ประสาท มีแต้ม
ขณะนี้รัฐบาลกำลังคิดค้นโครงการประชานิยมหลายอย่าง คาดว่าจะประกาศรายละเอียดภายในต้นปี 2554 ทั้งนี้เพื่อรองรับการเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี
ทำไปทำมานโยบายประชานิยมที่เริ่มต้นอย่างประปรายตั้งแต่รัฐบาลคึกฤทธิ์ ปราโมช (2518) และเริ่มเข้มข้นมากขึ้นในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร จะเป็นสิ่งที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้เสียแล้ว
บทความนี้จะกล่าวถึงนโยบายประชานิยมในเรื่องค่าไฟฟ้าสำหรับผู้อยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้ารายย่อยไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือน โครงการนี้เกิดในสมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช (2551) และใช้ต่อกันมาจนถึงรัฐบาลปัจจุบันและในอนาคตด้วย
ผมได้มีโอกาสคุยกับผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยในชนบท สองราย พบว่าแต่ละรายใช้ไฟฟ้าเกิน 90 หน่วยไปเพียงเล็กน้อย เมื่อเป็นดังนี้ ผู้ใช้ต้องจ่ายทั้งหมด เช่น ใช้ไป 112 หน่วย ก็ต้องจ่ายทั้งหมด 112 หน่วย ไม่ใช่เฉพาะส่วนที่เกินจาก 90 หน่วยเท่านั้น
ค่าไฟฟ้าสำหรับ 112 หน่วย คิดเป็นเงิน 350 บาท (ในจำนวนนี้เป็นค่าเอฟทีหน่วยละ 92 สตางค์หรือ 103.04 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่ม 22.89 บาท หมายเหตุ ในเดือนตุลาคม 2550 ค่าเอฟทีหน่วยละ 66 สตางค์) ผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งสองต่างบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า “เงิน 350 บาทนี้ไม่น้อยเลยเมื่อเทียบกับเงินสงเคราะห์ผู้สูงอายุคนละ 500 บาทต่อเดือน”
จากการพูดคุยดังกล่าวจึงเกิดเป็นโจทย์ให้ต้องขบคิดว่า “จะต้องใช้ไฟฟ้าอย่างไร จึงไม่เกิน 90 หน่วย” เราจึงเริ่มต้นด้วยการสำรวจเครื่องใช้ไฟฟ้าและกำลังของแต่ละชนิด
เครื่องใช้ไฟฟ้าที่จำเป็น ได้แก่ หลอดไฟฟ้า (หลอดละ 18 วัตต์) หม้อหุงข้าว (750 วัตต์) โทรทัศน์สี (120 วัตต์) พัดลมตั้งโต๊ะ (50 วัตต์) ตู้เย็น (125 วัตต์ ขนาด 7 คิว ใช้ไฟฟ้าเดือนละ 37 หน่วย) เครื่องซักผ้า (330 วัตต์) เตารีดผ้า (1,200 วัตต์) กระติกต้มน้ำ (750 วัตต์) และเครื่องบดเครื่องแกง (140 วัตต์)