เยาวชน

งานวิจัยกับวัยรุ่น

งานวิจัยมากมายทยอยออกมานำเสนอผ่านสื่อมวลชน ในช่วงก่อนวาเลนไทน์ ชนิดที่ว่า นอกจากจะเป็นช่วงเทศกาลวันแห่งความรักแล้ว ยังเป็นเทศกาลนำเสนอผลวิจัยวัยรุ่นอีกก็ว่าได้

งานวิจัยที่ออกมาส่วนใหญ่แล้ว มีลักษณะ “ถ้ำมอง” และ นำเสนอด้าน “ลบ” ของวัยรุ่นเพียงอย่างเดียว ทำนองว่า วัยรุ่นจะมีเพศสัมพันธ์กันมากที่สุดในวันดังกล่าว – ผมเองได้พยายามค้นหาดูว่ามีผลวิจัยหรืองานสำรวจอะไรบ้างที่ให้ข้อเสนอแนะทางออกในเชิงสร้างสรรค์เกี่ยวกับเรื่องเพศของวัยรุ่น

นอกจากผลการสำรวจของ เครือข่ายเยาวชนด้านเอดส์ ประเทศไทย (Youth Net) ที่เสนอว่า วัยรุ่นกว่า 70% เห็นว่าควรมีวิชาเพศศึกษาในหลักสูตรของทุกโรงเรียน นักเรียนทุกคนควรได้เรียนเพศศึกษาอย่างต่อเนื่องทุกระดับชั้น และครูควรตอบข้อสงสัยในเรื่องเพศศึกษาของนักเรียนได้อย่างกระจ่างชัด กว่าครึ่งของวัยรุ่นที่ทำการสำรวจ (2,000 คน) ไม่เห็นด้วยต่อประเด็นที่ว่าเพศศึกษาควรสอนเรื่องการรักนวลสงวนตัวเท่านั้น สะท้อนให้เห็นว่าการจัดเพศศึกษาที่เข้าถึงและตอบโจทย์วัยรุ่นได้ทุกคนนั้น จะต้องเริ่มจากการให้ทางเลือกที่หลากหลายสำหรับแต่ละคนที่มีวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน ในการจัดการสัมพันธภาพและวิถีเพศของตนเอง

ส่วนด้านการเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกันที่ทำให้วัยรุ่นปลอดภัย กว่าครึ่งอยากให้นักเรียนขอรับถุงยางอนามัยที่โรงเรียนได้ และเห็นว่าผู้หญิงควรเป็นผู้พกพา รวมทั้งเห็นว่าสถาบันการศึกษาควรมีนโยบายที่ปฏิบัติต่อเพศทางเลือก เกย์ กะเทย ทอม ดี้ อย่างเท่าเทียม  และในกรณีที่ตั้งครรภ์ ควรได้รับสิทธิให้เรียนต่อได้ทั้งขณะตั้งครรภ์หรือหลังคลอดตามความสมัครใจ เพศศึกษาสำหรับเยาวชนในสถานศึกษา จึงไม่ได้หมายความเพียงการจัดให้มีการเรียนการสอน แต่ยังต้องสะท้อนให้เห็นในการปฏิบัติต่อเยาวชนอย่างเห็นคุณค่าที่เท่าเทียมในมิติอื่นๆ ด้วย

และวัยรุ่นกว่า 70% ยังต้องการให้ผู้ใหญ่ โดยเฉพาะพ่อแม่ผู้ปกครองพูดคุยและรับฟังความในใจเรื่องความรักและเรื่องเพศ จึงถึงเวลาที่เด็กและผู้ใหญ่ต้องหันหน้ามาเจอกัน เพราะว่าการสอนเรื่องเพศศึกษาเป็นยิ่งกว่านโยบาย เพราะเป็นจิตสำนึกที่จะช่วยดูแลให้เยาวชนอยู่รอดปลอดภัยจากปัญหาเพศสัมพันธ์ ซึ่งอาจทำลายนักเรียนได้ทุกกลุ่ม

นอกจากผลสำรวจในเชิงสร้างสรรค์ ที่เป็นข้อเสนอแนะและทางออกสำหรับวัยรุ่นต่อเรื่องเพศ ของ Youth Net แล้ว ก็ไม่ค่อยเห็นผลอะไรไปมากกว่านั้น

นอกจากนี้ ความคิดเห็น คนอื่นๆ ต่อผลสำรวจเท่าที่หาได้คือ ที่ “เพ็ญพิลาส เหล็มปาน” จาก คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เสนอว่า

รังรัก

1

นันกับฝน เรียนอยู่มหาวิทยาลัยอีกไม่กี่เดือนก็จะจบการศึกษาแล้ว เขาทั้งสองเป็นเด็กต่างอำเภอที่ได้ย้ายมาเรียนในตัวเมืองของจังหวัดแห่งหนึ่งในภาคเหนือ

ทั้งสองคนพบกันครั้งแรกตอนเข้า ม.4 ตอนนั้นเป็นจุดตั้งตนให้เขาและเธอได้รู้จักและพัฒนาความสัมพันธ์เรื่อยมาจนเป็นแฟนกัน และจากนั้นนันกับฝนจึงตัดสินใจย้ายหอมาอยู่ด้วยกัน อาศัยห้องเดียวกัน ตอนเรียน ม.5

ตอนที่มีอะไรกันครั้งแรก นันใช้ถุงยางอนามัย เพียงเพราะยังไม่อยากรับผิดชอบผลกระทบที่จะตามมาจากการมีอะไรโดยไม่ได้ป้องกัน เขาไม่ได้ให้ฝนคุมกำเนิดด้วยการทานยาคุมกำเนิดเพราะกลัวผลข้างเคียง ที่จะเกิดขึ้น แต่เลือกใช้ถุงยางอนามัยทุกๆ ครั้ง

พอเรียนจบ ม.6 ทั้งสองสอบเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน นันเรียนด้านสังคมศาสตร์ ส่วนฝนเรียนวิทยาศาสตร์ ทั้งสองคนบอกกับพ่อแม่ของตัวเองว่าอยู่หอกับเพื่อน เวลาที่พ่อแม่ของใครมาหาที่หอ อีกคนจะไปนอนหอเพื่อน เพื่อไม่ให้พ่อแม่ทราบว่าอยู่ด้วยกัน

ตามปกติแล้ว นันจะเป็นคนดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายค่าห้อง ส่วนฝนดูแลเรื่องอาหารการกินและเครื่องใช้ต่างๆ ทั้งสองคบกันมาหลายปี นันและฝน รู้ดีว่า ทั้งสองต่างสนใจใคร่สวาทในตัวของกันและกัน ตอนที่พบกันครานั้น เรื่องราวบนเตียงนอนเกิดขึ้นหลายหน แต่ทว่าในความสนุก ความสุขจากการมีเซ็กส์ ก็เป็นไปด้วยความปลอดภัยทุกครั้ง

ผมเจอทั้งสองคนเมื่อไม่นานมานี้ เพราะฝนรู้จักกับเพื่อนของผม ซึ่งเขาได้ปรึกษาผมว่า เขาจะไม่ใช้ถุงยางอนามัยแล้ว เพราะคิดว่าอยากจะลองมีอะไรกันแบบไม่ใช้ถุงยางอนามัยและอยากให้ฝนทานยาคุมเพื่อคุมกำเนิด แต่ทั้งสองกลัวผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้น จึงได้มาถามไถ่ ปรึกษา

ผมให้ข้อมูลไปตามที่ตนรู้ แต่ก็เป็นเพียงการให้ข้อมูลที่รอบด้าน มากที่สุด แต่สุดท้ายก็ให้เป็นการตัดสินใจร่วมกันของทั้งสองเองว่าจะเอายังไง

นันบอกว่า ตอนที่ใช้ถุงยางอนามัยเมื่อตอนเรียนมัธยมเพราะกลัวพลาด กลัวฝนจะท้อง แต่ตอนนี้ทั้งสองใกล้จะจบแล้ว และคิดว่างานการที่ทำอยู่ก็สามารถจะรับผิดชอบตัวเองได้ จึงอยากเปลี่ยนวิธีการ และคิดว่าหากจะท้องก็ไม่กลัว เพราะทั้งสองก็พร้อมที่จะมีลูก หากมันเกิดการผิดพลาดมา

ผมบอกเขาทั้งสองว่า แม้ว่ายาคุมกำเนิดจะป้องกันการท้องได้ แต่ก็ไม่สามารถป้องกันการรับเชื้อเอชไอวี หรือแม้แต่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้

 

