อะเญะปอย

'ตลกพม่า' ประชัน 'ตลก.ไทย' ใครขำกว่า

Ko We Kyaw

เมื่อวันเสาร์ สัปดาห์ก่อน มีการจัดงาน ‘Saffron Revolution, A Year Later' ที่จัดโดยคณะผลิตสื่อเบอร์ม่า (Burma Media Production) หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อรำลึกถึง 1 ปี แห่งการปฏิวัติชายจีวร นอกจากการเสวนาและการกิจกรรมเพื่อเป็นการรำลึกแล้ว ภาคบันเทิงในงานก็มีความน่าสนใจเพราะมีการแสดงจากคณะตีเลตี (Thee Lay Thee) ที่มีชื่อเสียงจากพม่า

การแสดงในวันดังกล่าว เป็นการแสดงในเชียงใหม่เป็นครั้งที่ 3 ในรอบปี 2551 หลังจากเคยจัดการแสดงมาแล้วในเดือนมกราคม และการแสดงการกุศลเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยนาร์กิส เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

ในพม่า ซึ่งควบคุมเสรีภาพการแสดงออกของประชาชนเป็นอย่างมาก สื่อโทรทัศน์ วิทยุส่วนใหญ่เป็นของรัฐบาล มีการผ่อนปรนให้เอกชนประกอบกิจการผลิตสิ่งพิมพ์บ้าง แต่ก็ต้องมีใบอนุญาตและถูกเซ็นเซอร์จากรัฐบาลก่อนจำหน่าย การแสดงละคร ดนตรี ทั้งการแสดงสด และบันทึกการแสดงลงเทป หรือซีดีเพื่อจำหน่ายก็ต้องได้รับอนุญาตเช่นกันถึงจะสามารถแสดงได้

การแสดงตลก แม้จะต้องได้รับอนุญาตก่อนแสดง แต่ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการแสดงความคิดเห็นต่อสังคมและการเมืองพม่า เพราะมุกตลกที่ ซ่อน' สารกับผู้ชม ก็เป็นเรื่องยากกว่าที่รัฐบาลจะจับได้ไล่ทัน แม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐบาลซึ่งถูกส่งไปสังเกตการแสดงตลกก็ยังหัวเราะชอบใจไปกับมุขเสียดสีรัฐบาลของคณะแสดงตลก!

ก๊อตซิล่า หัวหน้าคณะตลกตีเลตี เคยกล่าวว่า มุกตลกของพวกเขาเป็นเสียงจริงที่สะท้อนมาจากประชาชนบนท้องถนนในพม่า เราเพียงแต่รับฟังเสียงของประชาชน จากนั้นจึงสะท้อนชีวิตของพวกเขาโดยผ่านการแสดง

ซึ่งไม่ผิดไปจากนั้น

000

การแสดงรอบล่าสุดที่เชียงใหม่ของพวกเขา แม้นักแสดงจะมาไม่ครบทีม มีเพียงเส่งตี ปานตี ชอซุเมียว และก๊อดซิล่า แต่ก็สามารถสะท้อนชีวิตของชาวพม่าออกมาเป็นการแสดงแสบๆ คันๆ เสียดสีสภาพสังคมและรัฐบาลทหารพม่าเช่นเคย

ช่วงหนึ่งของการแสดงพวกเขากล่าวยกย่องพระสงฆ์และประชาชนพม่าที่ออกมาเดินขบวนเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ก่อนที่จะเสียดสีรัฐบาลโดยบอกว่าเดี๋ยวนี้ศาสนาพุทธในพม่าไม่ครบพระรัตนตรัย คือมีพระพุทธ พระธรรม แต่ขาดพระสงฆ์ ที่ขาดเพราะพระสงฆ์ไปอยู่ที่อินเส่ง

ซึ่งในพม่าคุกอินเส่งเป็นสถานที่กักขังนักโทษการเมืองที่รัฐบาลทหารเห็นว่าเป็นปฏิปักษ์ ซึ่งที่ผ่านมาเป็นนักโทษเจเนอเรชั่น'88 ที่ออกมาต่อต้านรัฐบาลในเดือนสิงหาคมปี 1988 แต่ในปัจจุบันผู้ำนำสงฆ์ในการเดินขบวนเมื่อปีที่แล้ว ถ้าไม่ลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ ก็ถูกควบคุมตัวอยู่ภายในเรือนจำแห่งนี้เป็นจำวนมากเช่นกัน

เขายังกล่าวถึงผู้ปกครองพม่าอย่างแสบคัน โดยเปรียบเทียบกับผู้นำของประเทศอื่นๆ โดยนักแสดงได้กล่าวเปรียบว่าประชาชนแต่ละประเทศจะแสดงความเคารพต่อผู้นำประเทศเป็นอย่างมาก ในประเทศไทยประชาชนจะพร้อมใจกันสวมเสื้อสีเดียวกันในวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์ ในสหรัฐอเมริกาประธานาธิบดีจอร์จ บุช มาเยือนชายแดนไทย-พม่าที่ อ.แม่สอด ก็ส่งบอดี้การ์ดมาอารักขาหลายพันคน ขณะที่ตานฉ่วยผู้นำของประเทศเรา ครั้งหนึ่งไปตรวจราชการที่เขตอิระวดี ซึ่งเป็นเขตที่ประสบภัยพิบัติจากพายุไซโคลนนาร์กีส ก็มีประชาชนชี้ไปที่ตานฉ่วยและบอกว่านี่คือคนที่บ้าที่สุดในประเทศพม่า

