Skip to main content
ชิ สุวิชาน
เขานั่งอยู่แถวหน้า และเขาโบกไม้โบกมือขณะที่ผมกำลังบรรเลงเพลงอยู่บนเวที  ในมหกรรมคอนเสิร์ตเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ซึ่งจัดโดยสำนักประชาสัมพันธ์ร่วมกับองค์กรยูเนสโก้  ในงานได้มีการเชิญศิลปินชนเผ่าหลักทั้ง 7 เผ่า ได้แก่ ม้ง อาข่า ลีซู ลาหู่ เมี่ยน ไทยใหญ่และกะเหรี่ยง รวมทั้งยังมีศิลปินล้านนา อาทิ ครูแอ๊ด  ภานุทัต  คำหล้า ธัญาภรณ์ น้อง ปฏิญญา และไม้เมืองนอกจากนี้มีทายาทของสุนทรี  เวชชานนท์ ราชินีเพลงล้านนา คือน้องลานนา มาร่วมร้องเพลง ธีบีโกบีกับทอดด์ ทองดี ศิลปินจากรัฐเพนโซเวเนีย พิธีกรรายการคุณพระช่วยในงานนี้ด้วยเช่นกันในการเล่นเพลงสุดท้ายของผม ผมได้เชิญคุณทอดด์ มาช่วยตีโกละหรือฆ้องกบเพื่อบรรเลงร่วมกับเตหน่ากู   “ชิครับ! ผมขอคุกเข่าตีนะ เพราะผมยืนตีแล้วไม่ค่อยถนัดเท่าไหร่” คุณทอดด์ บอกกับผมก่อนขึ้นเวที ผมตอบตกลงตามนั้น ซึ่งทอดด์ ทองดี ก็ทำหน้าที่บนเวทีได้อย่างที่ควรเป็นเขาคนนั้นจ้องมองผมเล่นกับคุณทอดด์อย่างไม่กะพริบตาหลังจากจบงานคืนนั้น เขาได้เงียบหายไป เขาไม่เข้ามาหาผมหลังเวทีอย่างเคย  แต่หลังจากนั้นสองวันเสียงโทรศัพท์ของผมก็ดังขึ้น“โอะ มึ โช เปอ” เขาทักทายผมเป็นภาษาปกาเกอะญอซึ่งเป็นภาษาของเราทั้งสอง จากนั้นเขาก็ได้กล่าวถึงสิ่งที่เขาประทับใจและไม่ประทับใจในการจัดงานที่ผ่านมา ทั้งในส่วนของตัวศิลปินแต่ละคนและฝ่ายจัดการจัดงานด้วย“เรามีอะไรที่สงสัยบางอย่างที่อยากถาม” เขาบอกกับผม ซึ่งผมก็ไม่อาจปฏิเสธสิ่งที่เขาอยากถามได้“อยากรู้ว่า โกละนั้นเป็นของชนเผ่าปกาเกอะญอ แล้วชิคิดอย่างไรถึงให้ฝรั่งเป็นคนช่วยตีให้ ทำไมไม่ให้คนปกาเกอะญอตี” มันเป็นคำถามที่ทำให้ผมต้องใช้เวลาในการตอบยาวหน่อย แต่เขาก็พร้อมที่จะเสียเวลาฟังผมอธิบายที่ผ่านมาเราตามเขามาโดยตลอด เราต้องพูดภาษาตามเขา เราต้องแต่งตัวตามเขา เราต้องกินอาหารตามเขา เราต้องเล่นเครื่องดนตรีตามเขา ซึ่งมันผิดไหม มันก็ไม่ผิด เพียงแต่เราต้องตามความคิดคนอื่น ตามการกระทำของเขาตลอด ซึ่งบางครั้งก็ไม่จำเป็น และเรามักถูกครอบงำจากคนที่เราตามนั้นเสมอแต่สิ่งที่ผมทำ ผมอยากให้เห็นว่าเราไม่จำเป็นต้องตามเขาเสมอไป เราก็มีดีพอที่จะให้คนอื่นตามเราได้เช่นกัน  โดยเฉพาะฝรั่งจากตะวันตกซึ่งเราพยายามตามและเลียนแบบเขามาโดยตลอด ซึ่งงานนี้ผมอยากให้ฝรั่งตามผมบ้าง มาเล่นเครื่องดนตรีของผม ของชนเผ่าผมบ้าง โดยวิธีการเล่นทั้งหมดผมเป็นกำหนดว่าควรเล่นแบบไหน  มันถูกไหม  มันอาจไม่ถูก  แต่มันมีศักดิ์ศรีกว่า  สิ่งเหล่านี้มันเป็นของเราเอง เราเล่น เราร้อง เราเป็นโดยไม่เขิน ไม่อายใคร เล่นผิดก็ไม่มีใครรู้ ฮ่า ฮ่า!!