2

ฟ้ากับแป้ง เพิ่งเรียนอยู่ ม. 6 ฟ้ากับแป้งเป็นแฟนกัน คบกันมา 2 ปี ฟ้ากับแป้งอยู่หอคนละที่ ไม่ได้พักด้วยกัน เพราะหอแป้งเป็นหอหญิงล้วน ส่วนของฟ้าเป็นหอรวม

ฟ้าไม่กล้ามีอะไรกับแป้ง เพราะกลัวว่าแป้งจะไม่รัก เขาทำได้อย่างมากก็เพียงจับมือและจูบ ทุกครั้งที่แป้งมาหาฟ้าที่ห้อง ท้องสองนอนกอดกัน จูบกันนัวเนียบนเตียงนานหลายชั่วโมง

ผมแปลกใจไม่ได้ที่จะถามว่าทำไมถึงทำได้ เมื่อผมเจอฟ้า ตอนวันเสาร์ที่ผ่านมา เขาบอกว่า เขาไม่อยากมีอะไร เพราะมีไปก็แค่นั้น เขาอยากจะมีอะไรกับแป้งตอนที่แต่งงานกัน ตอนนี้ ทำได้แค่จูบและกอดก็เพียงพอ

แล้วอารมณ์ไม่พาไปเหรอ? – ผมถาม

ฟ้าบอกว่า พาไปเหมือนกัน บางครั้งก็อยากจะมีอะไรแบบสอดใส่ แต่ก็หยุดไว้ได้เมื่อคิดถึงผลที่จะตามมา

ตอนนี้ทั้งสองยังคบคบกัน พ่อแม่ทั้งสองฝ่ายก็รับรู้ แต่ก็ไม่ได้ว่าอะไร

3

ลุงคนหนึ่ง อายุ 50 กว่าแล้ว แกมีเซ็กส์ครั้งแรก ตอนอายุ 16 ตอนนั้นเป็นช่วงที่แกทำมาหากินด้วยการเลี้ยงวัวและควาย แกเล่าให้ผมฟังว่า เมื่อก่อนตอนอยากมีอะไร มันหาที่จะไปมีอะไรกันยาก เพราะบ้านเรือนเมื่อก่อนมีน้อย จะทำอะไรก็ต้องไปที่ลับตาคน

ตอนนั้นแกกับผู้หญิงแฟนกัน ก็ไปเลี้ยงวัวควายตามประสา แล้วจังหวะอะไรก็ดลใจ ทั้งคู่เลยมีอะไรกัน ที่ทุ่งนา และนับตั้งแต่นั้นมาทั้งสองก็แอบซ่อนผู้ใหญ่มามีอะไรกัน จน 3 ปี ให้หลัง มีคนมาเห็นข้างกองฟาง จึงไปแจ้งผู้ใหญ่บ้าน และทั้งสองก็ต้องแต่งงานกันตามประเพณี

ทุกวันนี้แกยังคงเล่าเรื่องกองฟางของแกให้ฟังอยู่เสมอ คุยไป ยิ้มไป...

4

นันกับฝน บอกกับผมว่า สมัยนี้ถ้าไม่มีหอ วัยรุ่นก็สามารถมีอะไรกันได้ ทุกที่ หากเขาอยากจะมีอะไรจริงๆ มันจึงทำให้ผมคิดถึงเพื่อนบางคนที่ชอบมีอะไรในห้องน้ำ, สวนสาธารณะ, บนรถ, ห้องเรียน เป็นต้นด้วย

ฟ้ากับแป้ง บ่นเสมอว่า คนมักคิดว่าทั้งคู่มีอะไรกัน ทั้งที่ไม่เคยเลยแม้แต่ครั้งเดียว เพียงเพราะเห็นสองคนเดินจับมือกันอยู่บ่อยๆ

มีเพื่อนหลายคนเคยตั้งคำถามที่สำคัญต่อผู้ใหญ่คือ ผู้ใหญ่กลัวเด็กมีเพศสัมพันธ์ไปทำไม ยิ่งสมัยที่มีโรงเรียนแล้วเอาคนต่างเพศ คือ ชายกับหญิง (ในเชิงสรีระนะครับ) มาอยู่ด้วยกัน ในช่วงวัยอยากรู้ อยากเห็น โดยที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน ไม่มีข้อมูล ความรู้เรื่องเพศศึกษามาสอน ยิ่งไม่ต้องคิดอะไรครับว่าจะห้ามให้เด็กมีอะไรกันได้ ก็เพราะยิ่งไม่มีข้อมูลเรื่องเพศที่รอบด้านเท่าใด วัยรุ่นคงไม่สามารถประเมินพฤติกรรมเสี่ยงของตนได้เท่านั้น พฤติกรรมทางเพศที่ไม่ปลอดภัย การท้อง แท้ง การไม่สามารถจัดการอารมณ์ของตนได้ จึงเกิดปรากฏขึ้น

ยิ่งมีข่าวว่าจะมีการจัดระเบียบหอพักแล้ว ยิ่งทำให้ชวนคิดว่าจะแก้ไข ไม่ให้วัยรุ่นมีอะไรกันได้หรือไม่ เพราะถึงไม่มีที่ห้องพักหรือหอ หากเขาต้องการที่จะมีอะไรกันแล้ว ไม่ต้องห่วงหรอก เพราะเขาสามารถหาที่ทางให้กับตัวเองได้อยู่แล้ว

และแม้ว่าเขาจะอยู่ด้วยกันฉันท์สามี ภรรยา ก็ไม่เห็นว่าจะเป็นปัญหาอะไร หากเขาสามารถที่จะรับผิดชอบต่อเรื่องต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น และมีความปลอดภัยและรับผิดชอบกับชีวิตทางเพศของตน

มาถึงตรงนี้ ข้อเสนอที่น่าจะเป็นไปได้คือ การสร้างการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาให้เกิดขึ้นสังคมอย่างเป็นจริง ให้ทั่วถึงกับวัยรุ่นทุกๆ คน ทั้งที่เรียนและไม่ได้เรียนในโรงเรียน

เมื่อถึงตอนที่วัยรุ่น อยู่หอ อยู่บ้าน อยู่กับแฟน อยู่กับคู่นอน หรืออะไรก็ตาม ข้อมูลที่รอบด้านก็จะอยู่กับตัวเขา เพื่อให้เขาได้เลือกที่จะกำหนดชีวิตของตัวเอง ...

วัยรุ่นอยากทำกิจกรรมเพื่อสังคม!?

ผมเพิ่งกลับจากค่ายเยาวชนที่จังหวัดเชียงราย เป็นการจัดกิจกรรมเรื่องเพศ มีวัยรุ่นหลายคนเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งโดยหลักแล้วก็เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเรื่องเพศ เพศภาวะ และเพศวิถี ซึ่งเน้นการพูดคุยจากมุมภายในของผู้เข้าร่วมแต่ละคน

มีน้องคนหนึ่งที่มาร่วมกิจกรรม บอกความรู้สึกกับผม “ผมดีใจมากครับ ที่ได้มาร่วมกิจกรรมนี้ อยากเข้าร่วมกิจกรรมแบบนี้ แต่ไม่ค่อยมีโอกาสเลย ดีนะครับที่พวกพี่มาจัด”

น้องอีกคนหนึ่งก็บอกอีกว่า ที่ชุมชนของตัวเองได้มีการจัดกิจกรรมโดยอบต. แต่กิจกรรมส่วนใหญ่จะเน้นการกีฬา กิจกรรมตามวันสำคัญ และเยาวชนในชุมชนก็เข้าร่วม

ฟังน้องทั้งสองคนพูดขึ้นมาผมก็คิดถึง ผลการศึกษาวิจัยเรื่อง “ท้องถิ่นสร้างสรรค์ เยาวชน1000ทาง: ทิศทางนโยบายที่เอื้อต่อการทำกิจกรรมของเด็กและเยาวชนระดับท้องถิ่น” ที่โครงการเยาวชนไทยไม่ทอดทิ้งสังคมได้จัดการศึกษาขึ้น

ในการศึกษาเบื้องต้นจากการสอบถามวัยรุ่นทั่วประเทศจำนวนมากกว่า 5,000 คน พบว่า วัยรุ่นที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในการทำกิจกรรมเกือบทั้งหมดถึง 97 เปอร์เซ็นต์ บอกว่าต้องการทำกิจกรรมเพื่อสังคม ซึ่งกิจกรรมที่วัยรุ่นอยากทำมากที่สุดคือ กิจกรรมด้านท่องเที่ยว กิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม กิจกรรมด้านดนตรี กิจกรรมด้านยาเสพติด และกิจกรรมด้านกีฬา ตามลำดับ

