ดิฉันตระหนักเสมอว่าคุณหมอคือสายใยแห่งความงดงามเสมอเช่นกัน

การพบกันครั้งแรกระหว่างดิฉันกับคุณหมอ เกิดขึ้นเมื่อสักปี 42 เมื่อดิฉันต้องทำหน้าที่เชื่อมประสานเครือข่ายประชาชนให้มาช่วยกันร่างกฎหมายว่าด้วยระบบหลักประกันสุขภาพ การต้องเริ่มต้นเขียนกฎหมายทั้งที่ไม่เคยเรียนกฎหมายและไม่เคยอ่านกฎหมายอย่างเป็นจริงเป็นจังมาก่อนหน้านั้นนับเป็นเรื่องยากมาก วันนั้นคุณหมอเดินเข้ามาในห้องที่เรากำลังประชุมกันเรื่องเนื้อหากฎหมาย พร้อมด้วยเอกสารร่างกฎหมายหลักประกันสุขภาพที่คุณหมอเคยจัดทำและผลักดันให้เกิดการดำเนินการในกระทรวงสาธารณสุข แต่เนื่องจากคงเป็นเรื่องที่ก้าวหน้าเกินไปกฎหมายฉบับนั้นไปไม่ถึงฝั่งฝัน แต่คุณหมอก็ไม่ท้อถอยและหยุดการขับเคลื่อน

จากหนังสือ "บนเส้นทางสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า" และหนังสืออื่นๆทั้งในงานด้านวิชาการ และการเขียนสรุปมุมมอง ความเห็น หลักการความเชื่อ ที่คุณหมอผลิตออกมาอย่างต่อเนื่องทำให้รู้ว่าคุณหมอทำงานอย่างต่อเนื่องและเข้มข้นทุกขณะ ทั้งการทดลองปฏิบัติการปฏิวัติระบบสุขภาพในพื้นที่ การทำงานวิจัย การสร้างพันธมิตรทางวิชาการและกลุ่มบุคคลากรทางการสาธารณสุข การดำเนินนโยบายประกันสุขภาพในกระทรวงสาธารณสุข บัตรสุขภาพ บัตรสปร.สำหรับคนยากไร้ในการรักษาฟรี ตลอดจนการร่วมกับเครือข่ายประชาชนในการร่างกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อปี 42 เป็นต้นมา

ดิฉันเองเริ่มเข้าใจระบบหลักประกันสุขภาพจากการร่วมในการร่างกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประกอบกับประสบการณ์อันเลวร้ายจากประกันสังคมที่ถูกบังคับให้ร่วมจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน เมื่อดิฉันตัดสินใจยุติการทำงานในองค์กรออกมาเป็นคนทำงานรับจ้างทั่วไป ดิฉันต้องหาเงินประจำทุกเดือนให้ได้เพื่อจ่ายเป็นค่าประกันสังคมให้ตนเอง เนื่องจากวิตกว่าหากตนเองเจ็บป่วยเป็นอะไรไปจะเป็นภาระต่อญาติพี่น้องในการดูแล ซึ่งเป็นการจ่ายที่ดิฉันต้องจ่ายแทนนายจ้าง (ที่ไม่มีแล้ว) ด้วย ซึ่งนับว่าเป็นการเสียเปรียบอย่างมากของคนทำงานที่จ่ายเงินเข้ากองทุนอย่างดีมาโดยตลอด เมื่อไม่มีงานประจำทำก็แทบจะไม่ได้รับการเหลียวแลจากกองทุนประกันสังคมเลย ดังนั้นเมื่อเกิดระบบหลักประกันสุขภาพขึ้น ดิฉันจึงเลิกจ่ายเงินให้ประกันสังคมและเข้าเป็นผู้ใช้สิทธิในปีแรกๆ ของระบบหลักประกันสุขภาพที่กฎหมายมีผลดำเนินการในปลายปี 45 และมีโอกาสเป็นตัวแทนองค์กรเอกชนในการเป็นกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาตั้งแต่ต้น

