Skip to main content
ชาน่า
สังคมที่เปิดกว้างและยอมรับโลกแห่งความเป็นจริงได้เกิดขึ้นอีกระดับหนึ่ง เมื่อได้เห็นหนังไทย หนังดี หนังเด่นแนวหน้าแห่งปีนี้  เรื่อง “รักแห่งสยาม” หนังที่สะท้อนให้เห็นถึงความรักหลากอารมณ์ ของสังคมเมืองไทย ในความเหมือนที่แตกต่างของสังคม(อีกแล้วครับท่าน) เป็นกระแสแรงได้จิต สั่นสะเทือนหลายริกเตอร์ เขย่าให้เห็นถึงภาพสะท้อนของสังคมไทยในยุคปัจจุบัน  เมื่อ  “รักแห่งสยาม”  ผ่านสายตามหาชน   ทั้งพลพรรคคนรักเกย์ แอนตี้เกย์ รักครอบครัว รักเพื่อน รักแฟน รักเพศไหนๆ ยังไงก็ตาม“คงเป็นหนังวัยรุ่นกุ๊กกิ๊ก ทั่ว ๆ ไป  สปอยหรือเปล่าน๊า”“แหวะ ... หนังเกย์ แน่ ๆ เลยเท้อออ !”“โอ้โห ... อยากไปดูแต่ กลัวคนอื่นคิดว่า เราเป็นเกย์  ไปดูหนังเกย์รึเปล่า”มากมายหลายเสียงของผู้บริโภคหนังก่อนเข้าชมเรื่องนี้..“รักแห่งสยาม” เป็นหนังรักดรามา แนวครอบครัวมากกว่าแค่เรื่องเกย์ (เท่านั้น)  ผลงานการกำกับของ “มะเดี่ยว”  ผู้ซึ่งไม่เคยทำให้อิชั้นผิดหวัง จากผลงานที่ผ่านมาหลาย ๆ เรื่องอย่างคนผีปีศาจ 12, 13 และงานเขียนบทในบอดี้ ศพ 19เรื่องนี้ยิ่งโดนอย่างหนักสำหรับชีวิต ความรักและสิ่งที่เกี่ยวข้องกับ เพศเกย์ของใครหลายคนในสังคม  ไม่ว่าจะเริ่มจากครอบครัวเป็นฐานแรก   การเริ่มเรื่องเป็นไปอย่างนิ่ม ๆ แต่ทำให้คิดตามตลอดและในใจก็ลุ้นว่าจะคลายแม็กซ์ อย่างไร    แค่เริ่มเรื่องก็ดรามา แสดงถึงความโศกเศร้าของครอบครัวที่สูญเสียคนรัก  เรียกได้ว่าจนไม่เป็นอันจะกินจะนอน  อิทธิพลของความรักนั้นบันดาลให้เราทำได้หลายอย่างแม้กระทั่ง ความต้องการตอบสนองทางใจ  ยังคิดว่า “คนที่จากไป” จะหวนกลับมาสักวันจงได้คุณนก สินจัย และคุณกบ นักแสดงรุ่นเดอะ ที่ฝีมือไม่เคยตก ซีนอารมณ์นี้กินขาด เริ่ดได้โล่ห์ฮ่ะพี่นก  ส่วนพี่กบใช่ย่อยไม่ทิ้งกันจริงๆ   นอกจากรุ่นเดอะแล้วก็ตามสมทบด้วยนักแสดงรุ่นกลางอย่าง พลอย  เฌอมาลย์ก็เล่นได้เนียน  และตัวชูโรงนำเรื่องคือสองหนุ่มน้อยหน้าใส วัยเยาว์ ที่รับบทโต้งกับมิว  แม้จะดูขัดๆ ในตอนเริ่มต้น แต่พอดูไปเรื่อยทั้งสองคนสามารถตีบทของตัวเองได้ดีเล่นได้เป็นธรรมชาติสามารถเห็นฝีมืออย่างพัฒนาในเรื่องได้เลย   มีฉาก “จูบสะท้านฟ้า โลกาสั่นสะเทือน”  เรียกเสียงกรี๊ดดดดดดดด จากชะนีโดยไม่ได้นัดหมาย  และเป็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์กระฉ่อน บอกแล้วเรื่องเกย์ๆ เดี๋ยวนี้มักจะโดนสังคมพิพากษา ตัดสิน ส่วนนักแสดงสาวที่รับบทหญิง