Skip to main content
อิทธิฤทธิ์ ประคำทอง
ในงานนิทรรศการออกร้านเพื่อจำหน่ายสินค้าของที่ระลึกและของแต่งบ้านปีหนึ่งนานมาแล้วที่บังเอิญได้ไปเดินดูและเลือกซื้อข้าวของ ในมุมหนึ่งของงานซึ่งเป็นการออกร้านสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้าน และต่างประเทศอื่นๆ ตะกร้าสานจากกาน่าเหมือนจะได้รับความนิยมจากผู้คนที่เดินในงานมากเป็นพิเศษ สินค้าจำพวกเฟอร์นิเจอร์ไม้และไม้แกะสลักในร้านจากอินโดนีเซียก็ได้รับความสนใจไม่น้อย ร้านของเวียดนามและกัมพูชาที่อยู่ถัดๆ มาก็มีผู้คนเข้าไปชมสินค้ากันคึกคัก แต่เหตุไฉนร้านค้าซึ่งเป็นสินค้าตัวแทนจากประเทศลาวหรือ สปป. ลาว บ้านใกล้เรือนเคียงของเราจึงได้หงอยเหงาว่างไร้ทั้งคนซื้อหรือเยี่ยมกรายเข้าไปชมถึงเพียงนี้ถึงจะไม่มีผู้คนเข้าไปเยี่ยมเยียนหรือเลือกซื้อสินค้าในร้านจากลาวร้านนี้ก็ตาม แต่ผลิตภัณฑ์จำนวนมากมายซึ่งล้วนแต่เป็นผ้าฝ้ายทอมือต่างขนาดสีสันและลวดลายกลับมีความสวยงามต้องตาต้องใจอยู่ไม่น้อย เรารับรู้ได้ทันทีถึงบางสิ่งบางอย่างที่เป็นความพิเศษที่มีอยู่ในลักษณะการทอและการตัดเย็บแปรรูปให้ออกมาเป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์ของข้าวของเหล่านี้ แต่ถึงจะชื่นชอบและอยากจะซื้อหาก็ต้องพบกับความผิดหวัง เมื่อชายคนหนึ่งที่อยู่ประจำร้านข้างๆ เดินเข้ามาบอกว่าคนขายที่ร้านนี้เขารู้สึกไม่ค่อยสบายเลยกลับไปก่อน แต่เนื่องจากยังไม่ถึงเวลาปิดงานเลยต้องเปิดร้านเอาไว้ก่อน และบอกให้เลือกดูตามสบายแต่คงขายให้ไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าอะไรราคาเท่าไหร่ เมื่อไม่มีโอกาสจะเป็นเจ้าของผ้าชิ้นที่หมายตาเอาไว้ สิ่งที่ทำได้จึงเพียงแต่จดจำและเรียนรู้ว่าผ้าทอเหล่านี้เป็นฝีมือของใครมาจากที่ใด...ในประเทศลาวนั่นเป็นปฐมบทที่ทำให้ได้รู้จักและจดจำ ‘ผ้าละหา’ ได้ จากการพบปะกันหนแรกที่กรุงเทพฯ...หลวงพระบาง 2549ปลายปี 2549 เมื่อลมหนาวพัดโชยและอากาศก็หนาวเย็นสมดังที่กำลังเดินทางกลางฤดูหนาวในดินแดนที่อุดมด้วยภูเขาของภาคเหนือของลาว แต่ถึงกระนั้นแดดก็แผดสีจนบ้านเมืองผู้คนริมฝั่งโขงแห่งนี้ต้องแสงสว่างดูน่าสนใจไปทั่วหลวงพระบาง