online

Fluxblog – ที่ที่เสียงกระทบหู

"น่าสนใจตรงที่ว่า เนื้อหาของเพลงที่ปรากฎใน fluxblog หลากหลายกว่าเรื่องของปัจเจกบุคคลหรืออารมณ์-ความรู้สึก แต่กินลึกไปถึงระดับจิตวิญญาณ มีการวิพากษ์วิจารณ์โครงสร้างที่มันยิ่งใหญ่กว่าเครือข่ายมนุษย์ ซึ่งเวียนว่ายอยู่ในสังคมเดิมๆ"

000

อุตสาหกรรมเพลงกระแสหลัก ฝั่งอังกฤษ อเมริกา ญี่ปุ่น หรือว่ายุโรป ฯลฯ ล้วนแข่งกันเติบโต ทางกว้าง' มาสักพักใหญ่ๆ แต่ไม่ค่อยมีความคืบหน้าที่มันตื่นเต้นเร้าใจใน เชิงลึก' มากนัก โปรดิวเซอร์ดนตรีที่เก่งๆ ส่วนใหญ่ก็รับหน้าที่ดูแลศิลปินมากมายจนกลิ่นอายทางดนตรีมันฟังซ้ำๆ ย่ำอยู่กับที่ ไม่ค่อยอิ่มรูหูนักฟังเพลงสักเท่าไหร่

แต่แล้วบล็อกโดนใจอย่าง fluxblog.org ก็บังเกิด!

นิตยสารนิวยอร์กไทมส์ จัดอันดับให้ fluxblog ติด 1 ใน 5 บล็อกสุดเจ๋งในปีนี้ เพราะชื่นชมในการเปิดพื้นที่ให้นักร้อง-นักดนตรีทั่วโลกได้เผยแพร่ผลงานเพลงของตัวเองโดยไม่ต้องรอข้อเสนอ (ที่มาพร้อมเงื่อนไข) ของบรรดาค่ายเทปต่างๆ

พลเมืองโลกไซเบอร์ที่รักเสียงดนตรี รู้วิธีโพสต์เพลงขึ้นเว็บ และที่สำคัญ มีความสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ จะมีช่องทางระบายผลงานเพลงของตัวเองมากขึ้นอีกหนึ่งแห่ง โดยไม่จำเป็นต้องหน้าตาดี หุ่นเซ็กซี่ หรือเป็น เอนเตอร์เทนเนอร์'

ขอเพียงรู้วิธีสร้างสรรค์เสียงเพลงและเสียงดนตรีก็พอแล้ว

เพลงหลายเพลงที่โพสต์ลง fluxblog สามารถฟังได้จนจบเพลง (แต่ดาวน์โหลดไม่ได้) โดยคนโพสต์สามารถเขียนคำอธิบายเกี่ยวกับที่มาที่ไปของเพลง เพื่อปูทางให้คนฟังเข้าใจในเนื้อหาของเพลงได้ด้วย แล้วคนที่เข้ามาฟังจะชอบ-ไม่ชอบ หรือมีคำแนะนำอย่างไร ก็จะโพสต์ข้อความเอาไว้เป็นการสนทนาแลกเปลี่ยนทางตรง

น่าสนใจตรงที่ว่า เนื้อหาของเพลงที่ปรากฎใน fluxblog หลากหลายกว่าเรื่องของปัจเจกบุคคลหรืออารมณ์-ความรู้สึก แต่กินลึกไปถึงระดับจิตวิญญาณ มีการวิพากษ์วิจารณ์โครงสร้างที่มันยิ่งใหญ่กว่าเครือข่ายมนุษย์ ซึ่งเวียนว่ายอยู่ในสังคมเดิมๆ

น่าจะเป็นอีกก้าวหนึ่งที่ทำให้วงการเพลงมีแนวโน้มจะหลุดพ้นจากการครอบงำของวัฒนธรรมMTVได้ในเร็ววัน

http://fluxblog.org/

sukiflix - ที่นี่ สถานีอินเทอร์เน็ต!

อาจดูเหมือนไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่กลุ่มผู้ก่อตั้งสถานีอินเทอร์เน็ตแห่งนี้บอกชัดเจนว่า "ไม่ใช่การนำรายการที่ออกอากาศในโทรทัศน์มาฉายซ้ำในช่องทางอินเทอร์เน็ต" แต่เป็นช่องทางนำเสนอรายการแบบ on-demand ที่เน้นความสร้างสรรค์ แตกต่าง และหลากหลาย ที่สำคัญ มีการจัดอบรมวิธีผลิตรายการบนสถานีอินเตอร์เน็ตด้วย...

หัวเรี่ยวหัวแรงหลักๆ ของสถานี suki flix มีแค่ 3 คนเท่านั้น คือ บารมี นวนพรัตน์สกุล, ธีรวัฒน์ อาภาสพิพัฒน์, ชัยณรงค์ อุตตะโมท - 3 หนุ่ม 3 สามมุมที่แปรรูปความฝันให้กลายเป็นสิ่งที่มองเห็นและจับต้องได้ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่

นอกจากรายการเกี่ยวกับไอที (Geek Freak) ไลฟ์สไตล์ ( Story of the Month) ศิลปะ บันเทิง วัฒนธรรม ฯลฯ บางครั้งบางคราวก็มีการถกประเด็นสังคมและการเมืองพอหอมปากหอมคอ แต่สิ่งที่ได้รับคำชมอย่างท่วมท้น เห็นจะได้แก่ หลักสูตร Flix Production 1.0 หรือ "การผลิตรายการบนสถานีอินเทอร์เน็ต รุ่นที่ 1" ที่เปิดให้คนรุ่นใหม่ (หรือคนรุ่นเก่าที่ยังมีไฟ) ได้เรียนรู้และทดลองทำรายการในสไตล์ Flix หรือ Clip สำหรับเผยแพร่ในอินเทอร์เน็ตด้วยตัวเอง แบบที่ใครๆ ก็พูดว่า "ทำเองก็ได้....ง่ายจัง"

http://www.sukiflix.com

Duocore ทีวีออนไลน์

นี่คือเว็บไซต์ที่ชวนคนมา "เอา" กัน

เรื่องราวเริ่มต้น เมื่อหนุ่มน้อยไอทีสองนาย กล้า (กล้า ตั้งสุวรรณ) และออย (ณัฐวัฒน์ ปาลกะวงษ์ ณ อยุธยา) เกิดแรงบ้าขึ้นมา อยากลองของว่าถ้าจู่ๆ ลุยทำ ‘ทีวีออนไลน์' ขึ้นมา เริ่มต้นแบบง่ายๆ ตั้งแต่ยุคที่ไม่ค่อยมีใครทำ แถมคนทำก็โนเนม ผลการทดลองนั้นจะเป็นอย่างไร

Duocore.tv จึงเกิดขึ้น ภายใต้สโลแกนที่ว่า "ผลักดันวงการไอทีในบ้านเรา" เป็นรายการ IT แนวใหม่สำหรับยุค Hi-Speed สะท้อนมุมมองของวงการ IT บ้านเราและต่างประเทศ พร้อมข่าวสาร Update เจ๋งๆ ในรอบสัปดาห์

เนื้อหาดูโอคอร์ ที่ผ่านมา ค่อนข้างเน้นไปทางข่าวไอที ด้วยหลายๆ สาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นเพราะข่าวไอทีที่ให้ติดตามได้สนุกๆ ยังมีน้อย ทุกวันนี้มีเพียง blognone.com นอกจากนี้ อาจเพราะวงการทีวีออนไลน์ยังถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนส่วนใหญ่ การบุกตลาดช่วงแรกจึงเป็นที่สนใจในหมู่คนแวดวงไอทีโดยเฉพาะ

มาปัจจุบัน duocore มีอายุ 36 สัปดาห์ กับวิดีโอทั้งหมด 36 ตอน การถ่ายทำเริ่มขึ้นอย่างง่ายๆ จัดโซฟา หามุมเหมาะภายในบ้าน ตั้งกล้อง แล้วเริ่มถ่ายทำ ! ทีมงานทั้งหมดรวม 4 คน คือ กล้า (พิธีกร), ออย (พิธีกร), ตาล (ตากล้อง), จิ้งจุ่น (ตัดต่อ)

