Skip to main content
Hit & Run
จิรนันท์ หาญธำรงวิทย์นอกจาก 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตย และ (อดีต) วันชาติแล้ว วันสำคัญที่เงียบเหงารองลงมา (อีกวัน) ก็คงหนีไม่พ้น 6 ตุลาคม 2519 ที่รับรู้กันว่า เกิดเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษา ประชาชน เพราะเข้าใจว่าเป็นคอมมิวนิสต์ สำหรับปีที่แล้ว วันนี้อาจคึกคัก เพราะถึงวาระตัวเลขกลมๆ 30 ปี ซ้ำยังเพิ่งผ่านพ้นรัฐประหาร 19 กันยายน มาหมาดๆ กระแสเรื่องการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจึงยังมีอยู่ แต่พอปีนี้กระแสกลับไปเงียบเหงาเหมือนปีก่อนๆ วันที่ 6 ตุลาในปีนี้ กลายเป็นวันเสาร์ธรรมดาๆเมื่อถามถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา กับหลายๆ คน คำตอบที่ได้ทั้งสร้างความแปลกใจและไม่แปลกใจในเวลาเดียวกัน“เป็นวันที่เกี่ยวกับประชาธิปไตยอะไรซักอย่าง ที่ต้องจำ เพื่อใช้สอบเอ็นท์”“ตอนเป็นนักศึกษาก็จำได้อยู่ แต่พอจบมาก็ลืมหมดแล้ว ถ้าไม่ได้เรียนธรรมศาสตร์ คงไม่รู้เรื่องนี้”“รู้ไปก็ปวดหัว” หลายคนบอก “เรื่องมันผ่านไปแล้ว” พอลองนั่งนึกดูว่าในแบบเรียนสมัยมัธยมพูดถึงเหตุการณ์นี้อย่างไร สารภาพตามตรงว่า จำไม่ค่อยได้เสียแล้ว สิ่งที่จำได้เลาๆ มีว่า มีนักศึกษาประชาชนในธรรมศาสตร์ถูกยิง ถูกฆ่า เพราะมีคนแสดงละครหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ...ก็แค่นั้น เมื่อพูดถึงเหตุการณ์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย...14 ตุลา และพฤษภา 35 ก็ดูจะโดดเด่นออกมา เพราะเป็นครั้งที่ถูกมองว่า “ชนะแล้ว” ส่วน 6 ตุลา นั้น บ้างว่า เพราะประชาชนแพ้ บ้างว่า เพราะมันเศร้าเกินไป ไม่พูดถึงดีกว่า หรือบ้างก็ว่า “ไม่เอา ไม่พูด” หรือ “มันเป็นประวัติศาสตร์ที่ยังไม่ได้ชำระ”เมื่อไม่ค่อยมีใครพูดถึงในวงกว้างและ “ความจริง” ของเหตุการณ์ยังไม่ปรากฎ เหตุการณ์ที่คลุมเครืออย่างชัดเจนนี้ ก็น่าสนใจไปอีกแบบ ใครเป็นคนสั่งฆ่านักศึกษา ประชาชน (แม้นิรโทษกรรมไปแล้ว ก็ควรต้องหาความจริง ไม่ใช่หรือ) เมื่อข้อมูลขาดหาย เราก็สามารถเติมเต็มได้ด้วยเอกสารบันทึกจากปากคำของผู้อยู่ในเหตุการณ์ ถ้าเป็นเมื่อก่อน อาจต้องพลิกห้องสมุดหา แต่เดี๋ยวนี้ อินเทอร์เน็ตช่วยได้มากทีเดียว ข้อมูลที่จะได้ด้วยหาปะติดปะต่อเรื่องราวเอง คงน่าตื่นตาตื่นใจไม่น้อย ข้อมูลหลายอย่างผุดขึ้น ความจริงหลายชุดถูกเปิดเผย พ้นไปจากชุดความรู้ในแบบเรียน (ที่ถูกบังคับให้เรียนและรู้เหมือนกัน) (อาจถือเป็นข้อดีก็ได้ ที่เหตุการณ์นี้คลุมเครือและไม่มีบทสรุปในแบบเรียน)การทำและไม่ทำอะไรของใครและใครในเหตุการณ์นั้น ทำให้เข้าใจสภาพของสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมากขึ้น ความเป็นที่รักของสถาบันกษัตริย์ แสนยานุภาพของสื่อหรือแม้กระทั่ง พลังแห่งศรัทธาของประชาชนต่อบางสิ่งบางอย่าง - ประชาธิปไตย?  ว่ากันว่า อดีตเป็นรากฐานของปัจจุบัน แถมยังทำนายอนาคต ถ้าอย่างนั้นแล้ว เราควรศึกษาอดีต เพื่อเข้าใจปัจจุบัน และสร้างอนาคตด้วยตัวเองรึเปล่า ........................ป.ล.1 ถ้าคิดว่า 6 ตุลา ไม่เกี่ยวอะไรกับคุณ ลองดูว่ามีอะไรเหล่านี้ที่อยู่รอบตัว หรือคุณเข้าไปเกี่ยวข้องอยู่บ้างสถาบันกษัตริย์ เพลงพระราชนิพนธ์ เราสู้ นักศึกษา ประชาชน ประชาธิปไตย คอมมิวนิสต์ การเมือง เผด็จการทหาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สื่อ หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แขวนคอ กษัตริย์นิยม สนามหลวง รัฐประหาร นายกฯ พระราชทานป.ล.2 เว็บที่พูดถึง 6 ตุลา จากการสอบถาม “กูเกิ้ล” http://2519.net http://th.wikipedia.org/wiki/เหตุการณ์_6_ตุลา http://sameskybooks.org http://www.midnightuniv.org/midnight2545/document95289.html http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9480000137269 http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2005q4/article2005oct28p1.htm http://www.puey.org/th/content/view/6/13/ http://www.seas.arts.tu.ac.th/6tula.htm http://www.seas.arts.tu.ac.th/6tulainterview.htm