Music
ภฤศ ปฐมทัศน์
ผมได้ยินข่าวเรื่อง "จังหวะแผ่นดิน World Musiq & World Bar B Q" วันเดียวก่อนวันงานนั่นเอง ได้ยินคุณทอดด์ ทองดี พูดผ่านวิทยุว่าจะมีศิลปินจากหลายประเทศทั่วโลกมาเข้าร่วม และมีการแสดงร่วมกันของเพื่อแสดงให้เห็นว่าดนตรีมันไร้พรมแดน
ผมเองเข้าใจความรู้สึกของคนที่พูดอะไรที่เป็นอุดมคติครับ และรู้สึกที่สิ่งที่คุณทอดด์แกพูดแกไม่ได้ตอแหล (แบบพวกอ้างศีลธรรม) ผมรู้สึกได้จากน้ำเสียงและการไหว้วอนขอให้ภาครัฐและกระทรวงวัฒนธรรมหันมาสนใจ ทำให้รู้สึกว่าแกมีความตั้งใจตรงนี้จริง ๆ
แต่ว่าอุดมคติที่สวยงามบางทีมันเป็นแค่สิ่งที่ฉาบเคลือบอะไรที่ยังแหว่งโหว่อยู่ภายใน ซึ่งมันยากที่จะชี้ตัวว่าความแหว่งโหว่นี้เป็นความผิดของใคร เรื่องนี้ผมจะพูดในภายหลัง ในตอนนี้ผมกำลังรู้สึกสนุกกับสิ่งที่ได้เห็นอยู่บนเวที ที่ลานของศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิร์ล
งานจำพวกศิลปินกับลานเบียร์นี้มีให้เห็นกันทั่วไป แต่สิ่งที่โดดเด่นในงานนี้คือวงดนตรีที่เข้าร่วม แน่นอนว่าผมไม่เคยได้ยินเพลงจากวงดนตรีของทวีปแอฟริกามาก่อน ถึงผมจะพอเดาทางได้จากอิทธิพลของดนตรีซึ่งส่งผ่านไปยังดนตรีของคนผิวสีแบบอื่น ๆ เช่น เร้กเก้, แจ็ซซ์ , ฟังค์ หรืออิเล็กโทรนิกบางจำพวก เนื่องจากดนตรีของชาวแอฟริกันโดดเด่นมากในส่วนของการให้จังหวะ (Rhythm Section)
และวง Yunasi วงจากประเทศเคนย่าที่มาเล่นในงานนี้ก็ทำได้น่าประทับใจ พวกเขาแสดงสดได้เยี่ยมและเอนเตอร์เทนคนดูได้อยู่หมัด ราวกับเคยผ่านเวทีประมาณนี้มานักต่อนักแล้ว ดนตรีของวง Yunasi ไม่เชิงเป็นแนวแอฟริกันดั้งเดิมเสียทีเดียว เพราะมันคือการผสมผสานกันของดนตรีสมัยใหม่โดยยังคงความเป็นแอฟริกันไว้ในส่วนของจังหวะเท่านั้นเอง ผมเคยลองฟัง Yunasi จากแหล่งอื่นครั้งหนึ่งก็พบว่าเสียงกีต้าร์ในเพลงนั้นสุดละม้ายคล้ายของเพลงเซิ้งภาคอิสานบ้านเราเหลือเกิน ขณะที่เสียงขลุ่ย (ซึ่งจริง ๆ มาจากเสียงคีย์บอร์ด) ในงานนี้ก็ไม่วายชวนให้นึกถึงเพลงพื้นบ้านของบ้านเราอยู่ดี
ตัวนักร้องของวง Yunasi บอกว่าดนตรีในบ้านเขามีไว้เฉลิมฉลอง เพลงของพวกจึงเต็มไปด้วยจังหวะเต้นรำสนุก ๆ วง Yunasi อาจเป็นแค่อีกวงหนึ่งที่นำเสนอความเป็นเคนย่าในแบบร่วมสมัย เพราะเคนย่าเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางดนตรีสูงมากแห่งหนึ่ง