หล่านี้ย่อมสะท้อนให้เห็นว่าวัยรุ่นในปัจจุบันอยากทำกิจกรรมเพื่อสังคมแต่ยังขาดโอกาส พื้นที่ เวทีในการเข้าร่วม และแม้ว่าจะได้เข้าร่วมในชุมชนแต่ก็เป็นเพียง “ผู้เข้าร่วม” มากกว่า “ผู้นำ” กิจกรรม

วัยรุ่นเข้าร่วมกิจกรรมในฐานะกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งหากวัดตามบันไดการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน 8 ขั้นที่ยูนิเซฟ กำหนดไว้ ก็คงจะอยู่ในระดับ “ต่ำ” คือเป็นเพียงแค่ ผู้เข้าร่ม หรือ “ไม้ประดับ” เท่านั้นเอง ซึ่งการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้สะท้อนในกิจกรรมที่วัยรุ่นตอบแบบสำรวจคือกิจกรรมวันสำคัญ และกิจกรรมประเพณี

ที่กล่าวว่าเป็นกิจกรรมสั้นๆ เพราะไม่ได้มีกระบวนการพัฒนาทักษะของวัยรุ่นอย่างต่อเนื่อง เช่น ฝึกกระบวนการคิด กระบวนการพัฒนาทักษะ ซึ่งสวนทางกับความต้องการของวัยรุ่นที่อยากทำกิจกรรมคือเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจกระตุ้นการเรียนรู้ พัฒนาทักษะ สร้างคุณค่าความดีให้กับตัววัยรุ่นเอง

ฉะนั้นแล้ว กิจกรรมที่วัยรุ่นอยากทำเพื่อสังคม จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาทักษะ ความคิดของตัวเองมากกว่าการแค่เป็นมือไม้ แรงงานในการจัดกิจกรรมของชุมชนเพียงเท่านั้น

เมื่อน้องคนที่บอกผมว่า อบต.เขาจัดกิจกรรมแค่วันสำคัญและวันตามประเพณี ผมก็เล่าให้เขาฟังถึงสิ่งที่การศึกษาวิจัยได้ค้นพบ แต่ทว่าในมุมของ อบต.เองการศึกษาวิจัยก็พบว่า อบต.มีทัศนคติที่เปิดกว้างต่อการทำงานกับวัยรุ่น รวมถึงมีความสนใจในการพัฒนาทักษะชีวิต ความรู้ ส่งเสริมศักยภาพของวัยรุ่น อีกทั้งยังให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของวัยรุ่นในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม อบต. ยังขาดข้อมูลที่บอกเกี่ยวความสนใจในการทำกิจกรรมสร้างสรรค์ของวัยรุ่นในชุมชน

ทั้งนี้ อบต.หลายแห่งยังมีความพร้อมที่จะสนับสนุนงบประมาณและทำงานกับวัยรุ่นในรูปแบบต่างๆ ทั้งการดำเนินโครงการ การเป็นพี่เลี้ยง/ที่ปรึกษา การอำนวยความสะดวกในเรื่องสถานที่ รวมถึงอาหารและยานพาหนะ  แต่แนวทาง องค์ความรู้ และวิธีการนั้นยังไม่สามารถที่จะเข้าถึงความต้องการของวัยรุ่นได้อย่างทั่วถึง 

ซึ่งสาเหตุเบื้องต้นนั้น อาจเป็นเพราะกิจกรรมต่างๆ ที่ อบต.จัด ยังคงเป็นกิจกรรมระยะสั้น และไม่ได้กระตุ้นให้วัยรุ่นในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานตั้งแต่ต้น

ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า หาก อบต. หรือผู้ใหญ่ที่อยากสนับสนุนกิจกรรมของวัยรุ่นก็ต้องหากิจกรรมที่กระตุ้นการเรียนรู้ น่าสนใจ และพัฒนาทักษะของวัยรุ่นให้มากกว่ากิจกรรมแบบไม้ประดับเพียงอย่างเดียว

ทุกวันนี้ วัยรุ่นอยากทำกิจกรรมเยอะ แต่ขาดช่องทางในการสนับสนุน หากผู้ใหญ่ที่มีบทบาทในการสนับสนุนวัยรุ่นให้ทำกิจกรรม เช่น โรงเรียน อบต. อาจต้องชวนวัยรุ่นมาคิด มาร่วมทำในฐานะ “ผู้นำ” มากกว่า แค่การให้วัยรุ่นเป็นเพียง “กลุ่มเป้าหมาย” เท่านั้น

 

เมืองสายรุ้ง 17

26 January, 2008 - 02:19 -- nalaka

คุณตาและน้ามลมาที่บ้านสายรุ้งบ่อยขึ้น เพราะแม่ของสายรุ้งไม่สบาย แม่เป็นลมหมดสติขณะกำลังทำงาน โชคดีที่ตอนนั้นสายรุ้งอยู่ที่บ้านด้วย สายรุ้งตกใจมากที่เห็นแม่ล้มลงและหมดสติเขาวิ่งไปตามคุณตาและน้ามล

สายรุ้งไม่เข้าใจเลยว่าแม่ล้มป่วยได้อย่างไรในเมื่อดูแลตัวเองดีมาโดยตลอด  แม่เคร่งครัดต่อวิถีชีวิตประจำวันอย่างมาก นอนและตื่นตรงเวลาเหมือนกันทุกวัน ระวังให้ไม่โดนแดด โดนฝน แม่เลือกทานอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายเท่านั้น อาหารที่ผ่านการหมักดองแม่ไม่ทานเด็ดขาด ผัก ผลไม้ที่ซื้อมาจากตลาดแม่ล้างแล้วล้างอีก อาหารทอดหรือปิ้งย่าง แม่ก็ไม่ทาน ทั้งแม่ยังออกกำลังกายเป็นประจำอีกด้วย

สายรุ้งคิดว่าโรคภัยไข้เจ็บเป็นสิ่งที่เข้าใจยาก คนบางคนอาจล้มป่วยลงโดยไม่มีลางบอกเหตุอะไรเลยหรือบางทีก็หาสาเหตุไม่ได้ เขาเคยเห็นคนในชุมชนกลายเป็นอัมพาตอย่างเฉียบพลันทันใดทั้งที่ก่อนหน้านี้แข็งแรงปกติ ดังนั้นการที่คุณตาพูดอยู่เสมอว่า “การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ” นั้นเป็นเรื่องจริงทีเดียว

แด่คุณหมอสงวน...

ผมรู้จักกับคุณหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์  ตอนอายุ 18 ปี สมัยที่ได้เริ่มวาระการเป็นกรรมการควบคุมคุณภาพมาตรฐานบริการสาธารณสุข จากสายองค์กรเอกชนด้านเด็กและเยาวชน เมื่อหลายปีก่อน

ตอนเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการในตอนแรกๆ ผมค่อนข้างจะเกร็งเพราะคณะกรรมการแต่ละท่านเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสำคัญต่อวงการสาธารณสุขและสังคมและอาวุโสห่างจากผมมากกว่า 20 ปี
 
ตอนนั้น คุณหมอสงวน ทำหน้าที่เป็นเลขานุการในที่ประชุม และเมื่อประชุมเสร็จสิ้น ผมได้เข้าไปทักทายและแนะนำตัวเองกับท่าน ท่านมีความเป็นกันเองและให้เกียรติกับผมมากและได้บอกให้ผมสบายใจ มั่นใจและเชื่อมั่นในการทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด

วันเด็กทุกสัญชาติ

20080116 วันเด็กทุกสัญชาติ

ลมหนาว ยังไม่จางหาย....