กล้าเล่าว่า ผ่านพ้นมา 36 เทป ในวันนี้ถ้าย้อนไปดูที่เทปแรก "อายมาก ทำออกมาได้ยังไง" เขาเล่าว่าอัดรายการช่วงแรกๆ นั้น ทั้งฝืด ทั้งเกร็ง แถมเดดแอร์เต็มไปหมด เพราะส่งมุขกันไม่ทัน

แต่เรื่องน่าสนใจที่เปลี่ยนไป นับจากเทปแรกมาจนเทปล่าสุดคือ ที่มาของเนื้อหา จากเดิมที่จะหยิบข่าวจากต่างประเทศมาพูด ซึ่งเป็นข่าวที่ถูกคัดมาจากทีมงานเท่านั้น แนวทางช่วงหลังก็เปลี่ยนมาเปิดพื้นที่ให้สมาชิกคนอ่านช่วยกัน "ส่งข่าว" ได้ แต่แค่เข้ามาอ่าน ไม่พอ

เพราะต้องมา "เอา" กันด้วย

นั่นคือ อ่านข่าวไหน ชอบข่าวไหน ก็ช่วยกันคลิก "เอา" ข่าวที่คนนิยมที่สุดจะถูกดันเด้งมาที่หน้าแรก ซึ่งพบว่านี่เป็นระบบที่ทำให้เนื้อหาข่าวหลากหลายกว่าจากเดิม

"ผมกับออย หาเรื่องได้ไม่ดีเท่ากับที่ทุกๆ คนช่วยกันหาหรอก" กล้าบอก นอกจากนี้ การมีพื้นที่ให้คนส่งข่าวเอาข่าว ยังเพิ่มกิจกรรมให้คนมีส่วนร่วมได้มากขึ้น แทนที่เว็บ duocore จะเป็นเพียงรายการรายสัปดาห์ที่ดูได้เพียงครึ่งชั่วโมงต่ออาทิตย์ เมื่อเป็นแบบนี้ คนดูก็จะได้ทำอะไรมากกว่านั้น ได้นั่งดู ได้ร่วมคอมเม้นท์

ข่าวที่มีคน ‘เอา' มากที่สุด ทีมงานจะหยิบไปเล่าต่อในรายการรายสัปดาห์

ทุกวันนี้ ดูโอคอร์ แม้จะมีข่าวด้านไอทีเยอะ แต่ก็แทรกเนื้อหาหลากหลาย ประเด็นอย่างเรื่อง "ค่าตัวนักเตะพรีเมียร์ลีกส์" หรือเรื่อง "มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ" ก็เคยเป็นประเด็นในรายการของสองหนุ่มนี้มาแล้ว

กล้าตั้งข้อสังเกตว่า ช่วงครึ่งปีให้หลัง มีคนสนใจทีวีออนไลน์มากขึ้น พบว่ามีคนทำวิดีโออัพขึ้นเว็บด้วยตัวเองมากขึ้น เว็บไซต์รายการทีวีก็มีให้เห็นมากขึ้นด้วย

กล้าและออย เริ่มทำดูโอคอร์ โดยได้แรงบันดาลใจมาจากเว็บไซต์ diggnation ซึ่งก็เป็นรายการทีวีออนไลน์ว่าด้วยข่าวสารไอที ซึ่งมักหยิบประเด็นมาจากเรื่องที่ได้รับความสนใจจากการโหวตในเว็บไซต์ digg.com ในหมวดเทคโนโลยี

ถามกล้าว่า คนธรรมดาถ้าอยากทำทีวีออนไลน์บ้าง เขาต้องมี "อะไร"

กล้าตอบทันทีว่า "พลังอึด เวลา และความสม่ำเสมอ" หาใช่เรื่องเทคนิค อุปกรณ์ เพราะเรื่องเทคนิค และอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ได้เป็นเรื่องยากอย่างที่คิด แถมยังสรรหาได้จากเพื่อนรอบข้าง (หรือจากห้างพันธุ์ทิพย์)

จะรออยู่ใย ลองเยี่ยมชม ดูโอคอร์ หรือ ดูรายการย้อนหลัง รับรองฮา !

Subscribe to online