progressive_rock

01011001 : นิยายวิทยาศาสตร์ในร็อคโอเปร่า และการตามหาวิหคเพลิง

10 May, 2008 - 02:30 -- parid

 

นิยายวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องเล่าอิงจินตนาการพร้อมกับความเป็นไปได้ทางวิทยาศาสตร์ นักทฤษฎีแบ่งนิยายวิทยาศาสตร์ออกไว้เป็นสามยุคใหญ่ ๆ คือ ยุคคลาสสิก' ที่มักพูดถึงอนาคตภายใต้อวกาศกว้างใหญ่ไพศาล มองอนาคตอย่างก้าวหน้าและอิงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ จนกระทั่งความเจ็บปวดหลังยุคอุตสาหกรรมที่ยังมีการกดขี่กันของมนุษย์ทำให้ ยุคที่สอง' ของนิยายวิทยาศาสตร์เริ่มมีท่าทีวิพากษ์สังคมเข้ามาปะปน บางเรื่องก็มีประเด็นทางสังคม อย่างการเหยียดเพศ เหยียดเชื้อชาติ บ้างก็มีจินตนาการของรัฐบาลเผด็จการเบ็ดเสร็จที่อาศัยเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ มาจนถึง คลื่นลูกที่สาม' ก็มองโลกในแง่ร้ายอย่างสุดกู่

จินตนาการก้าวหน้า ล้ำสมัย ไม่ได้ทำให้มนุษย์เดินทางไปบนเส้นทางที่น่าพิศมัย แต่กลับสร้างโลกแบบ Dystopia ขึ้นมา โดยได้อิทธิพลจากแนวคิดหลังสมัยใหม่และภาพยนตร์ฟิล์มนัวร์

เนื้อหาเชิงนิยายวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่มักปรากฏอยู่ในงานแนว Progressive Rock และ Industrial บางสาย และ Ayreon ซึ่งเป็นวงโปรเจกท์จากมันสมองของ Arjen Lucassen ก็เล่นแนว Progressive Rock/Metal โดยมีเนื้อหาแบบนิยายวิทยาศาสตร์อยู่แทบทุกอัลบั้ม

ในอัลบั้มล่าสุดที่ใช้ชื่อเป็นเลขดิจิตอลคือ 01011001 ก็ยังคงมีเนื้อหาวิทยาศาสตร์เชิงจินตนาการอยู่เช่นเคย และดูเหมือนจะอ้างอิงไปถึงเนื้อหาจากอัลบั้มเก่าๆ แบบไม่ต่อเนื่องกันด้วย

01011001 เป็นตัวเลขดิจิตอลที่แปลงออกมาได้เป็นตัวอักษร Y ชื่อของดาวเคราะห์ที่กลุ่มสิ่งมีชีวิตที่ชื่อว่า Forever อาศัยอยู่

พวก Forever นี้เองเป็นสิ่งมีชีวิตที่วิวัฒนาการ (?) จนเป็นอมตะและไร้ความรู้สึก (อาจจะไม่ถึงขั้นโดยสิ้นเชิง) พวกเขาอยู่กับความอมตะของตัวเองไปเรื่อยๆ อย่างไร้ความหมาย ต่อมาพวกเขาจึงคิดจะสร้างมนุษย์ขึ้นมาบนโลกโดยการส่งรหัสพันธุกรรมผ่านมากับอุกกาบาต พวก Forever หวังว่ามนุษย์จะเป็นสิ่งมีชีวิตที่ สำเร็จลุล่วง' แต่กลับกลายเป็นว่าเมื่อการเวลาผ่านไป มนุษย์เริ่มทำลายกันเองจนกระทั่งสูญสิ้น

ตัวเนื้อหาของอัลบั้มนี้ทำให้ผมนึกถึงการ์ตูนเรื่อง ฮิโนโทริ - วิหคเพลิง' ผลงานของ เท็ตสึกะ โอซามุ' อย่างเสียมิได้ โดยเฉพาะภาคโลกอนาคต ฮิโนโทริเป็นเรื่องเล่าของวิหคเพลิงอมตะ (น่าจะเอามาจากตำนานนกฟินิกซ์) ที่มีคนเชื่อว่าหากได้ดื่มเลือดนกตัวนี้แล้วจะมีชีวิตนิรันดร์ไม่แก่ไม่ตาย เรื่องของวิหคเพลิงมีอยู่หลายตอน บางตอนมีเนื้อเรื่องภายใต้ฉากแบบย้อนยุค (อาจอิงประวัติศาสตร์เล็กน้อย) ขณะที่บางตอนมีฉากเป็นโลกอนาคต (เล่าแบบนิยายวิทยาศาสตร์)

