จีรนุช เปรมชัยพร
มีเพื่อนแนะนำให้อ่านบทความในบลอก BioLawCom.De เรื่องเกี่ยวกับสื่อและประชาชน คลิกไปอ่านแล้ว น่าสนใจดีค่ะ ขออนุญาตเก็บมาฝากทุกท่านนะคะ ยกมาเฉพาะหนังตัวอย่างพอเป็นน้ำจิ้ม อยากอ่านฉบับเต็มๆ แนะนำให้คลิกไปอ่านที่เว็บต้นทางเลยนะคะ
เคยมีคนกล่าวว่า "นอกเหนือจากอำนาจสามเสาในหลักการแบ่งแยกอำนาจ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ แล้ว สื่อ ยังเปรียบเสมือนอำนาจที่สี่ แห่งรัฐสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐในยุคข้อมูลข่าวสาร"
...และด้วยพลังอำนาจ และความทรงประสิทธิภาพเช่นนี้นี่เอง ในด้านหนึ่ง สื่อจึงไม่ควรถูกใช้เป็นเครื่องมือ หรือตกอยู่ภายใต้ "อำนาจรัฐ" ทั้งปวง รวมทั้งของ "ผู้กุมอำนาจอื่น ๆ" ในรัฐ (เช่น ทุน, ความจงรักภักดี ฯลฯ) และถือเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องมี "กฎหมาย" คุ้มครองความเป็นอิสระ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็ควรมีเครื่องมือในการ "ตรวจสอบ" บทบาท และการทำหน้าที่ของสื่อ
เชกูวารา พูดถึงสื่อพลเมืองไว้น่าสนใจด้วยค่ะ แต่ว่าการพูดถึงมิติสัมพันธ์ของเสรีภาพสื่อ vs เสรีประชาชน ก็น่าสนใจจนไม่ยกมาให้อ่านเป็นน้ำจิ้มไม่ได้
แต่เรื่องที่เขียนในบล็อกตอนนี้ เป็นเหตุผลในแง่ "เสรีภาพแห่งสื่อ" (Freedom of the Press) อันเป็นเรื่องที่ "สื่อหรือคนทำงานสื่อ สู้กับอำนาจรัฐ (รวมทั้งอำนาจอื่นใด)" ไม่ให้พวกเขาต้องทำงานด้วยเจตจำนงค์อันไม่เป็น "อิสระ" ตัวอย่างที่ชัดเจน ก็เช่น การต่อสู้ของไอทีวีในยุคจะถูกควบกลืนโดยรัฐ รวมทั้งการต่อสู้ของ "พนักงาน" ไอทีวีในยุคทุนทักษิณ เป็นต้น สิ่งที่ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญระหว่างเหตุผลแรก กับเหตุผลหลัง ก็คือ เสรีภาพอย่างหลัง ซึ่งน่าจะเรียกเต็ม ๆ ได้ว่า "เสรีภาพในการ (จัดการ) สื่อสาร (สู่มวลชน)" นี้ ไม่ได้ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ จะ หรือ ควรจะได้รับ "ความคุ้มครอง" โดยตัวมันเอง เสมอ แต่ "ความคุ้มครอง" จะมาพร้อม ๆ กับ "การทำหน้าที่" เท่านั้น กล่าวให้ง่ายก็คือ "สิ่งที่กฎหมายประสงค์จะคุ้มครอง" ในกรณีนี้ไม่ใช่ "ตัวสื่อ หรือตัวคนทำสื่อ" แต่คือ "บทบาท และหน้าที่ของสื่อ" ต่างหาก โดยมีเป้าหมายซ่อนอยู่เบื้องหลังอีกที ก็คือ เพื่อให้ „การรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน“ อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานมี „เสรีภาพ“ อย่างแท้จริง คือ ได้รับข้อมูลทุกแง่มุม ไม่ถูกปิดบัง หรือกระทั่งถูกบิดเบือนไป เพราะความไม่อิสระของสื่อ หรือด้วยการใช้อำนาจในทางมิชอบโดยตัวสื่อเอง
ภายใต้แนวคิดเช่นนี้ จึงย่อมเป็นเรื่องเข้าใจได้นะครับ ว่าสื่อที่ไม่ทำหน้าที่แห่งสื่อที่แท้จริง หรือพูดให้ง่าย ก็คือ "สื่อที่ไม่มีจรรยาบรรณ" ย่อมมีโอกาส หรือควรต้องถูก "คนรับสื่อ" ตรวจสอบ เพื่อจำกัดความคุ้มครอง และลงโทษได้เช่นกัน โดยอาจอาศัยกฎหมาย หรือการเรียกร้องในเชิงสังคม เพราะสื่อแบบนั้นนั่นแหละ คือ ตัวการในการทำลาย "เสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร“ ของประชาชนเสียเอง ดังนั้น คำว่า "เสรีภาพแห่งสื่อ" หรือ "สื่อเสรี" ในที่นี้จึงเป็น "ภาพสองมิติ" ที่นอกจาก "คุ้มครองเสรีภาพสื่อจากอำนาจรัฐ" (สื่อ VS. รัฐ) แล้ว ยังหมายถึง "คุ้มครองเสรีภาพผู้รับจากอำนาจสื่อ" (ประชาชน VS. สื่อ) ด้วย
อย่างไรก็ตาม นับเป็นเรื่องน่าเสียดายทีเดียวที่คำนี้ ที่ผ่านมาในบ้านเราถูกจำกัดให้แคบ และแสดงให้เห็นภาพมิติแรกเพียง "มิติเดียว"
อ่านเต็มๆแบบครบถ้วนกระบวนความคลิกที่นี่เลย