การแสดงของวงต่อมาเป็นวงดนตรีจากชนเผ่าของไต้หวัน ผมไม่ทันได้ฟังเพลงแรก ๆ เพราะมัวไปดูการแจมกลองและเครื่องให้จังหวะในอีกมุมหนึ่ง จนเริ่มเมาจากเครื่องดนตรีเน้นจังหวะทั้งหลายแล้วจึงวกกลับมาดูเวที
ประเทศไต้หวันก่อนหน้าการเข้ามาของชาวจีนแผ่นดินใหญ่ มีชาวพื้นเมืองอาศัยอยู่หลายสิบกลุ่ม ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีเชื้อสายออสโตรเนเชี่ยน คือเชื้อสายของหมู่เกาะมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้อย่างชาวอินโดนีเซีย หรือ ฟิลิปปินส์ พวกเขาต้องต่อสู้ขับเคี่ยวเพื่อรักษาอัตลักษณ์ของตนไว้ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา
ในแง่ของดนตรีแล้ว ชาวพื้นเมืองของไต้หวันมีบทบาทในวงการดนตรีป็อบของไต้หวันอย่างมาก แต่ก็ในแง่ของดนตรีป็อบแบบเต็ม ๆ ล่ะครับ เช่น นักร้องสาวที่ชื่อ A-mei ที่ร้องเพลงด้วยภาษาจีนกลาง ส่วนดนตรีของชนเผ่าไต้หวันที่นำมาแสดงในงานนี้ พอผมได้ฟังเมโลดี้จากเสียงร้องของเขาแล้วก็พาลนึกถึงดนตรีพื้นบ้านของชนเผ่าที่ราบสูงทางภาคเหนือ (ซึ่งผมมีโอกาสได้ฟังสดหลายครั้งมาก ส่วนใหญ่ในงานที่จัดเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยเรื่องพม่า) ขึ้นมาอย่างช่วยไม่ได้
แน่ละว่าดนตรีพื้นบ้านหลายพื้นที่ในโลกอาจมีลักษณะบางอย่างร่วมกันอยู่ เนื่องจากมนุษย์แม้จะอยู่ในต่างวัฒนธรรมกันแต่ก็ล้วนมีความรู้สึกบางอย่างในแบบของมนุษย์ทั่วไปที่แสดงออกผ่านศิลปะที่เรียกว่าดนตรี แต่ลึก ๆ แล้วผมเชื่อว่ามันต้องมีจุดต่างที่เป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละวัฒนธรรมอยู่
เวลาเราพูดถึงดนตรีที่เป็นพื้นฐานของโลกแล้ว มักจะมีแต่คนพูดถึงดนตรีคลาสสิก เนื่องจากประวัติศาสตร์ของดนตรีทางตะวันตกถูกรวบรวมมาสอนกันแบบนี้ (และผมเองก็ยอมรับว่าเรียนรู้ทฤษฎีอะไรหลายอย่างจากดนตรีคลาสสิกเหมือนกัน) อาจมีนักวิชาการบางสายที่เน้นไปศึกษาเรื่องดนตรีของชนเผ่าพวก Ethnic music อยู่บ้าง และมีบางคนที่เน้นพูดถึงชนชาวแอฟริกันในแง่ของความเป็นต้นธารอารยธรรมทางดนตรีที่แท้จริง (บางคนเสนอว่าจังหวะร็อคไม่ได้เพิ่งจะมีในศตวรรษที่ผ่านมา แต่มีมาตั้งแต่ชนชาวแอฟริกันรู้จักเคาะจังหวะกันแล้ว)
โดยส่วนตัวผมไม่ค่อยชอบคำว่า World music หรือ Ethnic music เท่าไหร่ คำว่า World music (ที่แปลตรงตัวว่าดนตรีโลก) มันเหมือนเป็นคำที่วงการป็อบตะวันตกคิดมาเพื่อใช้เรียกดนตรีอะไรสักอย่างที่พวกเขาไม่เคยรู้จัก และส่วนใหญ่จะเป็นดนตรีพื้นบ้าน ไม่ก็ป็อบที่มีอิทธิพลจากดนตรีพื้นบ้าน ขณะที่คำว่า โฟล์ค (Folk) กลับถูกใช้เรียกดนตรีพื้นบ้านยุโรปเสียมากกว่า