ตอนท้ายของการแสดง ก๊อดซิล่า หัวหน้าคณะ ยอมถอดโลงจีออกเหลือแต่กางเกงบ็อกเซอร์ แล้วสวมกล่องเครื่องใช้ไฟฟ้ายี่ห้อซันโย (Sanyo - ถ้าเสียงแบบเลียนอักษรพม่าจะพ้องกับ ตะโยะ ในภาษาพม่าแปลว่า จีน) แปลงร่างเป็นหุ่นยนต์พูดความจริง หุ่นยนต์ตัวนี้มีความสามารถพูดความจริงได้ทุกเรื่อง ตั้งแต่เรื่องทะลึ่งทะเล้นสารพัดหุ่นยนต์ก็ตอบได้หมด

แต่พอถึงคำถามท้ายสุดท้ายว่าการเลือกตั้งปี 2010 ใครจะชนะการเลือกตั้ง หุ่นยนต์ตัวนี้ก็ช็อตและล้มตึงจากเก้าอี้ไปดื้อๆ ทำเอาผู้ชมหัวเราะปรบมืออย่างชอบใจ เพราะเสียดสีการเมืองพม่าภายใต้รัฐบาลทหารที่ควบคุมกลไกการปกครองในพม่าเป็นอย่างดี และเมื่อถามว่าทำไมถึงตอบไม่ได้ หุ่นยนต์ก็ตอบว่าเพราะยี่ห้อซันโยทำมาจากจีนกับอินเดีย ถึงตรงนี้ทำเอาผู้ชมยิ่งขำกันใหญ่ เพราะจีน กับ อินเดีย สองมหาอำนาจที่ขนาบพม่าต่างหนุนรัฐบาลทหารพม่า และกำลังทวีบทบาทและอิทธิพลในพม่า

ปิดท้ายการแสดงด้วยนาฏศิลป์ของซอซุเมียว โดยก่อนจบการแสดงก๊อดซิล่าหัวหน้าคณะยืนยันว่าแม้ผู้ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจอย่าง ซากะนา' จะถูกจับหลังจากระดมสิ่งของเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยจากพายุนาร์กิส แต่พวกเขายืนยันว่าจะแสดงตลกต่อไป

000

ขอเอาใจช่วยให้คณะตีเลตีได้ทำการแสดงกันต่อไป ไม่ถูกจับไปอบรมที่อินเส่งเสียก่อน

แต่ก็น่าอิจฉาพวกเขาตรงที่คณะตลกพม่ายังสามารถพูดถึงรัฐบาลพม่าได้ แม้จะกล่าวถึงอย่างเลี่ยงๆ แต่ก็สามารถพูดถึงได้อยู่ดี ไม่อย่างนั้นคนคงไม่ขำ แต่มี คณะ ตลก.' คณะหนึ่งของไทย ที่คนดูต้องวิจารณ์ คณะตลก.' ที่ว่าีนี้อย่างระมัดระวังอย่าง คณะตลก.รธน.'

ที่ในรอบ 2 ปีมานี้โชว์ลีลาอึ้ง ทึ่ง เสียว โดยเฉพาะรอบล่าสุดในการเชือดสมัคร คดีชิมไปบ่นไป คณะ ตลก. ลงทุนโยนกฎหมายแรงงานทิ้งหันมาเปิดพจนานุกรมเพื่อนิยามสมัครเป็นลูกจ้างให้ขาดคุณสมบัติการเป็นเสนาบดีให้ได้ แต่การตีึความที่ว่าทำเอาคนไทยขำแทบน้ำตาเล็ด เพราะนายจรัล' หัวหน้าคณะ ตลก.รธน. ก็ถูกคนดูสงสัยว่าจะเข้าข่ายเดียวกับสมัครตามการตีความด้วยพจนานุกรมจนต้องขาดคุณสมบัติตามนายสมัคร ที่ คณะตลก. เพิ่งเชือดไปหรือไม่!

ไม่รู้ว่าถ้า ตลกคณะตีเลตี' กับ คณะ ตลก.รธน.' มาประชัน ใครจะขำกว่ากัน

โดยเฉพาะถ้าให้หุ่นยนต์พูดความจริง' มาตอบคำถามเรื่องคุณสมบัติหัวหน้าคณะ ตลก.รธน. ไม่รู้ว่าหุ่นยนต์จะช็อตใบ้กินหรือเปล่า

