bloody_may_1992

เจตนารมณ์พฤษภาฯ 2535 (ยังเหลืออยู่?)

 

  

ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง

 

ช่วงนี้ตรงกับเดือนพฤษภาคมซึ่งเป็นเดือนที่เคยมีเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ทางการเมืองอย่างมากครั้งหนึ่ง ในสัปดาห์นี้ประชาไทจึงเลือกพาด หัวไม้' เกี่ยวกับประวัติศาสตร์สำคัญตอนนี้

หากกล่าวอย่างรวบรัดที่สุด คือ ใน เดือนพฤษภา พ.ศ. 2535' เกิดการลุกฮือของประชาชนเพื่อต่อต้านนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง หรือการต่อต้าน พล.อ.สุจินดา คราประยูร หนึ่งในคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ผู้ใช้วาทะ เสียสัตย์เพื่อชาติ' มานั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตาม ถ้าจะลงไปให้ถึงรายละเอียด เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ยังพูดรวมไปถึงการเรียกร้องให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา ห้ามไม่ให้ข้าราชการประจำดำรงตำแหน่งการเมืองและการบริหารประเทศ คณะรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. ลดอำนาจวุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้ง เป็นต้น

หรือหากพูดให้ชัดเจนที่สุด เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 คือ ต้นทางนำมาซึ่งการปฏิรูปทางการเมืองครั้งสำคัญและกลายเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างมาในบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตยที่สุด

 

ส่วนระบอบทหาร' ซึ่งกลับเข้ามามีอำนาจในสังคมไทยอย่างมากตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ก็ถูกทำให้กลับเข้ากรมกองและจัดวางความสัมพันธ์ใหม่ทางอำนาจที่ไม่ได้มายุ่งเกี่ยวหรืออยู่เหนือการเมืองอีกต่อไปหลังเหตุการณ์นี้ด้วยกระบวนการ สันติวิธี' ของประชาชน

แล้วเหตุการณ์พฤษภาเกิดขึ้นได้อย่างไร..

คงต้องเล่าย้อนไปถึงกาลครั้งหนึ่งนานมาที่การเมืองไทยยังอยู่ในช่วงในระบอบประชาธิปไตยแบบครึ่งใบ คือแม้จะมีการเลือกตั้งตามสากลประเทศแล้วก็ตาม แต่อำนาจสูงสุดหรือตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะไปตกลงกันนอกสภาโดยขุมพลังสำคัญได้แก่ ทุน วัง ปืน ซึ่งนั่นเป็นตำแหน่งแห่งที่ประจำของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

หลังมีอำนาจอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งยาวนานกว่า 8 ปี หรือครบสองวาระแล้วกระแสคัดค้านมีมากขึ้นตามลำดับความอึดอัด พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จึงต้องประกาศ พอแล้ว' ไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 3 หลังการเลือกตั้ง พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่

พล.อ.ชาติชาย ได้สร้างภาพลักษณ์ใหม่ในการบริหารประเทศอย่างเด่นชัด โดยเฉพาะการเปลี่ยนโฉมโนมพรรณทางเศรษฐกิจที่ผูกประเทศไปเชื่อมโยงไปกับภูมิภาคและโลกด้วยแนวนโยบาย เปลี่ยนสนามรบ เป็นสนามการค้า' อย่างไรก็ตาม มันก็ได้ทำให้ถูกมองว่าเป็นสภาวะธุรกิจการเมืองธนาธิปไตยที่นำไปสู่ข่าวลือเกี่ยวกับการคอรัปชั่นฉ้อราษฎร์บังหลวงของรัฐบาลชุดนี้อย่างมากมาย มีความหวั่นวิตกกันทั่วไปว่า พล.อ.ชาติชาย จะนำประเทศไปสู่ความหายนะ เพราะพันธะผูกพันที่ทำกับบรรษัทต่างชาติในโครงการใหญ่ๆ ต่างๆ ขณะเดียวกันก็เป็นช่วงเวลาที่นักการเมืองมีความอหังการ์สูง รัฐมนตรีบางท่านกล้าออกมาปะทะคารมกับนายทหารชั้นผู้ใหญ่จนเป็นความตึงเครียดทางการเมืองครั้งสำคัญ