แต่ผมเชื่อว่าดนตรีมันไม่ได้มาจากที่ใดอื่นไกลนอกจากอะไรพื้น ๆ รอบตัวมนุษย์ ดนตรีป็อบหลายแขนงซึ่งปัจจุบันมีชื่อเรียกเป็นร้อยเป็นพัน มีพื้นฐานมาจากดนตรีพื้นบ้านทั้งนั้น และการเรียกว่า World music พูดตรง ๆ คือมันเหมือนการบรรจุหีบห่อแบบเอ็กโซติก (Exotic) เข้าไปแบบเหมารวม แล้วไม่ได้ให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์เฉพาะของมันจริง ๆ
(...เอาง่าย ๆ มันเหมือนกับเวลาที่ชาวต่างชาติบอกว่าไอ่พวกคนจีน คนญี่ปุ่น คนพม่า นี้หน้าตาเหมือนกันไปหมด เรียกว่าเป็น World Faces ซะดีไหม)
ดนตรีบลูส์ (Blues) มันก็คือดนตรีพื้นบ้านของทาสผิวดำพลัดถิ่นที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเรื่อย ๆ จนกลายเป็นดนตรีที่ไม่ได้เล่นแต่กับในหมู่คนผิวดำอีกต่อไป ทั้งยังกลายเป็นพื้นฐานของดนตรีแนวอื่น ๆ ส่วนดนตรีพวกเรกเก้ และสกา ก็พัฒนามาจากดนตรีพื้นบ้านของจาไมก้าที่เรียกว่าเมนโต (Mento)
ขณะที่คำว่า Ethnic music อาจใช้อธิบายดนตรีของชนกลุ่มน้อยได้ แต่ในระยะยาวมันจะกลายเป็นการแบ่งดนตรีพื้นเมืองของพวกเขาออกจากดนตรีพื้นเมืองของ 'ชนกลุ่มใหญ่' เสียเปล่า ๆ ผมอาจคิดแบบโหดร้ายต่อผู้นิยมรักษาอัตลักษณ์ดั้งเดิมไปเสียหน่อยว่า ในความเป้นจริงแล้วดนตรีพวกนี้ควรถูกทำให้ป็อบหรือปรับเข้ากับดนตรีร่วมสมัยให้ได้
ผมก็เป็นคนที่ไม่ได้คิดว่า เราควรรักษาความเป็นพื้นบ้านอะไรเอาไว้แบบแช่แข็ง อย่างที่ผมเปรยไว้ก่อนหน้านี้ ถ้าคนผิวสียังคงแช่แข็งบลูส์เอาไว้ ป่านนี้เราคงไม่มีแจ็ซซ์ให้ฟัง และแม้ดนตรีป็อบตะวันตก อย่างพวกร็อค หรือแดนซ์ จะมีอิทธิพลอย่างมากทั่วโลก แต่ผมเชื่อว่าตัวดนตรีป็อบในแต่ละประเทศเองก็มีคาแรกเตอร์ของมันอยู่ และตรงจุดนี้แหละคือความไร้พรมแดนที่แท้จริง
(...จุดนี้ขออภัยด้วยที่ผู้เขียนยังหาคำอธิบายเป็นทฤษฎี หรือเป็นคำพูดไม่ได้ว่ามันมีลักษณะเฉพาะยังไง แต่เชื่อว่าส่วนหนึ่งมันมาจากความเป็นโฟล์คในตัวของทุกคนนั่นแหละครับ)