มีอยู่ตอนหนึ่งเล่าถึงเมืองย้อนยุคที่มีราชินีชื่อ ฮิมิโกะ' ตั้งตัวเป็นสมมติเทพ ไม่ว่าจะทำนายอะไรผู้คนก็จะต้องเชื่อ (หรือถูกบังคับให้เชื่อ) แต่คำทำนายหรือคำสั่งของราชินีฮิมิโกะ ก็มักจะนำมาซึ่งความสูญเสียของผู้บริสุทธิ์ ผู้คนที่ไม่ทำตามคำสั่ง (แม้จะไม่ได้ตั้งใจก็ตาม) จะถูกลงโทษ แต่ถึงจะมีอิทธิพลมากมาย ราชินีฮิมิโกะก็เป็นมนุษย์ที่มีเกิดแ่ก่เจ็บตาย เมื่อเธอพบว่าตัวเองแก่ตัวลงก็เริ่มหมกมุ่นอยู่กับการสั่งให้คนตามล่าวิหคเพลิง เพื่อตนจะได้ดื่มเลือดแล้วเป็นอมตะ การหมกมุ่นอยู่กับการตามหาวิหคเพลิงทำให้สุดท้ายบ้านเมืองก็ระส่ำระส่ายและค่อยๆ อ่อนแอลงเรื่อยๆ

ในภาคโลกอนาคต พูดถึงการที่มนุษย์ต้องลงไปสร้างเมืองกันอยู่ใต้ผืนโลกเพราะบรรยากาศบนโลกนั้นเป็นที่ๆ มนุษย์ไม่สามารถอาศัยอยู่ได้อีกต่อไป (เว้นแต่นักวิทยาศาสตร์สติเฟื่องคนหนึ่งที่อาศัยในโดมเฉพาะ และพยายามสร้างชีวิตใหม่ให้อยู่บนผิวโลกแบบนี้ได้) แต่ถึงแม้พัฒนาการทางเทคโนโลยีจะก้าวไกลขนาดไหน อะไรอย่างหนึ่งของมนุษย์ก็ไม่ได้พัฒนาขึ้นเลย

หากในตอนย้อนยุคผู้คนเชื่อคำทำนายและ (จำต้อง) ทำตามคำสั่งของราชินีจนบ้านเมืองอ่อนแอ ผู้คนในยุคอนาคตก็มีสิ่งที่เรียกว่า สมองกล' คอยคำนวนสิ่งต่างๆ และสั่งออกมาให้คนต้องทำตาม สมองกล แม้ว่าจะมีคณะผู้แทนฯ แต่พวกเขาส่วนใหญ่เชื่อการคำนวนของ สมองกล' ไร้หัวจิตหัวใจ มากกว่าจะเชื่อมนุษย์ที่มีความรู้สึกด้วยกันเอง สมองกล' สั่งให้ยืนก็ต้องยืน สั่งให้นั่งก็ต้องนั่ง จนกระทั่งมีคนใช้การคำนวนของ สมองกล' มาเป็นข้ออ้างในการประหัตประหารฝ่ายตรงข้าม มนุษย์ยุคอนาคตทำสงครามกันเองจนกระทั่งสูญสิ้นไป

มันคือความงมงายที่ต่างยุคสมัย มนุษย์ยุคหนึ่งเจ็บปวดยากแค้นจากคำทำนายของสมมติเทพที่มนุษย์สมมติกันขึ้นมาเอง ขณะที่อีกยุคหนึ่งต้องมาทำลายกันเพียงเพราะเชื่อในสิ่งไร้ชีวิต...ที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเองเช่นกัน

กลับมาที่ Ayreon จากอัลบั้มก่อนๆ ที่มีทั้งการเดินทางผ่านห้วงอวกาศและกาลเวลาไปสำรวจประวัติศาสตร์ จนถึงอัลบั้มก่อนหน้าคือ The Human Equation หรือ สมการมนุษย์' ที่เน้นดำดิ่งลงไปสำรวจจิตใจมนุษย์ผ่านความรู้สึกหลากหลาย สำหรับอัลบั้ม 01011001 ก็เน้นกลับมาพูดถึงการเดินทางผ่านห้วงอวกาศอีกครั้ง

เนื้อหาของ 01011001 ได้ผสมผสานกับแนวคิดหลากหลายจากนิยายวิทยาศาสตร์ไว้แบบที่คอแนว Sci-fi คงคุ้นเคยกับมันบ้าง ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดเรื่อง ผู้สร้าง' ที่เป็นสิ่งมีชีวิตวิวัฒนาการสูงจากแดนไกลโพ้น เรื่อง Missing Link ของวิวัฒนาการมนุษย์ อุกกาบาตที่นอกจากนำพาความวินาศมาแล้ว ยังนำพาการกำเนิดใหม่มาด้วย ฯลฯ

นอกจากเรื่องราวที่ร้อยกันเป็น Concept album แล้ว อัลบั้มนี้ก็มีแบบฉบับของ Arjen อีกอย่างคือการที่เขาได้เชิญแขกรับเชิญจากหลายวงมาร่วมโปรเจกท์ โดยเฉพาะนักร้องที่มาร่วมขบวนกันคับคั่งโดยมีทั้งนักร้องนำชายหญิงจากวงเมทัลหลากหลายแนว แน่นอนว่า 01011001 จะต้องเป็นอัลบั้ม ร็อคโอเปร่า' อลังการอีกอัลบั้มหนึ่งของ Arjen อย่างไม่ต้องสงสัย

หากเทียบกับ The Human Equation ที่ให้นำหนักของเสียงร้องที่ตอบโต้กันแบบโอเปร่าแล้ว ทั้งการใช้เสียงร้องและดนตรีใน The Human Equation ฟังดูมีเอกลักษณ์ เต็มไปด้วยสีสันและความมีชีวิตชีวา ขณะที่ 01011001 ฟังดูเยือกเย็น ทึมทืบ และไร้ชีวิต ซึ่งน่าจะเป็นความจงใจให้เข้ากับคอนเซปท์ที่แตกต่าง เพราะ สมการมนุษย์' นั้นมีการปะทะกันระหว่างความโกรธแค้น ความเจ็บปวด ความหวัง ความรัก ความรู้สึกผิด ความหยิ่งยโส ความปรารถนา การใช้เหตุผล ฯลฯ ขณะที่อัลบั้มหลังนี้พูดถึงสิ่งมีชีวิตแต่ไร้ชีวา-ปลอดความรู้สึกอย่างพวก Forever

ในช่วงแรกๆ ของอัลบั้ม เพลง Age of Shadow, Comatose, Liquid Eternity เป็นฉากบรรยายสภาพความมีชีวิตอย่างไร้ชีวาของ Forever และมี Forever จำนวนหนึ่งคิดอยากจะกลับไปมีอารมณ์ความรู้สึกเช่นเดิม บางทีอาจถึงขั้นเฝ้าฝันจะกลับไปเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเกิดดับแบบเดิม ไม่ใช่พวกอมตะอย่างที่เป็นอยู่ ขณะที่ Forever อีกจำนวนหนึ่งทัดทาน...เพลงเปิดคือ Age of Shadow ทำออกมาได้หนักแน่นและเผยบรรยากาศของความเป็นจักรกลปลอดความรู้สึกได้อย่างดี

"Would you prefer the pain and suffering we had?
Would you prefer to be in peril, even dead?
Would you prefer to live the life we've loved to play?
Would you prefer to live a mortal life instead?"

"คุณอยากกลับไปมีความรู้สึกเจ็บปวดทุกข์ทรมานเช่นที่เคยมีน่ะหรือ?
คุณอยากกลับไปพบกับภัยอันตราย กระทั่งความตายน่ะหรือ?
คุณอยากกลับไป ใช้ชีวิตที่พวกเราละเลงเล่น?
คุณอยากกลับไป มีชีวิตเยี่ยงสัตว์โลกที่แก่ตายได้น่ะหรือ?"

- Liquid Eternity -

เพลงในอัลบั้มนี้เล่าเรื่องสลับกันไประหว่างฝ่าย Forever กับชีวิตของมนุษย์บนโลกในยุคร่วมสมัย ซึ่งโทนของดนตรีจะปรับให้ฟังง่ายและฟังดูร่วมสมัยตามเนื้อหาไปด้วย เช่นเพลง Connect the Dots เป็นเพลงที่ดนตรีเรียบง่ายและสะท้อนภาพชีวิตวัยทำงานของชนชั้นกลางไว้อย่างตรงไปตรงมา

"I hugged the wife and drove to work today
It was only a few miles
Was in a hurry but the lights were changing up ahead
So I stepped on the gas

I checked the web and left it on over night
Downloading all the latest files
Fear, revere, the torrent flows into my lap
And I disconnect"

 "ฉันกอดภรรยาก่อนขับรถออกจากบ้านไปทำงาน
ทั้งที่ระยะทางก็แค่ไม่กี่ไมล์
ฉันรีบมากแต่สัญญาณไฟก็เปลี่ยนอย่างไม่เป็นใจ
เลยเหยียบคันเร่งให้รถพุ่งไป

ฉันเปิดเว็บและปล่อยมันทิ้งไว้ทั้งคืน
เพื่อดาวน์โหลดไฟล์ใหม่ล่าสุด
หวาดกลัวระคนยำเกรง ไฟล์ทอร์เรนต์ไหลมาสู่หน้าตัก
แล้วฉันก็หยุดเชื่อมต่อกับโลกออนไลน์"

- Connect the Dots -

เพลงนี้จบด้วยประโยค "เราอาจจะตายในวันพรุ่ง แต่ก็มีชีวิตอยู่เพื่อวันนี้" (We're dying tomorrow. We're living for today.) อีกเพลงที่พูดถึงชีวิตมนุษย์ร่วมสมัยคือ Web of Lies บัลลาดนุ่มๆ ที่พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างหนุ่มสาวสองคนคือ PX กับ Simone ที่คุยกันผ่านอินเทอร์เน็ต