ที่ดูงุ้งงิ้งแอ๊บแบ๊ว น่าประทับใจวัยใส วัยทีน รุ่นหลานเชียว   ฉากที่ทำให้เราเห็นถึงกิจกรรมในโรงเรียน ขาสั้นคอซอง  แม้จะผ่านมาร่วมสิบกว่าปี ยังคงประทับใจ ในความรู้สึก “ช่วงหนึ่งของวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ” ผู้กำกับถ่ายทอดได้ดีหลาย ๆ ฉากไม่ว่าจะเป็นฉากเด็กใส่ชุดพละนั่งเรียนด้านล่างตึก โดยมีครูเรียกนักเรียนออกมาสาธิต   ฉากเด็กผู้ชายแกล้งน้องมิววัยเด็กในห้องน้ำ  (ทำให้นึกถึงหนังเรื่อง  “แฟนฉัน” เอาซะมากและอยากกลับไปเป็นนักเรียนเหมือนเดิม) ฉากซ้อมดนตรี มีบทสนทนาเรียกได้ว่า แบบเด็กแนวเค้าล่ะ  “หยาม อะเพ่”    เอาล่ะฮ่ะ กลับเข้ามาที่ประเด็นอันเกี่ยวข้องของชาวเรากัน เนื้อเรื่องของหนังหากจะบอกว่าเป็น “Love Actually เวอร์ชั่นไทย” ก็คงไปเพี้ยนไปมาก ที่สะท้อนให้เห็นถึงความรักอันมีมากมายหลายคู่  หากแต่เรื่องนี้มีตัวเอกสองคนที่มีความรักแบบชายรักชายมาเป็นแกนหลักในการดำเนินเรื่อง(แบบธรรมดาพี่เดี่ยวไม่ นี่หละใช่เลย ให้สังคมได้มีเรื่องเม้าท์แตก และแฝงอยู่ในความเป็นจริงค๊า)  มันก็เลยถูกมองว่าเป็นหนังเกย์แบบช่วยไม่ได้   ส่วนตัวแล้วขอยกนิ้วปรบมือ พนมวันทา คารวะให้พี่มะเดี่ยวและทีมงานช่างกล้า  ที่กล้าทำหนังที่แตกต่างอย่างเป็นตัวของตัวเองแบบนี้  โดยไม่สนใจต่อคำตัดสินและข้อหา ครหา ประชาวิจารณ์เกย์ในสังคมไทยฉาก  “จูบใครคิดว่าไม่สำคัญแต่ถ้าคุณจูบฉันทำเอา คนดู ผู้ปกครอง น้องนี (หญิงจริง) สั่นสะท้านทั่วสยามประเทศ”  บ้างก็นั่งตีลังกา ปูเสื่อต่อต้านว่าแรงเกินรับได้  นั่นเค้าเป็นเด็กนักเรียน  แล้วจะทำให้เด็กที่ไม่ได้อยู่ในความดูแลของผู้ปกครองจะเคลิ้มตาม  หรือชักนำในทางที่ผิดหรือเปล่า (เสียงของกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วย)  ส่วนบางคนก็บอกว่า  “เกิดฮ่า”  ถ้าไม่มีฉากนี้แล้ว จะทำให้ สุนีย์ กล้าที่จะไปเรียกมิวมาคุยได้เยี่ยงไรลือ  ดีที่ไม่เป็นฉากเลิฟซีนอินดอร์  นอกดอร์ (indoor – outdoor sex) หากเป็นเช่นนั้น กระทรวงวัฒนธรรมคงหาได้ให้ผ่านไม่  (เช่นเคย)  แต่ฉากนี้หละที่สีหน้าของสุนีย์ตอนเห็นภาพนั้น อึ้งเหน็บหนาว ชา ไปทั้งตัวและหัวใจกับสิ่งที่คาดไม่ถึง มันสะท้อนถึงคนที่ใจสลาย  ชาน่าเข้าใจ (อย่างดีค่ะ) ถึงได้ไม่ยอมบอกทางบ้านให้รับรู้ว่า ตัวตนที่แท้จริงของชาน่า คือใคร  เห็นแล้วก็เข้าใจถึงความรู้สึกพ่อและแม่  จนขนลุกซู่ อินสุด ๆ โดนอย่างแรงเลยเจ้า       ส่วนตัวแล้ว  ความรักที่ขาดหายไป หรือความต้องการทางจิตหวั่นไหว เริ่มไขว้เขวของโต้ง กับมิว เด็กชายโรงเรียนมัธยมชายล้วน  บวกกับชีวิตทางครอบครัวที่ต้องการใครสักคนมาเติมเต็ม  ชาน่าว่ามีส่วนเกี่ยวกันได้เชียวหละค่ะ  ความรับผิดชอบต่อสังคม (ไทย)  ชาน่าว่า  “ชายไทย” คนที่ดูหนังเรื่องนี้แล้ว คงไม่ได้รับเชื้อเกย์สายพันธุ์ใหม่   ชนิดที่ออกจากโรงแล้ว แพร่ระบาด  “แต๋ว  เกย์ นะฮ๊ะ ติดโรคแล้วย่ะ”  เพราะคนจะเป็นยังไงก็เป็น คนไม่เป็นยังไงก็ไม่เป็นนอกจากจะอยากลองของ หลายคนคงพอจะทราบว่า  เกย์  แอบ แบบไทย ๆ ก็มีมาตั้งแต่บรรพบุรุษ หรือแม้แต่ สมัยกรีก กี่พันๆ ปีมาแล้วก็ยังมีหลักฐานมากมายหลงเหลือไว้ให้เห็นหากจะยอมรับและเปิดใจให้กว้างที่จะมองคนอื่นบ้าง   ถ้ามีเวลาว่างก็มองคนในครอบครัวก่อนละกัน  คนบางคนหัวโบ และแอนตี้สุดๆ ถึงขนาด ดูถูก เหยียดหยาม  ระวังบาปกรรมจะตกกับคนใกล้ตัวนะเจ้าค่ะ       ชาน่าอยากฝากถึงน้องๆ ชายไทยวัยทีนทั้งหลายว่า  หากจะลองรัก ลองเป็น หรือหวั่นไหว  หรืออยากกลับใจไปเป็นชายแม้ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์  แต่ถ้าคนเรามีทางเลือกได้ก็ขอให้น้อง ๆ เลือกทำในสิ่งที่ดี เหมือนกับการเลือกทางเดินของชีวิต  กากบาทข้อที่ถูกต้องที่สุดนะน้อง  ถ้ากลับใจไปเป็นชายได้ยินดียิ่ง หากมันฝืนหรือทำให้เป็นทุกข์ ทรมาน ชีวิตมันแสนสั้นจะเลือกทำตามใจต้องการขอให้เป็นคนดี มีศีลก็สุดแล้วแต่ใจจะไขว่คว้า  พูดยากค่ะลองฟังเสียงของคนที่ชอบหนังเรื่องนี้กันค่ะ  “ประทับใจจอร์จ  ไม่เคยคิดว่า จะซึ้งจนน้ำตาเกือบไหลกับตัวเอกที่เป็นเกย์สองคน”ดูเรื่องนี้จบแล้วย้อนมองวิถีและทางเลือกของตัวเอง มันใช่เลย กับความรู้สึกเหงา เศร้า อิ่ม อบอุ่น ซึ้ง มีความสุข จนแยกไม่ออก”“ตอนจบของเรื่องถึงจะเศร้าแต่เดี๊ยนว่า มันก็จบแบบไทยดีนะ ซึ่งสะท้อนว่า สังคมเราอาจจะยังไม่ยอมรับการคบกันแบบเปิดเผยของชายรักชาย   กลุ่มรักร่วมเพศ ไม้ป่าเดียวกันยังถูกประชาฟันธง พิพากษา ว่าคนนอกรีต  จิตเบี่ยงเบน  ชนกลุ่มน้อย”“รักและชอบหนังเรื่องนี้จริงๆ ในรอบหลายสิบปีที่ดูหนังไทย  แม้ตัวเองจะเป็นหญิงจริง  แต่เพื่อนที่เป็นชายก็คิดว่า  คนส่วนมากที่ชอบเป็นเกย์หรือเปล่า”ดูหนังดูละครแล้วย้อนดูตัวเอง แน่นอนค่ะ ว่าหนังเรื่องนี้ เกี่ยวข้องกับใครหลายคน  ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครอง  เพื่อนหญิงจริงที่รักชาย  ชายรักชาย  พี่รักน้อง น้องรักพี่ เพื่อนรักเพื่อน นี่ล่ะหนังไทยดรามา