นอกจากกระแสข่าวลือคอรัปชั่นและเค้าลางความขัดแย้งกับกลุ่มทหารอย่างสูงแล้ว รูปแบบการบริหารที่เคยใช้ข้าราชการขับเคลื่อนเป็นสำคัญอย่างในอดีตก็คล้ายถูกมองข้ามไป รัฐบาล พล.อ.ชาติชายได้ตั้งทีมที่ปรึกษาหรือ บ้านพิษณุโลก' ขึ้นมามีบทบาทนำสำคัญในการดำเนินนโยบายของประเทศ

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนตำแหน่งในกองทัพบกได้กลายเป็นประเด็นสำคัญที่มีผลต่อเสถียรภาพทางการเมืองในรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย อย่างมาก เมื่อ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ลาออกจากราชการและเข้ามาดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในขณะที่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ได้เข้าดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก และ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด หรืออาจเรียกได้ว่า จปร. รุ่น 5 ได้มีบทบาทในการคุมกำลังและดำรงตำแหน่งสำคัญในกองทัพบก ขณะเดียวกันก็มีอดีตผู้บังคับบัญชาเป็นรัฐมนตรีกลาโหม

แต่เมื่อ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ได้ไปปราศรัยที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยเรื่องฉ้อราษฎร์บังหลวง ผลสุดท้าย พล.อ.ชวลิตได้ลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองจนทำให้เกิดช่องว่างทางอำนาจขึ้น พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ได้ควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมด้วย ต่อมาได้เชิญ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก หัวหน้าพรรคปวงชนชาวไทย มาดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มนายยทหารแห่งกองทัพบก จปร. รุ่น 5 และรัฐบาลตึงเครียดขึ้น

 

ฟางเส้นสุดท้ายของความสัมพันธ์คือ พล.อ.ชาติชาย ตัดสินใจแต่งตั้ง พล.อ.อาทิตย์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงกลาโหม โดยอ้างว่าเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของตน

จนในวันที่ 23 ก.พ.2534 พลเอกชาติชาย และพลเอกอาทิตย์ มีกำหนดการเดินทางด้วยเครื่องบินเพื่อไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่เชียงใหม่ แต่ก็กลายเป็นกับดักตกอับที่สนามบินกองทัพอากาศ และมีการรรัฐประหารโดยกลุ่มทหารที่เรียกตัวเองว่า คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ซึ่งมี พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นหัวหน้าคณะ รสช. พล.อ.สุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก เป็นรองหัวหน้าคณะฯ พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศ, พล.ร.อ.เอกประพัฒน์ กฤษณจันทร์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นรองหัวหน้าคณะฯ และมี พล.อ.อิสระพงศ์ หนุนภักดี รองผู้บัญชาการทหารบก เป็นเลขานุการ

รสช.ให้เหตุผลในการรัฐประหาร 23 ก.พ. 2534 ว่า

 

1. มีการทุจริตคอรัปชันในบรรดารัฐมนตรีร่วมรัฐบาลอย่างกว้างขวาง

2. ข้าราชการการเมืองรังแกข้าราชการประจำ

3. รัฐบาลเป็นเผด็จการทางรัฐสภา

4. มีการพยายามทำลายสถาบันทหาร

5. บิดเบือนคดีวันลอบสังหารซึ่งมีจุดมุ่งหมายล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์

การรัฐประหารในครั้งนั้นผ่านไปด้วยบรรยากาศที่ค่อนข้างชื่นมื่นคล้ายกับการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 หรือการรัฐประหารครั้งล่าสุด มีประชาชนเข้าไปมอบดอกไม้และข้าวของเป็นกำลังใจให้ในการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่สุดฉาวโฉ่กับกระแสข่าวเรื่องการคอรัปชั่นเหม็นคลุ้ง

หลัง รสช.ยึดอำนาจก็ได้จัดการทุกอย่างให้เข้ารูปเข้ารอยด้วยการตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติขึ้น รวมทั้งการแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้น 20 คน เพื่อร่างรัฐธรรมนูญ มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน ผู้มีพฤติกรรมร่ำรวยผิดปกติ โดยมีอดีตรัฐมนตรีถูกประกาศชื่อเป็นผู้อยู่ในข่ายสงสัย และ นายอานันท์ ปันยารชุน ถูกยกขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