แม้ในเนื้อหาจะไม่สื่อไปในทางบวกหรือลบ แต่ชื่อเพลงมัน (ซึ่งจะแปลว่า โครงข่ายแห่งการหลอกลวง' หรือ เว็บแห่งการหลอกลวง' ก็ได้) ดูจะสะท้อนการมองโลกในแง่ร้ายของ Arjen อยู่พอสมควร

Arjen Lucassen

เพลง Beneath the Waves, Newborn Race และ Ride the Comet ก็เล่าเรื่องของการที่พวก Forever ต้องการสร้างชีวิตใหม่บนโลกโดยผ่านรหัสพันธุกรรมที่ส่งไปพร้อมกับอุกกาบาต สองเพลงแรกค่อยๆ บิวท์ส่งมาถึงเพลง Ride the Comet ที่หนักแน่นเต็มพลังร็อคโอเปร่าภายใต้ฉากแบบอวกาศล้ำยุค

มาจนถึง The Fifth Extinction ที่ทรงพลังไม่แพ้เพลงเปิดอัลบั้ม เล่าถึงอุกกาบาตที่ถูกส่งมาบนโลกจนทำให้เกิดการสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ของเจ้าโลกในยุคนั้น คือ ไดโนเสาร์ (เพลงจะเรียกอ้อมๆ ว่า Reptile-สัตว์เลื้อยคลาน) ตามด้วย Waking Dreams ที่มีคอรัสสวยๆ และโซโล่คีย์บอร์ดเพราะพริ้งพูดถึง Missing Link ที่ทำให้เกิดการวิวัฒนาการมาเป็นมนุษย์

The truth is in here ย้อนกลับมาเล่าเรื่องของมนุษย์ร่วมสมัย พูดถึงชายผู้หนึ่งชื่อ Mr.L คุยให้ฟังว่าได้ฝันเห็นภาพอนาคตที่เย็นยะเยือกไร้ชีวิต แต่พยาบาล (ซึ่งเสียงอย่างกับหุ่นยนต์) ก็บอกว่าเขาแค่เพ้อและควรได้รับการพักผ่อน เพลงที่ผมชอบมากอีกเพลงคือ Unnatural Selection ที่มี Forever สองฝ่ายเห็นการพัฒนาของมนุษย์แล้วมีความเห็นต่างกัน ฝ่ายหนึ่งเห็นว่ามนุษย์เป็นชีวิตที่งดงาม ขณะที่อีกฝ่ายเห็นว่าพวกนี้จะลุกขึ้นมาทำลายกันเองในที่สุด ลูกเล่นบางส่วนของเพลงนี้ฟังดู Sophisicate ไปหน่อย แต่นับว่าเป็นเพลงที่เรียบเรียงดนตรีได้ดีมากเพลงหนึ่งทีเดียว

"Can you see the fire in their eyes?
Can you hear the anguish in their cries?
Can you see the beauty in their eyes?
Can you sense the love within their hearts?
I can taste the freedom we once had
I can touch their pain when they feel sad
I can smell the fragrance of the air
I remember times we used to share"

"คุณมองเห็นไฟคุโชนในแววตาของพวกเขาไหม?
คุณได้ยินความรวดร้าวจากเสียงร้องของพวกเขาไหม?
คุณมองเห็นความงามในดวงตาพวกเขาหรือเปล่า?
คุณรู้สึกถึงความรักในหัวใจของพวกเขาไหม?
ฉันได้ลิ้มรสชาดของอิสรภาพที่พวกเราเคยมี
ฉันสัมผัสได้ถึงความเจ็บปวดยามพวกเขาเศร้า
ฉันได้กลิ่นหอมหวนอวลอยู่ในอากาศ
ฉันจดจำถึงวันเวลาที่พวกเราเคยใช้ร่วมกันได้"

- Unnatural Selection -

แต่ในอัลบั้มร็อคโอเปร่าที่เย็นเยือกทืมทึบก็ไม่ปล่อยโอกาสให้มองอะไรในแง่ดีกันมากนัก เพราะจุดจบของอัลบั้มนี้คือ The Sixth Extinction ที่ไม่ปราณีกับความรู้สึกอ่อนไหวใดๆ ทั้งสิ้น เป็นจุดจบแบบเดียวกับเรื่องวิหคเพลิงในภาคอนาคต

ผลงานชุดล่าสุดของ Ayreon นี้มีเนื้อหาที่เชื่อมโยงไปถึงอัลบั้มเก่าๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็น The Final Experiment, Universal Migrator แม้กระทั่งอัลบั้มที่ดูไม่น่าจะเกี่ยวกับการเดินทางในอวกาศอย่าง The Human Equation ก็มีเนื้อหาบางอย่างเชื่อมกับอัลบั้มนี้อยู่เหมือนกัน

ในประโยคสุดท้ายของอัลบั้ม The Human Equation คือ "Emotion...I Remember" (ความรู้สึกหรือ...ฉันนึกออกแล้ว) โดยที่ใน 01011001 เองส่วนหนึ่งก็พูดถึงการต่อสู้กันระหว่างความด้านชา กับความเป็นมนุษย์ที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก

แน่นอนว่าจินตนาการเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับมนุษย์ และในเรื่องเล่าแนววิทยาศาสตร์นี้เอง ไม่ว่ามันจะพูดถึงความวิจิตรสวยงามของเทคโนโลยี หรือโลกอนาคตที่น่าหวาดผวาก็ตาม มันก็เป็นจินตนาการของโลกในวันพรุ่ง ที่เชื่อมโยงกับโลกในวันนี้อยู่ไม่มากก็น้อย

ผมหวังแค่ว่า เราจะได้เห็นโลกในจินตนาการที่ผู้คนพ้นไปจากความงมงาย
ไม่ว่าจะจาก สมองกล' หรือ สมมติเทพ' ก็ตาม

 

 

โลกจากสายตาหนุ่มสาว ผู้หวาดกลัวดาวเคราะห์อันแสนว่างเปล่า

3 November, 2007 - 04:33 -- parid

"ความฉาบฉวยและความสับสนอาจจะทำให้บางคนคิดว่ามันเวอร์ไปหรือเปล่า ยุคสมัยมันหม่นมืดขนาดนี้จริงๆ หรือ ต้องไม่ลืมว่าวง Porcupine Tree มาจากประเทศอังกฤษ มิวสิควีดิโอเพลง Fear of a Blank Planet เองก็อาจชวนให้นึกถึงเหตุการณ์บางอย่างที่เคยเกิดขึ้นจริง (หลายครั้ง) ในสหรัฐฯ และที่สำคัญคือการเล่าของพวกเขาก็ไม่ได้ตัดสินอะไรแทนเราว่าสิ่งที่บอกผ่านออกมานี้ดีหรือไม่ดี"

Fear of a Blank Planet 

วง Porcupine Tree อาจจะเป็นที่รู้จักน้อยมากสำหรับคนทั่วไป และอาจจะเป็นที่รู้จักบ้างพอสมควรสำหรับคนที่ชอบฟังเพลงแนว Progressive Rock ซึ่ง Porcupine Tree ถือเป็นวงที่มีแนวทางของ Psychedelic/Space อันหลอนและล่องลอยแบบ Pink Floyd เป็นหลัก โดยเจือความเป็น Metal เข้าไปผสมได้อย่างกลมกลืน

อัลบั้มล่าสุดของพวกเขาคือ Fear of a Blank Planet ก็ยังคงรักษาความหลอนล่องลอย มืดมน เอาไว้ได้เหมือนเดิมโดยไม่ได้ถูกท่วงทำนองกีต้าร์หนัก ๆ ทำลายไป ซึ่งต้องขอบคุณมือคีย์บอร์ดอย่าง Richard Barbieri ผู้สร้างเสียงสังเคราะห์เป็นพื้นผิว (Texture) ของดนตรีได้อย่างเยี่ยมยอดและความหม่นครึมที่แทรกอยู่แทบทุกอณูของอัลบั้มนี้ ก็ช่างเหมาะเจาะไปกันได้กับคอนเซปต์เนื้อหาของมันเหลือเกิน

Steve Wilson มือกีต้าร์และนักร้องนำของวง เป็นผู้วางคอนเซปต์อัลบั้มนี้ เขาบอกว่าได้แรงบันดาลใจมาจากอะไรหลาย ๆ อย่าง

อย่างแรกซึ่งเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดในอัลบั้มนี้เลยคือเรื่องของการที่คนเราเมื่ออายุมากขึ้นเริ่มรู้สึกแปลกแยกกับเด็กในยุคปัจจุบันมากขึ้นเรื่อยๆ แน่นอนว่าช่องว่างระหว่างวัยเป็นปกติธรรมดาซึ่งอาจจะมาพร้อมกับช่องว่างระหว่างยุคสมัย แต่ในปัจจุบันดูเหมือนว่าช่วงเปลี่ยนผ่านของ Generation มันหดสั้นลงกว่าเดิม จนอาจทำให้คนที่อายุมากกว่าอาจจะรู้สึกแปลกแยกแบบนี้กับเด็กอายุห่างกันสองสามปีได้เลยทีเดียว

แรงบันดาลใจที่สำคัญอีกอย่างซึ่งเจ้าตัวได้เปิดเผยออกมาเองคือนิยายเรื่อง Lunar Park ของ Bret Easton Ellis คนเดียวกับที่เขียนเรื่อง American Psycho (ซึ่งถูกทำเป็นภาพยนตร์ในเวลาต่อมา) สะท้อนภาพความเหลวไหลไร้สาระของ Yuppie อเมริกันชนยุค 80's ภายใต้เรื่องแนวเขย่าขวัญ

ขอโน๊ตไว้อีกว่าถ้าใครจำได้อัลบั้ม Weekend in the City ของวง Bloc Party เองก็ได้แรงบันดาลใจมาจากนิยายอีกเรื่องของ Bret Easton Ellis เช่นกัน คงเป็นธรรมดาที่หนังสือของนายคนนี้จะกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปินหลายวง เพราะเนื้อเรื่อง จากนิยายของเขาเหมือนจะสามารถทำหน้าที่เป็นภาพสะท้อนของยุคสมัยแสนว่างเปล่าผ่านผันมาได้จนถึงยุคปัจจุบัน

Lunar Park เป็นนิยายกึ่งอัตชีวประวัติของตัว Ellis เอง ซึ่งเรื่องในนิยายจะถูกเล่าจากมุมมองของตัวละครผู้เป็นพ่อ ที่มีชื่อว่า Ellis เหมือนกัน ขณะที่ในอัลบั้ม Fear of a Blank Planet จะเปลี่ยนมาเล่าจากมุมมองของ Robby ผู้เป็นลูกแทน เว้นแต่ในเพลง My Ashes เพลงเดียว ที่เล่าผ่านมุมมองของ Ellis

Fear of a Blank Planet จึงเป็นเหมือนบทบอกเล่าจากเด็กชาย Robby และก็เป็นเหมือนเรื่องราวจากสายตาของเหล่าวัยรุ่นผู้ "หวาดกลัวดาวเคราะห์อันแสนว่างเปล่า" ในขณะเดียวกัน

ความประทับใจของผมอย่างหนึ่งที่มีต่อวงนี้ คือการที่พวกเขาพยายามทำอัลบั้มที่มีคอนเซปต์โดยอาศัยมุมมองจากผู้อื่นนอกจากตัวพวกเขาเอง ซึ่งหลายเพลงทำได้ลึกซึ้งทีเดียว แน่นอนว่านี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่วง Porcupine Tree ทำคอนเซปต์แบบนี้ออกมา ในปี 2001 พวกเขาก็มีอัลบั้ม In Absentia ที่แทบทุกเพลง สื่อให้เห็นการมองโลกโดยใช้มุมมองของผู้คนที่ถูกสังคมเรียกว่า "ฆาตกรโรคจิต" ซึ่งไม่ได้เล่าอย่างตัดสินพิพากษาขณะเดียวกันก็ไม่ได้เชิดชู เว้นช่องว่างไว้ให้ผู้ฟังจะได้ตัดสินดีเลวด้วยตนเอง

แต่ขณะที่ In Absentia เป็นอัลบั้มที่หนักและสามารถสร้างความประทับใจได้เพียงแรกสดับ Fear of a Blank Planet กลับเป็นอัลบั้มที่ต้องยิ่งฟังมากครั้ง ถึงยิ่งรู้สึกถึงความลึกซึ้งของมัน อาจจะไม่ใช่เพราะเนื้อหาของมันอย่างเดียว (ซึ่งจะว่าไปเนื้อหาส่วนมากก็เป็นเชิงแสดงความรู้สึก ไม่ได้ตีความยากอะไร) แต่เป็นตัวดนตรีด้วยที่นักวิจารณ์บางคนถึงขั้นบอกว่า เจ้าพวกนี้พยายามจะทำ "Dark side of the Moon" (หนึ่งในอัลบั้มมาสเตอร์พีชของ Pink Floyd) แห่งสมัยปัจจุบันกาลขึ้นมา

เพลง Fear of a Blank Planet ที่เป็นไตเติ้ลแทรกเปิดอัลบั้มและเพลงยาวเหยียดอย่าง Anesthetize บอกเล่าชีวิต ความคิดอ่าน และความรู้สึกผ่านสายตาของวัยรุ่นผู้อยู่ในโลกแสนว่างเปล่า ไร้ความหมาย ขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยสิ่งที่กระตุ้นเร้าต่างๆ นานา แต่เนื้อเพลงมันก็ไม่ได้ชวนให้จมกับความเศร้าอะไร ในบางช่วงมันฟังดูฮาดีด้วยซ้ำ (เป็นตลกร้ายที่บางคนอาจจะไม่ฮาด้วยก็เป็นได้)

I'm stoned in the mall again
Terminally bored
Shuffling around the stores
And shoplifting is getting so last year's thing

Xbox is a god to me
A finger on the switch
My mother is a bitch
My father gave up ever trying to talk to me

ฉันมึนงงอยู่ในห้างอีกแล้ว
เกิดเบื่อขึ้นมาเฉย ๆ
เลยหมุนผลัดไปตามร้านค้า
แล้วก็ฉกเอาไอ่ของที่ออกเมื่อปีที่แล้วมา

เอ็กบอกซ์เป็นพระเจ้าสำหรับฉันเลย
จิ้มนิ้วลงไปบนปุ่มสิ
แม่ฉันมันก็แค่นังตัวดี
พ่อฉันเลิกพยายามที่จะพูดกับฉันไปนานแล้ว

- Fear of a Blank Planet -

Fear of a Blank Planet เป็นเพลงจังหวะเร็ว มีการร้องแบบรีบเร่ง ขณะเดียวกันก็มีการสับจังหวะในบางจุด ซึ่งตรงนี้ช่วยขับความรู้สึกจากเนื้อเพลงที่พูดโลกที่ฉาบฉวย พร้อมจะทิ้งอะไรไปได้ทุกวินาทีออกมาได้เป็นอย่างดี ขณะที่เพลง Anesthetize ได้ Alex Lifeson (วง Rush) มาโซโล่กีต้าร์ โดยส่วนตัวผมรู้สึกว่าเพลงนี้มันยาวเกินความจำเป็นไปนิด ขณะที่ดนตรีในบางส่วนฟังดูซ้ำๆ ซากๆ แต่ถ้ามองในอีกแง่ ดนตรีซ้ำๆ ซากๆ มันช่วยสร้างความรู้สึกร่วมกับเนื้อเพลงที่พูดถึงชีวิตอันไร้ความหมายวนเวียนไปไม่รู้จบ ก่อนดนตรีจะคลี่คลายในช่วงท้ายเหมือนพบทางออก ...แต่ขณะเดียวกันก็ยังไม่แน่ใจว่านั่นเป็นทางออกที่แท้จริงหรือเปล่า

The water so warm that day
I was counting out the waves
And I followed their short life
As they broke on the shoreline
I could see you
But I couldn't hear you

ในวันนั้นห้วงน้ำช่างแสนอุ่น
ฉันกำลังนั่งนับกระแสคลื่น
และได้ลอยตามชีวิตอันแสนสั้นของมันไป
เช่นเดียวกับที่มันได้แตกซัดตามแนวหาด
ฉันเห็นคุณ
แต่ไม่ได้ยินคุณ

-  Anesthetize (ช่วงสุดท้าย)

Porcupine Tree

ความฉาบฉวยและความสับสนอาจจะทำให้บางคนคิดว่ามันเวอร์ไปหรือเปล่า ยุคสมัยมันหม่นมืดขนาดนี้จริงๆ หรือ ต้องไม่ลืมว่าวง Porcupine Tree มาจากประเทศอังกฤษ มิวสิควีดิโอเพลง Fear of a Blank Planet เองก็อาจชวนให้นึกถึงเหตุการณ์บางอย่างที่เคยเกิดขึ้นจริง (หลายครั้ง) ในสหรัฐฯ และที่สำคัญคือการเล่าของพวกเขาก็ไม่ได้ตัดสินอะไรแทนเราว่าสิ่งที่บอกผ่านออกมานี้ดีหรือไม่ดี

นอกจากนั้นอัลบั้มนี้ก็ไม่ได้สื่อแต่ด้านความว่างเปล่าของโลกจากสายตาวัยรุ่นเพียงอย่างเดียว เพลงอย่าง Sentimental ก็เปลี่ยนอารมณ์กลับมาสู่การครุ่นคิดและทบทวนความรู้สึก ซึ่งถึงมันจะเป็นการทบทวนที่ไม่ลึกซึ้งมาก แต่ก็ทำให้เห็นแง่มุมใหม่ๆ ที่น่าจะทำให้เข้าใจความรู้สึกกันมากขึ้น เมื่อพวกเขาบอกว่าสับสนกับวัยและยุคสมัย ขณะเดียวกันก็ไม่อยากโตเป็นผู้ใหญ่มากไปกว่านี้ เสียงคอร์ดของเปียโนที่เล่นคลอในเพลงช้าๆ เพลงนี้ ทำให้บรรยากาศความหม่นมีความละมุนเจืออยู่บางๆ

I never want to be old
And I don't want dependants
It's no fun to be told
That you can't blame your parents anymore

ฉันไม่อยากจะเป็นผู้ใหญ่ไปกว่านี้
และขณะเดียวกันก็ไม่อยากเป็นภาระใคร
มันไม่สนุกเลยที่จะมีคนมาบอก
ว่าจะไม่สามารถโทษพ่อโทษแม่ได้เช่นเดิมอีกแล้ว

- Sentimental -

เพลงที่ใช้เสียงเปียโนได้อย่างเข้าท่าอีกเพลงหนึ่งคือ My Ashes ที่เป็นบัลลาดพลิ้วๆ และประดับด้วยเสียงเครื่องสายออเครสตร้าอย่างงดงาม เนิ้อเพลงเป็นมุมมองของตัวละครผู้เป็นพ่อ ที่แม้ตายไปแล้วเถ้าถ่านของตัวเองก็ยังคงตามดูความเป็นไปต่างๆ อยู่ ซึ่งเพลงนี้นับว่าใช้ภาษาได้สวยมาก

