Skip to main content
เมธัส บัวชุม
อันที่จริง ผมตั้งใจจะหยุดเขียนบทความการเมืองสักระยะด้วยรู้สึกระอากับความวิปริตทางปัญญาของสังคมไทย ผมยังรู้สึกหลอนไม่หายกับการยึดอำนาจของทหารท่ามกลางความดีอกดีใจของพวก “ทาสที่ปล่อยไม่ไป” และพวกที่กลุ้มรุมทึ้งแย่งผลประโยชน์ “แห่งชาติ” ที่ไม่ได้ “เหลือแต่กระดูก” หลังการจากไปของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตรกลุ่มคนเหล่านี้ที่เข้ามายึดกุมอำนาจหลังรัฐประหาร ไม่เกี่ยวข้องอะไรเลยกับการสร้างประชาธิปไตยหรือปฏิรูปการเมือง  รัฐบาลเถื่อนของนายกรัฐมนตรีสุรยุทธ์ จุลานนท์ กับ คมช. คตส. กกต. ที่ผ่านมาได้ทำอะไรบ้างที่เป็นสร้างเสริมประชาธิปไตย หรือปฏิรูปการเมืองไปสู่ครรลองประชาธิปไตยนอกจากสมคบคิดกันกวาดล้างกลุ่ม “อำนาจเก่า” ถึงตอนนี้ เราคงได้เห็นกันแล้วว่า กลุ่มที่ช่วยกันไล่อดีตนายกฯ ทักษิณ  ชินวัตร นั้นได้หันมากัดกันเองเมื่อมีการจัดสรรปันส่วนผลประโยชน์ไม่ลงตัว ได้เห็นกันแล้วว่ารัฐบาลที่เอ่ยอ้างถึงคุณธรรม จริยธรรมโดยไม่คิดนั้น  มีระดับคุณธรรม จริยธรรมไม่ได้ดีไปกว่าสมัยนายกฯ ทักษิณ  ชินวัตรเรืองอำนาจ หรือเผลอ ๆ รัฐบาลชุดนี้อาจมีระดับจริยธรรมแย่เสียยิ่งกว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการครอบครองหุ้นเกินห้าเปอร์เซ็นต์ของหลายรัฐมนตรี การใช้งบลับและการสืบทอดอำนาจด้วยท่าทีเหนียมอายของพลเอกสนธิ บุณยรัตนกลิน ซึ่งเข้าไปนั่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ฯลฯผลเสียที่การรัฐประหารทำไว้ เลวร้าย “อย่างที่ไม่เคยปรากฏ” มาก่อนคนที่เห็นดีเห็นงามกับการยึดอำนาจหรือคนที่มีส่วนร่วมกับม็อบพันธมิตรนั้น ถึงเวลาแล้วที่จะสำนึกถึงความเสียหาย และตระหนักถึงบทเรียนของการปล่อยให้ทหารมาเพ่นพ่านในวงการเมืองและสร้างปัญหาซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่าว่าแต่คนรุ่นใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์ หรือไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ความเสียหายของพัฒนาการทางการเมืองจากการที่กลุ่มทหารเข้ามาแทรกแซงการเมืองไทยเป็นระยะ ๆ  แม้แต่คนรุ่น “เดือนตุลา” ที่เคยเข้าป่าก็ยังไม่ “ซึ้ง” ถึงความเลวร้ายอันเกิดมาจากการยึดอำนาจของเผด็จการทหาร ดังนั้น จึงให้คะแนนคมช. สอบ “ผ่าน” นี่ช่างน่าสงสัยว่าที่แท้แล้วบทเรียนของ “เดือนตุลา” นั้นเป็นอย่างไร ถ้าให้ทหารที่ยึดอำนาจสอบผ่านแม้จะอย่างเฉียดฉิว จะสอนนักศึกษาให้เคารพการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย จะสอนให้คนรุ่นหลังเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้อย่างไร การหวังเกาะกระแสสังคมเพื่อสร้างชื่อโดยไม่คำนึงถึงหลักการอะไรเลยนั้น สมควรถูกประณามข่าวที่ว่าคุณจรัล  ดิษฐาอภิชัย ถูกสมาชิกสภานิติบัญญัติที่มาจากการแต่งตั้งโดยทรราชย์ ลงคะแนนเสียงถอดถอนออกจากการเป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนนั้น ทำให้ผมหันมาต้องเขียนระบายความอัดอั้นตันใจข่าวนี้สร้างความปวดใจให้ผมไม่น้อย ตอน นวมทอง  ไพรวัลย์ อัตวินิบาตกรรม บอกตามตรงว่า ผมยังไม่รู้สึกแย่เท่านี้เลย นั่นคงจะเป็นเพราะว่า นวมทอง ไพรวัลย์เดินทางไปสู่อีกภพภูมิหนึ่งที่ไม่ต้องรับรู้เรื่องการเมือง แต่ข่าวนี้ทำให้เหลืออดจริง ๆ คุณจรัล ดิษฐาอภิชัย ถูกมองว่าไม่มีความเป็นกลางและละเมิดสิทธิมนุษยชน ผมไม่รู้ว่าจะหัวเราะหรือจะร้องไห้ดีกับข้อกล่าวหาที่ว่านี้ สมมุติว่าคุณจรัล ดิษฐาอภิชัย วางตัวไม่เป็นกลางและละเมิดสิทธิมนุษยชนจริงดังคำกล่าวหา การล้มล้างทำลายระบอบประชาธิปไตยของทหารและการวางตัวของประธานองคมนตรี ไม่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและขาดความเป็นกลางยิ่งกว่าหรอกหรือ ? การกระทำของกลุ่ม ASTV ไม่เป็นกลางและละเมิดสิทธิมนุษยชนยิ่งกว่าหรือ ? การโจมตีและสร้างความเสียหายให้แก่นักข่าวสาวที่ไม่อาจปกป้องตัวเองจากการที่ไปสัมภาษณ์อดีต นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร จนต้องออกจากราชการนั้นไม่เลวร้ายกว่าหรอกหรือ?นี่คือความวิปริตทางปัญญาของสังคมไทยที่แยกไม่ออกระหว่างการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยกับการล้มล้างทำลาย แยกไม่ออกระหว่างความเลวกับความเลวกว่า เป็นความวิปริตทางปัญญาที่ปล่อยปละละเลยให้ความอยุติธรรมดำเนินไปโดยทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นหรือแกล้งโง่ผมอยากจะย้ำว่าการถอดถอนคุณจรัล ดิษฐาอภิชัย นั้นคือการ “ละเมิด” อย่างรุนแรง เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ละเมิดหลักการประชาธิปไตย สภาเถื่อนอย่างสนช. นั้นไม่สามารถอ้างอำนาจอันชอบธรรมในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระซึ่งเป็นอำนาจที่สี่ สภาเถื่อนนี้ “มาโดยไม่ชอบ ยังใช้อำนาจโดยไม่ชอบอีก”การออกมาต่อสู้ของ คุณจรัล ดิษฐาอภิชัย โดยประกาศจุดยืนอย่างตรงไปตรงมา ไม่แทงกั๊ก ไม่หลบ ๆ ซ่อน ๆ เป็นสิ่งที่น่ายกย่อง ในขณะที่หลาย ๆ คนพากันพูดว่าไม่เอารัฐประหาร แต่ไม่ทำอะไรสักอย่างเดียวการเคลื่อนไหวอย่างกล้าหาญของคุณจรัล ดิษฐาอภิชัย เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าชื่นชมและจดจำของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยขอชื่นชมคุณจรัล  ดิษฐาอภิชัยที่ต่อสู้เพื่อปกป้องประชาธิปไตยโดยไม่กลัว “เปลืองตัว”