วันเด็กแห่งชาติเพิ่งจัดเสร็จไปไม่กี่วัน จนถึงวันนี้ วันเด็ก เสาร์ที่สองของเดือนมกราคม ยังคงมีการจัดมาอย่างสม่ำเสมอทุกๆ ปี นับตั้งแต่สมัย พ.ศ. 2499 ในยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และตั้งแต่ พ.ศ. 2502 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัตน์ ได้มอบคติเตือนใจสำหรับเด็กๆ ปีละ 1 คำขวัญ จนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบเนื่องจนถึงปัจจุบัน

วันเด็กที่ผ่านมา ผมได้ร่วมกิจกรรมที่ศูนย์เพื่อน้องหญิง จ.เชียงราย ภายในงานจัดกิจกรรมในแนวว่า “ข้างหลังภาพ” ทำนองว่า ทำงาน ทำกิจกรรม กันมามากมาย ทั้งเด็ก ผู้ปกครอง ผู้สูงอายุ วันนี้น่าจะมาดูกันว่าได้ทำอะไรกันมาบ้าง ซึ่งเด็กๆ ก็ได้เตรียมจัดกิจกรรมในบู๊ธของตนเอง มีการเล่นเกม จัดนิทรรศการ การเรียนในเรื่องเอดส์ เพศ สิทธิเด็ก ส่วนผู้สูงอายุก็เตรียมของใช้ในอดีตมาแสดงให้เด็กๆ ดู เช่น เครื่องปั่นฝ้าย ที่จับปลา เป็นต้น

มีผู้ปกครองพาเด็กๆ ตัวเล็กๆ เข้ามาร่วมกิจกรรม มีน้องคนหนึ่งถามผมว่า “วันเด็กมีจัดกี่ที่”

ผมเงียบไปสักพัก แล้วก็บอกว่า “น่าจะมีหลายที่นะครับ”

“แล้วประเทศอื่นมีวันเด็กไหม...” น้องผู้หญิงอีกคนถามผม ผมตอบว่า “ไม่รู้ครับ” เพราะไม่รู้จริงๆ ว่าประเทศอื่นมีการจัดกิจกรรมวันเด็กแบบเมืองไทยไหม หรือถ้ามีก็คงจะไม่ใช่วันเดียวกัน แต่อาจเป็นวันอื่นๆ ก็ได้

พอนึกถึงเรื่องประเทศอื่น ก็นึกถึงเรื่องชาติขึ้นมา ..... เรื่องชาติ โดยเฉพาะคนที่อยู่ในชาตินี้ แต่ไม่มีสัญชาติ เป็นคน “ทุกข์” เรื่องสัญชาติ ซึ่งก็คือ เด็กๆ เพื่อนๆ พี่น้องอีกหลายคนที่เกิดบนแผ่นดินไทย แต่ไร้ซึ่งสัญชาติไทย

อย่างงานวันเด็กไร้สัญชาติ ก็ได้มีการจัดมาแล้วหลายครั้ง และแต่ละครั้ง ก็มีกระแสผลักดันให้ภาครัฐดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องสัญชาติของเด็ก เพราะเด็กๆ หลายที่ที่ไร้สัญชาตินั้น จะขาดหลักประกันในการเข้ารับการศึกษา หรือการบริการสาธารณสุขของรัฐ

ทั้งนี้แม้ว่า ภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะได้ดำเนินการต่างๆ เช่น ในเรื่องสัญชาติ ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ที่ประเทศไทยลงนามเป็นภาคี เมืองปี 2535 และได้ตั้ง ข้อสงวนไว้ สอง – สาม ข้อ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือเรื่อง “สัญชาติ” โดยความคืบหน้าปัจจุบัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เสนอว่า ให้รัฐบาลดำเนินการ ถอนข้อสงวนข้อ 7 เรื่องสถานะบุคคล โดยการแก้ไข พ.ร.บ. สัญชาติ เพื่อไม่ให้เด็กที่เกิดในประเทศไทยของพ่อและแม่ต่างด้าวเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย

เรื่อง มาตรา 7 ทวิ ตามพรบ.สัญชาติ พ.ศ. 2535 ได้เปิดโอกาสให้คนที่ไร้สัญชาติสามารถร้องขอสัญชาติไทยต่อกระทรวงมหาดไทยเป็นรายๆ ได้ตามกฎหมาย แต่ก็ยังพบว่ายังมีเด็กไทยบางส่วนที่ประสบปัญหาเรื่องเอกสารการเกิด ทำให้ไม่สามารถจดทะเบียนการเกิดและไม่ได้รับสัญชาติไทยด้วยเช่นกัน

แน่นอนว่าสาเหตุสำคัญอันดับต้นๆ ของการที่เด็กๆ ไม่ได้รับสัญชาติ บางส่วนเนื่องจากประชาชนที่ไม่มีสัญชาติไทยไม่รู้กฎหมายและระเบียบขั้นตอนในการดำเนินการแจ้งเกิด หรือไม่เห็นประโยชน์ของการแจ้งเกิด หรืออุปสรรคในการเดินทางก็ตาม แต่สาเหตุที่เจ้าหน้าที่ภาครัฐบางส่วนไม่อำนวยความสะดวก หรือเลือกปฏิบัติยังคงมีอยู่ เช่น การเรียกเก็บเงินใต้โต๊ะ หรือเรียกหลักฐานประกอบมากเกินความจำเป็น ฯลฯ ก็ถือว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์เข้าตนบนความเดือดร้อนของผู้อื่น

ทั้งนี้อย่างไรก็ตาม คณะทำงานที่ติดตามเรื่องอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กของประเทศได้มองว่าในเรื่องสิทธิที่จะมีชื่อ สัญชาติ และสถานะบุคคล (identity) นั้นรัฐจะต้องส่งเสริมการประกันให้เด็กที่เป็นคนไร้รัฐ (stateless) มีสิทธิที่จะมีสัญชาติ (รวมถึงสัญชาติไทย) และสามารถเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานต่างๆ ได้ นอกจากเรื่องแก้กฎหมายแล้ว จะมีการส่งเสริมการศึกษาแก่เด็กไร้สัญชาติ

ส่วนเด็กผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาแหล่งพักพิง บัญญัติกฎหมายเพื่อคุ้มครองเด็กผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาแหล่งพักพิง และประกัน การเคารพหลักการไม่ผลักดันกลับ (non-refoulement) โดยเฉพาะเด็กที่เคยเป็นทหาร รวมทั้งพิจารณาเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1951 และพิธีสาร ค.ศ. 1967

หรือแม้แต่ (ร่าง) พรบ.ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. ...... ก็ได้ระบุว่า “ให้เด็กและเยาวชนทุกคนมีสิทธิได้รับการจดทะเบียนรับรองการเกิด การพัฒนา  การยอมรับ การคุ้มครองและโอกาสในการมีส่วนร่วมตามที่บัญญัติในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น ที่เกี่ยวข้องอย่างเท่าเทียม โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่อง ถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนาและวัฒนธรรม การศึกษาอบรม ความคิดเห็นทางการเมือง การเกิดหรือสถานะอื่นของเด็กและเยาวชน บิดามารดา หรือผู้ปกครอง”

ฉะนั้นแล้ว ถือได้ว่าเรื่องของสัญชาติของเด็กนั้นไม่ควรจะเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการทางสังคมต่างๆ อย่างที่ได้เกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมา และเป็นเรื่อง “สิทธิ” ขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนจริงๆ ซึ่งเมื่อย้อนกลับมายังวันเด็กที่เกิดขึ้นนั้น ก็อาจบอกได้ว่า ควรจะเป็นวันเด็กของเด็กๆ ทุกคน ไม่ว่าเด็กคนนั้นจะมีหรือไม่มีสัญชาติ ควรจะเป็นวันเด็กทุกสัญชาติ ที่ไม่แค่เฉพาะเด็กที่มีทุกข์จากเรื่องสัญชาติเพียงเท่านั้น

..........

ผมยังจำเรื่องของ มึดา นาวานารท เพื่อนเยาวชนจากแม่ฮ่องสอน ได้ว่า เธอเป็นเด็กคนเดียวร้องไห้หน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันเด็กหลายปีก่อน เพราะนายกทักษิณเมื่ออดีต หนีพวกเธอออกทางหลังทำเนียบฯ ตอนนั้นเธอเล่าว่าที่ไปทำเนียบนั้นเพื่อจะไปบอกเล่าความรู้สึกและปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวเองและเพื่อน ๆ เนื่องจากประเด็นไร้สัญชาติเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องให้ผู้ใหญ่ช่วยแก้ไข การได้รับสถานะความเป็นคนไทย คือ ของขวัญสำหรับเด็ก ๆ ที่ไม่มีสัญชาติ

มึดา เคยเสนอว่า “นายกรัฐมนตรี คือ คนที่มีอำนาจในการจัดการเรื่องสัญชาติสูงสุด หันมาสนใจเรื่องสัญชาติสักนิดก็จะดี แม้จะเป็นเรื่องของคนกลุ่มหนึ่งเพียงหยิบมือในประเทศไทย แต่อยากให้คิดว่าพวกเราก็เป็นส่วนหนึ่งของประเทศนี้อยากให้ลองเข้าหาคนรากหญ้าจริง ๆ เดินเข้าหาประชาชนที่ประสบปัญหาจริง ๆ มาดูกันว่าข้อเท็จจริง คือ อะไร มีอะไรที่ซ่อนอยู่ในนั้นบ้างเราน่าจะมาเปิดโอกาสคุยกันหรือเปล่า เปิดอกคุยกันดีกว่าจะปล่อยเอาไว้แบบนี้ หากยืดเยื้อไม่ยอมแก้ไข ปัญหาจะเรื้อรังขึ้นหรือเปล่าและอย่าแก้ไขที่ปลายเหตุ โยนเงินลงมาให้หรือส่งออกไปประเทศโลกที่สาม แก่นของปัญหาจริง ๆ ไม่ได้รับการเปิดออกมา”

วันเด็กปีนี้ แม้ว่าจะมีการแจกขนมอบกรอบต่างๆ มากมาย คละคลุ้งไปกับกลิ่นโชยแห่งความอาดูร ในการสูญเสียสมาชิกของราชวงศ์ แต่ปัญหาของเด็กทุกๆ คน ไม่ว่ามีหรือไม่มีสัญชาติยังคงเกิดขึ้นดั่งสายลมที่พัดพาความเยือกเย็นหนาว ผ่านมาและผ่านไป ทุกขณะ ...รัฐบาลแล้ว รัฐบาลเล่า.....

