Samak_Sundaraveja

รับมือนายกฯ ฝีปากกล้า

    

อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา

ในเกมช่วงชิงพื้นที่สื่อ กลยุทธ์หนึ่งก็คือ ทำยังไงก็ได้ ให้ฝ่ายตรงข้ามไม่ได้เป็นข่าว ส่วนฝ่ายตนนั้น ต่อให้เป็นข่าวดีหรือข่าวร้ายแต่ถ้าได้พื้นที่ข่าวก็ถือว่าได้เปรียบใน ระดับหนึ่ง เพราะอย่างน้อยก็พอทำให้ชื่อเสียงเรียงนามเป็นที่คุ้นหูอยู่ในความจดจำ ดีกว่าเป็นบุคคลโนเนมที่ไม่มีใครรู้จัก

เช่นเดียวกัน ช่วงนี้ ดูเหมือนว่านายกรัฐมนตรีพูดอะไร ให้สัมภาษณ์ว่าอะไร สื่อมักจะให้ความสำคัญเป็นพิเศษ สังเกตได้ว่าเวลาอ่านหรือฟังข่าวในเวลานี้ ผู้สื่อข่าวจะหยิบคำพูดของนายกรัฐมนตรีมาเปิดเผยแบบยาวๆ

พูดแบบตามตำรา ก็คือ แหล่งข่าวเป็นผู้นำในรัฐบาล พูดอะไรก็ย่อมเป็นข่าวอยู่แล้ว แต่นั่นอาจจะไม่ใช่เหตุผลทั้งหมดของกรณีที่เกิดขึ้น ผู้นำฝ่ายค้านแม้จะมีฐานะเป็นผู้นำประเทศเช่นกัน แต่กลับไม่ได้มีโอกาสได้เป็นข่าวเท่าไร

การเปิดเผยคำพูดของนายกฯ สมัครแบบคำต่อคำ ให้พื้นที่ข่าวแก่ท่านนายกฯ แบบไม่น้อยนั้น เชื่อได้ว่าเป็นเพราะสิ่งที่นายสมัคร สุนทรเวชพูดนั้น ไม่ใช่แค่เรื่อง พูดอะไร' แต่เป็นเรื่อง พูดอย่างไร' คือ สื่ออาจเห็นว่าลักษณะวิธีพูดของนายกฯ มีนัยยะที่ต้องการเสนอ คือ มีความไหวตัวและละเอียดอ่อนกับคำพูดของผู้นำประเทศคนนี้เป็นพิเศษ

สื่อภาคสนาม สื่อที่ต้องคอยประกบติดนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ต้องอาศัยความอดทนอดมากอยู่แล้ว มายุคของนายกฯ คนนี้ คงต้องใช้ขันติและอุเบกขาให้มากยิ่งกว่าเดิมเป็นเท่าตัว บุคลิกของผู้นำเช่นนี้ เรียกร้องให้สื่อจำเป็นต้องมีภูมิต้านทานแข็งแกร่ง ไม่เช่นนั้นคงจะเผลอไปอยู่ในขั้วใดขั้วหนึ่งในความขัดแย้งทางการเมืองโดย ไม่ทันตั้งใจ

นั่นคือ งานข่าวสำหรับสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ภายใต้รัฐบาลสมัคร 1 นี้ คงต้องอาศัยพลังใจที่แข็งแกร่งมาก ไม่อ่อนไหวจนกลายเป็นการให้น้ำหนักกับท่านนายกรัฐมนตรีไปโดยไม่รู้ตัว รวมทั้งไม่อ่อนไหวจนไม่สามารถทำงานได้

พูดภาษาปาก อาจจำเป็นต้องพูดว่า เพื่อให้สอดคล้องกับผู้นำประเทศ สื่อมวลชนต้องไม่หน้าบางจนเกินไป