ผู้ขึ้นเวทีรายต่อไปคือหลวงไก่ นักร้องลูกทุ่งจากภาคใต้ เป็นตัวแทนของประเทศไทยในวันนี้ อาจเป็นเพราะช่วงเวทีของเขาเป็นช่วงเวลาที่ดึกไปหน่อย และพบเจอกับวัฒนธรรมคนดูที่แตกต่าง ทำให้หลวงไก่ดูตื่นเวทีไปนิด ความพยายามแสดงให้เห็นวัฒนธรรมพื้นบ้านอย่างเพลงหนังตะลุง ก็ดูไม่สามารถสื่อสารกับผู้ชมได้มากนัก และโดยส่วนตัวผมคิดว่า การจะแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมไทย ไม่จำเป็นต้องใช้เพลงพื้นบ้านขนาดนั้นก็ได้
แต่ต่อมาหลวงไก่ก็กลับมากับดนตรีลูกทุ่งร่วมสมัยแบบไทย ๆ ในเพลงดังที่ชื่อ "ขวัญใจพี่หลวง" ซึ่งผมว่านี่แหละคือความเป็นไทยในระดับของวัฒนธรรมมวลชนจริง ๆ และเรื่องการแสดงดนตรีสดแง่มุมทางวัฒนธรรมของมันไม่ได้มีแต่เรื่องดนตรีอย่างเดียว การสื่อสาร ทักทาย หรือเอนเตอร์เทนคนดู ก็เป็นส่วนหนึ่ง
หลวงไก่และวงพยายามเอนเตอร์เทนคนดูด้วยการทักทายและปล่อยมุขกันแบบตลกคาเฟ่ แต่ในงานที่ครึ่งหนึ่งเป็นชาวต่างชาติและกลุ่มคนดูที่เป็นชนชั้นกลางในเมือง เสียงตอบรับจึงเป็นความเงียบ ตรงนี้ผมแอบคิดเองเออเองว่าไม่ใช่ว่ามุขเขาไม่ขำ แต่คงเป็นเรื่องของกลุ่มคนดูเองที่ไม่ได้แสดงปฏิสัมพันธ์กับเวที
ตรงนี้หลวงไก่แกถึงขั้นแสดงความน้อยใจ เปรย ๆ ว่าได้มาแสดงเวทีแบบนี้เป็นครั้งแรก ทุกครั้งเคยแต่ไปแสดงในงานวัดให้คนที่กินเหล้าขาว ไม่เคยมาแสดงในลานเบียร์แบบนี้
แต่ชีวิตคือ เดอะ โชว์ มัสโก ออน แกยังคงไม่เลิกปล่อยมุขแม้จะไม่มีปฏิกิริยาตอบรับมากนัก (ผมเห็นมีวัยรุ่นบางกลุ่มดูเชียร์ ๆ แกอยู่) และต่อด้วยการคัฟเวอร์เพลงของเสือ ธนพล ซึ่งคนที่ผ่าน "18 ฝน" มาแล้วคงคุ้นเคยดี
จบงานในคืนนี้แม้ว่าดนตรีต่างชาติ ต่างภาษา จะสามารถข้ามผ่านพรมแดนของผู้ฟังในคนละซีกโลกได้ ผมอาจจะยินดีกับการที่ผู้จัดสนใจศิลปินเป็น Mass อย่างหลวงไก่ นำมาขึ้นเวทีเดียวกับศิลปินหลากหลายชาติ แต่ขณะเดียวกันก็ยังคงมีพรมแดนบางอย่างในระดับของกลุ่มผู้ฟังที่ท้าทายให้ก้าวข้าม
พรมแดนทางรสนิยมยังคงบดบังให้ผู้ฟังดนตรีคลาสสิคหลายคนดูถูกดนตรีป็อบ ผู้ฟังดนตรีป็อบกระแสหลักทับถมดนตรีป็อบกระแสรอง เหล่าผู้ฟังกระแสรองก็เดียจฉันท์กระแสหลักเป็นการตอบโต้
ผมออกจากลานที่เต็มไปด้วยการสังสรรค์ของแสงสีที่หลากหลาย มานั่งครุ่นคิดถึงโลกความจริง
...คลอด้วยเสียงเพลงโฆษณาในรถไฟฟ้า ที่ให้ความรู้สึกต่างจากจังหวะกลองแอฟริกันโดยสิ้นเชิง
สุดท้ายนี้ก็ขอเก็บบรรยากาศงานวันแรกมาฝากกันหน่อย
ต้องขออภัยด้วยที่คุณภาพไม่ดีเท่าไหร่ทั้งจากคุณภาพกล้องและฝีมือคนถ่ายเอง
(...ช่วงท้าย ปลาย ๆ นาทีที่ 2 มีเซอร์ไพรซ์ ...This is it!!)