--------
แหล่งข้อมูล:
1. รายงานผลการดำเนินงานของประเทศไทย ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ฉบับที่ 2 เสนอต่อคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ โดย คณะอนุกรรมการเรื่อง “สิทธิเด็ก” คณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ
2. บทสัมภาษณ์มึดา นาวานารท เข้าถึงได้ที่ http://www.thaingo.org/man_ngo/muda.htm

 

สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น

kittiphan 20080108 2

กาลชีวิตของผมเดินทางผ่านมาแล้วอีกหนึ่งปี และคงจะเดินทางต่อไปตามเข็มนาฬิกา สายน้ำ สาดลม แสงแดด เช่นนี้อีกเรื่อยๆ ตราบที่ยังคงมีลมหายใจอยู่...

เมื่อปีที่แล้ว เรื่องราวที่เกิดขึ้น อันเกี่ยวข้องกับเยาวชน คนหนุ่มสาวในประเทศนี้มีมากมายทั้งร้ายดี โดยส่วนตัวแล้ว เห็นความพยายามของผู้ใหญ่หลายภาคส่วนที่เข้ามาสนับสนุนการทำกิจกรรมสร้างสรรค์สังคมของเยาวชนอยู่มากมายหลายหลาก

โครงการพัฒนาเยาวชนจำนวนมาก ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคธุรกิจ ล้วนมุ่งเน้นให้เยาวชนคนหนุ่มสาวเข้ามาทำกิจกรรมทางสังคมมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ตัวอย่างที่ได้รับรู้มาดังเช่น โครงการเยาวชนไทยไม่ทอดทิ้งสังคม ที่เครือข่ายเยาวชน 14 กลุ่ม ได้ดำเนินการภายใต้การสนับสนุนจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, โครงการ Youth Venture โครงการที่ทางมูลนิธิอโชก้า ประเทศไทย ดำเนินการขึ้นเพื่อสนับสนุนคนรุ่นใหม่ในการทำกิจกรรมตามที่ตนถนัด, โครงการของภาคธุรกิจ เช่น โครงการที่มูนนิธิซีเมนต์ไทยสนับสนุน โครงการชั่วโมงนี้เพื่อเด็ก ที่ทางสภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชนฯ ดำเนินการ หรือแม้แต่โครงการแบ่งปันฯ ที่ทางเครือข่ายนักธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ร่วมกับภาคีดำเนินการ ฯลฯ

ลักษณะโครงการตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น มีเป้าหมายเพื่อให้เยาวชนเข้ามาทำกิจกรรมเพื่อสังคม ไม่ว่าจะเป็น “มือใหม่” หรือ “มือปานกลาง” หรือ “มือเก่า” ซึ่งถือว่าเป็นช่องทางให้เยาวชน ในการเข้ามาขอรับการสนับสนุนจากองค์กรต่างๆ ได้ทั้งสิ้น

กล่าวสำหรับเยาวชนมือใหม่ ที่ออกมาทำกิจกรรมเพื่อสังคม ตามที่โครงการเยาวชนไทยไม่ทอดทิ้งสังคม หรือ ชื่อสั้นๆ ว่า “เยาวชนพันทาง” นั้น ก็ได้ดำเนินการสนับสนุนเยาวชนมือใหม่มากกว่า 300 โครงการ ซึ่งเป็นโครงการที่เยาวชนได้คิดเองและดำเนินการเองภายใต้งบประมาณสนับสนุนไม่เกินโครงการละ 8,000 บาท ทั่วประเทศ

kittiphan 20080108 1

จากที่ได้รับฟังความรู้สึกของเยาวชนมือใหม่ที่เข้ามาทำกิจกรรมเพื่อสังคม ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น สอนหนังสือให้ น้อง อาสาสมัครตรวจสอบการเลือกตั้ง ค่ายพัฒนาทักษะ ละครสัญจร ปลูกป่า อนุรักษ์น้ำ เป็นต้น เยาวชนหลายคนต่างมองว่าการทำกิจกรรมทางสังคมนี้ เป็นการทำให้ตัวเองเห็นคุณค่าและประโยชน์ของตัวเองในการทำเพื่อผู้อื่น และยังช่วยทำให้เกิดความรัก ความหวงแหนต่อชุมชนหมู่บ้านของตนมากขึ้น

คือได้ฝึกคิด ฝึกทำ ไปด้วยพร้อมๆ กัน

เมื่อย้อนกลับมามองที่ตัวเอง, ผมจำได้ว่า ตอนเมื่อก่อนที่แรกเข้ามาทำกิจกรรมทางสังคม กิจกรรมเยาวชนนี้ไม่ค่อยจะมีโอกาสได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเท่าใดนัก จะมีเพียงแต่องค์กรพัฒนาเอกชนที่สนับสนุนการทำกิจกรรม และอีกอย่างที่พบก็คือลักษณะกิจกรรมที่บางองค์กรที่สนับสนุนให้เยาวชนทำก็เป็นกิจกรรมประเภทการประชุม เอาเด็ก มานั่งฟังผู้ใหญ่บรรยาย แต่ไม่ได้สร้างการเรียนรู้มากเท่าที่ควร

ช่วงเมื่อก่อนจำได้ว่ากว่าจะเรียกตัวเองได้ว่าเป็นเด็กกิจกรรมนั้นต้องผ่านการอบรม เคี้ยว เค้น ฝึกทักษะ ลงสนามต่างๆ นานา กว่าจะได้มานำกระบวนการ ชวนคุยในวงใหญ่ ได้แสดงละครตามที่ต่างๆ ต้องใช้เวลานานหลายเดือนหลายปี แต่สมัยนี้เยาวชนนักกิจกรรมรุ่นใหม่ๆ มักเข้ามาโดยผ่านการจัดเวทีประชุม เพื่อนำเสนอความคิดเห็นมากกว่า ดังนั้นในช่วงหลังๆ จึงมักได้ยินคำพูดของรุ่นพี่หลายๆ คนว่า “เด็กกิจกรรมสมัยนี้พูดเป็น แต่คิดไม่เป็น”

เมื่อฟังคำพูดและมองสิ่งที่กำลังเป็นไปอยู่ในทุกวันนี้ ผมเห็นว่ามีเวทีต่างๆ มากมายที่ผู้ใหญ่ให้เยาวชนเข้าร่วม ให้เยาวชนออกมามีส่วนสำคัญในการแสดงพลัง แต่มักเป็น ลักษณะเวทีพูดมากกว่าเวทีคิด หลายครั้งเราจะพบว่าเยาวชนพูด นำเสนอเก่ง แต่คิดหรือวิเคราะห์ไม่ค่อยได้(เรื่อง) ซึ่งทำให้ขาดมุมมอง เนื้อหา ประเด็นจากประสบการณ์จริงๆ เข้ามาช่วยสนับสนุน คือถ้าพูดตรงๆ คือ พูดลอยไปลอยมา มีแต่น้ำไม่มีเนื้อ เทือกนั้นๆ

(เยาวชนหลายคนที่เข้าร่วม “สภาเด็กและเยาวชน” ระดับจังหวัด ของที่ต่างๆ น่าจะทราบดีว่า กิจกรรมแบบที่ให้เยาวชนเข้ามาร่วมแบบผ่านๆ นั้น เกิดผลกระทบต่อตัวเยาวชนอย่างไรบ้าง หรือ เยาวชนที่ไม่ทำกิจกรรมกับสภาเยาวชนจังหวัด แต่เป็นกลุ่มที่ทำกิจกรรมในพื้นที่ ก็จะพบและรู้ว่าการทำงานในพื้นที่แบบจริงๆ จังๆ นั้น ช่วยให้ตัวเองคิด วิเคราะห์เป็นมากน้อยเพียงใด)