ความอ่อนไหวนี้ อาจรวมถึงที่มาของบรรยากาศการแทรกแซงสื่อที่ร่ำลือกันในช่วงเวลานี้ ดังกรณีที่เกิดขึ้นในข่าวการถอนตัว จนนำมาสู่การยกเลิกจัดรายการมุมมองเจิมศักดิ์' ซึ่งจัดโดย ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง และคู่หู เถกิง สมทรัพย์ ซึ่งออกอากาศเป็นประจำทุกเช้า ที่คลื่นวิทยุ เอฟเอ็ม 105 เมกะเฮิรตซ์ คลื่นวิทยุในสังกัดกรมประชาสัมพันธ์ โดยวิสดอมเรดิโอเป็นผู้ได้สัมปทานคลื่น

เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 12 .. ที่ผ่านมา ที่ระหว่างดร.เจิมศักดิ์จัดรายการ ซึ่งกำลังกล่าวถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งนายสมัคร สุนทรเวช ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวจากอัลจาซีร่าว่า มีคนตายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพียง 1 คน โดยดร.เจิมศักดิ์ ได้หยิบข้อมูลต่างๆ ทางประวัติศาสตร์มาเล่าในรายการ หลังจากนั้น ดร.เจิมศักดิ์ ให้ข่าวแก่สื่อมวลชนว่า ระหว่างกำลังจัดรายการ มีรัฐมนตรีโทรศัพท์ไปยังคลื่นวิทยุวิสดอมเรดิโอว่าจะโละผังรายการทั้งหมด ของคลื่นวิทยุวิสดอม ทำให้เจ้าของคลื่นโทรศัพท์มาสอบถามว่า ดร.เจิมศักดิ์จะบรรเทาความเสียหายให้แก่วิสดอมได้อย่างไร สุดท้าย ดร.เจิมศักดิ์ ตัดสินใจถอนตัวจากการจัดรายการ

แม้กระแสข่าวต่อจากนั้น จะยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าที่แท้แล้วอะไรเกิดขึ้น เพราะนายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีก็ให้ข่าวปฏิเสธ ย้ำว่าไม่มีการโทรศัพท์ไปแทรกแซง ทั้งยังสั่งให้นายปราโมช รัฐวินิจ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ประสานงานไปยังบริษัทฟาติมา ซึ่งเป็นเจ้าของคลื่น 105 เปิด การแถลงข่าวเพื่อแสดงข้อเท็จจริง ซึ่งนายแสงชัย อภิชาติธนพัฒน์ ประธาน บริษัท ฟาติมา บรอดคาสติ้ง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ได้รับสัมปทานคลื่นวิทยุ เอฟเอ็ม 105 เมกะเฮิรตซ์ ก็ เปิดเผยว่า ไม่ได้ถูกแทรกแซงจากกรมประชาสัมพันธ์ หรือรัฐบาล แต่มีการพูดคุยกับนายเจิมศักดิ์ ถึงความไม่สบายใจกับเนื้อหารายการที่วิพากษ์วิจารณ์บุคคลอื่น ซึ่งเขาอยากให้สังคมเกิดความสมานฉันท์ และยอมรับว่ามีความกังวลว่าหากยังดำเนินรายการที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์ บุคคลอื่นต่อไป อาจจะมีปัญหาเรื่องคลื่นหลุด ซึ่งจะส่งผลเสียหายกับบริษัทให้ไม่สามารถดำเนินกิจการอยู่ได้

ต่อเรื่องนี้ จริงเท็จอย่างไร คงยังไม่รู้แน่ชัด แต่อย่างน้อยสิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ ฐานะของคนทำสื่อ มีความเปราะบางมากเหลือเกิน

เรื่องเก่าๆ อย่างปัญหาโครงสร้างสื่อ กลายเป็นสิ่งที่จองจำการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนให้ไม่สามารถทำงานได้อย่าง เต็มที่ ไม่เว้นวงการข่าวเท่านั้น ล่าสุด เมื่อปลายปีที่ผ่านมา คลื่นวิทยุรายการเพลงที่ดีที่สุดเพียงคลื่นเดียว อย่าง The Radio ก็ถูกปลดกลางอากาศแบบที่คนฟังหรือแม้แต่ผู้จัดรายการไม่ทันได้ตั้งตัว