ที่แม้หนังจะจบแล้วแต่คนดู ยังไม่จบ เคยมั้ยคะ ที่พอหนังจบแล้วต้องกลับไปม้วนหน้าตีลังกา ครุ่นคิด สามวันเจ็ดวันว่า  มันเกี่ยวข้องกับตัวเองและตัวละครอย่างไร  เก็บเอาสิ่งที่ได้สาระแก่นสาร มาปรับให้เข้ากับชีวิตในโลกของความเป็นจริงให้มากที่สุด หรือแม้แต่จะดูเพื่อความบันเทิงแต่แฝงไว้ด้วยแง่คิดมากมายหลากหลาย  เหมือนดังตอนฉากสุดท้ายที่คอนเสิร์ต หลังจากหญิงปล่อยมือโต้งให้เดินจากไปหามิว หญิงกลับมาที่ลานจอดรถพร้อมกับร้องไห้และบอกเพื่อนโต้งที่ถามหาโต้งว่า “โต้งกลับบ้านไปแล้ว"แต่เพื่อนโต้งอีกคนบอกว่า "โต้งไปหาซานตาคลอสต่างหาก" ถ้าหากมิว คือซานตาคลอส ของโต้ง ย่อมเท่ากับโต้งไปหามิวอาจจะไม่ใช่วันนี้ หรือจะเป็นวันหน้า    อนาคตของเด็กสองคนนี้จะเป็นเช่นไร   ตัวละครยังคงดำเนินต่อไป และมีชีวิตอยู่ในสังคมไทย   ใน “สยาม”  โดยที่ไม่มีใครรู้นอกจาก ตัวตนที่แท้จริงของเค้าเองเท่านั้นค่ะใครคิดเห็นเช่นไรบอกกล่าวกันได้   เพราะเมืองไทย สยามเมืองยิ้มสุดแสนเสรี  ด้วยรักและห่วงสยาม  ชาน่า ทักทายจากประเทศอเมริกา รัฐฟลอริด้า  (กลับมาทำงานต่ออีกแล้วของชีวิตนางแบก)
กิตติพันธ์ กันจินะ
มาจนถึงวันนี้ผมยังไม่ได้พาตัวและตาของตนไปดูภาพยนตร์เรื่อง "รักแห่งสยาม" เลย แม้ว่าจะมีเพื่อนๆ หลายคนได้เชื้อเชิญแจ้งแถลงชวนให้ไปดูหลายเวลา หลายคราก็ตาม ผมก็ยังไม่ได้ไปดูเสียทีโดยส่วนตัวแล้ว ผมไม่ได้เป็นคนปฏิเสธโรงภาพยนตร์นะครับ เพราะภาพยนตร์แต่ละเรื่องที่จะทำให้ผมไปดูได้นั้น ต้องเป็นเรื่องที่ผมมีเพื่อนไปดูด้วย คือ ถ้าไปคนเดียวผมคงไม่ไปครับ เพราะไม่เคยดูหนังคนเดียว และยิ่งไม่รู้ว่าต้องซื้อตั๋ว ซื้ออะไรยังไงบ้าง เพราะปกติเวลาไปเพื่อนๆ จะเป็นคนซื้อตั๋วและขนมขบเคี้ยวเข้าไปให้สำหรับ "รักแห่งสยาม" ถือเป็นภาพยนตร์ที่มีผู้คนกล่าวถึงค่อนข้างมาก และกล่าวถึงในหลายแง่มุม เช่น เรื่องดังกล่าวนี้ส่อให้เห็นเรื่องวัยรุ่นรักเพศเดียวกัน บางคนมองว่าแสดงถึงความหวานแหววของวัยรุ่น หญิงชาย บางคนก็ชื่นชมว่าสะท้อนสัญลักษณ์เรื่องเพศในสังคมได้ดีทีเดียว บางคนมองว่าเป็นหนังหลอกเด็ก บางคนถึงกลับยกย่องให้เป็นหนังแห่งปี ฯลฯรักแห่งสยาม - ภาพยนตร์เรื่องนี้ เนื้อเรื่องเป็นอย่างไร เรื่องราวในเรื่องดำเนินแบบไหน ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าจะสามารถเล่าออกมาได้มากน้อยเพียงใด แต่หากใครที่อยากรู้ อยากดู ก็น่าจะลองเข้าไปดูในโรงภาพยนตร์หรือไม่ก็รอให้แผ่นวิดีโอซีดีออกมาแล้วค่อยซื้อมาดูก็ได้ทั้งนี้ สิ่งที่ผมสนใจ คือ ชื่อภาพยนตร์ที่ว่า "รักแห่งสยาม" นั้น ดูเสมือนว่าไม่ใช่แค่เป็นภาพยนตร์ที่ดำเนินเนื้อเรื่องในแหล่งวัยรุ่นอย่างสยามสแควร์หรือเซนเตอร์พ้อยท์เท่านั้น หากยังสามารถอธิบายให้เห็นถึงความรักของชนสยามในอดีตได้อย่างน่าสนใจ อย่างในสังคมสยามอดีตที่ผ่านมา กรอบความคิดเรื่องเพศวิถีเป็นเรื่องที่มีความเปลี่ยนแปลงมาตลอด สิ่งที่เคยปรากฏในอดีตนั้น อาจารย์ปรานี วงษ์เทศ ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ชี้ให้เห็นถึงความคิดเรื่องเพศวิถีในอดีตว่า "สังคมไทยในอดีตไม่เหมือนสังคมตะวันตก หรือสังคมอินเดีย ที่เน้นความแตกต่างของบทบาททางเพศและมีความเหลื่อมล้ำกันมาก โครงสร้างสังคมมีลักษณะเป็นแบบให้ความสำคัญกับแม่ ในฐานะศูนย์รวมของครอบครัวมาก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นการปกครองที่ชายเป็นใหญ่ เพราะฉะนั้นลักษณะโครงสร้างสังคมในอดีตหรือในสังคมชนบท จึงมีลักษณะที่ให้ความสำคัญกับผู้หญิง หรือผู้หญิงมีความสำคัญมากในครอบครัวและมีบทบาทสำคัญในชุมชนด้วย ไม่ใช่อย่างที่เห็นในปัจจุบันที่เป็นภาพของการพัฒนาที่เน้นสังคมแบบอุตสาหกรรมหรือทุนนิยมที่ให้การยกย่องเพศชายเป็นใหญ่ในการตัดสินชี้นำอำนาจ ควบคุมนโยบายต่างๆ ที่เน้นการพัฒนาที่ขับเคลื่อนโดยผู้ชาย ทำให้บทบาทของผู้หญิงลดน้อยหายไป"วิถีชีวิตทางเพศในสังคมสยาม เมื่ออดีต จึงให้ความสำคัญกับเพศหญิง หรือเพศแม่ ในฐานะศูนย์รวมของครอบครัวและสังคม การทำงานของผู้หญิง อาทิ งานบ้าน เป็นสิ่งที่มีความสำคัญเท่าเทียมกับงานของผู้ชาย อีกทั้งระบบเศรษฐกิจยังเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเป็นเจ้าของที่ดินหรือทรัพย์สินอีกเช่นกัน ส่วนเรื่องความหลากหลายทางเพศของสยามเมื่ออดีตนั้น อาจารย์มองว่า "สังคมแต่เดิม การมีเพศที่สามหรือเพศทางเลือกเป็นสิ่งที่มีและรับรู้กันอยู่ แม้อาจไม่ถึงกับชื่นชมยกย่อง หากแต่ก็อยู่ร่วมกันได้ในฐานะมนุษย์ที่มีความเท่าเทียมกัน สังคมก็ปล่อยให้ทำงานที่พวกเขาถนัด ไม่มีการกีดกัน หรือห้ามไปคบ คนที่เป็นกะเทยในหมู่บ้านอยากทำงานผู้หญิง ชุมชนก็ปล่อยให้ทำงานของผู้หญิงได้ หรือผู้หญิงที่ชอบทำงานของผู้ชายก็จะทำไป ไม่ได้คิดว่าเป็นตัวอย่างที่ผิด การสลับบทบาททางเพศยังเห็นได้แม้กระทั่งในการเข้าทรง ผู้ชายบางคนเข้าทรงก็จะแต่งเป็นหญิง ผู้หญิงก็จะแต่งเป็นชาย เหมือนเช่นการปรับเปลี่ยนบทบาทในการทำงานในบ้านและนอกบ้านในสังคมชาวนาที่ทั้งหญิงชายทำแทนกันได้ เพราะฉะนั้นการปรับเปลี่ยนบทบาทจึงเป็นสิ่งที่เข้าใจได้"(นอกจากนี้ในคัมภีร์โบราณที่ปรากฏในสังคมไทย อาทิ คัมภีร์ปฐมมูลมูลี ก็ยังกล่าวถึงว่า เพศมิได้มีแค่สองเพศ หากแต่มีเพศซึ่งไม่เป็นหญิงและไม่เป็นชายด้วยเช่นเดียวกัน)จากข้อมูลที่ได้รับฟัง ทำให้เห็นว่า รักแห่งสยาม เมื่อคราอดีตนั้นไม่ได้มองเพศแค่ชายกับหญิงเท่านั้น แต่ปัจจุบันเรื่องเพศวิถีของคนมีความเปลี่ยนแปลงไปมากขึ้น คือมองแค่ว่ามีหญิงชาย มีความรักเฉพาะของคนรักต่างเพศเท่านั้น และมีกรอบกำหนดว่าชายหญิงควรปฏิบัติตัวอย่างไร ผู้ชายทาแป้ง แต่งหน้า ใส่เสื้อรัดรูป เดินจับมือกัน หรือจูบปากกัน - เป็นสิ่งที่คนรักต่างเพศ มองหรือรับไม่ได้เท่าใดนัก ยิ่งเมื่อพฤติกรรมทางเพศของคนรักเพศเดียวกันอย่างชายรักชายปรากฏออกมาผ่านภาพยนตร์เรื่อง "รักแห่งสยาม" แล้ว ยิ่งเป็นการท้าทายระบบความคิด วิถีปฏิบัติของคนในสังคมต่อความหลากหลายทางเพศครั้งหนึ่ง ผมเคยถูกคนที่เป็นชายรักชายเข้ามาจับมือและกอด ตอนนั้นผมรู้สึกแย่มาก บอกไม่ถูก รู้สึกว่าทำไมเขาต้องมาทำกับเราแบบนี้ด้วย แม้ว่าบางทีคนจะมองว่า ผมดูเหมือนชายรักชาย เพียงเพราะชอบทาแป้ง ไม่มีแฟน แต่ภาพที่ปรากฏทำให้ผมถูกมองเป็นชายรักชาย จนมีเกย์คนหนึ่งเข้ามาสวมกอดโดยที่ผมไม่ได้ยินยอมหรือยินดีเลยหลังจากเหตุการณ์นี้ผ่านมาหลายเดือน ผมเริ่มมองชายรักชายหรือคนรักเพศเดียวกันในมุมที่เข้าใจ คือ เข้าใจวิถีชีวิตทางเพศ เข้าใจพฤติกรรมทางเพศ ผมมองว่าท้ายที่สุดแล้วเราควรมองคนๆ หนึ่งในฐานะที่เขาเป็น "คน" เหมือนเรา และเมื่อเป็นคนเหมือนกัน ไม่ว่า ใครจะใส่เสื้อผ้าแบบไหน แต่งหน้าตาอย่างไร รักเพศเดียวกัน หรือรักต่างเพศ เราก็ไม่ควรมองว่าคนๆ นั้นจะเป็นคนรักต่างเพศ หรือรักเพศเดียวกัน แต่เราควรเคารพ เชื่อมั่น ยอมรับ และเข้าใจ เขาในฐานะคนๆ หนึ่ง ทั้งนี้ คนกับคนก็ไม่ควรจะละเมิดสิทธิของคนอื่น ไม่ว่าคุณหรือผมหรือเราจะเป็นใคร เพศไหน นับถือศาสนาอะไร เชื้อชาติใด อายุเท่าไหร่ ก็ตามวันหนึ่ง ผมและเพื่อนนั่งคุยกันที่ร้านกาแฟ แล้วเพื่อนคนนี้ก็ถามผมว่า พี่ผู้ชายคนที่เขาแอบชอบนั้น เป็นชายรักชายหรือชายรักหญิง ผมยิ้มและตอบกลับไปว่า "เขาเป็นคน" "ถ้าเราจะรักใครสักคน มันจำเป็นด้วยเหรอที่จะเลือกรักว่าเขารักเพศเดียวกัน หรือรักต่างเพศ ถ้าเราจะรักใครสักคน ก็น่าจะรักในสิ่งที่เป็นเขาและเป็นสิ่งที่เขาเป็น" ผมพูดประโยคนี้ทิ้งท้ายพลางหยิบโปสเตอร์หนังรักแห่งสยามขึ้นมา...