แม่ญิงโย-นก
ข้าพเจ้านำผู้อ่านออกเดินทางจากสถานีขนส่งอาเขตเมื่อหลายเดือนก่อน หากไปไม่ถึงสถานีขนส่งจังหวัดเชียงรายสักที เพราะมัวแต่ไปหลงทางย้อนอยู่ในประวัติศาสตร์ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ที่ อ.อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว กับ อ.เดวิด เค วัยอาจ ร่วมกันถอดความจากภาษาล้านนาบ่าเก่ามาเป็นคำเมือง ผู้ที่ยังสนใจอาจติดตามได้ในบล็อคใหม่ ซึ่งข้าพเจ้าจักได้นำข้อเขียนของท่านอาจารย์ทั้งสองมาถ่ายทอดต่อไปเร็วๆนี้*********************************เมื่อรถเลี้ยวเข้าจอดที่บริเวณสถานีขนส่งเชียงราย ใกล้กับตลาดกลางคืน หรือไนท์บาซาร์ เป็นอันว่าการเดินทางไกลเกือบสี่ชั่วโมงของข้าพเจ้าได้สิ้นสุดลง ที่กำลังจะเริ่มคือการเดินทางเข้าไปเก็บข้อมูลภาคสนามในพื้นที่ดอยสูงอ.แม่ฟ้าหลวง บริเวณชายแดนไทย-พม่า ที่ข้าพเจ้าจะต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในอีกห้าหกเดือนข้างหน้าก้าวขาลงจากรถ ปราดไปที่เก็บของใต้ท้องรถ ยกเป้ใบใหญ่ขึ้นสะพายหลัง ย้ายเป้ใบเล็กที่บรรจุกล้องถ่ายรูปและคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คมาไว้ด้านหน้า มือที่พอจะว่างคว้าเอาขันโตกหวายใบน้อยมาถือไว้หันมาด้านหลัง เจอคนขับรถสองแถวเล็กยืนยิ้มเผล่ “โอฮาโย่ แว อา ยู โกอิ้ง” ฮั่นแน่ ส่งภาษาต่างประเทศมาทักทาย เห็นทีจะเป็นเพราะเป้หลังใบใหญ่ของข้าพเจ้าชวนให้เข้าใจผิด มิอาจทึกทักได้เลยว่าหน้าตาของข้าพเจ้าให้ จนใจว่า ข้าพเจ้าเองหาใช่คนญี่ปุ่นมาจากไหน จะสวมรอยเป็นชาวต่างประเทศก็กระไรอยู่ “บ่อใจ้ญี่ปุ่นเจ้า คนเมืองเฮาตวยกั๋นนี่แหละ” ข้าพเจ้าส่งเสียงในฟิล์มตอบกลับไป“โหะ ก่อนึกว่าญี่ปุ่น เห็นหิ้วเป้ใบใหญ่แต้ใหญ่ว่า ละขันโตกนี่ลอหิ้วมายะหยัง หยังมาของหลายแต้ว่า จะไปไหนเนี่ย ไปสองแถวก่อ” คนขับวัยกลางคนรัวคำถามใส่ข้าพเจ้าเป็นชุด ไม่แน่ใจนักว่าอยากได้คำตอบไหนก่อน“บ่อไปเตื้อเจ้า พอดีนัดคนมาฮับแล้วเจ้า” ข้าพเจ้าตอบปฎิเสธไป บอกว่ามีคนมารับแล้ว เป็นหนุ่มรุ่นน้องชาวลีซู ที่ทำงานองค์กรเอกชนช่วยเหลือประชาชนบนพื้นที่สูงเรื่องสถานะบุคคล ที่นัดหมายกันว่าจะมาเจอกันที่สถานีขนส่งนี้“อั้นกา มะ อ้ายจะจ้วยแบกกระเป๋าไปหื้อ" คนขับรถใจดีเอื้อมมือมาช่วยปลดเป้ใบใหญ่จากหลังข้าพเจ้า เอาไปถือไว้เหมือนเป็นวัตถุไร้น้ำหนัก ข้าพเจ้าโชคดีนักมาถึงวันแรกก็เจอคนใจดีนั่งรออยู่ไม่ถึงสิบนาที หนุ่มลีซูคนที่ว่าเดินยิ้มร่าเข้ามาช่วยยกของไปเก็บไว้ในรถกระบะขับเคลื่อนสี่ล้อ พาหนะคู่ใจที่พาเขาและทีมงานอีกสามคน อันประกอบด้วยอีกหนึ่งหนุ่มลีซู หนึ่งหนุ่มอ่าข่า และหนึ่งสาวอ่าข่า (ไม่ได้มารับที่สถานี ประชุมอยู่ที่สำนักงานย่านริมกก ซึ่งข้าพเจ้ากำลังจะเดินทางไปร่วมประชุมด้วย)“สวัสดีครับปี้ครับ พอดีอ้ายเปิ้นหื้อผมมาฮับครับ กำเดียวเฮาแวะไปตี้สำนักงานก่อนน่อ มีประชุมตี้หั้นครับ” หนุ่มน้อยเสื้อขาว กางเกงชาวเล ผ้าขาวม้าคาดเอว ยกมือไหว้ทักทายและแจ้งข่าว