ซึ่งบางทีคนทางตะวันตกเขาเคารพและศรัทธาในสิ่งที่เราเป็น  แต่บางครั้งเราเองกลับไม่มั่นใจในองค์ความรู้ภูมิปัญญาของบรรพชนเรา  บางทีคนตะวันตกก็เอามาจากคนอื่นเช่นกัน  ต้นกำเนิดของกีตาร์นั้นพัฒนามาจากเครื่องดนตรีจากประเทศอิรัก  ฝรั่งเอาไปประยุกต์อีกที  องค์ความรู้ของเรานั้นหากเราหยิบใช้มันพัฒนาและต่อยอด มันจะเป็นการยกระดับองค์ความรู้ให้ขยับไปอีกในระดับที่ดีขึ้นหลังจากเสร็จงาน คุณทอดด์ นัดผมไปทานข้าวผม ขณะที่กำลังทานข้าวนั้น เขาบอกว่า“เฮ้!! ชิ แก๊ง ยูเนสโก ชอบโชว์ของเรานะ เขา(ยูเนสโก้)บอกว่า ไม่เคยเห็นการเล่นดนตรีที่มีศิลปินฝรั่งที่ค่อนข้างมีชื่อเสียงบ้างเล่นดนตรีร่วมกับคนชนเผ่า  โดยที่ศิลปินฝรั่งคุกเข่าเล่นและคนชนเผ่ายืนเล่นอยู่เหนือกว่า  มันเหมือนคนฝรั่งเองคารวะในศักดิ์ศรีและภูมิปัญญาของคนชนเผ่า  เป็นการแสดงให้เห็นถึงการเคารพในความเป็นมนุษย์ของคนชนเผ่า” คุณทอดด์ กล่าวอย่างตื่นเต้น “แต่ผมบอกเขาไปว่า เปล่าหรอกครับ ผมยืนตีแล้วไม่ถนัด ก็เลยคุกเข่าตี” คุณทอดด์ พูดจบพร้อมกับอ้าปากหัวเราะจนเห็นฟันครบทุกซี่แต่ประเด็นที่สำคัญคือทำอย่างไร เราถึงจะไปด้วยกันได้  โดยไม่รู้สึกว่าใครนำ ใครตาม หรือใครครอบงำใคร  ผมเชื่อว่าเราไม่สามารถอยู่อย่างโดดเดี่ยวหรือปิดตัวจากโลกภายนอกได้  เราต้องมีปฏิสัมพันธ์กับภายนอกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  แต่ในการปฏิสัมพันธ์นั้นทำอย่างจึงจะมีความสมดุลระหว่างการรับของคนอื่นและการใช้ของตนเอง  โดยที่เราสามารถยังสามารถยืนอยู่บนรากทางวัฒนธรรมของตนเองได้“เออ จริงหว่า!!” เขาพูดออกมาหลังจากที่ฟังผมพร่ำยาวเหยียด แต่ผมไม่ทราบว่าเขาคิดและเข้าใจอย่างไรบ้าง?? “แล้ว ได้ชื่ออัลบั้มใหม่หรือยัง และเปิดอัลบั้มเมื่อไหร่” เขาถามผมต่อ ผมไม่แน่ใจว่าเขาถามเพื่อที่จะซื้อหรือว่าเพื่อที่จะขอฟรี“ได้แล้ว ชื่ออัลบั้ม เตหน่าแลมิตร คาดว่าจะเปิดตัวที่เชียงใหม่ราวเดือนธันวาคมศกนี้ หากคืบหน้าอย่างไรเดี่ยวจะส่งข่าวอีกที”“ ต่าบลื๊อ ต่าบล๊อ” เขาขอบคุณบอกลาแล้วเขาก็วางสายโทรศัพท์