จุดหมายปลายทางของคนไทยหลายคนตระหง่านและตระการตารอคอยอยู่ในฐานะเมืองเก่าอย่างเมืองเชียงทองซึ่งตั้งอยู่บนที่ราบระหว่างแม่น้ำโขงและน้ำน้ำคานสายเล็กๆในอดีตเมืองแห่งนี้มีเจ้าแผ่นดินประทับอยู่ แต่ปัจจุบันพระราชวังเดิมได้กลายมาเป็น “พิพิดทะพันแห่งซาด” หลวงพระบาง ที่บางคนอาจจะคุ้นเคยสายตาจากภาพต้นตาลสูงลิ่วนำสายตาไปสู่ตัวอาคารพระราชวังสีขาวในแนวระนาบอาจจะด้วยโชคชะตาต้องตรงกันก็ว่าได้ ยามสายวันหนึ่งที่เราออกไปเดินแถวกลางเมืองย่านถนนคนจีน ใกล้ทางขึ้นยอดพูสีและฝั่งตรงข้ามของพิพิธภัณฑ์ซึ่งเคยเป็นวังเก่านั่นเอง เราได้พบร้านค้าบนอาคารเก่าสไตล์ฝรั่งยุคโคโลเนียล ซึ่งวางตัวอยู่ข้างๆ ทางขึ้นพระธาตุพูสีที่มีนักท่องเที่ยวพลุกพล่านนั่นเอง ซึ่งที่นั่นก็คือที่ตั้งของร้านผ้าฝ้าย “ละหา” ที่เราประทับใจและอยากจะซื้อผ้ามาแต่คราวได้เห็นตัวอย่างงานที่กรุงเทพฯร้านละหาที่เคยเป็นวังนอกมาก่อน หลวงพระบาง ในสัมผัสนั้นเรารับรู้อีกครั้งว่า “ละหา” ไม่ใช่ผ้าทอมือธรรมดาๆ แต่เป็นระดับสินค้าแบรนด์เนมส่วนหนึ่งของลาว อันเนื่องมาจากการเลือกเปิดร้านขึ้นบริเวณนี้ในลักษณะเป็นร้านค้าเดี่ยวๆ บนอาคารเก่าแก่สวยงาม ลักษณะจัดร้านที่เปิดให้คนเข้าไปชมได้ทั้งชั้นล่างและชั้นบน และตัวผลิตภัณฑ์ที่แม้จะเป็นผ้าฝ้ายแต่ก็สื่อได้อย่างเป็นสากลในวันนั้นคนขายประจำร้านที่เป็นชายหนุ่มบอกว่ากำลังมีการลดราคา 20 เปอร์เซ็นต์เป็นคริสต์มาสเซลล์ก็ว่าได้ ทำให้ได้เป็นเจ้าของผ้าฝ้ายละหาอย่างสมใจเอาที่เมืองหลวงพระบางนี่เองจากเวียงจันทน์ถึง ‘ละหา’ 2549หลังการเดินทางในแดนเหนือหลายวันในลาวก็ได้เวลากลับเข้าสู่เวียงจันทน์ นครหลวงโบราณและยังคงเสน่ห์ของความเล็กๆ น่ารักอีกแห่งหนึ่งของอินโดจีนยามนั้นที่เวียงจันทน์มีลมหนาวพัดโชยและลมเย็นอย่างที่ฤดูหนาวควรจะเป็นอยู่รายรอบ...อย่างไม่ตั้งใจอีกครั้งครา จากการเดินเล่นไปรอบๆ บริเวณกลางเมืองเพื่อหาอะไรรับประทานและซื้อหาข้าวของก่อนเดินทางกลับสู่ไทยในเย็นวันเดียวกัน ก็บังเอิญได้พบเข้ากับร้านละหาสาขาเวียงจันทน์เข้าอีกครั้งหนึ่งร้านละหา เวียงจันทน์คราวนี้บรรยากาศดูแตกต่างไป ร้านผ้าฝ้ายทอมือละหาที่ลาวเป็นเพียงห้องเสื้อที่เปิดอยู่ในอาคารห้องแถวธรรมดาๆ มีการตกแต่งสไตล์ธรรมชาติหรือคันทรี่เพื่อสื่อถึงที่มาของผลิตภัณฑ์ แต่ก็เรียกได้ว่าเน้นการโชว์ให้เห็นเสื้อผ้าและสินค้าในห้องห้องหนึ่งระหว่างที่การเลือกดูข้าวของในร้านอยู่นั้นก็มีสตรีวัยกลางคนแต่งกายเรียบง่าย แต่น้ำเสียงและท่าทีที่พูดกับคนในร้านที่ดูเป็นผู้หลักผู้ใหญ่คล้ายกับจะเป็นหัวหน้าหรือเจ้าของของที่นี่อยู่ในที แล้วทันใดนั้นจากภาพที่ประดับตกแต่งไว้ตามข้างฝาผนังในร้าน ไม่ว่าจะเป็นภาพตอนที่ได้รับรางวัลหรือการยกย่องเกียรติคุณจากรัฐบาลลาวและหน่วยงานด้านการพัฒนาระดับชาติต่างๆ และมีภาพตอนเข้าเฝ้ารับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ของไทยคราวเสด็จเยือนลาวด้วย ทำให้จดจำได้ว่าหญิงในภาพน่าจะเป็นหญิงผู้นี้ซึ่งเป็นเจ้าของผ้าละหาด้วยถัดมาคือวาระแห่งการทักทาย ทำความรู้จักและสนทนาแลกเปลี่ยนถึงที่มาและแนวคิดในการทอผ้าฝ้ายทอมือและแปรรูปออกมาได้อย่างสวยงามและมีความเป็นสากลกับ นางสงบันดิด ยดมั่นคง (Madam Songbandith Nhotmankhong) ในร้านละหาที่เวียงจันทน์  นางสงบันดิด ยดมั่นคง“ละหามาจากชื่อของหมู่บ้านที่เป็นบ้านเกิดในแขวงสะหวันนะเขตทางใต้ของลาว เริ่มทำเสื้อผ้าหรืองานด้านการ์เมนต์ส่งออกสิ่งทอเมื่อประมาณสิบกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้มีประสบการณ์ด้านการตัดเย็บและส่งออก จากการที่ทำการ์เมนต์มาเห็นแนวโน้มที่ไม่ดี คิดได้ว่าหากไม่ทำสินค้าที่เป็นแบรนด์ของตัวเองออกมาคงจะไปไม่รอดแน่ๆ ก็เลยคิดว่าน่าจะมาฟื้นของเก่า ตั้งแต่สมัยยายหรือแม่ที่เคยเห็นว่าทอผ้าและตัวเองก็ทอเป็นผูกลายให้สีเป็น เลยคิดว่าเราน่าจะเอาจุดนี้มาทำโชคดีว่าทำตัวอย่างแรกของผ้าทอออกมาชุดหนึ่งส่งไปให้ญี่ปุ่นดูก็ได้รับความสนใจมากและมีการสั่งออเดอร์มาเลย แต่เนื่องจากตอนนั้นยังไม่มีประสบการณ์พอ ได้ออเดอร์แต่ก็ไม่มีวัตถุดิบ เลยต้องใช้วิธีการไปซื้อฝ้ายและซื้อผ้ามาจากชาวบ้านเพื่อเอามาทำให้ทันที่เขาสั่งตอนนี้ละหาส่งออกผ้าไปขายให้บริษัทญี่ปุ่นเป็นหลักมีทั้งหมด 15 บริษัทเพื่อให้มีรายได้จ่ายให้กับลูกน้องในสามหมู่บ้านและต้องมีค่าใช้จ่ายนับหมื่นดอลลาร์ต่อเดือน การทำงานกับชาวบ้านก็จะมีปัญหาเรื่องวินัยเราจะต้องดุคนเป็นหรือจะต้องคุมเข้มได้ แต่โชคดีว่าที่บ้านสมัยปู่และพ่อเป็นคนที่มีบารมีที่ชาวบ้านนับถือ ทำให้ชาวบ้านเชื่อถือ เชื่อฟังและตั้งใจทำงานให้จากการยอมรับนับถือที่ชาวบ้านมีให้ในจุดแรก เราก็จะต้องใช้ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ที่มี พอดีว่าเราเป็นคนที่มีความรู้ได้เรียนหนังสือมาทางด้านจิตวิยาเยาวชนที่รัสเซียก็เลยเอาความรู้จุดนี้มาช่วยในการทำงานทำให้ทำงานด้านความคิดกับชาวบ้านได้และเราถือว่าเป็นการช่วยเหลือชาวบ้านที่เราทำงานด้วยและเราต้องสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นด้วย อย่างการจ่ายเงินให้ชาวบ้านก็ต้องจ่ายให้ตรงเวลาและให้รายได้ที่ดีพี่กับสามีช่วยกันออกแบบลายผ้า จนทุกวันนี้เราสามารถออกแบบลายออกมาเป็นผืนผ้าได้ด้วยคอมพิวเตอร์ เพราะสามีเรียนมาทางด้านวิศวกรรมมาจากเยอรมัน แม้ว่าเราจะทำงานกับชาวบ้านหรือใช้การย้อมสีด้วยธรรมชาติทั้งหมดก็ตาม แต่การควบคุมเรื่องการใช้สีและการย้อมสีเราจะต้องเป็นคนทำเอง เพราะถ้าให้คนอื่นทำก็ได้ออกมาไม่เหมือนเราทำเอง ตอนนี้เราสามารถย้อมสีจากธรรมชาติออกมาได้ถึง 62 สีและแต่ละปีก็จะมีการคิดสีใหม่ๆ เกิดขึ้นมาเรื่อยๆพี่เป็นคนที่ชอบทำงานและชอบคิดลายใหม่ๆ อย่างตอนนั่งรถไกลๆ ไม่จะเป็นจากสะหวันนะเขตมาเวียงจันทน์ก็ไม่เบื่อเพราะได้ใช้เวลาคิด เกิดความคิดอะไรก็จะเอามาขีดๆ เขียนๆ เก็บไว้” นางสงบันดิดเล่าทั้งความเป็นมาและการทำงานให้ฟังอย่างละเอียด"พี่เคยทอผ้าถวายให้กับสมเด็จพระเทพฯ ด้วยเมื่อตอนที่เสด็จเปิดสะพานมิตรภาพที่สะหวันนะเขต โดยทอเป็นลายนาคไต่ขัวบัวพันชั้น ซึ่งเป็นลายผ้าโบราณของลาวที่ทอยากมากและมีความสวยงามมากและพระองค์ก็ทรงโปรดมาก”คืนนั้นระหว่างโดยสารบนรถไฟตู้นอนจากหนองคายกลับเข้ามากรุงเทพฯ แม้อากาศจะเย็นแต่เราก็รู้สึกอบอุ่นเมื่อควักเอาผ้าห่มละหาที่มีสีสันเป็นเอกลักษณ์ขนาดย่อมๆ ที่ตัดสินใจซื้อมา (ด้วยสนนราคาที่หากคิดว่าแค่ผ้าฝ้ายทอมือราคาเท่านี้แล้วย่อมขัดแย้งกันอยู่มาก) เมื่อตอนกลางวันขึ้นมาห่มอย่างสุขใจป.ล. ในปี 2551 ถ้าใครได้บังเอิญเดินทางผ่านไปสะหวันนะเขต ฝากเยี่ยมพี่ท่านนี้ด้วยที่อยู่ของโรงงานผ้าละหา:Thong Laha Sinh248 Factory: P.O.Box 157Savannakhet Province, Lao PDRTel:(856) 41-212-398Fax:(856) 41-212-316เว็บไซต์ของผ้าละหา www.lahasinh.comEmail : lahasinh@hotmail.com