เขาพูดคำเมืองชัดเจน ทำเอาข้าพเจ้าแปลกใจไม่น้อย พี่น้องชนเผ่าหลายคนที่ข้าพเจ้ารู้จัก ถนัดมากกว่าในการใช้ภาษาไทยแบบกรุงเทพ ในการสื่อสารกับคนนอกเผ่า แม้แต่ในหมู่บ้านอ่าข่าที่ข้าพเจ้าเข้าไปอาศัยอยู่ในเวลาต่อมานั้น เวลามีเจ้าหน้าที่อำเภอเข้ามาเยี่ยมเยียน หรือนัดประชุม ชาวบ้านที่พอจะพูดและฟังภาษาไทยได้ ยังต้องขอร้องให้พูดเป็นภาษาไทยกรุงเทพ เพื่อที่เขาจะได้ถ่ายทอดเป็นภาษาอ่าข่าให้ชาวบ้านส่วนใหญ่เข้าใจ“เฮียนเกษตร อู้กำเมืองบ่อได้ มีปั๋นหาครับปี้ ต๋อนผมเข้าไปเฮียนใหม๋ๆ รุ่นปี้คนเมืองบอกว่าคนตี้มาทีลุนหื้อไปรายงานตั๋ว ผมก่อบ่อฮู้ว่า ทีลุน (ภายหลัง) มันแป๋ว่าอะหยัง ผมก่อเลยบ่อไป เลยโดนลงโทษ หลาบเลย จ๋ำกำนี้ได้เต้าบ่าเดี่ยว” หนุ่มน้อยเล่าขำๆ กับประสบการณ์ความไม่รู้เรื่องภาษาอันรุ่นพี่อ้างเอาเป็นเหตุหาเรื่องลงโทษรุ่นน้อง ที่แย่กว่านั้น เป็นเรื่องการล้อเลียนความเป็นชนเผ่า ที่ทำให้บางคนถึงกับไม่ยอมพูดภาษาประจำเผ่าของตนที่โรงเรียน ไม่ก็รู้สึกอายในความเป็นชนเผ่าของตนเอง เพราะรู้สึกว่าแปลกแยกแตกต่างกับเพื่อนคนอื่น ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน มีความพยายามที่จะส่งเสริมให้เกิดการยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรมในโรงเรียนบางโรงเรียนในภาคเหนือ แต่โดยทั่วไปแล้ว การล้อเลียน และแบ่งแยก “คนเมือง” “คนดอย” ยังเป็นเรื่องที่ก่อความขมขื่นใจแก่เด็กๆลูกหลานชนเผ่าชาติพันธุ์หลายๆกลุ่ม ความพยายามของรัฐไทย ในการที่จะเชิดชูชาติพันธุ์ “ไทยบริสุทธ์” ซึ่งไม่อาจจะมีได้ และไม่มีวันจะมีได้ ให้โดดเด่น มีอภิสิทธิเหนือกว่าชาติพันธุ์อื่นๆนั้น ครอบคลุมไปถึงการอ้างความเหนือกว่าในเรื่องภาษา วัฒนธรรม ประเพณี ความเป็นอยู่ ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ และอื่นๆ เผยแพร่และตอกย้ำผ่านทางระบบการศึกษาแห่งชาติ โรงเรียน ครู และแบบเรียนทางประวัติศาสตร์ และสื่อมวลชนแห่งชาติภายใต้อุดมการณ์เช่นนี้ การพูดภาษาถิ่น หรือภาษาประจำเผ่า หรือภาษาอื่นใดที่ไม่ใช่ภาษา “ไทย” และที่ได้รับการหมิ่นหยามว่ามีสถานะด้อยกว่า จึงเป็นเรื่องน่าอาย พึงระงับยับยั้ง ป้องกัน และลงโทษหากฝ่าฝืน กล่าวในทางกลับกัน การพูดภาษาต่างประเทศ ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นภาษาของวัฒนธรรมที่ทัดเทียมหรือสูงกว่าของไทย กลับไม่เป็นเรื่องพึงละอาย ซ้ำยังต้องส่งเสริมกันทุกวิถีทาง เราจึงอาจเห็นโรงเรียนสองภาษาอังกฤษ-ไทย ญี่ปุ่น-ไทย จีน-ไทย มีอยู่ทั่วไป ในขณะที่ต้องต่อสู้กันแทบเป็นแทบตาย เพื่อจะให้มีโรงเรียนที่สอนภาษาของชนเผ่าชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงควบคู่กันไปกับภาษาไทย ซึ่งก็ยังมีจำนวนน้อย และยังมีข้อถกเถียงกันอยู่อีกมากว่ามุ่งส่งเสริมความหลากหลายของภาษาจริงหรือไม่ที่ร้ายไปกว่านั้น เมื่อมีการนำภาษาและภาพลักษณ์ของชนเผ่าชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงไปผูกติดอยู่กับประเด็นเรื่องความมั่นคง