เกี่ยวกับตีเลตี

นานาดี เขียนบทความลง นานาดี เขียนบทความลงนิตยสารสาละวิน ฉบับที่ 47 ประเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน 2551 อธิบายคณะ ตีเลตี' ว่าเป็นคณะนักแสดง อะเญะปอย' หรือ การแสดงตลก สลับกับการร้องและการรำแบบนาฏศิลป์พม่า  "ตีเลตี"  ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2546 จากความคิดของซากะนา (Zarganar) นักแสดงตลกอาวุโสชื่อดังในวงการบันเทิงพม่า เขาได้รวบรวมบรรดานักศึกษาไฟแรงจากวิทยาลัยนาฏศิลป์ย่างกุ้งมาสร้างคณะตลก โดยการควบคุมของหัวหน้าคณะที่มีชื่อในการแสดงว่า ก๊อตซิล่า' (Gawzillar) อดีตเจ้าหน้าที่ในกระทรวงวัฒนธรรมที่ผันตัวเองออกมาเป็นนักแสดงอิสระ

สำหรับ ตีเลตี' มีความหมายว่า "สี่ผล" (ตี' แปลว่า ผล, ลูก เล' แปลว่า สี่) ในคณะมีนักแสดงชายตัวหลักที่ชื่อลงท้ายด้วยคำว่า ตี' 4 คน ได้แก่ ซีตี (พุทรา - Zee Thee) ปานตี (แอปเปิล - Pan Thee) เส่งตี (Sein Thee - เพชร) และเจตี (มะเฟือง - Kyae Thee) นอกจากนี้ยังมี ชอซุเมียว (Chaw Su Myo) และ เมียะซะแปโง่ง (Mya Sabae Ngone) นางรำสาวสวยที่ช่วยเพิ่มสีสันให้กับการแสดงแต่ละครั้งอีกด้วย

การแสดงมุขตลกการเมืองในพม่ามีความเสี่ยงสูง เช่น ปาปาเลย์ แห่งคณะแสดงสามพี่น้องตลกหนวด (The Moustache Brother) แห่งเมืองมัณฑะเลย์ที่มีชื่อเสียง ก็เคยถูกรัฐบาลจับมาแล้วหลายหน นักแสดงตลกอย่างซากะนา ก็ถูกรัฐบาลจับ

แต่การแสดงตลกก็เหมือนเป็นการพูดแทนในสิ่งประชาชนไม่สามารถพูดได้  ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้การแสดงของตีเลตีเป็นที่ถูกอกถูกใจชาวบ้านร้านตลาดเป็นอย่างมาก พวกเขาได้รับความนิยมและสามารถครองใจ ประชาชนได้อย่างรวดเร็ว แม้แต่เจ้าหน้าที่ที่ถูกส่งให้ไปสังเกตการณ์หน้าเวทีแต่ละครั้งก็ยังแอบชอบใจ

และก่อนหน้านี้ วีซีดีการแสดงของตีเลตีที่จัดขึ้นที่ทะเลสาบกั่นดอจี เมืองย่างกุ้ง เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ถูกทางการพม่าห้ามเผยแพร่ การันตีคุณภาพการแสดงของคณะนี้เป็นอย่างดี

รูปแบบการแสดงของคณะตีเลตีเหมือนการแสดง อะเญะปอย' ทั่วไป โดยจะโหมโรงด้วยการร้องเพลงเรียกน้ำย่อย ต่อด้วยนาฏศิลป์แบบพม่าของนักแสดงหญิงที่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างคล่องแคล่วกระฉับกระเฉงไปตามท่วงทำนองเพลงที่คึกคัก ถึงตรงนี้นานาดีชื่นชมการแสดงของนางรำเป็นอย่างมาก โดยว่านางรำสามารถเลี้ยงชายผ้าถุงความยาวประมาณเมตรเศษ ๆ ให้พลิ้วไหวอยู่ในอากาศได้อย่างน่าทึ่ง แต่ถ้าไม่รับการฝึกฝนจน ชำนาญแล้วละก็ แค่เดินเฉย ๆ ก็อาจสะดุดชายผ้าล้มหัวฟาดพื้นได้ง่ายๆ

และเมื่ออุ่นเครื่องจนร้อนได้ที่แล้ว ซีตี ปานตี เส่งตี และเจตี และก๊อตซิล่า หัวหน้าคณะ จะขนมุขตลกมาเพียบ โดยการแสดงตลกจะมีทั้งการพูดถึงเหตุการณ์ต่างๆ ในพม่า และการสมมติสถานการณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นฉากการสนทนาระหว่างทหารพม่าและชาวบ้าน  ซึ่งทั้งบุคลิก น้ำเสียงและเครื่องแต่งกายของนักแสดงก็จะเปลี่ยนไปตามตัวละครนั้นๆ  เรียกได้ว่า ทำเอาคนดูแทบไม่มีเวลาหยุดหัวเราะตลอดเวลาการแสดง

อ้างอิง

บันเทิง: คณะตลกตีเลตี ผู้ซับน้ำตาเหยื่อนาร์กิสด้วยเสียงหัวเราะ,โดย นานาตี, นิตยสารสาละวิน ฉบับที่ 47 (16 พ.ค. - 30 มิ.ย. 51)

Thee Lay Thee Show a Smash in Chiang Mai, By Wai Moe, the Irrawaddy, Monday, January 28, 2008 http://www.irrawaddy.org/article.php?art_id=10054

Subscribe to อะเญะปอย