Skip to main content
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
ขับรถจากอำเภอสันป่าตอง มุ่งไปเชียงใหม่ ด้วยความเร็ว 60-70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความเร็วขนาดนี้ถ้าพูดกับพวกตีนผีหรือวัยรุ่นทั้งหลาย จะถูกปรามาสอย่างรุนแรงว่า ไม่ควรเรียกว่าความเร็วเลยลุง น่าจะเรียกว่า การเคลื่อนที่คลานไปแบบเต่าพันปีมากกว่า ก็ไม่รู้สึกอะไร มันเป็นความจริง ผมขับรถชิดเลนซ้ายแบบสบายอารมณ์ พอมาถึงทางแยกหางดง-สะเมิง ผมหยุดรถเพราะติดไฟแดง มองไปข้างหน้า เฉียงไปทางซ้ายมืออย่างไม่ตั้งใจ เห็นน้ำต้น (คนโท) ใบใหญ่สีน้ำตาล ตั้งโดดเด่นตรงข้างซุ้มประตูเข้าหมู่บ้านเหมืองกุง ทำไมมันใหญ่โตปานนี้ ใครเป็นผู้สร้างแล้วสร้างทำไม เกิดคำถามในสมอง มันตั้งเด่นสะดุดตาจริงๆ น้ำต้นใบใหญ่ใบนี้ดึงดูดสายตาผม ให้มองดูมันทุกครั้งที่ขับรถผ่าน ไฟเขียววาบขึ้น ผมบังคับรถวิ่งตรงเข้าตัวเมืองเชียงใหม่ มุ่งไปโรงพยาบาลมหาราช(สวนดอก) ไปตามใบนัดหมายของหมอความดัน ผมต้องขับรถผ่านโรงพยาบาลมหาราชไปอีกเล็กน้อย เมื่อถึงปั๊มน้ำมันที่อยู่ซ้ายมือ ผมก็ขับรถเลี้ยวซ้ายเข้าซอยราว 20 เมตร  ทางซ้ายมือเป็นลานดินจอดรถสำหรับผู้ขับรถมาโรงพยาบาล  ไม่มีการเก็บค่าฝากรถ เป็นการบริการที่จอดรถของโรงพยาบาล เนื้อที่กว้างขวางประมาณสนามฟุตบอลสองสนามมาต่อกัน รถจอดเกือบเต็มแล้ว ผมเลี้ยวเข้าไปหาที่จอด จากนั้นต่อรถบริการของโรงพยาบาลเข้าสู่โรงพยาบาลมหาราช เรียกว่าบริการโดยไม่เก็บเงิน ความจริงรอบๆตึกและที่จอดรถในโรงพยาบาลก็มี  แต่ก็มีรถจอดเต็มไปหมด  แน่นอนที่สุด ในอนาคตที่จอดรถจะเป็นปัญหาใหญ่ต่อไปแน่นอน  ขากลับ เมื่อผมขับรถจากเชียงใหม่เป็นระยะทางราว 10 กิโลเมตร ถึงทางแยกหางดง-สะเมิง พอสัญญาณไฟเขียวเปิดวาบ ผมเลี้ยวขวากลับรถ เคลื่อนรถวิ่งไปช้าๆ ตามองน้ำต้นยักษ์เป็นเป้าหมาย เลี้ยวซ้ายอีกครั้งไปตามถนน เห็นซุ้มเข้าหมู่บ้านเหมืองกุง ตำบลหนองควาย อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ รถได้เคลื่อนผ่านประตูซุ้มเข้าไป อดเหลียวดูน้ำต้นยักษ์ที่ตั้งอยู่ด้านซ้ายมือข้างประตูไม่ได้ อยากเห็นกับตาใกล้ๆ มันจะโตแค่ไหนหนอ ผมจอดรถที่ลานจอดทางซ้าย ลานจอดเป็นคอนกรีต ถนนเข้าหมู่บ้านก็เช่นกัน ผมหยิบกล้องดิจิตอลใส่กระเป๋ากางเกง คว้ากระเป๋าบรรจุสมุด ปากกา สะพายบ่า  เดินตรงไปบ้านแรกที่ปลูกอยู่ข้างหน้าถนน ซึ่งทอดเข้าสู่หมู่บ้านแห่งการปั้น เดินผ่านประตูบ้านเข้าไปก็มองเห็นโอ่งน้ำแจกันหลายรูปแบบ  หม้อน้ำ  น้ำต้นขนาดต่างๆ วางบนพื้นคอนกรีต กระจายปะปนกันไป  หลังคาโรงงานมุงด้วยกระเบื้อง ผมยังไม่พบใคร เดินลึกเข้าไป หากเป็นร้านที่มีของมูลค่าสูงๆ ผมคงไม่กล้าเสี่ยงเข้าไป นี่เป็นดินที่มนุษย์นำมาสร้างขึ้นให้มีมูลค่า  ไม่มีเหตุจูงใจอะไรทำให้ต้องลักขโมย  ผมเห็นชายสองคน  คนหนึ่งกำลังปั้นน้ำต้น(คนโท) อีกคนปั้นแจกันขนาดใหญ่  ทั้งสองคนมองดูสิ่งที่กำลังใช้มือสร้างขึ้นมาอย่างตั้งใจ ชำเลืองตาดูผู้มาใหม่นิดหนึ่ง ไม่พูดอะไร สักครู่ได้ยินเสียงผู้หญิงดังจากบ้านที่ติดกับโรงงาน ผู้หญิงหน้าตาดีโผล่ออกมาทักทายต้อนรับ ผมรีบบอกเหตุผลที่มา ขออนุญาตถ่ายรูปผลงานเครื่องปั้นดินเผา และสอบถามเรื่องราว                 " น้ำต้นหน้าหมู่บ้าน ใหญ่โตแต้ๆ สูงยาวสักเท่าใดครับ ?"                 " สูงราว 16-18 เมตรเจ้า " เจ้าของร้านผู้มีอัธยาศัยดีบอก                 " ค่าก่อสร้างคงเป็นเงินบ่ใจ่น้อยใจ่ก่อครับ ?"                 " เจ้า ! ค่าวัสดุรวมทั้งค่าแรงเป็นเงิน 250,000 บาท เป็นงบตามโครงการหมู่บ้านโอท็อปเจ้า" เธอเล่าให้ฟังว่า หมู่บ้านเครื่องปั้นดินเผาเหมืองกุง มีความเป็นมากว่าสองร้อยปีแล้ว คงราว พ.ศ. 2352  ครอบครัวของเธอเริ่มอาชีพนี้สมัย  "พ่อคำ  บุญหมั้น"  พ่อเสียชีวิตเมื่ออายุ 57  ปี  ในปัจจุบันนี้เป็นรุ่นหลานแล้วที่สืบทอดหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผา