Period

เปลี่ยนผ่าน

27 September, 2007 - 02:51 -- thapana

“...เราจะต้องดำรงชีวิตที่เป็นของเราเอง การงานเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตเท่านั้น และงานคือชีวิตก็ต่อเมื่อเราทำงานนั้นด้วยสติเท่านั้น มิฉะนั้นเราก็จะเหมือนกับคนตายที่มีชีวิตอยู่ เราแต่ละคนจะต้องจุดคบเพลิงของชีวิตด้วยตนเอง แต่ชีวิตของเราแต่ละคนเกี่ยวพันกับชีวิตของบุคคลรอบๆ เราด้วย หากเรารู้จักวิธีปกปักรักษา และระวังจิตใจและหฤทัยของเราเอง นั่นแหละจะช่วยให้พี่น้องเพื่อนมนุษย์รอบข้างเรา รู้จักการมีชีวิตอยู่อย่างมีสติ...”

(ติช นัท ฮันห์,ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ: มูลนิธิโกมลคีมทอง พิมพ์ครั้งที่ 17,กันยายน 49)

ความเปลี่ยนแปลง คือสัจธรรม ไม่มีสิ่งใดที่จะคงทนถาวรโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง ถ้าไม่เปลี่ยนด้วยตัวของมันเอง ก็ถูกสิ่งอื่นทำให้ต้องเปลี่ยน

“มนุษย์” เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดในเรื่องนี้

สมมติว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปเป็นเวลายี่สิบปีเราจะไม่ส่องกระจกเลย เราใช้ชีวิต เราพบผู้คน เราสื่อสารกับพวกเขาเหล่านั้น เราฟังข่าวจากวิทยุ-โทรทัศน์ เราอ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ เราทำงาน เราทานอาหาร เราอ่านหนังสือ เราออกกำลังกาย เราเหนื่อย เราพักผ่อน เราประสบความสำเร็จ เราเลี้ยงฉลอง เรามีความสุข เราเดินทาง เราล้มเหลว เราร้องไห้ เราทุกข์ เราเศร้า แล้วเราก็หายเศร้า เรากลับไปใช้ชีวิตอีกครั้ง วนเวียนเป็นวัฏจักรเช่นนี้

หนึ่งวันผ่านไป เมื่อเราลืมตาตื่นในวันต่อมา ภายนอกเรายังเป็นเราคนเดิม แต่ ภายในตัวเราไม่ใช่คนเดิมอีกแล้ว ชีวิตหนึ่งวันที่ผ่านได้ทำให้เราเปลี่ยนไปแม้จะเล็กน้อยและเชื่องช้าอย่างยิ่งก็ตาม หนึ่งปีผ่านไป หลังผ่านพ้นการฉลองปีใหม่ ย้อนมองกลับไป เราอาจจะตกใจเมื่อคิดได้ว่าเราผ่านอะไรมาบ้างในหนึ่งปีนั้น

ห้าปีผ่านไป สิบปีผ่านไป ยี่สิบปีผ่านไป เมื่อส่องกระจกอีกครั้งเราอาจจะจำตัวเองไม่ได้เสียแล้ว รูปร่างหน้าตาของเรายังมีเค้าเดิมอยู่ อาจจะกร้านโลกขึ้น อ่อนเยาว์น้อยลง แต่ภายในนั้น อาจจะไม่เห็นร่องรอยของยี่สิบปีก่อนอยู่เลย

ความสำคัญของระยะเวลาที่ผ่านไปสำหรับมนุษย์ ไม่ว่าจะแค่หนึ่งวันหรือยี่สิบปี ไม่ใช่อายุ ไม่ใช่สังขาร ไม่ใช่ความรู้ แต่คือการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนั้น เราถูกทำให้เปลี่ยน หรือ เราได้เลือกที่จะเปลี่ยนด้วยตนเอง

แน่ละการดำเนินชีวิตมันก็ต้องมีทั้งสองด้าน แต่ด้านไหนล่ะที่มีมากกว่ากัน ถ้าให้ตอบอย่างจริงใจที่สุด คนส่วนใหญ่จะถูกเปลี่ยนแปลงจากสิ่งแวดล้อม มากกว่าการเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงด้วยตนเอง ชีวิตของคนจำนวนไม่น้อยจึงดำเนินไปพร้อมกับคำถามว่า “ชีวิตคืออะไร?” หรือ “เรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร?” ผุดขึ้นมาในใจอยู่เสมอ

นานมาแล้วที่ผมเคยถามคำถามข้างต้น ถามและพยายามที่จะแสวงหาคำตอบ ได้คำตอบที่น่าคิดบ้าง ได้คำตอบที่เหลวไหลบ้าง เมื่อเวลาผ่านไป คำถามนี้ก็สำคัญน้อยกว่าคำถามที่ว่า พรุ่งนี้จะกินอะไร หรือ จะมีทางหาเงินได้มากกว่านี้อย่างไร จนไม่นานมานี้เอง ที่หลายสิ่งหลายอย่างได้ทำให้ผมเริ่มมองเห็นคำตอบของคำถามที่เกือบจะลืมเลือนไปแล้ว แม้จะไม่สามารถอธิบายได้ชัดเจนเหมือนหนึ่งบวกหนึ่งเท่ากับสอง แต่ก็รู้แล้วว่า ชีวิตไม่ได้ดำเนินไปอย่างไร้เป้าหมาย ทุกชีวิตมาอยู่บนโลกด้วยเป้าหมายอะไรบางอย่าง ท่ามกลางทางเลือกและทางแยกมากมาย เราทุกคนมีสิทธิ์ เลือก ไม่ใช่เป็นเพียง ผู้ถูกเลือก

ความเชื่อของคนนั้น ก่อรูปขึ้นด้วยประสบการณ์ชีวิต การตั้งคำถาม ความขัดแย้ง จนประสบกับตัวตนที่ชัดเจนที่สุดของตนเอง จำเพาะเรื่องความเชื่อส่วนบุคคล กว้างไกลไปถึงความเชื่อเรื่องชีวิต ก็สามารถพูดคุยได้อย่างไม่รู้จบสิ้น คุณค่าของใครก็ของมัน หนทางของใครก็ของมัน ไม่ควรก้าวก่าย ไม่ควรหยามเหยียด ไม่ควรดูถูกกัน กระนั้น ก็ไม่อาจแกล้งทำเป็นลืมได้ว่า โลกนี้ก็มีหนทางของมันเองเช่นกัน และสิ่งที่มนุษย์ได้กระทำต่อโลก ผลของมันก็ย่อมสะท้อนแก่ตัวมนุษย์เอง

สัจธรรมประการหนึ่ง ที่พบได้ในคำสอนของหลายๆ ศาสนา ไม่จำเพาะเพียงศาสนาพุทธ นั่นคือคำสอนที่ว่าด้วยการมีชีวิตอยู่กับปัจจุบัน เพราะปัจจุบันเท่านั้นที่เรามีชีวิตอยู่ อดีตนั้นล่วงเลยไปแล้ว และอนาคตก็ยังมาไม่ถึง ปัจจุบันจึงสำคัญทุกขณะ แน่นอน เราไม่อาจยึดจับปัจจุบันได้ เพราะปัจจุบันย่อมเคลื่อนไปด้วยตรรกะของเวลา แต่สิ่งที่เชื่อมโยงตัวเรากับปัจจุบันขณะได้นั้นมีอยู่ นั่นคือ “สติ” ของเรานั่นเอง

ผมยกคำสอนของท่าน ติช นัท ฮันห์ ขึ้นในตอนต้นเพื่อเชื่อมโยงให้เห็นว่า ชีวิตของเราจะไม่มีค่าอะไรเลยถ้าเราไม่ได้ดำรงชีวิตอย่างมีสติ รู้ในสิ่งที่เรากำลังทำ อยู่กับปัจจุบันขณะ เรื่องนี้ดูเหมือนจะง่ายแต่จริงๆ แล้วลึกซึ้งมาก หากพยายามทำความเข้าใจ เราจะรู้ถึงคุณค่าของปัจจุบันขณะของการมีชีวิต นี่เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ในโลกที่คนส่วนใหญ่ละเลยความสำคัญของปัจจุบันขณะ มุ่งแต่จะพุ่งไปข้างหน้าเพียงอย่างเดียว ไม่ได้อยู่กับสิ่งที่ทำ บางคนห่วงกังวลถึงสิ่ง

ที่ล่วงไปแล้ว และบางคนก็มัวแต่คาดหวังกับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง เราจึงมองไม่เห็นคุณค่าของปัจจุบัน ขณะที่ชีวิตเรายังดำรงอยู่ ขาดภูมิต้านทานการตระหนักรู้ความสุขในปัจจุบัน เมื่อทุกข์มากเข้าก็กลายเป็นว่ามองไม่เห็นคุณค่าของชีวิตตนเอง

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ใช่เพื่อจะสอนธรรมะนะครับ เพียงแค่อยากแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการใช้ชีวิตอย่างมีสติ เห็นคุณค่าของสติ ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้เราดำเนินชีวิตไปอย่างตระหนักรู้แล้ว ยังทำให้คนรอบข้างเราได้ตระหนักรู้ไปพร้อมกับเราด้วย

ก่อนหน้าที่คอลัมน์ “ทางใบไม้”จะเกิดขึ้น ผมเขียนคอลัมน์ “สถานการณ์ไม่ปกติ” มาประมาณปีกว่า แรกเริ่มเดิมทีตั้งใจจะเขียนในกรอบเรื่องสังคม การเมือง เศรษฐกิจ แต่ไปๆ มาๆ ก็ไม่ได้เป็นอย่างที่ตั้งใจไว้ทั้งหมด ชีวิตที่ดำเนินไป ทำให้ผมหันเหความสนใจไปในเรื่องของการใช้ชีวิตอย่างปกติสุขในสังคมปัจจุบันมากกว่า คอลัมน์ของผมช่วงหลังๆ ก็มักจะมีเรื่องในแนวทางนี้ค่อนข้างมาก เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในด้านคอลัมน์ของประชาไท ผมจึงขออนุญาตเปลี่ยนแนวทางการเขียนให้ตรงกับสิ่งที่ตั้งใจไว้

คำว่า ใช้ชีวิต ผมคิดว่าเป็นคำที่มีความหมายกว้างขวางและลึกซึ้ง เพราะทุกคนมีเพียงหนึ่งชีวิต หนึ่งชีวิตนี้คุณจะใช้อย่างไร เพื่อใคร เพื่ออะไร นี่เป็นคำถามสำคัญยิ่ง ทั้งในระดับปัจเจกบุคคล ทั้งในระดับสังคม กระทั่งลึกซึ้งไปจนถึงระดับปรัชญาและศาสนา

ขึ้นต้นด้วยธรรมะ แต่ขอเรียนว่าคอลัมน์ “ทางใบไม้” ไม่ใช่คอลัมน์เกี่ยวกับธรรมะ เพราะผมไม่ใช่นักบวช ทั้งไม่มีความรู้มากพอจะสอนใครได้ แต่ผมสนใจที่จะแลกเปลี่ยนความรู้ ความเห็น ในเรื่องการใช้ชีวิตตามแนวทางที่มนุษย์ควรจะเดิน และคาดว่าด้วยกรอบเท่านี้ ก็น่าจะกว้างใหญ่พอที่จะไม่ทำให้ผมอับจนปัญญาในการหาเรื่องนำมาเสนอ ผมเริ่มต้นด้วยเรื่องของสติ เพราะเชื่อว่า ชีวิตจะมีคุณค่าเมื่อเราใช้ชีวิตอย่างมีสติ อย่างน้อยที่สุด ก็ขอให้มีสติรู้ตัวในสิ่งที่ทำ สิ่งที่รับผิดชอบ และสิ่งที่ดีที่สุดที่เราจะทำได้ในขณะนี้

ถ้าใช้ชีวิตอย่างหลับไหล หรือครึ่งหลับครึ่งตื่นอยู่ ก็น่าจะลองทบทวนดู ว่าที่ผ่านมาเราได้ใช้ชีวิต อย่างขาดสติ หรือมีสติ และต่อไป เราจะยังใช้ชีวิตแบบเดิม หรือ เปลี่ยนตัวเองให้ดีขึ้นกว่าเดิม ผมไม่ใช่คนยิ่งใหญ่ขนาดจะปลุกใครให้ตื่นได้หรอกครับ คนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนั้นก็คือตัวท่านเองตัวท่านเองเท่านั้น ที่จะปลุกตัวท่านเองให้ตื่นขึ้นตัวท่านเองเท่านั้น ที่จะสร้างตัวท่านเองให้เป็นอย่างที่ท่านต้องการ

Subscribe to Period