โอ ไม้จัตวา
ในที่สุดก็มาถึงวันนี้ ไม่น่าเชื่อว่าฉันติดตามหนังสือเล่มนี้มาถึงเจ็ดปี จำได้ว่าวันแรกที่อ่าน รู้สึกอิ่มเอม มีความสุข ไม่อยากไปไหน อยากอยู่ในโลกของคนขี่ไม้กวาด เสกคาถา ในโลกที่ตอบสนองจินตนาการที่ขาดหายไปในวัยเด็กคุยกับเพื่อน ๆ ที่ติดแฮรี่ พ็อตเตอร์ ว่าอ่านแล้วรู้สึกเหมือนได้ฟังนิทานก่อนนอนในวัยเด็ก ความที่หนังสือเล่มหนาทำให้อ่านวันเดียวไม่จบ และความที่เนื้อหาเหมือนขนมอร่อยที่มีจำนวนจำกัด จึงอยากค่อย ๆ ละเลียดกินทีละน้อย อ่านแล้วไม่อยากให้จบ อยากกลับบ้านไปนอนห่มผ้าอ่านต่อ เป็นแบบนี้มาเจ็ดปี! ปีนี้อ่านจบลงในวันเดียว แล้วรีบโทรไปบอกเพื่อนว่า มันส์เป็นบ้าเลย สู้กันทั้งเรื่อง เพื่อนบอกว่าไม่ต้องเล่า แต่มีพี่บางคนบอกให้เราเล่าให้ฟังตั้งแต่ต้นจนจบ แล้วบอกว่า ม่วนดี! ฉันชอบแก่นเรื่องง่ายดาย ที่พระเอกเกิดจากความรัก เป็นเด็กชายผู้รอดชีวิตมาด้วยความรักของแม่ ที่เวทมนต์อันโหดร้ายไม่อาจกล้ำกรายได้ ขณะที่ตัวร้ายไม่เคยถูกรัก หนังสือแสดงให้เห็นว่าความรักของแม่ และรวมถึงความรักในครอบครัว เป็นสิ่งสำคัญ มีอิทธิพลต่อชีวิตมนุษย์ และมนุษย์หรือพ่อมดก็แพ้ชนะกันด้วยพลังแห่งรักอันเป็นฐานสำคัญในหัวใจ อาวุธ เวทมนต์ พลังฝีมือ ล้วนแล้วแต่เป็นนามธรรม เป็นเครื่องมือในการดำรงกาย หากความรักต่างหากคือ เนื้อหาที่แท้จริงของชีวิต ความเป็นแม่หรือเปล่าไม่รู้ ที่ทำให้เธอเข้าถึงจินตนาการของเด็ก ๆ และเป็นจินตนาการที่ผู้ใหญ่ก็เสพได้อย่างเช่นกัน อ่านจบแล้ว...สุดยอดกระบวนวิชาของแฮรี่ พ็อตเตอร์ ดูคล้าย ๆ กับโกว้เล้ง คือ “กระบี่อยู่ที่ใจ” แต่ใจที่จะบรรจุกระบี่ได้ ต้องผ่านการเทรนมาจากพ่อแม่ที่มีความมั่นคงทางอารมณ์ รัก และมีเหตุผล มีวุฒิภาวะอย่างเพียงพอ ที่จะส่งลูกเข้ามาใช้กระบี่ในทางที่ถูกที่ควรได้ เพราะจอมมารในโลกของความเป็นจริงนั้น บางครั้งอาจอยู่ในรูปของโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ ร้านโชว์ไม่ห่วยที่ผุดขึ้นรอบบ้าน ความเจริญทางวัตถุที่ลดทอนอำนาจการต่อต้านในหัวใจ เด็กควรจะรู้เท่าทันว่าสิ่งใดคือเวทมนต์ที่กำลังดูดกลืนวิญญาณของตน และชักกระบี่ออกมาต่อสู้กับมันให้ได้ และจอมมาร บางครั้งก็อยู่ในรูปแบบของคนที่เราไม่อาจเอ่ยชื่อได้ อยู่ในภาวะคลุมเครือ สังคมอับทึบ มีรังสีของการบังคับควบคุมและดูดกลืนความสุข ดื่มกินความสิ้นหวังเป็นอาหาร ยิ่งผู้คนสิ้นหวังเท่าไร จนหมดไปจากสังคมได้ จอมมารดูจะยิ่งอิ่มเอมมากเท่านั้นสังคมที่สิ้นหวัง...ฟังดูคุ้น ๆ นะ