Skip to main content
Hit & Run
จิรนันท์ หาญธำรงวิทย์หลังจากได้อ่านข้อความในหนังสือที่ คมช. ส่งถึงคณะทำงานพิจารณากลั่นกรองเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์ ของ กกต. ที่ตั้งขึ้นเพื่อตรวจสอบว่า หนังสือ ซึ่งออกโดย คมช. (สปค.ศปศ.คมช. ลับ-ด่วนมาก ที่ คมช ๐๐๐๓.๕/๔๘๐ ลง ๑๔ กันยายน ๒๕๕๐) นั้น เข้าข่ายความผิดฐาน เจ้าหน้าที่ของรัฐวางตัวไม่เป็นกลางในการเลือกตั้ง ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๕๗ หรือไม่ เพื่อขอให้ทบทวนบทบาทของคณะกรรมการสืบสวนสอบสวน เนื่องจากการออกหนังสือฉบับดังกล่าวของ คมช.เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญ แล้ว ก็เกิดความรู้สึก ‘สบายใจ' ชอบกลเนื่องด้วยการให้เหตุผลของ คมช. ทำให้เห็นแล้วว่า ภาระต่างๆ ที่ประชาชนอย่างเราๆ จะต้องแบกรับในการเลือกตั้งครั้งนี้มันออกจะน้อยแสนน้อย นั่นเพราะ คมช.วาดภาพให้เห็นแล้วว่า พรรคไทยรักไทยนั้นได้เปลี่ยนโฉมมาเป็นพรรคพลังประชาชน และเตรียมจะแก้แค้น "คิดบัญชี" กับผู้เกี่ยวข้องอันเป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้าย และสร้างความแตกสามัคคีให้สืบเนื่องต่อไป ทำให้ คมช.และคณะรัฐมนตรี "ต้องใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในการป้องปรามมิให้มีการดำเนินการในลักษณะที่เป็นการทำลายความสงบเรียบร้อย และความมั่นคงของประเทศ"ก็ในเมื่อที่ผ่านมา ‘ความมั่นคง' เป็นเรื่องของทหารมาตลอดอยู่แล้ว เราก็คงต้องให้เขาจัดการกันไป !ไล่เรียงมาตั้งแต่ เริ่มต้นรัฐประหาร ซึ่งบรรดาทหารก็ทำเพราะไม่ต้องการให้เกิดการนองเลือดในการชุมนุมใหญ่ที่จะมีขึ้น (แม้ว่า ที่ผ่านมา การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จะได้รับการกล่าวขวัญว่า ‘เป็นไปด้วยความเรียบร้อย' ก็ตาม) หรือ เพราะเหตุว่าอาจมีการขนส่งยาเสพติดกันในบริเวณชายแดน มีปัญหาแรงงานข้ามชาติ จึงต้องมีการคงกฎอัยการศึกเอาไว้ (ทั้งก่อน-หลังประชามติ) เพื่อรักษา ‘ความมั่นคงภายใน'การรณรงค์ให้ไปลงประมาติรับรัฐธรรมนูญ เพื่อให้บ้านเมืองสงบ นี่ก็เรื่องของความมั่นคง (แม้ว่า การไปลงประชามติ รับ-ไม่รับรัฐธรรมนูญ จะเป็น ‘สิทธิ' ที่หลายคนในกองทัพบอกว่า ‘เคารพ' ก็ตาม) งบประมาณจากภาษีของประชาชนไม่รู้กี่....ล้าน ที่จะต้องนำไปใช้ซื้อรถหุ้มเกราะ เครื่องบินรบ เรือดำน้ำ ซึ่งก็เพื่อ ‘ความมั่นคง' ของกองทัพ ของประเทศล้วนๆ การผ่านวาระแรกของ พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายใน ที่ประชาชนอาจถูกกักบริเวณได้ ค้นบ้านได้ ห้ามชุมนุมได้ ปิดถนนได้ แต่...ก็เพื่อ ‘ความมั่นคง' ทั้งนั้น เพราะฉะนั้น เอกสารลับคราวนี้ ก็อย่างที่ทหารบอกนั่นแหละว่า เพื่อป้องกันการ "คิดบัญชี" อันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของทหารที่ทำรัฐประหารของชาติ ก็เท่านั้น ส่วนเรื่องความเป็นกลางนั้น ก็ให้เป็นหน้าที่ของ กกต.ช่วยตีความให้ ไล่ดูตั้งแต่การจัดการลงประชามติที่ผ่านมาก็ได้ แม้ว่า กกต.บางคน (สองคน) จะเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่จะนำมาลงประชามติด้วย และบางทีเจ้าหน้าที่ กกต.บางคนก็ออกมาห้ามการรณรงค์ไม่รับรัฐธรรมนูญเป็นระยะๆ หรือไม่ก็ปล่อยให้องค์กรของรัฐบาล ซึ่งมีหน้าที่จัดการลงประชามติ ออกโรงมารณรงค์เรื่องรับรัฐธรรมนูญด้วยตัวเองแต่ก็ยังยืนยันว่า กกต. ‘เป็นกลาง' มาตลอดเพราะฉะนั้น เลือกตั้งคราวนี้จึง ‘ไม่น่ากังวล' เลยแม้แต่น้อย  ความมั่นคงเป็นเรื่องของทหาร ความเป็นกลางก็ยกให้เป็นหน้าที่ของ กกต. ส่วนประชาชนตาดำๆ อย่างเราๆ เขาบอกว่า มีหน้าที่กา (ก็กาไป) ขออย่างเดียว ผลออกมาเป็นยังไง อย่ามาว่า... ‘โง่' ก็แล้วกัน