นั่นคือทำให้ได้ร่วมงานและเห็นการทุ่มเทการทำงานอย่างสุดจิตสุดใจของคุณหมอสงวนมาโดยตลอด ยิ่งในช่วงแรกที่ระบบหลักประกันสุขภาพเกิดขึ้นได้เพราะอำนาจทางการเมือง การเริ่มต้นอย่างรวดเร็วและดำเนินการทั้งประเทศโดยที่บุคลากร และกระทรวงสาธารณสุขยังตั้งตัวไม่ทัน ทำให้คุณหมอถูกคาดคั้น บีบคั้น และคาดหวังจากทุกกลุ่ม ทั้งกลุ่มหมอที่ออกมาต่อต้านการจัดระบบหลักประกันสุขภาพ กลุ่มโรงพยาบาลที่ประท้วงเนื่องจากบอกว่าเงินไม่พอใช้ในการรักษา กลุ่มประชาชนที่ได้รับสิทธิและต้องการบริการที่มีคุณภาพ ตลอดจนอำนาจทางการเมืองในการบริหารคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพ การผลักดันให้ได้รับงบประมาณค่าใช้จ่ายรายหัวที่ต้องเพิ่มขึ้นเพื่อให้ครอบคลุม ทั่วถึง และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย รัฐบาลก่อกำเนิดระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติขึ้น ขณะเดียวกันรัฐบาลก็จำกัดงบประมาณที่จะทำให้เกิดบริการที่มีคุณภาพ แม้มีกฎหมายรองรับแต่ก็ยังไม่มั่นคงในเชิงนโยบายของการบริหาร

คุณหมอคะ การดับสิ้นในโลกนี้มิอาจทำให้การกระทำและเจตจำนงของคุณหมอดับไปด้วย ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องช่วยกันทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพเป็นระบบแห่งชาติที่มีคุณภาพ และทำให้ประชาชนทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีไม่ว่าจะเป็นคนไหน ชนชั้นใด หรือยากไร้เพียงใด มีอีกหลายเรื่องที่ดิฉันและเครือข่ายและสังคมต้องดำเนินการต่อไปนั่นคือ ระบบหลักประกันสุขภาพต้องไม่กีดกันคนที่ยังไม่มีสถานภาพบุคคล (ชาติพันธุ์ ชนกลุ่มน้อย คนยังไม่ได้บัตรประชาชน) ออกไป ต้องเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ มีมาตรฐานพื้นฐานเดียวกันของคนในสังคม ไม่แบ่งแยกว่าคนจน คนในประกันสังคม หรือคนในระบบราชการ การเชื่อมประสานกันระหว่างกฎหมายผู้ประสบภัยจากรถ กับกฎหมายหลักประกันสุขภาพ กองทุนประกันสังคมกับกองทุนหลักประกันสุขภาพและระบบรักษาข้าราชการ การคุ้มครองการเสียหายในระบบบริการ การเข้ามีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพทุกระดับ ดังที่เป็นปณิธานของคุณหมอตลอดมา

เส้นทางชีวิตร่วมกันแม้ไม่ยาวนานนัก แต่คุณหมอทำให้เกิดการเรียนรู้และเข้าใจชีวิตแห่งการเข้าใจคนอื่น การยอมรับความแตกต่างหลากหลาย การทำงานอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยท้อถอย และใส่ใจขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เพราะชีวิตหมอเป็นตัวอย่างที่ทำให้เกิดระบบหลักประกันสุขภาพขึ้นได้ในสังคมไทย

 

* ซีแอล มาจาก CL : Compulsory Licensing ; การบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตร หรือการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรโดยรัฐ เพื่อดำเนินการในกรณีที่ยามีราคาแพง อันเนื่องจากการมีสิทธิผูกขาดในระบบสิทธิบัตร ทำให้มีผลต่อระบบสาธารณสุข ทำให้รัฐไม่มีงบเพียงพอรักษาประชาชนในประเทศ เมื่อประกาศแล้วก็สามารถให้บริษัท หน่วยงานรัฐ ผลิต หรือนำเข้าจากประเทศอื่น