นอกจากนี้อีกมุมที่เห็นคือ การพัฒนาเยาวชนให้เป็นนักกิจกรรมที่เกิดขึ้นช่วงหลังๆ มักเป็นกิจกรรมที่เอื้อเฉพาะเยาวชนที่ผู้ใหญ่มองว่าดี และเป็นเวทีพูดมากกว่าคิดนี้ ผมเข้าใจดีว่า ผู้ใหญ่เองมีความมุ่งหวังที่อยากจะทำกิจกรรมกับเยาวชนแต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร คือ ไม่รู้ว่าจะทำกิจกรรมอะไรกับเยาวชน และไม่รู้ว่าจะเข้าถึงกลุ่มเยาวชนต่างๆ ที่หลากหลายได้อย่างไร

โดยเฉพาะผู้ใหญ่ระดับ “องค์การบริหารส่วนตำบล” ที่ต่อไปจะต้องทำงานกับเยาวชนมากขึ้น ยิ่งปัจจุบันกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ก็กำลังจะมีการประกาศใช้ ซึ่งจะส่งผลให้ทุกตำบลต้องมีศูนย์เยาวชน, ทุกอำเภอ ต้องมีสภาเด็กและเยาวชนอำเภอ, ทุกจังหวัดต้องมีสภาเด็กและเยาวชนจังหวัด, และรวมทั้งประเทศก็จะมีสภาเด็กและเยาวชนระดับประเทศไทยด้วย

ทีนี้กลับมาว่า เมื่อนโยบายพร้อมสนับสนุน แต่คนทำงานยังไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง ก็เป็นบทบาทจำเป็นอย่างยิ่งของผู้ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กและเยาวชนว่านอกจากจะคิดหรือกำหนดนโยบายในการพัฒนาเด็กและเยาวชนแล้ว ต้องพัฒนาแนวทางในการพัฒนาคนทำงาน องค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนในระดับพื้นที่ด้วย โดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนตำบลและโรงเรียน ที่เกี่ยวข้องกับเยาวชนอย่างมากในท้องถิ่น

สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในห้วงต่อไป คือความท้าทายของคนทำงานกับเยาวชนและเยาวชนนักกิจกรรมทั้งหลายที่จะดำเนินงานร่วมกัน, ท้าทายเช่นว่าจะสร้างเยาวชนให้มีความคิด วิเคราะห์ พูดเป็น ทำเป็น ได้พร้อมๆ กันอย่างไร โจทย์ใหญ่นั้นน่าจะอยู่ตรงจุดนี้ การที่ผู้ใหญ่จะทำอะไรเพื่อเยาวชนแบบที่ผู้ใหญ่ต้องการตอนนี้คงจะใช้ไม่ค่อยได้ เพราะแนวทางที่ดีระดับหนึ่งคือ ถ้าจำอะไรเพื่อเยาวชน ต้องถามที่เยาวชน และใช้โอกาสนั้นๆ สร้างการเรียนรู้ที่หลากหลาย ให้เยาวชนพูดเป็น คิดเป็น ทำเป็น พร้อมๆ กัน ...ให้เยาวชนทำได้มากกว่า “พูด”

 

เมืองสายรุ้ง (16)

4 January, 2008 - 00:13 -- nalaka

วันเวลาเคลื่อนคล้อยไปจนใกล้สิ้นปี สายรุ้งและแม่ผ่านวันเวลาร่วมกันมาอย่างกล้าหาญ เช่นเดียวกับต้นไม้ที่ยืนหยัดอยู่ท่ามกลางลมพายุ รู้จักการโอนเอนตามแรงลมเมื่อพายุกระหน่ำหนักในขณะที่รากนั้นยึดเกาะดินไว้อย่างมั่นคง

สายรุ้งมีอายุเพิ่มมากขึ้นอีกปี การผ่านวันเวลาไปจนมีอายุเพิ่มขึ้นหนึ่งปีนั้นอาจเป็นเรื่องปกติสำหรับคนอื่น ๆ แต่สำหรับแม่ของสายรุ้งแล้ว เธอรู้ว่ามันเป็นสิ่งที่มีความหมาย และความสำคัญอย่างยิ่งยวด
เธอตระหนักถึงคุณค่าของแต่ละวินาที และรู้ว่ากาลเวลาในหนึ่งวินาทีของเธอกับของคนอื่นนั้นแตกต่างกันด้วยเหตุว่าเธอมีมาตรวัดความยาวนานของเวลาต่างออกไป ส่วนสายรุ้งอาจยังเด็กเกินไปที่จะเข้าใจในเรื่องนี้

“ปีใหม่ลูกอยากได้อะไรเป็นพิเศษหรืออยากให้แม่พาไปเที่ยวที่ไหนหรือเปล่า”
“ไม่ครับแม่”
สายรุ้งตอบ “ผมมีความสุขดีอยู่แล้ว ของเล่นผมก็มีเยอะแล้ว ไม่อยากได้อะไรอีก แต่ผมอยากไปเที่ยวครับ เอาไว้หลังปีใหม่เราค่อยไปเที่ยวก็แล้วกันเพราะผมรู้ว่าแม่ไม่ชอบออกไปไหนตอนเทศกาลที่มีคนเยอะ ๆ”

“ถ้างั้นเราจัดงานเลี้ยงรับปีใหม่กันที่บ้านดีไหมลูก”
“ดีครับ แลกของขวัญกันด้วย ผมจะชวนเพื่อนที่โรงเรียนมาด้วย”
“เอาสิลูก แม่กับน้ามลจะเตรียมอาหารไว้ให้”

วันสิ้นปีมาถึงแล้ว ไปที่ไหนก็ได้ยินแต่เสียงอึกทึก เสียงร้องเพลงดังอยู่ทั่ว  สายรุ้งพลอยรู้สึกคึกคักไปด้วย แต่บางทีสายรุ้งก็รู้สึกสงสัยเมื่อเห็นคนเมาเหล้าทั้งชายและหญิงโซซัดโซเซเหมือนคนเสียสติ สายรุ้งสงสัยว่าคนที่อยู่ในสภาพนี้จะมีความสุขได้อย่างไร

ของขวัญวันปีใหม่

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพิ่งจบลงเมื่อวานนี้ ตอนค่ำ ผลสรุปจากการกากบาทลงคะแนนให้กับคนที่รัก พรรคที่ชอบ ได้ผลออกมาอย่างไม่เป็นทางการ บางคนอาจถูกใจ บางคนอาจไม่ถูกใจ

หลังจากลงคะแนนเสียงเสร็จ ผมได้เดินทางไปยังเขตชายแดนอำเภอแม่สายกับพี่ๆ เจ้าหน้าที่ศูนย์เพื่อน้องหญิง เพื่อจับจ่ายซื้อของและเดินเล่นไปมาตามประสาคนที่อยากพักผ่อนเที่ยวท่องให้คล่องใจ

เวลาในการเดินทางไป การเดินทางจับจ่ายซื้อของ และการเดินทางกลับ เริ่มจากตอนสาย จนถึงตอนหัวค่ำ ระหว่างที่อยู่เขตอำเภอแม่สาย ผมแยกตัวจากพี่ๆ เจ้าหน้าที่อีก 4 คน เดินเล่นเองคนเดียว เพียงเพื่อจะหาร้านกาแฟสดดีๆ ที่มีหนังสืออ่านและมีเพลงฟัง

ผมเดินไปทั่ว สองข้างทางมีของขายวางเรียงรายไปหมด ทั้งอาหาร ขนมกิน เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องนอน เสื้อผ้า ฯลฯ พ่อค้าแม่ค้าทั้งคนไทยและประเทศเพื่อนบ้านต่างหวังจะขายของของตนให้ได้มากที่สุด

ผมไม่ได้ซื้ออะไรเลย นอกจากมุ่งเดินตามหา ร้านหนังสือ-ร้านกาแฟ เพื่อพักผ่อนและนั่งสงบตามลำพัง, เวลา 2 ชั่วโมงผ่านไป ผมยังไม่เจอร้านหนังสือและร้านกาแฟที่ปรารถนา จนเมื่อเดินกลับไปยังจุดจอดรถ ที่เรียกว่า “สายลมจอย” ก็พบร้านกาแฟร้านหนึ่ง อยู่ไม่ไกลจากกัน และเมื่อพบผมก็เข้าไปยังร้านสั่งกาแฟสดคาปูชิโน พร้อมกับหยิบโปสการ์ดและหนังสือขึ้นมาอ่านและเขียนสลับกัน

