ที่ว่างและเวลา
‘ฐาปนา’ ผมพบเขาในวันที่เชียงใหม่ยังเปียกปอนจากสายฝน เขาแต่งกายเรียบง่าย บุคลิกคล้ายนักบวช ดูแข็งแรงเหมือนคนอายุสามสิบกว่าๆ เมื่อได้สนทนา แม้น้ำเสียงเป็นกันเอง แต่ก็แฝงความเคร่งครัดไม่น้อย เขาคือผู้ริเริ่มการเขียน “แคนโต้” บทกวีสามบรรทัดจำนวนสี่ร้อยบทเมื่อสามสิบกว่าปีก่อน ,เป็นผู้ก่อตั้งเวบไซต์ ไทยแคนโต้ (www.thaicanto.com) เมื่อสองปีที่แล้ว และกลายเป็นเวทีที่ใหญ่ที่สุดของบทกวีสามบรรทัด มีแคนโต้นับพันนับหมื่นบท ปรากฎอยู่ในเวบไซต์แห่งนี้ล่าสุด เขามีผลงานวรรณกรรมขนาดยาวแปดร้อยหน้า ที่ชื่อ “โรงเรียนที่เงียบที่สุดในโลก”โดดเดี่ยว และ เด็ดเดี่ยว น่าจะเป็นคำจำกัดความที่ชัดเจนที่สุดสำหรับตัวเขา “ฟ้า พูลวรลักษณ์” ศิลปินคนนั้นเวบไซต์ไทยแคนโต้เปิดมาได้ประมาณสองปีแล้ว คุณฟ้ามองช่วงสองปีที่ผ่านมาของเวบไซต์อย่างไรบ้างจริงๆ การทำเวบอันนี้มันก็เป็นการเริ่มทำจากที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน ตอนทำก็อยากให้เป็นเวทีของคนรุ่นใหม่ที่สนใจ เพราะหนังสือมันขายลำบาก ก็คิดว่า...ตอนแรกคือโครงการแรกที่คิดจะพิมพ์หนังสือไปเรื่อยๆ ดูแล้วคงทำไม่ได้ แต่เมื่อทำไม่ได้ จะล้มเลิกความคิดที่จะสนับสนุนคนรุ่นใหม่ ก็ไม่อยากจะล้มเลิก ก็คิดว่า ทางออกก็คือทำเวบไซต์ เมื่อตอนทำนั้นก็คิดว่า สิ่งไหนที่เราจะทำเราต้องให้โอกาสมันเยอะสักหน่อย สัก 2-3 ปี ถึงมันไม่ดีก็จะทำมันไปเรื่อยๆ แต่เท่าที่ดูผลออกมา ก็คิดว่า เออ...มันก็ไปได้ดีพอสมควร ก็มีคนเข้าๆ ออกๆ สนใจ อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจคนที่เข้าเวบไซต์ โพสต์ข้อความ หรือ เขียนแคนโต้ มีความหลากหลายทางความคิดพอสมควร คุณฟ้ามีความเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไรคืออย่างที่บอก ผมก็ไม่มีประสบการณ์ ไม่ได้รู้ ไม่ได้ตั้งเป้าว่าอย่างไหน อย่างไร คิดแต่เพียงว่า มันก็เป็นเหมือนร้านกาแฟเล็กๆ ร้านหนึ่ง ซึ่งมีคนเข้ามา มีขาประจำเข้ามา ดูเขาก็มีความสุขดี เหมือนกับมันก็เป็นโลกๆ หนึ่ง จุดที่ผมพอใจก็คือ...เหมือนกับเขาสื่อสารกันด้วยบทกวีแคนโต้ เหมือนคนที่ส่งเมสเสจคุยกันทางมือถือ แทนที่เราจะส่งข้อความอะไรก็แล้วแต่ เขาก็ส่งแคนโต้ไปหากัน ซึ่งจุดนี้เป็นปรากฏการณ์ที่ผมชอบ ผมอยากเห็นปรากฎการณ์อย่างนี้เยอะๆ ในโลกสมัยใหม่...