กรณีหลักประกันสุขภาพ เป็นประชานิยม: ประเมินต่ำไปไหม

เรากำลังอยู่ในห้วงเวลาของการเข้าสู่การเลือกตั้งครั้งแรกหลังรัฐประหารเมื่อ 19 ก.ย.49 หลายคนไม่ไปเลือกตั้งแน่นอนเพราะเป็นการเลือกตั้งที่เป็นผลพวงของการรัฐประหาร อย่างไรก็ตาม เราหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะได้ยินเสียงประกาศนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ ที่ตั้งใจหาเสียงกันอย่างเข้มข้น โดยนโยบายที่มาแรงสุดๆ เป็นนโยบายเกี่ยวข้องกับสวัสดิการของประชาชน ซึ่งมักจะถูกมองว่าเป็นนโยบายประชานิยม โดยมีน้ำเสียงดูแคลนและปรามาสว่าทำไม่ได้แน่นอนเพราะจำต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล โดยยกตัวอย่างว่านโยบายประชานิยมที่รัฐบาลชุดก่อนนำมาใช้และต้องใส่เงินลงไปจำนวนมากเช่น กองทุนหมู่บ้านที่ใช้งบไปมากกว่าเจ็ดหมื่นล้านบาท การพักหนี้เกษตรกร บ้านเอื้ออาทร แท็กซี่เอื้ออาทร หลักประกันสุขภาพ เป็นต้น ซึ่งต่างใช้เงินไปหลายหมื่นล้านบาท ส่งผลให้ระบบการคลังต้องทำหน้าที่จัดหาเงินให้เพียงพอ การเก็บภาษีที่ละเอียดมากขึ้น เพื่อนำเม็ดเงินมาใช้กับนโยบายซื้อใจประชาชน

อย่างไรก็ตาม นโยบายต่างๆ ที่ถูกมองว่าเป็นประชานิยมนั้นมีความต่างกันอยู่พอสมควร ดังที่ดิฉันได้มีข้อมูลและพินิจพิเคราะห์ดู นั่นคือขอเปรียบเทียบระหว่างกองทุนหมู่บ้านกับระบบหลักประกันสุขภาพ  นโยบาย 30 บาท เป็นนโยบายที่ถูกมองว่าเป็นประชานิยมสุดสุด คือรักษาฟรีสำหรับทุกคนที่ไม่ใช่ข้าราชการกับแรงงานในประกันสังคม  นั่นคือประชาชนที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายนี้มีจำนวนกว่า 45 ล้านคน อีก 20 ล้านคนไม่ได้ใช้ระบบนี้เพราะรัฐจ่ายให้ในรูปแบบอื่นคือสวัสดิการข้าราชการที่รัฐจ่ายต่างหาก และรัฐร่วมจ่ายบางส่วนให้คนงานในประกันสังคมด้วย

กรณีนโยบายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  เป็นนโยบายที่สร้างหลักประกันให้ประชาชนทุกคนได้รับการรักษาฟรีเมื่อเจ็บป่วย โดยใช้งบประมาณเริ่มแรกเมื่อปี 45 ปีละประมาณเจ็ดหมื่นล้านบาท ปีนี้ ปีงบประมาณ 51 ใช้งบรวมประมาณแสนล้านบาท งบที่กล่าวมานี้เป็นงบทั้งเงินเดือนหมอในกระทรวง  หมอในโรงพยาบาลเอกชน ค่าบุคลากร ค่ายา ค่าวัสดุอุปกรณ์ ค่าซ่อมแซม ที่โรงพยาบาล สถานพยาบาล หน่วยบริการ ต้องใช้ในการดูแลรักษาคนป่วยทั้งแบบผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน อุบัติเหตุ ฉุกเฉินต่างๆ โดยรัฐใช้วิธีเหมาจ่ายตามจำนวนรายหัวประชากรให้โรงพยาบาล ซึ่งเป็นระบบประกันคือเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข  คำนวณค่าใช้จ่ายให้ประชากรทุกคน แต่คนป่วยเท่านั้นที่ไปใช้บริการ คนไม่ป่วยก็ไม่ได้ใช้ค่าใช้จ่ายใดๆ  งบประมาณทั้งหมดจึงถัวเฉลี่ยทำให้โรงพยาบาลต่างๆ อยู่ได้  