“ที่จริงร้านกาแฟพี่น่าจะมีโปสการ์ดขายด้วยนะครับ” ผมเสนอกับพี่ผู้ชายที่ชงกาแฟสดให้ ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นเจ้าของร้าน และบอกอีกว่า “ผมเดินไปทั่วแม่สายไม่เห็นร้านกาแฟสดเลย ไม่มีร้านค้าขายโปสการ์ดด้วย บางคนที่เดินทางท่องเที่ยวอาจจะอยากซื้อของตามวิธีปกติแต่บางคนก็เลือกที่จะเขียนโปสการ์ดส่งให้คนที่ตัวเองคิดถึงหรือเขียนไปที่ไหนสักแห่งก็ได้นะครับ”

พี่ผู้ชายไม่ตอบอะไร เพียงแต่พยักหน้าแล้วส่งถ้วยกาแฟให้ผม

สำหรับผมแล้ว ท่ามกลางความวุ่นวายของฝูงชนที่เดินจับจ่ายซื้อของไปมาตามบริเวณเขตชายแดนแห่งนี้ ยังมีจุดเล็กๆ อีกหลายแห่งที่เราไม่ค่อยได้คิดคะนึงถึง เช่น ความเรียบง่ายของการนั่งพัก ร้านค้านั่งจิบชา กาแฟ ฟังเพลงเพราะๆ หรือแม้แต่บนสะพานข้ามชายแดนที่มีเด็กน้อยวิ่งเข้ามาขอเงินจากผู้เที่ยว เป็นต้น

ท่ามกลางเข็มนาฬิกาที่หมุนไป เราต่างสนใจสิ่งใหญ่ๆ ใกล้ตัวจนหลงลืมไปว่ามีสิ่งเล็กๆ ที่สำคัญปรากฏอยู่ แต่เราเผลอใจให้กับเรื่องบางอย่างที่คนส่วนมากสนใจ จนเราก็สนใจตามกระแสไปกับเขา

เรื่องนี้เกิดขึ้นกับผมอยู่เสมอ....

บ่อยครั้งที่ผมสนใจเรื่องการเลือกตั้ง จนลืมไปว่าแท้จริงแล้วประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว
บ่อยครั้งที่ผมสนใจการทำงานเชิงนโยบายระดับชาติ จนลืมการขับเคลื่อนงานนโยบายระดับพื้นที่
บ่อยครั้งที่ผมพูดเรื่องงานจนลืมไปว่าคนในครอบครัวยังไม่พร้อมที่จะพูดฟังหรือสนทนา
บ่อยครั้งที่พรรคการเมืองสนใจการได้มาซึ่งอำนาจจนลืมนึกถึงนโยบายสำหรับคนที่ด้อยโอกาสในสังคม
บ่อยครั้งที่สื่อนำเสนอเรื่องเยาวชนเป็นปัญหา จนลืมนำเสนอเยาวชนที่ทำดีเพื่อสังคม

ฯลฯ อีกมากมาย ที่เราหลงลืมไป แม้ว่าสิ่งนั้นจะไม่ได้ยิ่งใหญ่ หรือได้รับความสนใจแต่มันก็เป็นสิ่งสำคัญและมีคุณค่า ทว่าอาจยังไม่ได้เป็นที่รับรู้ของคนทั่วไปก็เป็นได้

ร้านกาแฟเล็กๆ ในแม่สายอาจไม่สามารถอยู่ได้ หากผู้คนที่มาเพียงหวังจะเดินทางมาซื้อของราคาถูกๆ แล้วเดินทางกลับ โดยที่ไม่ได้พักนั่งนิ่งฟังลมฟ้าอากาศ

สิ่งเล็กๆ อุปมาคล้ายดั่งเช่นเด็กๆ ที่ผู้ใหญ่มักหลงลืมหรือมักคิดคำนึงถึงเป็นอันดับท้ายๆ ทั้งๆ ที่หลายคนบอกว่าเด็กสำคัญแบบนั้น เด็กสำคัญแบบนี้ แต่การกระทำแล้ว กลับสวนทางอย่างสิ้นเชิง

เขาบอกว่าต้องมีสื่อเพื่อเด็ก แต่รายการทีวียังหาเงินกับเด็กอย่างไม่หยุดนิ่ง
เขาบอกว่าต้องให้เด็กมีส่วนร่วม แต่ผู้ใหญ่ยังให้เด็กๆ ทำกิจกรรมได้เท่าที่ผู้ใหญ่ต้องการ
เขาบอกว่าปัญหาเรื่องเพศของวัยรุ่นสำคัญ แต่ไม่เห็นมีนโยบายป้องกันและให้ความรู้อย่างแท้จริง
เขาบอกว่าต้องมีวาระเพื่อเด็ก แต่ไม่รู้ว่าเด็กได้มีส่วนร่วมจัดทำมากเพียงใด
เขาบอกว่าเยาวชนเป็นวิกฤติสังคม แต่ไม่มีหนทางการพัฒนาเยาวชนในเชิงบวกแม้แต่นิด

คำพูดที่ยิ่งใหญ่กับการกระทำที่เล็กน้อย ตรงข้ามกันเช่นนี้นั้น ที่ผ่านมาถือว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นอยู่ร่ำไป (บางครั้งเด็กๆ เองก็หวังกับผู้ใหญ่มากจนเกินไป เรียกร้องผู้ใหญ่จนเกินไป แต่ไม่ได้มองถึงศักยภาพตัวเองที่มีอยู่ว่าแท้จริงแล้วไม่ต้องไปเรียกร้องอะไรมากมาย เพียงแต่เราอาจจะเริ่มต่อสู้ด้วยตัวเอง พัฒนาตนเอง เรียนรู้จากตัวเอง ฝึกคิด ฝึกทำด้วยตนเอง จะหวังพึ่งพิงผู้ใหญ่อย่างเดียวก็คงทำได้ยากนัก)

ปีที่ผ่านมานี้ เกิดเรื่องราวมากมายกับเยาวชน ทั้งที่เรียนหนังสือ ไม่ได้เรียนหนังสือ เป็นคนที่ถูกละเมิดสิทธิ เป็นคนที่ด้อยโอกาสทางสังคม เป็นคนที่ยังเข้าไปถึงสวัสดิการพื้นฐาน เป็นคนที่สุขภาพไม่ได้ และอื่นๆ อีกมากนั้น ยังคงได้รับความสนใจค่อนข้างน้อย เพราะผู้ใหญ่ โดยเฉพาะรัฐนั้น สนใจแต่เรื่องใหญ่ๆ สนใจแต่การขจัดขั้วอำนาจเก่า สนใจแต่เรื่องผลประโยชน์ อำนาจ จนลืมนึกถึงคนตัวเล็ก ลืมเด็ก ลืมเยาวชนไป

ของขวัญสำหรับปีใหม่นี้ ผมคงไม่ขออะไรมากครับ – เพียงแต่ว่าหากจะคิดถึงเรื่องอะไรที่มันใหญ่โตแล้ว ขอให้คิดถึงทรัพยากรของแผ่นดินอย่างเช่นพวกเรา เด็กและเยาวชน เพียงรับฟังเสียงเราอย่างแท้จริง สนับสนุนการมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง ปกป้องคุ้มครองสิทธิอย่างแท้จริง และคิดคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดที่พวกเราจะได้รับด้วย ก็น่าจะเพียงพอ

ไม่ได้ขอจากดวงจันทร์
ไม่ได้ขอแก้วแหวนเงินทอง
แต่ขอร้องมายังผู้ใหญ่ทุกคน

หมายเหตุ:
เนื่องจากผมสนใจเรื่องใหญ่ๆ มามากจนลืมนึกถึงเรื่องเล็กของตัวเองไป จึงได้ให้ของขวัญตัวเองด้วยการหยุดพักจากการทำงานต่างๆ ในระหว่างท้ายปีปีนี้และต้นปีหน้า ด้วยมุ่งจะพักจิต ชำระใจ ด้วยการเจริญสติวิปัสสนา ทั้งนี้หากที่ผ่านมาผมได้ล่วงเกินพี่ๆ ผู้อ่านด้วยวาจา ข้อเขียน และความคิดใดๆ ก็ตาม ผมขออโหสิกรรมมา ณ โอกาสนี้ และขอให้ทุกๆ ท่าน มีความสดชื่น สมหวัง อยู่อย่างมีความสุขทุกลมหายใจ อยู่อย่างมีความหมายกับชีวิตที่งดงาม

เมืองสายรุ้ง (15)

22 December, 2007 - 01:35 -- nalaka

สายรุ้งก็เหมือนกับเด็กคนอื่นๆ ที่เพลิดเพลินกับการเล่นเกมคอมพิวเตอร์  เกมที่มีภาพสวยงามดึงดูดสายตาและสามารถติดต่อสัมพันธ์ คุยเล่นสนุกกับคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนได้ผ่านการเชื่อมต่อกับโลกไซเบอร์