And my ashes drift beneath the silver sky
Where a boy rides on a bike and never smiles
And my ashes fall over all the things we've said
On a box of photographs under the bed

- My Ashes

บรรเลงมาจนถึงบทเพลงโกรธเศร้าอย่าง Way out of here ที่ได้ Robert Fripp แห่งวง King Crimson มาช่วยสร้าง Soundscapes เนื้อเพลงพูดถึงการหาทางออกท่ามกลางโลกที่ว่างเปล่า หลายต่อหลายคนพากันบอกว่าเพลงนี้พูดถึงการฆ่าตัวตาย ซึ่งถ่ายทอดผ่านไปถึงเพลงสุดท้ายคือ Sleep Together ที่ดนตรีออกเป็นอิเล็กโทรนิคแอมเบี้ยนเวิ้งๆ ชวนให้นึกถึงนักบินอวกาศที่กำลังเข้าสู่สภาวะจำศีล (Hibernation) ขณะที่กำลังเดินทาง (หนี) ออกจากโลกนี้ไป

I can't take the staring
And the sympathy
And I don't like the questions,
"How do you feel?
How's it going in school?
Do you want to talk about it?"

ฉันทนไม่ได้กับการถูกจ้องมอง
กับการที่คนอื่นเห็นอกเห็นใจ
แล้วฉันก็ไม่ชอบคำถามจำพวก
"รู้สึกยังไงบ้าง
เจออะไรที่โรงเรียนมาบ้าง
ต้องการพูดถึงมันไหม"

- Way Out of Here -

ชื่อเพลง Sleep Together ถ้าเป็นในบ้านเรามันคงต้องมีใครออกมาบอกว่าสองแง่สามง่ามสิบเ-ยน อะไรก็ว่าไป แต่ตามความเห็นของผู้ฟังส่วนใหญ่แล้ว กลับบอกว่ามันพูดถึงการฆ่าตัวตายที่ถ่ายทอดต่อมาจาก Way Out of Here อีกทีหนึ่งต่างหาก มีบางส่วนเท่านั้นที่บอกว่ามันพูดถึงเรื่องการมีเซ็กส์เพื่อหนีโลกความจริง และอีกส่วนก็ตีความว่ามันไม่ได้มีนัยแฝงอะไร ก็แค่พูดถึงการนอนหลับกันธรรมดาๆ เพื่อหนีเข้าไปในโลกความฝันนั่นแหละ

ความเห็นที่แตกต่างหลากหลายนี้แหละคือเสน่ห์ของศิลปะ! น่าเศร้าที่ในบ้านเรายังคงมัวเอาแต่เป็นห่วงสถาบันนั่นนู่นนี้โน่น แล้วสั่งตรวจสอบ สั่งเก็บ สั่งแบน สั่งเซ็นเซอร์ หรือใช้วิธีใดๆ ก็ตามที่จะกำจัด สิ่งที่พวก "ท่าน" ไม่พึงปรารถนา ด้วยข้ออ้างเดิมๆ เรื่องสร้างความแตกแยกบ้าง พูดถึงแต่ในด้านร้ายๆ บ้าง (สันดานนกกระจอกเทศจริงๆ) ฯลฯ แทนที่จะทำให้คนในสังคมได้ทำความเข้าใจมัน ได้เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมหรือปฏิเสธมันโดยไม่กระทบกับคนที่เห็นต่าง

ตราบใดที่ท่านทั้งหลายยังคงเห็นว่าคนในสังคมเป็นแค่ "เด็กโง่" ที่ต้องฟูมฟักแบบไข่ในหิน  คอยปิดบัง (สิ่งที่พวกท่านคิดว่าเป็น) ความเลวร้ายทั้งหลาย จนเมื่อความจริงกระแทกโครมเข้ามา มันคงยิ่งกว่าเจ็บปวด ยังไม่นับว่าความคิดแบบนี้ของท่านทั้งหลาย มันจะนำไปสู่การทำให้ให้เด็กๆ ในวันพรุ่งนี้เผชิญกับความมืดมิดตามลำพัง โดยไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ (สิ่งที่พวกท่านคิดว่าเป็น) อันตรายร่วมกันเลยแม้แต่น้อย

ทางออกของเด็ก ๆ ที่นอกเหนือจากการ "นอนหลับ(หลับนอน)ร่วมกัน" (เพื่อหนีโลกออกไป) นั้น

มันถูกพวกท่านขวางกั้นอยู่นั่นแหละ !

 

(ชื่อเต็มๆ ของเอนทรีนี้ - Fear of a Blank Planet โลกจากสายตาหนุ่มสาว ผู้หวาดกลัวดาวเคราะห์อันแสนว่างเปล่า)

Subscribe to progressive_rock