ทั้งนี้ ในการจัดการงบประมาณ เป็นการจัดการใหม่คือใช้งบเดิมที่จัดสรรให้กระทรวงสาธารณสุขในแต่ละปีก่อนหน้านั้นอยู่แล้ว มาบริหารใหม่โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โรงพยาบาลได้รับงบเหมือนเดิม และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปี แต่ไม่มีการสร้างโรงพยาบาลเพิ่ม สร้างตึกเพิ่ม หากต้องสร้างเพิ่มจะเป็นความรับผิดชอบของกระทรวงสาธารณสุขในการตั้งงบประมาณในฐานะเป็นเจ้าของโรงพยาบาลของรัฐ  ในขณะที่ระบบหลักประกันสุขภาพใช้งบกระจายให้หน่วยบริการทั้งที่เป็นของเอกชนและของหน่วยงานรัฐอื่นเข้ามาร่วมให้บริการประชาชน ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้สะดวก ง่าย และทั่วถึงมากขึ้น ทั้งนี้มีการเพิ่มงบบางส่วนขึ้นในการรักษา การส่งเสริมป้องกันโรค และการบริหารจัดการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ซึ่งต่างจากนโยบายกองทุนหมู่บ้าน ที่เดิมไม่ได้มีงบใดๆ อยู่เลย การดำเนินการคือต้องจัดงบขึ้นมาใหม่หมด จำนวนเท่ากับหมู่บ้านและชุมชนเมืองที่อยู่ในประเทศ  ตัวเลขประมาณคือเจ็ดหมื่นกว่าหมู่บ้าน นโยบายให้เงินหมู่บ้านละหนึ่งล้านบาทต้องจัดหางบประมาณมากกว่าเจ็ดหมื่นล้านบาท และต้องพัฒนาระบบการจัดตั้งกองทุน การเตรียมการ การติดตามประเมินผลด้วยงบประมาณอีกจำนวนหนึ่ง โดยการได้รับประโยชน์ของประชาชนในหมู่บ้านนั้นๆ หากให้กู้ได้รายละไม่เกินสองหมื่นบาท มีคนได้กู้ปีละ 50 คน หากหมู่บ้านนั้นมีประชากร 500 คนได้กู้โดยไม่ซ้ำหน้ากันต้องใช้เวลา 10 ปี หรือน้อยกว่านั้นนิดหน่อยกรณีมีดอกเบี้ยเงินกู้จากผู้กู้รอบแรกๆ ซึ่งก็ไม่มากนัก ในระยะยาวต้องเพิ่มเงินเข้าไปในกองทุนอีกสักเท่าไรจึงจะทำให้ประชาชนที่จำเป็นต้องการเงินทุนจริงๆ ได้เข้าถึงและนำเงินกู้ไปเสริมสร้างความเข้มแข็งของตนเองและครอบครัวได้

ทั้งสองโครงการคือหลักประกันสุขภาพและกองทุนหมู่บ้าน ต่างถูกมองว่าเป็นโครงการประชานิยม แต่ความยั่งยืนจะอยู่ที่โครงการใดมากกว่ากัน และโครงการใดแสดงให้เห็นถึงการได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนมากกว่ากัน

การประเมินว่าระบบหลักประกันสุขภาพเป็นประชานิยมล้วนๆ เทียบเท่ากับโครงการอื่นๆ จึงเป็นการประเมินที่ต่ำเกินไป  เช่นเดียวกับที่มีข้อท้าทายทุกพรรคการเมืองที่ชูนโยบายเรียนฟรีจริงๆด้วยว่าคิดทำกันอย่างไร เพียงแค่หาเสียงหรือตั้งใจทำกันจริง เพราะเงินที่ให้กระทรวงศึกษาธิการปีๆ หนึ่งไม่น้อยกว่าสองแสนล้านอยู่แล้ว จะมีพรรคไหนกล้านำเงินก้อนนั้นออกมาจากมือกระทรวงศึกษาธิการ แล้วให้มีการจัดสรรการใช้เงินกันใหม่เพื่อสร้างระบบหลักประกันให้ประชาชนได้เรียนฟรีกันจริงๆ เพราะหากยังอยู่ในการบริหารของกระทรวงศึกษาธิการก็มองไม่เห็นว่าจะทำให้นโยบายนี้เป็นจริงได้เพราะงบกว่าสองแสนแปดหมื่นล้านนั้น ส่วนใหญ่เป็นงบเงินเดือนครูและบุคลากรต่างๆ และเป็นไปไม่ได้ว่ารัฐบาลจะหางบเพิ่มเติมมาเพื่อจัดการศึกษาฟรีได้อีกเพราะระบบการคลังก็มีเงินจำนวนไม่มากพอ สำหรับทุกโครงการทุกนโยบายของรัฐอยู่แล้ว

ดิฉันเองต้องการให้ประชาชนที่ได้รับประโยชน์จากระบบหลักประกันสุขภาพไม่ถูกบิดเบือนข้อมูลว่าเป็นนโยบายประชานิยมล้วนๆ เพราะนี่เป็นสิทธิของประชาชนและสามารถได้มาด้วยการจัดการบริหารอย่างมีคุณภาพ  มากกว่าการโยนเงินเข้าสู่หมู่บ้านแบบเห็นๆ แต่ไม่สร้างความมั่นคงในการได้รับสิทธิในการมีงานทำ มีที่ทำกิน มีที่อยู่อาศัย หรือได้รับการดูแลเมื่อยามชรา พรรคการเมืองที่บอกว่าจะให้มีระบบหลักประกันการศึกษา ทุกคนได้เรียนฟรีต้องอธิบายเรื่องการบริหารจัดการเงินของกระทรวงศึกษาธิการได้ด้วยจึงจะรอดพ้นจากนโยบายประชานิยมล้วนๆ มาเป็นนโยบายเพื่อสิทธิประชาชนตามรัฐธรรมนูญ และทำได้จริง พิสูจน์ได้จริงในแง่การใช้เงินงบประมาณและประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ

ควันหลง หลังลอยกระทง

บรรยากาศเทศกาลลอยกระทงที่ผ่านมาปลายเดือนพฤศจิกายนปี 50 นี้ ดิฉันอยู่ท่ามกลางการโฆษณาชวนเชื่อว่างานลอยกระทงที่ไหนยิ่งใหญ่กว่ากัน

ขณะเดียวกันก็ได้ยินการรณรงค์อยู่สองเรื่องใหญ่ๆ ที่เกี่ยวกับการลอยกระทง นั่นคือสปอตวิทยุเรื่องอย่ามีเพศสัมพันธ์กันในคืนวันเพ็ญเดือนสิบสอง มีการสัมภาษณ์ตำรวจว่าจะไปตั้งด่านสกัดคู่วัยรุ่นที่จะไปใช้บริการโรงแรมม่านรูดอย่างไร นี่เป็นการสื่อสารเรื่องหนึ่งที่กำลังจะกลายเป็นประเพณีคู่ไปกับวันลอยกระทง รวมวันอื่นๆ ด้วย อาทิ วันวาเลนไทน์ วันสงกรานต์  และการโฆษณาของเทศบาลนครเชียงใหม่ที่แต่เดิมถือเป็นแชมป์ในการจัดงานวันลอยกระทงที่เรียกความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั่วสารทิศมาโดยตลอด  แต่มาระยะหลังนี้ต้องเสียแชมป์ให้กับจังหวัดอื่นๆ ไปแล้ว เช่น สุโขทัย ปีนี้เทศบาลนครเชียงใหม่จึงออกแคมเปญว่าจะรื้อฟื้นความเชื่อ ประเพณีดั้งเดิมของเทศกาลยี่เป็ง  ทางเหนือนับเดือนทางจันทรคติเร็วกว่าภาคกลางไปสองเดือน ยี่เป็ง แปลว่าวันเพ็ญเดือนสอง โดยไม่มุ่งว่าจัดงานเพื่อนักท่องเที่ยวแต่เป็นการจัดงานเพื่อคนเชียงใหม่เอง หากจะมีนักท่องเที่ยวด้วยก็ถือเป็นผลพวง

ไม่รู้ว่าคืนวันลอยกระทงมีการมีเพศสัมพันธ์กันมากกว่าทุกๆ วันหรือไม่ เพราะไม่มีใครสามารถให้ข้อมูลได้ แม้จะได้ข้อมูลจริงจากเจ้าของโรงแรมม่านรูดว่ามีคนใช้บริการมากขึ้นก็ไม่สามารถบอกได้ว่าเกี่ยวกับวันลอยกระทง  เพราะคนจะมีเพศสัมพันธ์กันคงขึ้นกับหลายเหตุ หลายปัจจัย มากกว่าการเป็นเทศกาลลอยกระทง  

แต่สิ่งที่น่าจะติดตามต่อมาจากวันลอยกระทงคือ การมีเพศสัมพันธ์กันครั้งนี้ก่อให้เกิดผลตามมาอย่างไร เป็นผลที่พึงพอใจหรือสามารถควบคุมได้หรือไม่ เช่น เป็นเพศสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นบนความต้องการของคู่เพศสัมพันธ์นั้นๆ  เป็นเพศสัมพันธ์ที่มีการป้องกันอย่างดีและยินยอมพร้อมใจกันทั้งสองฝ่าย หรือเกิดการติดโรค เกิดการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมตามมา อย่างไหนมีมากกว่ากัน หากการตั้งครรภ์ไม่พร้อมมีมากขึ้นย่อมแสดงให้เห็นว่าศักยภาพในการดูแลเพศสัมพันธ์ของตนเองยังมีไม่มากพอ และการแคมเปญเรื่องอย่ามีเพศสัมพันธ์กันคืนลอยกระทงก็ไม่เป็นประโยชน์