ขณะนั้นเองสมาชิกบางคนของ รสช.ก็ได้ตั้งพรรคการเมืองขึ้นเพื่อเตรียมการสืบทอดอำนาจ โดยเฉพาะพรรคสามัคคีธรรม' และมีความพยายามเข้าไปคุมพรรคการเมืองที่มีแล้วอยู่โดยส่งคนสนิทเข้าคุมตำแหน่งบริหารพรรค เช่น ในพรรคชาติไทยและพรรคกิจสังคม เป็นต้น

ทว่าสุดท้ายแล้ว ประเด็นการแปรญัตติรัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างโดยคณะกรรมการ 20 คน และคณะกรรมการสามัญ 25 คน ได้นำไปสู่ความขัดแย้งอย่างหนัก โดยเฉพาะในส่วนบทเฉพาะกาลที่เปิดทางให้ข้าราชการประจำดำรงตำแหน่งข้าราชการเมืองได้ เรื่องอำนาจของวุฒิสมาชิก เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญและตัวนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ ตำแหน่งประธานรัฐสภา เขตการเลือกตั้ง คณะกรรมการรัฐธรรมนูญ และผู้ตรวจการรัฐสภา

เหตุผลดังกล่าวทำให้เกิดการประท้วงรัฐธรรมนูญอย่างกว้างขวางเพราะขาดความเป็นประชาธิปไตยตั้งแต่กระบวนการร่าง นำไปสู่ความตึงเครียดทางการเมืองอีกครั้งจน พล.อ.สุจินดา คราประยูร ต้องออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ตน และ พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล จะไม่รับตำแหน่งทางการเมืองใดๆ รัฐธรรมนูญจึงผ่านสภาทั้งสามวาระ โดยมีข้อขัดแย้งที่จะนำไปสู่ปัญหาในอนาคต คือ

1.ตัวนายกรัฐมนตรีจะมาจาก ส.ส. หรือคนนอก ในรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุไว้

2 อำนาจวุฒิสภาซึ่งมีอำนาจในการร่วมอภิปรายและลงมติในการไม่ไว้วางใจรัฐบาล และพระราชกำหนด

3. ประธานรัฐสภามาจากประธานวุฒิสภาตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2521 ได้มีการแก้ไขให้ประธานรัฐสภามาจากประธานสภาผู้แทนราษฎร์

4.เขตการเลือกตั้งได้เปลี่ยนเป็นเขตละ 3 คน เหมือนรัฐธรรมนูญปี 2521

ที่ถูกมองว่าเป็นปัญหามากที่สุดคือ คุณสมบัติของตัวนายกรัฐมนตรีและอำนาจวุฒิสมาชิก นอกจากนั้นยังมีประเด็นปัญหาที่หลงลืมอีกคือ ในบทเฉพาะกาลกำหนดให้ประธาน รสช.เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีแทนที่จะเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร์ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

ในวันที่ 22 มี.ค.2535 มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น แต่ถือได้ว่าเป็นการเลือกตั้งที่สกปรกที่สุดอีกครั้งหนึ่งในประเทศไทย พรรคการเมืองแต่ละพรรคใช้เงิน ซื้อเสียง' อย่างเปิดเผยและเป็นจำนวนสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ ผลการเลือกตั้ง พรรคการเมืองที่ได้จำนวนผู้แทนมากเป็นอันดับ 1 คือ พรรคสามัคคีธรรม

นายณรงค์ วงศ์วรรณ ในฐานะหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ที่ได้เสียงมากที่สุดได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี มีเสียงสนับสนุนจาก พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย และพรรคราษฎร รวมจำนวนเสียงสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 19 ของประเทศไทย 195 เสียง แต่ยังไม่ทันที่ พล.อ.สุนทร จะได้ทูลเกล้าฯ ชื่อนายณรงค์ นางมาร์กาเร็ต แท็ตไวเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้ออกมายืนยันว่า นายณรงค์เป็นผู้หนึ่งที่มีชื่ออยู่ในบัญชี ต้องห้าม' ไม่สามารถขอวีซ่าเดินทางเข้าสหรัฐฯได้ เพราะมีความใกล้ชิดกับนักค้ายาเสพติด 

สถานการณ์จึงแปรผันอย่างรวดเร็วและชื่อของ พล.อ. สุจินดา ถูกเสนอขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทนที่อย่างน่าวิกฤติ