ยาเสพติด และสิ่งแวดล้อม นับตั้งแต่ยุคหวาดกลัวภัยคอมมิวนิสต์เป็นต้นมา ทำให้เกิดการสร้างภาพของความเป็นอื่น ของศัตรู ของคนที่ไม่น่าไว้ใจ การเรียนรู้ภาษาของชนเผ่าชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงจำกัดอยู่เพียงเพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์เรื่องการข่าวและความมั่นคง มีเพียงเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่กี่หน่วยงาน ที่มองเห็นว่าการเรียนรู้ภาษาชนเผ่าชาติพันธุ์เป็นเรื่องจำเป็น (เพื่อการข่าวและความมั่นคง) ในหมู่บ้านอ่าข่าที่ข้าพเจ้าอาศัยอยู่นั้น ชาวบ้านบอกว่ามีเพียงตำรวจตระเวนชายแดน และเจ้าหน้าที่กรมประชาสงเคราะห์บางคนเท่านั้นที่พูดภาษาของพวกเขาได้ และชาวบ้าน (ส่วนใหญ่ผู้ชาย) บางคนที่พูดไทยได้ ก็จากการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเจ้าหน้าที่เหล่านี้นี่เองจึงไม่น่าแปลกใจที่งานศึกษาหลายๆชิ้น จะพบว่า โครงการของรัฐโดยการสนับสนุนของกรมประชาสงเคราะห์ที่ส่งพระสงฆ์ขึ้นไปตามแดนดอยต่างๆ หรือที่รู้จักกันในชื่อโครงการพระธรรมจาริก ซึ่งเป็นหนึ่งในความพยายามหลายๆอย่างของรัฐไทยในอันที่จะเปลี่ยนให้ ”ชาวเขา” กลายเป็น “พลเมืองไทยชั้นหนึ่งที่ช่วยเหลือตัวเองได้” ตามคำประกาศในมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 ก.ค 2519 นั้น ไม่ประสบความสำเร็จดังที่ตั้งใจไว้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะขาดความรู้ความเข้าใจในวิถีชีวิตวัฒนธรรมของพี่น้องชนเผ่าชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง และความที่พระธรรมจาริกเองไม่สามารถติดต่อสื่อสารกับชาวบ้านชนเผ่ากล่าวโดยที่สุดแล้ว ทัศนคติของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีต่อภาษาถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาของชนเผ่าชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง มักเป็นไปในทางลบ หมิ่นหยามว่าด้อยกว่าภาษาไทย และเห็นว่าเป็นปัญหาต่อ”ความมั่นคง” ข้ออ้างอันสุดแสนอมตะ แต่มีปัญหาเรื่องความชอบธรรม เห็นได้จากข่าวเมื่อเร็วๆนี้ ที่ทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) อ้างคำสั่งเรื่องความมั่นคง ห้ามวิทยุชุมชนในอำเภอฮอดออกอากาศเป็นภาษากะเหรี่ยง และให้ถ่ายทอดเป็นภาษาไทยกลางกับภาษาคำเมืองเท่านั้น ทั้งๆที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ในพื้นที่เป็นชาวกะเหรี่ยงโผล่ง ซึ่งบรรพบุรษของพวกเขาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ในบริเวณนั้นก่อนการเกิดขึ้นของกอ.รมน. และเจ้าหน้าที่หลายคนด้วยซ้ำไปด้วยทัศนคติและความเข้าใจเช่นนี้ ทำให้มิอาจเข้าใจเป็นอื่นใดได้เลยว่า นโยบายแห่งชาติต่อชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ นั้น แท้จริงแล้ว มุ่งกดบีบกลืนกลายวัฒนธรรม หาใช่เพื่อผสมผสานกลมกลืนดังที่อ้างไม่