จริงๆ การส่งเมสเสจหากันทางโทรศัพท์มันมีอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน บังเอิญแคนโต้นี่มันเป็นอะไรที่ใช้คำพูดน้อย หากจะส่งเมสเสจหากันด้วยแคนโต้ มันก็ลงตัว แต่แทนที่จะส่งข้อความธรรมดา มันมีอะไรเพิ่มขึ้นนิดหนึ่ง คือแคนโต้มีความอ่อนหวานบางอย่าง ซึ่งในโลกปัจจุบันเป็นโลกที่ค่อนข้างแห้งแล้ง ฉะนั้น ถ้าเผื่อว่าเด็กรุ่นใหม่ ถึงแม้ว่าจะเป็นแค่คนกลุ่มน้อย ถ้าพวกเขามีใจส่งข้อความหากันด้วยบทกวีแคนโต้ โลกนี้มันก็เหมือนกับมีความหวัง เหมือนมีดอกไม้เล็กๆ เบ่งบานในที่แห้งแล้ง ผมก็อยากเห็นปรากฎการณ์นี้เกิดขึ้นเยอะๆแคนโต้ที่ดีในความรู้สึกของคุณฟ้า ควรจะเป็นอย่างไรถ้าถามคุณภาพของงานแคนโต้ส่วนใหญ่ที่เขียนกันอยู่ จริงๆ ผมก็ยังไม่พอใจ ก็ยังถือว่ายังอ่อนอยู่ แต่ว่าผมไม่ซีเรียส เพราะผมมองอะไรนั้น ผมมองกว้างๆ บางคนอาจจะบอกว่า เอ...ไปเขียนแคนโต้แบบนี้มันเหมือนกับไปทำลายความหมายของแคนโต้หรือเปล่า เพราะมันดูเขียนง่ายไป ความหมายก็อาจจะไม่ลึกซึ้งพอ แต่สำหรับผม ผมคิดว่า เรามองอะไรคงต้องมองหาสิ่งที่เป็นบวก ผมคิดว่า มันอุปมาเหมือนกับเรามีคลับเล่นฟุตบอล เราอาจจะกำหนดให้มีคลับเล่นฟุตบอลประจำตำบล ประจำอำเภอ เด็กๆ ก็มาเล่นกัน เพราะว่า สิ่งเหล่านี้มันเป็นสิ่งที่เราไม่มีการสอน และมันก็ไม่ควรสอน คือคุณมีใจเล่นก็มาเล่น ภายใต้กติกาไม่กี่อย่าง ทีนี้ความสำคัญอยู่ที่ว่า มีเด็กมาเล่นเยอะมั้ย เขามีความสุข กระตือรือร้นที่จะเล่นหรือเปล่า เมื่อเรามีเด็กเล่นเยอะๆ ผมก็เชื่อว่า มันก็ต้องมีเด็กที่มีพรสวรรค์ เราก็ค่อยๆ แบ่งไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็เกิดฟุตบอลดิวิชั่นสาม ดิวิชั่นสอง ค่อยๆ เลื่อนขึ้นมา จนวันหนึ่งก็อาจจะมีคนที่เล่นเก่งมากๆ แต่ความสำคัญขณะนี้มันไม่ได้อยู่ที่ว่า มีใครเก่งมากน้อย แต่อยู่ที่ว่า มีคนสนใจมากน้อย มากกว่า มันเหมือนกับประเทศบราซิลทำไมเขามีนักฟุตบอลที่เก่ง ก็เพราะชาวบ้านหรือเด็กๆ เขาชอบเล่นฟุตบอล เขาเล่นเหมือนกับเป็นเรื่องประจำวันไป เมื่อเป็นอย่างนี้มันก็ต้องมีนักฟุตบอลเก่งๆ เกิดขึ้นถ้ามีใครสักคนได้อ่านแคนโต้แล้วอยากเขียนขึ้นมา แต่เขาไม่เคยเขียนอะไรมาก่อนเลย คุณฟ้าพอจะแนะนำวิธีเขียนและวิธีพัฒนาการเขียนของเขาได้หรือไม่คือผมว่าจุดเด่นของแคนโต้อยู่ที่มันง่าย นี่คือเหตุที่ทำให้มีคนสนใจเยอะ เขียนเยอะ มันง่ายจนกระทั่ง...