ในวันที่ 7 เมษายน 2535 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พล.อ.สุจินดา ซึ่งลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการทหารบกเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 19 ของประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำการตระบัดสัตย์ที่เคยสัญญาไว้ว่าจะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก่อนหน้านี้ และกลายมาเป็นชนวนสำคัญที่นำไปสู่การคัดค้านและเดินขบวนขับไล่ครั้งใหญ่ในเดือนพฤษภาคม 2535

ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2535 มีองค์กรที่เริ่มต้นเคลื่อนไหวในการคัดค้านได้แก่คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) องค์กรพัฒนาเอกชนต่างและสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) โดยได้ไปวางหรีดอาลัยแก่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่สวนรื่นฤดี รวมทั้งมีการแสดงการคัดค้านของนักวิชาการหลายท่าน

ในวันที่ 8 เมษายน 2535 ร.ต.ฉลาด วรฉัตร อดีต ส.ส. เริ่มอดอาหารประท้วงที่บริเวณหน้ารัฐสภาและเรียกร้องให้นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง พร้อมป้ายสีดำข้อความว่า "ข้าขอพลีชีพเพื่อประชาธิปไตยนายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง"

ในวันเดียวกัน พล.อ.สุจินดา ได้ออกมาหลั่งน้ำตาพร้อมกล่าววาทะกลืนน้ำลายอันยิ่งใหญ่ "เสียสัตย์เพื่อชาติ"และขอให้ทหารคิดว่าตนเป็นพลเรือน แล้ว พล.อ.อิสระพงศ์ หนุนภักดี รักษาการ ผบ.ทบ. ก็ออกมากล่าวว่า สนับสนุน พล.อ. สุจินดา 2,000 เปอร์เซ็นต์

บรรยากาศทางการเมืองตึงเครียดขึ้นเรื่อยจนกระทั่งวันที่ 4 พฤษภาคม 2535 มีการชุมนุมของประชาชนเพื่อคัดค้านนายกรัฐมนตรีคนนอกที่ท้องสนามหลวง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ออกมาประกาศขออดข้าวตายใน 7 วัน ในขณะที่ ร.ต.ฉลาด ซึ่งอดอาหารประท้วงก่อนหน้านี้และได้เข้าไปรักษาตัวในไอซียูมาแล้วครั้งหนึ่งก็ออกมาประกาศอดข้าวต่อไป การชุมนุมวันนั้นมีประชาชนมาเข้าร่วมเกือบแสนคน

ด้านบรรยากาศในสภา พรรคฝ่ายค้านมีมติสนับสนุนการกระทำของ พล.ต.จำลอง และจะไม่เข้าร่วมฟังการแถลงนโยบายของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ แต่จะเข้าไปทำหน้าที่อภิปรายในสภา กระแสการคัดค้านยังได้เกิดขึ้นในต่างจังหวัดด้วย เช่น ที่เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา หรือสงขลาเป็นต้น

การคัดค้านยังคงต่อเนื่องไป วันที่ 7 พฤษภาคม 2535 มีการชุมนุมหน้ารัฐสภา จนกระทั่งเวลา 15.00 น.จึงมีประกาศของกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ฉบับที่ 1 เรียกร้องให้ยุติการชุมนุมและเวลา 17.00 มีประกาศกองกำลังรักษาพระนคร ฉบับที่ 1 ว่าจะจัดการกับผู้ชุมนุม แต่แทนที่จะได้ผลกลับเป็นการท้าทายให้ประชาชนเข้าร่วมชุมนุมมากขึ้น จนล้นออกมาถึงบริเวณลานพระบรมรูปฯ

จนถึงตอนค่ำ ครป. สนนท. และ พล.ต.จำลอง ได้นำผู้ชุมนุมนับแสนคนเดินออกจากหน้ารัฐสภาไปยังสนามหลวงอย่างเป็นระเบียบ ท่ามกลางเสียงเชียร์จากประชาชนโดยรอบ และเสียงตะโกนว่า "สุจินดาออกๆๆๆ"

ส่วนทางรัฐบาลได้พยายามบิดเบือนและปิดกั้นข่าวสารในทุกวิถีทางโดยใช้สื่อวิทยุโทรทัศน์ออกข่าวแก่ประชาชนว่า การเข้าชุมนุมอาจได้รับอันตราย ทั้งยังแพร่ภาพตัวแทนชาวพุทธเข้าเยี่ยมและให้กำลังใจ พล.อ.สุจินดา  ส่วนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้เชิญตัวแทนหนังสือพิมพ์รายวันทุกฉบับเข้าพบ และขอร้องให้เสนอข่าวตามจริงเพื่อประโยชน์ของชาติ และมีคำสั่งห้ามพนักงานรัฐวิสาหกิจไปชุมนุมที่สนามหลวง ผู้ใดไปถือว่ามีความผิดทางวินัย

ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2535 สถานการณ์ดูเหมือนจะผ่อนคลายขึ้น เมื่อพรรคการเมือง นักวิชาการ อาจารย์พยายามหาทางออกด้วยการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตัวแทนพรรคฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านรวมเก้าพรรคได้ประชุมกัน และมีมติว่าเก้าพรรคเห็นชอบแก้รับธรรมนูญในสี่ประเด็น คือ ประธานสภาต้องเป็นผู้แทนราษฎรนายกฯ มาจากการเลือกตั้ง ลดอำนาจวุฒิสมาชิก และการแบ่งเขตเลือกตั้งลดอำนาจวุฒิสมาชิก ทั้งนี้ การแบ่งเขตเลือกตั้ง พรรคร่วมรัฐบาลขอเวลาไปขอมติพรรคและจะยื่นวาระให้ประธานรัฐสภาให้ทันในวันที่ 15 พฤษภาคม 2535

นอกจากนี้ ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2535 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ จะเสด็จพระราชดำเนินผ่านถนนราชดำเนินไปยังท้องสนามหลวงในตอนสาย ประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมได้ร่วมกันทำความสะอาดถนนราชดำเนิน ย้ายเต็นท์ไปข้างทางและแจกธงชาติให้แก่ผู้ชุมนุมเพื่อเตรียมรับเสด็จ แต่ปรากฏว่าได้เปลี่ยนเส้นทางเสด็จพระราชดำเนิน เจ้าหน้าที่ตำรวจให้เหตุผลว่าเพื่อความปลอดภัย ขณะที่สถานีวิทยุ จส.100 ออกข่าวว่าผู้ชุมนุมปิดกั้นเส้นทางเสด็จฯ

ต่อมา แกนนำการชุมนุมได้ประชุมและแถลงแก่ผู้ร่วมชุมนุมว่าจะสลายการชุมนุมชั่วคราว เพื่อรอสัญญาของเก้าพรรคที่แก้ไขรับธรรมนูญ เพราะได้รับชัยชนะในระดับหนึ่งแล้ว โดยจะนัดชุมนุมกันใหม่ในวันที่ 17 พฤษภาคม เพื่อเปิดโอกาสให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทางรัฐสภา การชุมนุมได้ยุติลงชั่วคราว

อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นท่าทีของพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลดูเหมือนจะกลับลำอีก บรรยากาศอึมครึมเริ่มกลับมาอีกครั้ง จนทำให้การชุมนุมในวันที่ 17 พฤษภาคม 2535 มีผู้มาร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมากเป็นพิเศษ หนังสือพิมพ์ประมาณว่ามีผู้ร่วมชุมนุมเกือบ 5 แสนคน นับเป็นการชุมนุมครั้งยิ่งใหญ่ของพลังประชาธิปไตย ทว่าไม่มีสถานีโทรศัพท์ช่องใดรายงานข่าวการชุมนุมนี้ ส่วนทางแกนนำซึ่งเดิมเป็นการรวมตัวขององค์กรต่างๆ ก็ได้ปรับขบวนรวมตัวกันเป็น สมาพันธ์ประชาธิปไตย' เพื่อให้ขบวนเคลื่อนไปอย่างเป็นเอกภาพ ในเวลาราว 21.00 น.ของวันนั้นได้ตัดสินใจเคลื่อนไปหน้าทำเนียบรัฐบาล ทำให้จำนวนผู้คนเต็มถนนราชดำเนิน

เวลาประมาณ 21.20-22.00 น.ได้เกิดการปะทะครั้งแรก เมื่อฝูงชนกลุ่มแรกที่มาถึงสะพานผ่านฟ้าฯ เหมือนมีความพยายามจะทำให้ความรุนแรงเกิดเป็นการจราจลขึ้น พล.ต.จำลอง ระบุว่าเป็นการกระทำของมือที่ 3

