ประชาไทไนท์
เมื่อไม่กี่สิบปีมานี้...ภาพยนตร์ถูกยกย่องว่าเป็นอีกแขนงหนึ่งของ ‘ศิลปะ' ซึ่งไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต แต่มีคุณค่าทางจิตวิญญาณไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ศิลปะภาพยนตร์แตกกิ่งก้านสาขาออกไปหลายขนานและทำหน้าที่สะท้อนสังคมแต่ละยุคอย่างขยันขันแข็งณ วันนี้ ภาพยนตร์เกิดขึ้นใหม่เป็นจำนวนมากและมีรูปแบบการนำเสนอที่แตกต่างกัน แต่ภาพยนตร์บางประเภทเท่านั้นที่ได้รับการยอมรับจากคนส่วนใหญ่ในสังคม ซึ่งนอกจากเหตุผลทางรสนิยมแล้ว คงจะมีเหตุผลทางวัฒนธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องในการ ยอมรับ/ไม่ยอมรับ ภาพยนตร์แต่ละประเภทด้วย แต่น่าเสียดายที่ภาพยนตร์บางประเภทไม่มีที่อยู่ที่ยืนในสังคมบางแห่ง ซึ่งวัฒนธรรมกระแสหลักพยายามเบียดขับให้วัฒนธรรมย่อยตกหล่นไปจากพื้นที่การรับรู้ของคนในสังคมมาตรฐานเรื่องศีลธรรม, ความรุนแรง, ความล่อแหลมอนาจาร ไม่เคยได้รับการถกเถียงอย่างจริงจัง มีเพียงคนบางกลุ่มที่ถูกคัดเลือกโดยคน (อีก) บางกลุ่มเท่านั้น ที่มีสิทธิ์ตัดสินใจว่าอะไรดี-ไม่ดี รุนแรง-ไม่รุนแรง ทั้งที่เรื่องราวซึ่งถูกถ่ายทอดออกมาให้เห็นกันในภาพยนตร์ อาจไม่ต่างอะไรจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคมนั้นๆ เลยภาพยนตร์บางประเภทจึงถูกมองว่าเป็น ‘หนังส่วนตัว' และมีคนเฉพาะกลุ่มเท่านั้นที่นิยมชมชอบ ความเป็น ‘หนังเฉพาะกลุ่ม' จึงมักจะถูกจัดให้อยู่ในหมวดหมู่ของผลผลิตจากวัฒนธรรมย่อย...ซึ่งแน่นอนว่ามันมักจะได้รับการตัดสินว่าไม่ดีหรือไม่มีค่า (ถึงขั้นไม่รับผิดชอบต่อสังคม) เทียบเท่ากับภาพยนตร์ที่มาจากวัฒนธรรมกระแสหลักหลายครั้งที่ตัวแทนจากแวดวงภาพยนตร์เฉพาะกลุ่มพยายามหาที่ทางให้กับผลงานของตัวเอง พวกเขาก็ต้องเสี่ยงต่อการโดนแปะฉลากว่าเป็นพวกที่ยึดถือตัวกู-ของกู และใครบางคนอาจมองว่าพวกนี้เป็นคนประเภท ‘หนังของกู-เพลงของกู ห้ามเซ็นเซอร์' ก็ว่ากันไป...เพราะในความเป็นจริง เราทุกคนล้วนยึดมั่นในสิ่งที่ตัวเองคิดว่าถูกต้องดีงามด้วยกันทั้งนั้น การถกเถียงเรื่อง ความจริง-ความดี-ความงาม จึงไม่เคยยุติลง แต่ขอเพียงเรายังถกเถียง เราก็ยังมีโอกาสได้เรียนรู้ แลกเปลี่ยน และเติบโต หากเมื่อไหร่ที่คนส่วนใหญ่ใช้เสียงข้างมากเข้ามาเป็นเงื่อนไขในการทำให้เสียงอื่นเงียบลง...เมื่อนั้นเราจะมีอะไรให้ต้องสร้างสรรค์กันอีก?อย่าลืมว่าความ ‘หยาบ' ของกระดาษทราย ทำให้วัสดุมากมายเรียบเนียนมาได้นักต่อนักแล้ว...