การสร้างสีสันสวยงามเกินจริง การออกแบบฉากที่อลังการ ไม่ว่าจะเป็นตึกอาคาร ตัวสัตว์ประเภทต่าง ๆ  และความน่าตื่นตาตื่นใจกับสิ่งที่ปรากฏในเกม ยั่วเย้าเร้าความสนใจของสายรุ้งและเด็กคนอื่นๆ จนไม่อาจต้านทานได้

หากเล่นเกมที่ร้านเกมซึ่งมีเด็กๆ ไปชุมนุมกันนั้น สายรุ้งจะนั่งเล่นไม่นานนัก แค่เพียงชั่วโมงหรือสองชั่วโมงเท่านั้น เพราะแม่ไม่ต้องการให้เขาขลุกอยู่ที่ร้านเกมนานเกินไป และเขาก็ไม่อยากทำให้แม่ไม่สบายใจ

แม่บอกว่า “ที่ร้านเกม มีเด็กร้อยพ่อพันแม่ ยังไงแม่ก็อดที่จะเป็นกังวลใจไม่ได้หากลูกอยู่ที่ร้านเกมนาน”

แต่ถ้าเป็นที่บ้าน สายรุ้งนั่งเล่นได้ข้ามวัน ข้ามคืน โดยมีเด่นมาเล่นเป็นเพื่อนด้วย เด็กทั้งสองเอาจริงเอาจังอย่างมากราวกับว่ามันคือส่วนหนึ่งของชีวิตจริงๆ ไม่ใช่เพียงแค่เกม พวกเขามีอารมณ์ร่วมไปกับเกม ทั้งหัวเราะ ไม่พอใจ โวยวาย บ่นงึมงำ คุยกับจอคอมพิวเตอร์เหมือนกับว่ามันมีชีวิต

“นายต้องเอากุญแจที่อยู่กับตัวประหลาดมาให้ได้ก่อน แล้วหลังจากนั้นนายก็จะต้องเดินไปที่ประตูขุมทรัพย์ที่มีแมงมุมดำเฝ้าอยู่” สายรุ้งบอกเด่น
“ฉันจะจัดการยังไงกับตัวประหลาด”
“นายไม่จำเป็นต้องฆ่าก็ได้ เพียงแต่แย่งกุญแจมา”

บางครั้งขณะทานอาหาร สายรุ้งก็คิดถึงการต่อสู้กันในเกม การขยับขึ้นในระดับตำแหน่งที่สูงกว่าหากเอาชนะคู่ต่อสู้ หรือการเข้าใกล้ขุมทรัพย์หากกำจัดตัวแมงมุมดำที่เฝ้าอยู่ตรงปากประตูได้ แต่การจะกำจัดแมงมุมดำนั้นต้องหาจุดอ่อนของมันให้เจอเสียก่อน หรือไม่ก็ต้องหาทางล่อหลอกให้มันเผลอซึ่งเป็นไปได้ยาก

“จุดอ่อนของแมงมุมดำอยู่ที่ไหนครับแม่” เขาถามแม่ ความคิดเขาวนเวียนอยู่แต่เรื่องของเกม
“แม่ว่าลูกเพลา ๆ ลงก็ดีนะ โดยเฉพาะตอนกลางคืน ลูกไม่ควรอดหลับอดนอนเพื่อเล่นเกม ควรจะเล่นเพื่อผ่อนคลายเท่านั้น”
“นานๆ ครั้งเท่านั้นเอง”
สายรุ้งอุทธรณ์ “แม่รู้ไหมว่าเด่นนะ นอนเกือบสว่างเวลาที่ได้เล่นเกม”
“เด็กๆ ไม่ควรนอนดึก ร่างกายจะอ่อนเพลีย”
แม่พูด

ประเด็นเรื่องสุขภาพของลูกเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด ส่วนประเด็นเรื่องความรุนแรงที่เด็กอาจเลียนแบบมาจากเกมอย่างที่มีการรณรงค์ของหน่วยงานทางวัฒนธรรมบางหน่วยงานนั้น ไม่ค่อยน่าเป็นห่วงมากนักเพราะคิดว่าสามารถอบรมกล่อมเกลาให้สายรุ้งเป็นเด็กที่อ่อนโยนได้ และที่ผ่านมาสายรุ้งก็ไม่เคยแสดงกริยาก้าวร้าวรุนแรงให้เห็นเลย  

“แล้วจุดอ่อนของแมงมุมดำอยู่ที่ไหน” สายรุ้งไม่ลืมคำถามที่ถามไว้ตั้งแต่แรก เขาอยู่กับความคิดที่จะหาวิธีไปสู่ขุมทรัพย์ให้ได้

แม่หัวเราะกับท่าทางจริงจังของสายรุ้ง แม้ว่าจะไม่สนับสนุนให้ลูกหมกหมุ่นกับเกมแต่เมื่อเห็นว่าลูกให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก เธอจึงบอกสั้นๆ ว่า
“ไม่รู้สิจ๊ะ แม่ไม่ชอบแมงมุม ลูกน่าจะถามตามากกว่า”

สายรุ้งทานอาหารไป ขบคิดไป เขาเข้าใกล้จุดสำคัญของเกมนี้แล้ว แต่หลังจากพยายามอยู่หลายหน เขาก็ไม่อาจผ่านประตูสู่ขุมทรัพย์ได้สักที

แม่ได้แต่ยิ้มอย่างเอ็นดูกับความเอาจริงเอาจังของสายรุ้ง และมองในแง่ดีว่า เกมจะมีส่วนช่วยต่อพัฒนาการการเติบโตของเด็กหากเล่นอย่างพอเหมาะ และขึ้นอยู่กับเกมด้วยว่าเป็นอย่างไร สร้างสรรค์เหมาะสมแค่ไหน

แม่คิดว่าคอมพิวเตอร์และโลกอินเตอร์เน็ตมีสิ่งดี ๆ มากมายหากใช้งานอย่างถูกต้อง ดังนั้น หลังจากที่สายรุ้งรบเร้าอยากได้คอมพิวเตอร์หลายครั้ง แม่จึงยอมซื้อให้และต่ออินเตอร์เน็ตให้เรียบร้อยโดยคิดว่าลูกคงจะได้รับความเพลิดเพลินใจ และได้ค้นคว้าความรู้อย่างกว้างขวางถ้าเขาต้องการ  

ยิ่งเมื่อตระหนักว่าสายรุ้งไม่เหมือนเด็กคนอื่น วันเวลาของสายรุ้งแตกต่างจากเด็กคนอื่นๆ จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะขัดขวางความต้องการของเขา

อย่างไรก็ตาม โลกอินเตอร์เน็ตที่สื่อสารกันได้อย่างแทบจะไร้ขีดจำกัดนั้นมีทั้งคุณและโทษ แม่จึงพยายามดูแลการท่องเข้าไปในโลกอินเตอร์เนตที่อาจพบเจอคนแปลกหน้า และไม่เก็บคอมพิวเตอร์ไว้ในห้องนอนของสายรุ้ง

แม่ไม่เคยห้ามว่าเว็บไซต์แบบไหนที่สายรุ้งไม่ควรเข้าไป สายรุ้งจะรู้แก่ใจดีว่าเขาควรจะเข้าไปหรือไม่ แม่เพียงแต่แนะนำเวบไซต์ที่คิดว่าน่าสนใจและมีประโยชน์ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับสารคดี

“แม่ครับ ผมเข้าไปในห้องเก็บขุมทรัพย์ได้แล้วครับ” สายรุ้งบอกแม่ในวันหนึ่ง
“แล้วพบอะไรบ้างล่ะ”
“พบดาบเพียงเล่มเดียว เป็นดาบศักดิ์สิทธิ์”
“ลูกจะเอาดาบไปทำอะไร”
แม่ถาม

“ดาบต้องใช้ในการเล่นอีกขั้นสูงขึ้นไป แต่ผมเบื่อเกมนี้แล้ว มันยากไปหน่อย  เอ่อ วันเสาร์นี้ แม่จะไปซื้อหนังสือที่ศูนย์การค้าใช่ไหมครับ ผมว่าจะไปหาซื้อแผ่นเกมใหม่ๆ ด้วย” สายรุ้งพูดยิ้ม ๆ

“ได้สิ” แม่ตอบ พลางคิดว่า อย่างน้อยเกมต่าง ๆ ที่สายรุ้งเล่น  ได้ผ่านสายตาและการเลือกสรรของแม่แล้ว. 

 

Pages

Subscribe to เยาวชน