ในวันที่ 18 พฤษภาคม โทรทัศน์ได้ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและห้ามชุมนุมเกิน 10 คนขึ้นไป ลงนามโดย พล.อ.สุจินดา และ พล.อ.อ.อนันต์ กลินทะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมกับเตรียมการสลายการชุมนุม พร้อมกันนี้ยังได้ออกข่าวว่า พล.ต.จำลอง ก่อการจราจลด้วยการเผารถ เผาสถานีตำรวจดับเพลิงภูเขาทอง และเผาสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง

ทั้งนี้ ในราวตีสี่เศษของคืนวันที่ 18 พฤษภาคม มีกำลังทหาร 2,000 นายและตำรวจ 1,500 นาย ซึ่งเตรียมพร้อมที่สะพานมัฆวานฯ ได้เคลื่อนกำลังสู่สะพานผ่านฟ้าฯ ในท่ามกลางความสงบของผู้ชุมนุมนับแสน เสียงปืนชุดแรกของทหารที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าฯ ดังสนั่นกึกก้องนานราว 15 นาที ประชาชนที่ตรึงกำลังอยู่บริเวณผ่านฟ้าฯ ภูเขาทอง ป้อมมหากาฬ หลบหนีกันแตกกระเจิง มีเสียงร้องโอดครวญของผู้ได้รับบาดเจ็บเพราะถูกยิง และหลายคนเสียชีวิต การกวาดล้างประชาชนด้วยความรุนแรงเป็นไปอย่างโหดเหี้ยมอีกหลายครั้งจนกระทั่งถึงวันที่ 20 พฤษภาคม

ทั้งนี้ ตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 19 พฤษภาคม กลุ่มประชาชนที่หนีตายจากการปราบปรามบริเวณถนนราชดำเนินได้มุ่งหน้ามาสมทบกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง และมีจำนวนมากขึ้นจนถึงประมาณ 4-5 หมื่นคน มีการตั้งเวทีปราศรัย ผลัดกันขึ้นอภิปรายตลอดเวลา

จนเวลา 23.40 น. ของวันที่ 19 พฤษภาคม ขณะที่การชุมนุมภายในมหาวิทยาลัยรามคำแหงดำเนินไปอย่างสงบ กำลังทหารพร้อมอาวุธจำนวน 400 นายก็มุ่งหน้าไปยังมหาวิทยาลัยรามคำแหงและมีข่าวว่าจะใช้เฮลิคอปเตอร์ปราบปรามผู้ชุมนุม

ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2535 เวลา 19.30 น.มีประกาศห้ามบุคคลในท้องที่ กทม.ออกจากเคหสถานระหว่างเวลา 21.00-04.00 น.ของวันรุ่งขึ้น แต่ขณะเดียวกันที่รามคำแหง ประชาชนยังคงทยอยมาร่วมชุมนุมกันเกือบแสนคนแล้ว ตลอดทั้งคืนมีกระแสข่าวลือต่างๆ มากมาย เช่น การแตกแยกระหว่างทหารเรือกับทหารบก พล.อ.เปรมนำกองกำลังโคราชยกมาช่วยผู้ชุมนุม พล.อ. สุจินดาจะทำการปฏิวัติตัวเอง ฯลฯ

จนเวลา 23.30 น.โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจและสถานีวิทยุกระจายเสียงทุกแห่งได้ถ่ายทอดข่าวสำคัญ คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.สุจินดา และพล.ต.จำลอง เข้าเฝ้าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ภายหลังจากกราบบังคมทูลลาแล้ว พล.อ.สุจินดา และ พล.ต.จำลอง พร้อมด้วยนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรี และ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรีและรัฐบุรุษได้ร่วมประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

ด้านผู้ชุมนุมที่รามคำแหงหลังจากได้ชมข่าวสำคัญและการแถลงข่าวของบุคคลทั้งสอง ส่วนใหญ่รู้สึกผิดหวังที่ พล.อ.สุจินดายังไม่ลาออก แต่ก็ได้ตัดสินใจสลายการชุมนุม และยังคงอยู่รวมกันในมหาวิทยาลัยรามคำแหงจนพ้นเวลาเคอร์ฟิวแล้วจึงค่อยทยอยกันกลับบ้าน

จากการประมวลเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงวันที่สงบ สิ่งที่น่าตลกและยอกย้อนของประวัติศาสตร์ คือ เหตุการณ์สามารถจบลงได้ด้วยวาทกรรม ความรักสามัคคี' หลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเตือนสติและสั่งสอนบุคคลทั้งสอง ทรงชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่จะมีต่อประเทศชาติ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ขอให้บุคคลทั้งสองเป็นตัวแทนฝ่ายต่าง ๆ หันหน้าเข้าหากัน ช่วยกันแก้ปัญหาทำอย่างไรให้ประเทศชาติกลับคืนขึ้นมา

ขบวนการพฤษภาคม 2535 ที่เรียกร้องนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งกันแทบเป็นแทบตายและมีหลายคนตายไปจริงๆ เป็นจำนวนมาก จบลงด้วยการได้นายกรัฐมนตรีที่ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งเลย นั่นคือการกลับมาเป็นนายกรัฐมมนตรีครั้งที่ 2 ของนายอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งเป็นบุคคลเดียวกับที่ รสช.เคยแต่งตั้งหลังการรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534  

พลังวาทกรรมเรื่องความรักสามัคคียังทำให้เกิดการต่อรองของชนชั้นนำ หัวขบวนที่นำการชุมนุมของประชาชนแห่ไปให้ความสนใจที่การเลือกตั้ง ในขณะที่การให้ความสำคัญต่อการเคลื่อนไหวกับประชาชนเพื่อปฏิรูปประชาธิปไตย ปฏิรูปกองทัพ เลือกตั้งผู้ว่า ผลักดันให้เกิดการกระจายอำนาจ การติดตามกรณีคนหายในเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 รวมทั้งการดำเนินความผิดกับบรรดาทหารที่เกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธปราบประชาชนอย่างเหี้ยมโหด กลับมีคนแค่หยิบมือเดียวให้ความสนใจ

หลังการเลือกตั้งผ่านพ้นไป เป็นชัยชนะของพรรคประชาธิปัตย์ และในที่สุดเสียงเรียกร้องให้ ปฏิรูปการเมือง' ก็สามารถดังขึ้นได้อีกครั้ง กลายเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ภายใต้บรรยากาศประชาธิปไตยที่เฝ้ารอและมีการนำประเด็นสิทธิมนุษยชนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในเนื้อหาของรัฐธรรมนูญได้เป็นครั้งแรก

ในด้านสื่อมวลชนซึ่งเคยมีปัญหาด้านสิทธิเสรีภาพอย่างมากในช่วงการนำเสนอข่าวเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 เพราะในขณะที่มีการปราบปรามประชาชนที่ชุมนุมโดยสงบด้วยปืนและรถถัง ภาพเหตุการณ์กลับไม่ถูกนำเสนอในโทรทัศน์ช่องใด ประเด็นดังกล่าวจึงเป็นที่มาของการเรียกร้อง สื่อเสรี' และการเรียกร้องหลังขบวนการพฤษภาคม 2535 นี้ก็ได้กลายเป็นที่มาของการได้ช่องสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ที่ไม่ได้เป็นสถานีโทรทัศน์ของรัฐเป็นช่องแรก และทำหน้าที่สื่อมวลชนได้อย่างน่าชื่นชมหลายครั้ง ก่อนจะจมลงไปในหล่มเดียวกับวิกฤติ ทักษิณ ชินวัตร' ที่มีจุดเปลี่ยนคล้ายๆกับ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ

เขียนเล่ามามากมาย ทั้งประวัติศาสตร์ ความภูมิใจ ประชาธิปไตย เลือดและน้ำตา ก็แค่อยากให้ลองกลับมานึกทบทวนกันดูเล่นๆ ว่า ในเดือนพฤษภาคมของปีนี้ เรายังเหลืออะไรที่เป็นเจตนารมณ์ของเดือนพฤษภาคม 2535 ไว้ให้รำลึกถึงกันได้อีกบ้าง ???

 

 

ข้อมูลจาก

รวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย' .สารคดี

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ . ประวัติศาสตร์บาดแผลเดือนตุลาและพฤษภา : ระหว่างความตายที่ฟื้นขึ้นมาได้กับความตายที่ไม่มีวันฟื้นคืนขึ้นมา'.ประชาไท,21 ก.พ. 2551

 

 

 

 

Subscribe to bloody_may_1992