เหมือนกับเกือบจะไม่มีกติกาอะไรเลย ทีนี้เราก็เอาจุดเด่นคือความง่ายอันนี้มาใช้เป็นประโยชน์ คือผมอยากให้ทุกคนเขียนอย่างที่ตัวเองอยากเขียน แต่อย่างไรก็แล้วแต่ โดยธรรมชาติของวัตถุมันจะต้องมีระเบียบของมันเอง เหมือนสิ่งมีชีวิตมันมีระเบียบของมันเอง เพราะฉะนั้นเมื่อเขียนไปๆ ในที่สุดมันจะเริ่มมีการแยกแยะบทที่ดีกับไม่ดีโดยเริ่มจากตัวคนเขียนก่อน ถ้าคนเขียนแยกแยะไม่ออกแสดงว่าเขายังไม่เข้าใจ ยังไม่มีเซนส์ สมมติเขาเขียนขึ้นมาพันบทเขาก็ไม่รู้ อะไรดีไม่ดี หรือถ้าสมมติเขาทึกทักว่าพันบทดีหมด เอ..มันจริงหรือเปล่า มันก็น่าจะให้คนอื่นรับรู้ ถ้าคนอื่นเห็นด้วยกับเขาหลายๆ คน ก็แสดงว่าของเขาอาจจะดีจริง แต่ถ้าคนอื่นไม่รู้สึกอย่างนั้นล่ะ งั้นก็แสดงว่าเขาไม่เข้าใจ คือเขาไม่สามารถสื่อสาร งานเขียนทุกชนิด แม้แต่แคนโต้ไม่ว่ามันจะง่ายเพียงไหนมันก็คืองานประพันธ์ชนิดหนึ่งซึ่งเขียนให้คนอื่นอ่าน ผมเขียนแคนโต้ผมก็เขียนให้คนอื่นอ่าน นักเขียนทุกคนสิ่งแรกที่ต้องตระหนักคือเราไม่ได้เขียนให้ตัวเองอ่าน ในกรณีที่เขียนให้ตัวเองอ่านมันไม่มีปัญหา คุณเขียนให้ตัวเองอ่านรู้เรื่องคุณก็เขียนไป นักเขียนที่เก่งคือนักเขียนที่สามารถอ่านงานตัวเองได้ และตัดสินได้อย่างเป็นภววิสัย คือเขาอ่านงานตัวเองได้เหมือนกับเป็นคนนอก ตั้งแต่เด็กที่ผมเขียนหนังสือ ตัวผมเองจะต้องพิจารณาตัวเองได้ อย่างแคนโต้หมายเลขหนึ่งตอนนั้นผมอายุสิบเก้า ผมก็แยกแยะเอง ตอนนั้นไม่มีคนอื่นมาช่วยผมนะ ผมก็เลือกของผมเอง แล้วคุณภาพของงานที่ออกมามันก็สะท้อนกลับว่า อย่างน้อยตอนเขียนหนังสือ ผมจะต้องสามารถเป็นกลางได้ เพราะฉะนั้นนักเขียนแคนโต้ควรจะมีคุณสมบัติอันนี้คือจะต้องอ่านงานตัวเองออก ต้องเลือกได้ว่างานตัวเองบทไหนดีบทไหนไม่ดี เหมือนกับตัวคุณเองจะต้องกรองมันได้ แล้วจากนั้นที่จะดีขึ้นไปคือกรองมันละเอียดขึ้นเป็นชั้นๆ ยิ่งคุณกรองได้ละเอียดเท่าไร ก็แสดงว่า งานคุณก็จะสามารถพัฒนาได้ดีขึ้น ทีนี้สิ่งอื่นๆ ที่ตามมาคือประสบการณ์ชีวิต อย่างวันนี้คุณอายุสิบเจ็ด คุณกรองตัวเองได้ดีที่สุดในวัยสิบเจ็ดของคุณ แต่อย่าลืมว่าสิบเจ็ดก็มีขอบเขตของเด็กอายุสิบเจ็ด การเข้าใจชีวิต การเข้าใจโลก สำหรับเด็กอายุสิบเจ็ดความเข้าใจตัวเองก็ยังเลือนๆ ลางๆ จริงมั้ยครับ เพราะฉะนั้นดีที่สุดในวันนั้น เราก็อย่าพึ่งไปตกใจ ถ้าสมมติว่าชีวิตมันพัฒนาไป วันหนึ่งเมื่ออายุมากขึ้น มาตรฐานการกรองอันนี้มันก็เปลี่ยนไปงานชิ้นล่าสุด (โรงเรียนที่เงียบที่สุดในโลกเล่ม 1-2) เป็นงานที่ความยาวมากที่สุดของคุณฟ้า อะไรที่เป็นความคิดเริ่มต้นและแรงบันดาลใจให้เกิดงานชิ้นนี้จริงๆ จุดกำเนิดของมันก็เหมือนกับสิ่งทั้งหลายที่กำเนิดจากจุดเล็กๆ ...มีวันหนึ่ง คุณเอื้อ อัญชลี เขามาบอกกับผมว่า เขาอยากจะขอบทความจากผมสักบทหนึ่งที่เกี่ยวกับสถานที่แห่งหนึ่งในดวงใจ เพื่อลงในหนังสือชุมนุมเรื่องสั้นของเขา ผมก็นั่งคิดดูว่า หนังสือเล่มนี้เป็นชุมนุมเรื่องสั้น คุณจะมาขอบทความผมทำไม เอาอย่างนี้ดีกว่า ผมเขียนเป็นเรื่องสั้น ถ้าเขียนได้ก็คือได้ ถ้าไม่ได้ก็จะตอบปฏิเสธไป แต่ก่อนอื่นขอให้ผมคิดเต็มที่สักครั้ง ผมก็ไปนั่งคิดถึงสถานที่แห่งหนึ่งในดวงใจของผม ผมคิดถึงงานคอนเซปชวลชิ้นหนึ่งที่ผมเคยทำก็คือ ห้องเรียนที่เงียบที่สุดในโลก ซึ่งมันก็คือห้องเรียนที่ผมทำขึ้นมา คือผมเอาห้องนอนของผม ซึ่งปกติก็เป็นห้องนอนเรียบๆ แล้วผมก็ใส่เก้าอี้นักเรียนไปแปดตัว เอากระดานดำมาตั้ง มีโต๊ะเก้าอี้พร้อมทุกอย่าง แล้วผมก็ใช้ชีวิตอยู่ในห้องเรียนนี้เป็นเวลาเดือนสองเดือน กินนอนอยู่ในนั้น แล้วผมก็นั่งอยู่ในห้องนั้น จินตนาการตัวเองเป็นนักเรียนแปดคน มันก็คืองานคอนเซปชวลชิ้นหนึ่งในวัยเด็กนั่นเอง งานในวัยนั้นดีอย่าง คือผมทำอะไรก็ไม่ได้คิดมาก แทบจะเรียกได้ว่า มีคนเห็นแค่ไม่กี่คนก็พอ ผมเคยชวนเพื่อนไม่กี่คนมาดูงานชิ้นนี้ เด็กก็คือเด็ก เล่นอย่างสนุกสนาน มีความสุข แล้ววันหนึ่ง แน่ละ มาถึงจุดหนึ่ง ผมก็เก็บ ยกโต๊ะ ยกเก้าอี้ ยกกระดานดำออก มันก็จบไปแต่เมื่อคุณเอื้อมาถามผม ผมก็คิดถึงสถานที่แห่งนี้ ถ้ามีคนมาถามถึงสถานที่แห่งหนึ่งในดวงใจ บางคนอาจจะคิดถึงที่อื่นๆ เช่นว่า สยามสแควร์ ถนนพระอาทิตย์ แต่ผมรู้สึกนั่นเป็นเรื่องสามัญเกินไป ที่ผมคิดคือห้องนี้ต่างหาก แล้วผมก็เลยแต่งเรื่องสั้นที่มีความยาวแปดบท จริงๆ แปดบทมันยังยาวเกินไปสำหรับจะลงในหนังสือเล่มนั้นด้วยซ้ำ ผมก็เลยให้เขาลงแค่ครึ่งเดียว แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผมรู้สึกว่า สถานที่แห่งนี้มันน่าสนุกนะ ผมก็เลยเขียนต่อเป็นสิบหกบท หลังจากนั้นมันก็ยังสนุกอยู่ อย่ากระนั้นเลย ผมเขียนเป็นเรื่องยาวดีกว่า ก็เขียนมาเรื่อยจนเป็นร้อยสิบหกบท ซึ่งก็คือโรงเรียนที่เงียบที่สุดในโลกสองเล่มนี้ในฐานะผู้เขียน คุณฟ้าคาดหวังอะไรจากผู้ที่ได้อ่านโรงเรียนที่เงียบที่สุดในโลกงานชิ้นนี้เป็นนิวเคลียสของผม เพราะฉะนั้นปฏิกิริยาที่คนอ่านมีต่อมัน ก็คือปฏิกิริยาที่มีต่อตัวตนของผม ต่อนิวเคลียสผม หรือจะพูดว่า มันคือปฏิกิริยาที่ผู้อ่านมีต่อหัวใจผม มันก็บ่งบอก...เหมือนกับตัวตนผมทั้งหมด ถ้าคุณถามว่า ผมคาดหวังอะไร ผมคาดหวังสูงสุดคือหัวใจคุณ พูดง่ายๆ คือผมหวังให้หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือในดวงใจของคุณ ผมอาจจะไม่สนใจปริมาณ อาจจะมีคนอ่านแค่ห้าร้อยคน แต่ผมอยากให้ห้าร้อยคนนั้นรักมัน เป็นหนังสือในดวงใจของเขา และโรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนในดวงใจเขา เป็นสถานที่ที่เขาเคยไปแล้วเขาไม่อาจลืมในชั่วชีวิตของเขาแรกเริ่มเดิมที ห้องเรียนที่เงียบที่สุดในโลก มีนักเรียนเพียงแปดคนคือ ฟ้า บึง ไฟ ฟ้าร้อง ลม น้ำ ภูเขา และดิน ห้องเรียนนี้สอนด้วยการไม่สอน มาก็ได้ ไม่มาก็ได้ จะมาตอนไหนก็ได้ จะเรียนวิชาอะไรก็ได้ และไม่ต้องส่งการบ้าน เพราะถึงส่งครูก็ไม่ตรวจอยู่ดีกาลล่วงผ่านไป วันหนึ่ง ห้องเรียนที่เงียบที่สุดในโลก ก็เพิ่มจำนวนขึ้นมาอีกเจ็ดห้อง พร้อมกับมีนักเรียนเพิ่มขึ้นมาอีกห้าสิบหกคน จากห้องเรียนที่เงียบที่สุดในโลก กลายเป็น โรงเรียนที่เงียบที่สุดในโลกพวกเขาเหล่านั้นอยู่ที่นี่ เป็นทั้งความไม่จริงอย่างที่สุด และความจริงอย่างที่สุดนี่คือสถานที่ชั่วนิรันดร์ ที่รอให้คุณไปเยือน**************************โรงเรียนที่เงียบที่สุดในโลกฟ้า พูลวรลักษณ์ ,พิมพ์ครั้งแรก มิถุนายน 2550 “มันดูเหมือนน้อย แต่ไม่น้อย มันแน่นไปด้วยพลังงานของฉัน พวกเธอคิดดูซี่ สิ่งที่มีน้อยกลับมีค่า และอยู่ในความทรงจำอย่างยาวนาน เริ่มจากตัวฉันก่อน เพราะฉันรู้ว่านี่เป็นหนึ่งวันเท่านั้นในหนึ่งปีที่ที่ฉันจะมาโรงเรียน วันนี้มีความหมายสำหรับฉันมากเลย ทุกย่างก้าวทุกวินาทีมีความหมาย”(ตอนที่ 79 ดิน ใจกลางโลก)