เช่นกันบรรยากาศงานลอยกระทงที่เชียงใหม่ก็ใช้เวลายาวนานต่อเนื่องกัน 3 วัน 3 คืน ตั้งแต่คืนวันศุกร์ถึงคืนวันอาทิตย์  ยามค่ำคืนท้องฟ้าในเมืองเชียงใหม่เต็มไปโดยโคมลอยเป็นดวงไฟระยิบระยับ ประเมินว่าน่าจะเป็นหมื่นโคมที่ลอยกัน ต่างคนต่างซื้อไปลอยกันราคาใบละ 20-50 บาท ในขณะที่งานแห่กระทงก็ยังจัดกันเหมือนเดิมคือกระทงเล็ก กระทงใหญ่ ซึ่งทั้งสองวันนี้ก็ต้องใช้เงินและวัสดุสิ้นเปลืองไปจำนวนไม่น้อย หากกระทงใหญ่หนึ่งกระทงใช้งบสองแสนบาท  ปีนี้มีจำนวนกระทงใหญ่ 25 กระทงก็ใช้เงินไปแล้ว 5 ล้านบาท เสร็จแล้วก็รื้อทิ้งปีหน้าก็ลงทุนทำใหม่ เป็นอย่างนี้มาไม่น้อยกว่า 20 ปีมาแล้วในเชียงใหม่  

ทั้งนี้ ทางเทศบาลเองก็ลงทุนประดับเมืองด้วยโคมกระดาษนับหมื่นโคม ปีนี้ต้องทำสองรอบเพราะถูกพายุฝนทำลายไปก่อนวันเทศกาล  ต้องซ่อมแซมใหม่หมด จากหมื่นโคมกลายเป็นสองหมื่นโคม  ก็ใช้เงินไปอีกเป็นล้านในการตกแต่งประดับเมือง  ทั้งนี้ วัดต่างๆ ในเขตคูเมืองเชียงใหม่ก็จัดตกแต่งและจัดงานขึ้นเพื่อให้ประชาชนไปใช้เวลาในเทศกาลลอยกระทงในวัดบ้าง อย่างไรก็ตาม เมื่อผ่านพ้นเทศกาลนี้ไป เมืองเชียงใหม่หลงเหลืออะไร คนรุ่นใหม่เข้าใจวิถีชีวิต วิถีประเพณีเกี่ยวกับยี่เป็งอย่างไร และซึมซาบ ว่าจะปรับปรุงประยุกต์ความเชื่อของประเพณีให้เข้ากับชีวิตตนเอง ชีวิตของเมือง อย่างไร จะลดความฟุ่มเฟือย การบริโภควัสดุต่างๆ ที่ล้นเกินไปเรื่อยๆ จนส่งผลต่อมลภาวะของเมืองเชียงใหม่เพียงใด เงินที่นักท่องเที่ยวและคนเชียงใหม่เองใช้หมุนเวียนกันในวันลอยกระทงหลายสิบล้านบาทนั้น ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตคนเชียงใหม่ คนรับจ้างทำโคมกระดาษ โคมไฟ ตุง กระทง มากน้อยเพียงใด หรือเพียงอาศัยชื่อเทศกาลเพื่อหารายได้ให้คนที่ทำธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร ทำทัวร์กันเท่านั้น

เทศกาลลอยกระทงที่เชียงใหม่ผ่านไปพร้อมกับงานวันวิชาการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เลือกจัดวันเวลาเดียวกับเทศกาลลอยกระทง แต่บรรยากาศไม่คึกคักมากนักแม้จะมีนายกรัฐมนตรีมาเปิดงาน และหัวข้อหลักของงานวิชาการปีนี้คือ วิถีวิจัย สู่สังคมร่มรื่นและเป็นสุข  เน้นเรื่องภาวะโลกร้อน ภาวะพลังงาน มลภาวะด้านอากาศ หมอกควัน ที่เกิดกับเมืองเชียงใหม่  แต่ก็เหมือนต่างคนต่างจัด และไม่สอดรับกัน น่าเสียดายที่เทศบาลนครเชียงใหม่กับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไม่ได้ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ เพื่อสร้างความกล้าใหม่ๆ ต่อการจัดงานยี่เป็งให้ได้ทั้งคุณค่า ได้ความรู้ ได้ความสุข โดยไม่ฟุ่มเฟือยเกินไปแต่อาจมีเสน่ห์มากขึ้นสำหรับนักท่องเที่ยวก็ได้  ใครจะรู้

Pages

Subscribe to สุขภาพ