ปัญหาของสองกรณี มาจากเหตุเดียวกัน คือ นายทุนผู้ได้สัมปทานคลื่น มีความประสงค์จะเปลี่ยนเนื้อหารายการ กรณีที่ดร.เจิมศักดิ์เจอ คือรายการวิพากษ์การเมืองแรง นายทุนคลื่นมีความกังวล ส่วนกรณีที่ The Radio เจอ คือ นายทุนอยากเปลี่ยนแนวรายการ จากรายการดนตรี ไปเป็นการ โฆษณาดนตรี' ที่มีรายได้มากกว่า

คลื่นวิทยุโทรทัศน์กระแสหลัก อยู่ในภายใต้การดูแลของหน่วยงานรัฐและหน่วยงานทหาร หน่วยงานเหล่านี้ก็ปล่อยสัมปทานออกมาปีต่อปี เพื่อให้นายทุนที่วิ่งเต้นทุกๆ ช่วงสิ้นปีเพื่อให้ได้รับคัดเลือก' ได้คลื่นไปบริหาร ก่อนจะมาปล่อยถึงมือคนทำสื่อเป็นทอดสุดท้าย โครงสร้างแบบนี้ หนีไม่พ้นทั้งอำนาจรัฐและอำนาจทุน

ถามว่า ระบบโครงสร้างเวลานี้ ยังหลงเหลือให้ที่ทางสำหรับจิตวิญญาณสื่อสารมวลชนบ้างหรือไม่ สิ่งที่น่าสนใจต่อกรณีของ The Radio คือ ผู้คนตื่นตัวมากกับปัญหาที่ว่า รายการดีดีมักไม่มีที่ให้อยู่ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ มีคนตั้งกระทู้เรื่องนี้ หลายคนขอให้รายการไม่ล้มหายจากไป แต่เปลี่ยนมาออกอากาศในอินเตอร์เน็ตแทน พร้อมทั้งเสนอตัวช่วยด้านเทคนิคทุกอย่าง

แต่อย่างไรก็ดี สื่อแต่ละประเภทก็มีธรรมชาติของสื่อที่ต่างๆ กัน แม้อินเทอร์เน็ตดูจะเป็นที่ทางสำหรับคนไม่มีทางเลือกในการส่งสาร แต่สำหรับคนรับสาร ดูเหมือนทางเลือกจะน้อยลงทุกที

นี่อาจจะเป็นอีกความท้าทายของรัฐบาล ชุดที่ประกาศว่าจะมีการ จัดระบบสื่อ เพราะรัฐมนตรีที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องนี้ จำเป็นต้องรู้ต้นตอปัญหาของระบบการสื่อสารมวลชนในประเทศไทย หากกล้าจริง ต้องทำลายโครงสร้างที่มัดมือสื่ออยู่ในเวลานี้ และเลิกคิดว่าตนจะเป็นผู้เข้ามาทำเนื้อหาสื่อให้ดีเอง

เพราะการครอบงำแบบนั้น ประชาชนไม่ต้องการ

 

เพิ่มเติม :

คอลัมน์ บ้านบรรทัดห้าเส้น ประชาไท : 99.5 The Radio : เมื่อรายการวิทยุดีๆ จะไม่มีที่อยู่

คลิปเกี่ยวกับการให้สัมภาษณ์ ของนายสมัคร สุนทรเวช ต่อผู้สื่อข่าวต่างประเทศ

ข่าวมติชน : 'จักรภพ'ปัดสั่งปลดพิธีกรคลื่น105 เจ้าของยืดอกรับขอให้ถอนตัว เพื่อรักษา'ธุรกิจ'

ข่าวผู้จัดการ : "หมัก" สั่งรื้อช่อง 11 ท้า "เจิมศักดิ์" หาหลักฐาน รมต.สั่งถอดรายการ

Subscribe to Samak_Sundaraveja